ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

จอดรถกีดขวางทางจราจร

จอดรถกีดขวางทางจราจรก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

กระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจรทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ว่ากระทำโดยประมาทโดยขับรถยนต์ ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่

จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตขับรถทุกประเภท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2545 เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา จำเลยกระทำโดยประมาทโดยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนบุณฑริก - หนองแสง กีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกันมีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้าย แล่นเข้าชนท้ายรถพ่วง ทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เหตุเกิดที่ตำบลโพนงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 11, 61, 78, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 90, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 61, 78 วรรคหนึ่ง, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาท (และจอดรถในทางโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้ขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและตาย จำคุก 3 เดือน รวมลงโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 1 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนโดยกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอเป็นเหตุให้นายวิวัฒน์ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกันมีนายเกรียงผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายแล่นเข้าชนท้ายรถพ่วง รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในข้อกฎหมายต่อไปด้วยว่าที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 มาด้วยนั้น ชอบหรือไม่ โดยเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกัน เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยจอดรถอยู่บนถนนมิใช่จำเลยขับรถอยู่ในทาง ซึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ความมุ่งหมายของกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางไม่ว่าจะกระทำโดยประมาทหรือไม่ก็ตาม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่

เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจรทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมา ชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติจราจรทางบก 2522
มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรืออาจเกิด อันตราย หรืออาจทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ผู้ใช้ คนโดยสาร หรือ ประชาชนมาใช้ในทางเดินรถ
รถที่ใช้ในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องจัดให้มีเครื่องยนตร์ เครื่องอุปกรณ์และ หรือส่วนควบที่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ กฎหมายว่าด้วยการ ขนส่งกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน กฎหมายว่าด้วยรถลาก หรือกฎหมายว่าด้วย รถจ้างและใช้การได้ดี
สภาพของรถที่อาจทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยตามวรรคหนึ่ง และวิธี การทดสอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 11 ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถ หรือ สิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้ง ภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางต้องเปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และ เงื่อนไขที่กำหนดใน กฎกระทรวง

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนี้ไป หรือไม่แสดงตัว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำ ความผิดและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี้ หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่ วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ

มาตรา 148 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 6 วรรค 1 หรือวรรค 2 มาตรา 8 วรรค 1 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 วรรค 1 มาตรา 20 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 44 มาตรา 51 มาตรา 54 มาตรา 55 วรรค 1 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 60 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 68 มาตรา 69 มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 73 วรรค 2 มาตรา 74 มาตรา 76 มาตรา 83 มาตรา 84 มาตรา 87 มาตรา 88 มาตรา 96 วรรค 1 มาตรา 97 มาตรา 101 มาตรา 107 มาตรา 108 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 114 วรรค 1 มาตรา 118 มาตรา 119 มาตรา 120 มาตรา 121 มาตรา 122 มาตรา 123 มาตรา 124 มาตรา 126 มาตรา 129 หรือ มาตรา 133 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 160 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความคิดเห็น: