ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ตำรวจแจ้งข้อหาโดยไม่ได้แจ้งทุกกรรมในการกระทำผิด พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๙/๒๕๖๓

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๗๗, ๒๘๙, ๒๘๓ ทวิ, ๓๑๗

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง ธ. ผู้เสียหายที่ ๓ (ผู้ร้องที่ ๑) และเด็กหญิง ก. ผู้เสียหายที่ ๔ (ผู้ร้องที่ ๒) โดยนางสาว ฝ. ผู้เสียหายที่ ๑ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม       ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท และ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว   นับแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง

ในคดีส่วนแพ่งจำเลยขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสาม, ๒๗๙ วรรคสอง (เดิม), ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง (เดิม), ๓๑๗ วรรคสาม (เดิม)     การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร            เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท     ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐  รวมเจ็ดกระทง จำคุกกระทงละ ๘ ปี    รวมจำคุก ๕๖ ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร รวมเจ็ดกระทง จำคุกกระทงละ ๖ ปี รวมจำคุก ๔๒ ปี   แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก ๕๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ ๑ เป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ  และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ ๒ เป็นเงิน ๓๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ   ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นที่ยุติว่า ผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ เด็กหญิง ธ. ผู้เสียหายที่ ๓ ขณะเกิดเหตุอายุ ๙ ปีเศษ       เด็กหญิง ก. ผู้เสียหายที่ ๔ ขณะเกิดเหตุอายุ ๕ ปีเศษ    และเด็กชาย ร. จำเลย และนางสาว ญ. เป็นสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน ๓ คน ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสี่พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ ๑๒๖ ซึ่งเป็นบ้านของนาย ผ. และนาง อ. บิดามารดาของผู้เสียหายที่ ๒ และนางสาว ญ.          นอกจากนี้ยังมีนางสาว ส. ผู้พิการ กับนางสาว ม. อาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวด้วย    เดิมจำเลยและนางสาว ญ. ก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒๖     แต่ต่อมานาย ผ. ยกบ้านเลขที่ ๑๒๖/๑ และบ่อกุ้งให้จำเลยและนางสาว ญ. จำเลยและนางสาว ญ. จึงย้ายออกไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒๖/๑ จนปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ผู้เสียหายที่ ๑

 และที่๒ พาผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกุยบุรี  ให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม   กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี  และโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร      พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ป. ชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ให้การตามบันทึกคำให้การวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุ จัดทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพที่เกิดเหตุคดีอาญา และให้ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ชี้ภาพถ่ายจำเลย

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย

ประการแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพียงว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ต่อเนื่องกัน จำเลยกระทำความผิดข้อหากระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่า เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙ และระหว่างวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ จำเลยกระทำความผิดในวันเวลาตามฟ้อง ข้อ ๑.๑, ๑.๒, ๑.๙ และ ๑.๑๐

ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหาในช่วงเวลาดังกล่าว การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามฟ้อง ข้อ ๑.๑, ๑.๒, ๑.๙ และ ๑.๑๐ หรือไม่ เห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ บัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใดและทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย ทุกมาตรา และทุกกระทงความผิดเสมอไป ดังนั้น แม้เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นได้ คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงจากการสอบสวนได้ความเพิ่มเติมว่า จำเลยกระทำความผิดในช่วงวันเวลาอื่นที่ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดที่ได้แจ้งข้อหาไว้เดิม ย่อมถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว ประกอบกับชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธ และเพิ่งมาอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ทำให้ไม่สามารถให้การและนำพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ถูกต้องหลังจากที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้ว กรณีไม่น่าเชื่อว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำผิดฐานกระทำชำเราโดยปกติเป็นเรื่องที่รู้เห็นกันเฉพาะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น เป็นการยากที่หาผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง  จึงต้องอาศัยคำเบิกความของผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ โดยใช้ผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์มาพิจารณาประกอบ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ ๓ อายุ ๙ ปีเศษ ผู้เสียหายที่ ๔ อายุ ๕ ปีเศษ ขณะที่มาเบิกความผู้เสียหายที่ ๓ อายุ ๑๑ ปีเศษ ผู้เสียหายที่ ๔ อายุ ๗ ปีเศษ แม้ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้ให้การและเบิกความระบุถึงวันเวลาที่เกิดเหตุอย่างชัดเจน แต่ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ เบิกความถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุว่า ผู้เสียหายที่ ๓

และที่ ๔ ถูกจำเลยพาไปกระทำชำเราในช่วงวันเวลาใดบ้าง โดยผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ถูกจำเลยพาไปกระทำชำเราตั้งแต่ครั้งแรกและครั้งต่อมาเป็นลำดับขั้นตอนสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ยังเป็นเด็กวัยเยาว์ การถูกกระทำชำเราเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ มีมลทินติดตัวตลอดชีวิต และทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับความอับอาย ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ให้การเช่นนี้มาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดา โดยมีการใช้ตุ๊กตาเป็นอุปกรณ์ประกอบการซักถามด้วย ที่ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้ระบุรายละเอียดของวันและเวลาที่เกิดเหตุอย่างชัดเจน    อาจเป็นเพราะผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเด็ก          การที่ไปให้การชั้นสอบสวนและมาเบิกความในชั้นพิจารณาหลังจากเกิดเหตุแล้วหลายเดือน อาจทำให้หลงลืมรายละเอียดไปบ้าง และที่ผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ใดฟังหลังเกิดเหตุแต่ละครั้งนั้น ผู้เสียหายที่ ๓ ให้การในชั้นสอบสวนว่า เพราะกลัวจำเลยจะไม่พาไปเที่ยว ส่วนผู้เสียหายที่ ๔ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เพราะกลัวจำเลย   นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทหญิง บ. พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้สอบปากคำผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ปกครองของผู้ร้องทั้งสอง ชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ให้การตามบันทึกคำให้การ โดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ในแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง พยานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการตามหน้าที่ และขณะที่พยานเข้าเบิกความ ทนายจำเลยไม่ได้ถามค้านให้เห็นว่าการสอบคำให้การผู้เสียหายที่ ๓ และที่ ๔ ทำโดยไม่ชอบอย่างไร ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ.๒๕๕๘ และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓

พิพากษายืน

 

ไม่มีความคิดเห็น: