ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตัดทอนเพิ่มเติมแก้ไขเอกสารตัวเอง

๑.ขีดฆ่าจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คทั้งที่เป็นตัวอักษรและตัวเลขและได้พิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขขึ้นแทน แล้วปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเซ็นกำกับในเช็ค เพื่อให้สมุห์บัญชีหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เช็คทั้งสามฉบับเป็นเช็คของจำเลยที่ ๒ ที่จำเลยที่ ๒ เป็นคนสั่งจ่าย แม้จะขีดฆ่าตัดทอนจำนวนเงินที่ลงในเช็คเดิมทั้งตัวเลขและตัวอักษรแล้วพิมพ์เติมตัวเลขและตัวอักษรขึ้นใหม่อันเป็นเท็จ แต่ก็ไม่ได้ปลอมเช็คของผู้อื่นหรือตั้งใจให้เป็นเช็คของคนอื่น เป็นเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมเช็คของจำเลยที่ ๒ เอง การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อกำกับในเช็ค จึงไม่ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ใด การกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร มีผลให้จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารไปด้วย เมื่อเช็คไม่ใช่เอกสารปลอม การที่จำเลยที่ ๑ นำไปเบิกเงินจึงไม่ใช่การใช้เอกสารปลอม คำพิพากษาฏีกา๒๘๗๐/๒๕๒๖
๒.โจทก์ขอออกโฉนด เจ้าพนักงานทำเสร็จและประกาศแจกโฉนดให้ราษฏร์ โจทก์มาเซ็นชื่อรับและเสียค่าธรรมเนียม แต่ยังไม่ได้รับมอบโฉนด มีผู้มาขออายัดการขอโฉนด จำเลยจึงไม่แจกโฉนดและลบวันเดือนปีและลายเซ็นของจำเลยออกไป เมื่อยังไม่ได้มีการมอบโฉนด ถือไม่ได้ว่าออกโฉนดแล้ว โฉนดยังอยู่ในความครอบครองของเขจ้าพนักงาน ยังอยู่ในการดำเนินการของเจ้าพนักงาน เมื่อมีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เจ้าพนักงานสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ไม่เป็นการปลอมเอกสาร คำพิพากษาฏีกา ๑๙๗/๒๕๐๙
๓. ใบเสร็จรับเงินค่ารายศพของสมาคมฌาปนกิจวัดไก้เตี้ยที่มีใบแจ้งมรณะบัตรของศพนาย ช. และนาง ห. อยู่ในแผ่นเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนเงินที่สมาคมฯจ่ายให้โดยระบุชื่อตามใบเสร็จเพื่อไปเรียกเก็บเงินจากสมาชิกรายละ ๘ บาท การที่ไปเรียกเก็บเงินมาแล้วไม่นำเงินมามอบให้ทายาท นาง ห. แต่ได้ฉีกหรือตัดทอนข้อความที่แสดงว่านาง ห. ถึงแก่กรรมและลายมือชื่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งลงลายมือชื่อไว้ออกไปเสีย ศาลฏีกาเห็นว่า หนังสือที่บุคคลหนึ่งทำขึ้น บุคคลนั้นก็ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใดก่อนที่จะส่งให้บุคคลอื่นไป แม้จะได้มีการตัดทอนข้อความและลายมือชื่อออกไป ก็ไม่เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ส่วนสมาคมต้องรับผิดชำระเงินแก่ทายาทหรือไม่เพียงใด ก็แล้วแต่สัญญาที่ทำกันขึ้น คำพิพากษาฏีกา ๑๒๓/๒๕๐๗
ข้อสังเกต ๑.เช็คเป็นตราสารที่ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรตัวเลขหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายว่า ผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งตามที่ระบุไว้ในเช็ค เมื่อถูกทวงถามหรือให้ใช้เงินตามคำสั่งของบุคคลหนึ่งที่เรียกว่า ผู้รับเงิน หรือผู้ทรงเช็คตาม ปพพ มาตรา ๙๘๗ ดังนั้น เช็คจึงเป็นเอกสารตาม ปอ. มาตรา๑(๗) มีคำพิพากษาฏีกาที่ ๔๙๖/๒๕๔๒วินิจฉัยว่า ต้นฉบับชุดฝากเงินสดและเช็คมีข้อความแสดงว่า ได้รับเงินเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของผู้เสียหาย ย่อมเป็นหลักฐานในการก่อตั้งสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จะเรียกถอนเงินฝากคืนได้ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิ์
๒.การแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริงหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ปอ. มาตรา ๒๖๔
๓.การที่จำเลยที่ ๒ ขีดฆ่าจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คทั้งที่เป็นตัวอักษรและตัวเลขและได้พิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขขึ้นแทน แล้วปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเซ็นกำกับในเช็ค เพื่อให้สมุห์บัญชีหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ย่อมเป็นการแก้ไขด้วยประการใดๆในเช็คที่เป็นเอกสารที่แท้จริงแล้ว แต่เมื่อ เช็คทั้งสามฉบับเป็นเช็คของจำเลยที่ ๒ ที่จำเลยที่ ๒ เป็นคนสั่งจ่าย แม้จะขีดฆ่าตัดทอนจำนวนเงินที่ลงในเช็คเดิมทั้งตัวเลขและตัวอักษรแล้วพิมพ์เติมตัวเลขและตัวอักษรขึ้นใหม่อันเป็นเท็จ แต่ก็ไม่ได้ปลอมเช็คของผู้อื่นหรือตั้งใจให้เป็นเช็คของคนอื่น เป็นเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมเช็คของจำเลยที่ ๒ เอง การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อกำกับในเช็ค เมื่อไม่ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ใด การกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร นั้นก็คือ เมื่อเป็นเอกสารของจำเลยแล้วจำเลยทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น แม้จะไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้วจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อของบุคคลอื่น เอกสารดังกล่าวคงเป็นเพียงเอกสารที่มีข้อความอันเป็นเท็จแต่ไม่ใช่เอกสารปลอม จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่หากจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารของจำเลยแต่ไปปลอมลายมือชื่อบุคคลอื่นเซ็นกำกับ เท่ากับว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยบุคคลอื่นจึงได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ หากเป็นดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว
๔.เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร จำเลยที่ ๑ ที่ได้ร่วมกระทำการด้วยก็ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะแห่งคดี ไม่ใช่เหตุส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๘๙ แต่เป็นเหตุในลักษณะแห่งคดีตามปวอ มาตรา๒๑๓,๒๒๕ แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ฏีกา ศาลฏีกาก็มีคำพิพากษาไปถึงจำเลยที่ไม่ได้ฏีกาได้ด้วย เพราะเมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว ปวอ มาตรา ๑๘๕,๒๑๕,๒๒๕ ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง เมื่อเป็นเหตุในลักษณะแห่งคดีจึงมีผลถึงจำเลยทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคตราวเดียวกันด้วย
๕..เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยที่ ๑ นำเอกสารดังกล่าว(เช็ค)ไปขึ้นเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่การใช้เอกสารปลอม
๖.โฉนดเป็นเอกสารที่ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรตัวเลขและวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น โดยเป็นเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของและการครอบครองที่ดินว่าที่ดินซึ่งมีพิกัดอยู่ที่นี้ ตำบล อำเภอจังหวัดนี้มีเนื้อที่เท่านี้มีใครเป็นเจ้าของผู้ครอบครองดูแลรักษา โฉนดจึงเป็นเอกสารที่ทำให้ปรากฏความหมายแสดงความเป็นเจ้าของและเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองด้วยตัวอักษรตัวเลขและวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น จึงเป็นเอกสารตาม ปอ. มาตรา ๑(๗) เมื่อเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้นจึงเป็นเอกสารราชการ ตามปอ. มาตรา ๑(๘) และเมื่อโฉนดเป็นเอกสารหลักฐานที่ก่อตั้ง เปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ์แล้วย่อมเป็นเอกสารสิทธิ์ที่เป็นเอกสารราชการตาม ปอ. มาตรา ๑(๗)(๘)(๙) เพราะตาม ปพพ. มาตรา ๑๓๗๓สันนิษฐานว่าที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง เมื่อเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง ปพพ. มาตรา ๑๓๗๐ สันนิษฐานว่าครอบครองโดยสงบเปิดเผย และเมื่อผู้ครอบครองใช้ทรัพย์สินที่ครอบครอง ปพพ มาตรา ๑๓๗๒ สันนิษฐานว่าเป็นสิทธิ์ที่ผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย อีกทั้งประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา ๓(๑) บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการได้มาซึ่งโฉนดที่ดินตามที่ประมวลกฏหมายที่ดินบัญญัติไว้ โฉนดที่ดินจึงเป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์และความเป็นเจ้าของที่ดินจึงเป็นเอกสารแห่งการก่อตั้งสิทธิ์ในการที่จะจำหน่ายใช้สอยและมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ยึดถือและมีสิทธิ์ขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาสอดเกี่ยวข้องโดยมิชอบตามปพพ มาตรา ๑๓๓๖ โฉนดที่ดิน จึงเป็นเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๙๐๔/๒๕๕๔,๘๔๙๐/๒๕๒๑ วินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสิทธิ์ อันเป็นเอกสารราชการด้วย
๗.การขอออกโฉนดแม้เจ้าพนักงานทำเสร็จและประกาศแจกโฉนดให้มารับไป แม้ผู้มีชื่อรับโฉนดจะมาเซ็นชื่อรับและเสียค่าธรรมเนียมแล้ว แต่ตราบใดยังไม่ได้รับมอบโฉนดจะถือว่ามีการออกโฉนดโดยสมบรูณ์แล้วไม่ได้ ต่อมาเมื่อ มีผู้มาขออายัดการขอโฉนด การที่เจ้าพนักงานไม่แจกโฉนดและลบวันเดือนปีและลายเซ็นของตนออกไป เมื่อโฉนดยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ยังอยู่ในการดำเนินการของเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้ เมื่อมีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เจ้าพนักงานสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้จะเป็นการแก้ไขข้อความในโฉนดที่แท้จริง แต่เมื่อผู้แก้ไขมีอำนาจแก้ไขได้ การแก้ไขดังกล่าวจึง ไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิ์ที่เป็นเอกสารราชการ แต่หากได้ส่งมอบโฉนดให้ราษฏร์ไปแล้ว นำโฉนดที่มอบให้ไปนั้นมาทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังนี้ย่อมเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการได้ เพราะเมื่อมอบโฉนดแล้ว โฉนดไม่ได้อยู่ในความครอบครองไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เจ้าพนักงานจะทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
๘.หนังสือที่บุคคลหนึ่งทำขึ้น บุคคลนั้นก็ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใดก่อนที่จะส่งให้บุคคลอื่นไป ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบให้บุคคลภายนอก ผู้ทำหนังสือย่อมมีสิทธิ์ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมตัดทอนข้อความออกไปได้ ดังนั้นหากยังไม่มีการส่งมอบหนังสือนั้นให้แก่บุคคลภายนอกผู้ทำหนังสือนั้นแม้จะได้มีการตัดทอนแก้ไขเพิ่มเติมข้อความและตัดลายมือชื่อของตนออกไป ก็ไม่เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ส่วนเมื่อตัดทอนข้อความและลายมือชื่อออกไปแล้วต้องรับผิดชำระเงินแก่ผู้เสียหายหรือไม่เพียงใด ก็แล้วแต่สัญญาที่ทำกันขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
๘.ใบเสร็จรับเงินค่ารายศพของสมาคมฌาปนกิจวัดไก้เตี้ยที่มีใบแจ้งมรณะบัตรของศพนาย ช. และนาง ห. อยู่ในแผ่นเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนเงินที่สมาคมฯจ่ายให้โดยระบุชื่อตามใบเสร็จเพื่อไปเรียกเก็บเงินจากสมาชิกรายละ ๘ บาท การที่ไปเรียกเก็บเงินมาแล้วไม่นำเงินมามอบให้ทายาท นาง ห. แต่ได้ฉีกหรือตัดทอนข้อความที่แสดงว่านาง ห. ถึงแก่กรรมและลายมือชื่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งลงลายมือชื่อไว้ออกไปเสีย จึงเสมือนหนึ่งว่า นาง ห. ไม่ได้ถึงแก่ความตาย ยังไม่มีการเรียกเก็บเงินจากสมาชิกเพื่อนำไปมอบให้แก่ทายาทนาง ห. แม้ศาลฏีกาวินิจฉัยว่าไม่มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ต้องมาพิจารณาว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ์หรือไม่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสิทธิ์หรือไม่ก็ตามเมื่อศาลวินิจฉัยว่าไม่เป้นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมได้ แต่ การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างจากคดีนี้

ไม่มีความคิดเห็น: