ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ |รถยนต์ถูกลักไป | ใช้สิทธิไม่สุจริต

กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์จากบริษัทประกันภัย
รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยติดต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 250,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยดังกล่าวอนุมัติให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว บริษัทประกันภัยดังกล่าวถูกกรมการประกันภัยเข้าควบคุมกิจการในเวลาต่อมา จำเลยจึงไม่ได้ค่าสินไหมทดแทน สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า ว่า “ผู้เช่าสัญญาว่า (ก) กรณีที่รถยนต์สูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ เห็นว่า หากเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้ว กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549

ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน รษ 8231 กรุงเทพมหานคร ไปจากจำเลยในราคาเงินสด 298,130.84 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.5 ต่อปี ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 12 งวด งวดละ 21,217.76 บาท ต่อเดือน รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 22,703 บาท มีข้อตกลงว่าหากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือทันที โดยจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยมาปฏิเสธความรับผิด ระหว่างสัญญาเช่าซื้อโจทก์ต้องเอาประกันภัยกำหนดให้จำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปประกันภัยไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด โดยระบุให้จำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2540 รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหาย จำเลยได้แนะนำโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อต่อไป โดยจำเลยจะดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยและจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยครบถ้วนแล้วเป็นเงิน 342,636 บาท แต่จำเลยไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้อนิสสัน ในสภาพดีรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อแต่อย่างใด กลับแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่สูญหาย และจำเลยไม่ดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร จนบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ความเสียหายจึงเกิดขึ้นจากฝ่ายจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อที่สูญหายให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย สัญญาจึงเลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำนวน 342,636 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมเป็นเงินถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 402,718 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 402,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 342,636 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากจำเลยจำนวน 254,613.12 บาท โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหายอาจเกิดจากโจทก์หรือผู้ครอบครองอนุญาตให้นำรถยนต์ไปใช้หรือสูญหายโดยประการอื่นอันบริษัทประกันภัยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมดทดแทน จำเลยไม่ได้รับเงินจำนวน 342,636 บาท จากโจทก์ กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อที่ต้องหารถยนต์คันใหม่มาแทนรถยนต์ที่สูญหายและต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือต่อไปไม่สามารถยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยมาปฏิเสธความรับผิดได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์หรือเงินจำนวน 342,636 บาท แก่โจทก์ รถยนต์ที่สูญหายเกิดจากความผิดของฝ่ายโจทก์ เมื่อจำเลยรับเงินจากโจทก์ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะไปขอรับชำระหนี้จากบริษัทประกันภัยได้ โจทก์ขอรับชำระหนี้ในคดีที่บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงจะมาเรียกร้องเงินจากจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 227,030 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยราคา 298,130.84 บาท ชำระเงินค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 65,607.48 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 12 งวด งวดละ 22,703 บาท ภายในวันที่ 2 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 มิถุนายน 2540 ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 แล้วโจทก์ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเอาประกันภัยไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด มีจำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 250,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลย 2 งวด ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2540 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยติดต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 250,000 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยดังกล่าวอนุมัติให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนวันที่ 23 ธันวาคม 2540 โดยแจ้งให้จำเลยทราบในเดือนมกราคม 2541 และให้จำเลยไปติต่อบริษัทประกันภัยดังกล่าวในวันที่ 17 เมษายน 2541 จำเลยก็ไปติดต่อขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว แต่พนักงานของบริษัทประกันภัยดังกล่าวที่ทำเรื่องจ่ายเงินไม่อยู่ ทางบริษัทประกันภัยดังกล่าวให้จำเลยมาติดต่ออีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2541 จำเลยไปติดต่อในเดือนดังกล่าวจึงทราบว่าบริษัทประกันภัยดังกล่าวถูกกรมการประกันภัยเข้าควบคุมกิจการแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ค่าสินไหมทดแทน

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อ 10 งวด เป็นเงิน 227,030 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 กำหนดว่า “ผู้เช่าสัญญาว่า (ก) กรณีที่รถยนต์สูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (ซ) มาปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชำระราคาดังกล่าวข้างต้น ?(ซ) จะประกันภัยรถยนต์โดยทันที (เว้นแต่เจ้าของจะได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่น) และระหว่างอายุสัญญาฉบับนี้จะประกันภัยรถยนต์ไว้ตลอดเวลาโดยใช้กรมธรรม์ชนิดให้ความคุ้มครองเต็มจำนวนราคาค่าเช่าซื้อโดยปราศจากข้อกำหนดความรับผิดอย่างต่ำที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเองหรือข้อจำกัดสิทธิใด ๆ กับบริษัทประกันภัยที่เจ้าของเชื่อถือ และให้สลักหลังระบุให้เจ้าของเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เต็มจำนวนและมอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้กับเจ้าของ ผู้เช่าในฐานะผู้เอาประกันต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์อย่างเคร่งครัด ถ้าผู้เช่าส่งคืนรถยนต์ให้แก่เจ้าของหรือถ้าเจ้าของกลับเข้าครอบครองรถยนต์นั้น ส่วนได้เสียของผู้เช่าในการประกันภัยใด ๆ ที่ทำไว้ตามสัญญาฉบับนี้ให้ตกเป็นของเจ้าของอย่างสิ้นเชิง โดยให้เจ้าของมีสิทธิได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการประกันภัยดังกล่าว รวมทั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามกรมธรรม์ที่ยังค้างอยู่ ณ เวลาที่ส่งรถยนต์คืนหรือ ณ เวลากลับเข้าครอบครองรถยนต์และ/หรือส่วนลดเบี้ยประกันภัยใด ๆ สิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนใด ๆ และเงินทั้งหมดที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายและที่ได้จ่ายในกรณีรถยนต์ถูกลักหรือเสียหายอย่างสิ้นเชิงตามสัญญาประกันภัยใด ๆ ดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทรับประกันภัยจ่ายให้แก่เจ้าของโดยตรงและโดยสัญญานี้ผู้เช่ามอบหมายอำนาจอันจะเพิกถอนมิได้ให้เจ้าของเป็นผู้ออกใบรับเงินให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยสำหรับเงินใด ๆ ที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว” เห็นว่า หากเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้ว กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์ หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคน ต้องกระทำโดยสุจริต

มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สิน ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สิน นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน เท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

การเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย

การเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย สมาชิกวงแชร์ที่เป็นผู้เสียหายไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งค่างวดแชร์แล้วมิได้เป็นของสมาชิกวงแชร์อีกต่อไป เจ้ามือแชร์ไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544

เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 4,6,17 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

จำเลยเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์รวม 7 วง จำเลยรวบรวมเงินจากผู้เสียหายและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไปแล้วหลายงวด จำเลยจัดให้มีการประมูลแชร์ไปแล้วหลายงวด โดยสถานที่จัดประมูลแชร์คือที่ร้านของจำเลย การประมูลแชร์ตามวาระมีไปแล้วหลายครั้ง ผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต่างก็ได้รับเงินไปแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์ ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมยังไม่เคยประมูลแชร์ได้จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินกองกลางที่จำเลยรวบรวมไป เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยไปแล้ว เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ก็ย่อมจะตกได้แก่ผู้นั้นไป กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมต่อไปอีก และหากผู้เสียหายและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิกไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็จะต้องรับผิดแทน ความรับผิดในกรณีเช่นนี้เป็นความผิดในทางแพ่ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายและโจทก์ร่วม

แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์แต่ละวงจะแตกต่างกันอยู่ และไม่มีวันใดมีการเริ่มเล่นแชร์ขึ้นใหม่พร้อมกันถึง 3 วง ก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 234 มาตรา 6 บัญญัติไว้แต่เพียงว่าห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้น มิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิดเมื่อแชร์ที่จำเลยจัดให้มีการเล่นทั้งหมดซึ่งมีจำเลยเป็นนายวงแชร์อยู่มีจำนวนรวมกันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่า 3 วง ตามที่จำกัดจำนวนไว้ในกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6

พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 และ ป.อ. มาตรา 352, 91 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็น ผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้เป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์รวมกัน 7 วง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) ดังนี้

แชร์วงที่ 1 มีสมาชิก 27 คน จำนวน 34 หุ้นหรือมือ มือละ3,000 บาท ต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 102,000บาท จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2537 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าวโดยการประมูลในวันที่ 25 ของทุกเดือนถัดไป จนครบงวดสุดท้ายวันที่ 25 กรกฎาคม 2540

แชร์วงที่ 2 และที่ 3 มีสมาชิกวงละ 20 คน และ 27 คนตามลำดับ จำนวนวงละ 30 มือ มือละ 1,000 บาท ต่องวดงวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 30,000 บาท ต่อวง จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกทั้งสองวงไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน2538 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าวแต่ละวง โดยการประมูลในวันที่ 4 ของทุกเดือนถัดไป จนครบงวดสุดท้ายทั้งสองวงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541

แชร์วงที่ 4 และที่ 5 มีสมาชิกวงละ 21 คน จำนวนวงละ 22 มือมือละ 2,000 บาท ต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นทุนกองกลางงวดละ 44,000 บาทต่อวง จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกทั้งสองวงไปแล้วเมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2538 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าวแต่ละงวด โดยการประมูลในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไปจนครบงวดสุดท้ายทั้งสองวงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540

แชร์วงที่ 6 มีสมาชิก 14 คน จำนวน 14 มือ มือละ 5,000 บาทต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 70,000 บาท จำเลยรับเงินทุนกองกลางงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าว โดยการประมูลในวันที่ 4 ของทุกเดือนถัดไปจนครบงวดสุดท้ายวันที่ 4 สิงหาคม 2540

แชร์วงที่ 7 มีสมาชิก 13 คน จำนวน 16 มือ มือละ 2,000 บาทต่องวด งวดละเดือน สมาชิกที่ร่วมเล่นแต่ละมือต้องส่งเงินแชร์ให้จำเลยรวมเป็นเงินทุนกองกลางงวดละ 32,000 บาท จำเลยรับเงินกองกลางงวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2539 งวดต่อไปสมาชิกจะหมุนเวียนกันรับเงินทุนกองกลางดังกล่าว โดยการประมูลในวันที่ 25 ของทุกเดือนถัดไป จนครบงวดสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2540

ระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยเรียกเก็บเงินค่าแชร์จากนางสาวกิ่งกาญจน์ ศักดา ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย4 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 3 มือ เป็นเงินรวม 234,000 บาทแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 5 จำนวน1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 325,000 บาทจากนางลัดดา สุไลมาน ผู้เสียหาย ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 2 วงเป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท และแชร์วงที่ 3 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น30,000 บาท จากนางสุจิน โพธิ์หอม ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งรวมเล่นแชร์กับจำเลย 5 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 78,000 บาทแชร์วงที่ 2 จำนวน 3 มือ เป็นเงินรวม 45,000 บาท แชร์ที่ 3 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม 30,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม38,000 บาท และแชร์วงที่ 5 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม 76,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 267,000 บาท จากนางสาวจิตรวิดา ตั้งวีระพรพงศ์ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 1 วง เป็นแชร์วงที่ 4 จำนวน1 มือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,000 บาท จากนางวลัยรัตน์ มุขจั่นผู้เสียหายที่ 5 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน2 มือ เป็นเงินรวม 30,000 บาท แชร์วงที่ 3 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม30,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม 36,000 บาทและแชร์วงที่ 5 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 174,000 บาท จากนางวันดี แซ่เอี้ย ผู้เสียหายที่ 6 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 1 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 2 มือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 156,000บาท จากนางชู้เค้ง วงศ์วรรุจ ผู้เสียหายที่ 7 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย1 วง เป็นแชร์วงที่ 7 จำนวน 3 มือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,000 บาทจากนางสาวสุนันทา หวังสิรินานนท์ ผู้เสียหายที่ 8 ซึ่งร่วมกันเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาทแชร์วงที่ 3 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 5 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม38,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 106,000 บาท จากนางสุนีย์ รัศมีเฟื่องฟูผู้เสียหายที่ 9 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 2 จำนวน 1 มือเป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000บาท แชร์วงที่ 5 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 7จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 113,000 บาทจากนางสาวฝันจิต เอี่ยมสกุลยง ผู้เสียหายที่ 10 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย3 วง เป็นแชร์วงที่ 4 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท แชร์วงที่ 5จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 38,000 บาท และแชร์วงที่ 7 จำนวน 2 มือเป็นเงินรวม 44,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท จากนางมะลิฉิมสุโข ผู้เสียหายที่ 11 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 3 วง เป็นแชร์วงที่ 1จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 78,000 บาท แชร์วงที่ 2 จำนวน 2 มือเป็นเงินรวม 30,000 บาท และแชร์วงที่ 3 จำนวน 2 มือ เป็นเงินรวม30,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 138,000 บาท และจากนางสุดใจเอี่ยมสกุลยง ผู้เสียหายที่ 12 ซึ่งร่วมเล่นแชร์กับจำเลย 4 วง เป็นแชร์วงที่ 1 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 78,000 บาท แชร์วงที่ 2 จำนวน1 มือ เป็นเงินรวม 15,000 บาท แชร์วงที่ 3 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม15,000 บาท และแชร์วงที่ 6 จำนวน 1 มือ เป็นเงินรวม 25,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 133,000 บาท แล้วจำเลยยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสิบสองซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,352 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสิบสองตามจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกจากผู้เสียหายแต่ละคนไป

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสุนีย์ รัศมีเฟื่องฟู ผู้เสียหายที่ 9 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1), 17 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 6 เดือน กระทงหนึ่งฐานยักยอกทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสิบสอง เป็นความผิดสิบสองกรรมสิบสองกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน เฉพาะข้อหาความผิดฐานเป็นนายวงแชร์ฯ คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 4 เดือน รวมสิบสามกระทง จำคุก 76 เดือน กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน325,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3จำนวน 267,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 38,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 174,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 156,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 66,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 106,000บาท โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 113,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 120,000 บาท ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 138,000 บาทและผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 133,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์ จัดให้มีการเล่นแชร์รวม 7 วง จำเลยรวบรวมเงินจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 12 และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไปแล้วหลายงวด แต่ทุกคนยังไม่เคยประมูลแชร์ได้รวมยอดเงินที่จำเลยเก็บไปจากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมมากถึงหนึ่งล้านบาทเศษแล้ว แชร์ล้มมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยโดยที่ยังไม่มีใครประมูลแชร์ ย่อมตกได้แก่ผู้ที่ชนะการประมูลแชร์ในงวดนั้น ๆ กรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าวจึงมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไป โจทก์เห็นว่า หากมีการประมูลแชร์แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวย่อมตกได้แก่ผู้ที่ประมูลแชร์ได้จริง แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินที่จำเลยเรียกเก็บไปนั้นยังไม่มีการประมูลแชร์ เงินค่าแชร์ที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกวงยังเป็นของลูกวงทุกคนอยู่ เพียงแต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองเงินจำนวนดังกล่าวไว้เท่านั้น การที่จำเลยเรียกเก็บเงินค่าแชร์จากลูกวงทุกคนไว้ในครอบครอง แต่ไม่จัดให้มีการประมูลแชร์เพื่อให้ลูกวงรับเงินทุนกองกลางค่าแชร์แต่ละงวดไปกลับเบียดบังเอาเงินค่าแชร์ดังกล่าวไป ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นเห็นว่า ตามที่โจทก์ฎีกามาเท่ากับอ้างว่าจำเลยไม่เคยจัดให้มีการประมูลแชร์เลย ได้แต่เรียกเก็บเงินไปไว้ที่จำเลยแล้วเบียดบังเอาเงินทั้งหมดนั้นไป แต่ตามทางนำสืบของโจทก์เองกลับปรากฏว่าพยานโจทก์ที่นำสืบหลายปากล้วนแต่เบิกความว่าจำเลยจัดให้มีการประมูลแชร์ไปแล้วหลายงวด โดยสถานที่จัดประมูลแชร์คือที่ร้านของจำเลยข้อเท็จจริงจึงมิได้เป็นไปดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การประมูลแชร์ตามวาระมีไปแล้วหลายครั้ง เพียงแต่แชร์ล้มเสียก่อนที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมประมูลได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต่างก็ได้รับเงินไปแล้ว มิใช่ว่ายังไม่เคยมีผู้ใดได้รับเงินกองกลางไป และตามคำฟ้องโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินในงวดหลัง ๆ ในช่วงเวลาที่การเล่นแชร์เริ่มจะไม่มั่นคงซึ่งอาจมีปัญหาในเรื่องการละเลยไม่จัดประมูลแชร์ได้แต่ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินทั้งหมดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งไปซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมยังไม่เคยประมูลแชร์ได้ จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินกองกลางที่จำเลยรวบรวมไป เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยไปแล้ว เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็ย่อมจะตกได้แก่ผู้นั้นไปกรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีก และหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็จะต้องรับผิดแทน ซึ่งความรับผิดในกรณีเช่นนี้เป็นความรับผิดในทางแพ่ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมดังที่โจทก์กล่าวหาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานยักยอกชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกัน7 วง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534มาตรา 6(1) ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์รวมเจ็ดวงเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องวงแชร์ 7 วง นั้น แต่ละวงเริ่มเล่นในวันเวลาต่างกัน วันเกิดเหตุที่กระทำความผิดจะต้องเป็นวันเดียวกัน เมื่อแชร์แต่ละวงเล่นกันคนละวัน ซึ่งไม่เกินสามวงจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด เห็นว่า แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์แต่ละวงจะแตกต่างกันอยู่ และไม่มีวันใดมีการเริ่มเล่นแชร์ขึ้นใหม่พร้อมกันถึง 3 วงก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6นั้นได้บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แชร์ที่จำเลยจัดให้มีการเล่นทั้งหมดซึ่งมีจำเลยเป็นนายวงแชร์อยู่นั้น มีจำนวนรวมกันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงตามที่จำกัดจำนวนไว้ในกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 นี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 91 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหายโจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง"

พิพากษายืน แต่ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์


ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(1).....(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4, มาตรา 5 และ มาตรา 6
(5).....

มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่าง พิจารณาก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้



พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534

มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย

มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท้าวแชร์ ตั้งเกิน 3 วงโทษจำคุก

นายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์เกิน 3 วง จำคุก ไม่เกิน 6 เดือน แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลาง มีความผิดฐานฉ้อโกง



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2547





โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ จำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทั้ง 5 วง มี 35 คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจำนวน 28 คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจำเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง 5 วง มิใช่จำนวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง 5 วง รวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) แล้ว

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าได้กระทำการเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง 5 วง นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2542 โดยมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) แล้ว และต่อมาจำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง 28 คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน





โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑, ๙๑ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖, ๑๗ ให้จำเลยคืนเงิน ๑,๓๐๓,๕๖๐ บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามสำนวนที่ฉ้อโกงไป

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖, ๑๗ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑?

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า ผู้เล่นแชร์แต่ละวงมีใครบ้าง มีรายชื่ออะไร และเมื่อรวมกันแล้วมีผู้เล่นมากกว่า ๓๐ คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖, ๑๗ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทั้ง ๕ วง มี ๓๕ คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๖ (๑) (๒) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า ๓ วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจำนวน ๒๘ คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจำเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง ๕ วง มิใช่จำนวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง ๕ วง รวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๖ (๑) (๒) แล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าได้กระทำการเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง ๕ วง นับแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒ โดยมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) (๒) แล้ว และต่อมาจำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง ๒๘ คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน

พิพากษายืน.






ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ





พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534



มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย





มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายวงแชร์ - ตั้งแชร์เกินสามแสนบาท

การที่นายวงแชร์จัดให้เล่นแชร์ฝ่าฝืนกฎหมายก็เป็นเหตุให้นายวงแชร์มีความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่เป็นเหตุให้สมาชิกวงแชร์หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่สมาชิกที่ยังไม่ได้ประมูล



พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ระบุไว้ ในมาตรา 6 และมีมาตรา 7 ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน มาตรา 6 ไว้เท่านั้น ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันหาได้มีบทบัญญัติ ห้ามเล่นแชร์ไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาเกิดจากการตกลงกันระหว่าง ผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้ จึงมีผลผูกพันและบังคับกันได้ ตามกฎหมาย การที่ผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนนำเช็คของจำเลย มาชำระให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ การชำระหนี้ค่าแชร์ดังกล่าว จึงหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายไม่





คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2543



โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 30 ตุลาคม 2539จำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 159,375 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย มูลหนี้ตามเช็คระงับไปแล้ว และเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 9,375 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า การชำระหนี้ค่าแชร์ตามฟ้องเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์และสามีจำเลยเป็นลูกวงแชร์ โดยมีนายชัชรินทร์ สุทธิภักดีเป็นนายวงแชร์ สามีจำเลยประมูลแชร์ไปได้ก่อน โจทก์สั่งจ่ายเช็คให้ตามข้อตกลงในการเล่นแชร์ ต่อมาโจทก์มีสิทธิได้เงินค่าแชร์ในงวดสุดท้าย จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จำนวนเงิน 150,000 บาท มอบให้แก่สามีจำเลยแล้วสามีจำเลยนำไปมอบให้แก่นายวงแชร์ และนายวงแชร์ได้สลักหลังส่งมอบเช็คดังกล่าวให้โจทก์ตามข้อตกลง แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพลับพลาไชย เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และวงแชร์รายนี้มีทุนกองกลางเป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

ฯลฯคดีนี้แม้นายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคงมีบทบัญญัติตามมาตรา 7 เท่านั้นที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายสมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 หาได้บทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง อันเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ประมูลแชร์ได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อสามีจำเลย ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนแล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องชำระเงินคืน โดยสามีจำเลยนำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบไว้แก่นายวงแชร์เพื่อส่งมอบให้แก่ลูกวงแชร์ที่จะประมูลแชร์ได้ในงวดต่อ ๆ ไป เช็คดังกล่าวของจำเลยจึงมีมูลหนี้ตามสัญญาเล่นแชร์ดังกล่าวอันบังคับได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้รับเช็คพิพาทที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจากนายวงแชร์และเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ การชำระหนี้ค่าแชร์ตามฟ้องหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามฎีกาของจำเลยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

ฟ้องเช็คค่าเล่นแชร์ สั่งจ่ายเช็คชำระค่าแชร์

ฟ้องเช็คค่าแชร์ (สั่งจ่ายเช็คชำระค่าแชร์)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่ง เงินคืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็น เช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท

กฏหมายมีข้อห้ามในการจัดตั้งวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ อย่างไรบ้าง???

ข้อห้ามตามกฎหมายมีดังนี้ครับ

1. ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ รวมไปถึงห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนด้วยครับ

2. แล้วบุคคลธรรมดามีข้อห้ามอย่างไร???

ก. จำนวนสมาชิกวงแชร์ทุกวงที่ตั้งขึ้นนั้นรวมกันไม่เกิน 30 คน

ข. คนหนึ่งห้ามตั้งวงแชร์หรือเป็นนายวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง

ค. เงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงต้องมีมูลค่าไม่เกิน 300,000 บาท

ง. ผลประโยชน์ของนายวงแชร์คือ ได้รับเงินทุนกองกลางหนึ่งงวดในการเล่นแชร์โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเท่านั้น (นอกจากนี้ไม่มีสิทธิ)

กฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเล่นแชร์อย่างไรบ้าง??

1. การที่บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนมากกว่า 3 วง หรือมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หรือนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า ถึง 3 เท่า ของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มี การเล่นแชร์

3. ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

4. ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์หรือสัญญาว่าจะใช้ เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงหรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวง แชร์ กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของ นิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลด้วย

5. ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

สำหรับสมาชิกวงแชร์ที่เปียร์แชร์ได้แล้วก็มีหน้าที่ต้องส่งเงินคืนหรือจ่าย ค่างวดแชร์แก่สมาชิกที่ยังประมูลไม่ได้ ในกรณีนี้ หากลูกแชร์ที่เปียร์ไปแล้วได้สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้ามอบให้กับเท้าแชร์ (นายวงแชร์) เพื่อนำไปมอบให้สมาชิกที่จะเปียร์ได้ในงวดต่อไปนั้น ก็ถือว่า เช็คที่สมาชิกได้ออกให้นั้นเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ต่อกันแล้ว หากลูกแชร์ที่เปียร์ได้ในภายหลังได้นำเช็คไปขึ้นเงินแล้วธนาคารปฏิเสธการ จ่ายเงิน ไม่ว่าเท้าแชร์จะหนีไปแล้วหรือวงแชร์ล้มก็ตาม ลูกแชร์ที่เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คก็ต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คที่สั่งจ่ายตาม กฎหมายเรื่องตัวเงิน

การเล่นแชร์ เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การเล่นแชร์เป็นการตกลงกันระหว่างลูกแชร์ที่เล่นแชร์กัน การจ่ายเช็คเพื่อจ่ายหนี้ค่าแชร์ที่เปียร์ไปแล้ว จึงเป็นการสั่งจ่ายเช็คที่มูลหนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับได้

การเล่นแชร์

ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ กรณีที่เป็นผู้จัดการบริษัทเป็นนายวงแชร์เป็นการส่วนตัวไม่ถือว่าวงแชร์ ดำเนินการโดยบริษัทนั้น เมื่อลูกวงแชร์เปียร์แชร์ได้แล้วได้สั่งจ่ายเช็คให้นายวงแชร์เพื่อชำระค่า งวดแชร์สำหรับผู้จะเปียร์ได้ในโอกาศต่อไปนั้นผู้สั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดชอบ ชำระหนี้ตามเช็คที่ตนสั่งจ่ายนั้นแม้ว่าวงแชร์ที่จ่ายเช็คนั้นล้มไปเพราะ นายวงแชร์หนีไปก็ต้องรับผิดตามเช็คที่ตนได้สั่งจ่ายไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545

คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่ง เงินคืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็น เช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้ม โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่า เป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงิน ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989

การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้ เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้นมีการรับเงินและผู้กู้ยืมเงิน ตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีการประมูลจ่ายผลตอบแทนดัง เช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณีที่กำหนดดอกเบี้ยหรือผล ประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ ด้วยกันที่มีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูลจึงไม่อยู่ในข่าย เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ทั้งในทางนำสืบของจำเลยก็รับว่าเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ก็จะสั่งจ่ายเช็คมอบ ให้แก่ ป. นายวงแชร์ซึ่งมิใช่นิติบุคคลการเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการ เล่นแชร์ฯ ไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ลงวันที่ 2 กันยายน 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 60,000 บาทรวม 4 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ทั้ง 4 ฉบับ โดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 256,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 240,000บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า ได้รับเช็คพิพาทมาอย่างไร เพื่อชำระหนี้อะไร จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม จำเลยออกเช็คพิพาทโดยไม่ลงวันที่มอบให้นายปรีชา องค์ศุลี ซึ่งเป็นนายวงแชร์ที่โจทก์ร่วมเล่นด้วย เนื่องจากจำเลยประมูลแชร์ได้ ต่อมามีการเลิกวงแชร์ก่อนที่โจทก์จะประมูลได้ โจทก์และนายปรีชาจึงร่วมกันฉ้อฉลโดยโจทก์รับเช็คพิพาทจากนายปรีชาลงวันที่ และเรียกเก็บเงิน โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบโจทก์ยังค้างชำระเงินจำนวน 240,000 บาท ซึ่งต้องชำระแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยเคยประมูลแชร์ได้ เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ นายปรีชารับเช็คพิพาทจากจำเลยเนื่องจากการเล่นแชร์ที่ขัดต่อกฎหมายเพราะมี ผู้เล่นเกิน 10 คน และมีมูลค่าแชร์เกิน 5,000,000บาท โจทก์รับเช็คจากนายปรีชา โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 16,650 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยและบุคคลอื่นตกลงเล่นแชร์กันโดยนายปรีชา องค์ศุลี เป็นนายวงแชร์ส่วนโจทก์กับจำเลยเป็นลูกวงแชร์ เมื่อจำเลยประมูลแชร์ไปแล้วทั้ง 2 มือ จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาทลงวันที่และนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คพิพาท ปฏิเสธการจ่ายเงิน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับเช็คพิพาททั้ง4 ฉบับมาจากผู้ใดและเพื่อชำระหนี้ค่าอะไรจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ในส่วนที่ เป็นสาระสำคัญ ขาดความชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โดยบรรยายไว้แล้วว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปไม่เป็นเหตุให้คำฟ้อง ของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองมีว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่ง เงินคืนคือสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยประมูลแชร์ได้ แล้วสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ก็ดี หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่นายปรีชาหัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ยัง ประมูลไม่ได้ก็ดี ก็ถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ในครอบครอง โดยแม้จะฟังว่านายปรีชานายวงแชร์ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าแชร์จากจำเลยโดยตรง โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ต่อมาเมื่อนายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้มโจทก์ชอบที่จะลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไป เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คพิพาทได้ เพราะกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อโจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 การที่จำเลยฎีกาอ้างว่า นายปรีชานายวงแชร์ไม่ได้นำเช็คของโจทก์มาให้จำเลยนั้น ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายไว้ให้ แก่โจทก์เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวเอากับนายปรีชานายวงแชร์โดย ตรง ส่วนที่จำเลยให้การว่าโจทก์กับนายปรีชานายวงแชร์ร่วมกันคบคิดฉ้อฉลจำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำสืบถึงเรื่องการโอนเช็คพิพาทระหว่างนายปรีชากับโจทก์ ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลแต่ประการใด คงนำสืบเพียงว่าเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คพิพาทและเช็คฉบับ อื่นให้นายปรีชาไปแล้ว นายปรีชาไม่ได้รวบรวมเงินจากลูกวงแชร์มาให้ตามข้อตกลงและหลบหนีไป เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการโอนเช็คพิพาทด้วยคบคิดกันฉ้อฉลดังที่จำเลยต่อสู้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันเล่นแชร์วงนี้เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชกำหนด กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามโดยชัด แจ้งต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้เล่น ซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น มีการรับเงินและผู้กู้ยืมเงินตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดย ไม่มีการประมูลจ่ายผลตอบแทนดังเช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณีกำหนดดอกเบี้ยหรือผล ประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยในการกู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ ด้วยกันที่มีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูลจึงไม่อยู่ในข่าย เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และแชร์วงนี้ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยก็รับว่านายปรีชาซึ่งเป็นผู้ จัดการบริษัทปรีชาวรรณ จำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเจริญผลเป็นนายวงแชร์ เมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ จำเลยสั่งจ่ายเช็คส่งมอบให้แก่นายปรีชา เช่นนี้ จึงรับฟังได้ว่านายปรีชาเป็นนายวงแชร์หาใช่นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ไม่ การเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน



พระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

มาตรา 4 ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืม เงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้น ได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไปผู้นั้นกระทำความผิด ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลัก หลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอัน สัญญาว่าเมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรอง และใช้เงินตาม เนื้อความแห่งตั๋วถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรอง ก็ดีหรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้า หากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534

มาตรา 5 ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์

มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการ

เล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่

กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทน

อย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลาง ในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่ง

งวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือ

ทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือ

ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย

ออกเช็คเป็นประกันหนี้ค่าแชร์ การเล่นแชร์

ออกเช็คเป็นประกันหนี้ค่าแชร์ การเล่นแชร์ การเลิกสัญญาเล่นแชร์ การจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2545



โจทก์เล่นแชร์กับจำเลย 2 หุ้น หุ้นละ 300,000 บาท โจทก์ชำระค่าหุ้นงวดแรกและรับเช็คจากจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ขอยกเลิกการเล่นแชร์ และแจ้งว่าจำเลยสามารถคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกได้หุ้นละ 100,000 บาท จำเลยมีที่ดินจะขายในราคาไร่ละ 200,000 บาท หากสมาชิกรายใดต้องการที่ดิน จำเลยจะโอนชำระหนี้ให้ หากไม่ต้องการจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คหุ้นละ 200,000 บาท มอบให้ไว้ เมื่อจำเลยขายที่ดินได้แล้วจะนำเงินมาชำระหนี้ให้จำเลยนัดสมาชิกไปพบ โดยให้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปด้วย ในวันนัดโจทก์ให้ภริยาโจทก์ถือเช็คไปแทน จำเลยมอบเงินสดให้ภริยาโจทก์ 200,000 บาท ภริยาโจทก์คืนเช็คให้จำเลยแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ซึ่งเป็นไปตามประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องผูกพันตามเงื่อนไขดังกล่าวการที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขายที่ดินได้แล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์



โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาเจริญผล เลขที่ 3633472 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน400,000 บาท ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เป็นประกันหนี้ค่าแชร์ โดยตกลงว่าจำเลยจะจ่ายเงินตามเช็คให้โจทก์ต่อเมื่อขายที่ดินได้จึงออกเช็คพิพาทไม่ลงวันที่ให้เป็นหลักประกันแต่โจทก์กลับนำเช็คพิพาทมาลงวันที่ 22 มีนาคม 2541 โดยไม่มีสิทธิ และยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินตามข้อตกลง เมื่อจำเลยยังขายที่ดินไม่ได้จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นนายวงแชร์ ซึ่งจัดให้มีการเล่นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 มีสมาชิกวงแชร์ 23 หุ้น หุ้นละ 300,000 บาทกำหนดประมูลเดือนละครั้งโจทก์เป็นสมาชิกวงแชร์ของจำเลย 2 หุ้น เมื่อโจทก์ชำระค่าหุ้นงวดแรกแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเจริญผล จำนวน2 ฉบับ ฉบับละ 310,000 บาท และ 305,000 บาท โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ให้แก่โจทก์ เมื่อประมูลแชร์ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2541 แล้ว จำเลยขอยกเลิกการเล่นแชร์ โจทก์ยังประมูลแชร์ไม่ได้ ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาเจริญผล จำนวนเงิน 400,000 บาท โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่าย ตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์แทนเช็คเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นวันที่ 22 มีนาคม 2541 แล้วเรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เช็คที่มิได้ลงวันที่สั่งจ่ายนั้น ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจึงได้แต่จะจดวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้น โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยมาพบโจทก์แจ้งขอยกเลิกการเล่นแชร์ และแจ้งว่าจำเลยสามารถคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกวงแชร์ได้หุ้นละ 100,000 บาทจำเลยมีที่ดินที่จังหวัดเชียงราย จะขายในราคาไร่ละ 200,000 บาท หากสมาชิกวงแชร์รายใดต้องการที่ดินดังกล่าวจำเลยจะโอนที่ดินชำระหนี้ให้ หากไม่ต้องการที่ดินจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คหุ้นละ 200,000 บาท มอบให้ไว้เมื่อจำเลยขายที่ดินได้แล้วจะนำเงินมาชำระหนี้ให้ จำเลยนัดสมาชิกวงแชร์ไปพบกันที่ภัตตาคาร โดยให้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปด้วย ในวันนัดโจทก์ให้ภริยาโจทก์ถือเช็คเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ไปแทน จำเลยมอบเงินสดให้แก่ภริยาโจทก์ 200,000 บาท ภริยาโจทก์คืนเช็คเอกสารหมาย ล.2 และล.3 ให้แก่จำเลยแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ แม้โจทก์จะมิได้อ้างภริยาโจทก์มาเบิกความถึงข้อเท็จจริงในการรับเช็คพิพาทจากจำเลย แต่การที่ภริยาโจทก์เลือกรับเงินสดที่จำเลยจ่ายคืนหุ้นละ 100,000 บาท กับเช็คพิพาท โดยมิได้เลือกรับโอนที่ดินแทนค่าหุ้น และโจทก์เบิกความตอบคำถามติงว่า โจทก์ไม่รับเงื่อนไขที่จำเลยจะโอนที่ดินให้เพราะเห็นว่าเป็นราคาสูงกว่าท้องตลาด ก็เป็นเหตุผลให้เชื่อว่า ภริยาโจทก์จัดการรับเงินสดที่จำเลยจ่ายคืนกับเช็คพิพาทตามประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องผูกพันตามเงื่อนไขที่จำเลยจะจ่ายเงินค่าหุ้นที่เหลือหุ้นละ 200,000 บาทเมื่อจำเลยขายที่ดินได้ การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาท เป็นวันที่22 มีนาคม 2541 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยขายที่ดินได้แล้วถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง




ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์

มาตรา 910 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบัง คับไว้ใน มาตรา ก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่กรณีดั่งจะกล่าว ดังต่อไปนี้ คือ

ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น

ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของ ผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน

ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย

ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย คนหนึ่งคนใดทำ การโดยสุจริต จะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ไม่สุจริตคบคิดกันฉ้อ | เช็คไม่มีมูลหนี้

จำเลยถูกจับข้อหาให้ที่พักแก่คนสต่างด้าว ทนายความพาไปพบอัยการ อ้างว่าสามารถช่วยจำเลยได้ จำเลยชำระเงินสดให้ส่วนหนึ่งและที่เหลือมอบเป็นเช็คให้ทนายความ โดยมีข้อตกลงว่าอัยการจะไม่อุทธรณ์คดีนั้น ต่อมาคดีดังกล่าวทางอัยการอุทธรณ์ จำเลยจึงมาทวงเช็คคืน ทางทนายความรับปากจะคืนให้ แต่กลับนำเช็คไปให้โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ ถือว่าโจทก์รับเช็คมาโดยไม่สุจริต เช็คดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 6696/2540

โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจาก ส. โดยรู้ว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่ ส. ทนายความเพื่อให้ ส. ช่วยเหลือคดีที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานให้ที่พักแก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ในอันที่จำเลยจะต้องรับผิด โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 201,931.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า มูลเหตุตามเช็คพิพาทสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช2522 จำเลยจึงไปปรึกษากับนายตายิน ซิงห์ นายตายินแนะนำให้จำเลยรู้จักกับนายสุภัทธรณ์ บุตรจันทร์ และนางสาวรัติญา บุคคลทั้งสามได้แนะนำจำเลยให้รู้จักกับนายสิทธิพร สุทธสิริกุล เพื่อให้ช่วยเหลือคดีที่จำเลยถูกจับ บุคคลทั้งสี่ได้ร่วมกันออกอุบายเพื่อจะเอาเงินจากจำเลยโดยอ้างว่าจะไปจ่ายให้แก่ผู้มีอำนาจให้เพียงลงโทษปรับจำเลยและจะไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา จำเลยหลงเชื่อจึงมอบเงินสดและเช็คอีกหลายฉบับให้บุคคลทั้งสี่ไปรวมทั้งเช็คฉบับดังกล่าวด้วยเพื่อให้คดียุติโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา ต่อมาเมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2536 คดีดังกล่าวได้มีการอุทธรณ์ จำเลยจึงขอเงินสดและเช็คทั้งหมดคืนจากบุคคลทั้งสี่ แต่บุคคลทั้งสี่บ่ายเบี่ยงและคบคิดกันฉ้อฉลกับโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ซึ่งโจทก์ทราบดีว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกินจำนวน 1,931.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.2 และคำพิพากษาศาลอาญาคดีหมายเลขแดงที่ 2823/2536 ว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โดยจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับในข้อหาให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองนายสุภัทรธรณ์ บุตรจันทร์ ทนายความได้พาไปหานายสิทธิพร สุทธสิริกุล ซึ่งเป็นพนักงานอัยการ นายสุภัทธรณ์เรียกเงินจากจำเลย 350,000 บาท โดยจะนำไปให้แก่ผู้มีอำนาจหน้าที่เพื่อจำเลยจะไม่ต้องรับโทษจำคุก จำเลยจ่ายเงินสดให้นายสุภัทธรณ์ไป 150,000บาท ส่วนที่เหลือ 200,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้นายสิทธิพร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลย ส่วนโทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี จำเลยพอใจ แต่พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงไปทวงเช็คพิพาทคืน ปรากฏว่านายสิทธิพรถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จำเลยจึงไปทวงถามจากนายสุภัทธรณ์ ซึ่งรับว่าจะคืนให้ แต่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ ส่วนพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยรู้ว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่นายสิทธิพรเพื่อช่วยเหลือคดีที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานให้ที่พักแก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ในอันที่จำเลยจะต้องรับผิดโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะได้รับ ผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือ ลายพิมพ์นิ้วมือ อ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมี พยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน นั้นไม่
มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะ ต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกัน เฉพาะบุคคลระหว่าง ตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะ ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

เช็คไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย

กฎหมายห้ามไม่ให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ การที่นิติบุคคลจัดให้มีการเล่นแชร์จึงตกเป็นโมฆะ สมาชิกวงแชร์เข้าร่วมเล่นแชร์ และได้เช็คที่นิติบุคคลจ่ายชำระค่าแชร์ที่ประมูลได้ เมื่อการเล่นแชร์ตกเป็นโมฆะ เช็คที่ได้รับจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่มีสิทธิเรียกร้องตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2544

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้เป็นนายวงจัดให้มีการเล่นแชร์ โจทก์เป็นกรรมการบริษัท ก. โจทก์ในนามบริษัทดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ร่วมเข้าเล่นแชร์ดังกล่าวรวม 2 วง ต่อมาโจทก์ประมูลแชร์ทั้งสองวงได้ และได้รับเช็คพิพาทรวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมา เช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายแม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะระบุจ่าย "บริษัท ก." แต่ก็มิได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 และมีอำนาจฟ้อง แต่แชร์ทั้งสองวงดังกล่าว มีนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 นิติกรรมการเล่นแชร์ทั้งสองวง จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองเพื่อเป็นฉบับประกันในการเล่นแชร์ อีกทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ เนื่องจากเป็นเช็คที่ออกประกันการเล่นแชร์ที่มีนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ตั้งวงแชร์โดยจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และออกเช็คพิพาทไว้ ต่อมาบริษัทเกียรติบุญชัยค้าไม้ จำกัด ประมูลแชร์ได้ จำเลยที่ 2 จึงมอบเช็คให้บริษัทดังกล่าวเพื่อไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 โจทก์มิใช่ผู้ร่วมเล่นแชร์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงิน โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที. เอ็ม. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้เป็นนายวงจัดให้มีการเล่นแชร์ โจทก์เป็นกรรมการบริษัทเกียรติบุญชัยค้าไม้ จำกัด กับจำเลยที่ 1 ร่วมเข้าเล่นแชร์ ดังกล่าวรวม 2 วง ต่อมาโจทก์ประมูลแชร์ทั้งสองวงได้ และได้รับเช็คพิพาทรวม 2 ฉบับ คือเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักสาขาพลับพลาไชย เลขที่ 2906150 และ 2948062 เช็คพิพาททั้งสองฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 150,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมาเช็คพิพาท ทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย แล้ววินิจฉัยว่า แม้เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะระบุจ่าย "บริษัทเกียรติบุญชัยค้าไม้ จำกัด" แต่ก็หาได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออกไม่ ดังนี้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 และมีอำนาจฟ้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อแชร์ทั้งสองวงดังกล่าวมี นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 5 นิติกรรมการเล่นแชร์ ทั้งสองวงจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ
พิพากษายืน.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะได้รับ ผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือ ลายพิมพ์นิ้วมือ อ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมี พยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน นั้นไม่
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ใน ครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็น ตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534
มาตรา 5 ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแช

ความผิดจราจรทางบกรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย

ความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวงสงขลาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551


คดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถย่อมมีทั้งที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้น เมื่อเหตุเกิดขึ้นจากอุปการณ์ในตัวรถ จึงไม่เหตุสุดวิสัย

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดโดยขับรถยนต์บรรทุกพร้อมรถพ่วงชนรถยนต์อีซูซุคันของนายพีรยุทธที่โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ไว้เป็นเงินจำนวน 111,896.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 108,658.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 108,658.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2540 แก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,237.85 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงินรวม 8,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวงสงขลา ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2857/2540 หรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาในคดีส่วนแพ่งได้นั้นจะต้องเป็นคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันและเป็นคู่ความเดียวกันซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ คู่ความในคดีส่วนแพ่งก็จะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วย สำหรับคดีอาญาของศาลแขวงสงขลานั้น จำเลยที่ 1 เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสงขลาเป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวงสงขลาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า เหตุรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถสวนไปชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้นั้นถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังยุติได้ว่า เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับชนถูกรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้นั้น เป็นเพราะลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงด้านนั้นหลุด รถยนต์บรรทุกจึงเสียการทรงตัว จำเลยที่ 1 อ้างว่าลูกปืนล้อรถอยู่ภายในตรวจสอบไม่ได้นั้น เห็นว่า อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถย่อมมีทั้งที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม การที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายในไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้น เห็นว่า ยังรับฟังไม่ขึ้น กรณียังรับฟังไม่ได้ว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

ผู้เสียหายฐานแจ้งความและเบิกความเท็จ

การที่จำเลยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาจนโจทก์ถูกดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คและการที่จำเลยเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานเบิกความเท็จได้ ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้หามีได้เฉพาะแต่เจ้าพนักงานเท่านั้น ราษฎรก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2536

ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และ 177 ไม่ใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้น ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ปลอมวันที่สั่งจ่ายเช็คซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้จำเลยไว้ แล้วต่อมาจำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์เนื่องจากเช็คฉบับดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ อ้างเหตุว่าจำเลยได้รับเช็คจากโจทก์เพราะโจทก์นำเช็คมาแลกเงินสดความจริงโจทก์ไม่เคยนำเช็คไปแลกเงินสด การแจ้งความของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายถูกจับกุมและดำเนินคดีต่อมาจำเลยได้เบิกความอันเป็นเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีในการพิจารณาคดีต่อศาลในคดีอาญาว่า โจทก์ได้นำเช็คฉบับดังกล่าวมาแลกเงินสดจากจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริงการเบิกความของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 177, 264, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172, 177 เรียงกระทงลงโทษฐานแจ้งความเท็จ จำคุก6 เดือน ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมกับกำหนดโทษในข้อหาที่ศาลชั้นต้นลงโทษไว้ให้หนักขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172และ 177 นั้นหาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) เช่นกัน การที่จำเลยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาจนโจทก์ถูกดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 และการที่จำเลยเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานเบิกความเท็จได้

พิพากษายืน

ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ความผิดฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า** เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยทโดยประกันภัยกับบริษัท และ **เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แสดงว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถ หรือมีรถไว้เพื่อใช้ ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าของรถ เมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของรถก็ลงโทษไม่ได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2549

ความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคแรก และมาตรา 37 ผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าของรถ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ มาตรา 158 (5)



โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-8638 นครปฐม ซึ่งยังมิได้เสียภาษีประจำปีให้ครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดและไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ทั้งไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ไปตามถนนเพชรเกษมจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปจังหวัดนครปฐม เมื่อไปถึงบริเวณทางร่วมทางแยกตัดกับถนนไปอำเภอสามพราน ทางเดินรถของจำเลยปรากฏสัญญาณจราจรไปสีแดง ในภาวะเช่นนั้นจำเลยควรใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์โดยต้องหยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยกหลังเส้นให้รถหยุด แต่จำเลยกลับขับรถด้วยความเร็วและไม่หยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยกหลังเส้นให้รถหยุด เป็นเวลาเดียวกับที่นางสาวนฤมล หงษ์ทอง ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บขธ กรุงเทพมหานคร 265 โดยมีนางสาวนิภาพรรณ สายยืนยงค์ นั่งซ้อนท้ายมาตามถนนเพชรเกษมจากจังหวัดนครปฐมมุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร และเลี้ยวขวาเข้าถนนไปอำเภอสามพรานเพราะได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว รถที่จำเลยขับจึงเฉี่ยวชนจักรยานยนต์คันดังกล่าว เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นางสาวนฤมลและนางสาวนิภาพรรณถึงแก่ความตาย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6, 60 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21, 22, 43 (4), 78, 152, 157, 160 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7, 11, 37, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 60 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 11, 37, 39 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) วรรคหนึ่ง, 43 (4), 152, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้รถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 2,000 บาท ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับกระทงแรก 1,000 บาท กระทงที่สอง 5,000 บาท กระทงที่สาม 500 บาท กระทงที่สี่จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมปรับ 16,500 บาท โทษจำคุกให้รอลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาทความผิดฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7, 37 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงประการเดียวว่า จะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 37 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องทุกข้อหาโดยโจทก์และจำเลยไม่สืบพยาน คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องทุกข้อหานั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7 วรรคแรก บัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 8 เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยทโดยประกันภัยกับบริษัท และมาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 7 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ดังนี้ แสดงว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถ หรือมีรถไว้เพื่อใช้ ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 7 นั้น จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าของรถ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษในคามผิดฐานดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน



พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

มาตรา ๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๘ เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท



มาตรา ๓๗ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ,ไม่มีใบอนุญาตขับขี่,โทษ

ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่,โทษ

โปรดระวังนะครับ......ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถ พร้อมทั้งคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ (และรถจักยานยนต์) ผู้ใดขับขี่รถยนต์ หรือรถจักยานต์ยนต์โดยยังไม่มีใบอนุญาติขับรถ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าใบขับขี่ มีโทษจำคุกด้วยครับ

มาดูพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522

มาตรา 42 ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถและต้องมีใบอนุญาตขับรถและสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถในขณะขับหรือควบคุมผู้ฝึกหัดขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที เว้นแต่ผู้ฝึกหัดขับรถยนต์ตามมาตรา 57

ในกรณีที่ผู้ขับรถเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้ขับรถซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นจะใช้ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 42 ทวิ ขับรถในราชอาณาจักรก็ได้ และในกรณีนี้จะต้องมีใบอนุญาตขับรถดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที

จากมาตรา 42 ข้างต้นนั้นมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 64

มาตรา 64 "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ไม่สามารถยอมความกันได้ครับ

สำหรับผู้ที่มีใบขับขี่แต่เลิมไว้ที่บ้านหรือไม่อยากแสดงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูจะมีผลอย่างไรครับ ในเรื่องนี้ครับกฎหมายกำหนดโทษไว้ในมาตรา 66 คือ

มาตรา 66 "ผู้ใดขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท"

ในกรณีความผิดตามมาตรา 42 ดังกล่าวข้างต้นนี้ การปฏิบัติที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็คือ จะต้องยึดรถส่งพนักงานสอบสวน แล้วผู้ขับขี่ต้องนำใบอนุญาตขับขี่หรือสำเนาคู่มือจดทะเบียนไปแสดงพร้อมเสียค่าปรับจึงจะรับรถคืนได้ แต่ที่ปฏิบัติกันอยู่จะออกใบสั่งแทนเพราะถ้ายึดรถมันจะยุ่งยาก และทำให้ผู้ขับรถเดือดร้อน ก็ไม่เคร่งครัดมาก นอกจากไปทำผิดแล้วหัวหมอ พูดจาไม่สุภาพ ถ้าใครเจอกรณีแบบนี้ แล้วถูกยึดรถ ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำถูกแล้ว ว่าเขาไม่ได้เพราะเป็นความผิดของเราเอง หากใครหลงลืมใบขับขี่ก็พูดดีกับตำรวจจะได้ไม่เสียเวลาทำมาหากินครับ




สำหรับเจ้าของรถที่ให้ผู้อื่นยืมรถไปใช้โดยผู้ยืมรถนั้นไม่มีใบขับขี่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่อย่างไร

สำหรับเรื่องนี้กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 56 ดังนี้

มาตรา 56 ภายใต้บังคับมาตรา 43 และมาตรา 57 ห้ามมิให้เจ้าของรถหรือคนขับรถยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือมีใบอนุญาตขับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ เข้าขับรถของตนหรือรถที่ตนเป็นคนขับ

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 56 ก็มีความผิดตาม มาตรา 60 ครับ(ปรับไม่เกิน 2,000 บาท)

มาตรา 60 "ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 วรรคสองและวรรคสาม มาตรา 11 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 14 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 18 วรรคหนึ่ง มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มาตรา 21 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง มาตรา 56 หรือมาตรา 57 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท"

มือใหม่หัดขับ กฎหมายว่าอย่างไรบ้าง แล้วผู้สอนขับรถยนต์กฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง


ในเรื่องนี้
ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ มาตรา 57 กำหนดไว้ว่า

มาตรา 57 ผู้ใดฝึกหัดขับรถยนต์ ต้องมีผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีควบคุมอยู่ด้วย

ในการฝึกหัดขับรถ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ฝึกหัดและผู้ควบคุมอยู่ในรถ ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้น ผู้ควบคุมต้องรับผิดทางแพ่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ฝึกหัดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสอนในเวลาที่ขับอยู่นั้น

ตามมาตรา 57 กำหนดให้มือใหม่ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถ ต้องมีผู้ฝึกสอนคอยดูแลควบคุมการฝึกหัดขับขี่ และยังได้เน้นว่าผู้สอนหรือผู้ฝึกหัดนั้นต้องได้รับใชอนุญาตขับรถยนต์มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือพูดง่าย ๆว่าต้องมีใบขับขี่อายุ 3 ปีขึ้นไปนั่นเองครับ

นอกจากนี้ในขณะฝึกหัดนั้นก็ห้ามไม่ให้ผู้อื่นนอกจากผู้หัดขับรถและผู้สอนอยู่ในรถด้วย ไม่เช่นนั้นผู้สอนต้องรับผิดชอบกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไปชนคนและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เว้นแต่ผู้สอนจะพิสูจน์ได้ว่า ได้ผู้สอนได้บอกได้เตือนแล้วแต่มือใหม่หัดขับไม่เชื่อฟังเอง

แล้วโทษล่ะเป็นอย่างไร ในกรณีที่ 1. ฝึกหัดไม่มีผู้สอนควบคุม 2. มีผู้สอนอยู่ในรถยนต์คอยควบคุมดูแลก็จริง แต่ว่า ผู้สอนหรือผู้ฝึกมีใบขับขี่ไม่ถึง 3 ปี ...ในเรื่องนี้มาตรา 60 ข้างต้นกำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 2,000 บาท


กรณีชนแล้วหนี

ในกรณีขับรถชนแล้วหนีมีความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้ใน มาตรา 78 ดังนี้คือ

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย


ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนี้ไป หรือไม่แสดงตัว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำ ความผิดและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี้ หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่ วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ


แล้วกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ขับรถชนแล้วหนีว่าอย่างไร

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มีการกำหนดโทษไว้ว่า



มาตรา 160 "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขับรถด้วยความประมาทจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท ความผิดฐานไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี ผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่ วันเกิดเหตุ ให้ตกเป็นของรัฐ
ในคดีนี้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี ฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2549

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือลดความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่นหรือสิ่งอื่นใดที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน โดยมิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67, 152 ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 67, 78, 152, 157, 160

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78, 152, 157, 160 วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยขับรถยนต์ลากจูง โดยมีตัวรถกึ่งพ่วงคันเกิดเหตุด้วยความเร็วสูงบริเวณทางแยก จนเกิดการชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับมา การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถด้วยความประมาทขาดสำนึกและขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ถนน จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ทั้งภายหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยยังหลบหนีไปและไม่หยุดให้การช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง จึงยังไม่มีเหตุที่จะปรานีจำเลยด้วยการรอการลงโทษจำคุกได้ แต่อย่างไรก็ดี จากคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า เหตุที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความประมาทของผู้ตายด้วย ทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้พยายามบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ทายาทของผู้ตายโดยชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที โดยลงโทษจำเลยก่อนลดโทษให้จำคุก 4 เดือนนั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤิตการณ์แห่งคดีด้วย

อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยขับรถยนต์ลากจูงโดยประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือลดความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่นหรือสิ่งกีดขวางได้ทัน มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง จึงไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67, 152 ได้ตามคำขอท้ายฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้มาด้วยและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67, 152 คงให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี ฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วเป็น จำคุก 1 ปี 2 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.


พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 67 ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็ว ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง

เครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราความเร็ว ขั้นสูงหรือขั้นต่ำก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนี้ไป หรือไม่แสดงตัว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำ ความผิดและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี้ หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่ วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ

มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 7 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 16 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 (1) มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 56 มาตรา 64 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง มาตรา 73 วรรค 1 หรือวรรค 3 มาตรา 77 วรรค 1 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 89 วรรค 1 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 วรรค 1 มาตรา 95 มาตรา 99 มาตรา 127 มาตรา 128 มาตรา 130 หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 15 วรรค 2 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 77 วรรค 2 หรือมาตรา 96 วรรค 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท

จอดรถกีดขวางทางจราจร

จอดรถกีดขวางทางจราจรก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

กระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจรทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ว่ากระทำโดยประมาทโดยขับรถยนต์ ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่

จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตขับรถทุกประเภท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2545 เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา จำเลยกระทำโดยประมาทโดยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนบุณฑริก - หนองแสง กีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกันมีผู้เสียหายนั่งซ้อนท้าย แล่นเข้าชนท้ายรถพ่วง ทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เหตุเกิดที่ตำบลโพนงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 11, 61, 78, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 90, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 61, 78 วรรคหนึ่ง, 148, 151, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาท (และจอดรถในทางโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้ขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นและไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและตาย จำคุก 3 เดือน รวมลงโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 1 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ไปจอดบนถนนโดยกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง ซึ่งขณะนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอเป็นเหตุให้นายวิวัฒน์ผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในทิศทางเดียวกันมีนายเกรียงผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายแล่นเข้าชนท้ายรถพ่วง รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในข้อกฎหมายต่อไปด้วยว่าที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 มาด้วยนั้น ชอบหรือไม่ โดยเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกัน เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยจอดรถอยู่บนถนนมิใช่จำเลยขับรถอยู่ในทาง ซึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ความมุ่งหมายของกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางไม่ว่าจะกระทำโดยประมาทหรือไม่ก็ตาม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่

เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจรทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมา ชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 11, 148 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติจราจรทางบก 2522
มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรืออาจเกิด อันตราย หรืออาจทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ผู้ใช้ คนโดยสาร หรือ ประชาชนมาใช้ในทางเดินรถ
รถที่ใช้ในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องจัดให้มีเครื่องยนตร์ เครื่องอุปกรณ์และ หรือส่วนควบที่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนตร์ กฎหมายว่าด้วยการ ขนส่งกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน กฎหมายว่าด้วยรถลาก หรือกฎหมายว่าด้วย รถจ้างและใช้การได้ดี
สภาพของรถที่อาจทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยตามวรรคหนึ่ง และวิธี การทดสอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 11 ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถ หรือ สิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้ง ภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางต้องเปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และ เงื่อนไขที่กำหนดใน กฎกระทรวง

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความ เสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนี้ไป หรือไม่แสดงตัว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำ ความผิดและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนี้ หรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกเดือนนับแต่ วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ

มาตรา 148 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 6 วรรค 1 หรือวรรค 2 มาตรา 8 วรรค 1 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 วรรค 1 มาตรา 20 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 44 มาตรา 51 มาตรา 54 มาตรา 55 วรรค 1 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 60 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 68 มาตรา 69 มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 73 วรรค 2 มาตรา 74 มาตรา 76 มาตรา 83 มาตรา 84 มาตรา 87 มาตรา 88 มาตรา 96 วรรค 1 มาตรา 97 มาตรา 101 มาตรา 107 มาตรา 108 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 114 วรรค 1 มาตรา 118 มาตรา 119 มาตรา 120 มาตรา 121 มาตรา 122 มาตรา 123 มาตรา 124 มาตรา 126 มาตรา 129 หรือ มาตรา 133 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 160 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ