ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

องค์ประกอบคำว่า "จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล" ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2561 (ประชุมใหญ่) การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เข้าองค์ประกอบว่า "จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล" ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


คดีนี้ โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยฉ้อโกง ต่อมาจำเลยได้ยักย้าย ถ่ายเท ทรัพย์สินของตนโดยมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับการชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นคดีนี้เองโดยที่ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เพียงแต่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ โดยมิได้มีการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก่อน

จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า "การที่โจทก์เพียงแต่ร้องทุกข์ว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์เพียงอย่างเดียว โดยมิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เสียก่อน แล้วจำเลยยักย้าย ถ่ายเท ทรัพย์สินของตนไปให้บุคคลอื่นนั้น ถือว่า จำเลยกระทำความครบองค์ประกอบในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว หรือไม่"

ศาลฎีกา วินิจฉัยคดี โดยตีความมองเห็นเจตนาของโจทก์ว่าการร้องทุกข์ก็เนื่องมาจากต้องการให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ และวินิจฉัยต่อไปอีกว่าในการร้องทุกข์คดีฉ้อโกงนั้น หากมีการสอบสวน และสรุปสำนวนความเห็นส่งพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล ก็มีผลเสมือนโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้ว เพราะการร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวเป็นต้นทางที่ทำสายป่านการฟ้องคดีของพนักงานอัยการชอบด้วยกฎหมาย และมีผลบังคับให้พนักงานอัยการต้องมีคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ให้จำเลยชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในท้ายที่สุด อันมีผลทำนองเดียวกับเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ นั่นเอง

โดยที่โจทก์ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีฉ้อโกง ไม่ต้องส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม รวมทั้งไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แต่อย่างใด
-----------------------------------------------------------------
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2559

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้





ไม่มีความคิดเห็น: