ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และยอมให้ผู้อื่นโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้าบัญชีธนาคาร

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15630/2553

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรก จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและร่วมกันลักเงินสดจากบัญชีของผู้เสียหายตามฟ้องโจทก์ข้อ ค, ง และ จ. รวม 3 กระทง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงเครื่องมือของคนร้ายที่หลอกใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มของจำเลย เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและขาดเจตนาที่จะกระทำความผิด จำเลยไม่มีความผิด เห็นว่า ข้อที่จำเลยอ้างว่ามีชายแปลกหน้ามาขอใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มของจำเลย ถือเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว แต่การที่ยินยอมให้ชายแปลกหน้าใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มของจำเลย โดยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยได้พูดคุยกับชายแปลกหน้าไม่นานรวมเวลาแล้วไม่เกิน 2 นาที นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปอย่างยิ่งเพราะเลขที่บัญชีเงินฝากและรหัสบัตรเอทีเอ็ม ถือเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด ไม่มีบุคคลใดจะยอมเปิดเผยให้บุคคลอื่นทราบโดยง่าย เฉพาะอย่างยิ่งกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อนยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ การที่จำเลยหลงเชื่อชายแปลกหน้าในทันทีทันใดที่ชายแปลกหน้ามาขอความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องที่ขาดเหตุผลเพราะหากจำเลยใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อยย่อมทราบได้ว่าการกระทำของชายแปลกหน้าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินในบัญชีของจำเลยถอนได้วันละไม่เกิน 50,000 บาท การที่คนร้ายเหลือเงินไว้ในบัญชีของจำเลย 2,000 บาท จึงน่าเชื่อว่าเป็นการให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยมากกว่าที่จำเลยอ้างว่าชายแปลกหน้าจะมาเอาในวันรุ่งขึ้น ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยเชื่อว่าจำเลยรู้ว่าชายแปลกหน้าเป็นคนร้ายแต่ได้ร่วมมือกับคนร้ายเพื่อค่าตอบแทน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยมิได้ร่วมกับคนร้ายในการลักบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายเพื่อที่จะนำมาใช้ถอนและลักเงินในบัญชีของผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่เมื่อคนร้ายไม่สามารถใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินสดจากบัญชีของผู้เสียหายได้เนื่องจากเกินวงเงิน จึงต้องใช้วิธีโอนเงินจากบัญชีเงินของผู้เสียหายเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยก่อน จากนั้นใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยถอนเงินจากบัญชีของจำเลยอีกทอดหนึ่ง การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการเพื่อโอนเงินยังคงเป็นเรื่องของคนร้ายซึ่งทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเป็นผู้กระทำ กับไม่พอฟังว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้ การที่จำเลยยอมให้คนร้ายใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มของจำเลยเพื่อให้การลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จ จึงเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด มิใช่เป็นการกระทำในลักษณะของตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จำเลยคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้ข้อเท็จจริงที่ได้จะแตกต่างกับที่กล่าวในฟ้อง แต่มิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ทั้งมีบทลงโทษที่เบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่จำเลยยอมให้คนร้ายโอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายมาเข้าบัญชีของจำเลยรวม 3 ครั้ง แล้วใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยถอนเงินที่โอนมาทั้ง 3 ครั้ง ทันทีนั้น เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า คนร้ายได้โอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย 3 ครั้ง ติดต่อกัน รวมเป็นเงิน 52,000 บาท ภายในเวลา 3 นาทีเนื่องจากไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายได้ในคราวเดียวกันได้หมดเพราะมีข้อจำกัดของธนาคารเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ดังที่ปรากฏในรายการเดินบัญชีผ่านเครื่องเอทีเอ็มของผู้เสียหาย และในทันทีทันใดหลังจากที่คนร้ายโอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยแต่ละครั้งดังกล่าวแล้ว ก็มีการใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยถอนเงินที่โอนมาออกจากบัญชีของจำเลยทันทีเช่นกัน แม้การดำเนินการจะได้ทำขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันก็ตามแต่การลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้ง ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกันแล้ว หาใช่เป็นการกระทำผิดเพียงกรรมเดียวตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้งไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดหลายกรรม รวม 3 กระทง นั้น ชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยแต่เพียงสถานเบาและควรรอโทษแก่จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยสนับสนุนให้คนร้ายลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายที่ลักมาจนเป็นผลสำเร็จ เป็นภัยต่อสุจริตชนทั่วไปที่ต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำของมิจฉาชีพจึงถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ดังนั้น แม้จำเลยจะชดใช้เงินทั้งหมดคืนให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอแก่การปรานีที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ ฎีกาของจำเลยจึงฟังขึ้นแต่บางส่วน
อนึ่ง เมื่อปรากฏว่าในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยได้ชดใช้เงิน 50,000 บาทให้แก่ผู้เสียหายไปครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่ต้องให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่ผู้เสียหายอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/7, 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดฐานสนับสนุนการลักทรัพย์เงินสดและสนับสนุนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสนับสนุนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้เบิกถอนเงินสดโดยมิชอบซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 24 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ไม่มีความคิดเห็น: