ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

“ขยายลำคลอง ไม่ได้เวนคืน”

โครงการขุดลอกและพัฒนาลำน้ำ พ. โดยผู้ว่าราชการจังหวัด น. ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการขุดขยายความกว้างลำน้ำและสร้างคันดินเป็นถนนเลียบตลอดแนวสองฝั่งลำน้ำ มีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดี ไม่มีการเวนคืนที่ดิน หรือตกลงซื้อขายที่ดินจากผู้ฟ้องคดี ไม่ปรากฏสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายที่จะขุดลอกเอาที่ดินของผู้ฟ้องคดี โครงการขุดลอกที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการจงใจทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แม้จะได้มีการประชุมชี้แจงให้ราษฏร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคลองดังกล่าว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ปรากฏผู้ฟ้องคดีได้ทราบและยินยอมให้ขุดลอกลำคลองรุกล้ำแต่อย่างใด แม้ภายหลังปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและราษฏร์จะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว โดยสามารถทำนาและปลูกพืชโดยได้รับผลผลิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากกากรขุดลอกคลองก็ตาม รวมทั้งสามารถปลูกพืชประเภทอื่นหลังทำนาได้ เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างสมบรูณ์ก็ตาม แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ก็หาใช่เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำประโยชน์ส่วนนี้มากล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
การที่ฟ้องขอให้ชดใช้ราคาที่ดินที่ถูกขุดลอกและรุกล้ำที่ดิน เป็นกรณีที่เจ้าของติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งสามารถฟ้องศาลได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา และถือเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องคดี จึงไม่มีกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี จึงยังไม่ครบระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ คำพิพากษาปกครองสูงสุด ที่ อ. ๑๔๖๔/๒๕๕๘
ข้อสังเกต๑.เมื่อรัฐมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใดๆเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือในการป้องกันประเทศหรือได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตร การอุตสาหกรรมหรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนโดยออกเป็นพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินที่ต้องเวนคืน โดยระบุถึงความประสงค์ในการเวนคืน เจ้าหน้าที่เวนคืน ที่ดินที่จะเวนคืน พร้อมแสดงแผ่นที่สังเขปบริเวณที่จะทำการเวนคืน โดยพระราชกฤษฏีกาดังกล่าวใช้บังคับได้ใน ๒ ปีหรือตามกำหนดเวลาที่พระราชกฤษฏีกานั้นกำหนดไว้แต่ต้องไม่เกิน ๔ ปีแล้วแต่ความจำเป็นในการสำรวจที่ดินที่ต้องเวนคืน มาตรา๕,๖, พรบ ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ และต้องมีการติดประกาศสำเนาพระราชกฤษฏีกาดังกล่าว ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ สนง. เขต ที่ทำการแขวง ศาลากลาง ที่ทำการตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน สนง.ที่ดินจังหวัด สนง.ที่ดินอำเภอในท้องที่ที่จะมีการเวนคืน โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน หากตกลงกันได้ให้จ่ายค่าทดแทนให้จ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภายใน ๑๒๐ วันนับแต่วันทำสัญญา หากตกลงกันไม่ได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฏหมายสามารถขอรับเงินค่าทดแทนในราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดพร้อมสงวนสิทธิ์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ตาม, พรบ ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา ๑๐,๑๑,๑๙ หรือ หากไม่พอใจในค่าทดแทน สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับค่าทดแทน ตาม, พรบ ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา ๒๕ หากไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไม่ได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปในเวลา๖๐ วันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ ให้ฟ้องศาลได้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากรัฐมนตรีหรือนับแต่พ้นกำหนดเวลา ๖๐ วันดังกล่าว แล้วแต่กรณี, พรบ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ตาม มาตรา ๒๖
๒โครงการขุดลอกและพัฒนาลำน้ำ พ. โดยผู้ว่าราชการจังหวัด น. ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการขุดขยายความกว้างลำน้ำและสร้างคันดินเป็นถนนเลียบตลอดแนวสองฝั่งลำน้ำ เมื่อไม่ได้ออกเป็น, พระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ การเข้าขุดและขยายพื้นที่ลำน้ำรุกล้ำในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ การกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์บางส่วน อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีอันเป็นปกติสุข เป็นความผิดฐานบุกรุก ตาม ปอ มาตรา ๓๖๒
๓.เมื่อมีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ได้ออกเป็นพระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการเวรคืน ไม่มีการเวนคืนที่ดิน หรือตกลงซื้อขายที่ดินจากผู้ฟ้องคดี จึงไม่ปรากฏสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายที่จะขุดลอกเอาที่ดินของผู้ฟ้องคดี โครงการขุดลอกที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการจงใจทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิ์อันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายตาม ปพพ มาตรา ๔๒๑ เป็นการกระทำโดยจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำละเมิดตาม ปพพ มาตรา ๔๒๐ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค จึงเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามความหมายใน พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา ๔ จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๕ พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตาม มาตรา ๕พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นการกระทำการในหน้าที่ แต่หากไม่ใช่เป็นการกระทำการในหน้าที่แล้วสามารถฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่ฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ตามมาตรา ๖พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
๔. แม้จะได้มีการประชุมชี้แจงให้ราษฏร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคลองดังกล่าว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ปรากฏผู้ฟ้องคดีได้ทราบและยินยอมให้ขุดลอกลำคลองรุกล้ำแต่อย่างใด เพราะไม่มีการออกเป็นพระราชกฤษฏีกา กำหนดเขตที่ดินที่ต้องเวนคืน ไม่มี การติดประกาศสำเนาพระราชกฤษฏีกาดังกล่าว ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ สนง. เขต ที่ทำการแขวง ศาลากลาง ที่ทำการตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน สนง.ที่ดินจังหวัด สนง.ที่ดินอำเภอในท้องที่ที่จะมีการเวนคืน ไม่มีการตกลงซื้อขายและกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน
๕.แม้ภายหลังปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและราษฏร์จะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว โดยสามารถทำนาและปลูกพืชโดยได้รับผลผลิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากกากรขุดลอกคลองก็ตาม รวมทั้งสามารถปลูกพืชประเภทอื่นหลังทำนาได้ เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างสมบรูณ์ก็ตาม แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ก็หาใช่เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำประโยชน์ส่วนนี้มากล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฏหมายในการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ นั้นก็คือ แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ประโยชน์จาการขยายลำคลองก็เป็นคนละส่วนกับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดรุกล้ำผู้ฟ้องคดีหรือไม่อย่างไร
๖. หรือแม้จะได้มีการประชุมชี้แจงให้ราษฏร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคลองดังกล่าว แต่เมื่อไม่ปรากฏผู้ฟ้องคดีได้ทราบและยินยอมให้ขุดลอกลำคลองรุกล้ำแต่อย่างใด หรือแม้จะทราบว่ามีโครงการดังกล่าว แต่หากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมให้ทำการขุดลอกที่ดินในที่ของตนเองแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการดังกล่าวได้
๗.การที่ฟ้องขอให้ชดใช้ราคาที่ดินที่ถูกขุดลอกและรุกล้ำที่ดิน เป็นกรณีที่เจ้าของติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งสามารถฟ้องศาลได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา และถือเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องคดี จึงไม่มีกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี จึงยังไม่ครบระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ จะมาถือเอาอายุความตาม ปพพ มาตรา ๔๔๘ หรือตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิด ฯ มาตรา ๑๐ มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: