ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

“สั่งไม่ชอบ”

๑.จำเลยเป็นพนักงานโยธา รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้รื้อรั่วโจทก์ที่กีดขวางถนน ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อว่าชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุผลอันควรเชื่อ จำเลยไม่มีความผิด คำพิพากษาฏีกา ๔๓๒/๒๔๖๔
๒.จับการพนัน สิบตำรวจร้องว่า “ พวกเรายิง จับเป็นไม่ได้จับตาย พลตำรวจใช้ปืนยิง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้หลบหนีไม่มีพฤติการณ์ที่จะต่อสู้หรือมีอาวุธ อ้างกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไมได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๙๗/๒๔๗๑
๓.กำนันไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านจับคนไปส่งอำเภอโดยไม่มีหมายจับ อ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เป็นข้อแก้ตัวไมได้ เป็นความผิดหน่วงเหนี่ยวกักขัง คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๙/๒๕๐๒
๔.ผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ลูกบ้านฝังศพคนที่ถูกฆ่าตาย โดยพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพ ลูกบ้านเชื่อว่าตนต้องทำตามคำสั่งผู้ใหญ่บ้านจึงจัดการเผาศพ ลูกบ้านไม่ต้องรับโทษ คำพิพากษาฏีกา ๔๔๒/๒๔๗๕
๕.ป่าไม้เขตเป็นผู้มีอำนาจตามพรบ.ป่าไม้ มาตรา ๑๗(๑) ทำไม้โดยไม่ต้องรับอนุญาต แม้ป่าไม้เขตไม่ทำเองแต่จ้างผู้อื่นทำไม้แทน ผู้รับจ้างก็ได้รับยกเว้นความผิดเช่นเดียวกับป่าไม้เขตทำไม้เอง ถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๑๒๑๐/๒๕๐๓
๖.ผู้บัญชาการเรือนจำสั่งให้นักโทษทำร้ายนักโทษอื่น นักโทษผู้รับคำสั่งเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำ ไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๒๙๗ คำพิพากษาฏีกา ๘๒/๒๔๖๗
๗.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้เสียหายตามที่ได้รับทางวิทยุ โดยคำสั่งทางวิทยุไมได้ระบุว่ามีการออกหมายจับ เมื่อเชื่อว่าเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ คำพิพากษาฎีกา ๑๖๐๑/๒๕๐๙
๘.พลตำรวจได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากนายตำรวจให้ไปจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมาว่าจับกุมได้ พฤติการณ์น่าเชื่อว่าผู้จับกุมเข้าใจว่าเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดก็ไม่ต้องรับโทษ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๓๕/๒๕๐๘
ข้อสังเกต ๑.กระทำตามคำสั่งเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องกระทำ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่จะรู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปอ มาตรา ๗๐ คำว่า “ ไม่ต้องรับโทษ” คือ การกระทำยังเป็นความผิดตามกฎหมายเพียงแต่ไม่ต้องรับโทษในทางอาญาเท่านั้น ซึ่งใน ปพพ มาตรา ๔๔๙ การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย แม้จะไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ นั้นก็คือ กระทำตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากเป็นคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรู้ว่าคำสั่งนั้นน่าจะไม่ใช่คำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้นั้นหาอาจยก ปพพ มาตรา ๔๔๙มายกเว้นความรับผิดทางแพ่งหาได้ไม่
๒.ข้อเท็จจริงใดมีอยู่จริงทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี ปอ มาตรา ๖๒ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริงว่า คำสั่งนั้นมีอยู่จริง หรือคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่า คำสั่งนั้นมีอยู่จริง และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง
๓.การปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน เช่น
๓.๑ พนักงานสอบสวนจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ปวอ มาตรา ๑๔๑วรรคสาม,๑๔๓(ก),หรือสั่งให้พยายามเปรียบเทียบคดีความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้แทนการที่จะส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ ปวอ มาตรา ๑๔๔(๑) หรือส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนให้พยายามเปรียบเทียบปรับในความผิดที่อาจเปรียบเทียบปรับได้ ปวอ มาตรา ๑๔๔(๒) หรือมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน “ งดการสอบสวน” หรือ “ ทำการสอบสวนต่อไป” ตาม ปวอ มาตรา ๑๔๐ หรือ สั่งให้พนักงานสอบสวนถามปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการาชการตามหน้าที่ ได้ตั้งแต่เริ่มทำการสอบสวน ตาม ปวอ มาตรา ๑๕๕/๑วรรคสอง (มาตรานี้สาเหตุที่มีการเพิ่มเติมมาตรานี้เพราะคดีวิสามัญ ๖ ศพ คดีโจ ด่านช้าง ที่พนักงานสอบสวนไม่ยอมสอบสวนตามที่พนักงานอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมจึงต้องบัญญัติไว้ให้ชัดในกฎหมาย ไม่ต้องส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความว่าอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนได้เหมือนอย่างที่พนักงานสอบสวนบางคนกระทำ)
๓.๒ เจ้าหน้าที่ราชทัณท์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหมายบังคับคดีที่ศาลเป็นคนออก ตาม พรบ. ราชทัณท์ฯ
๓.๓ลูกบ้านต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้ใหญ่บ้าน ตาม พรบ. ปกครองท้องที่ฯ
๓.๔................เป็นต้น..............
๓.๕ หรือแม้ไม่มีหน้าที่แต่เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องกระทำก็อ้าง ปอ มาตรา ๖๒ ตามข้อสังเกต ข้อที่ ๒ ดังกล่าวข้างต้น มาเป็นข้อยกเว้นได้
๔.พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับกุมบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลไม่ได้ เว้นแต่
๔.๑เมื่อบุคคลนั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า เห็นขณะกระทำความผิด หรือพบในอาการแทบไม่ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ หรือเมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ หรือ พบในทันทีทันใดหลังการกระทำความผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงที่เกิดเหตุ มีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด มีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุที่สันนิษฐานว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าเนื้อตัว ตาม ปวอ มาตรา ๘๐
๔.๒พบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีอาวุธ เครื่องมือ หรือวัตถุอย่างอื่นที่สามารถใช้ในการกระทำความผิดได้
๔.๓มีเหตุที่จะออกหมายจับได้โดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นตาม ปวอ มาตรา ๖๖(๒) เมื่อมีความจำเป็นและเร่งด่วนไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลดังกล่าวได้
๔.๔เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนี หรือจะหลบหนีในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว(ประกันตัว) พนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๑๗,๗๘(๔) โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล
๔.๕.บุคคลที่เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจะร้องขอให้บุคคลอื่นเพื่อจัดการตามหมายได้ ปวอ มาตรา ๘๒ บุคคลที่ถูกร้องขอนี้สามารถจับกุมได้แม้ไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาล
๔.๖ราษฏร์ไม่สามารถจับราษฏร์ด้วยกันเองได้ เว้นแต่เข้ากรณีตามข้อสังเกตที่ ๔.๕ หรือเมื่อพบการกระทำความผิดซึ่งหน้าเห็นขณะกระทำความผิด หรือพบในอาการแทบไม่ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ หรือเมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ หรือ พบในทันทีทันใดหลังการกระทำความผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงที่เกิดเหตุ มีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำความผิด มีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุที่สันนิษฐานว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าเนื้อตัว และความผิดนั้นระบุไว้ท้ายประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา
๕.จำเลยเป็นพนักงานโยธา รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้รื้อรั่วโจทก์ที่กีดขวางถนน ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อว่าชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุผลอันควรเชื่อ จำเลยไม่มีความผิด จึงอยู่ที่ศาลฟังและเชื่อว่าตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจำเลยได้ ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อโดยสุจริตหรือไม่ว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงเดียวกันผลอาจต่างกัน ความสำคัญจึงขึ้นอยู่กับศาลว่าจะฟังข้อเท็จจริงไปทางใด
๖.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับการพนัน สิบตำรวจร้องว่า “ พวกเรายิง จับเป็นไม่ได้จับตาย พลตำรวจใช้ปืนยิง เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจจับตายผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิดต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือแม้จะฟังว่าเขากระทำความผิดจริงหรือไม่ก็ตาม หากผู้หลบหนีไม่มีพฤติการณ์ที่จะต่อสู้หรือมีอาวุธ ย่อมไม่มีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเป็นต้องป้องกันตัวเองให้พ้นภยันตรายนั้น และภยันตรายนั้นไม่ได้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน จึงจะสามารถป้องกันตัวเองได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียนกฎหมายมาจะอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมาย เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้จับตายจึงต้องยิงผู้ถูกกล่าวหาที่กำลังหลบหนี จะอ้างว่าจำต้องปฎิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย หาอาจอ้างได้ไม่ เพราะสามารถทราบได้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๗.กำนันไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านจับคนไปส่งอำเภอโดยไม่มีหมายจับ อ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เป็นข้อแก้ตัวไมได้ กรณีไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือมีข้อยกเว้นตาม ปวอ มาตรา ๗๘, ๗๙,๘๐,๘๒ ไม่สามารถจับกุมได้หากไม่มีหมายจับ การเข้าจับกุมจึงเป็นการหน่วงเหนียวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตาม ปอ มาตรา ๓๑๐ กำนันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดแทน จึงต้องรับผิดในการกระทำนั้นด้วย
๘.การกระทำใดๆแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมภายในบริเวณที่พบศพ ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลคดีเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ใช่การกระทำเพื่อสุขอนามัยของประชาชนหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์แล้ว เป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๐ ทวิ เมื่อผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ลูกบ้านฝังศพคนที่ถูกฆ่าตาย โดยพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพ เป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๐ ทวิ เมื่อลูกบ้านเชื่อโดยสุจริตว่าตนต้องทำตามคำสั่งผู้ใหญ่บ้านจึงจัดการเผาศพ ลูกบ้านไม่ต้องรับโทษ
๙..ป่าไม้เขตเป็นผู้มีอำนาจตามพรบ.ป่าไม้ มาตรา ๑๗(๑) ทำไม้โดยไม่ต้องรับอนุญาต แม้ป่าไม้เขตไม่ทำเองแต่จ้างผู้อื่นทำไม้แทน ผู้รับจ้างก็ได้รับยกเว้นความผิดเช่นเดียวกับป่าไม้เขตทำไม้เอง ถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน เมื่อป่าไม้เขตมีอำนาจทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เมื่อไม่ทำเอง แต่มอบอำนาจหรือว่าจ้างให้คนอื่นทำแทน ผู้รับจ้างเสมือนเป็นตัวแทนของผู้ที่มีอำนาจในการกระทำ เมื่อคนมอบอำนาจหรือคนจ้างมีอำนาจทำได้ คนรับมอบอำนาจหรือคนที่รับจ้างย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้เช่นกัน
๑๐.ผู้บัญชาการเรือนจำสั่งให้นักโทษทำร้ายนักโทษอื่น นักโทษผู้รับคำสั่งเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำ ไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๒๙๗ เป็นการหลอกใช้บุคคลที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดให้ทำความผิดแทน โดยแทนที่ผู้บัญชาการเรือนจำจะทำร้ายนักโทษ แต่ได้หลอกใช้ให้นักโทษอีกคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดให้กระทำการทำร้ายนักโทษอื่นแทน ต้องถือว่าเป็นการกระทำของผู้บัญชาการเรือนจำ ส่วนนักโทษที่เข้าใจโดยสุจริตว่าตนมีหน้าที่ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำ สามารถอ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เพื่อไม่ต้องรับโทษได้ แต่หากนักโทษคนดังกล่าวทราบว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแต่จำต้องกระทำก็ไม่อาจอ้างปอ มาตรา ๗๐ เพื่อให้ตนไม่ต้องรับโทษ แต่สามารถอ้างว่ากระทำความผิดด้วยความ “ จำเป็น “ เพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเมื่ออยู่ในเรือนจำการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้คุม ผู้ต้องขังย่อมได้รับโทษซึ่งอาจเป็นโทษโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นโทษที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายโดยเป็นโทษที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ อยู่ในภาวะเช่นนี้นักโทษไม่มีทางเลือกไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ทำตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้คุมได้ เป็นภาวะที่ อยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น หากกระทำไปพอสมควรไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๖๗ หากเกินสมควรกว่าเหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำ ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ปอ มาตรา ๖๙
๑๑.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามที่ได้รับแจ้งทางวิทยุ โดยคำสั่งทางวิทยุไมได้ระบุว่ามีการออกหมายจับก็ดี หรือการ ได้รับคำสั่งด้วยวาจาจากนายตำรวจให้ไปจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมาว่าจับกุมได้ เมื่อเชื่อว่าเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิดที่ไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องศึกษากฎหมายและผ่านการเรียนกฎหมายมา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม นักกฎหมายย่อมไม่พึงเชื่ออะไรง่ายดายโดยขาดการไตร่ตรอง และไม่มีหลักฐาน สามารถเชื่อวิทยุได้มากน้อยเพียงใด เมื่อวิทยุไม่แจ้งว่ามีหมายจับหรือไม่ก็ไม่ได้สอบถามให้ได้ความว่ามีหมายจับหรือไม่อย่างไร การไม่สอบถาม การที่ไม่เห็นหมายจับ ไม่ทราบว่ามีหมายจับจริงหรือไม่แล้วเข้าทำการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หากไม่มีหมายจับ หมายค้นมาให้ดู ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีหมาย การเข้าจับกุมจึงเสี่ยงที่จะถูกผู้ถูกจับกุมทำร้ายร่างกายเพื่อป้องกันสิทธิ์เสรีภาพในร่างกายของตนได้และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องว่าหน่วงเหนียวกักขังและปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้คงเพราะทางปฏิบัติของทหารตำรวจที่มีวินัย การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาย่อมมีโทษ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยแบบนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ
๑๒.เมื่อการกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แม้จะไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ ก็ตาม กฎหมายใช้คำว่า “ ไม่ต้องรับโทษ” นั้นก็คือ ยังเป็นความผิดในทางอาญาอยู่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือถึงตัวแล้ว บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตนเองให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการละเมิดกฎหมายได้ตาม ปอ มาตรา ๖๘ เช่น เข้าจับกุมตรวจค้นในเวลากลางคืนในเคหสถานโดยไม่มีหมายจับหมายค้น การที่เจ้าของบ้านใช้ปืนยิง ถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้มีคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๕๕/๒๕๑๒ วินิจฉัยว่า ตำรวจมีหมายจับหมายค้นแต่เข้าจับกุมตรวจค้นในเวลากลางคืนโดยปีนบ้านและรื้อฝาบ้าน เจ้าของบ้านสำคัญผิดว่าโดนโจรปล้น เพราะเคยถูกคนร้ายปลอมตัวเป็นตำรวจมาแล้ว จึงใช้ปืนยิงตำรวจได้รับบาดเจ็บเป็นการป้องกันโดยสำคัญผิดพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งคำพิพากษาฏีกานี้แสดงให้เห็นว่าแม้มีหมายจับหมายค้น แต่เมื่อเข้าตรวจค้นในเวลากลางคืน ซึ่งปวอ มาตรา ๙๖ห้ามค้นในเวลากลางคืน โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถค้นในเวลากลางคืนได้โดยไม่ใช่การค้นต่อเนื่องในเวลากลางวันไม่เสร็จจึงได้ค้นต่อไปในเวลากลางคืน หรือเป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือมีกฎหมายอื่นอนุญาตให้ค้นได้ และก็ไม่ใช่การค้นเพื่อจับคนร้ายดุหรือคนร้ายสำคัญ เมื่อค้นไม่ชอบก็เป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฏหมายเจ้าของบ้านย่อมมีสิทธิ์ป้องกันได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่จำต้องกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอาจอ้าง ปอ มาตรา ๗๐ ได้ แต่ก็ไม่เป็นข้อห้ามที่เจ้าของบ้านจะใช้สิทธิ์ป้องกันในชีวิตและทรัพย์สินในบ้านตนได้ มีสิทธิ์เข้าใจได้ว่าเป็นคนร้ายที่จะเข้ามาทำการปล้นทรัพย์ แม้ก่อนตรวจค้นจะได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ก็ตาม แม้จะมีการแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยากที่จะเชื่อได้ หรือแม้ไม่มีการแสดงตนว่าเป็นใครก็ยิ่งทำให้สงสัยว่าน่าเป็นคนร้าย ในสถานการณ์เช่นนั้น เวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีคนหลายคนมารื้อฝาบ้านมาปีนบ้านย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคนร้าย การใช้ปืนยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
๑๓.หรือในกรณีคำพิพากษาฏีกา ๙๓๕/๒๕๐๑ เข้าจับกุมในเคหสถานโดยไม่มีหมาย แล้วใช้ปืนตีเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านใช้มีดแทงสวน เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ จึงเห็นได้ว่าตำรวจชั้นผู้น้อย ข้าราชการชั้นผู้น้อยบางครั้งไม่มีทางเลือกจำต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแม้รู้ว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นทหารตำรวจแล้วย่อมมีวินัยเป็นสำคัญ การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชามีโทษ ดังนั้น หากผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งให้กระทำในเรื่องใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติแล้วก็สามารถอ้าง ปอ มาตรา ๗๐ เพื่อไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายได้
๑๓.ในทางแพ่งการกระทำตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ ปพพ มาตรา ๔๔๙ ดังนั้นหากเป็นการกระทำตามคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้กระทำเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องกระทำ ปอ มาตรา ๗๐ บัญญัติว่า “ ไม่ต้องรับโทษ “ คือ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่การกระทำยังเป็นความผิดอยู่ ทั้งผู้ออกคำสั่ง และผู้ปฏิบัติตามคำสั่งยังต้องรับผิดในทางแพ่งที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และยิ่งหากรู้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังปฏิบัติตามนอกจากไม่ได้รับการยกเว้นที่ไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐แล้ว ยังต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

“ชีวิตแลกทรัพย์”

๑.คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์จำเลยตอนกลางคืน รุ่งเช้าจำเลยไปพบทรัพย์ซุกซ่อนในป่า จึงซุ่มรอคนร้ายนาน ๓ – ๔ ชั่วโมง ผู้ตายเอาทรัพย์ออกจากที่ซ่อนเดินไปได้ ๔ – ๕ วาจำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย ผิดฆ่าโดยเจตนา หลังพบทรัพย์ที่ซ่อนในป่า สิทธิ์ครอบครองทรัพย์ได้กลับคืนมายังจำเลยแล้ว การที่ดักคอยคนร้ายพอพบคนร้ายก็ยิงทันที เป็นเจตนาอยู่ในตัวว่าจะทำร้ายผู้ตาย การกระทำไม่เป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งการป้องกันสิทธิ์ต้องเป็นเรื่องจำเป็นต้องกระทำ แต่เรื่องนี้มีทางเลือกอื่นหลายประการเพื่อไม่ให้ผู้ตายเอาทรัพย์ไป คำพิพากษาฏีกา ๑๒๕๐/๒๕๐๒
๒.ผู้ตายบุกรุกไปพยายามลักทรัพย์ในโรงเก็บของในสวนจำเลยมีรั่วเป็นแนวเขต ขึงลวดไฟฟ้าไว้ป้องกันคนร้ายลักทรัพย์ เคยถูกลักทรัพย์มาแล้ว เป็นภยันตรายที่เกิดแก่ทรัพย์ใกล้จะถึงเป็นการป้องกันสิทธิ์โดยชอบ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๒๓/๒๕๑๙
๓.ขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้บริเวณบ้านแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามแนวลวด ผู้ตายเข้าไปในเขตรั่วถูกไฟดูดถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตัวเองโดยชอบด้วยกฎหมายมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนา คำพิพากษาฏีกา ๓๒/๒๕๑๐
๔.ผู้ตายเข้าไปบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้างจำเลยเพื่อไปเกี่ยวหญ้า จำเลยไม่มีสิทธิ์ทำร้ายผู้ตาย เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบ่อเลี้ยงปลาแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ผู้ตายมาถูกสายไฟฟ้าถึงแก่ความตาย ไม่เป็นการป้องกันมีความผิดตามปอ มาตรา ๒๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๔๘๘๔/๒๕๒๘
๕.จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้าน ได้ขึงลวดสองเส้น รอบที่ตกกล้าสูงจากพื้นดิน ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์ จากบ้านเข้าไปที่เส้นลวดที่ขึงเพื่อป้องกันไม่ให้หนูเข้าไปกินข้าวในนาโดยรู้อยู่ว่าสายลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้นั้นหากสัตว์ไปถูกเข้าจะถึงแก่ความตาย จำเลยปักป้ายห้ามเข้าในเขตตกกล้า แสดงจำเลยรู้ว่าลวดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อคนที่เข้าไปตกกล้า การที่ขึงลวดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวย่อมเล็งเห็นได้ว่าคนหาปลาหากบตามท้องนาอาจเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าและได้รับอันตรายได้ ถือมีเจตนาทำร้าย ผู้ตายผ่านไปถูกกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตายเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลย ต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ปอ มาตรา ๒๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๒๙/๒๕๓๐
๖.ผู้ตายเข้าไปลักปลากัดในบ่อจำเลย ซึ่งหากจำเลยเห็นมีสิทธิ์ทำร้ายจำเลยได้พอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มากนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ากับเส้นลวดแล้วถูกผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๖๔๙๐/๒๕๔๘
๗.ผู้ตายเป็นเด็กเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย เป็นกากรกระทำอันเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยมีสิทธิ์ที่จะป้องกันทรัพย์ของตนได้ แต่การที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์ที่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันราคาไม่สูงมากนัก เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว้ากรณีแห่งการจักต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงใดก็ได้ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยรับสารภาพและไม่ได้ฏีกา ศาลก็ยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ คำพิพากษาฎีกา ๑๙๑/๒๕๔๙
๘.จำเลยขึงลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าที่หน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลอบปีนหน้าต่างเข้าไปลักทรัพย์ภายในห้องจำเลยถูกไฟดูดถึงแก่ความตาย แม้เป็นการป้องกันการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์ไปตามเส้นลวด ที่ไม่มีฉนวนหุ้มย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่จะทำร้ายผู้ไปสัมผัสให้ถึงแก่ความตายได้ แม้เป็นการป้องกันคนร้ายที่เข้ามาลักทรัพย์ ในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยและภรรยาได้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการทำเพื่อป้องกัน เป้นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๗๖๕๐/๒๕๕๓
๙.ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปลักแตงในไร่จำเลยเวลากลางคืน จำเลยใช้ปืน .๒๒ ยิงขณะผู้เสียหายกับพวกวิ่งหนีถูกที่หลังกระสุนฝังใน ยิงผู้เสียหายโดยเหตุที่มาลักแตง ๒ – ๓ ใบ ราคาเล็กน้อย กระสุนถูกที่สำคัญตรงอก เล็งเห็นได้ว่ามีเจตนาฆ่า เป็นการกระทำที่เกินกว่ากรณีแห่งการทำเพื่อป้องกัน ผิดพยายามฆ่าเพื่อป้องกันสิทธิ์เกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๗๘๒/๒๕๒๐
๑๐.ใช้มีดอีโต้ฟันเด็กที่เข้าไปลักทรัพย์ที่บ้านจำเลยในเวลากลางคืน ๑ ที เกิดบาดแผลฉกรรจ์ยาว ๖ เซ็นติเมตร กะโหลกศีรษะใต้บาดแผลแตกเป็นแนวยาวไปตามบาดแผล ๕ เซนติเมตร แสดงฟันโดยแรงขณะผู้เสียหายโผล่ออกมาจากใต้แคร่ ในสภาพที่ผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่ในแคร่ที่อยู่ในเขตจำกัด จำเลยอาจใช้วิธีการอื่นเพื่อสกัดไม่ให้ผู้เสียหายออกมา และเรียกให้คนอื่นมาช่วยจับผู้เสียหายไว้ ทั้งที่มีทางที่จะสังเกตได้ทันทีว่าผู้โผล่ออกมาคือใคร จะเกิดอันตรายแก่จำเลยเพียงใดหรือไม่ เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๔๙๕๕/๒๕๒๘
๑๑.ใช้ปืนยิงผู้ที่กำลังขี่และจูงกระบือไปโดยเข้าใจผิดว่าคนนั้นคือคนร้ายที่ลักกระบือ ซึ่งตนติดตามมาในเวลากลางคืน บริเวณนั้นเป็นป่ามีต้นไม้และมืด แต่ผู้นั้นไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้ เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๒๙๔/๒๕๐๐
๑๒..ใช้ปืนยิงเด็กส่องกบที่ริมรั่วบ้านห่างออกไป ๗ วา ถึงแก่ความตายโดยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายจะมาฆ่าพี่ชาย โดยผู้ถูกยิงยังไม่ทันเข้ามาในรั้วบ้านจำเลยและพี่ชายจำเลยอยู่ในห้องบนเรือนที่อยู่ห่างออกไปไกล ภยันตรายยังอยู่ห่างไกล เป็นการป้องกันเกินกรณีแห่งการจำต้องป้องกัน คำพิพากษาฏีกา ๘๗๒/๒๕๑๐
ข้อสังเกต๑.เมื่อมีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง โดยเราไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวแล้วเรามีสิทธิ์ที่จะกระทำการใดๆเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ หากกระทำพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด หากเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นใดๆก็ได้ ปอ มาตรา ๖๘,๖๙
๒.ปัญหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยป้องกันหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้จำเลยรับสารภาพ และไม่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ไม่ได้นำสืบ และไม่ได้ถามค้านประเด็นนี้ไว้ ศาลก็สามารถยกขึ้นมาได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง,๒๒๕ และไม่ถือว่า เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕วรรคแรก แต่ถือเป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้ไม่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ ไม่ได้นำสืบ และไม่ได้ถามค้านประเด็นนี้ไว้ ศาลก็สามารถยกขึ้นมาได้ เพราะการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๖๘ ศาลสามารถนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๘๕
๓.ปัญหาว่าการกระทำนั้น “พอสมควรแก่เหตุหรือไม่” พิจารณาจากการกระทำนั้นเป็นการที่ “จักต้องกระทำ” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประทุษร้ายอันละเมิดด้วยกฎหมายหรือไม่? โดยการกระทำนั้นต้องเป็นการที่จักต้องกระทำนั้นเป็น “ วิถีทางน้อยที่สุด” ที่จะกระทำหรือไม่อย่างไร และการกระทำนั้นต้อง “ได้สัดส่วน” กันด้วย หากไม่ครบทั้งสองข้อถือการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ “เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน”
๔.ชีวิตต่อชีวิต มีดกับมีด ปืนกับปืน ไม้กับไม้ มีดกับไม้ มีดกับปืน เหล่านี้ถือ “ได้สัดส่วนกัน” จึงต้องมาพิจารณาว่ากระทำนั้นเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่ต้องกระทำหรือไม่? มีดกับหมัด หมัดกับปืน หมัดกับไม้ ถือไม่ได้สัดส่วนกัน
๕."วิถีทางที่น้อยที่สุดที่จำต้องกระทำ” คือเป็นวิถีทางที่คนทั่วไปจักกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนเองหรือทรัพย์สินของตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากกากรประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เช่น
๕.๑ คนร้ายมาลักทรัพย์ เจ้าของทรัพย์เป็นคนพิการขาลีบ หรือขาเป็นปลิโอ หรือเป็นคนพิการขาขาด ๑ ข้างหรือทั้งสองข้าง ไม่สามารถวิ่งไล่ตามคนร้ายได้ ทั้งบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีคนอยู่แถวนั้นที่จะร้องขอความช่วยเหลือได้ การเอาปืนยิงคนร้ายที่ขา เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะได้ทรัพย์คืน แต่หากยิงที่ศีรษะ การกระทำไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างทรัพย์กับชีวิต ชีวิตย่อมมีค่ามากกว่าทรัพย์
๕.๒หรือกรณีคนพิการร้องเอะอะโวยวายคนร้ายได้ทิ้งทรัพย์แล้ววิ่งหนี แต่คนพิการก็ยังยิงที่ด้านหลังคนร้าย เมื่อคนร้ายทิ้งทรัพย์แล้วภยันตรายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์ไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรที่จำต้องป้องกัน เจ้าของทรัพย์สามารถกลับเข้าครอบครองทรัพย์ได้ เมื่อไม่มีภยันตรายเกิดแก่ตัวทรัพย์แล้ว การยิงจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำที่จำต้องป้องกันภยันตรายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์
๕.๓หรือการที่คนร้ายพาทรัพย์ไปไม่ไหว จึงได้ทิ้งทรัพย์ไว้แล้วจะกลับมาเอาทีหลัง เมื่อเจ้าของทรัพย์พบทรัพย์อำนาจกลับเข้าครอบครองทรัพย์หลังพบทรัพย์ที่ถูกลัก จึงมีขึ้น ไม่มีภยันตรายใดๆเกิดกับตัวทรัพย์อีก การที่เจ้าของทรัพย์แอบดูเพื่อดูว่าใครจะกลับมาเอาทรัพย์ เมื่อคนร้ายย้อนกลับมาเอาทรัพย์ก็ยิงทันที เมื่อภยันตรายที่เกิดแก่ตัวทรัพย์ไม่มี เจ้าของสามารถกลับเข้าครอบครองทรัพย์ได้แล้ว การที่ยิงคนร้ายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันได้
๕.๔การ.ดักคอยดูใครเป็นคนร้ายหากพบก็จะยิงทิ้ง เมื่อคนร้ายกลับมาเอาทรัพย์ก็ยิงทันที เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
๖การ.ขึงลวดไฟฟ้า มีกรณีที่ต้องพิจารณาดังนี้คือ
๖.๑หากฟังว่าแม้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ไม่มีอำนาจป้องกันได้ เช่น บุคคลนั้นไม่ใช่คนร้ายที่จะมาลักทรัพย์ เราพบเห็นก็ไม่มีอำนาจป้องกัน ดังนั้นการขึงลวดไฟฟ้าเพื่อกันขโมยแต่คนที่ถูกไฟดูดไม่ใช่ขโมย ย่อมไม่สามารถอ้างการกระทำว่าเป็นการป้องกันได้
๖.๒แต่หากฟังว่าเมื่อคนร้ายเข้ามาแล้วเจ้าของทรัพย์เห็นคนร้ายกำลังลักทรัพย์ย่อมมีอำนาจในการป้องกันได้ แม้ขณะคนร้ายมาลักทรัพย์เจ้าของไม่อยู่แต่ได้ขึงลวดไฟฟ้าไว้ป้องกันคนร้ายแทน ดังนี้ถือ ลวดไฟฟ้านั้นเป็นแนวป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์ได้ หากเราอยู่ก็อาจทำร้ายคนร้ายเพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายเอาทรัพย์ไป แม้ไม่อยู่ก็ใช้ลวดไฟฟ้าทำหน้าที่แทน แต่การกระทำนั้นจะได้สัดส่วนกันหรือไม่ก็อาจขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยว่าอาจทำให้ถึงตายได้หรือไม่หรือเป็นเพียงแค่เจ็บตัวเท่านั้น หากกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยมีกำลังมากใครสัมผัสย่อมถึงแก่ความตาย ดังนี้ย่อมไม่ได้สัดส่วนกัน เพราะชีวิตย่อมมีค่ามากกว่าทรัพย์สิน หากคนร้ายมาถูกลวดแล้วไฟดูดตาย เพราะแม้การขึงลวดไฟฟ้าจะเป็นวิถีทางที่น้อยที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้มีคนเข้ามาลักทรัพย์ แต่การกระทำก็ไม่ได้สัดส่วนกันเพราะราคาทรัพย์ย่อมไม่อาจเทียบกับชีวิตคนได้ การกระทำจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องป้องกัน นั้นก็คือแม้จำเลย(ผู้ขึงลวดมีกระแสไฟฟ้า)ไม่อยู่แต่ได้กระทำการใดไว้เป็นการป้องกันคือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามขดลวด จำเลยก็ยังต้องรับผิดถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นจากกการกระทำของจำเลย
๗.สิ่งที่ศาลนำมาคำนึงในการพิพากษาด้วยคือ ราคาทรัพย์ที่ถูกลักมีราคามากน้อยอย่างไร กับวิธีการที่จำต้องป้องกันนั้นเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำนั้นได้สัดส่วนกันหรือไม่อย่างไร
๘.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกาที่วินิจฉัยว่าการที่คนร้ายถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ปอ มาตรา ๒๙๐นั้น ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การ.ปล่อยกระแสไฟที่มีกำลังมาก ย่อมเล็งเห็นได้ว่าคนมาถูกอาจถึงแก่ความตาย น่าผิดฐานฆ่าโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล ตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสอง ไม่ใช่ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ปอ มาตรา ๒๙๐ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ เมื่อศาลฏีกาวินิจฉัยเป็นอีกอย่างก็เคารพในคำพิพากษาฏีกาครับ
๙.กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพ ดังนั้นในทางแพ่งผู้ครอบครองดูแลกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของตนตาม ปพพ มาตรา ๔๓๗ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง ดังนั้นเมื่อมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้วมีคนตายโดยหลักแล้วผู้ครอบครองดูแลกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของตน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย คือความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง ซึ่งมีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ
๙.๑หากการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันทรัพย์ที่มีราคาสูงมาก กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยมีจำนวนโวลท์ไม่มากพอจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ อันเป็นการกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์พอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่มีความผิดตามกฎหมายตาม ปอ มาตรา ๖๘ ซึ่ง ปพพ มาตรา ๔๔๙ บัญญัติให้ การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ก็หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
๙.๒ แต่หากการกระทำดังกล่าวเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน เช่น ปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงดันไฟฟ้ามากจนคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ถึงแก่ความตาย เมื่อกฎหมาย(ปอ มาตรา ๖๙) ยังบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดเพียงแต่ศาลจะลงโทษในทางอาญาน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เมื่อกฎหมายยังบัญญัติว่าเป็นความผิดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งในผลแห่งละเมิดของตน
๙.๒.๑ซึ่งหากคนถูกกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตาม ปพพ มาตรา ๔๔๓ และค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่เขาต้องขาดแรงงานไป ตาม ปพพ มาตรา ๔๔๕
๙.๒.๒ หากไม่ถึงแก่ความตาย ค่าสินไหมทดแทน คือ ได้แก่ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ค่าความเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตาม ปพพ มาตรา ๔๔๔ และค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่เขาต้องขาดแรงงานไป ตาม ปพพ มาตรา ๔๔๕
๙.๓แต่หากการกระทำดังกล่าวไม่ใช่ การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เช่น คนที่ถูกไฟดูดไม่ใช่คนร้ายที่มาลักทรัพย์แต่เป็นคนมาหาปลา กรณีต้องตาม ปพพ มาตรา ๔๓๗ ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพต้องรับผิดในความเสียหายใดๆที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง

“สามีไม่มีสิทธิ”

๑.แม้จำเลยและผู้ตายเป็นสามีภริยากัน ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะทำร้ายจำเลย เมื่อผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุด่า ตบ เตะจำเลยก่อนจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยย่อมมีสิทธ์ที่จะป้องกันตัวเองได้ การที่จำเลยใช้มีดแทงจำเลยเพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ตายทำร้ายจำเลยอีก เป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากการถูกทำร้าย ผู้ตายตบแตะจำเลยโดยไม่มีอาวุธ การที่จำเลยใช้มีดแปลายแหลมแทงผู้ตายหลายครั้งปรากฏบาดแผล ๕ แผล เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เป็นการฆ่าโดยเจตนาป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๗๙/๒๕๒๙
๒.ผู้ตายมาขอเงินจำเลยซึ่งเป็นภรรยาไปซื้อสุรามาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วมาขอเงินไปซื้อสุราอีกครั้ง จำเลยบอกไม่มี ผู้ตายก็บีบคอจำเลย การที่จำเลยใช้มีดอีโต้ขนาดใหญ่ฟันศีรษะผู้ตายจนกะโหลกแตกถึงแก่ความตาย เป็นกากรป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๗๒/๒๕๓๒
๓.แม้ผู้ตายและจำเลยเป็นสามีภริยากัน แต่ก็ได้หย่าขาดจากกันแล้ว ผู้ตายไม่มีความชอบธรรมที่จะพาพวกมารื้อบ้านจำเลย ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุ เมื่อจำเลยห้ามปรามก็ถูกผู้ตายด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทั้งสภาพของบ้านทุถูกผู้ตายรื้อเอาไม้กระดานและฝาบ้านออกจนอยู่ในสภาพไม่อาจอยู่อาศัยได้ เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมเหลือวิสัยที่จะกลั้นโทสะไว้ได้ การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายในทันที เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ คำพิพากษาฏีกา ๒๙๕๘/๒๕๔๐
๔.ผู้เสียหายนอนเฝ้าน่าคนเดียว ผู้เสียหายไปดื่มเหล่ามาหาจำเลยเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ให้จำเลยไปหาข้าวมาให้ทาน จำเลยเดินไปเอาข้าวที่บ้านห่างออกไป ๓ เส้น เมื่อนำข้าวมาแล้ว ผู้เสียหายไม่ยอมทาน กลับบ่นว่าจำเลย และพูดถึง “ ภริยาน้อย” อีก เป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จำเลยยิงผู้เสียหายในขณะนั้น อ้างบันดาลโทสะได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๔๙/๒๕๓๕
๕.ผู้ตายทิ้งจำเลยไปมีภริยาใหม่ เสพสุรามึนเมามาหาจำเลยที่บ้านเพื่อจะนำบุตรไปอยู่กับภริยาใหม่ของผู้ตาย จำเลยไม่ยอมก็ถูกทุบตี เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้มีดฟันที่ศีรษะ ๑ ครั้งโดยแรง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๘/๒๕๓๒
๖.ผู้เสียหายแย่งสามีจำเลยไป สามีขับไล่จำเลยออกจากบ้าน ครอบครัวแตกแยก บุตรต้องออกจากโรงเรียน จำเลยต้องไปเช่าบ้านอยู่รายได้ไม่พอรายจ่าย นับว่าผู้เสียหายทำให้จำเลยคับแค้นใจ เมื่อจำเลยไปขอเงินจากสามี ผู้เสียหายด่าว่าและมองจำเลยตั้งแต่ศีรษะจดตีน เป็นการดูถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายเป็นการบันดาลโทสะ คำพิพากษาฏีกา ๖๒๙/๒๕๓๖
๗.จำเลยกับผู้ตายเป็นสามีภรรยากัน ทะเลาะกันอยู่เสมอด้วยความหึงหวง ผู้ตายด่าว่าและทุบตีจำเลยเป็นประจำ ลำพังเพียงการด่าและขอหย่ากับเรียกร้องเงินจากจำเลยยังไม่ใช่การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยยิงผู้ตายไม่ใช่การกระทำโ ดยบันดาลโทสะ คำพิพากษาฎีกา ๑๕๒๔/๒๕๓๙
๘.ผู้ตายด่าจำเลยว่า “ ไอ้หน้า ....... ไม่ช่วยทำมาหากิน” เป็นการกล่าวคำหยาบคายตามปกติ ไม่ได้ทำให้ต้องอับอายขายหน้าบุคคลอื่น เพราะเพื่อนที่ดื่มสุรากับจำเลยกลับไปหมดแล้ว ถือไม่ได้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้มีดแทงไปที่อกผู้ตายซึ่งมีอวัยวะสำคัญภายในอย่างแรง แม้แทงเพียงครั้งเดียวก็เล็งเห็นได้ว่าอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยถือมีเจตนาฆ่า แต่ไม่ใช่กระทำไปโดยบันดาลโทสะ คำพิพากษาฏีกา ๔๗๑๕/๒๕๓๖
๙.ผู้ตายบอกจำเลยว่าให้ไปหาภรรยาใหม่ ผู้ตายมีสามีใหม่แล้ว พร้อมพูดว่า “ มึงหน้าด้าน หน้าเหมือนส้นตีน “ เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น ไม่ใช่การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จะอ้างว่าฆ่าโดยบันดาลโทสะหาได้ไม่ คำพิพากษาฏีกา๕๘๐๙/๒๕๓๔
๑๐.ผู้ตายและจำเลยอยู่ร่วมกินฉันท์สามีภรรยา ผู้ตายไปนอนค้างกับ พ. ผู้ตายบอกจำเลยต่อหน้า พ. ว่า มานอนกับ ท. ทุกคืน เป็นการเย้ยหยันว่าทำชู้กันเรื่อยๆ เป็นการสบประมาทอย่างร้ายแรง เหลือวิสัยที่จำเลยจะทนได้ เป็นการกดขี่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรง การใช้ปืนยิงผู้ตายขณะนั้นเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ คำพิพากษาฏีกา ๔๒๘/๒๕๓๖
๑๑.ผู้ตายโกรธแค้นที่ถูกจำเลยซึ่งเป็นสามีตบตี ผู้ตายไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะด่าว่าจำเลยในลักษณะดูถูกเหยียดหยามด้วยถ้อยคำหยาบคายพาดพิงถึงวงศ์ตระกูลของจำเลยในที่ว่าการอำเภอซึ่งมีคนอื่นได้ยิน ย่อมทำให้จำเลยอับอายขายหน้าและเคืองแค้นอย่างมาก เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การยิงผู้ตายเป็นกากรกระทำโดเยบันดาลโทสะ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๙๐/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ๑.แม้เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย มีการจดทะเบียนสมรสกัน หรือ เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการจดทะเบียนสมรส เพียง แต่มีการแต่งงานกัน หรือสมัครใจมาอยู่ด้วยกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส สามีก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายร่างกาย หากเป็นภริยาที่มีการจดทะเบียนสมรส การทำร้ายร่างกายภริยาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ การที่สามีทำร้ายภรรยาไม่ว่าจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือถึงแล้ว และภริยาไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิด ภริยาย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันภยันตรายนั้นให้พ้นจากตัวได้ เป็นการป้องกันตามกฎหมาย แต่จะเป็นเรื่องป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือเกินสมควรแก่เหตุ เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องป้องกันหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
๒.แม้จำเลยและผู้ตายเป็นสามีภริยากัน ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะทำร้ายจำเลย เมื่อผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุด่า ตบ เตะจำเลยก่อนจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยย่อมมีสิทธ์ที่จะป้องกันตัวเองได้ การที่จำเลยใช้มีดแทงจำเลยเพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ตายทำร้ายจำเลยอีก เป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากการถูกทำร้าย ผู้ตายตบแตะจำเลยโดยไม่มีอาวุธ การที่จำเลยใช้มีดแปลายแหลมแทงผู้ตายหลายครั้งปรากฏบาดแผล ๕ แผล เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย แม้การแทงเพื่อยับยั้งไม่ให้จำเลยเข้าทำร้ายอีก จะเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จำเป็นจะต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็ไม่ได้สัดส่วนเพราะผู้ตายไม่มีอาวุธและได้แทงหลายครั้ง จึงเป็นการฆ่าโดยเจตนาป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
๓.ผู้ตายมาขอเงินจำเลยซึ่งเป็นภรรยาไปซื้อสุรามาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วมาขอเงินไปซื้อสุราอีกครั้ง จำเลยบอกไม่มี ผู้ตายก็บีบคอจำเลยเป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือถึงแล้ว และภริยาไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิด ภริยาย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันภยันตรายนั้นให้พ้นจากตัวได้ แต่การที่ผู้ตายใช้มือเปล่าบีบคอโดยไม่มีอาวุธ การที่จำเลยใช้มีดอีโต้ขนาดใหญ่ฟันศีรษะผู้ตายจนกะโหลกแตกถึงแก่ความตาย แม้การฟันด้วยมีดจะเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะป้องกันตัวเอง แต่เมื่อผู้ตายไม่มีอาวุธ การใช้มีดอีโต้ขนาดใหญ่ฟันที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอาจทำให้ถึงแก่ความตาย จำเลยยังมีโอกาสเลือกฟันที่อื่น เช่น ฟันที่แขน เพื่อให้ผู้ตายปล่อยมือที่บีบคอ การฟันผู้ตายด้วยมีดขนาดใหญ่จนกะโหลกแตก แสดงว่าฟันโดยแรง จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนอาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้สัดส่วนระหว่างการกระทำที่เกิดจากการประทุษร้านอันละเมิดกฎหมายกับการกระทำที่จำต้องป้องกัน จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
๔.แม้ผู้ตายและจำเลยเป็นสามีภริยากัน แต่ก็ได้หย่าขาดจากกันแล้ว ผู้ตายไม่มีความชอบธรรมที่จะพาพวกมารื้อบ้านจำเลย ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุ เมื่อจำเลยห้ามปรามก็ถูกผู้ตายด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทั้งสภาพของบ้านที่ถูกผู้ตายรื้อเอาไม้กระดานและฝาบ้านออกจนอยู่ในสภาพไม่อาจอยู่อาศัยได้ เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมเหลือวิสัยที่จะกลั้นโทสะไว้ได้ การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายในทันที เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกาเห็นว่า เมื่อผู้ตายและจำเลยเลิกจากการเป็นสามีภรรยากันแล้ว การที่ผู้ตายมารื้อบ้านจำเลย เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จึงเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแล้ว จำเลยสามารถป้องกันภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ การกระทำของจำเลย น่าเป็นเรื่องป้องกันมากกว่าบันดาลโทสะ การกระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ แต่การที่จำเลยยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย จนผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะหยุดการกระทำของผู้ตาย แต่ก็ไม่ได้สัดส่วนกันเพราะทรัพย์ที่เสียหายเทียบไม่ได้กับชีวิตที่เสียไป การกระทำจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าโดยเจตนาป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ แต่เมื่อศาลท่านได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะก็เคารพในคำพิพากษาศาลฏีกา
๔.. ผู้เสียหายไปดื่มเหล้ามาหาจำเลยเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ให้จำเลยไปหาข้าวมาให้ทาน จำเลยเดินไปเอาข้าวที่บ้านห่างออกไป ๓ เส้น เมื่อนำข้าวมาแล้ว ผู้เสียหายไม่ยอมทาน กลับบ่นว่าจำเลย และพูดถึง “ ภริยาน้อย” อีก เป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จำเลยยิงผู้เสียหายในขณะนั้น อ้างบันดาลโทสะได้ การพูดถึง “ เมียน้อย” ยังไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายยังไม่เป็นความผิดกฎหมาย แต่การพูดถึงเมียน้อยให้ภรรยาฟังเป็นคำพูดที่เสียบแทงจิตใจคนที่เป็นภรรยาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจำเลยซึ่งคอยปรนนิบัติสามี ยอมเดินไปเอาข้าวที่บ้านที่อยู่ห่างจากนาถึง ๓ เส้นในเวลากลางคืน นำมาให้แล้วก็ไม่ยอมทาน แล้วยังมาพูดถึงเรื่องภรรยาน้อย คำพูดและการกระทำดังกล่าวเสียดแทงใจจำเลยเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแล้ว การที่จำเลยยิงผู้เสียหายไปในทันใดนั้นย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
๕.ผู้ตายทิ้งจำเลยไปมีภริยาใหม่ เป็นการข่มเหงจำเลยซึ่งเป็นภรรยาด้วยเหตุไม่เป็นธรรม ประกอบทั้งผู้ตายเสพสุรามึนเมามาหาจำเลยที่บ้านเพื่อจะนำบุตรไปอยู่กับภริยาใหม่ของผู้ตายยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจจำเลยผู้เป็นแม่ที่จะต้องถูกพรากบุตรไปอยู่กับหญิงอื่นซึ่งเป็นภรรยาใหม่ของพ่อซึ่งอาจไม่รักใคร่ไม่เมตตาและคิดร้ายกับบุตรของจำเลยได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ตายมีบุตรกับภรรยาใหม่แล้วลูกของจำเลยอาจถูกรังแกได้ จำเลยซึ่งเป็นแม่ย่อมมีอำนาจในการปกครองบุตร ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๔๖,๑๕๖๖ เมื่อจำเลยไม่ยอมให้นำบุตรไปก็ถูกทุบตี เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้มีดฟันที่ศีรษะ ๑ ครั้งโดยแรง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
๖..ผู้เสียหายแย่งสามีจำเลยไป สามีขับไล่จำเลยออกจากบ้าน ครอบครัวแตกแยก บุตรต้องออกจากโรงเรียน จำเลยต้องไปเช่าบ้านอยู่รายได้ไม่พอรายจ่าย นับว่าผู้เสียหายทำให้จำเลยคับแค้นใจ เมื่อจำเลยไปขอเงินจากสามี ผู้เสียหายด่าว่าและมองจำเลยตั้งแต่ศีรษะจดตีน การมองคนจากหัวจดเท้าหรือเท้าจดหัวก็คือการมองแบบดูถูก ยิ่งเมื่อได้มองเมื่อจำเลยมาขอเงินจากสามีจำเลยซึ่งถูกผู้เสียหายแย่งไปจน สามีขับไล่จำเลยออกจากบ้าน ครอบครัวแตกแยก บุตรต้องออกจากโรงเรียน จำเลยต้องไปเช่าบ้านอยู่รายได้ไม่พอรายจ่าย ยิ่งทำให้จำเลยเจ็บแค้นใจ สามีที่ไปมีผู้หญิงอื่นย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยก เงินที่เคยให้กับภรรยาก็ไม่ให้หรือให้น้อยลงเพื่อต้องนำไปจุนเจือหญิงอื่น เมื่อรายได้ไม่พอรายจ่ายย่อมก่อให้เกิดความเครียด เมื่อเครียดและไม่มีเงินใช้ก็ต้องไปขอจากสามี เมื่อสามีไม่ยอมให้เงินตามที่ตนไปขอแถมภรรยาใหม่ยังมองจากหัวจดเท้าเท้าจดหัวเป็นเชิงดูหมิ่นเหยียดหยาม การกระทำดังกล่าวเป็นการดูถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายในขณะนั้นเป็นการกระทำที่สามารถอ้างบันดาลโทสะได้
๗.จำเลยกับผู้ตายเป็นสามีภรรยากัน ทะเลาะกันอยู่เสมอด้วยความหึงหวง ผู้ตายด่าว่าและทุบตีจำเลยเป็นประจำ ลำพังเพียงการ ด่าว่า ทะเลาะกันระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว แม้จะมีการขอหย่ากับเรียกร้องเงินจากจำเลยก็เป็นปกติวิสัยที่คู่สมรสเห็นว่า การอยู่ด้วยกันไม่สามารถกระทำไปได้ด้วยดีมีแต่ทะเลาะวิวาท ไม่รู้จะมาทนเพื่ออะไร ทนเพื่อใคร ยิ่งไม่มีบุตรด้วยกันก็ยิ่งไม่มีอะไรมาคอยค้ำจุนหรือเตือนสติให้คิดถึงลูก ลำพังแค่การทะเลาะวิวาทด่าว่าและขอหย่ายังไม่ใช่การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยยิงผู้ตายไม่ใช่การกระทำโ ดยบันดาลโทสะแต่อย่างใดไม่
๘.ผู้ตายด่าจำเลยว่า “ ไอ้หน้า ....... ไม่ช่วยทำมาหากิน” เป็นการกล่าวคำหยาบคายตามปกติ ไม่ได้ทำให้ต้องอับอายขายหน้าบุคคลอื่น เพราะเพื่อนที่ดื่มสุรากับจำเลยกลับไปหมดแล้ว ถือไม่ได้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม สามีภรรยาด่ากันโต้เถียงกันถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งก็ด่าที่ตัวบุคคลไม่ได้ด่าไปถึงบุพการีหรือค่อนขอดในเรื่องความสามารถหรือความผิดปกติหรือความพิการของกายแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยใช้มีดแทงไปที่อกผู้ตายซึ่งมีอวัยวะสำคัญภายในอย่างแรง แม้แทงเพียงครั้งเดียวก็เล็งเห็นได้ว่าอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยถือมีเจตนาฆ่า แต่ไม่ใช่กระทำไปโดยบันดาลโทสะ แต่หากว่าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปโดยมีการกล่าวคำนี้ต่อหน้าเพื่อนจำเลยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้จำเลยอับอายขายหน้าเพื่อนได้ คำพิพากษาอาจเปลี่ยนไปได้
๙.ผู้ตายบอกจำเลยว่าให้ไปหาภรรยาใหม่ ผู้ตายมีสามีใหม่แล้ว พร้อมพูดว่า “ มึงหน้าด้าน หน้าเหมือนส้นตีน “ เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น ไม่ใช่การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จะอ้างว่าฆ่าโดยบันดาลโทสะหาได้ไม่ เมื่อภรรยาไปมีสามีใหม่โดยไม่เต็มใจอยู่ด้วยหรือไม่ประสงค์อยู่ด้วยก็เลิกรากันไป ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งประหัตประหารเอาชีวิตของภรรยายังมีทางเลือกทางอื่นอีก ลำพังแค่ การไปหาผัวใหม่ก็ดี หรือคำพูดว่า “ มึงหน้าด้าน หน้าเหมือนส้นตีน “ เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น ไม่ใช่การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม อ้างบันดานโทสะไม่ได้
๑๐.ผู้ตายและจำเลยอยู่ร่วมกินฉันท์สามีภรรยา ผู้ตายไปนอนค้างกับ พ. ผู้ตายบอกจำเลยต่อหน้า พ. ว่า มานอนกับ ท. ทุกคืน เป็นการเย้ยหยันว่าทำชู้กันเรื่อยๆ เป็นการสบประมาทอย่างร้ายแรง เหลือวิสัยที่จำเลยจะทนได้ เป็นการกดขี่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรง การใช้ปืนยิงผู้ตายขณะนั้นเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เรื่องนี้จะอ้างป้องกันไม่ได้ เพราะเมื่ออยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงไม่ใช่สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปหวงกันคู่สมรสอีกฝ่ายเพราะเป็นเรื่องความสมัครใจ ไม่ใช่การข่มขืน แต่การเย้ยหยันว่าไปนอนด้วยกันบ่อยๆ เป็นการเย้ยหยันว่านอกใจจำเลยเป็นประจำ สุดวิสัยที่จำเลยจะทนได้ การที่จำเลยยิงผู้ตายไปทันทีทันใดย่อมเป็นการกระทำความผิดด้วยความโมโหเป็นกากรกระทำโดยบันดาลโทสะ
๑๑.ผู้ตายโกรธแค้นที่ถูกจำเลยซึ่งเป็นสามีตบตี ผู้ตายไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะตบตีและด่าว่าจำเลยในลักษณะดูถูกเหยียดหยามด้วยถ้อยคำหยาบคายพาดพิงถึงวงศ์ตระกูลของจำเลยในที่ว่าการอำเภอซึ่งมีคนอื่นได้ยิน การที่มีคนอื่นได้ยินย่อมทำให้จำเลยอับอายขายหน้าและเคืองแค้นอย่างมาก เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การยิงผู้ตายเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ กฎหมายมองว่า การด่า การเหยียดหยาม หรือหมิ่นประมาทบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง ดังนั้นใน ปพพ มาตรา๑๕๑๖(๓) การด่า การเหยียดหยาม หรือหมิ่นประมาทบุพการีอีกฝ่ายหนึ่ง จึงให้เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ จึงไม่แปลกว่าทำไมศาลฏีกาจึงพิพากษาแบบนี้
๑๒.คนเป็นสามีไม่ว่าจะโดยชอบด้วยกฎหมาย(มีการจดทะเบียนสมรส)หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีสิทธิ์ทุบตีทำร้ายร่างกายภริยาได้ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยโบราณที่ฝ่ายชายเป็นคนออกไปทำมาหากินส่วนผู้หญิงทำงานบ้าน ผู้หญิงสมัยใหม่มีการศึกษาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ไม่จำต้องพึ่งผู้ชายและไม่จำต้องมีครอบครัวด้วย หมดสมัยแล้วที่ผู้ชายล้างเท้าแล้วผู้หญิงเอาผมเช็คเท้าเหมือนอย่างสมัยก่อนในจังหวัดจังหวัดหนึ่งทางภาค........ ที่มีการจารึกไว้ในวัด.............การที่เอาผมเช็คเท้าแสดงถึงความรักใคร่ห่วงใย ขนาดเท้าเป็นของต่ำยังเอาผมที่เป็นของสูงเช็คให้ได้ แสดงถึงความรักใคร่สามี สมัยนี้ชายหญิงสิทธิ์เสรีภาพเท่าเทียมกัน การทำร้ายภรรยาตัวเอง อาจถูกภรรยากระทำตอบโดยอาจเป็นการกระทำเพื่อป้องกันหรืออาจเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะได้

“ เหตุส่วนตัว เหตุในลักษณะคดี

“เหตุส่วนตัว” เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดคนอื่น เหตุส่วนตัวนี้ทำให้การกระทำไม่ต้องรับโทษ รับโทษน้อยลง หรือเป็นเหตุเพิ่มโทษ เช่น อายุ ความวิกลจริต การเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งเหตุส่วนตัวนี้ไม่มีถึงบุคคลอื่นที่ร่วมกระทำผิดด้วย
“ เหตุในลักษณะแห่งคดี “ เป็นข้อเท็จจริงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีผลถึงจำเลยคนอื่นด้วย เช่น การกระทำของตัวการไม่เป็นความผิดตามกฎหมายดังนั้น ผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดด้วย
เหตุส่วนตัวที่เป็นเหตุยกเว้นโทษ
๑.ความเป็นสามีภรรยา ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๗๑
การเป็นสามีภรรยากันต้องเป็น “ สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย” คือตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ การเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายต้อง มีการจดทะเบียนสมรส( คำพิพากษาฏีกา ๒๐๔๑/๒๔๙๙) หากใช้คำว่า “ อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา” คือเป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส อาจแต่งงานหรือไม่แต่งงาน อาจมีการหมั้นหรือไม่มีการหมั้นก็ได้ แต่ได้มาใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส เมื่อเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมา ลักทรัพย์ธรรมดา(ปอ มาตรา ๓๓๔) ลักทรัพย์มีเหตุฉกรรจ์(ปอ มาตรา ๓๓๕) วิ่งราวทรัพย์ที่ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายได้รับอันตรายแก่กาย ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ปอ มาตรา ๓๓๖วรรคแรก ฉ้อโกงทรัพย์ โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกธรรมดา ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๓,๓๖๔ เมื่อเป็นการกระทำระหว่างสามีกับภรรยาแล้ว ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ คือยังเป็นความผิดตามกฎหมายเพียงแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเท่านั้น เมื่อยังเป็นความผิดตามกฎหมายสามีหรือภรรยาที่ถูกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์นั้นได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๖
๒.อ่อนอายุ ปอ มาตรา ๗๓,๗๔ ซึ่งเด็กไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่อาจถูกใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ในทางแพ่งแม้เด็กไม่ต้องรับโทษทางอาญาแต่ บิดามารดาย่อมต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ ปพพ มาตรา๔๒๙
๓.วิกลจริตหรือมึนเมา ปอ มาตรา ๖๕,๖๖ .
๓.๑ซึ่งคนวิกลจริตไม่ต้องรับโทษทางอาญา คือ การกระทำยังเป็นความผิดทางอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเท่านั้น เป็นเหตุส่วนตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
แต่ในทางแพ่งแล้วบิดามารดาหรือผู้อนุบาลต้องร่วมรับผิดด้วยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ ปพพ มาตรา๔๒๙
๓.๒มึนเมาเพราะเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้เมาหรือถูกขืนใจให้เสพแล้วกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับการกระทำของตนเองได้ จึงไม่ต้องรับโทษ แต่หากยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้างศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เป็นเหตุส่วนตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
๔.กระทำความผิดด้วยความจำเป็น ปอ มาตรา ๖๗ เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้โดยวิธีอื่นใด โดยภยันตรายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน หากได้กระทำพอสมควรแก่เหตุแล้ว การกระทำดังกล่าวไม่ต้องรับโทษทางอาญา คือยังเป็นความผิดอยู่ แต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา เป็นเหตุส่วนตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
และในทางแพ่งมี ปพพ มาตรา๔๕๐ บัญญัติบัญญัติให้ การทำบุบสลาย ทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อบำบัดป้องกันภยันตรายซึ่งมีมาแต่สาธารณะโดยฉุกเฉิน ไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หากความเสียหายไม่เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย หากการทำบุบสลาย ทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นต้องใช้คืนทรัพย์ หากกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนหรือบุคคลอื่นจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์เป็นเหตุ หาจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากความเสียหายไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดเพราะความผิดของบุคคลนั้นเอง หาจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เช่น ร่วมกันตีม้าของผู้เสียหายที่ “ติดสัด” เข้าไปหาม้าตัวเมียของจำเลยที่ใต้ถุนบ้านจำเลย ม้าจำเลยขัดขืนและเตะม้าผู้เสียหายเป็นเหตุให้ทรัพย์ของจำเลยเสียหาย ถือเป็นภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน การที่จำเลยใช้ไม้ตีม้าผู้เสียหายจนถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย คำพิพากษาฏีกา ๓๓๔/๒๕๑๖ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าม้าผู้เสียหายเพียงแต่ไล่ม้าผู้เสียหายออกไปเท่านั้นก็พอ การฆ่าจึงเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ส่วนในทางอาญาเมื่อม้าเป็นสัตว์ไม่อาจกระทำความผิดทางอาญาได้ จะถือว่าม้าพยายามข่มขืนม้าตัวเมีย หรือม้าบุกรุกในเคหสถานหาได้ไม่ สัตว์ไม่อาจกระทำความผิดทางอาญาได้ จึงไม่ถือเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่จะก่อให้เกิดสิทธิ์ในการป้องกันได้ เมื่อม้าไม่ได้เข้ามาในสวน ไร่ นา ของผู้อื่นที่แต่งดินไว้ เพาะพันธ์พืชไว้ หรือมีพืชพันธ์หรือผลิตผลอยู่ ตาม ปอ มาตรา ๓๘๔,๓๘๕ และม้าก็ไม่ใช่สัตว์ ดุ สัตว์ร้ายตาม ปอ มาตรา ๓๗๗ ด้วย จึงจะถือว่าเจ้าของหรือผู้ควบคุมม้ากระทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๘๔,๓๘๕,๓๗๗ หาได้ไม่ แต่เจ้าของสัตว์อาจต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ถ้าความเสียหายเกิดจากสัตว์ตาม ปพพ มาตรา ๔๓๓ ได้
๕. สำคัญผิดในข้อเท็จจริง ปอ มาตรา ๖๒
ถ้าข้อเท็จจริงใดมีอยู่จริงว่า การกระทำนั้น ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงแต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด ได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี หากการไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากความประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับโทษแม้การกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทก็ตาม ผู้กระทำก็ต้องรับโทษฐานกระทำโดยประมาท เหล่านี้เป็นเหตุส่วนตัวเฉพาะผู้กระทำผิด ไม่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดอื่นเพราะไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดี หรือในกรณีที่บุคคลต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ปอ มาตรา ๖๒ วรรคท้าย เช่น ไม่รู้ว่าผู้ที่ตนฆ่าเป็นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานไม่ได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่รวมถึงจำเลยอื่นที่ทราบว่าผู้ตายเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยใดทราบว่าผู้ตายเป็นเจ้าพนักงานก็จะอาศัยเหตุของจำเลยอื่นที่ไม่รู้ว่าผู้ตายเป็นเจ้าพนักงานเพื่อให้ตนได้ประโยชน์ในการนี้หาได้ไม่
๖..กระทำความผิดแล้วกลับใจแก้ไข ไม่ให้การกระทำบรรลุผล ปอ มาตรา ๘๒
จำเลยคนใดพยายามกระทำความผิดแล้ว ยับยั้งเสียเองไม่การกระทำให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษในการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ตนได้กระทำการแล้วการกระทำนั้นไปต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้เป็นความผิดก็ต้องรับโทษในความผิดนั้น การยับยั้งหรือกลับใจแก้ไขการพยายามกระทำความผิดนี้ เป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่รวมถึงจำเลยอื่น เช่น รับจ้างฆ่าโดยตกลงจะไปตัดสายเบรครถของผู้ที่จะฆ่า แต่เห็นคนที่จะถูกฆ่าเดินอุ้มลูกมาเกิดความสงสารไม่อยากให้เด็กกำพร้าพ่อ เลยล้มล้างความคิดที่จะตัดสายเบรค หรือเมื่อตัดสายเบรครถไปแล้วเกิดความสงสารได้กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำบรรลุผลโดยต่อสายเบรคให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม ดังนี้ผู้พยายามกระทำความผิดไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงผู้ว่าจ้างฆ่า เพราะไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดี แม้ไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานพยายามฆ่า แต่การที่แอบเข้าไปในบ้านคนอื่นเพื่อตัดสายเบรกเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรอันเป็นความผิดฐานบุรุก จึงต้องรับโทษในความผิดฐานบุกรุกแม้ไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่าตาม ปอ มาตรา ๘๒,๒๘๙(๔)ก็ตาม
๗.ขัดขวางของผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้ประกาศ ผู้สนับสนุน ปอ มาตรา ๘๒
เหตุส่วนตัวที่เป็นเหตุลดโทษ
๑.ความเป็นญาติกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามปอ มาตรา ๗๑ วรรคสอง
ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา(ปอ มาตรา ๓๓๔) ลักทรัพย์มีเหตุฉกรรจ์(ปอ มาตรา ๓๓๕) วิ่งราวทรัพย์ที่ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายได้รับอันตรายแก่กาย ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ปอ มาตรา ๓๓๖วรรคแรก ฉ้อโกงทรัพย์ โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกธรรมดา ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๓,๓๖๔ หากเป็นการกระทำต่อบุพการี ผู้สืบสันดาน พี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน แม้ในความผิดดังกล่าวบางฐานเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่ ปอ มาตรา ๗๑ ก็ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ และศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ในความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เหล่านี้เป็นเหตุส่วนตัวที่อาศัยความสัมพันธ์ในทางสายโลหิต ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
๒.กระทำโดยบันดาลโทสะ ปอ มาตรา ๗๒
หากจำเลยกระทำความผิดโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม แม้เหตุนั้นอาจยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายก็ตาม เช่น การที่สามีบอกภรรยาว่ามีเมียน้อย วันนี้ไม่กลับบ้านขอไปนอนกับเมียน้อย และมีลูกกลับเมียน้อย อยู่บ้านนี้ก็เบื่อเพราะเมียขี้บ่น แก่ก็แก่ ชอบวุ่นวาย ทำตัวเหมือนเป็นแม่ ทำอาหารก็ไม่เป็น บ้านช่องก็สกปรก อยู่กลับเมียน้อยเมียน้อยก็สวยกว่า สาวกว่า แถมปรนนิบัติทุกอย่าง เงินก็ไม่ต้องให้เพราะเมียน้อยหาเงินได้เองผิดกับเมียหลวงที่เจอหน้าก็เอาแต่ขอสตางค์ เนื้อหนังหย่อนยาน ไม่รู้จักดูแลตัวเอง แต่งตัวเป็นยายเพิง เป็นผีบ้า พูดจาก็ไม่เพราะ เห็นหน้าแล้วหมดอารมรณ์ อารมณ์ดีมาจากที่ทำงานพอมาเจอหน้าก็หมดอารมณ์อารมณ์เสียทันที เมื่อมาขอเงินใช้ อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์แก่ง่ายตายก็ช้า เมื่อไหร่จะตายสักทีจะได้ไม่ต้องแบ่งสินสมรสกัน คำพูดเหล่านี้การกระทำเหล่านี้ แม้ยังไม่เป็นความผิดกฎหมายอาญาแต่ก็เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม หากภรรยาหลวงได้ทำร้ายทุบตีสามีในขณะนั้น แม้การกระทำจะเป็นความผิดแต่กฎหมายก็บัญญัติให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เป็นเหตุเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นที่เป็นเพื่อนที่เข้ามาช่วยทำร้าย
๓.เหตุบรรเทาโทษตาม ปอ มาตรา ๗๘
ความเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณงามความดีมาก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายของความผิด ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลในการพิจารณาหรือมีเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่าเป็นทำนองเดียวกัน ลักษณะดังนี้เกิดกับจำเลยคนใดก็เป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้นที่ศาลสามารถลดโทษให้กึ่งหนึ่งได้ตาม ปอ มาตรา ๗๘วรรคสอง ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นที่ร่วมกระทำผิดด้วย
๔.มึนเมาหรือวิกลจริต ปอ มาตรา ๖๕,๖๖
โดยหลักแล้วความมึนเมาเพราะเสพสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นยกมาเป็นข้อแก้ตัวแบบเดียวกับการกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั้นเฟือน เพื่อไม่ให้ต้องรับโทษหาได้ไม่ เว้นแต่ความมึนเมาเกิดเพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมาได้ หรือถูกขืนใจให้เสพ และกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ จึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่หากยังสามารถรู้ผิดชอบยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ทั้งข้อแก้ตัวเรื่องมึนเมาหรือกระทำผิดขณะวิกลจริตนั้นเป็นเหตุเฉพาะตัวไม่มีผลถึงจำเลยอื่น
๕.สำคัญผิดในข้อเท็จจริง ปอ มาตรา ๖๒
ถ้าข้อเท็จจริงใดมีอยู่จริงว่า การกระทำนั้น ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงแต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง ผู้กระทำย่อม ได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลงแล้วแต่กรณี หากการไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากความประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับโทษแม้การกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทก็ตาม ผู้กระทำก็ต้องรับโทษฐานกระทำโดยประมาท เหล่านี้เป็นเหตุส่วนตัวเฉพาะผู้กระทำผิด ไม่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดอื่นเพราะไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดี
๖.ขัดขวางของผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้ประกาศ ผู้สนับสนุน ปอ มาตรา ๘๒
เมื่อมีเจตนาที่จะกระทำผิดร่วมกัน บางคนอาจเป็นผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือ ผู้ประกาศให้ผู้อื่นกระทำผิด เช่น หาอาวุธมาให้ คอยชี้ช่องว่าจะมาดักทำร้ายได้ที่ไหน เวลาใด ว่าจ้างหรือใช้ให้มากระทำผิด แต่เมื่อผู้กระทำผิดกำลังจะกระทำผิด ก็เข้าขัดขวางเสียไม่ให้เกิดการกระทำผิดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะตัวของผู้ที่เข้าขัดขวางไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้น ไม่มีผลถึงจำเลยอื่นหรือจำเลยที่จะกระทำความผิด
เหตุในลักษณะคดี
เหตุในลักษณะคดีที่เป็นเหตุลดโทษ
๑.ความผิดไม่สำเร็จ ปอ มาตรา๘๐ คือ มีการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เป็นการพยายามกระทำความผิด ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๒.ความผิดไม่สามารถบรรลุได้อย่างแน่แท้ ปอ มาตรา ๘๑ คือมีการกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
กระทำการที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่เเท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น และหากการกระทำดังกล่าวเกิดจากความเชื่อที่งมงมายศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
เหตุในลักษณะคดีที่เป็นเหตุยกเว้นโทษ
๑.หมิ่นประมาทที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ปอ มาตรา ๓๓๐
คือข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นมีการพิสูจน์ว่าไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง ก็ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน เช่น พูดในหอประชุมกล่าวหาว่า นาย ท. ข้าราชการกระทรวงนี้ค้ายาเสพติด ข้อความนี้ เป็นการใส่ความนาย ท. ต่อหน้าบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้นาย ท. เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากผู้พบเห็นหรือได้ยินข้อความดังกล่าว..เป็นการหมิ่นประมาทนาย ท. แต่หากพิสูจน์ได้ว่าคำพูดนี้เป็นความจริง โดยการกล่าวหาว่าข้าราชการค้ายาเสพติดไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ว่านาย ท. ค้ายาเสพติดหรือไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเพราะการค้ายาเสพติดเป็นบ่อเกิดให้ประชาชนในชาติไม่มีคุณภาพ เป็นบ่อเกิดให้สามีภรรยาทะเลาะกันเนื่องจากเงินไม่พอใช้เพราะยาเสพติดมีราคาแพง ทั้ง เมื่อหาเงินไม่ได้ก็เกิดการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเพื่อนำไปซื้อยาเสพติด หรือเมื่อเสพยาเสพติดแล้วก็ไม่สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจตนเองได้ ยิ่งไปขับรถยิ่งก่ออันตรายแก่บุคคลอื่น หรือเมื่อเครียดมากๆสิ่งที่สะสมอยู่ในใจ สิ่งที่เก็บกดก็จะระเบิดออกมาพร้อมทำร้ายตนเองหรือบุคคลรอบข้างหรือจับบุคคลอื่นเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองบางอย่าง ดังนั้นการพิสูจน์ว่าข้าราชการคนนั้นค้ายาเสพติดหรือไม่จึงเป็นประโยชน์แก่ทางสาธารณะที่หากทางราชการได้รู้จะได้ดำเนินคดีทางอาญาและลงโทษทางวินัยต่อไป เป็นการป้องปรามอาชญากรรมอื่นที่จะเกิดขึ้น การพิสูจน์ได้ความดังกล่าวย่อมทำให้คำพูดที่หมิ่นประมาทไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย.เมื่อไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจึงเป็นเหตุในลักษณะคดีที่มีผลถึงจำเลยอื่นด้วย.........
๒.พยายามทำแท้งตาม ปอ มาตรา ๓๐๑, ๓๐๒วรรคแรก ทั้งนี้โดยผลของ ปอ มาตรา ๓๐๔
การพยายามทำให้ตนเองแท้งลูกหรือพยายามให้คนอื่นทำให้ตนเองแท้งลูก หรือพยายามทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงยินยอม ไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๓๐๔ คือเป็นความผิดตามกฎหมายแต่ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๓.พยายามกระทำความผิดลหุโทษ ปอ มาตรา ๑๐๕ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๔.ยับยั้งในการลงมือกระทำความผิด ปอ มาตรา ๘๒ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
๕.พวกของจำเลยเป็นคนปล่อยคนที่ถูกจับมาเรียกค่าไถ่ เป็นเหตุในลักษณะคดี จำเลยได้รับการลดโทษด้วย คำพิพากษาฏีกา ๒๒๗๗/๒๕๒๑ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีมีผลถึงจำเลยทุกคน
เหตุเฉพาะตัวในการกระทำความผิด
๑.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำผิดต้องเป็นข้าราชการ บุคคลที่ไม่เป็นข้าราชการที่ร่วมทำผิดด้วย ไม่ใช่ “ ตัวการร่วม” ในการกระทำความผิด แต่เป็น “ ผู้สนับสนุน” ในการกระทำความผิด
๑.๑จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานจดเปลี่ยนแปลงข้อความในใบสุทธิ์ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้จำเลยที่ ๓ นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชา เมื่อจำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดฐานเป็น “ผู้สนับสนุน” ในการกระทำความผิดเท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๔๐๗/๒๕๐๙
๑.๒จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสำรวจที่ดิน ได้ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและราษฏร์มาช่วย แล้วเรียกเงินจากราษฏร์อ้างเป็นค่าธรรมเนียม หากไม่ให้ก็ไม่รับทำให้ จำเลยอื่นเป็น “ผู้สนับสนุน” จำเลยที่ ๑ ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๖๕๗/๒๕๑๓
๑.๓จำเลยที่ ๗,๘,๙,๑๐ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน แม้จะร่วมกับจำเลยอื่นที่เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเงินตามโครงการ ก็เป็นเพียง” ผู้สนับสนุน” เท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๑๕๘๖/๒๕๓๐
๑.๔จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานที่จะทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ ๒ เป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” คำพิพากษาฏีกา ๙๓๖๘/๒๕๕๒
๑.๕จำเลยที่ ๒,๓ เป็นราษฏร์จึงเป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” จำเลยที่ ๑ ที่เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แม้ศาลยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะยังมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๓๔๖/๒๕๕๔ นั้นก็คือ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำผิดหรือไม่ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยอื่นเมื่อฟังได้ว่าร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานด้วย เมื่อตนเองไม่ใช่เจ้าพนักงานจึงเป็น “ ผู้สนับสนุน” การกระทำผิดของเจ้าพนักงาน นั้นก็คือ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เพราะมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ ๑ ทำผิดหรือไม่ การยกฟ้องนี้ไม่ใช่เหตุในลักษณะแห่งคดีที่จะมีผลถึงจำเลยอื่น แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ เช่น พยานไม่แน่ใจว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำผิดหรือไม่จึงไม่ชี้หรือยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำผิด ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วนจำเลยอื่นพยานยืนยันการกระทำผิดดังนี้ก็สามารถลงโทษจำเลยอื่นได้ แต่เมื่อไม่ใช่เจ้าพนักงานจึงลงโทษได้เพียงเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น
๒.ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตาม ปอ มาตรา ๓๐๑ หญิงมีครรถ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำผิดได้ บุคคลที่ไม่ได้มีครรถ์จึงเป็นได้เพียงผู้สนันสนุนในการกระทำความผิด ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ที่ ๖๔๔๓/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ พาหญิงมีครรถ์ไปทำแท้งโดยผู้เสียหายยินยอม และจำเลยที่ ๑ นั่งขวางประตูบ้าน เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนในการทำแท้งตาม ปอ มาตรา ๓๐๒วรรคแรก,๘๖
๓.ความผิดฐานเป็นผู้จัดการยักยอกทรัพย์
๓.๑ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย โอนหุ้นให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงเป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ ๑ กระทำผิด จำเลยที่ ๒ ที่ ๓จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ตาม ปอ มาตรา ๓๕๔,๘๖ คำพิพากษาฏีกา ๕๓๒/๒๕๕๓ นั้นก็คือ เมื่อไม่ใช่ผู้จัดการมรดก จึงไม่อาจกระทำความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๔ได้ เพราะองค์ประกอบของความผิดนี้คือ ผู้กระทำต้องเป็นผู้จัดการมรดก
๓.๒ผู้ยักยอกทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๒ ต้องครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น ส่วนความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๓ ต้องเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย ส่วนผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๔ ต้องเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยหรือนาย ว ครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น หรือเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด อันเป็นผู้สนับสนุนในกากรกระทำความผิด ปอ มาตรา ๖๘๗๐/๒๕๔๑ นั้นก็คือ เมื่อไม่ใช่ ผู้ครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น หรือเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวได้เพราะองค์ประกอบของความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวผู้กระทำผิดต้องเป็น ผู้ครอบครองทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้น หรือเป็นผู้ได้รับมอบให้จัดการทรัพย์สินแล้วทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ทำผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๒,๓๕๓ จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมแต่อย่างใด หากไม่ใช่บุคคลดังกล่าวแล้วก็ไม่อาจที่จะอยู่ในฐานะที่เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวได้

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

“ขยายลำคลอง ไม่ได้เวนคืน”

โครงการขุดลอกและพัฒนาลำน้ำ พ. โดยผู้ว่าราชการจังหวัด น. ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการขุดขยายความกว้างลำน้ำและสร้างคันดินเป็นถนนเลียบตลอดแนวสองฝั่งลำน้ำ มีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดี ไม่มีการเวนคืนที่ดิน หรือตกลงซื้อขายที่ดินจากผู้ฟ้องคดี ไม่ปรากฏสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายที่จะขุดลอกเอาที่ดินของผู้ฟ้องคดี โครงการขุดลอกที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการจงใจทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แม้จะได้มีการประชุมชี้แจงให้ราษฏร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคลองดังกล่าว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ปรากฏผู้ฟ้องคดีได้ทราบและยินยอมให้ขุดลอกลำคลองรุกล้ำแต่อย่างใด แม้ภายหลังปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและราษฏร์จะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว โดยสามารถทำนาและปลูกพืชโดยได้รับผลผลิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากกากรขุดลอกคลองก็ตาม รวมทั้งสามารถปลูกพืชประเภทอื่นหลังทำนาได้ เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างสมบรูณ์ก็ตาม แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ก็หาใช่เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำประโยชน์ส่วนนี้มากล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
การที่ฟ้องขอให้ชดใช้ราคาที่ดินที่ถูกขุดลอกและรุกล้ำที่ดิน เป็นกรณีที่เจ้าของติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งสามารถฟ้องศาลได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา และถือเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องคดี จึงไม่มีกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี จึงยังไม่ครบระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ คำพิพากษาปกครองสูงสุด ที่ อ. ๑๔๖๔/๒๕๕๘
ข้อสังเกต๑.เมื่อรัฐมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใดๆเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือในการป้องกันประเทศหรือได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตร การอุตสาหกรรมหรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนโดยออกเป็นพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินที่ต้องเวนคืน โดยระบุถึงความประสงค์ในการเวนคืน เจ้าหน้าที่เวนคืน ที่ดินที่จะเวนคืน พร้อมแสดงแผ่นที่สังเขปบริเวณที่จะทำการเวนคืน โดยพระราชกฤษฏีกาดังกล่าวใช้บังคับได้ใน ๒ ปีหรือตามกำหนดเวลาที่พระราชกฤษฏีกานั้นกำหนดไว้แต่ต้องไม่เกิน ๔ ปีแล้วแต่ความจำเป็นในการสำรวจที่ดินที่ต้องเวนคืน มาตรา๕,๖, พรบ ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ และต้องมีการติดประกาศสำเนาพระราชกฤษฏีกาดังกล่าว ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ สนง. เขต ที่ทำการแขวง ศาลากลาง ที่ทำการตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน สนง.ที่ดินจังหวัด สนง.ที่ดินอำเภอในท้องที่ที่จะมีการเวนคืน โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน หากตกลงกันได้ให้จ่ายค่าทดแทนให้จ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภายใน ๑๒๐ วันนับแต่วันทำสัญญา หากตกลงกันไม่ได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฏหมายสามารถขอรับเงินค่าทดแทนในราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดพร้อมสงวนสิทธิ์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ตาม, พรบ ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา ๑๐,๑๑,๑๙ หรือ หากไม่พอใจในค่าทดแทน สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับค่าทดแทน ตาม, พรบ ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา ๒๕ หากไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีไม่ได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปในเวลา๖๐ วันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ ให้ฟ้องศาลได้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากรัฐมนตรีหรือนับแต่พ้นกำหนดเวลา ๖๐ วันดังกล่าว แล้วแต่กรณี, พรบ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ตาม มาตรา ๒๖
๒โครงการขุดลอกและพัฒนาลำน้ำ พ. โดยผู้ว่าราชการจังหวัด น. ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการขุดขยายความกว้างลำน้ำและสร้างคันดินเป็นถนนเลียบตลอดแนวสองฝั่งลำน้ำ เมื่อไม่ได้ออกเป็น, พระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ การเข้าขุดและขยายพื้นที่ลำน้ำรุกล้ำในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ การกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์บางส่วน อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีอันเป็นปกติสุข เป็นความผิดฐานบุกรุก ตาม ปอ มาตรา ๓๖๒
๓.เมื่อมีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ได้ออกเป็นพระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการเวรคืน ไม่มีการเวนคืนที่ดิน หรือตกลงซื้อขายที่ดินจากผู้ฟ้องคดี จึงไม่ปรากฏสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายที่จะขุดลอกเอาที่ดินของผู้ฟ้องคดี โครงการขุดลอกที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการจงใจทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิ์อันมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายตาม ปพพ มาตรา ๔๒๑ เป็นการกระทำโดยจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำละเมิดตาม ปพพ มาตรา ๔๒๐ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค จึงเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามความหมายใน พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา ๔ จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๕ พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตาม มาตรา ๕พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นการกระทำการในหน้าที่ แต่หากไม่ใช่เป็นการกระทำการในหน้าที่แล้วสามารถฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่ฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ตามมาตรา ๖พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
๔. แม้จะได้มีการประชุมชี้แจงให้ราษฏร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคลองดังกล่าว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ปรากฏผู้ฟ้องคดีได้ทราบและยินยอมให้ขุดลอกลำคลองรุกล้ำแต่อย่างใด เพราะไม่มีการออกเป็นพระราชกฤษฏีกา กำหนดเขตที่ดินที่ต้องเวนคืน ไม่มี การติดประกาศสำเนาพระราชกฤษฏีกาดังกล่าว ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ สนง. เขต ที่ทำการแขวง ศาลากลาง ที่ทำการตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน สนง.ที่ดินจังหวัด สนง.ที่ดินอำเภอในท้องที่ที่จะมีการเวนคืน ไม่มีการตกลงซื้อขายและกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน
๕.แม้ภายหลังปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและราษฏร์จะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว โดยสามารถทำนาและปลูกพืชโดยได้รับผลผลิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากกากรขุดลอกคลองก็ตาม รวมทั้งสามารถปลูกพืชประเภทอื่นหลังทำนาได้ เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างสมบรูณ์ก็ตาม แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ก็หาใช่เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำประโยชน์ส่วนนี้มากล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฏหมายในการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ นั้นก็คือ แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้ประโยชน์จาการขยายลำคลองก็เป็นคนละส่วนกับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดรุกล้ำผู้ฟ้องคดีหรือไม่อย่างไร
๖. หรือแม้จะได้มีการประชุมชี้แจงให้ราษฏร์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขุดลอกคลองดังกล่าว แต่เมื่อไม่ปรากฏผู้ฟ้องคดีได้ทราบและยินยอมให้ขุดลอกลำคลองรุกล้ำแต่อย่างใด หรือแม้จะทราบว่ามีโครงการดังกล่าว แต่หากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมให้ทำการขุดลอกที่ดินในที่ของตนเองแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการดังกล่าวได้
๗.การที่ฟ้องขอให้ชดใช้ราคาที่ดินที่ถูกขุดลอกและรุกล้ำที่ดิน เป็นกรณีที่เจ้าของติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งสามารถฟ้องศาลได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา และถือเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องคดี จึงไม่มีกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี จึงยังไม่ครบระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ จะมาถือเอาอายุความตาม ปพพ มาตรา ๔๔๘ หรือตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิด ฯ มาตรา ๑๐ มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้

“วิวาทหรือป้องกัน”

๑.ผู้เสียหายกับพวกรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า ๑ นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายและพวกรุมทำร้าย ลักษณะเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายกับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผล จึงยิงจนหมดกระสุนโดยยิงทีละนัดจนหมดลูกโม่ จำเลยพยายามยิงลงพื้นดินในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายกับพวก บาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับอยู่ในระดับต่ำกว่าเอวลงมา คงมีเพียงผู้เสียหายที่ ๓ ที่มีแผลทางแผ่นหลังเมื่อนอนมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายกับพวกได้รับอันตรายถึงชีวิต ฟังได้ว่าไม่ได้มีเจตนาฆ่า ที่ฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า โดยไม่ได้บรรยายผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน เมื่อฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาฆ่า จะลงโทษจำเลยตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘) ไม่ได้ ศาลลงโทษได้เพียง ปอ มาตรา ๒๙๕
จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของตนที่จอดทิ้งไว้ ไม่ได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะ วิวาทกับผู้เสียหายกับพวก การที่ผู้เสียหายที่ ๑ กับพวก เข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ต้องหลบหนี แต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการถูกรุมทำร้ายของผู้เสียหายกับพวก ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายกับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ การที่จำเลยใช้ปืนที่มีอนุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายกับพวกจนหมดลูกโม้จำนวน ๖ นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนและผู้อื่นเกินควรแก่เหตุตาม ปอ มาตรา ๖๙ การที่จำเลยมีปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพรบ.อาวุธปืนฯ เมื่อจำเลยพาติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเหตุอันควรที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามพฤติการณ์ จึงเป็นความผิดตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ทวิวรรคหนึ่งอีกกรรมแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน คำพิพากษาฏีกา ๑๓๓๖/๒๕๕๓
๒.ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเริ่มต้นด่าจำเลยก่อน แม้จำเลยโต้เถียงจนกลายเป็นทะเลาะกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคำพูดที่เป็นการท้าทายให้ต่อสู้กัน ผู้เสียหายเดินไปหาจำเลยแล้วลงมือทำร้ายจำเลยก่อน จำเลยหยิบมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหาย ย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนให้พ้นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฏหมายและใกล้จะถึง แต่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยด้วยมือเปล่า และต่างเป็นผู้หญิงด้วยกัน น่าจะทำร้ายกันไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพียงจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงสักครั้งก็น่าจะหยุดยั้งผู้เสียหายได้แล้ว การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง แทงโดยแรงลึกถึงตับ ม้าม ลำไส้ใหญ่ เป็นการป้องกันเกินสิทธิ์ของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๘๘,๘๐,๖๙ คำพิพากษาฏีกา ๔๒๔/๒๕๕๓
๓.ผู้ตายเข้ามาลักลอบตัดฟันต้นข้าวโพดมารดาจำเลยในเวลากลางคืน จำเลยซึ่งอาศัยอยู่กับมารดาพบเห็น ย่อมมีสิทธิ์กระทำการเพื่อป้องกันสิทธิ์ในทรัพย์สินมารดาจำเลยได้ แต่ขณะที่จำเลยยิงผู้ตายนั้นปรากฏว่า ผู้ตายถือมีดอยู่ห่าง ๒ วายังไม่พร้อมในลักษณะฟันทำร้ายจำเลย จำเลยยังมีทางหลบหลีกและยิงขู่ผู้ตายได้ เมื่อผู้ตายรู้ว่าจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนย่อมอาศัยความมืดหลบหนี การที่จำเลยด่วนยิงผู้ตายจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกาที่ ๒๗๑๗/๒๕๒๘
๔ การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หากภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึงเสียแล้วย่อมไม่อาจกระทำการเพื่อป้องกันได้ แม้ผู้ตายกับผู้เสียหายจะกระทำการประทุษร้ายกระชากคอเสื้อ ส. และข่มขู่ท้าทายให้ชกต่อยอันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายและไม่มีอำนาจก็ตาม แต่เมื่อจำเลยสมัครใจเข้าวิวาท จำเลยก็ไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าจำต้องแทงทำร้ายผู้ตายกับผู้เสียหายเพื่อป้องกันสิทธิ์ของ ส. หรือจำเลย ที่ศาลล่างวินิจฉัยต้องกันมา และพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยถือว่าการกระทำของจำเลยเพื่อป่องกันสิทธิ์ของ ส ในขณะที่ภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึง เป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ปอ มาตรา ๖๙ เป็นการไม่ชอบ แม้การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฏีกา ศาลฏีกาจึงปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่มีอำนาจแก้โทษจำเลยเพื่อกำหนดโทษใหม่ตามความผิดที่ถูกต้องและลงโทษเกินกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้ได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๑๒ ,๒๒๕ .คำพิพากษาฏีกา๑๙๘๓/๒๕๔๔
ข้อสังเกต ๑.การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายต้องเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หากกระทำพอสมควรแก่เหตุ ผู้นั้นไม่มีความผิด ปอ มาตรา ๖๘ หากกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หากการกระทำดังกล่าวเกิดจากการตื่นเต้น ตกใจกลัว ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้ ปอ มาตรา ๖๙
๒.การพิจารณาว่าการกระทำได้พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ให้พิจารณาจากภยันตรายที่เกิดจากการละเมิดกฎหมายและใกล้จะถึงกับวิธีการป้องกันนั้นเป็นวิถีทางน้อยที่สุดหรือไม่ การกระทำดังกล่าวได้สัดส่วนกันหรือไม่ การที่คนร้ายมาลักทรัพย์และกำลังขึ้นรถพาเอาทรัพย์ไป การที่ยิงคนร้ายถือเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะกระทำเพราะหากไม่ยิง คนร้ายคงพาทรัพย์ไปได้ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้สัดส่วนเพราะชีวิตเทียบกับทรัพย์สินไม่ได้ หรือกรณีใช้มีดกับมีด ไม้กับมีด มีดกับปืน ปืนกับปืนถือได้สัดส่วนกันเพราะอาวุธดังกล่าวอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ แต่หากเป็นมือเปล่ากับปืนถือไม่ได้สัดส่วนกัน การที่จะเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ การป้องกันนั้นต้องเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่พึงกระทำและต้องได้สัดส่วนกันด้วย
๓การที่.ผู้เสียหายกับพวกรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยจึงใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า ๑ นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายและพวกรุมทำร้าย ลักษณะเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายกับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผล จึงยิงจนหมดกระสุนโดยยิงทีละนัดจนหมดลูกโม้ การยิงปืนขึ้นฟ้าหรือการยิงปืนลงดิน เป็นการกระทำที่เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่พึงกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายที่เกิดจากการถูกรุมทำร้าย แต่เมื่อยิงจนหมดกระสุนก็เป็นการกระทำที่เกินสัดส่วนเพราะไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับพวกมีอาวุธอะไรหรือไม่อย่างไร และได้ใช้อาวุธนั้นทำร้ายจำเลยกับพวกอย่างไร แม้จำเลยถูกรุม ขนาดยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าลงดิน ผู้เสียหายกับพวกยังไม่กลัวยังตรงเข้าทำร้ายก็ตาม อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยหลักเมื่อมีการยิงไปที่บุคคลย่อมถือมีเจตนาฆ่า แต่ในกรณีนี้ การที่จำเลยพยายามยิงลงพื้นดินในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญ ของผู้เสียหายกับพวกบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับอยู่ในระดับต่ำกว่าเอวลงมา คงมีเพียงผู้เสียหายที่ ๓ ที่มีแผลทางแผ่นหลังเมื่อนอนมอบลงแล้ว แสดงว่า แสดงว่าจำเลยไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายกับพวกได้รับอันตรายถึงชีวิต ฟังได้ว่าไม่ได้มีเจตนาฆ่า คงฟังได้เพียงมีเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น
๔. เมื่อฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า โดยไม่ได้บรรยายผู้เสียหายทั้งสี่ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บจนทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วันจะถือว่าถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บจนเป็นอันตรายสาหัสไม่ได้ เมื่อฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาฆ่าแล้วก็จะลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘) ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้บรรยายมาในฟ้องและก็ไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลลงโทษฐานนี้ด้วย ศาลลงโทษได้เพียงฐานทำร้ายร่างกายตาม ปอ มาตรา ๒๙๕ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ลงโทษและเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก
๕.การที่จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของตนที่จอดทิ้งไว้ ไม่ได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะ วิวาทกับผู้เสียหายกับพวก การที่ผู้เสียหายที่ ๑ กับพวก เข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ต้องหลบหนี แต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการถูกรุมทำร้ายของผู้เสียหายกับพวก ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายกับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้ การที่จำเลยใช้ปืนที่มีอนุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายกับพวกจนหมดลูกโม้จำนวน ๖ นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนและผู้อื่นเกินควรแก่เหตุตาม ปอ มาตรา ๖๙ การที่จำเลยมีปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพรบ.อาวุธปืนฯ เมื่อจำเลยพาติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเหตุอันควรที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามพฤติการณ์ จึงเป็นความผิดฐานมีและใช้อาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันควร ตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๗,๘ทวิวรรคหนึ่งอีกกรรมแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงทุกกรรม
๖การที่.ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเริ่มต้นด่าจำเลยก่อน อันเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า อันเป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย แม้จำเลยโต้เถียงจนกลายเป็นทะเลาะกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคำพูดที่เป็นการท้าทายให้ต่อสู้กัน เพียงแค่คำพูดยังไม่ถึงกับเป็นภยันตรายที่ละเมิดกฏหมายที่อีกฝ่ายต้องตอบโต้ด้วยการทำร้าย การตอบโต้ด้วยการทำร้ายเป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนกับการถูกด่า การที่ ผู้เสียหายเดินไปหาจำเลยแล้วลงมือทำร้ายจำเลยก่อน จึงเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภยันตรายอันละเมิดกฏหมาย เมื่อจำเลยหยิบมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหาย ย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนให้พ้นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฏหมายและใกล้จะถึง แต่การที่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยด้วยมือเปล่า และต่างเป็นผู้หญิงด้วยกัน น่าจะทำร้ายกันไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพียงจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงสักครั้งก็น่าจะหยุดยั้งผู้เสียหายได้แล้ว การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง แทงโดยแรงลึกถึงตับ ม้าม ลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างมือเปล่ากับมีด ทั้งเป็นการแทงหลายครั้งที่อวัยวะสำคัญที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสิทธิ์ของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตาม ปอ มาตรา ๒๘๘,๘๐,๖๙ ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
๗การที่.ผู้ตายเข้ามาลักลอบตัดฟันต้นข้าวโพดมารดาจำเลยในเวลากลางคืน แม้เป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมายเป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ จำเลยซึ่งอาศัยอยู่กับมารดาพบเห็น ย่อมมีสิทธิ์กระทำการเพื่อป้องกันสิทธิ์ในทรัพย์สินมารดาจำเลยได้ แต่ขณะที่จำเลยยิงผู้ตายนั้นปรากฏว่า ผู้ตายถือมีดอยู่ห่าง ๒ วายังไม่พร้อมในลักษณะฟันทำร้ายจำเลย จำเลยยังมีทางหลบหลีกและยิงขู่ผู้ตายได้ เมื่อผู้ตายรู้ว่าจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนย่อมอาศัยความมืดหลบหนี การที่จำเลยด่วนยิงผู้ตายแม้เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะห้ามไม่ให้ผู้ตายตัดฟันข้าวโพดของมารดาตนก็ตาม ส่วนมีดกับปืนดูแล้วเหมือนได้สัดส่วนกันก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ตายจะใช้อาวุธมีดเข้าทำร้ายจำเลยอย่างไร การที่อยู่ห่างกันถึง ๒ วาก็ยังไม่เป็นการแน่ว่าจะสามารถใช้มีดทำร้ายผู้เสียหายได้หรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
๘. การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หากภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึงเสียแล้วย่อมไม่อาจกระทำการเพื่อป้องกันได้ แม้ผู้ตายกับผู้เสียหายจะกระทำการประทุษร้ายกระชากคอเสื้อ ส. และข่มขู่ท้าทายให้ชกต่อยอันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายและไม่มีอำนาจก็ตาม แต่เมื่อจำเลยสมัครใจเข้าวิวาท ถือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เมื่อต่างฝ่ายสมัครใจวิวาทกันจะอ้างว่าเป็นภยันตรายที่ละเมิดกฎหมายที่จะถูกทำร้ายร่างกายจากอีกฝ่ายย่อมไม่อาจอ้างได้ จำเลยจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าจำต้องแทงทำร้ายผู้ตายกับผู้เสียหายเพื่อป้องกันสิทธิ์ของ ส. หรือจำเลย การกระทำของจำเลยไม่ใช่การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
๙. ที่ศาลล่างวินิจฉัยต้องกันมา และพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยถือว่าการกระทำของจำเลยเพื่อป้องกันสิทธิ์ของ ส ในขณะที่ภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึง เป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ปอ มาตรา ๖๙ นั้นเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การป้องกัน แม้การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฏีกา คำพิพากษาจึงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่าง ศาลฏีกาจึงได้แค่ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่มีอำนาจแก้โทษจำเลยเพื่อกำหนดโทษใหม่ตามความผิดที่ถูกต้องและลงโทษเกินกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้ได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๑๒ ,๒๒๕ ที่ห้ามศาลฏีกาพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษ
๑๐.ข้อน่าคิดชวนสังเกต
๑๐.๑กรณีที่ฟังว่ายิงขึ้นฟ้าเป็นการยิงขู่ ยิงลงดินเพื่อเป็นการเตือน นักกฏหมายบางท่านอาจมองว่าจำเลยไม่กล้ายิงก็ได้เลยยิงขึ้นฟ้าและลงดิน หรือเกิดจากวิธีการใช้ปืนไม่ถูกต้องกระสุนปืนจึงขึ้นฟ้าหรือลงดิน
๑๐.๒.การที่วินิจฉัยว่า ยิงหมดกระสุนโดย ยิงที่ละนัดนั้นเห็นว่า เมื่อเป็นปืนลูกโม้ไม่สามารถยิงติดต่อกันแบบออโตเมตริกได้ เมื่อเป็นปืนลูกโม้ไม่สามารถยิงติดต่อเนื่องกันได้ การที่วินิจฉัยว่ายิงทีละนัดคงไม่ถูกต้อง
๑๐.๓.หากจะฟังว่าจำเลยพยายามยิงลงพื้นดินในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญ ซึ่งความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น ที่ยิงลงต่ำหรือยิงลงบนพื้นดินเพราะยิงไม่แม่น เหนียวไกลปืนแรงไปปืนกระตุกทำให้ลูกปืนลงพื้นดิน ลมหายใจก็ดี การเหนียวไกลปืนแรงไปก็ดี การอยู่ในภาวะตกใจก็ดีเหล่านี้มีผลกระทบในการยิงปืนทั้งสิ้น แทนที่จะยิงถูกเป้า กลายเป็น กระสุนอาจขึ้นฟ้าหรือลงดิน “กรรมหรือการกระทำ”ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมอื่นเท่านั้นที่เป็นเครื่องชี้เจตนาว่ามีเจตนายิงคนหรือมีเจตนายิงลงต่ำหรือยิงขึ้นฟ้า หากศาลไม่ฟังว่าจำเลยพยายามยิงลงพื้นดินในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญ แต่มีเจตนายิงคน แต่ยิงไม่แม่นกระสุนปืนลงดินหรือขึ้นฟ้า ผลเป็นอย่างไร? ผลของการวินิจฉัยย่อมเปลี่ยนไป จึงอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ตัดสินที่จะเชื่อว่ามีเจตนายิงคน หรือมีเจตนายิงลงดินหรือมีเจตนายิงขึ้นฟ้า
๑๐.๔.จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของตนที่จอดทิ้งไว้ ไม่ได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะ หากการกลับมานั้น เป็นการขับรถไล่ตามกันมา การที่จอดรถขว้างด้านหน้าและด้านหลังแล้วลงมาจากรถเข้ามาหาโดยลงมาจากรถหลายคน กรณีนี้ผลอาจต่างจากการกลับมาเพื่อมาเอารถจักรยานยนต์ตามคำพิพากษาฏีกาข้างต้น
๑๐.๕.สังเกตุจากแนวคำพิพากษาฏีกา การเดินเข้าไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลมองว่ามีเจตนาพร้อมที่จะทะเลาะวิวาท เดินเข้าไปหาเพื่อหาเรื่อง เสียมากกว่าเดินเข้าไปเพื่อไปปรับความเข้าใจหรือขอโทษ ดังนั้น การอยู่กลับที่น่าที่จะปลอดภัยมากกว่า
๑๐.๖ถูกทำร้ายด้วยมือแต่ใช้มีดแม้เป็นหนทางน้อยที่สุดที่จะกระทำเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่างมือเปล่ากับมีด แทงหลายครั้งส่อเจตนาฆ่า มีโอกาสเลือกแทงที่ไม่สำคัญได้แต่จะไม่แทงจะแทงแต่อวัยวะสำคัญที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ส่อมีเจตนาฆ่า .การที่เดินเข้าไปหา ศาลมองว่ามีเจตนา “ สมัครใจทะเลาะวิวาท” เสียมากกว่า หากไม่มีเจตนาทะเลาะวิวาท อภัยกันได้ ก็อภัยไป ผ่านไปได้ก็ผ่านไป แล้วไปแล้วก็ให้แล้วไป ยอมถอย ๑ ก้าว เรื่องใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก ยอมถอยอีกก้าวเรื่องเล็กก็หมดไป ถือว่าเรื่องมันผ่านไปแล้ว แต่การเดินเข้าไปหาก็คงไม่เดินเข้าไปหาเพื่อขอโทษ การเดินเข้าไปหาไม่ใช่เป็นการแสดงว่าจะเข้าไปปรับความเข้าใจ หรือเข้าไปสอบถาม แต่มีแนวโน้มว่ามีเจตนาเข้าไปหาเรื่องหรือมีเจตนาพร้อมที่จะทะเลาะวิวาท.เมื่อมีกรณีพิพาทกันก่อน การที่คู่กรณีเดินเข้ามาหามันส่อเจตนาเดินเข้ามาหาเรื่องหรือพร้อมที่จะมีเรื่องมากกว่า การเดินเข้ามาไม่ได้ส่อเจตนาว่าจะเคยมาคุย เข้ามาเคลียร์ เข้ามาปรับความเข้าใจ แต่คาดหมายได้ว่ามีเจตนาเข้ามาทำร้ายเสียมากกว่า ยิ่งพวกที่เดินเข้ามาหามีจำนวนมากกว่าผู้ที่ถูกเดินเข้ามาหาย่อมต้องมีการระวังตัวผู้ที่เดินเข้ามาหาเป็นปกติธรรมดา ดังนั้น การอยู่กับที่ย่อมปลอดภัยกว่า การที่เดินออกจากที่ตั้งที่เคยอยู่เข้าไปหาคู่กรณีที่เดินเข้ามาหา หรือการเปิดประตูรถออกไปหาคู่กรณีที่เดินเข้ามาหา แสดงว่าพร้อมที่จะโต้เถียงพร้อมที่จะวิวาท พร้อมที่จะต่อสู้ ดังนั้นใครอยู่กับที่ย่อมได้เปรียบในเชิงกฎหมาย มีสุภาษิตอยู่ว่า “การป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือการหนี หนีได้ให้หนี หนีไม่ได้หรือไม่มีทางหนีจึงสู้ สู้ได้ แต่อย่าเจ็บ เจ็บได้แต่อย่าติดคุด ติดคุกได้แต่อย่าตาย” และ “ เมื่อรู้ว่าเสียเปรียบก็อย่าสู้”
๑๐.๗ส่วนกรณีที่มีคน.มาลักลอบตัดข้าวโพด กระทำผิดในเวลากลางคืนที่มืด ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ามากันกี่คน มีอาวุธติดตัวมาด้วยหรือไม่หรือมาด้วยมือเปล่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องร้องห้ามก่อน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของตน ตนไม่ได้เป็นผู้เริ่มกระทำการอันละเมิดต่อกฎหมายก่อนแต่อย่างใด ไม่ทราบอีกฝ่ายมากันกี่คนมีอาวุธติดตัวมาด้วยหรือไม่ การที่จำเลยมาคนเดียวอาจถูกทำร้ายได้เพราะวิสัยคนที่มากระทำผิดกฏหมายตอนกลางคืนมักไม่มาคนเดียวหรือมาคนเดียวก็มักมีอาวุธติดตัวมาด้วยเสมอ การมาลักลอบตัดฟันข้าวโพดตอนกลางคืนเพื่อทำการลักทรัพย์ หรือมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ ด้วยความคะนอง หรือต้องการแกล้งจำเลยหรือมารดาจำเลยก็ตาม ก็เป็นการกระทำที่เป็นภยันตรายที่ละเมิดกฎหมาย ที่บุตรสามารถทำการ ป้องกันสิทธิ์คนอื่นคือมารดาของตนที่ถูกการกระทำของผู้เสียหายที่ละเมิดกฎหมายได้
๑๐.๘มีดกับปืนถือได้สัดส่วนกันเพราะสามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ แต่การที่ยืนห่างออกไป ๒ วา ยังไกลเกินกว่าที่จะสามารถทำร้ายได้ หากจะใช้วิธีการขว้างมีดก็ทำได้ครั้งเดียว หากขว้างแล้วไม่ถูกก็อาจถูกตอบโต้จากปืนที่สามารถยิงได้หลายนัด
๑๐.๙การกระทำต่อทรัพย์ เช่นลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ แล้วมากระทำการป้องกันโดยยิงให้ตาย ย่อมไม่ได้สัดส่วนกัน เพราะชีวิตย่อมมีค่ามากกว่าทรัพย์สิน

“ราคาต่ำกว่าในท้องตลาด ซื้อขายเวลากลางคืน”

จำเลยได้รับการติดต่อเสนอขายรถที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานฉ้อโกงโดยใช้อุบายหลอกลวงขอเช่ารถ แล้วนำไปขาย นาย ม. และพวก หลอกเช่ารถจากนาย จ. ซึ่ง ส.ต.อ. ป นำมาฝากให้เช่าเพื่อนำไปขายต่อ นาย ม. โทรศัพท์ติดต่อจำเลยเพื่อเสนอขายรถให้จำเลย นัดดูรถที่สถานีบริการน้ำมันที่เกิดเหตุ จำเลยเบิกความว่า นาย ม. เสนอขายรถกระบะโตโยต้า ยี่ฮ้อวีโก้ ปี ๒๐๐๘ ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาท นัดดูรถที่สถานีน้ำมันบางจาก สายเลี่ยงเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เห็นได้ว่า จำเลยมีอาชีพรับซื้อขายรถมือสอง การได้รับแจ้งเพื่อเสนอขายรถที่มีอายุการใช้งานไม่ถึงปี ในราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาด และนัดดูรถในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ทำการซื้อขายรถโดยทั่วไปและเป็นเวลาวิกาล เป็นเรื่องผิดปกติ สำหรับผู้มีอาชีพซื้อรถมือสอง พฤติการณ์ติดต่อเสนอขายแบบเร่งรีบ นัดส่งมอบกันในยามวิกาลซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของทั้งสองฝ่าย น่าเชื่อว่าจำเลยทราบว่ารถคันนี้ได้มาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง รถคันดังกล่าวใช้งานมาได้ไม่กี่เดือน สภาพยังใหม่มีราคาไม่ต่ำกว่า ๖๐๐,๐๐๐ บาท ตามราคาอ้างอิงรถมือสอง จำเลยที่มีอาชีพค้าขายรถมือสองย่อมต้องทราบดีว่า ราคาดังกล่าวผิดปกติเพราะราคาต่ำกว่าในท้องตลาดมาก แต่กลับมาดูรถในสถานที่ห่างไกลที่พักจำเลย ทั้งเป็นเวลากลางคืน หากเป็นการซื้อขายกันอย่างปกติ จำเลยที่มีอาชีพเกี่ยวการซื้อขายรถ ไม่มีเหตุต้องนัดเจอกันในเวลาและสถานที่ดังกล่าว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบที่มาที่ไปของรถว่าได้มาอย่างไร กรณีดังกล่าวได้มีการซื้อขายตกลงกันมาแต่ต้นแล้ว หาใช่เพียงนัดเพื่อมาดูรถดังที่จำเลยอ้างไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจะกลับบ้านที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงแวะดูเพราะเป็นทางผ่าน ก็ไม่มีเหตุผลน่ารับฟัง เพราะบ้านจำเลยมีระยะไกลเช่นนั้น ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางในเวลากลางคืน การที่จำเลยและภรรยาถือเงินมาด้วยจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท น่าเชื่อว่าเตรียมมาเพื่อซื้อขายรถ ข้ออ้างว่ารถดังกล่าวไม่ใช่รถรุ่นที่จำเลยต้องการ จำเลยมีอาชีพซื้อขายรถย่อมต้องการกำไรจากส่วนต่างของรถ รถคันดังกล่าวมีราคาส่วนต่างมาก ข้ออ้างจำเลยที่ว่าจะไม่ซื้อจึงเป็นเพียงเงื่อนไขต่อรองราคามากกว่า เชื่อว่าจำเลยได้มีการต่อรองราคาและซื้อขายรถคันดังกล่าวกับนาย ม กับพวก มาก่อน แล้วส่งมอบรถกัน โดยขณะเกิดเหตุยังไม่มีการจ่ายเงินหรือส่งมอบรถ เจ้าพนักงานจับกุมพวกจำเลยได้ ส่วนจำเลยที่เคยรับราชการเป็นตำรวจมาก่อนย่อมไหวตัวทัน จึงรีบวิ่งกลับขึ้นรถแล้วพยายามหลบหนี แต่ถูกจับกุมเสียก่อน จำเลยได้มีการตกลงซื้อขายรถคันดังกล่าวอันได้มาจากการกระทำผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แต่กระทำการไม่ตลอด เป็นความผิดฐานพยายามรับของโจร ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฏีกา พิพากษากลับให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น(ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตาม ปอ มาตรา ๓๕๗วรรคแรก,๘๐ จำคุก ๓ ปี คืนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทแก่เจ้าของ คำขอและข้อหาอื่นให้ยก คำพิพากษาฏีกา ๕๑๗๙/๒๕๕๘
ข้อสังเกต ๑. เมื่อมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก เจ้าพนักงานยักยอก แล้วมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่นใดซึ่งทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำผิดดังกล่าว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร
๒. การใช้อุบายหลอกลวงขอเช่ารถโดยในใจจริงไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถคันดังกล่าวแต่เป็นกลอุบายในการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความจริงอันเป็นเท็จว่า จะขอเช่ารถเช่าเพื่อนำไปใช้ซึ่งในใจจริงไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถไปเพื่อนำไปใช้ แต่มีเจตนาที่จะนำรถจากผู้ให้เช่าเพื่อไปขายต่อ อันเป็นการกระทำการโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยใช้อุบายหลอกลวงว่าจะขอเช่ารถนำไปใช้ จนผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อยอมมอบรถให้แก่ผู้เช่าไป แล้วผู้เช่านำไปขาย อันเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงโดยใช้อุบายหลอกลวง ตาม ปอ มาตรา ๓๔๑ การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดสัญญาเช่าทรัพย์ในทางแพ่ง เพราะไม่มีเจตนาที่จะเช่ากันจริงๆ เพียงแต่เป็นแผนการในการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความจริงอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถ แต่ความจริงแล้วไม่มีเจตนาเช่ารถ แต่มีเจตนานำรถที่เช่าไปขายและโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งรถที่เช่า จึงเป็นการกระทำผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง หาใช่ความรับผิดทางแพ่งเรื่องเช่าทรัพย์แต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เรื่องการครอบครองรถที่เช่าแล้วเบียดบังเอารถคันดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยเจตนาทุจริตอันป็นความผิดฐานยักยอกแต่อย่างใดไม่ เพราะการมอบทรัพย์ที่ให้เช่าไปอยู่ในความครอบครองของผู้เช่าเป็นเพราะหลงเชื่อในกลอุบายที่ทำขึ้นมาว่าต้องการเช่ารถ ทั้งๆที่ในใจจริงไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถกันจริงๆแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ใช่เรื่องที่มอบรถให้เช่าตามสัญญาเช่าแล้วมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยเจตนาทุจริตในภายหลังอันจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์แต่อย่างใดไม่
๓. พฤติการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าการรับซื้อรถโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาคือ
๓.๑จำเลยมีอาชีพซื้อขายรถมือสองย่อมน่าทราบราคารถรุ่นนี้ว่ามีราคาเท่าใด รถใช้งานไม่ถึงปีราคาซื้อขายในท้องตลาด ราคาไม่ต่ำกว่า ๖๐๐,๐๐๐บาท(ตามราคาอ้างอิงรถมือสอง) แต่มาซื้อขายในราคา ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าในท้องตลาดมากเกินครึ่ง(ครึ่งหนึ่ง๓๐๐,๐๐๐บาท)
๓.๒ การนัดดูรถที่สถานีน้ำมันบางจาก สายเลี่ยงเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นการนัดดูรถในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ทำการซื้อขายรถโดยทั่วไปที่จำเลยทำการซื้อขาย ไม่ใช่การซื้อขายในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด และก็ไม่ใช่การซื้อจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นอันจะได้รับการคุ้มครองตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๒
๓.๓เป็นการซื้อขายในยามวิกาล เป็นเรื่องผิดปกติ สำหรับผู้มีอาชีพซื้อรถมือสองที่ต้องทำการตรวจรถที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอย่างละเอียดเพื่อตรวจหาตำหนิ รอยบุบ รอยชน ซึ่งจะทำให้ราคารถตกลง และการซื้อมาเพื่อขายต่อต้องนำมาซ่อมแซมซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นย่อมทำให้ตัวรถมีราคาสูงขึ้น หากรถมือสองมีราคาแพง คนอาจไม่ซื้อแต่ไปซื้อรถมือหนึ่งแทนเพราะรถมือหนึ่งอาจดาวน์ในราคาต่ำ หรือไม่ต้องดาวน์ก็ได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าซื้อรถมือสองที่ราคาเกือบเท่าราคารถมือหนึ่ง หรือมีราคาใกล้เคียงรถมือหนึ่ง ทั้งรอยบุบรอยชนอาจแสดงว่ารถอาจเกิดการพลิกคว่ำ อาจมีคนตาย ซึ่งคนบางคนอาจถือไม่ซื้อรถที่มีคนตายภายในรถ ดังนั้น การซื้อในเวลากลางคืนไม่สามารถทำการตรวจสอบได้อย่างละเอียด ทั้งการซื้อขายกันในเวลากลางคืน เมื่อเป็นรถมือสองก็ต้องลองขับ การลองขับในเวลากลางคืนน่าจะยุ่งยากกว่าการลองขับในเวลากลางวัน ทั้งสถานที่เกิดเหตุเป็นชานเมืองในต่างจังหวัดเวลากลางคืนรถวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่าปกติ การนำรถมือสองไปลองจึงค่อนข้างอันตราย และก็ไม่ทราบว่าสภาพรถคันดังกล่าวดีหรือไม่อย่างไรสภาพเครื่องยนต์เป็นอย่างไรซึ่งการซื้อขายกันในเวลากลางคืนมีแต่ความยุ่งยาก การซื้อขายในเวลากลางคืนเป็นพิรุธน่าสงสัย
๓.๔ พฤติการณ์ติดต่อเสนอขายแบบเร่งรีบ นัดส่งมอบกันในยามวิกาลซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของทั้งสองฝ่าย โดยจำเลยมีภูมิลำเนาที่จังหวัดแม่สอด จังหวัดตาก แต่มาตกลงดูรถที่จังหวัดนครสวรรค์ในเวลากลางคืนย่อมมีพิรุธน่าสงสัย น่าเชื่อว่าจำเลยทราบว่ารถคันนี้ได้มาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง การที่มาดูรถในสถานที่ห่างไกลที่พักจำเลย ทั้งเป็นเวลากลางคืน หากเป็นการซื้อขายกันอย่างปกติ จำเลยที่มีอาชีพเกี่ยวการซื้อขายรถ ไม่มีเหตุต้องนัดเจอกันในเวลาและสถานที่ดังกล่าว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบที่มาที่ไปของรถว่าได้มาอย่างไร
๓.๕ กรณีดังกล่าวน่าเชื่อได้มีการซื้อขายตกลงกันมาแต่ต้นแล้ว หาใช่เพียงนัดเพื่อมาดูรถดังที่จำเลยอ้างไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจะกลับบ้านที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงแวะดูเพราะเป็นทางผ่าน ก็ไม่มีเหตุผลน่ารับฟัง เพราะบ้านจำเลยมีระยะไกลเช่นนั้น ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางในเวลากลางคืน
๓.๖การที่จำเลยและภรรยาถือเงินมาด้วยจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากมาในเวลากลางคืนและเป็นการนำติดตัวมาในการเดินทางข้ามจังหวัดและเป็นเวลากลางคืน เงินดังกล่าวอาจนำภัยมาสู่ตัวได้ การพกเงินสดติดตัวมาด้วยจำนวนมากถึง ๑๕๐,๐๐๐ บาท มาในเวลากลางคืนถือผิดปกติ ที่พกเงินจำนวนมากเช่นนี้ โดยเป็นการพกข้ามจังหวัด ไม่ปรากฏว่าจะนำเงินดังกล่าวไปทำธุรกรรมอื่นได้น่าเชื่อว่ามีไว้เพื่อเตรียมนำมาซื้อขายรถรายนี้
๓.๗ข้ออ้างว่ารถดังกล่าวไม่ใช่รถรุ่นที่จำเลยต้องการ จำเลยมีอาชีพซื้อขายรถย่อมต้องการกำไรจากส่วนต่างของรถ รถคันดังกล่าวมีราคาส่วนต่างมาก ข้ออ้างจำเลยที่ว่าจะไม่ซื้อจึงเป็นเพียงเงื่อนไขต่อรองราคามากกว่า เชื่อว่าจำเลยได้มีการต่อรองราคาและซื้อขายรถคันดังกล่าวกับนาย ม กับพวก มาก่อน แล้วส่งมอบรถกัน โดยขณะเกิดเหตุยังไม่มีการจ่ายเงินหรือส่งมอบรถ เจ้าพนักงานจับกุมพวกจำเลยได้
๓.๘ ส่วนจำเลยที่เคยรับราชการเป็นตำรวจมาก่อนย่อมไหวตัวทัน จึงรีบวิ่งกลับขึ้นรถแล้วพยายามหลบหนี แต่ถูกจับกุมเสียก่อน จำเลยได้มีการตกลงซื้อขายรถคันดังกล่าวอันได้มาจากการกระทำผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แต่กระทำการไม่ตลอด เป็นความผิดฐานพยายามรับของโจร
๓.๙ซื้อขายรถในราคาถูกกว่าราคาในท้องตลาด ส่อให้เห็นว่ารถอาจได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรืออาจเป็นรถที่ใช้ในการกระทำความผิดมาหรือเป็นรถที่เคยเกิดอุบัติเหตุแล้วมาทำการซ่อมแซม ยิ่งมาซื้อขายในเวลากลางคืนยิ่งต้องตรวจละเอียดมากกว่าปกติ เว้นเสียแต่ว่ารู้ว่าที่มาของรถได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายแล้วต้องการอาศัยความมืดเป็นฉากกำบังในการกระทำผิด ซื้อขายกันในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ทำการซื้อขายรถตามปกติ ตกลงซื้อขายกันในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจสอบรถได้อย่างละเอียด การที่ ไม่ตรวจสอบที่มาที่ไปของรถว่าเป็นมาอย่างไรผิดวิสัยคนที่ทำการซื้อขายจะพึงกระทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาชีพนี้ด้วยแล้วต้องรอบคอบตรวจสอบที่มาที่ไปของรถเพื่อจะได้ไม่ไปซื้อรถที่ได้มาจากการกระทำความผิด ระยะทางระหว่างบ้านกับที่นัดมาดูรถไกลกันมาก ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาเพื่อมาดูรถพฤติการณ์ติดต่อเสนอขายแบบเร่งรีบ นัดส่งมอบกันในยามวิกาลซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของทั้งสองฝ่าย เป็นพิรุธน่าสงสัย
๓.๑๐.การกระทำสามารถกระทำได้ในเวลากลางวันแต่ไม่กระทำมากระทำในเวลากลางคืน อาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบัง เป็นพิรุธน่าสงสัย เหมือนกรณีเคลื่อนย้ายไม้หวงห้ามที่อ้างเป็นไม้เรือนเก่าที่รื้อมาจากบ้าน แต่มีการรื้อมาเก็บไว้ห่างจากถนนใหญ่ ๑๕ เมตร มีการเอาฟางมาปิด และขนย้ายกันในเวลากลางคืน พฤติการณ์เหล่านี้ส่อพิรุธว่าทำไมไม่ขนย้ายในเวลากลางวัน กรณีนี้ก็เช่นกันนัดดูรถในเวลากลางคืนในปั้มน้ำมันที่ไม่ใช่สถานที่ที่ตนทำการค้าขาย ความมืดทำให้ไม่สามารถตรวจดูลายละเอียดของรถได้ถี่ถ้วนว่าสภาพรถเป็นอย่างไร การซื้อรถมือสองย่อมต้องอาศัยการตรวจดูมากกว่าการซื้อรถมือหนึ่ง การตรวจดูในเวลากลางคืนอาจไม่พบตำหนิของรถได้ การตรวจในเวลากลางวันย่อมสามารถตรวจสอบได้ถ้วนถี่กว่า ทั้งการซื้อขายรถมือสองอาจต้องมีการนำรถไปขับขี่ การขับรถในเวลากลางคืนซึ่งมืดย่อมขับยากกว่าในเวลากลางวันที่มีแสง ทัศนะวิสัยการมองก็ลดลง และยิ่งเป็นในต่างจังหวัดด้วยแล้วรถวิ่งค่อนข้างเร็วหรือเร็ว อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ง่าย การนัดเจรจาตกลงซื้อขายกันตอนกลางคืนมีพิรุธน่าสงสัย
๓.๑๑ ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า เงิน ๕๐,๐๐๐ บาทที่ใช้ในการซื้อรถไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่ริบเงินดังกล่าว เพราะศาลฏีกาฟังข้อเท็จจริงว่ายังไม่มีการส่งมอบเงินกัน ในความเข้าใจส่วนตัวเข้าใจว่าศาลฏีกาคงมองว่า ความผิดฐานรับของโจรอยู่ที่การช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย พา เอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์. วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก เจ้าพนักงานยักยอก แล้วมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่นใดซึ่งทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำผิดดังกล่าว ดังนั้นศาลฏีกาจึงไม่ริบเงินดังกล่าว ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าว เป็นเงินที่นำมาซื้อขายรถที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ “ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้” ในการกระทำความผิด เพราะหากไม่มีเงินแล้วจะมีการซื้อขายได้อย่างไร หรือเจตนาลึกๆของศาลฏีกานำกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยเมื่อเสนอสนองตรงกันการซื้อขายเกิดขึ้น การส่งมอบการชำระราคาหาใช่สาระสำคัญในการซื้อขาย กรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ปพพ มาตรา ๔๕๘ ซึ่งการซื้อขายรถยนต์เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ราคากว่า๒๐,๐๐๐ บาทขึ้นไปตาม ปพพ มาตรา ๔๕๖ วรรคท้าย เมื่อมีการชำระหนี้บางส่วนก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลฏีกามีคำพิพากษามาแล้วก็เคารพในคำพิพากษาดังกล่าว

“โรคจิต”

๑.จำเลยวิกลจริต ยิงผู้ตายแล้วลงจากเรือน แล้วกลับมายิงผู้เสียหายอีก เป็นหลายกรรมต่างกัน จำเลยยังรู้สึกผิดชอบบ้าง คำพิพากษาฏีกา ๒๐๔๐/๒๕๑๘
๒.จำเลยเป็นโรคเปลี่ยนวัย คือ ประจำเดือนจะหมดมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว หากมีอาการมากจะฆ่าตัวตายหรือทำในสิ่งที่ไม่น่าทำได้ แพทย์ให้ยาไปทานก็ทุเลา สามารถดำเนินธุรกิจและนำเงินไปฝากธนาคารได้ด้วยตนเอง จำเลยด่าว่าผู้เสียหายแล้วใช้ปืนยิง รับสารภาพในชั้นสอบสวน นำชี้ที่เกิดเหตุพร้อมท่าทางในการยิง แสดงมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างบุคคลธรรมดา จะอ้างว่ายิงในขณะไม่รู้สึกผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาฏีกา ๘๓๔/๒๕๕๐
๓.จำเลยเคยถูกนั่งร้านล้มทับศีรษะ เคยเป็นโรคลมชัก คืนเกิดเหตุนอนไม่หลับ ได้ยินเสียงแว่วว่าจะมีคนทำร้าย จึงลุกมานั่งที่ประตูถือมีดปลายแหลมไว้ป้องกันตัว ได้ยินเสียงคล้ายคนมาดึงประตูจะทำร้าย จึงลุกขึ้นดึงประตูไว้ เรียกภรรยาให้มาช่วย เมื่อแทงผู้เสียหายแล้วไม่หลบหนี ภรรยาพาไปตรวจที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แสดงว่ากระทำผิดในขณะจิตบกพร่อง แม้ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏจากการสืบพยานโจทก์ ศาลมีอำนาจยก ปอ มาตรา ๖๕ วรรคสอง กำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๕๔๓/๒๕๒๘
๔.แม้ไม่ปรากฏมีการส่งตัวจำเลยไปให้จิตแพทย์ตรวจและลงความเห็น แต่พฤติการณ์ของจำเลยทำให้เห็นว่า กระทำในขณะจิตบกพร่อง คือ เมื่อ นาย พ. ผู้เสียหายเดินผ่าน จำเลยก็ใช้มีดฟันโดยไม่ปรากฏสาเหตุ หรือกรณีนาย ช. ก็เช่นกัน ขณะที่กำลังนั่งคุย เมื่อเพื่อนบอกให้ระวังตัวพอหันไปก็เห็นจำเลยเงื้อมีดฟันโดยไม่ปรากฏสาเหตุ เมื่อฟันแล้วก็วิ่งเข้าๆไปในบ้าน นาย ช. ถือมีดควงไปมาสองสามครั้ง แล้ววิ่งออกจากบ้านไปฟันคนอื่นอีก การที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายและรถยนต์ในวันเกิดเหตุ น่ากระทำไปโดยไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้เนื่องจากจิตบกพร่องหรือจิตฟั่นเฟือน แม้จิตบกพร่องจะไม่ได้เกิดตลอดเวลา จำเลยก็ไม่ต้องรับโทษ คำพิพากษาฏีกา ๒๘๘/๒๕๓๐
๕.จำเลยใช้ขวานฟัน ช พี่ชาย และ อ. หลานสาว โดยไม่มีกรณีพิพาทมาก่อน และได้ทุบตู้กระจกและจุดไฟเผาเสื้อผ้าผู้เสียหายบางราย กับจุดไฟเผาบ้านของบรรดาผู้เสียหาย โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน น่ากระทำไปโดยมีจิตบกพร่อง หรือมีจิตฟั่นเฟือนโดยแท้ เพราะสามัญชนที่มีจิตใจปกติรู้ผิดชอบคงไม่กระทำอย่างนั้นแน่นอน การที่จำเลยไม่ทำร้าย พ ซึ่งเป็นบิดา ทั้งๆที่ พ เข้ากอดปล้ำจำเลย และใช้พลั้วกั้นไม่ให้จำเลยทำร้าย ช ก็ดี การที่จำเลยใช้มือโบกไล่ ห. ไม่ให้เข้าไปช่วยดับไฟที่บ้าน พ หรือการที่จำเลยจุดไฟเผาบ้าน ง แล้วค่อยเข้าไปซ่อนตัวในไร่อ้อย และยอมออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยอมรับสารภาพในการกระทำของตน แสดงจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง กรณีต้องตาม ปอ มาตรา ๖๕ วรรคสอง ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก้ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๖/๒๕๓๐
๖.จำเลยใช้มีดขู่บังคับขมขืนผู้เสียหาย แม้ในรายงานแพทย์ระบุจำเลยเข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคจิตเภทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ จำเลยมีอาการวิตกกังวลไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสภาพจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ รายงานแพทย์ดังกล่าวไม่สามารถฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยมีจิตยกพร่อง โรคจิตจิตฟั่นเฟือนจนไม่สามารถต่อสู้คดีได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๘๑๖/๒๕๔๑
๗.ก่อนเกิดเหตุสองสามวันจำเลยดูข่าวคนร้ายทำทีไปซื้อทองแล้วชักอาวุธปืนออกมาปล้นเอาทองหลบหนีไปได้ จึงวางแผนเอาอย่างบ้างโดยยืมรถจักรยานยนต์ของ ก ใช้สก๊อตเทปปิดป้ายทะเบียนเพื่อไม่ให้จำหมายเลขทะเบียนได้ เอามีดห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พกไว้ที่เอวด้านหลังขับรถหาร้านทองที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนขายเป็นหญิง ทำทีไปซื้อสร้อยคอในร้าน เมื่อได้สร้อยแล้วชักมีดมาขู่คนในร้าน แล้วนำสร้อยไปขาย เงินที่ได้พาพวกไปเลี้ยงและเล่นการพนัน จำเลยกระทำผิดโดยมีแผนการเนื่องมาจากความโลภ เอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ไปเที่ยวเตร่หาความสำราญเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดทั่วไป แม้จำเลยสมองฝ่อเพราะถูกรถเฉี่ยวที่ศีรษะ ศีรษะกระแทกพื้น ทำให้เชาวน์ปัญญาลดลง หงุดหงิดโมโหง่าย ขาดการยับยั้งชั่งใจเช่นคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขนาดฟังว่ากระทำผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่อง คำพิพากษาฏีกา ๗๑๕๑/๒๕๔๑
๘.จำเลยเช่าเหมาเรือผู้ตายไปส่งที่เกาะ เมื่อเรือผู้ตายเกยตื้น พ เข้ามาสอบถามจำเลยว่าผู้ตายไปไหน จำเลยบอกเดี๋ยวมา โดยจำเลยมีอาการกระวนกระวายเดินไปมาอยู่บนเรือ เมื่อผู้ใหญ่บ้านถามจำเลย จำเลยบอกเดี๋ยวมา และพูดว่า “ ผมไม่ได้ตั้งใจทำ ผมไม่ทราบว่าอะไรทำ” จำเลยมีอาการเคลียดกระวนกระวายและร้องให้ พ.ต.ต. ส สอบถามจำเลย จำเลยให้การวกวนเหมือนคนมีอาการทางประสาทจึงส่งตัวไปโรงพยาบาล จากการทดสอบปรากฏว่าจำเลยมีเชาวน์ปัญญาอยู่ในระดับปัญญาทึบ จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทประเภทหวาดระแวง หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย เชื่อได้ว่ามีจิตฟั่นเฟือนจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบแม้จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้และไม่ได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์ฏีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๙๕๖/๒๕๕๓
ข้อสังเกต๑.กระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่หากยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตัวเองได้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ปอ มาตรา ๖๕
๒.บุคคลที่สามารถให้ความเห็นในเชิงกฏหมายว่าบุคคลใดเป็นโรคจิต หรือมีจิตบกพร่องนั้นคือ จิตแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษา ซึ่งโรคจิตอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เสียความสามารถในการรับรู้ การจดจำ การตัดสินใจสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก หรือเกิดจากสมองเสื่อมในวัยชรา หรือเสื่อมก่อนวัยชรา หรือเกิดจากพิษสุราเรื้อรัง หรือเป็นพวกจิตเวชมีความคิดบิดเบือนไปจากปกติหลงผิด แยกตัวเอง เฟ้อฝัน ถอยหลังไปเป็นเด็ก มีความรู้สึกว่าถูกบีบบังคับจากอำนาจลึกลับ หรือถูกอำนาจเหนือธรรมชาติบังคับ ได้ยินเสียงจนทำให้เกิดภาพหลอน หลงผิดเชื่อถือในเหตุการณ์และสิ่งต่างๆว่าเป็นความพิเศษสำหรับตน มีอาการซึมเศร้าหวาดระแวง บางคนเป็นๆหายๆมีอาการซึมเศร้า หลงผิดงุนงง หรือเป็นโรคจิตจากประสบการณ์ร้ายๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทางแพทย์บางครั้งเรียกพวกป่วยเหล่านี้ว่า “ พวกซึมเศร้า” แทนที่จะเรียกว่า “ ผู้ป่วยทางจิต” บางคนต้องกินยาตลอดชีวิตเพื่อลดความเคลียด หากยาหมดหรือลืมกินยาหรือไม่กินยาต่อเนื่องอาการก็จะกำเริบขึ้นมา คนประเภทนี้หากมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองก็จะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลข้างเคียงได้ บางคนเป็นแล้วพอรู้สึกตัวเองได้ต้องไปรับยามาทาน การที่ยังสามารถไปรับยามาทานได้แสดงว่ายังสามารถรู้สึกตัวได้บ้าง เคยมีลูกน้องเป็นโรคซึมเศร้าชอบพกปืนเหน็บหลังมาทำงาน คนที่ทำงานก็กลัวว่าหากยาหมดลืมกินยาอาจใช้อาวุธปืนทำร้ายคนอื่นได้ ว่ากล่าวตักเตือนก็โกรธ การที่ยังโกรธได้แสดงว่ายังพอรู้สึกตัวได้บ้างไม่ถึงกับวิกลจริต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเวลามารับยามารับยาในกรุงเทพ ไม่ได้รับยาที่ต่างจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่แสดงยังพอรู้สึกตัวบ้าง เพราะยังสามารถรู้ผิดชอบรู้ว่าหากมารับยาในจังหวัดที่ตัวเองทำงานคนรู้ว่ามีสภาพทางจิตบกพร่อง อาจมีผลต่อการรับราชการ จึงมารับยาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ บุคคลประเภทนี้น่าระวังเพราะคุ้มดีคุ้มร้าย ยาหมดเมื่อไหร่ลืมกินยาเมื่อไหร่ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น ยุ่งกับคนประเภทนี้เสียเปรียบเพราะมี ปอ มาตรา ๖๕ ให้การรับรองคุ้มครองไว้ อยู่ห่างจากคนประเภทนี้เป็นดีที่สุด เมื่อคนรอบห่างอยู่ห่าง คนประเภทนี้ก็จะยิ่งโดดเดียวคิดว่าถูกทอดทิ้ง อาการทางจิตก็จะกำเริบ อยู่ใกล้บุคคลนี้อันตราย ดูตามคำพิพากษาฏีกาในข้อ ๔ แค่เดินผ่านก็ถูกทำร้าย จึงเป็นไปตามที่โบราณกล่าวไว้ว่า “ อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา “ อยู่ไกลพวกนี้ปลอดภัยที่สุด
๓..ในระหว่างการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณา เมื่อมีเหตุสมควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาหรือ จำเลยวิกลจริต ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาล สั่งให้แพทย์ตรวจผู้นั้น แล้วให้เรียกแพทย์มาให้ถ้อยคำว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร หากพนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยวิกลจริต ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา จนกว่าจะหายจากวิกลจริตหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งศาลอาจสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวได้ และมีอำนาจสั่งตัวไปยังโรงพยาบาลโรคจิต หรือมอบตัวแก่ผู้อนุบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาตามที่เห็นสมควรได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๔ เห็นได้ว่าตาม ปวอ มาตรา ๑๔ ให้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือศาล แต่ไม่ได้พูดถึงพนักงานอัยการ หากความมาปรากฏในชั้นตรวจสำนวนของพนักงานอัยการ พนักงานอัยการต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ปวอ มาตรา ๑๔ ต่อไป หรือเมื่อปรากฏในชั้นพิจารณาคดีในศาล พนักงานอัยการสามารถที่จะร้องขอต่อศาลให้ดำเนินการตามปวอ มาตรา ๑๔ ได้
๔.จำเลยวิกลจริต ยิงผู้ตายแล้วลงจากเรือน แล้วกลับมายิงผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยยังรู้สึกผิดชอบบ้าง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต้องลงทุกกรรมที่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาและพยายามฆ่า เมื่อจำเลยยังสามารถรู้สึกตัวบ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
๕. การที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหายแล้วใช้ปืนยิง รับสารภาพในชั้นสอบสวน นำชี้ที่เกิดเหตุพร้อมท่าทางในการยิง แสดงมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างบุคคลธรรมดา จะอ้างว่า จำเลยวิกลจริตเป็นโรคเปลี่ยนวัย คือ ประจำเดือนจะหมดมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว หากมีอาการมากจะฆ่าตัวตายหรือทำในสิ่งที่ไม่น่าทำได้ จะมาอ้างว่าตนวิกลจริตหาได้ไม่ เพราะเมื่อแพทย์ให้ยาไปทานก็ทุเลา สามารถดำเนินธุรกิจและนำเงินไปฝากธนาคารได้ด้วยตนเอง จึงไม่สามารถอ้างว่ายิงในขณะไม่รู้สึกผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองนั้นหาได้ไม่
๖.การที่จำเลย ได้ยินเสียงแว่วว่าจะมีคนทำร้าย จึงลุกมานั่งที่ประตูถือมีดปลายแหลมไว้ป้องกันตัว ได้ยินเสียงคล้ายคนมาดึงประตูจะทำร้าย จึงลุกขึ้นดึงประตูไว้ เรียกภรรยาให้มาช่วย แสดงอาการคนเป็นโรคจิต เมื่อแทงผู้เสียหายแล้วไม่หลบหนี ผิดปกติวิสัยคนทั่วไปที่เมื่อกระทำความผิดกฎหมายแล้วจะหลบหนีเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมและนำตัวมาลงโทษ อีกทั้ง ภรรยาพาไปตรวจที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ทั้งก่อนเกิดเหตุ จำเลยเคยถูกนั่งร้านล้มทับศีรษะ เคยเป็นโรคลมชัก พฤติการณ์น่าเชื่อว่ากระทำผิดในขณะจิตบกพร่อง ไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ แม้ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏจากการสืบพยานโจทก์ ศาลมีอำนาจยก ปอ มาตรา ๖๕ วรรคสอง กำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เพราะจำเลยมีสิทธิ์ที่จะสู้คดีได้เต็มที่ แม้ไม่ให้การก็ต้องถือว่าปฏิเสธ อีกทั้งปอ มาตรา ๖๕ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชนที่ศาลสามารถยกขึ้นมาพิจารณาได้เพราะผลตาม ปอ มาตรา ๖๕ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ (ปอ มาตรา ๖๕วรรคแรก) หรือลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้(ปอ มาตรา ๖๕วรรคสอง) หรือแม้แต่ใน ปวอ มาตรา ๑๘๕ เมื่อความปรากฏแก่ศาลว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ ศาลมีอำนาจยกเหตุเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาพิพากษาได้ ศาลจึงสามารถยกเหตุตามปอ มาตรา ๖๕ วรรคสองขึ้นมาได้ แม้จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้หรือไม่ได้นำสืบพยานในเรื่องนี้ก็ตาม นั้นก็คือศาลไม่สามารถยกข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยมารับฟังได้หากโจทก์ไม่นำพยานมาสืบ แต่ศาลสามารถรับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายโจทก์ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยมารับฟังเพื่อเป็นคุณแก่จำเลยได้ แม้จำเลยจะให้การไว้หรือไม่ได้สืบพยานหรือถามค้านในประเด็นนี้ไว้ก็ตาม แม้จำเลยไม่ได้ให้การไว้ ไม่ได้ถามค้านพยานดจทก์ในประเด็นเรื่องดังกล่าว ไม่ได้อุธรณ์ฏีกาในประเด็นดังกล่าว จะถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕ วรรคแรกไม่ได้ ต้องถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชนตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ ศาลฏีกาสามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณาได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕วรรคสอง,๒๒๕
๗.การที่ จำเลยก็ใช้มีดฟันนาย พ ผู้เสียหายขณะเดินผ่านโดยไม่ปรากฏสาเหตุ หรือใช้มีดฟันนาย ช. ขณะที่กำลังนั่งคุยกับเพื่อนโดยไม่ปรากฏสาเหตุ เมื่อฟันแล้วก็วิ่งเข้าๆไปในบ้าน นาย ช. ถือมีดควงไปมาสองสามครั้ง แล้ววิ่งออกจากบ้านไปฟันคนอื่นอีก โดยปกติแล้วคนเราจะไม่ทำร้ายร่างกายคนอื่นที่เราไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกันมาก่อน การที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายและรถยนต์ในวันเกิดเหตุโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกันมาก่อน แล้วยังตรงเข้าทำร้ายบุคคลอีกหลายคนโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกันก่อน น่าเชื่อว่ากระทำไปโดยไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้เนื่องจากจิตบกพร่องหรือจิตฟั่นเฟือน แม้ไม่ปรากฏมีการส่งตัวจำเลยไปให้จิตแพทย์ตรวจและลงความเห็น แต่พฤติการณ์ของจำเลยทำให้เห็นว่า กระทำในขณะจิตบกพร่อง แม้จิตบกพร่องจะไม่ได้เกิดตลอดเวลา จำเลยก็ไม่ต้องรับโทษโดยผลของกฎหมาย
๘. แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปคือ จำเลยกับผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พอผู้เสียหายเดินผ่านก็ตรงเข้าทำร้ายผู้เสียหายทันทีและเคยศึกษาข้อกฏหมายและคำพิพากษาฏีกานี้มาก่อนมา เมื่อทำร้ายผู้เสียหายแล้วก็ตรงเข้าไปทำร้ายคนอื่นอีก ๒ ถึง ๓ คน โดยไม่ปรากฏสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนเพื่อหวังผลให้เป็นไปตามคำพิพากษากีกานี้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสำนวนและในการทำสำนวน เพื่อไม่ให้ถูกจำเลยหลอก
๙. คนที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือทะเลาะวิวาทกันมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุที่จะทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน การที่จำเลยใช้ขวานฟันทำร้ายบุคคลโดยไม่มีกรณีพิพาทมาก่อน และได้ทุบตู้กระจกและจุดไฟเผาเสื้อผ้าผู้เสียหายบางราย กับจุดไฟเผาบ้านของบรรดาผู้เสียหาย โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน น่าเชื่อว่ากระทำไปโดยมีจิตบกพร่อง หรือมีจิตฟั่นเฟือนโดยแท้ เพราะสามัญชนที่มีจิตใจปกติรู้ผิดชอบคงไม่กระทำอย่างนั้นแน่นอน ส่วนการที่จำเลยไม่ทำร้าย พ ซึ่งเป็นบิดา ทั้งๆที่ พ เข้ากอดปล้ำจำเลยและ ใช้พลั้วกั้นไม่ให้จำเลยทำร้ายบุคคลอื่น ก็ดี เมื่อนาย พ อยู่ใกล้จำเลยพอที่จำเลยจะทำร้ายได้แต่จำเลยไม่ทำร้าย แสดงว่าจำเลยรู้ว่าบุคคลดังกล่าวคือใครจึงไม่ทำร้าย รวมทั้งการที่จำเลยใช้มือโบกไล่ ห. ไม่ให้เข้าไปช่วยดับไฟที่บ้าน พ หรือการที่จำเลยจุดไฟเผาบ้าน ง แล้วค่อยเข้าไปซ่อนตัวในไร่อ้อย และยอมออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยอมรับสารภาพในการกระทำของตน แสดงจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง กรณีต้องตาม ปอ มาตรา ๖๕ วรรคสอง ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
๑๐.ในรายงานแพทย์ระบุจำเลยเข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคจิตเภทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ จำเลยมีอาการวิตกกังวลไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสภาพจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ รายงานแพทย์ดังกล่าวไม่สามารถฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิตจิตฟั่นเฟือนจนไม่สามารถต่อสู้คดี เพราะตามพฤติการณ์ที่จำเลยใช้มีดจี้เพื่อข่มขืนผู้เสียหาย ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิตจิตฟั่นเฟือนจนไม่สามารถต่อสู้คดี การเป็นโรคจิต จิตบกพร่องจิตฟั่นเฟื่อนน่าเป็นกรณีที่กระทำผิดด้วยการทำร้ายบุคคลหรือทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่น มากกว่าที่จะเป็นโรคทางจิตแล้วไปข่มขืนหรือไปกรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์หรือไปจี้ หรือปล้นธนาคาร พฤติกรรมในการกระทำผิดทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิตจิตฟั่นเฟือนจนไม่สามารถต่อสู้คดี ได้
๑๑. การใช้สก๊อตเทปปิดป้ายทะเบียนเพื่อไม่ให้จำหมายเลขทะเบียนได้ เอามีดห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พกไว้ที่เอวด้านหลังขับรถหาร้านทองที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนขายเป็นหญิง ทำทีไปซื้อสร้อยคอในร้าน เมื่อได้สร้อยแล้วชักมีดมาขู่คนในร้าน แล้วนำสร้อยไปขาย เงินที่ได้พาพวกไปเลี้ยงและเล่นการพนัน เอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ไปเที่ยวเตร่หาความสำราญเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดทั่วไป แม้จำเลยสมองฝ่อเพราะถูกรถเฉี่ยวที่ศีรษะ ศีรษะกระแทกพื้น ทำให้เชาวน์ปัญญาลดลง หงุดหงิดโมโหง่าย ขาดการยับยั้งชั่งใจเช่นคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่พฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุ(ที่ใช้สก๊อตเทปปิดป้ายทะเบียนเพื่อไม่ให้จำหมายเลขทะเบียนได้เอามีดห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พกไว้ที่เอวด้านหลังขับรถหาร้านทองที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนขายเป็นหญิง ) ขณะเกิดเหตุ(ที่ทำทีไปซื้อสร้อยคอในร้าน เมื่อได้สร้อยแล้วชักมีดมาขู่คนในร้าน) และหลังเกิดเหตุ(ที่นำสร้อยไปขาย เงินที่ได้พาพวกไปเลี้ยงและเล่นการพนัน เอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ไปเที่ยวเตร่หาความสำราญเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดทั่วไป) พฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ไม่ถึงขนาดฟังว่ากระทำผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะจิตบกพร่อง
๑๒.. การที่จำเลยตอบคำถามคนที่ถามจำเลยว่าผู้ตายไปไหน จำเลยบอกเดี๋ยวมา โดยจำเลยมีอาการกระวนกระวายเดินไปมาอยู่บนเรือ เมื่อผู้ใหญ่บ้านถามจำเลย จำเลยบอกเดี๋ยวมา และพูดว่า “ ผมไม่ได้ตั้งใจทำ ผมไม่ทราบว่าอะไรทำ” โดยจำเลยมีอาการเคลียดกระวนกระวายและร้องให้ ให้การวกวนเหมือนคนมีอาการทางประสาทจึงส่งตัวไปโรงพยาบาล จากการทดสอบปรากฏว่าจำเลยมีเชาวน์ปัญญาอยู่ในระดับปัญญาทึบและป่วยเป็นโรคจิตเภทประเภทหวาดระแวง หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย ศาลฟังว่ามีจิตฟั่นเฟือนจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ปัญหาเรื่องที่จำเลยวิกลจริต มีจิตฟั่นเฟือนไม่สามารถรู้ผิดชอบ ไม่สามรถต่อสู้คดีได้ นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบแม้จำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้และไม่ได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์ฏีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕ซึ่งปวอ มาตรา,๒๒๕ ให้นำความใน ปวอ มาตรา ๑๙๕ ในชั้นอุทธรณ์มาใช้ในชั้นฏีกาโดยอนุโลม
๑๓.ตามคำพิพากษาฏีกาหลายฏีกา ศาลมองว่า การเข้าทำร้ายตัวบุคคลโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่มีการทะเลาะวิวาทกันก่อนเกิดเหตุ ประกอบพฤติการณ์อื่น ทำให้ศาลเชื่อว่า เป็นคนวิกลจริต จิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน กระทำผิดในขณะไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่สามารถบังคับตนเองได้