ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

“สั่งไม่ชอบ”

๑.จำเลยเป็นพนักงานโยธา รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้รื้อรั่วโจทก์ที่กีดขวางถนน ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อว่าชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุผลอันควรเชื่อ จำเลยไม่มีความผิด คำพิพากษาฏีกา ๔๓๒/๒๔๖๔
๒.จับการพนัน สิบตำรวจร้องว่า “ พวกเรายิง จับเป็นไม่ได้จับตาย พลตำรวจใช้ปืนยิง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้หลบหนีไม่มีพฤติการณ์ที่จะต่อสู้หรือมีอาวุธ อ้างกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไมได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๙๗/๒๔๗๑
๓.กำนันไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านจับคนไปส่งอำเภอโดยไม่มีหมายจับ อ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เป็นข้อแก้ตัวไมได้ เป็นความผิดหน่วงเหนี่ยวกักขัง คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๙/๒๕๐๒
๔.ผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ลูกบ้านฝังศพคนที่ถูกฆ่าตาย โดยพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพ ลูกบ้านเชื่อว่าตนต้องทำตามคำสั่งผู้ใหญ่บ้านจึงจัดการเผาศพ ลูกบ้านไม่ต้องรับโทษ คำพิพากษาฏีกา ๔๔๒/๒๔๗๕
๕.ป่าไม้เขตเป็นผู้มีอำนาจตามพรบ.ป่าไม้ มาตรา ๑๗(๑) ทำไม้โดยไม่ต้องรับอนุญาต แม้ป่าไม้เขตไม่ทำเองแต่จ้างผู้อื่นทำไม้แทน ผู้รับจ้างก็ได้รับยกเว้นความผิดเช่นเดียวกับป่าไม้เขตทำไม้เอง ถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๑๒๑๐/๒๕๐๓
๖.ผู้บัญชาการเรือนจำสั่งให้นักโทษทำร้ายนักโทษอื่น นักโทษผู้รับคำสั่งเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำ ไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๒๙๗ คำพิพากษาฏีกา ๘๒/๒๔๖๗
๗.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้เสียหายตามที่ได้รับทางวิทยุ โดยคำสั่งทางวิทยุไมได้ระบุว่ามีการออกหมายจับ เมื่อเชื่อว่าเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ คำพิพากษาฎีกา ๑๖๐๑/๒๕๐๙
๘.พลตำรวจได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากนายตำรวจให้ไปจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมาว่าจับกุมได้ พฤติการณ์น่าเชื่อว่าผู้จับกุมเข้าใจว่าเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดก็ไม่ต้องรับโทษ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๓๕/๒๕๐๘
ข้อสังเกต ๑.กระทำตามคำสั่งเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องกระทำ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่จะรู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปอ มาตรา ๗๐ คำว่า “ ไม่ต้องรับโทษ” คือ การกระทำยังเป็นความผิดตามกฎหมายเพียงแต่ไม่ต้องรับโทษในทางอาญาเท่านั้น ซึ่งใน ปพพ มาตรา ๔๔๙ การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย แม้จะไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ นั้นก็คือ กระทำตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากเป็นคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรู้ว่าคำสั่งนั้นน่าจะไม่ใช่คำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้นั้นหาอาจยก ปพพ มาตรา ๔๔๙มายกเว้นความรับผิดทางแพ่งหาได้ไม่
๒.ข้อเท็จจริงใดมีอยู่จริงทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี ปอ มาตรา ๖๒ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริงว่า คำสั่งนั้นมีอยู่จริง หรือคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่า คำสั่งนั้นมีอยู่จริง และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง
๓.การปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน เช่น
๓.๑ พนักงานสอบสวนจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ปวอ มาตรา ๑๔๑วรรคสาม,๑๔๓(ก),หรือสั่งให้พยายามเปรียบเทียบคดีความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้แทนการที่จะส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ ปวอ มาตรา ๑๔๔(๑) หรือส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนให้พยายามเปรียบเทียบปรับในความผิดที่อาจเปรียบเทียบปรับได้ ปวอ มาตรา ๑๔๔(๒) หรือมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน “ งดการสอบสวน” หรือ “ ทำการสอบสวนต่อไป” ตาม ปวอ มาตรา ๑๔๐ หรือ สั่งให้พนักงานสอบสวนถามปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการาชการตามหน้าที่ ได้ตั้งแต่เริ่มทำการสอบสวน ตาม ปวอ มาตรา ๑๕๕/๑วรรคสอง (มาตรานี้สาเหตุที่มีการเพิ่มเติมมาตรานี้เพราะคดีวิสามัญ ๖ ศพ คดีโจ ด่านช้าง ที่พนักงานสอบสวนไม่ยอมสอบสวนตามที่พนักงานอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมจึงต้องบัญญัติไว้ให้ชัดในกฎหมาย ไม่ต้องส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความว่าอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนได้เหมือนอย่างที่พนักงานสอบสวนบางคนกระทำ)
๓.๒ เจ้าหน้าที่ราชทัณท์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหมายบังคับคดีที่ศาลเป็นคนออก ตาม พรบ. ราชทัณท์ฯ
๓.๓ลูกบ้านต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้ใหญ่บ้าน ตาม พรบ. ปกครองท้องที่ฯ
๓.๔................เป็นต้น..............
๓.๕ หรือแม้ไม่มีหน้าที่แต่เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องกระทำก็อ้าง ปอ มาตรา ๖๒ ตามข้อสังเกต ข้อที่ ๒ ดังกล่าวข้างต้น มาเป็นข้อยกเว้นได้
๔.พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับกุมบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลไม่ได้ เว้นแต่
๔.๑เมื่อบุคคลนั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า เห็นขณะกระทำความผิด หรือพบในอาการแทบไม่ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ หรือเมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ หรือ พบในทันทีทันใดหลังการกระทำความผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงที่เกิดเหตุ มีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด มีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุที่สันนิษฐานว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าเนื้อตัว ตาม ปวอ มาตรา ๘๐
๔.๒พบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีอาวุธ เครื่องมือ หรือวัตถุอย่างอื่นที่สามารถใช้ในการกระทำความผิดได้
๔.๓มีเหตุที่จะออกหมายจับได้โดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นตาม ปวอ มาตรา ๖๖(๒) เมื่อมีความจำเป็นและเร่งด่วนไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลดังกล่าวได้
๔.๔เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนี หรือจะหลบหนีในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว(ประกันตัว) พนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๑๗,๗๘(๔) โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล
๔.๕.บุคคลที่เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจะร้องขอให้บุคคลอื่นเพื่อจัดการตามหมายได้ ปวอ มาตรา ๘๒ บุคคลที่ถูกร้องขอนี้สามารถจับกุมได้แม้ไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาล
๔.๖ราษฏร์ไม่สามารถจับราษฏร์ด้วยกันเองได้ เว้นแต่เข้ากรณีตามข้อสังเกตที่ ๔.๕ หรือเมื่อพบการกระทำความผิดซึ่งหน้าเห็นขณะกระทำความผิด หรือพบในอาการแทบไม่ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ หรือเมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ หรือ พบในทันทีทันใดหลังการกระทำความผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงที่เกิดเหตุ มีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด มีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุที่สันนิษฐานว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าเนื้อตัว และความผิดนั้นระบุไว้ท้ายประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา
๕.จำเลยเป็นพนักงานโยธา รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้รื้อรั่วโจทก์ที่กีดขวางถนน ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อว่าชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุผลอันควรเชื่อ จำเลยไม่มีความผิด จึงอยู่ที่ศาลฟังและเชื่อว่าตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจำเลยได้ ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อโดยสุจริตหรือไม่ว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงเดียวกันผลอาจต่างกัน ความสำคัญจึงขึ้นอยู่กับศาลว่าจะฟังข้อเท็จจริงไปทางใด
๖.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับการพนัน สิบตำรวจร้องว่า “ พวกเรายิง จับเป็นไม่ได้จับตาย พลตำรวจใช้ปืนยิง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจจับตายผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิดต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือแม้จะฟังว่าเขากระทำความผิดจริงหรือไม่ก็ตาม หากผู้หลบหนีไม่มีพฤติการณ์ที่จะต่อสู้หรือมีอาวุธ ย่อมไม่มีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเป็นต้องป้องกันตัวเองให้พ้นภยันตรายนั้น และภยันตรายนั้นไม่ได้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน จึงจะสามารถป้องกันตัวเองได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียนกฎหมายมาจะอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมาย เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้จับตายจึงต้องยิงผู้ถูกกล่าวหาที่กำลังหลบหนี จะอ้างว่าจำต้องปฎิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย หาอาจอ้างได้ไม่ เพราะสามารถทราบได้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๗.กำนันไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านจับคนไปส่งอำเภอโดยไม่มีหมายจับ อ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เป็นข้อแก้ตัวไมได้ กรณีไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือมีข้อยกเว้นตาม ปวอ มาตรา ๗๘, ๗๙,๘๐,๘๒ ไม่สามารถจับกุมได้หากไม่มีหมายจับ การเข้าจับกุมจึงเป็นการหน่วงเหนียวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตาม ปอ มาตรา ๓๑๐ กำนันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดแทน จึงต้องรับผิดในการกระทำนั้นด้วย
๘.การกระทำใดๆแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมภายในบริเวณที่พบศพ ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลคดีเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ใช่การกระทำเพื่อสุขอนามัยของประชาชนหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์แล้ว เป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๐ ทวิ เมื่อผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ลูกบ้านฝังศพคนที่ถูกฆ่าตาย โดยพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพ เป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๐ ทวิ เมื่อลูกบ้านเชื่อโดยสุจริตว่าตนต้องทำตามคำสั่งผู้ใหญ่บ้านจึงจัดการเผาศพ ลูกบ้านไม่ต้องรับโทษ
๙..ป่าไม้เขตเป็นผู้มีอำนาจตามพรบ.ป่าไม้ มาตรา ๑๗(๑) ทำไม้โดยไม่ต้องรับอนุญาต แม้ป่าไม้เขตไม่ทำเองแต่จ้างผู้อื่นทำไม้แทน ผู้รับจ้างก็ได้รับยกเว้นความผิดเช่นเดียวกับป่าไม้เขตทำไม้เอง ถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน เมื่อป่าไม้เขตมีอำนาจทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เมื่อไม่ทำเอง แต่มอบอำนาจหรือว่าจ้างให้คนอื่นทำแทน ผู้รับจ้างเสมือนเป็นตัวแทนของผู้ที่มีอำนาจในการกระทำ เมื่อคนมอบอำนาจหรือคนจ้างมีอำนาจทำได้ คนรับมอบอำนาจหรือคนที่รับจ้างย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้เช่นกัน
๑๐.ผู้บัญชาการเรือนจำสั่งให้นักโทษทำร้ายนักโทษอื่น นักโทษผู้รับคำสั่งเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำ ไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๒๙๗ เป็นการหลอกใช้บุคคลที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดให้ทำความผิดแทน โดยแทนที่ผู้บัญชาการเรือนจำจะทำร้ายนักโทษ แต่ได้หลอกใช้ให้นักโทษอีกคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดให้กระทำการทำร้ายนักโทษอื่นแทน ต้องถือว่าเป็นการกระทำของผู้บัญชาการเรือนจำ ส่วนนักโทษที่เข้าใจโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำ สามารถอ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เพื่อไม่ต้องรับโทษได้ แต่หากนักโทษคนดังกล่าวทราบว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแต่จำต้องกระทำก็ไม่อาจอ้างปอ มาตรา ๗๐ เพื่อให้ตนไม่ต้องรับโทษ แต่สามารถอ้างว่ากระทำความผิดด้วยความ “ จำเป็น “ เพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเมื่ออยู่ในเรือนจำการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้คุม ผู้ต้องขังย่อมได้รับโทษซึ่งอาจเป็นโทษโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นโทษที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายโดยเป็นโทษที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ อยู่ในภาวะเช่นนี้นักโทษไม่มีทางเลือกไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ทำตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้คุมได้ เป็นภาวะที่ อยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น หากกระทำไปพอสมควรไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๖๗ หากเกินสมควรกว่าเหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำ ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ปอ มาตรา ๖๙
๑๑.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามที่ได้รับแจ้งทางวิทยุ โดยคำสั่งทางวิทยุไมได้ระบุว่ามีการออกหมายจับก็ดี หรือการ ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากนายตำรวจให้ไปจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมาว่าจับกุมได้ เมื่อเชื่อว่าเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิดที่ไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องศึกษากฎหมายและผ่านการเรียนกฎหมายมา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม นักกฎหมายย่อมไม่พึงเชื่ออะไรง่ายดายโดยขาดการไตร่ตรอง และไม่มีหลักฐาน สามารถเชื่อวิทยุได้มากน้อยเพียงใด เมื่อวิทยุไม่แจ้งว่ามีหมายจับหรือไม่ก็ไม่ได้สอบถามให้ได้ความว่ามีหมายจับหรือไม่อย่างไร การไม่สอบถาม การที่ไม่เห็นหมายจับ ไม่ทราบว่ามีหมายจับจริงหรือไม่แล้วเข้าทำการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หากไม่มีหมายจับ หมายค้นมาให้ดู ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีหมาย การเข้าจับกุมจึงเสี่ยงที่จะถูกผู้ถูกจับกุมทำร้ายร่างกายเพื่อป้องกันสิทธิ์เสรีภาพในร่างกายของตนได้และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องว่าหน่วงเหนียวกักขังและปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้คงเพราะทางปฏิบัติของทหารตำรวจที่มีวินัย การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาย่อมมีโทษ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยแบบนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ
๑๒.เมื่อการกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แม้จะไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ ก็ตาม กฎหมายใช้คำว่า “ ไม่ต้องรับโทษ” นั้นก็คือ ยังเป็นความผิดในทางอาญาอยู่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือถึงตัวแล้ว บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตนเองให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการละเมิดกฎหมายได้ตาม ปอ มาตรา ๖๘ เช่น เข้าจับกุมตรวจค้นในเวลากลางคืนในเคหสถานโดยไม่มีหมายจับหมายค้น การที่เจ้าของบ้านใช้ปืนยิง ถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้มีคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๕๕/๒๕๑๒ วินิจฉัยว่า ตำรวจมีหมายจับหมายค้นแต่เข้าจับกุมตรวจค้นในเวลากลางคืนโดยปีนบ้านและรื้อฝาบ้าน เจ้าของบ้านสำคัญผิดว่าโดนโจรปล้น เพราะเคยถูกคนร้ายปลอมตัวเป็นตำรวจมาแล้ว จึงใช้ปืนยิงตำรวจได้รับบาดเจ็บเป็นการป้องกันโดยสำคัญผิดพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งคำพิพากษาฏีกานี้แสดงให้เห็นว่าแม้มีหมายจับหมายค้น แต่เมื่อเข้าตรวจค้นในเวลากลางคืน ซึ่งปวอ มาตรา ๙๖ห้ามค้นในเวลากลางคืน โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถค้นในเวลากลางคืนได้โดยไม่ใช่การค้นต่อเนื่องในเวลากลางวันไม่เสร็จจึงได้ค้นต่อไปในเวลากลางคืน หรือเป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือมีกฎหมายอื่นอนุญาตให้ค้นได้ และก็ไม่ใช่การค้นเพื่อจับคนร้ายดุหรือคนร้ายสำคัญ เมื่อค้นไม่ชอบก็เป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฏหมายเจ้าของบ้านย่อมมีสิทธิ์ป้องกันได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่จำต้องกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอาจอ้าง ปอ มาตรา ๗๐ ได้ แต่ก็ไม่เป็นข้อห้ามที่เจ้าของบ้านจะใช้สิทธิ์ป้องกันในชีวิตและทรัพย์สินในบ้านตนได้ มีสิทธิ์เข้าใจได้ว่าเป็นคนร้ายที่จะเข้ามาทำการปล้นทรัพย์ แม้ก่อนตรวจค้นจะได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ก็ตาม แม้จะมีการแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยากที่จะเชื่อได้ หรือแม้ไม่มีการแสดงตนว่าเป็นใครก็ยิ่งทำให้สงสัยว่าน่าเป็นคนร้าย ในสถานการณ์เช่นนั้น เวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีคนหลายคนมารื้อฝาบ้านมาปีนบ้านย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคนร้าย การใช้ปืนยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
๑๓.หรือในกรณีคำพิพากษาฏีกา ๙๓๕/๒๕๐๑ เข้าจับกุมในเคหสถานโดยไม่มีหมาย แล้วใช้ปืนตีเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านใช้มีดแทงสวน เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ จึงเห็นได้ว่าตำรวจชั้นผู้น้อย ข้าราชการชั้นผู้น้อยบางครั้งไม่มีทางเลือกจำต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแม้รู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นทหารตำรวจแล้วย่อมมีวินัยเป็นสำคัญ การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชามีโทษ ดังนั้น หากผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งให้กระทำในเรื่องใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติแล้วก็สามารถอ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เพื่อไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายได้
๑๓.ในทางแพ่งการกระทำตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ ปพพ มาตรา ๔๔๙ ดังนั้นหากเป็นการกระทำตามคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้กระทำเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องกระทำ ปอ มาตรา ๗๐ บัญญัติว่า “ ไม่ต้องรับโทษ “ คือ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่การกระทำยังเป็นความผิดอยู่ ทั้งผู้ออกคำสั่ง และผู้ปฏิบัติตามคำสั่งยังต้องรับผิดในทางแพ่งที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และยิ่งหากรู้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังปฏิบัติตามนอกจากไม่ได้รับการยกเว้นที่ไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐แล้ว ยังต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: