ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

“ถนนในหมู่บ้านที่ยังไม่ได้ยกเป็นทางสาธารณะ”

ราษฏรในหมู่บ้านฟอร์จูนร้องขอให้เทศบาลปู่เจ้าสมิงพรายเข้าดำเนินการปรับปรุงพัฒนาถนนและสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้านฟอร์จูน เทศบาลอ้างว่าไม่สามารถเข้าดำเนินการตามที่ร้องขอได้ เนื่องจากถนนในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในที่ดินซึ่งมีชื่อเอกชนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยไม่ปรากฏว่ามีการอุทิศให้เป็นถนนสาธารณะหรือได้โอนที่ดินซึ่งเป็นถนนหมู่บ้านให้แก่ทางราชการแต่อย่างใด เทศบาลได้ติดต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้ขอโอนที่ดินซึ่งเป็นถนนภายในหมู่บ้านให้เป็นถนนสาธารณะประโยชน์ แต่เจ้าของที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการโดนให้เป็นถนนสาธารณะและเจ้าของที่ดินบางรายไม่สามารถติดต่อได้ เทศบาลฯเห็นว่าตามกฎหมายแล้วสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป เว้นแต่จะอุทิศทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นสาธารณะประโยชน์ หรือโอนให้แก่ทางราชการก่อน ทางเทศบาลฯจึงจะเข้าไปพัฒนาได้ อนึ่งถนนดังกล่าวเปิดให้ประชาชนทั่วไปสัญจรไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยไม่มีการหวงกันพื้นที่แต่อย่างใด จึงขอหารือว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ถนนดังกล่าวเป็นถนนสาธารณะเพื่อที่เทศบาลจะได้เข้าไปดูแล สนง.อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ผู้มีชื่อซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดของถนนในโครงการหมู่บ้านฟอร์จูน มิได้ปิดกั้นและหวงห้ามประชาชนทั้งในและนอกโครงการใช้ถนนในโครงการหมู่บ้านฟอร์จูน เป็นทางสัญญจรเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ถือได้ว่าอุทิศถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย ถนนดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนและไม่ต้องดำเนินการขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด และโดยเหตุที่เทศบาลปู่เจ้าสมิงพรายมีอำนาจหน้าที่ตามพรบ.เทศบาลฯ มาตรา ๕๐,๕๓ จึงมีอำนาจเข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมบำรุงรักษาถนนภายในหมู่บ้านดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดอุทิศหรือโอนถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะเสียก่อน วินิจฉัยข้อหารือที่ ๑๑๔/๒๕๕๕

ข้อสังเกต ๑.สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดิน(ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินรวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาต)จัดขึ้นเพื่อจัดสรรที่ดินตามแบบแผนโครงการที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน(เช่นหมู่บ้านจัดสรร)โดยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินตามแบบแผน ผัง โครงการตามที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่การจัดสรร โดยให้เป็นหน้าที่ผู้จัดสรรที่ดิน(เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร)ต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพตามที่ได้จัดสรร และจะกระทำการให้เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมไปไม่ได้
๒.ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษา เมื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหลังครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบในการบำรุงรักษาตามแผนงาน โครงการ ระยะเวลาบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังนี้คือ
๒.๑ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร(คนที่ซื้อบ้านตามหมู่บ้านจัดสรรรวมถึงผู้รับโอนคนต่อมา)ได้ร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการดูแลรักษาภายในเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน ทางปฏิบัติการที่ผู้จัดสรรที่ดินจะแจ้งนั้นมักเป็นระยะเวลาภายหลังจากขายบ้านจัดสรรในโครงการหมดซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี
๒.๒ผู้จัดสรรได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร(กรณีในกรุงเทพ)หรือคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด(กรณีต่างจังหวัด)ให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค เช่นยอมจ่ายเงินเท่านั้นเท่านี้เพื่อเป็นกองทุนที่จะฝากธนาคารเพื่อเอาเงินดังกล่าวมาซ่อมแซม บำรุงรักษาสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้านจัดสรร
๒.๓ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นสาธารณะประโยชน์
๓.ผู้จัดสรรที่ดินหมู่บ้านฟอร์จูนซึ่งมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินของถนนในโครงการหมู่บ้าน เมื่อไม่ได้ปิดกั้นและหวงห้ามประชาชนทั้งในและนอกโครงการในการใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน เป็นทางสัญจรเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี โดยไม่มีการหวงกัน ไม่มีการแลกบัตรผู้ที่จะเข้าไปภายในหมู่บ้าน(กรณีบุคคลภายนอกหมู่บ้านในโครงการ) ถือได้ว่ามีการอุทิศถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว ถนนดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔(๒) โดยไม่จำต้องจดทะเบียน และไม่ต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้นเทศบาลซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคำนึงถึงส่วนรวมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล ทำงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบ ประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งยังมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางบก ดูแลรักษาความสะอาดในถนน ทางเดิน ที่สาธารณะ รวมทั้งจัดเก็บขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกุล ตามพรบ.เทศบาลฯ มาตรา ๕๐(๒)(๓)และ ๕๓(๑) จึงมีอำนาจเข้าไปซ่อมบำรุงรักษาถนนภายในหมู่บ้านดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องรอให้ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดอุทิศหรือโอนถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะเสียก่อนแต่อย่างใด
๔. เมื่อถนนดังกล่าวถือว่าอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว ถนนดังกล่าวตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าใช้สรอยได้ การที่เทศบาลเข้าไปทำการซ่อมแซมถนน จึงไม่ใช่การรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของเจ้าของที่ดินตามโฉนดแต่อย่างใด ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒,๓๖๕(๒) และเมื่อเทศบาลมีอำนาจในการดูแลรักษาและจัดให้มีทางบก และมีหน้าที่บำรุงรักษาที่สาธารณะ การที่เทศบาลเข้าไปดำเนินการซ่อมถนนจึงไม่ใช่การกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๘ ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ไม่อาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเทศบาลในความผิดดังกล่าวได้
๕.เมื่อถนนดังกล่าวถือว่าอุทิศให้โดยปริยาย ถนนดังกล่าวเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจึงโอนแก่กันไม่ได้เว้นอาศัยอำนาจกฏหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกา และไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับทรัยพ์สินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ และไม่สามารถยึดทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๓๐๕,๑๓๐๖,๑๓๐๗

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หมูบ้านหนึ่ง ณ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
หมู่บ้านตั้งมานานกว่า 20 ปี แต่ถนนไม่ได้มอบให้เป็นสาธารณะ ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ
และหมู่บ้านก็มิได้รับผิดชอบดูแลให้ ชาวบ้านต้องติดไฟทางเอง ขุดลอกท่อเอง อีกทั้งหมู่บ้านยังสร้างหมู่บ้านต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ถนนทรุด หมู่บ้านเป็นที่ทิ้งขยะถมเพื่อสร้างหมู่บ้าน ทำให้ชาวชุมชนประสบกับปัญหามลภาวะ ขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านตามหลักการสิทธิชุมชน
ขอรบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูง