๑.อัยการมอบฟ้องให้เจ้าหน้าที่สนง.อัยการมายื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นประกาศเรียกโจทก์และให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์มาศาลเพื่อสอบถาม แต่โจทก์ไม่มา เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นนัดโจทก์มาศาลเพื่อสอบถามเป็นเรื่องอะไรถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลจะยกฟ้องเพราะเหตุนี้ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๖,๑๘๑ ไมได้ โจทก์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์มายื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยไม่มีใบมอบฉันทะตาม ปวพ มาตรา ๖๔ ปวอ มาตรา ๑๕ การยื่นฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ปวพ มาตรา ๒๗ ปวอ มาตรา ๑๕ พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งประทับฟ้องเป็นไม่รับฟ้อง คำพิพากษาฏีกา๑๓๓๑/๒๕๔๒
๒.คำร้องของผู้เสียหายที่ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณา ประกอบคำแถลงของโจทก์ รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑ กค ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๓๙ นาฬิกา โจทก์มอบคำฟ้องให้เจ้าหน้าที่มายื่นต่อศาล โดยจำเลยมาศาล แต่โจทก์ไม่ได้มาศาล เมื่อปรากฏว่าโจทก์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่มีใบมอบฉันทะตาม ปวพ มาตรา ๑๕ พรบล.ศาลแขวงฯ มาตรา ๔ การยื่นฟ้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความใน ปวพ มาตรา ๒๗ ประกอบ ปวอ มาตรา ๑๕และพรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๔ ให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบ (เทียบคำพิพากษาฏีกา ๑๓๓๑/๒๕๔๒ ) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นมา ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น และที่อุทธรณ์ว่า พนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่ตามองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔(๒) การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ จึงเป็นการดำเนินคดีในฐานะทนายแผ่นดินตามที่กฎหมายรับรอง นั้นเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการแม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ก็ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน คดีหมายเลขดำที่ ๒๗๓๙/๒๕๕๘ ของศาลแขวง.............
ข้อสังเกต๑. ในบทบัญญัติเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง หากโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้อง หากเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้จะสั่งเลื่อนคดีไปก่อนก็ได้ การที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากโจทก์ร้องเข้ามาภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง โดยแสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนใหม่ ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ แต่ในคดีที่ราษฏร์เป็นโจทก์แล้วศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแล้วโดยเป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ตัดสิทธิ์พนักงานอัยการที่จะนำฟ้องมายื่น ปวอ มาตรา ๑๖๖ ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติในเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่ง ปวอ มาตรา ๑๘๑ ให้นำบทบัญญัตินี้มาใช้ในเรื่องการพิจารณาด้วย
๒.กรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายในข้อที่ม่งหมายจะยังการให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน การยื่น การส่ง คำคู่ความหรือเอกสาร หรือในการพิจารณาคดี หรือในการพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความที่เสียหายเนื่องจากาการไม่ปฏิบัติตามสิ่งเช่นว่านั้น จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
๓.การคัดค้านเรื่องผิดระเบียบอาจยกขึ้นในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า ๘ วันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่คู่ความฝ่ายนั้นต้องไม่ได้ดำเนินการอันหนึ่งอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องที่ผิดระเบียบหรือให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น
๔.เมื่อศาลสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ อันไม่ใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นๆภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ เพียงเท่านี้ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นๆใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ ปวพ มาตรา ๒๗
๕.พนักงานอัยการต้องนำฟ้องไปยื่นเองเพราะตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๑๙ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการโจทก์สามารถฟ้องเป็นหนังสือหรือฟ้องด้วยวาจาได้ ซึ่งหากเป็นการฟ้องด้วยวาจาเป็นหน้าที่โจทก์ต้องแถลงชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่ สัญชาติจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง ละลายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราตามกฎหมายที่บัญญัติว่ากากรกระทำเป็นความผิด เพื่อให้ศาลบันทึกสาระสำคัญไว้เป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อไว้ ตาม พรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๑๙ วรรคสี่ หากโจทก์ไม่มาศาล ศาลไม่สามารถสอบถามข้อเท็จและให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือมือชื่อไว้เป็นหลักฐานได้ หรือแม้จะฟ้องเป็นหนังสือเข้าไป จำเลยเองก็สามารถให้การด้วยวาจาหรือจะทำเป็นหนังสือก็ได้ หากจำเลยให้การเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา ศาลก็จะจดบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ หากโจทก์ไม่มาศาลแล้วก็ไม่สามารถแถลงข้อความจริงตามที่ศาลต้องการและไม่สามารถลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้
๖.การที่พนักงานอัยการมอบให้เจ้าหน้าที่มายื่นฟ้องแล้วศาลชั้นต้นประกาศเรียกโจทก์และให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์มาศาลเพื่อสอบถาม แต่โจทก์ไม่มา เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นนัดโจทก์มาศาลเพื่อสอบถามเป็นเรื่องอะไรถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๖ประกอบมาตรา ๑๘๑ ที่ศาลจะสามารถยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดได้ ทางแก้ศาลอาจไม่รับฟ้องแล้วจำหน่ายคดีจากสารบบความเพราะไม่มีการมอบฉันทะให้มายื่นฟ้องซึ่งก็เป็นเรื่องการยื่นคำคู่ความที่ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือคืนฟ้องให้โจทก์รับไปดำเนินการให้ถูกต้องโดยโจทก์ต้องนำฟ้องมาเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเอาฟ้องมายื่นแทน
๗. โจทก์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์มายื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยไม่มีใบมอบฉันทะตาม ปวพ มาตรา ๖๔ ปวอ มาตรา ๑๕ การยื่นฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ เป็นการดำเนินการที่ผิดระเบียบ ตาม ปวพ มาตรา ๒๗. ปวอ มาตรา. ๑๕ ซึ่งบัญญัติให้นำกระบวนพิจารณาแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยคู่ความสามารถแต่งตั้งให้บุคคลใดทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนได้โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเมื่อยื่นฟ้องแล้วหากจำเลยปฏิเสธอาจต้องมีการกำหนดวันพิจารณา หรือวันสืบพยานหรืออาจต้องฟังการชี้ขาดของศาลหรือสลักหลังรับรู้ข้อความนั้นๆ หรือรับสำเนาคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่นของฝ่ายจำเลยก็ได้การที่ให้นำฟ้องมายื่นโดยไม่มาการมอบฉันทะให้เอาฟ้องมายื่น คนที่เอาฟ้องมายื่นไม่มีอำนาจในการรับรู้รับฟังหรือรับเอกสารหรือทราบคำสั่งจากศาลหรือจากจำเลยได้
๘. การยื่นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่น อัยการไม่นำฟ้องมายื่นเองและไม่ได้มอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่นำฟ้องมายื่นแทนแล้ว ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่จะยังการให้เป็นไปตามความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นหรือส่งคำคู่ความหรือในการพิจารณาคดี อันเป็นการการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ปวพ มาตรา ๒๗ ที่ปวอ มาตรา ๑๕ ที่ให้นำบทบัญญัติใน ปวพ มาใช้บังคับกรณีบทบัญญัติใน ปวอ ไม่ได้บัญญัติไว้ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕,๒๒๕ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ตาม
๙,.ข้ออ้างว่า พนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่ตามองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔(๒) การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ จึงเป็นการดำเนินคดีในฐานะทนายแผ่นดินตามที่กฎหมายรับรอง นั้นเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการแม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ก็ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ต่างจากราษฏร์ทั่วไป
๑๐.การที่ศาลฏีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งประทับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องนั้น แม้คำพิพากษานี้ยังไม่ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่อย่างไร? แม้ยังอยู่ในอายุความฟ้องร้อง มีปัญหาว่าสามารถนำมาแก้ไขและยื่นฟ้องใหม่ได้หรือไม่? เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายตามกฎหมายหรือไม่? เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่อย่างไร? หากเป็นการยกฟ้องเพราะไม่มาตามกำหนดนัดตาม ปวอ มาตรา ๑๖๖ แล้วกฏหมายบัญญัติว่า หากเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้จะสั่งเลื่อนคดีไปก่อนก็ได้ การที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากโจทก์ร้องเข้ามาภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง โดยแสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนใหม่ ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ แต่ในคดีที่ราษฏร์เป็นโจทก์แล้วศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแล้วโดยเป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ตัดสิทธิ์พนักงานอัยการที่จะนำฟ้องมายื่น ปวอ มาตรา ๑๖๖ ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติในเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่ง ปวอ มาตรา ๑๘๑ ให้นำบทบัญญัตินี้มาใช้ในเรื่องการพิจารณาด้วย กฎหมายบัญญัติให้ต้องร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ด้วยการไต่สวนมามีเหตุจงใจหรือไม่อย่างไรเหตุใดจึงไม่มาตามกำหนดนัด กฎหมายบัญญัติว่าไม่สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลไต่สวนว่ามีเหตุอันควรที่จะขอพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เมื่อกฎหมายบัญญัติติไว้เป็นพิเศษแล้วก็ไม่น่าที่จะนำมาฟ้องใหม่ได้ ไม่งั้นบทบัญญั ติใน ปวอ มาตรา ๑๖๖ ก็เป็นหมั่น โดยทุกคนจะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อยื่นฟ้องใหม่กันหมด เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ
๑๑ การที่พนักงานอัยการต้องนำฟ้องไปยื่นต่อศาลก็มีข้อดีหลายอย่างคือ
๑๑.๑ หากฟ้องมีปัญหาสามารถแก้ไขได้ทันที ส่วนใหญ่มักจะลืม เหตุเกิดที่ไหน หากนำฟ้องไปยื่นเองก็สามารถแก้ไขได้ทันที ไม่ต้องมีการปลอมลายมือชื่ออัยการโดยคนที่นำฟ้องไปยื่น
๑๑.๒ กันการแอบอ้างว่า ต้องเสียเงินให้อัยการจึงจะนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้องศาล ซึ่งมักจะเกิดในคดีศาลแขวง ที่มีหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมบางหน่วยแอบอ้างว่า การที่อัยการยื่นฟ้องต้องเสียเงินไม่งั้นอัยการไม่ยื่นฟ้องให้ ดังนั้นการที่อัยการถือฟ้องไปเองจะได้ตัดข้อครหาดังกล่าวว่าต้องเสียเงินให้อัยการ อัยการจึงจะนำฟ้องไปยื่น
๑๑.๓.ป้องกันปัญหาการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา เมื่ออัยการถือฟ้องไปยื่นเอง ศาลจะได้รู้ว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ หรือเปลี่ยนตอนนำตัวไปยื่นฟ้อง หรือเปลี่ยนตัวในเรือนจำ หรือเปลี่ยนตัวในชั้นศาล
๑๑.๔ป้องกันการแก้ไขฟ้องโดยพละการของเจ้าหน้าที่อัยการ ที่อาจแก้ไขฟ้องให้แตกต่างไปจากที่อัยการยื่นฟ้องโดยประสงค์จะช่วยผู้ต้องหาให้รับโทษน้อยลง หรือได้รับการรอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ เช่น อัยการฟ้องจำเลยมีเมทแอมเฟตตามีน(ยาบ้า)ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย หากอัยการไม่ได้ถือฟ้องไปเองแต่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ถือฟ้องไป หากเจ้าหน้าที่ทุจริตอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาโดยพิมพ์ฟ้องแผ่นแรกใหม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตตามีน(ยาบ้า)ไว้ในความครอบครอง ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าการมีเมทแอมเฟตตามีน(ยาบ้า)ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตตามีน เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้จำเลยได้รับโทษน้อยลงหรือได้รับการรอการลงโทษ ดังนั้น หากอัยการถือฟ้องไปเองย่อมตัดปัญหาดังกล่าว
๑๑.๕สามารถอธิบายฟ้องให้ศาลทราบได้ทันทีกรณีที่ศาลสงสัยในฟ้องว่าฟ้องต้องการอะไร
๑๒.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การนำบทบัญญัติทางกฎหมาย “สบัญญัติ” มาตัดฟ้องกฎหมาย “สารบัญญัติ” แล้ว ผลที่ได้เป็นอย่างไร? ยกฟ้องเพราะไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยยังไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาว่าจำเลยทำผิดหรือไม่อย่างไร? หากจำเลยทำผิดจริงแต่มีการยกฟ้องเพราะไม่ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ความเสียหายเกิดแก่ใคร? ใครเสียหาย? สามารถอลุมอหลวยหรือแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่อย่างไร เพื่อที่จะได้นำพยานมาสืบกันว่า จำเลยทำผิดหรือไม่อย่างไร จำเลยบางคนก็อยากให้ศาลยกฟ้องเพราะศาลฟังพยานหลักฐานแล้วเชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด หรือการกระทำจำเลยไม่ผิดกฎหมาย มากกว่าที่จะมายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย “ สบัญญัติ” เหมือนการเสียแชมป์ เสียเข็มขัดบนตาชั่งเพราะทำน้ำหนักตัวไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าหากขึ้นชกกันแล้วใครแพ้ใครชนะ แต่มาแพ้ทางเทคนิค ในขณะเดียวกันก็ต้องให้อัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาตัวเองว่าเป็นอย่างไร จะถือแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมายาวนานโดยไม่ดูกฎหมายก็ลำบาก เพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ทางปฏิบัติที่เป็นประเพณีอาจใช้ได้ที่หนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกที่หนึ่ง หรือใช้ได้กับบุคคลหนึ่งแต่ใช้ไม่ได้กับอีกบุคคลหนึ่ง ฝากไว้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น