ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ถอนคำร้องทุกข์

ถอนคำร้องทุกข์ในสิทธิ์ในทางทรัพย์สิน
๑.สิทธิ์ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง เป็นสิทธิ์เกี่ยวกับทรัพย์สิน เมื่อผู้ร้องทุกข์ตามย่อมตกแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องทุกข์ตาย สิทธิ์ในการถอนคำร้องทุกข์จึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาท ผู้ร้องมีสิทธิ์ถอนคำร้องทุกข์ได้ เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้องทุกข์เพราะได้รับเงินชดใช้ สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไป คำพิพากษาฏีกา ๗๕๑/๒๕๔๑
๒.ความผิดฐานยักยอกเป็นสิทธิ์เกี่ยวกับทางทรัพย์สินซึ่งตกทอดไปยังทายาทได้เมื่อผู้ทรงสิทธิ์ตาย คำพิพากษาฏีกา ๒๐๖/๒๔๘๘
๓.มารดาแทนคำร้องทุกข์แทนบุตรที่ตายได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๑/๒๕๑๘
๔.ถอนคำร้องทุกข์เพราะได้ฟ้องคดีแล้ว ไม่ใช่ถอนคำร้องทุกข์โดยไม่มีเจตนาไม่เอาผิดกับจำเลย ไม่ทำให้สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไป คำพิพากษาฏีกา ๑๗๙๒/๒๕๒๒
ข้อสังเกต ๑.สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดต่อส่วนตัวระงับไปเมื่อผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความโดยชอบด้วยกฏหมาย ปวอ มาตรา ๓๙(๒)
๒.ผู้เสียหายคือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดรวมทั้งผู้ที่มีอำนาจในการจัดการแทนผู้เสียหาย รวมทั้งบุคคลดังต่อไปนี้ด้วยคือ
๒.๑สามีโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ์ฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้เมื่อได้รับอนุญาตชัดแจ้งจากภรรยา
๒.๒ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในความผิดที่ได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถที่อยู่ในความดูแล
๒.๓ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายหรือตายจนบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการแทนได้
๒.๔ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลเฉพาะความผิดที่กระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
๒.๕ผู้แทนเฉพาะคดีในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือคนวิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลมีผลประโยชน์ขัดกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ เมื่อญาติหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ปวอ มาตรา ๖
๓.คดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก รับของโจร ที่ผู้เสียหายมีสิทธิ์เรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์ที่สูญเสียไป เมื่ออัยการยื่นฟ้องให้เรียกทรัพย์หรือราคาแทนผู้เสียหาย ปวอ มาตรา ๔๓
๔.กองมรดกผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินของผู้ตายรวมทั้งสิทธิ์ หน้าที่ ความรับผิด เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ปพพ มาตรา ๑๖๐๐
๕.ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๓๔๘ ที่สามารถถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความได้ตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๒) และเมื่อผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาฉ้อโกงทรัพย์ ย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์ที่สูญเสียไปตาม ปวอ มาตรา ๔๓ จึงเป็นสิทธิ์เรียกร้องในทางทรัพย์สินที่ทายาทผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถเข้ารับมรดกในทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์ที่เสียหายเพราะถูกฉ้อโกงได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๐๐ เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิ์ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่ง เป็นความผิดต่อส่วนตัวและเป็นความผิดเกี่ยวสิทธิ์ทางทรัพย์สิน เมื่อผู้ร้องทุกข์ตายทั้งสิทธิ์หน้าที่ความรับผิดย่อมตกแก่ทายาท ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๐๐ ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ตาย สิทธิ์ในการถอนคำร้องทุกข์จึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทตาม ปพพ มาตรา ๑๖๒๙วรรคท้าย ผู้ร้องมีสิทธิ์ถอนคำร้องทุกข์ได้ เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้องทุกข์เพราะได้รับเงินชดใช้ สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไป
๒.การถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวเพราะได้รับการชดใช้ ไม่ใช่การทำนิติกรรมสัญญาที่กระทำไปเพื่อระงับคดีอาญา โดยขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชนอันจะทำให้การถอนคำร้องทุกข์ตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๕๐ แต่อย่างใดไม่ อีกทั้งการถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวไม่ใช่การก่อเปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ์อันจะถือว่าเป็นการทำนิติกรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙แต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในปพพ มาตรา ๑๕๐ มาใช้บังคับได้ แต่การถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวเป็นวิธีการหนึ่งตามที่กฏหมายบัญญํติไว้ในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ให้อำนาจผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวได้
๓.ตามข้อสังเกตที่๒ ให้เทียบกับกรณีที่มีข้อตกลงให้ถอนฟ้องคดีอาญาแผ่นดิน โดยให้ทรัพย์สินตอบแทน ข้อตกลงนี้ขัดความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๕๔/๒๔๗๗,๑๑๘๑/๒๔๙๑,๑๒๓๗/๒๔๙๖ ดังนั้นหากจำเลยไม่ยอมชำระเงินตามข้อตกลงโจทก์จะนำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมาฟ้องเรียกร้องเงินหาได้ไม่ หรือในทางกลับกันหากโจทก์รับเงินจากจำเลยมาแล้วแต่ไม่ยอมถอนฟ้องในความผิดอาญาต่อแผ่นดินให้ จำเลยจะมาเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนไม่ได้ เพราะข้อตกลงยอมให้เงินเพื่อตอบแทนในการถอนฟ้องในความผิดอาญาต่อแผ่นดินขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะจึงไม่เกิดสิทธิ์ในการเรียกร้องเงินดังกล่าวคืน
๔.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าหากผู้เสียหายยอมถอนฟ้องไปแล้วจำเลยไม่ยอมชำระเงินตามข้อตกลงผู้เสียหายจะมายื่นฟ้องใหม่ไม่น่าจะได้เพราะการถอนฟ้องของผู้เสียหายเป็นไปโดยสมัครใจไม่ได้ถูกบังคับขมขู่หรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยเองว่าจะจ่ายเงินให้เมื่อผู้เสียหายถอนฟ้อง ทั้งที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่สามารถทำข้อตกลงจะชำระเงินให้แทนการดำเนินคดีอาญาแผ่นดินซึ่งการตกลงดังกล่าวขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ผู้เสียหายจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เมื่อกฏหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเป็น “หลักกฎหมายปิดปาก” ว่าทุกคนต้องรู้กฏหมายว่าไม่สามารถทำข้อตกลงจะชำระเงินให้เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการระงับการดำเนินคดีอาญาแผ่นดินได้
๕.และในกรณีนี้ผู้เสียหายจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่หลอกให้ผู้เสียหายถอนฟ้องในความผิดอาญาแผ่นดินเพื่อตอบแทนที่จะได้รับชำระเงิน แต่เมื่อผู้เสียหายถอนฟ้องแล้วจำเลยกลับไม่ยอมจ่ายเงิน ผู้เสียหายจะดำเนินคดีกับจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เพราะเมื่อเป็นคดีอาญาแผ่นดินข้อตกลงที่จะถอนฟ้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับเงินจากจำเลยย่อมเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ การที่ผู้เสียหายยอมทำข้อตกลงดังกล่าวถือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง(ผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้เสียหายตามกฎหมาย)ที่จะมาดำเนินคดีกับจำเลยฐานฉ้อโกงได้ เป็นความเห็นส่วนตัวครับ
๖.มารดาถอนคำร้องทุกข์แทนบุตรที่ตายในความผิดต่อส่วนตัวได้ เพราะความผิดต่อส่วนตัวในความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดที่เมื่อผู้เสียหายถูกผู้ต้องหายักยอกทรัพย์ไป ย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์ที่สูญเสียไปตาม ปวอ มาตรา ๔๓ จึงเป็นสิทธิ์เรียกร้องในทางทรัพย์สินที่ทายาทผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถเข้ารับมรดกในทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์ที่เสียหายเพราะถูกยักยอกได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๐๐ เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิ์ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกซึ่ง เป็นความผิดต่อส่วนตัวและเป็นความผิดเกี่ยวสิทธิ์ทางทรัพย์สิน เมื่อผู้ร้องทุกข์ตายทั้งสิทธิ์หน้าที่ความรับผิดย่อมตกแก่ทายาท ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๐๐ ผู้ร้องเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ตาย สิทธิ์ในการถอนคำร้องทุกข์จึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทตาม ปพพ มาตรา ๑๖๒๙(๒) ผู้ร้องมีสิทธิ์ถอนคำร้องทุกข์ได้
๗.ถอนคำร้องทุกข์เพราะได้ฟ้องคดีแล้ว ไม่ใช่ถอนคำร้องทุกข์โดยไม่มีเจตนาไม่เอาผิดกับจำเลยคือไม่ใช่การถอนคำร้องทุกข์โดยเด็ดขาดที่จะมีผลทำให้สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไป แต่เป็นการถอนคำร้องทุกข์เพื่อประสงค์จะดำเนินคดีเองโดยอาจต้องการความรวดเร็วหรือไม่เชื่อหรือแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะให้ความเป็นธรรมกับตนเองได้หรือไม่หรือไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการดำเนินคดีให้เพราะตนมีพยานหลักฐานอยู่ในมือแน่นหนา การถอนคำร้องทุกข์แบบนี้ ไม่ทำให้สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไป เพราะไม่ใช่ถอนคำร้องทุกข์เพราะไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลย

ไม่มีความคิดเห็น: