กรณีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำโดยพลาด กับการกระทำโดยไม่พลาดหรือเจตนา ถ้าหากโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสองและวรรคสาม แต่ทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยนั้นไม่ได้กระทำโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำโดยพลาด โดยจำเลยเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ศาลจะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยพลาด โดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้องมาพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เราต้องพิจารณาว่าข้อแตกต่างระหว่างการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 กับการกระทำโดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา 60 นั้น เป็นข้อแตกต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ ในเรื่องนี้ศาลฎีกาถือว่าไม่ใช่ข้อแตกต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ไม่ว่าโจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหายโดยเจตนาตามมาตรา 59 แต่ถ้าพิจารณาได้ความว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 แต่จำเลยกระทำโดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา 60 ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ให้ดูต่อไปว่าจำเลยหลงต่อสู้หรือไม่ ถ้าจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ หรือในกรณีกลับกัน โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายโดยพลาดตามมาตรา 60 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยพลาดแต่จำเลยกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นตามมาตรา 59 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ข้อแตกต่างกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญ แต่เป็นเพียงรายละเอียดถ้าหากจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลก็สามารถพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 740/2555 ----- ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้มีดดาบของกลางฟันไปที่ศีรษะของ พ. แต่ พ. หลบทัน คมมีดจึงพลาดไปถูกที่ข้อศอกขวาของผู้เสียหาย จึงต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาใช้มีดฟันที่ศีรษะของผู้เสียหายตามนัยแห่ง ป.อ. มาตรา 60 การที่จำเลยใช้มีดดาบความยาวรวมด้ามประมาณ 26 นิ้ว ฟันไปที่ศีรษะของ พ. อันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย แต่จำเลยฟันพลาดไปถูกข้อศอกขวาของผู้เสียหายกระดูกแตกได้รับอันตรายสาหัส แสดงว่าจำเลยใช้มีดดาบฟันอย่างรุนแรงโดยมีเจตนาจะฆ่า พ. เมื่อผู้เสียหายซึ่งถูกกระทำโดยพลาดไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด และการที่จำเลยใช้มีดดาบฟัน พ. โดยมีเจตนาฆ่าแต่คมมีดพลาดไปถูกผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 60 ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น