ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ความเห็นส่วนตัวเรื่องการล่อซื้อ กับการล่อขายยาเสพติดให้โทษ ?

การล่อซื้อ = ผู้ต้องหากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วคือมียาบ้าไว้เพื่อจำหน่าย การใช้สายลับไปล่อซื้อจึงเป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐาน
การล่อขาย = ผู้ต้องหาไม่มียาบ้าในครอบครอง แต่ให้สายลับไปล่อขาย น่าจะเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ หลอกลวงให้กระทำความผิดหรือโดยมิชอบประการอื่น
------

คำพิพากษาฎีกา/การแสวงหาหลักฐานโดยวิธีล่อซื้อ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4417/2548
การใช้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้วตามอำนาจในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมพยานหลักฐาน การใช้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย มิใช่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8187/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น" และมาตรา 164 บัญญัติว่า"คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิด การเพิ่มเติมฐานความผิด ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น" เมื่อโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นการแก้ฐานความผิด ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 แต่กลับไม่ได้ปรับบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2551
การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6397/2541
ความผิดที่จำเลยกระทำเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้จำเลย จะได้กระทำในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมี อำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 การที่เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จัดหาธนบัตรให้แก่สายลับ ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ถือเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจ สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดปฏิบัติไปตามอำนาจ และหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ การที่พนักงานสอบสวนปกปิดชื่อและตัวสายลับไม่ได้ สอบปากคำของสายลับไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบดำเนินคดี และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนบุคคลใดเป็นพยานได้ การที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบปากคำสายลับไว้เป็นหลักฐานไม่ถือว่าการสอบสวนไม่ชอบ คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นไปโดยสมัครใจตามความสัตย์จริงจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2542
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อ ยาเสพติดให้โทษจากจำเลยมิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มิได้ผิดศีลธรรมหรือทำนองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้าย ป้ายสีหรือยัดเยียด ความผิดให้จำเลย หากจำเลยมิได้มี ยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อสายลับ ไปขอซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย จำเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษ จะจำหน่ายให้แก่สายลับ ความผิดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 จำเลยรับเงินจากสายลับ แล้วจำเลยไปหยิบฝิ่นมา แต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบฝิ่นให้แก่สายลับ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับ จำเลยเสียก่อน จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานจำหน่ายฝิ่น คงมีความผิดฐานพยายามจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
 
การแสวงหาพยานหลักฐานในคดีการค้าประเวณีและจำหน่ายสลากกินรวบ(หวยใต้ดิน)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1163/2518
การที่สิบตำรวจโท ว. ขอร่วมประเวณีกับจำเลยเพื่อพิสูจน์คำร้องเรียนว่ามีการค้าประเวณีในสถานที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ตามคำสั่งพนักงานสอบสวนแล้วจำเลยยอมร่วมประเวณีและรับเงินจากสิบตำรวจโท ว. นั้นไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบแต่อย่างใด
แม้จำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้เปิดสถานบริการอาบน้ำ อบนวด ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยจัดสถานที่นั้นไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณีโดยจัดให้มีหญิงบริการทำการค้าประเวณีควบคู่กันไปกับบริการอาบน้ำ อบ นวด ด้วยแล้วสถานที่ของจำเลยจึงเป็นสถานการค้าประเวณีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2504

มีผู้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยขายสลากกินรวบ โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจึงพากันไปซุ่มคอยจับโดยจัดให้ตำรวจคนหนึ่งปลอมตัวเป็นราษฎรเข้าไปขอซื้อสลากกินรวบจากจำเลย จำเลยก็ขายให้แล้วเจ้าพนักงานจึงเข้าจับจำเลยพร้อมด้วยของกลาง ดังนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานเล่นการพนันเป็นเจ้ามือขายสลากกินรวบเพราะการที่ตำรวจปลอมตัวไปซื้อสลากกินรวบจากจำเลยเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานแห่งการกระทำผิดของจำเลยตามที่มีผู้แจ้งความไว้

ไม่มีความคิดเห็น: