ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มีส่วนกระทำความผิดด้วย

๑.ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างสร้างอาคารก่อนได้รับอนุญาต เทศบาลอนุญาตให้ก่อสร้างได้โดยต้องแก้ไขแบบแปลนใหม่ ต่างต้องเฉลี่ยความเสียหายด้วยกัน คำพิพากษาฏีกา ๒๑๔๕/๒๕๒๓
๒.ปล่อยให้ผู้โดยสารห้อยที่บันไดรถ ถือมีส่วนประมาทด้วย คำพิพากษาฏีกา ๖๒๓/๒๕๒๕
๓.ปล่อยปละละเลยจนสัตว์เข้าไปในที่ของคนอื่น บ่อยๆ จนถูกเจ้าของที่ฆ่าสัตว์ถือว่าเจ้าของสัตว์ต้องร่วมรับผิดด้วย คำพิพากษาฏีกา ๑๔๔/๒๔๙๒
๔.ขับเรือโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนท่าเรือ โจทก์ก็มีมีส่วนผิดที่ไม่จุดไฟที่สะพานเทียบเรือ คำพิพากษาฏีกา ๔๔๐/๒๕๐๙
๕.เอาเครื่องกั้นทางรถไฟไปซ่อมไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลป้องกันถือประมาท ส่วนคนขับรถที่ฝ่าสัญญาณไปก็ถือว่าประมาทด้วย ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๒๗๕๕/๒๕๒๓
๖.ต่างฝ่ายต่างประมาทขับรถชนกัน ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๑๖๔๐/๒๕๒๐ , ๑๖๔๐/๒๕๒๐ ,๓๔ ๒๕๒๔,๙๙๘๑๑ และ๕๘๐/๒๕๒๕,
๗.ธนาคารเก็บเงินตามเช็คให้ลูกค้าไม่ได้ก็ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ ทำให้ลูกค้าเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ธนาคารต้องรับผิด แต่อย่างไรก็ตามลูกหนี้ของลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้เพียง ๕๐ %เท่านั้น ลูกค้าไม่ยอมรับชำระหนี้จำนวนนี้จากลูกหนี้ ถือลูกค้าไม่พยายามบำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายมีส่วนผิดด้วย ธนาคารจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ คำพิพากษาฏีกา ๑๗๒๕/๒๕๐๖
ข้อสังเกต ๑.หากผู้เสียหายมีส่วนทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ค่าสินไหมทดแทนที่จะพึงใช้ให้แก่ผู้เสียหายมากน้อยประการใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายที่ก่อนั้นใครก่อให้เกิดมากน้อยหยิ่งหย่อนกว่ากัน รวมทั้งความผิดที่ผู้เสียหายละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้ถึงความเสียหายอันเป็นการร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจรู้ได้ หรือละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ปพพ มาตรา ๒๒๓
๒. ในกากรก่อสร้างอาคารต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนโดยต้องนำแบบแปลนให้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนว่าสามารถก่อสร้างได้หรือไม่อย่างไร มีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยขนาดไหนเพียงไรซึ่งทางพนักงานเจ้าหน้าที่ จะตรวจสอบในแบบแปลนถึงประเภท ลักษณะ แบบ รูปทรงสัดส่วน ขนาด เนื้อที่ และที่ตั้งอาคาร ตลอดทั้งการรับน้ำหนักความทนทาน คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและระบบไฟฟ้า ประปา พื้นที่ดินที่รองรับตัวอาคารเป็นต้น เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ก่อสร้างหรือบุคคลอื่น ดังนั้นผู้ใดจะก่อสร้างอาคารต้องขออนุญาตก่อนจากเจ้าหน้าที่ก่อนทำการก่อสร้างและเมื่อได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้จึงจะทำการก่อสร้างได้ไม่ใช่ว่าทำการก่อสร้างไปพลางก่อนระหว่างที่รอคำสั่งอนุญาต การที่ ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างสร้างอาคารก่อนได้รับอนุญาต เท่ากับใช้ให้ผู้ก่อสร้างกระทำความผิดตามกฎหมาย และหากไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จะต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างดังกล่าว และต้องยอมรับว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตหรือให้เปลี่ยนแปลงรูปทรงของอาคารอย่างไร อาจต้องทำการทุบหรือรื้อถอนอาคารได้ ดังนั้นเมื่อทำการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแล้ว เทศบาลอนุญาตให้ก่อสร้างได้แต่ต้องแก้ไขแบบแปลนใหม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย และในขนาดเดียวกันผู้ก่อสร้างก็มีส่วนผิดด้วยที่ยอมทำการก่อสร้างไปตามคำสั่งผู้ว่าจ้างทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าพนักงาน ดังนั้นจึงต่างต้องเฉลี่ยความเสียหายด้วยกัน
๒.คนขับรถประจำทางมีหน้าที่ต้องตรวจตราสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารในรถที่ตนขับ หากเห็นว่ามีการยืนหรือการห้อยแขนขาหรือศรีษะออกนอกตัวรถหรือยืนบนบันไดรถทั้งที่สามารถขึ้นไปยืนข้างบนได้ หรือมีผู้โดยสารจำนวนมากการมายืนบนบันไดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้โดยสารก็ต้องบอกกล่าวให้ผู้โดยสารขึ้นไปยืนข้างบนภายในตัวรถหรือให้โดยสารไปกับรถประจำทางคันหลังที่กำลังตามมา การที่คนขับขี่ยังคงปล่อยให้ผู้โดยสารยืนห้อยรถเมล์ที่ตรงประตูย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดอันตรายต่อผู้โดยสารได้ ถือเป็นความประมาทของคนขับ และในขณะเดียวกันก็ต้องถือว่าผู้โดยสารที่ยืนบนบันไดมีส่วนประมาทด้วยเพราะการยืนบนบันไดรถอาจพลัดตกลงไปได้ จึงต้องถือว่าต่างคนต่างประมาท แต่ไม่ใช่การประมาทร่วมกัน เพราะความประมาทไม่อาจร่วมกันประมาทได้เพราะการกระทำโดยประมาทไม่ใช่เรื่องตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้นแต่เป็นเรื่องของความไม่รอบคอบขาดความระมัดระวัง จึงไม่อาจมีการกระทำโดยประมาทร่วมกันได้ ไม่เหมือนเรื่องเจตนาที่สามารถมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดได้ แต่การกระทำโดยประมาทไม่สามารถร่วมกันกระทำโดยประมาทได้ แต่เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างกระทำ ในกรณีนี้ถือผู้โดยสารมีส่วนประมาทด้วย ดังนั้นสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายพลักตกจากรถจะมากน้อยประการใด พฤติการณ์อยู่ที่ฝ่ายใดประมาทยิ่งหย่อนกว่ากัน
๓.การที่ปล่อยปละละเลยจนสัตว์เข้าไปในที่ของคนอื่นเป็นความผิดตาม ปอ. มาตรา ๓๙๕ การที่ปล่อยปละละเลยจนสัตว์เลี้ยงของตนเข้าไปในที่ของคนอื่นบ่อยๆ แม้จะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็เป็นความผิดที่บุคคลคือ “เจ้าของสัตว์” ต้องรับผิด แต่ “ตัวสัตว์” ที่เข้าไปในที่ของคนอื่นไม่ได้กระทำการละเมิดต่อกฎหมายอาญาแต่อย่างใด เพราะ “สัตว์” ไม่สามารถกระทำความผิดกฎหมายได้ แต่เป็นเรื่องเจ้าของสัตว์ต้องรับผิดฐานปล่อยปละละเลยฯ การที่สัตว์เข้าไปในที่คนอื่น ไม่ถือว่าสัตว์ได้กระทำความผิดกฎหมายอาญาที่เจ้าของที่ดินจะใช้สิทธิ์ในการป้องกันตามปอ. มาตรา ๖๘ได้ เพราะการป้องกันตาม ปอ. มาตรา ๖๘ เป็นเรื่องการป้องกันภยันตรายที่เกิดจากการ “ประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย” แต่สัตว์ไม่สามารถละเมิดกฎหมายได้จึงไม่อาจอ้างเรื่องป้องกันได้ แต่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำด้วยความจำเป็น เพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยวิธีอื่นใด จึงจำเป็นต้องกระทำการบางอย่างเพื่อหยุดยั้งภยันตรายนั้นเสีย แต่ก็ต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ แต่เจ้าของที่ดินจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะทำการฆ่าสัตว์ได้ แต่ต้องดำเนินการอย่างอื่นเพื่อกันไม่ให้สัตว์เข้าไปในที่ของตนเองหรือทำการไล่สัตว์นั้นเสีย หรือบอกให้เจ้าของสัตว์นำสัตว์ออกไป หากสัตว์เข้ามาแล้วมาทำความเสียหายอย่างไรจะเรียกค่าเสียหายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องมาว่ากันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่เจ้าของที่ดินทำการฆ่าสัตว์ แม้จะเป็นการกระทำละเมิดต่อเจ้าของสัตว์ที่เจ้าของที่ดินไม่อาจอ้างเรื่องกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายหรือกระทำการด้วยความจำเป็นที่จะอ้างบทนิรโทษกรรมตาม ปพพ มาตรา๔๔๙มายกเว้นไม่ให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ เจ้าของที่ดินจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่ฆ่าสัตว์ แต่เจ้าของสัตว์ก็มีส่วนผิดด้วยในการปล่อยปละละเลยจนสัตว์เข้าไปในที่ดินคนอื่น เจ้าของสัตว์ต้องร่วมรับผิดด้วย
๔.ขับเรือโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนท่าเรือ โจทก์ก็มีมีส่วนผิดที่ไม่จุดไฟที่สะพานเทียบเรือเพื่อให้เรือที่ผ่านไปมาสามารถเห็นได้ว่ามีท่าเรืออยู่บริเวณนี้เพื่อป้องกันการเฉี่ยวกันและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ถือได้ว่าต่างฝ่ายต่างประมาทด้วยกันทั้งคู่ จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายใดก่อให้เกิดความเสียหายหยิ่งหย่อนกว่ากัน
๕.เอาเครื่องกั้นทางรถไฟไปซ่อมไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลป้องกันย่อมเล็งเห็นหรือคาดเห็นได้ว่าเมื่อไม่มีเครื่องกั้นทางรถไฟและไม่มีเจ้าหน้าที่มาคอยให้สัญญาณเตือนว่ารถไฟกำลังมาอาจทำให้รถไฟเฉี่ยวชนกับรถยนต์หรือคนที่เดินข้ามทางรถไฟได้ถือเป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะเช่นการรถไฟโดยทั่วไปจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังให้มากกว่านี้ได้ด้วยการทำสัญญาณไฟชั่วคราวหรือมีคนมาคอยเตือนและห้ามไม่ให้รถแล่นผ่านในขณะที่รถไฟกำลังจะมา ส่วนคนขับรถที่ฝ่าสัญญาณไปก็ถือว่าประมาทด้วยเพราะเมื่อไม่มีเครื่องกั้นทางรถไฟเมื่อจะขับรถผ่านทางรถไฟต้องชะลอความเร็วของรถและหยุดรถเพื่อตรวจสอบว่ามีรถไฟกำลังมาหรือไม่อย่างไร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงค่อยขับรถผ่านทางรถไฟ หรือหากมีคนมาให้สัญญาณแต่ไม่ปฏิบัติตามแต่ขับผ่านไปโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาณที่ให้ เมื่อไม่ได้กระทำการดังนี้ก็ถือว่ามีส่วนในการทำให้เกิดความเสียหายด้วยความประมาทของตนเองด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างประมาท ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิด
๖.ต่างฝ่ายต่างประมาทขับรถชนกัน ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิด เช่นฝ่ายหนึ่งขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อีกฝ่ายขับรถย้อนศร แล้วรถชนกันถือประมาททั้งคู่ ต่างต้องรับผิดแล้วแต่ว่าความเสียหายฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดหยิ่งหย่อนมากกว่ากัน
๗.ธนาคารเก็บเงินตามเช็คให้ลูกค้าไม่ได้ก็ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ ทำให้ลูกค้าเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ธนาคารต้องรับผิด แต่อย่างไรก็ตามลูกหนี้ของลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้เพียง ๕๐ %เท่านั้น ลูกค้าไม่ยอมรับชำระหนี้จำนวนนี้จากลูกหนี้ ถือลูกค้าไม่พยายามบำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายมีส่วนผิดด้วย ธนาคารจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกา จริงอยู่การที่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจะเป็นการไม่พยายามบำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จริง แต่การที่ ธนาคารเก็บเงินตามเช็คให้ลูกค้าไม่ได้ก็ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ ทำให้ลูกค้าเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ แม้เจ้าหนี้มีส่วนผิดด้วยที่จะไม่รับชำระหนี้บางส่วน แต่การไม่ยอมรับชำระหนี้บางส่วนหาใช่เป็นเหตุให้ธนาคารต้องพ้นความรับผิดไปไม่ เพราะตามปพพ. มาตรา ๒๑๔ เจ้าหนี้มีสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยสิ้นเชิง มิใช่รับชำระหนี้เพียงบางส่วน เว้นเสียแต่เจ้าหนี้จะยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วน การที่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๒๑๔ แม้ว่าจะเป็นการ ไม่พยายามบำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายก็ตามแต่ก็เป็นการใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ไว้ มิเช่นนั้นแล้ว ปพพ มาตรา ๒๑๔ จะไม่มีผลบังคับเพราะเมื่อลูกหนี้ขอชำระหนี้บางส่วนซึ่งอาจเป็นเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เจ้าหนี้ต้องรับชำระหนี้ทั้งหมด การที่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้บางส่วนแต่ต้องการรับชำระหนี้ทั้งหมดหรือรับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงเพราะเจ้าหนี้เองก็อาจต้องการเงินก้อนนี้เพื่อนำไปทำอย่างอื่นก็ได้ การที่ได้รับชำระหนี้ไม่เต็มอาจไม่สามารถนำไปทำธุรกิจอย่างอื่นได้ แต่การที่ศาลฏีกาวินิจฉัยว่าแม้ธนาคารจะผิดแต่ก็ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเจ้าหนี้ ไม่พยายามบำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้น เท่ากับศาลฏีกามองว่าบทบัญญัติใน ปพพ มาตรา๔๔๒,๒๒๓ใหญ่กว่าบทบัญญัติในปพพ มาตรา ๒๑๔ เป็นความเห็นส่วนตัวครับ

ไม่มีความคิดเห็น: