ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

“เริ่มนับอายุความ”

๑.ความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ถูกจับกุม คำพิพากษาฏีกา๑๓๘/๒๕๐๗
๒.ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดเกิดขึ้นนับแต่วันที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อเนื่องไปถึงวันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความเริ่มนับแต่วันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ หาใช่ต่อเนื่องกันตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ คำพิพากษาฏีกา๑๖๕๔/๒๕๑๒
๓.เข้าในราชอาณาจักรโดยใช้หนังสือเดินทางคนอื่น แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ตนมีชื่อในหนังสือเดินทางนั้น ความผิดฐานแจ้งความเท็จเกิดตั้งแต่วันที่ทำการแจ้งความเท็จ ไม่ใช่วันที่เจ้าพนักงานรู้ว่าเป็นการกระทำความผิด ส่วนการอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมา คำพิพากษาฏีกา ๘๐๘/๒๕๒๐
๔.ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปปลูกเรือนในที่ดินคนอื่นความผิดเกิดเมื่อเข้าไปปลูกเรือนในที่คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หาใช่เป็นความผิดตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนที่ปลูก หรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ คำพิพากษาฏีกา๔๕๓/๒๕๒๒,๒๒๕๓/๒๕๓๑
๕.คนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละปี ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ความผิดในปีสุดท้ายจึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๒๔๐/๒๕๒๓
๖.ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่ได้รื้อถอน คำพิพากษาฎีกา ๗๓๓๐/๒๕๔๐
๗.เข้าไปถือการครอบครองที่ดินของรัฐเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังยึดถือครอบครอง คำพิพากษาฏีกา ๑๓๙๙/๒๕๔๘
๘.ยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อพ้นกำหนด เป็นความผิดทันทีที่ยื่นพ้นกำหนด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง การปรับเป็นรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นเพียงบทบังคับให้ต้องกระทำโดยเร็ว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน คำพิพากษาฏีกา๒๒๐๐/๒๕๔๘
๙.ยื่นฟ้องภายในอายุความ จำเลยหลบหนี ได้ตัวมาอีกครั้งเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว ถือคดีขาดอายุความต้องปล่อยตัวจำเลยไป จะดำเนินคดีกับจำเลยไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๗๓๕/๒๕๑๔
๑๐.อายุความคดีอาญาเป็นเรื่องเฉพาะจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๔ มาใช้ไม่ได้ คดีแรกฟ้องภายในอายุความแต่ฟ้องผิดศาล ศาลจำหน่ายคดีเพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล การนำคดีมาฟ้องใหม่ ณ ศาลที่มีเขตอำนาจต้องฟ้องภายในอายุความด้วย คำพิพากษาฏีกา ๕๘๘/๒๕๔๖,๔๓๑๑/๒๕๔๘
๑๑.ฟ้องภายในอายุความ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีภายในอายุความ คดีขาดอายุความ จะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๙๘๖/๒๕๑๔
๑๒.บทบัญญัติตาม มาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องและได้ตัวมาศาล อายุความจึงหยุดนับตาม ปอ มาตรา ๙๕ เป็นบททั่วไปใช้ทั้งพนักงานอัยการและราษฏร์ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๐/๒๕๒๘
๑๓.การนับอายุความนั้นมีคำพิพากษาฏีกา ๑๙๘/๒๕๐๘,๙๒๐/๒๕๕๐
ให้นับระยะเวลาตาม ปพพ ซึ่งในมาตรา ๑๙๓/๓ของ ปพพ ไม่ให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วย นั้นคือ ให้ถือวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกของการนับอายุความในคดีอาญา และนับเรื่อยไปจนกว่าคดีจะขาดอายุความหรือจนกว่าจะได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาล อายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ ถือตามอัตราโทษที่พิจารณาได้ความไม่ใช่พิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่ฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๕๔๙๔/๒๕๓๔,๒๐๖๐/๒๕๓๘ หากศาลชั้นต้นปรับบทผิดต้องถือตามมาตราที่ถูกต้อง คำพิพากษาฏีกา ๒๐๒๔/๒๕๔๓
๑๔.อายุความฟ้องคดีอาญาถือตามอัตราโทษหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่ถือตามฐานความผิดที่จำเลยได้รับ เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา ๕๕ วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓) คณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ส.ค.๒๕๔๗ จำเลยต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายพร้อมรับรองความถูกต้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายในวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๔๗ เมื่อไม่ยื่นภายในกำหนด ถือกระทำความผิดตั้งแต่วันที่๒๒ พ.ย.๒๕๔๗ เมื่อฟ้องวันที่ ๑๐ ก.ย.๒๕๕๑ คดีไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๔๙๕๘/๒๕๕๓
๑๕.ความผิดฐานบุกกรุกไม่ใช่ความผิดเกิดตลอดเวลาที่บุกรุกหรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลุกอยู่ ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕ จำคุกไม้เกิน ๕ ปี เมื่อฟ้องเกิน ๑๐ ปี คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๔๕๓/๒๕๒๒
๑๖.คดีโจทก์มีอายุความ ๑๐ ปี ต้องฟ้องและให้ได้ตัวมาภายในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ เมื่อฟ้องวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี ได้ตัวจำเลยมาพิจารณา ๒๕ มิ.ย. ๒๕๒๔ เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๐/๒๕๒๘
๑๗.ความผิดฐานพาอาวุธปืนตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ มีอายุความ ๑ ปีตาม ปอ มาตรา ๙๕(๕) เมื่อกระทำความผิด ๒๕ ธ.ค.๒๕๔๕ เมื่อฟ้องวันที่ ๑๖ ม.ค.๒๕๔๗ คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๗๐๐๗/๒๕๕๓
๑๘.ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๙๑ มีอายุความ ๑ ปี กระทำผิดวันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๓๖ ฟ้องคดีวันที่๒๗ กย ๒๕๔๔ เกิน ๑ ปี คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๙๖๕๐/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑.อายุความในคดีอาญา เป็นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้มิเช่นนั้นย่อมเสียสิทธิ์ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ เช่น
๑.๑กำหนดระยะเวลาที่ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิเช่นนั้นสิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖) ปอ มาตรา ๙๕
๑.๒หรือเป็นกำหนดระยะเวลาในการรับโทษของจำเลยที่หลบหนีการคุมขังหากไม่ได้ตัวมารับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้กระทำผิดหลบหนี หากเกินกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นอันล่วงเลยการลงโทษซึ่งจะลงโทษผู้กระทำผิดไม่ได้ ปอ มาตรา ๙๘ เป็นอายุความล่วงเลยการลงโทษ
๑.๓ หรือในความผิดต่อส่วนตัวที่ยอมความได้ นั้น เป็นกำหนดระยะเวลาที่ต้องมาร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องภายในกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ ปอ มาตรา ๙๖
๑.๔หรือเป็นกำหนดระยะเวลาที่จะฟ้องภายหลังคดีอันเป็นมูลฐานที่จะขอให้กักกัน ตาม ปอ มาตรา ๙๗
๑.๕หรือเป็นกำหนดระยะเวลายึดทรัพย์หรือกักขังแทนค่าปรับ ปอ มาตรา ๙๙
๑.๖หรือเป็นกำหนดระยะเวลาบังคับในการกักกันผู้ใด ซึ่งหากยังกักกันยังไม่ครบแล้วหลบหนี หรือพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นับแต่วันที่พ้นโทษตามคำพิพากษา หรือล่วงเลยระยะเวลาการลงโทษ เป็นอันล่วงเลยการกักกัน ปอ มาตรา ๑๐๐
๑.๗หรือเป็นกรณีบังคับตามคำสั่งศาลที่สั่งให้ทำทัณท์บนว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย ตาม ปอ มาตรา ๔๖ หรือร้องขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินเมื่อกระทำผิดทัณท์บน ตาม ปอ มาตรา ๔๗ แล้วไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จะบังคับหรือร้องขอดังกล่าวไม่ได้ ปอ มาตรา ๑๐๑
๒.การนับวันเริ่มต้นแห่งอายุความในคดีอาญา
๒.๑เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีในความผิดต่อส่วนตัวเมื่อใด ในความผิดต่อส่วนตัวหากไม่ได้ “ร้องทุกข์” หรือ “ฟ้องคดี” ภายในกำหนด ๓ เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความร้องทุกข์ สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(.๖). คำพิพากษาฏีกา ๗๓๓/๒๕๐๕ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ปวอ มาตรา ๑๒๐,๑๒๑ เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด แม้ฟ้องคดีเกิน ๓ เดือนคดีก็ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๕๔/๒๕๓๐,๗๗๑/๒๕๐๗ นั้นก็คือ หากไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน แต่ฟ้องคดีภายใน ๓ เดือน เมื่อยังไม่พ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ แล้ว คดีก็ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๗๗๓/๒๕๐๓ ปัญหาเรื่องการร้องทุกข์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือคดีขาดอายุความฟ้องร้อง หรือขาดอายุความร้องทุกข์หรือไม่เป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลสามารถยกขึ้นมาพิจารณาได้ ปวอ มาตรา ๑๙๕,.๒๒๕ในคดีแพ่งหากไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกอายุความขึ้นมายกฟ้องหาได้ไม่ ปพพ มาตรา ๑๙๓/๒๙ แม้คดีขาดอายุความในทางแพ่งก็สามารถฟ้องคดีได้เพราะมีมูลหนี้กัน เพียงแต่หากคู่ความอีกฝ่ายยกอายุความขึ้นมาตัดฟ้องตาม ปวพ มาตรา ๒๔ ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ฝ่ายที่นำคดีที่ขาดอายุความมาฟ้องก็เป็นฝ่ายแพ้คดี
๒.๒.เพื่อจะได้รู้ว่าคดีขาดอายุความเมื่อใด?.
๒.๓.อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมีหรือไม่ อำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรืออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการมีหรือไม่ ?
๒.๔เพื่อที่ผู้กระทำผิดจะได้รู้ว่าตนเองได้รับอสิระภาพโดยไม่อาจถูกดำเนินคดีได้เมื่อไหร่ ปอ มาตรา ๙๕ การที่บุคคลใดกระทำความผิดแล้วหลบหนีไปจนขาดอายุความ บุคคลนั้นต้องหลบๆซ่อนๆได้รับความทุกข์ทรมานมาพอสมควรแล้ว เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องบางคนอาจไม่คบค้า ช่วยเหลือ หรือให้ที่พักพิง ถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับโทษทางอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นโทษทางสังคมเป็นโทษทางศีลธรรมที่ต้องหลบๆซ่อนๆ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็หวาดกลัวต้องหลบหลีกใช้ชีวิตไม่เป็นไปตามปกติคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วถือบุคคลนั้นได้ถูกลงโทษมาตามสมควรแล้ว
๓. การนับอายุความในคดีอาญาพิจารณาดังนี้
๓.๑ความผิดที่สำเร็จได้ในการกระทำเพียงครั้งเดียว เช่นใช้ปืนยิงความผิดเกิดขึ้นทันที ส่วนผู้เสียหายต้องรักษาตัวเกิน ๒๐ วันหรือไม่ หรือตายในภายหลังจากถูกยิงไปแล้วหลายวัน ไม่ได้นำวันเหล่านี้มาคิด แต่ให้นำวันที่ยิงเป็นวันเริ่มนับอายุความ
๓.๒ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วยังไม่เสร็จสิ้นอาจมีการกระทำนั้นๆซ้ำๆซากได้ เช่นการพรากหญิงเพื่อการข่มขืนอนาจาร ผู้ต้องหาข่มขืนแล้วไม่ปล่อยตัวผู้เสียหายกลับแต่ยังกักขังเพื่อทำการข่มขืนต่อไปอีกหลายวันต้องเริ่มนับวันสุดท้ายที่ข่มขืนเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความ
๓.๓ ความผิดที่เกิดต่อเนื่องกันไป เช่น บุกรุก “ที่ดินของรัฐ หรือที่ป่าไม้ ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ “ ตราบใดยังบุกรุกอยู่ความผิดยังดำเนินการต่อไป จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อการกระทำผิดหมดไปคือเลิกบุกรุกหรือออกไปจากที่ดินแล้วให้เริ่มนับวันนั้นเป็นวันแรกในการเริ่มนับอายุความ แต่หากเป็นการบุกรุกที่ดิน “เอกชน” ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดไปตราบแม้ยังบุกรุกครอบครอง ต่อเนื่องต่อไป
๓.๔ความผิดบางอย่างประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเข้าด้วยกัน อาจมีการหลอกลวงจนได้ทรัพย์ไป การได้ทรัพย์อาจไม่ใช่วันที่หลอกลวงก็ได้ ได้ทรัพย์เมื่อใดวันนั้นถือเป็นวันกระทำความผิดที่ต้องเริ่มนับอายุความ เพราะองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ต้องได้ไปซึ่งทรัพย์ของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
๓.๕พยายามกระทำความผิดต้องถือเอาการกระทำอันสุดท้าย เพราะการกระทำไม่สำเร็จหรือไม่บรรลุผล
๓.๖ความผิดที่เกิดจากการละเว้นไม่กระทำ อายุความเริ่มนับแต่วันสุดท้ายที่ละเลยไม่การะทำการ เช่นไม่ไปขึ้นทะเบียนทหารภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด อายุความเริ่มนับแต่วันสุดท้ายที่กำหนดให้ไปขึ้นทะเบียนทหาร คำพิพากษาฏีกา ๖๗๑/๒๔๘๖ โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดระยะเวลาให้มาขึ้นทะเบียนทหาร เช่น ๓๐ วัน พ้นวันที่ ๓๐ ไปแล้วจึงเริ่มนับอายุความ ไม่ใช่เริ่มนับแต่วันที่ ๑ เพราะแม้ไม่มาขึ้นทะเบียนในวันที่ ๑ อาจมาขึ้นทะเบียนในวันที่ ๒๐ ก็ได้ จึงต้องถือเอาวันสุดท้ายที่ทางราชการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความในการกระทำความผิด หากไปเริ่มนับในวันที่ ๑ ผู้กระทำผิดจะหลุดพ้นจากการดำเนินคดีอาญาไปก่อนกำหนดถึง ๒๙ วัน
๔.ความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ถูกจับกุม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่ได้รื้อถอน เข้าไปถือการครอบครองที่ดินของรัฐเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังยึดถือครอบครอง ,อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมา
๕.ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดเกิดขึ้นนับแต่วันที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อเนื่องไปถึงวันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความเริ่มนับแต่วันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ หาใช่ต่อเนื่องกันตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ , ความผิดฐานแจ้งความเท็จเกิดตั้งแต่วันที่ทำการแจ้งความเท็จ ว่า ตนมีชื่อในหนังสือเดินทางนั้น ไม่ใช่วันที่เจ้าพนักงานรู้ว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ,บุกรุกเข้าไปปลูกเรือนในที่ดินคนอื่นความผิดเกิดเมื่อเข้าไปปลูกเรือนในที่คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หาใช่เป็นความผิดตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนที่ปลูก หรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ ,คนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละปี ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง, .ยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อพ้นกำหนด เป็นความผิดทันทีที่ยื่นพ้นกำหนด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
๖. ฟ้องภายในอายุความ จำเลยหลบหนี ได้ตัวมาอีกครั้งเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว ถือคดีขาดอายุความต้องปล่อยตัวจำเลยไป จะดำเนินคดีกับจำเลยไม่ได้
๗..อายุความคดีอาญาเป็นเรื่องเฉพาะจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๔ มาใช้ไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าหากไม่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแล้วให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอนุโลมใช้ ดังนั้นจะถือว่าการฟ้องคดีอาญาทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๔ ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับในอายุความ เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเมื่อใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๕ ไม่ได้ เพราะเป็นการ “ขยาย” อายุความที่ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ปอ มาตรา ๙๕ ดังนั้นการที่ฟ้องผิดศาล ศาลจำหน่ายคดีเพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล การนำคดีมาฟ้องใหม่ ณ ศาลที่มีเขตอำนาจต้องฟ้องภายในอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ ด้วย จะถือว่าการฟ้องคดีแรกทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านี้ไม่นำมานับเป็นอายุความและเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดคือมีการฟ้องคดีใหม่ ณ ศาลที่มีเขตอำนาจแล้วเมื่อใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นดังนี้ไม่ได้ เป็นการขยายอายุความในการฟ้องคดี อายุความในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่อาจขยายหรือย่นอายุความ หรือมาตกลงกันเองว่าคดีนี้มีกำหนดอายุความเท่าไหร่
๘..ฟ้องคดีอาญาภายในอายุความ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีภายในอายุความ คดีขาดอายุความ จะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้ไม่ได้ คือจะถือว่าเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาแล้วจำเลยหลบหนีไป อายุความสะดุดหยุดลงระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านี้ไม่นำมานับเป็นอายุความและเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดคือเมื่อจับตัวจำเลยได้แล้วจึงเริ่มนับอายุความใหม่ดังนี้ไม่ได้
๙.บทบัญญัติตามปอ มาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาล เป็นบททั่วไปใช้ทั้งพนักงานอัยการและราษฏร์
๑๐.การนับอายุความนั้น
ก.ให้นับระยะเวลาตาม ปพพ เพราะในคดีอาญาไม่ได้บัญญัติไว้จึงต้องนำ ปพพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา ๑๙๓/๓ของ ปพพ ไม่ให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วย นั้นคือ ให้ถือวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกของการนับอายุความในคดีอาญา และนับเรื่อยไปจนกว่าคดีจะขาดอายุความหรือจนกว่าจะได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาล
ข.อายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ ถือตาม “อัตราโทษที่พิจารณาได้ความ” ไม่ใช่พิจารณาจาก “ข้อหาหรือฐานความผิดที่ฟ้อง” หากศาลชั้นต้นปรับบทผิดต้องถือตามมาตราที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเกณท์ในการนับอายุความ
ค.อายุความฟ้องคดีอาญาถือตามอัตราโทษหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่ถือตามฐานความผิดที่จำเลยได้รับ เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา ๕๕ วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓) คณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ส.ค.๒๕๔๗ จำเลยต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายพร้อมรับรองความถูกต้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายในวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๔๗ เมื่อไม่ยื่นภายในกำหนด ถือกระทำความผิดตั้งแต่วันที่๒๒ พ.ย.๒๕๔๗ เมื่อฟ้องวันที่ ๑๐ ก.ย.๒๕๕๑ คดีไม่ขาดอายุความ
๑๑..ความผิดฐานบุกกรุกไม่ใช่ความผิดเกิดตลอดเวลาที่บุกรุกหรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕ จำคุกไม้เกิน ๕ ปี เมื่อฟ้องเกิน ๑๐ ปี คดีขาดอายุความ
๑๒.ในคดีที่ราษฏรเป็นโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาศาลภายในกำหนดอายุความ เมื่อราษฏรฟ้องเองศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องแม้จะฟ้องในวันสุดท้ายของอายุความฟ้องร้องคดีก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีมีมูลแล้ว ต้องหมายเรียกจำเลยมาแก้คดีภายในกำหนดอายุความด้วย นั้นคือ แม้ฟ้องภายในอายุความแล้วยังต้องได้ตัวมาศาลภายในกำหนดอายุความด้วย เมื่อหมายเรียกจำเลยแก้คดี ได้ตัวจำเลยมาพิจารณา เกิน กำหนดอายุความ คดีขาดอายุความ
๑๓.ความผิดลหุโทษฐานพาอาวุธปืนตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ หรือ ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๙๑ มีอายุความ ๑ ปีตาม ปอ มาตรา ๙๕(๕) จึงต้องฟ้องคดีภายใน ๑ ปี มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความ

ไม่มีความคิดเห็น: