ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

“ชีวิตแลกทรัพย์”

๑.คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์จำเลยตอนกลางคืน รุ่งเช้าจำเลยไปพบทรัพย์ซุกซ่อนในป่า จึงซุ่มรอคนร้ายนาน ๓ – ๔ ชั่วโมง ผู้ตายเอาทรัพย์ออกจากที่ซ่อนเดินไปได้ ๔ – ๕ วาจำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย ผิดฆ่าโดยเจตนา หลังพบทรัพย์ที่ซ่อนในป่า สิทธิ์ครอบครองทรัพย์ได้กลับคืนมายังจำเลยแล้ว การที่ดักคอยคนร้ายพอพบคนร้ายก็ยิงทันที เป็นเจตนาอยู่ในตัวว่าจะทำร้ายผู้ตาย การกระทำไม่เป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งการป้องกันสิทธิ์ต้องเป็นเรื่องจำเป็นต้องกระทำ แต่เรื่องนี้มีทางเลือกอื่นหลายประการเพื่อไม่ให้ผู้ตายเอาทรัพย์ไป คำพิพากษาฏีกา ๑๒๕๐/๒๕๐๒
๒.ผู้ตายบุกรุกไปพยายามลักทรัพย์ในโรงเก็บของในสวนจำเลยมีรั่วเป็นแนวเขต ขึงลวดไฟฟ้าไว้ป้องกันคนร้ายลักทรัพย์ เคยถูกลักทรัพย์มาแล้ว เป็นภยันตรายที่เกิดแก่ทรัพย์ใกล้จะถึงเป็นการป้องกันสิทธิ์โดยชอบ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๒๓/๒๕๑๙
๓.ขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้บริเวณบ้านแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามแนวลวด ผู้ตายเข้าไปในเขตรั่วถูกไฟดูดถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตัวเองโดยชอบด้วยกฎหมายมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนา คำพิพากษาฏีกา ๓๒/๒๕๑๐
๔.ผู้ตายเข้าไปบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้างจำเลยเพื่อไปเกี่ยวหญ้า จำเลยไม่มีสิทธิ์ทำร้ายผู้ตาย เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบ่อเลี้ยงปลาแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ผู้ตายมาถูกสายไฟฟ้าถึงแก่ความตาย ไม่เป็นการป้องกันมีความผิดตามปอ มาตรา ๒๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๔๘๘๔/๒๕๒๘
๕.จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้าน ได้ขึงลวดสองเส้น รอบที่ตกกล้าสูงจากพื้นดิน ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์ จากบ้านเข้าไปที่เส้นลวดที่ขึงเพื่อป้องกันไม่ให้หนูเข้าไปกินข้าวในนาโดยรู้อยู่ว่าสายลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้นั้นหากสัตว์ไปถูกเข้าจะถึงแก่ความตาย จำเลยปักป้ายห้ามเข้าในเขตตกกล้า แสดงจำเลยรู้ว่าลวดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อคนที่เข้าไปตกกล้า การที่ขึงลวดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวย่อมเล็งเห็นได้ว่าคนหาปลาหากบตามท้องนาอาจเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าและได้รับอันตรายได้ ถือมีเจตนาทำร้าย ผู้ตายผ่านไปถูกกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตายเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลย ต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ปอ มาตรา ๒๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๒๙/๒๕๓๐
๖.ผู้ตายเข้าไปลักปลากัดในบ่อจำเลย ซึ่งหากจำเลยเห็นมีสิทธิ์ทำร้ายจำเลยได้พอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มากนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ากับเส้นลวดแล้วถูกผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๖๔๙๐/๒๕๔๘
๗.ผู้ตายเป็นเด็กเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย เป็นกากรกระทำอันเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยมีสิทธิ์ที่จะป้องกันทรัพย์ของตนได้ แต่การที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์ที่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันราคาไม่สูงมากนัก เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว้ากรณีแห่งการจักต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยรับสารภาพและไม่ได้ฏีกา ศาลก็ยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ คำพิพากษาฎีกา ๑๙๑/๒๕๔๙
๘.จำเลยขึงลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าที่หน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลอบปีนหน้าต่างเข้าไปลักทรัพย์ภายในห้องจำเลยถูกไฟดูดถึงแก่ความตาย แม้เป็นการป้องกันการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์ไปตามเส้นลวด ที่ไม่มีฉนวนหุ้มย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่จะทำร้ายผู้ไปสัมผัสให้ถึงแก่ความตายได้ แม้เป็นการป้องกันคนร้ายที่เข้ามาลักทรัพย์ ในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยและภรรยาได้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการทำเพื่อป้องกัน เป้นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๗๖๕๐/๒๕๕๓
๙.ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปลักแตงในไร่จำเลยเวลากลางคืน จำเลยใช้ปืน .๒๒ ยิงขณะผู้เสียหายกับพวกวิ่งหนีถูกที่หลังกระสุนฝังใน ยิงผู้เสียหายโดยเหตุที่มาลักแตง ๒ – ๓ ใบ ราคาเล็กน้อย กระสุนถูกที่สำคัญตรงอก เล็งเห็นได้ว่ามีเจตนาฆ่า เป็นการกระทำที่เกินกว่ากรณีแห่งการทำเพื่อป้องกัน ผิดพยายามฆ่าเพื่อป้องกันสิทธิ์เกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๗๘๒/๒๕๒๐
๑๐.ใช้มีดอีโต้ฟันเด็กที่เข้าไปลักทรัพย์ที่บ้านจำเลยในเวลากลางคืน ๑ ที เกิดบาดแผลฉกรรจ์ยาว ๖ เซ็นติเมตร กะโหลกศีรษะใต้บาดแผลแตกเป็นแนวยาวไปตามบาดแผล ๕ เซนติเมตร แสดงฟันโดยแรงขณะผู้เสียหายโผล่ออกมาจากใต้แคร่ ในสภาพที่ผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่ในแคร่ที่อยู่ในเขตจำกัด จำเลยอาจใช้วิธีการอื่นเพื่อสกัดไม่ให้ผู้เสียหายออกมา และเรียกให้คนอื่นมาช่วยจับผู้เสียหายไว้ ทั้งที่มีทางที่จะสังเกตได้ทันทีว่าผู้โผล่ออกมาคือใคร จะเกิดอันตรายแก่จำเลยเพียงใดหรือไม่ เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๔๙๕๕/๒๕๒๘
๑๑.ใช้ปืนยิงผู้ที่กำลังขี่และจูงกระบือไปโดยเข้าใจผิดว่าคนนั้นคือคนร้ายที่ลักกระบือ ซึ่งตนติดตามมาในเวลากลางคืน บริเวณนั้นเป็นป่ามีต้นไม้และมืด แต่ผู้นั้นไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้ เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๒๙๔/๒๕๐๐
๑๒..ใช้ปืนยิงเด็กส่องกบที่ริมรั่วบ้านห่างออกไป ๗ วา ถึงแก่ความตายโดยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายจะมาฆ่าพี่ชาย โดยผู้ถูกยิงยังไม่ทันเข้ามาในรั้วบ้านจำเลยและพี่ชายจำเลยอยู่ในห้องบนเรือนที่อยู่ห่างออกไปไกล ภยันตรายยังอยู่ห่างไกล เป็นการป้องกันเกินกรณีแห่งการจำต้องป้องกัน คำพิพากษาฏีกา ๘๗๒/๒๕๑๐
ข้อสังเกต๑.เมื่อมีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง โดยเราไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวแล้วเรามีสิทธิ์ที่จะกระทำการใดๆเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ หากกระทำพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด หากเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นใดๆก็ได้ ปอ มาตรา ๖๘,๖๙
๒.ปัญหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยป้องกันหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้จำเลยรับสารภาพ และไม่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ไม่ได้นำสืบ และไม่ได้ถามค้านประเด็นนี้ไว้ ศาลก็สามารถยกขึ้นมาได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง,๒๒๕ และไม่ถือว่า เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕วรรคแรก แต่ถือเป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้ไม่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ไม่ได้นำสืบ และไม่ได้ถามค้านประเด็นนี้ไว้ ศาลก็สามารถยกขึ้นมาได้ เพราะการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๖๘ ศาลสามารถนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๘๕
๓.ปัญหาว่าการกระทำนั้น “พอสมควรแก่เหตุหรือไม่” พิจารณาจากการกระทำนั้นเป็นการที่ “จักต้องกระทำ” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประทุษร้ายอันละเมิดด้วยกฎหมายหรือไม่? โดยการกระทำนั้นต้องเป็นการที่จักต้องกระทำนั้นเป็น “ วิถีทางน้อยที่สุด” ที่จะกระทำหรือไม่อย่างไร และการกระทำนั้นต้อง “ได้สัดส่วน” กันด้วย หากไม่ครบทั้งสองข้อถือการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ “เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน”
๔.ชีวิตต่อชีวิต มีดกับมีด ปืนกับปืน ไม้กับไม้ มีดกับไม้ มีดกับปืน เหล่านี้ถือ “ได้สัดส่วนกัน” จึงต้องมาพิจารณาว่ากระทำนั้นเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่ต้องกระทำหรือไม่? มีดกับหมัด หมัดกับปืน หมัดกับไม้ ถือไม่ได้สัดส่วนกัน
๕."วิถีทางที่น้อยที่สุดที่จำต้องกระทำ” คือเป็นวิถีทางที่คนทั่วไปจักกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนเองหรือทรัพย์สินของตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากกากรประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เช่น
๕.๑ คนร้ายมาลักทรัพย์ เจ้าของทรัพย์เป็นคนพิการขาลีบ หรือขาเป็นปลิโอ หรือเป็นคนพิการขาขาด ๑ ข้างหรือทั้งสองข้าง ไม่สามารถวิ่งไล่ตามคนร้ายได้ ทั้งบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีคนอยู่แถวนั้นที่จะร้องขอความช่วยเหลือได้ การเอาปืนยิงคนร้ายที่ขา เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะได้ทรัพย์คืน แต่หากยิงที่ศีรษะ การกระทำไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างทรัพย์กับชีวิต ชีวิตย่อมมีค่ามากกว่าทรัพย์
๕.๒หรือกรณีคนพิการร้องเอะอะโวยวายคนร้ายได้ทิ้งทรัพย์แล้ววิ่งหนี แต่คนพิการก็ยังยิงที่ด้านหลังคนร้าย เมื่อคนร้ายทิ้งทรัพย์แล้วภยันตรายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์ไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรที่จำต้องป้องกัน เจ้าของทรัพย์สามารถกลับเข้าครอบครองทรัพย์ได้ เมื่อไม่มีภยันตรายเกิดแก่ตัวทรัพย์แล้ว การยิงจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำที่จำต้องป้องกันภยันตรายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์
๕.๓หรือการที่คนร้ายพาทรัพย์ไปไม่ไหว จึงได้ทิ้งทรัพย์ไว้แล้วจะกลับมาเอาทีหลัง เมื่อเจ้าของทรัพย์พบทรัพย์อำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์หลังพบทรัพย์ที่ถูกลัก จึงมีขึ้น ไม่มีภยันตรายใดๆเกิดกับตัวทรัพย์อีก การที่เจ้าของทรัพย์แอบดูเพื่อดูว่าใครจะกลับมาเอาทรัพย์ เมื่อคนร้ายย้อนกลับมาเอาทรัพย์ก็ยิงทันที เมื่อภยันตรายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์ไม่มี เจ้าของสามารถกลับเข้าครอบครองทรัพย์ได้แล้ว การที่ยิงคนร้ายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันได้
๕.๔การ.ดักคอยดูใครเป็นคนร้ายหากพบก็จะยิงทิ้ง เมื่อคนร้ายกลับมาเอาทรัพย์ก็ยิงทันที เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
๖การ.ขึงลวดไฟฟ้า มีกรณีที่ต้องพิจารณาดังนี้คือ
๖.๑หากฟังว่าแม้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ไม่มีอำนาจป้องกันได้ เช่น บุคคลนั้นไม่ใช่คนร้ายที่จะมาลักทรัพย์ เราพบเห็นก็ไม่มีอำนาจป้องกัน ดังนั้นการขึงลวดไฟฟ้าเพื่อกันขโมยแต่คนที่ถูกไฟดูดไม่ใช่ขโมย ย่อมไม่สามารถอ้างการกระทำว่าเป็นการป้องกันได้
๖.๒แต่หากฟังว่าเมื่อคนร้ายเข้ามาแล้วเจ้าของทรัพย์เห็นคนร้ายกำลังลักทรัพย์ย่อมมีอำนาจในการป้องกันได้ แม้ขณะคนร้ายมาลักทรัพย์เจ้าของไม่อยู่แต่ได้ขึงลวดไฟฟ้าไว้ป้องกันคนร้ายแทน ดังนี้ถือ ลวดไฟฟ้านั้นเป็นแนวป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์ได้ หากเราอยู่ก็อาจทำร้ายคนร้ายเพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายเอาทรัพย์ไป แม้ไม่อยู่ก็ใช้ลวดไฟฟ้าทำหน้าที่แทน แต่การกระทำนั้นจะได้สัดส่วนกันหรือไม่ก็อาจขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยว่าอาจทำให้ถึงตายได้หรือไม่หรือเป็นเพียงแค่เจ็บตัวเท่านั้น หากกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยมีกำลังมากใครสัมผัสย่อมถึงแก่ความตาย ดังนี้ย่อมไม่ได้สัดส่วนกัน เพราะชีวิตย่อมมีค่ามากกว่าทรัพย์สิน หากคนร้ายมาถูกลวดแล้วไฟดูดตาย เพราะแม้การขึงลวดไฟฟ้าจะเป็นวิถีทางที่น้อยที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้มีคนเข้ามาลักทรัพย์ แต่การกระทำก็ไม่ได้สัดส่วนกันเพราะราคาทรัพย์ย่อมไม่อาจเทียบกับชีวิตคนได้ การกระทำจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องป้องกัน นั้นก็คือแม้จำเลย(ผู้ขึงลวดมีกระแสไฟฟ้า)ไม่อยู่แต่ได้กระทำการใดไว้เป็นการป้องกันคือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามขดลวด จำเลยก็ยังต้องรับผิดถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นจากกการกระทำของจำเลย
๗.สิ่งที่ศาลนำมาคำนึงในการพิพากษาด้วยคือ ราคาทรัพย์ที่ถูกลักมีราคามากน้อยอย่างไร กับวิธีการที่จำต้องป้องกันนั้นเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำนั้นได้สัดส่วนกันหรือไม่อย่างไร
๘.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกาที่วินิจฉัยว่าการที่คนร้ายถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ปอ มาตรา ๒๙๐นั้น ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การ.ปล่อยกระแสไฟที่มีกำลังมาก ย่อมเล็งเห็นได้ว่าคนมาถูกอาจถึงแก่ความตาย น่าผิดฐานฆ่าโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล ตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสอง ไม่ใช่ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ปอ มาตรา ๒๙๐ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ เมื่อศาลฏีกาวินิจฉัยเป็นอีกอย่างก็เคารพในคำพิพากษาฏีกาครับ
๙.กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพ ดังนั้นในทางแพ่งผู้ครอบครองดูแลกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของตนตาม ปพพ มาตรา ๔๓๗ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง ดังนั้นเมื่อมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้วมีคนตายโดยหลักแล้วผู้ครอบครองดูแลกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของตน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย คือความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง ซึ่งมีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ
๙.๑หากการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันทรัพย์ที่มีราคาสูงมาก กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยมีจำนวนโวลท์ไม่มากพอจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ อันเป็นการกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์พอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่มีความผิดตามกฎหมายตาม ปอ มาตรา ๖๘ ซึ่ง ปพพ มาตรา ๔๔๙ บัญญัติให้ การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ก็หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
๙.๒ แต่หากการกระทำดังกล่าวเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน เช่น ปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงดันไฟฟ้ามากจนคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ถึงแก่ความตาย เมื่อกฎหมาย(ปอ มาตรา ๖๙) ยังบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดเพียงแต่ศาลจะลงโทษในทางอาญาน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เมื่อกฎหมายยังบัญญัติว่าเป็นความผิดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งในผลแห่งละเมิดของตน
๙.๒.๑ซึ่งหากคนถูกกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตาม ปพพ มาตรา ๔๔๓ และค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่เขาต้องขาดแรงงานไป ตาม ปพพ มาตรา ๔๔๕
๙.๒.๒ หากไม่ถึงแก่ความตาย ค่าสินไหมทดแทน คือ ได้แก่ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ค่าความเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตาม ปพพ มาตรา ๔๔๔ และค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่เขาต้องขาดแรงงานไป ตาม ปพพ มาตรา ๔๔๕
๙.๓แต่หากการกระทำดังกล่าวไม่ใช่ การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เช่น คนที่ถูกไฟดูดไม่ใช่คนร้ายที่มาลักทรัพย์แต่เป็นคนมาหาปลา กรณีต้องตาม ปพพ มาตรา ๔๓๗ ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพต้องรับผิดในความเสียหายใดๆที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง

ไม่มีความคิดเห็น: