“เหตุส่วนตัว” เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดคนอื่น เหตุส่วนตัวนี้ทำให้การกระทำไม่ต้องรับโทษ รับโทษน้อยลง หรือเป็นเหตุเพิ่มโทษ เช่น อายุ ความวิกลจริต การเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งเหตุส่วนตัวนี้ไม่มีถึงบุคคลอื่นที่ร่วมกระทำผิดด้วย
“ เหตุในลักษณะแห่งคดี “ เป็นข้อเท็จจริงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีผลถึงจำเลยคนอื่นด้วย เช่น การกระทำของตัวการไม่เป็นความผิดตามกฎหมายดังนั้น ผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดด้วย
เหตุส่วนตัวที่เป็นเหตุยกเว้นโทษ
๑.ความเป็นสามีภรรยา ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๗๑
การเป็นสามีภรรยากันต้องเป็น “ สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย” คือตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ การเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายต้อง มีการจดทะเบียนสมรส( คำพิพากษาฏีกา ๒๐๔๑/๒๔๙๙) หากใช้คำว่า “ อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา” คือเป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส อาจแต่งงานหรือไม่แต่งงาน อาจมีการหมั้นหรือไม่มีการหมั้นก็ได้ แต่ได้มาใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส เมื่อเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมา ลักทรัพย์ธรรมดา(ปอ มาตรา ๓๓๔) ลักทรัพย์มีเหตุฉกรรจ์(ปอ มาตรา ๓๓๕) วิ่งราวทรัพย์ที่ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายได้รับอันตรายแก่กาย ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ปอ มาตรา ๓๓๖วรรคแรก ฉ้อโกงทรัพย์ โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกธรรมดา ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๓,๓๖๔ เมื่อเป็นการกระทำระหว่างสามีกับภรรยาแล้ว ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ คือยังเป็นความผิดตามกฎหมายเพียงแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเท่านั้น เมื่อยังเป็นความผิดตามกฎหมายสามีหรือภรรยาที่ถูกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์นั้นได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๖
๒.อ่อนอายุ ปอ มาตรา ๗๓,๗๔ ซึ่งเด็กไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่อาจถูกใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ในทางแพ่งแม้เด็กไม่ต้องรับโทษทางอาญาแต่ บิดามารดาย่อมต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ ปพพ มาตรา๔๒๙
๓.วิกลจริตหรือมึนเมา ปอ มาตรา ๖๕,๖๖ .
๓.๑ซึ่งคนวิกลจริตไม่ต้องรับโทษทางอาญา คือ การกระทำยังเป็นความผิดทางอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเท่านั้น เป็นเหตุส่วนตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
แต่ในทางแพ่งแล้วบิดามารดาหรือผู้อนุบาลต้องร่วมรับผิดด้วยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ ปพพ มาตรา๔๒๙
๓.๒มึนเมาเพราะเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้เมาหรือถูกขืนใจให้เสพแล้วกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับการกระทำของตนเองได้ จึงไม่ต้องรับโทษ แต่หากยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้างศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เป็นเหตุส่วนตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
๔.กระทำความผิดด้วยความจำเป็น ปอ มาตรา ๖๗ เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้โดยวิธีอื่นใด โดยภยันตรายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน หากได้กระทำพอสมควรแก่เหตุแล้ว การกระทำดังกล่าวไม่ต้องรับโทษทางอาญา คือยังเป็นความผิดอยู่ แต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา เป็นเหตุส่วนตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
และในทางแพ่งมี ปพพ มาตรา๔๕๐ บัญญัติบัญญัติให้ การทำบุบสลาย ทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อบำบัดป้องกันภยันตรายซึ่งมีมาแต่สาธารณะโดยฉุกเฉิน ไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หากความเสียหายไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย หากการทำบุบสลาย ทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นต้องใช้คืนทรัพย์ หากกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนหรือบุคคลอื่นจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์เป็นเหตุ หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากความเสียหายไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดเพราะความผิดของบุคคลนั้นเอง หาจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เช่น ร่วมกันตีม้าของผู้เสียหายที่ “ติดสัด” เข้าไปหาม้าตัวเมียของจำเลยที่ใต้ถุนบ้านจำเลย ม้าจำเลยขัดขืนและเตะม้าผู้เสียหายเป็นเหตุให้ทรัพย์ของจำเลยเสียหาย ถือเป็นภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน การที่จำเลยใช้ไม้ตีม้าผู้เสียหายจนถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๓๓๔/๒๕๑๖ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าม้าผู้เสียหายเพียงแต่ไล่ม้าผู้เสียหายออกไปเท่านั้นก็พอ การฆ่าจึงเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ส่วนในทางอาญาเมื่อม้าเป็นสัตว์ไม่อาจกระทำความผิดทางอาญาได้ จะถือว่าม้าพยายามข่มขืนม้าตัวเมีย หรือม้าบุกรุกในเคหสถานหาได้ไม่ สัตว์ไม่อาจกระทำความผิดทางอาญาได้ จึงไม่ถือเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่จะก่อให้เกิดสิทธิ์ในการป้องกันได้ เมื่อม้าไม่ได้เข้ามาในสวน ไร่ นา ของผู้อื่นที่แต่งดินไว้ เพาะพันธ์พืชไว้ หรือมีพืชพันธ์หรือผลิตผลอยู่ ตาม ปอ มาตรา ๓๘๔,๓๘๕ และม้าก็ไม่ใช่สัตว์ ดุ สัตว์ร้ายตาม ปอ มาตรา ๓๗๗ ด้วย จึงจะถือว่าเจ้าของหรือผู้ควบคุมม้ากระทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๘๔,๓๘๕,๓๗๗ หาได้ไม่ แต่เจ้าของสัตว์อาจต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ถ้าความเสียหายเกิดจากสัตว์ตาม ปพพ มาตรา ๔๓๓ ได้
๕. สำคัญผิดในข้อเท็จจริง ปอ มาตรา ๖๒
ถ้าข้อเท็จจริงใดมีอยู่จริงว่า การกระทำนั้น ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงแต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด ได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี หากการไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากความประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับโทษแม้การกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทก็ตาม ผู้กระทำก็ต้องรับโทษฐานกระทำโดยประมาท เหล่านี้เป็นเหตุส่วนตัวเฉพาะผู้กระทำผิด ไม่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดอื่นเพราะไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดี หรือในกรณีที่บุคคลต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ปอ มาตรา ๖๒ วรรคท้าย เช่น ไม่รู้ว่าผู้ที่ตนฆ่าเป็นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานไม่ได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่รวมถึงจำเลยอื่นที่ทราบว่าผู้ตายเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยใดทราบว่าผู้ตายเป็นเจ้าพนักงานก็จะอาศัยเหตุของจำเลยอื่นที่ไม่รู้ว่าผู้ตายเป็นเจ้าพนักงานเพื่อให้ตนได้ประโยชน์ในการนี้หาได้ไม่
๖..กระทำความผิดแล้วกลับใจแก้ไข ไม่ให้การกระทำบรรลุผล ปอ มาตรา ๘๒
จำเลยคนใดพยายามกระทำความผิดแล้ว ยับยั้งเสียเองไม่การกระทำให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษในการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ตนได้กระทำการแล้วการกระทำนั้นไปต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้เป็นความผิดก็ต้องรับโทษในความผิดนั้น การยับยั้งหรือกลับใจแก้ไขการพยายามกระทำความผิดนี้ เป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่รวมถึงจำเลยอื่น เช่น รับจ้างฆ่าโดยตกลงจะไปตัดสายเบรครถของผู้ที่จะฆ่า แต่เห็นคนที่จะถูกฆ่าเดินอุ้มลูกมาเกิดความสงสารไม่อยากให้เด็กกำพร้าพ่อ เลยล้มล้างความคิดที่จะตัดสายเบรค หรือเมื่อตัดสายเบรครถไปแล้วเกิดความสงสารได้กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำบรรลุผลโดยต่อสายเบรคให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม ดังนี้ผู้พยายามกระทำความผิดไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงผู้ว่าจ้างฆ่า เพราะไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดี แม้ไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานพยายามฆ่า แต่การที่แอบเข้าไปในบ้านคนอื่นเพื่อตัดสายเบรกเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรอันเป็นความผิดฐานบุรุก จึงต้องรับโทษในความผิดฐานบุกรุกแม้ไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่าตาม ปอ มาตรา ๘๒,๒๘๙(๔)ก็ตาม
๗.ขัดขวางของผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้ประกาศ ผู้สนับสนุน ปอ มาตรา ๘๒
เหตุส่วนตัวที่เป็นเหตุลดโทษ
๑.ความเป็นญาติกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามปอ มาตรา ๗๑ วรรคสอง
ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา(ปอ มาตรา ๓๓๔) ลักทรัพย์มีเหตุฉกรรจ์(ปอ มาตรา ๓๓๕) วิ่งราวทรัพย์ที่ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายได้รับอันตรายแก่กาย ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ปอ มาตรา ๓๓๖วรรคแรก ฉ้อโกงทรัพย์ โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกธรรมดา ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๓,๓๖๔ หากเป็นการกระทำต่อบุพการี ผู้สืบสันดาน พี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน แม้ในความผิดดังกล่าวบางฐานเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่ ปอ มาตรา ๗๑ ก็ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ และศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ในความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เหล่านี้เป็นเหตุส่วนตัวที่อาศัยความสัมพันธ์ในทางสายโลหิต ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
๒.กระทำโดยบันดาลโทสะ ปอ มาตรา ๗๒
หากจำเลยกระทำความผิดโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม แม้เหตุนั้นอาจยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายก็ตาม เช่น การที่สามีบอกภรรยาว่ามีเมียน้อย วันนี้ไม่กลับบ้านขอไปนอนกับเมียน้อย และมีลูกกลับเมียน้อย อยู่บ้านนี้ก็เบื่อเพราะเมียขี้บ่น แก่ก็แก่ ชอบวุ่นวาย ทำตัวเหมือนเป็นแม่ ทำอาหารก็ไม่เป็น บ้านช่องก็สกปรก อยู่กลับเมียน้อยเมียน้อยก็สวยกว่า สาวกว่า แถมปรนนิบัติทุกอย่าง เงินก็ไม่ต้องให้เพราะเมียน้อยหาเงินได้เองผิดกับเมียหลวงที่เจอหน้าก็เอาแต่ขอสตางค์ เนื้อหนังหย่อนยาน ไม่รู้จักดูแลตัวเอง แต่งตัวเป็นยายเพิง เป็นผีบ้า พูดจาก็ไม่เพราะ เห็นหน้าแล้วหมดอารมรณ์ อารมณ์ดีมาจากที่ทำงานพอมาเจอหน้าก็หมดอารมณ์อารมณ์เสียทันที เมื่อมาขอเงินใช้ อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์แก่ง่ายตายก็ช้า เมื่อไหร่จะตายสักทีจะได้ไม่ต้องแบ่งสินสมรสกัน คำพูดเหล่านี้การกระทำเหล่านี้ แม้ยังไม่เป็นความผิดกฎหมายอาญาแต่ก็เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม หากภรรยาหลวงได้ทำร้ายทุบตีสามีในขณะนั้น แม้การกระทำจะเป็นความผิดแต่กฎหมายก็บัญญัติให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นที่เป็นเพื่อนที่เข้ามาช่วยทำร้าย
๓.เหตุบรรเทาโทษตาม ปอ มาตรา ๗๘
ความเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณงามความดีมาก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายของความผิด ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลในการพิจารณาหรือมีเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่าเป็นทำนองเดียวกัน ลักษณะดังนี้เกิดกับจำเลยคนใดก็เป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้นที่ศาลสามารถลดโทษให้กึ่งหนึ่งได้ตาม ปอ มาตรา ๗๘วรรคสอง ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นที่ร่วมกระทำผิดด้วย
๔.มึนเมาหรือวิกลจริต ปอ มาตรา ๖๕,๖๖
โดยหลักแล้วความมึนเมาเพราะเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นยกมาเป็นข้อแก้ตัวแบบเดียวกับการกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั้นเฟือน เพื่อไม่ให้ต้องรับโทษหาได้ไม่ เว้นแต่ความมึนเมาเกิดเพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมาได้ หรือถูกขืนใจให้เสพ และกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ จึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่หากยังสามารถรู้ผิดชอบยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ทั้งข้อแก้ตัวเรื่องมึนเมาหรือกระทำผิดขณะวิกลจริตนั้นเป็นเหตุเฉพาะตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
๕.สำคัญผิดในข้อเท็จจริง ปอ มาตรา ๖๒
ถ้าข้อเท็จจริงใดมีอยู่จริงว่า การกระทำนั้น ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงแต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง ผู้กระทำย่อม ได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี หากการไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากความประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับโทษแม้การกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทก็ตาม ผู้กระทำก็ต้องรับโทษฐานกระทำโดยประมาท เหล่านี้เป็นเหตุส่วนตัวเฉพาะผู้กระทำผิด ไม่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดอื่นเพราะไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดี
๖.ขัดขวางของผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้ประกาศ ผู้สนับสนุน ปอ มาตรา ๘๒
เมื่อมีเจตนาที่จะกระทำผิดร่วมกัน บางคนอาจเป็นผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือ ผู้ประกาศให้ผู้อื่นกระทำผิด เช่น หาอาวุธมาให้ คอยชี้ช่องว่าจะมาดักทำร้ายได้ที่ไหน เวลาใด ว่าจ้างหรือใช้ให้มากระทำผิด แต่เมื่อผู้กระทำผิดกำลังจะกระทำผิด ก็เข้าขัดขวางเสียไม่ให้เกิดการกระทำผิดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะตัวของผู้ที่เข้าขัดขวางไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้น ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นหรือจำเลยที่จะกระทำความผิด
เหตุในลักษณะคดี
เหตุในลักษณะคดีที่เป็นเหตุลดโทษ
๑.ความผิดไม่สำเร็จ ปอ มาตรา๘๐ คือ มีการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เป็นการพยายามกระทำความผิด ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๒.ความผิดไม่สามารถบรรลุได้อย่างแน่แท้ ปอ มาตรา ๘๑ คือมีการกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
กระทำการที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่เเท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น และหากการกระทำดังกล่าวเกิดจากความเชื่อที่งมงมายศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
เหตุในลักษณะคดีที่เป็นเหตุยกเว้นโทษ
๑.หมิ่นประมาทที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ปอ มาตรา ๓๓๐
คือข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นมีการพิสูจน์ว่าไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง ก็ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน เช่น พูดในหอประชุมกล่าวหาว่า นาย ท. ข้าราชการกระทรวงนี้ค้ายาเสพติด ข้อความนี้ เป็นการใส่ความนาย ท. ต่อหน้าบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้นาย ท. เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากผู้พบเห็นหรือได้ยินข้อความดังกล่าว..เป็นการหมิ่นประมาทนาย ท. แต่หากพิสูจน์ได้ว่าคำพูดนี้เป็นความจริง โดยการกล่าวหาว่าข้าราชการค้ายาเสพติดไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ว่านาย ท. ค้ายาเสพติดหรือไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเพราะการค้ายาเสพติดเป็นบ่อเกิดให้ประชาชนในชาติไม่มีคุณภาพ เป็นบ่อเกิดให้สามีภรรยาทะเลาะกันเนื่องจากเงินไม่พอใช้เพราะยาเสพติดมีราคาแพง ทั้ง เมื่อหาเงินไม่ได้ก็เกิดการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเพื่อนำไปซื้อยาเสพติด หรือเมื่อเสพยาเสพติดแล้วก็ไม่สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจตนเองได้ ยิ่งไปขับรถยิ่งก่ออันตรายแก่บุคคลอื่น หรือเมื่อเครียดมากๆสิ่งที่สะสมอยู่ในใจ สิ่งที่เก็บกดก็จะระเบิดออกมาพร้อมทำร้ายตนเองหรือบุคคลรอบข้างหรือจับบุคคลอื่นเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองบางอย่าง ดังนั้นการพิสูจน์ว่าข้าราชการคนนั้นค้ายาเสพติดหรือไม่จึงเป็นประโยชน์แก่ทางสาธารณะที่หากทางราชการได้รู้จะได้ดำเนินคดีทางอาญาและลงโทษทางวินัยต่อไป เป็นการป้องปรามอาชญากรรมอื่นที่จะเกิดขึ้น การพิสูจน์ได้ความดังกล่าวย่อมทำให้คำพูดที่หมิ่นประมาทไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย.เมื่อไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจึงเป็นเหตุในลักษณะคดีที่มีผลถึงจำเลยอื่นด้วย.........
๒.พยายามทำแท้งตาม ปอ มาตรา ๓๐๑, ๓๐๒วรรคแรก ทั้งนี้โดยผลของ ปอ มาตรา ๓๐๔
การพยายามทำให้ตนเองแท้งลูกหรือพยายามให้คนอื่นทำให้ตนเองแท้งลูก หรือพยายามทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงยินยอม ไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๓๐๔ คือเป็นความผิดตามกฎหมายแต่ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๓.พยายามกระทำความผิดลหุโทษ ปอ มาตรา ๑๐๕ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๔.ยับยั้งในการลงมือกระทำความผิด ปอ มาตรา ๘๒ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๕.พวกของจำเลยเป็นคนปล่อยคนที่ถูกจับมาเรียกค่าไถ่ เป็นเหตุในลักษณะคดี จำเลยได้รับการลดโทษด้วย คำพิพากษาฏีกา ๒๒๗๗/๒๕๒๑ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
เหตุเฉพาะตัวในการกระทำความผิด
๑.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำผิดต้องเป็นข้าราชการ บุคคลที่ไม่เป็นข้าราชการที่ร่วมทำผิดด้วย ไม่ใช่ “ ตัวการร่วม” ในการกระทำความผิด แต่เป็น “ ผู้สนับสนุน” ในการกระทำความผิด
๑.๑จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานจดเปลี่ยนแปลงข้อความในใบสุทธิ์ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้จำเลยที่ ๓ นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชา เมื่อจำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดฐานเป็น “ผู้สนับสนุน” ในการกระทำความผิดเท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๔๐๗/๒๕๐๙
๑.๒จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสำรวจที่ดิน ได้ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและราษฏร์มาช่วย แล้วเรียกเงินจากราษฏร์อ้างเป็นค่าธรรมเนียม หากไม่ให้ก็ไม่รับทำให้ จำเลยอื่นเป็น “ผู้สนับสนุน” จำเลยที่ ๑ ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๖๕๗/๒๕๑๓
๑.๓จำเลยที่ ๗,๘,๙,๑๐ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน แม้จะร่วมกับจำเลยอื่นที่เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเงินตามโครงการ ก็เป็นเพียง” ผู้สนับสนุน” เท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๑๕๘๖/๒๕๓๐
๑.๔จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานที่จะทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ ๒ เป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” คำพิพากษาฏีกา ๙๓๖๘/๒๕๕๒
๑.๕จำเลยที่ ๒,๓ เป็นราษฏร์จึงเป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” จำเลยที่ ๑ ที่เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แม้ศาลยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะยังมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๓๔๖/๒๕๕๔ นั้นก็คือ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำผิดหรือไม่ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยอื่นเมื่อฟังได้ว่าร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานด้วย เมื่อตนเองไม่ใช่เจ้าพนักงานจึงเป็น “ ผู้สนับสนุน” การกระทำผิดของเจ้าพนักงาน นั้นก็คือ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ ๑ ทำผิดหรือไม่ การยกฟ้องนี้ไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดีที่จะมีผลถึงจำเลยอื่น แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ เช่น พยานไม่แน่ใจว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำผิดหรือไม่จึงไม่ชี้หรือยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำผิด ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วนจำเลยอื่นพยานยืนยันการกระทำผิดดังนี้ก็สามารถลงโทษจำเลยอื่นได้ แต่เมื่อไม่ใช่เจ้าพนักงานจึงลงโทษได้เพียงเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น
๒.ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตาม ปอ มาตรา ๓๐๑ หญิงมีครรถ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำผิดได้ บุคคลที่ไม่ได้มีครรถ์จึงเป็นได้เพียงผู้สนันสนุนในการกระทำความผิด ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ที่ ๖๔๔๓/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ พาหญิงมีครรถ์ไปทำแท้งโดยผู้เสียหายยินยอม และจำเลยที่ ๑ นั่งขวางประตูบ้าน เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนในการทำแท้งตาม ปอ มาตรา ๓๐๒วรรคแรก,๘๖
๓.ความผิดฐานเป็นผู้จัดการยักยอกทรัพย์
๓.๑ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย โอนหุ้นให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงเป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ ๑ กระทำผิด จำเลยที่ ๒ ที่ ๓จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ตาม ปอ มาตรา ๓๕๔,๘๖ คำพิพากษาฏีกา ๕๓๒/๒๕๕๓ นั้นก็คือ เมื่อไม่ใช่ผู้จัดการมรดก จึงไม่อาจกระทำความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๔ได้ เพราะองค์ประกอบของความผิดนี้คือ ผู้กระทำต้องเป็นผู้จัดการมรดก
๓.๒ผู้ยักยอกทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๒ ต้องครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น ส่วนความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๓ ต้องเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย ส่วนผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๔ ต้องเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยหรือนาย ว ครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น หรือเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด อันเป็นผู้สนับสนุนในกากรกระทำความผิด ปอ มาตรา ๖๘๗๐/๒๕๔๑ นั้นก็คือ เมื่อไม่ใช่ ผู้ครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น หรือเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวได้เพราะองค์ประกอบของความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวผู้กระทำผิดต้องเป็น ผู้ครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น หรือเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมแต่อย่างใด หากไม่ใช่บุคคลดังกล่าวแล้วก็ไม่อาจที่จะอยู่ในฐานะที่เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น