ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“ทุจริต”

๑. การที่พนักงานของผู้เสียหายผู้นำคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไปเก็บไว้ท้ายกระโปรงรถยนต์ของผู้เสียหายคันที่จำเลยนำไปใช้ในการทำงานนอกสถานที่โดยจำเลยไม่ทราบมาก่อน ผู้เสียหายไม่ได้สละการครอบครอง เครื่องคอมพิวเตอร์ยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย และจำเลยควรรู้ว่าผู้เสียหายจะต้องมาติดตามเอาคืน การที่จำเลยยอมให้ ณ. นำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นการที่จำเลยเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจากการครอบครองของผู้เสียหายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๓๓๓๓/๒๕๔๕
๒. ความผิดฐานยักยอกเป็นเรื่องที่ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต คำว่า “ โดยทุจริต” หมายถึงการแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาททั้งหลายในการประชุมทายาท โจทก์ขอแบ่งทรัพย์มรดก แต่จำเลยไม่ยินยอม แสดงว่ามีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง มูลความเห็นคดีเกิดขึ้นในวันดังกล่าวและโจทก์รู้เรื่องความผิดนับแต่นั้นหาได้นับตั้งแต่โจทก์ทราบว่าจำเลยขายทรัพย์มรดก คำพิพากษาฏีกา ๓๒๘๑/๒๕๕๒
๓. การที่จำเลยที่ ๑ กับพวกและผู้เสียหายนั่งดื่มเบียรอยู่ด้วยกันแล้วจำเลยที่ ๑ ล้วงกระเป๋ากางเกงผู้เสียหายหยิบกระเป๋าเงินออกมา เมื่อเห็นว่าไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าจึงล้วงหยิบเอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายออกมา โดยจำเลยที่ ๑ บอกว่าถ้าไม่ให้โทรศัพท์จะทำร้าย หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก สักครู่จำเลยที่ ๑ ก็นำโทรศัพท์มาคืนให้ผู้เสียหาย แม้จะคืนโดยโยนลงพื้นเอาเท้าเหยียบแล้วบอกผู้เสียหายคลานมาเอา พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ทำไปด้วยความคึกคะนองไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเองอันเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่เป้นความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ปอ มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง คำพิพากษาฏีกา ๑๐๐๑๕/๒๕๕๓
๔. รองเท้าแตะโจทก์ร่วมตกอยู่บริเวณประตูบ้านของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมทำหลุดไว้ เนื่องจากเหตุชกต่อยทะเลาะวิวาทชกต่อยระหว่างจำเลยกับ ส. จำเลยจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานแล้วเก็บรองเท้าเเตะของโจทก์ร่วมนำไปมอบให้พนักงานสอบสวน แสดงไม่มีเจตนาเอารองเท้าแตะไปเป็นของตนหรือผู้อื่นในลักษณะในลักษณะที่เป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธ์ในทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้จำเลยจะไม่มีสิทธิ์เก็บเอารองเท้าแตะของโจทก์ร่วมไว้ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจึงไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๔๒๐๐/๒๕๔๕
๕. จำเลยทั้งสี่ชักชวนกันด้วยความคึกคะนองเนื่องจากมันเมาสุราว่า จะดักทำร้ายผู้ที่จะขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมา เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายแล้วเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปทิ้งในคลอง โดยไม่ได้มีการพูดจาหรือตกลงกันว่าจะมาเอาในภายหลัง แสดงว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ เพราะไม่ได้กระทำที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาที่จะเอาไปเป็นของตนเองอันเป็นการแสดงเจตนาโดยทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ที่เอาไป จึงไม่มีเจตนาลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ ๑ ต้องคำพิพากษารับของโจร ภายในเวลา ๓ ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ ๑+ มากระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจึงเพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๓ ไม่ได้ แต่เพิ่มโทษ ตาม ปอ มาตรา ๙๒ แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๓ ไมได้ขอมาตรา ๙๒ มาด้วย ก็เพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๒ ซึ่งเป็ยบทเบากว่าได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๖๗๓/๒๕๓๖
๖. จำเลยขายรถยนต์และเครื่องนวดข้าวให้โจทก์ โจทก์ชำระเงินแล้วบางส่วน ยังคงค้างชำระส่วนที่เหลือ หลังจากนั้นเจ็ดเดือนเศษ จำเลยกับพวกไปหาโจทก์ที่บ้านแต่ไม่พบ ได้บอกภรรยา บุตรและน้องชายโจทก์ว่า จะเอารถยนต์และเครื่องนวดข้าวไป แล้วได้ยึดรถยนต์และเครื่องนวดข้าวไปเก็บไว้ที่บ้านจำเลยเพราะโจทก์ยังชำระราคาส่วนที่เหลือไม่ครบ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจบังคับตามสิทธิ์ของเจ้าหนี้โดยพลการไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องบังคับให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการกระทำให้โจทก์ลูกหนี้ใช้หนี้ค่ารถยนต์และเครื่องนวดข้าวที่ค้างชำระ หาได้มีเจตนาลักทรัพย์ไปโดยทุจริตไม่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๒๐๐/๒๕๔๔
๗. จำเลยเอาวิทยุมือถือของผู้เสียหายไปโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายนอนหลับ แม้จำเลยจะรู้จักผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีความสินทสนมกันถึงขนาดที่จะสามารถหยิบฉวยสิ่งของผู้เสียหายไปได้โดยพลการ แสดงว่าจำเลยเอาวิทยุมือถือของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การที่จำเลยลักเอาเครื่องส่งวิทยุไปเป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่ง เมื่อจำเลยครอบครองเครื่องส่งวิทยุนั้นต่อมาย่อมเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่ง เป็นความผิดสองกรรมต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้ฏีกาขอให้ลงโทษในความผิดฐานมีเครื่องส่งวิทยุมือถือโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดกระทงนี้ได้ คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๑๔๗/๒๕๔๐
๘. การที่จำเลยที่ ๑ เอาทรัพย์ผู้ตายไปฝังดินไว้ภายหลังการฆ่าผู้ตายโดยจะขุดมาแบ่งกับพวกเมื่อเรื่องเงียบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๓๔ แล้ว แม้จำเลยที่ ๑ จะป่วยเป็นโรคจิตและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล การที่จำเลยออกจากโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นไม่ได้ติดต่อโรงพยาบาลดังกล่าวอีก และยังคงรับราชการตำรวจอยู่จนถึงวันเกิดเกตุ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ได้หายป่วยหรือมีอาการทุเลาขึ้นจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้แล้ว ทั้งสาเหตุที่ฆ่าผู้ตายเนื่องจากผู้ตายดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อบุพการี วงศ์ตระกูล และตำแหน่งหน้าที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งย่อมเห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ รู้สึกต่อการกระทำของผู้ตายดังกล่าวจึงได้บันดาลโทสะฆ่าผู้ตาย นอกจากนี้ยังได้ความว่า จำเลยที่๑ ฆ่าผู้ตายแล้วจำเลยที่ ๑ ยังได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ซ่อนเร็นศพผู้ตายโดยทิ้งศพพร้อมรถยนต์กระบะของผู้ตายลงไปในบ่อดินลูกรังเพื่อปิดบังการตายและนำทรัพย์ต่างๆของผู้ตายที่ติดตัวผู้ตายมาฝังดินซ่อนไว้ แสดงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ยังคงความโกรธต่อการถูกด่าว่าและดูหมิ่นเหยียดหยามจากผู้ตาย มีความกลัวต่อการที่จะต้องรับโทษจากการกระทำความผิดของตนและมีความโลภที่จะได้ทรัพย์ของผู้อื่น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ฆ่าผู้ตายในขณะที่ยังไม่สามารถรู้สึกผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต คำพิพากษาฏีกา ๘๓๒๙/๒๕๔๐
๙. จำเลยเป็นข้าราชการครูมีหน้าที่ปฏิบัติราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร ได้รับมอบหายจากผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวะศึกษา ส. ซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างปรับปรุงต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส ดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้าง การที่จำเลยยอมให้ ก. นำเหล็กไลท์เกจอันเป็นวัสดุที่เหลือใช้ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยไปเก็บรักษาไว้ที่ร้าน ก. และให้ ก. เอาเหล็กดังกล่าวนั้นไปเสีย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมอาชีวศึกษาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ จำเลยรับราชการครูหน้าที่หลักคือการสอนหนังสือ การได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่พิเศษในการควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารงานที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวสำเร็จดุล่วงไปด้วยดี การที่จำเลยทุจริตร่วมกันเอาเหล็กไลท์เกจไปขายที่เป็นเหล็กที่เหลือจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารและมีราคาไม่แพงมากนัก พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดจึงไม่ร้ายแรง จำเลยรับสารภาพโดยไม่มีเรื่องเสื่อมเสียมาก่อน สมควรรอการลงโทษ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๖๑/๒๕๓๘
ข้อสังเกต ๑.การกระทำการโดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบย่อมเป็นการกระทำโดยทุจริตตาม ปอ มาตรา ๑(๑)
๒.แม้จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่ามีคนนำคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไปเก็บไว้ท้ายกระโปรงรถยนต์ของผู้เสียหายคันที่จำเลยนำไปใช้ในการทำงานนอกสถานที่ ก็ตาม แต่ ผู้เสียหายไม่ได้สละการครอบครอง เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือไม่ยึดถือซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อไปอันจะทำให้การครอบครองสิ้นสุดลงตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๗ การครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์ยังอยู่ในความยึดถือครอบครองของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยมาทราบภายหลังว่าท้ายกระโปรงรถที่จำเลยขับมีคอมพิวเตอร์อยู่ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้เสียหายต้องติดตามเอาคอมพิวเตอร์ดังกล่าวคืน การที่จำเลยนำคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปย่อมเป็นการ “แย่งการครอบครอง” ทรัพย์ของผู้เสียหายโดยจำเลยควรรู้ว่าผู้เสียหายจะต้องมาติดตามเอาคืน หาใช่เป็นกรณีที่ผู้เสียหายมอบการครอบครองทรัพย์ให้จำเลยแล้วจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเสียโดยเจตนาทุจริตแต่อย่างใดไม่ 
การที่จำเลยยอมให้ ณ. นำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วน ณ. นั้น หากทราบว่าจำเลยนำคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายมาให้ ณ. ได้ใช้ประโยชน์โดยผู้เสียหายไม่ได้ยินยอมหรืออนุญาต ย่อมเป็นการ “เอาไปเสีย” หรือ “ รับไว้ด้วยประการใดๆ” ซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การรับไว้ของ ณ. เป็นความผิดฐานรับของโจรได้ 
๓..ความผิดฐานยักยอกเป็นเรื่องที่ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต คำว่า “ โดยทุจริต” หมายถึงการแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 
๔.เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาททั้งหลายในการประชุมทายาทตาม ปพพ มาตรา ๑๗๑๙, จึงเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นโดยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล(กรณีศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก)หรือตามพินัยกรรม(กรณีพินัยกรรมตั้งเป็นผู้จัดการมรดก) การที่โจทก์ขอแบ่งทรัพย์มรดก แต่จำเลยไม่ยินยอม แสดงว่ามีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลย โดยเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง อันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๕๓,๓๕๔ ถือว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันนั้นแล้วจึงต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันนั้น โดยมูลความเห็นคดีเกิดขึ้นในวันดังกล่าวและโจทก์รู้เรื่องความผิดนับแต่นั้น ความผิดหาได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่โจทก์ทราบว่าจำเลยขายทรัพย์มรดกแต่อย่างใดไม่ 
ความผิดฐานได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ผู้อื่นและกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตาม ปอ มาตรา ๓๕๓,๓๕๔ในหมวดความผิดฐานยักยอกทรัพย์(ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก)เป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๓๕๖ เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความร้องทุกข์ตาม ปอ มาตรา ๙๖ สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖) 
๕. ล้วงกระเป๋ากางเกงผู้เสียหายหยิบกระเป๋าเงินออกมา เมื่อเห็นว่าไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าจึงล้วงหยิบเอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายออกมา โดยจำเลยที่ ๑ บอกว่าถ้าไม่ให้โทรศัพท์จะทำร้ายเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ซึ่งทรัพย์สินโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายตาม ปอ มาตรา ๓๐๙แล้ว และในขณะเดียวกันก็เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ยื่นให้และยึดถือซึ่งทรัพย์นั้นแล้วอัน “น่าจะเป็น” ความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่ศาลท่านคงมองพฤติการณ์ที่หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก สักครู่ ก็นำโทรศัพท์มาคืนให้ผู้เสียหาย โดยไม่ได้ประสงค์ที่จะครอบครองใช้สอยโทรศัพท์ดังกล่าว แม้จะคืนโดยโยนลงพื้นเอาเท้าเหยียบแล้วบอกผู้เสียหายคลานมาเอา ลักษณะส่อให้เห็นว่าไม่ต้องการโทรศัพท์แต่ทำไปเพื่อเหยียบศักดิ์ศรีของผู้เสียหายโดยหากผู้เสียหายอยากได้ทรัพย์คืนต้องคลานมาเอาไม่เหลือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่เหลือศักดิ์ศรีในความเป็นผู้ชาย ศาลจึงมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำ ไปด้วยความคึกคะนองไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเองอันเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ 
๖. ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นต่างจากในคำพิพากษาโดยเห็นว่า,การที่จำเลยที่ ๑ กับพวกและผู้เสียหายนั่งดื่มเบียรอยู่ด้วยกันแล้วจำเลยที่ ๑ ล้วงกระเป๋ากางเกงผู้เสียหายหยิบกระเป๋าเงินออกมา เมื่อเห็นว่าไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าจึงล้วงหยิบเอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายออกมา โดย บอกว่าถ้าไม่ให้โทรศัพท์จะทำร้าย หากจำเลยไม่ประสงค์ต่อทรัพย์ทำไมเจาะจงล้วงกระเป๋าสตางค์ก่อน ทำไมไม่เอาหัวเข็มขัดหรือสัญญาลักษณ์ของสถาบันของผู้เสียหายไป แต่กลับมุ่งที่จะดูที่กระเป๋าสตางค์ เพียงแต่ว่า เมื่อในกระเป๋าสตางค์ไม่มีเงินจึงมุ่งมาที่โทรศัพท์มือถือแทนซึ่งสามารถนำไปขายได้ หากจำเลยไม่ประสงค์ต่อทรัพย์เมื่อดูในกระเป๋าสตางค์ไม่มีเงินก็น่าจะจบไปไม่ควรที่จะมาเอาโทรศัพท์อีก เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมก็พูดขู่เข็ญทำนองจะทำร้ายผู้เสียหาย แม้หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก สักครู่จำเลยที่ ๑ ก็นำโทรศัพท์มาคืนให้ผู้เสียหาย แม้จะคืนโดยโยนลงพื้นเอาเท้าเหยียบแล้วบอกผู้เสียหายคลานมาเอา เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์เกิดแล้วแม้เอามาคืนก็ไม่ได้ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นความผิดต่อไปไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะไม่ใช่ ทำไปด้วยความคึกคะนองและไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ แต่กระทำไปโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเองอันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ และเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ปอ มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง เป็นความเห็นส่วนตัวครับ 
๗.. การที่จำเลยถ่ายรูปรองเท้าแตะของ โจทก์ร่วมที่ตกอยู่บริเวณประตูบ้านของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมทำหลุดไว้ เนื่องจากเหตุชกต่อยทะเลาะวิวาทชกต่อ ไว้เป็นหลักฐานแล้วเก็บรองเท้าเเตะของโจทก์ร่วมนำไปมอบให้พนักงานสอบสวน แสดงไม่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยเอารองเท้าแตะไปเป็นของตนหรือผู้อื่นในลักษณะในลักษณะที่เป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธ์ในทรัพย์ของโจทก์ร่วม อีกทั้งราคารองเท้าแตะก็ไม่ได้มีราคามากมายอะไรที่จะนำไปใช้หรือนำไปขายต่อเพื่อให้ได้ราคา แม้จำเลยจะไม่มีสิทธิ์เก็บเอารองเท้าแตะของโจทก์ร่วมไว้ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจึงไม่มีเจตนาทุจริต เพราะหากจำเลยมีเจตนาที่จะเอารองเท้าแตะดังกล่าวเป็นของจำเลย จำเลยคงไม่นำไปมอบให้พนักงานสอบสวน การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ 
๘. การดักทำร้ายผู้ที่จะขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาที่กระทำด้วยความคึกคะนองเนื่องจากเมาสุรา เมื่อทำร้ายแล้วได้นำรถไปทิ้งน้ำโดยไม่ได้มีการพูดจาหรือตกลงกันว่าจะมาเอาในภายหลัง แสดงว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายด้วยความคึกคะนองโดยไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ เพราะไม่ได้กระทำที่ส่อให้เห็นว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาที่จะเอาไปเป็นของตนเองอันเป็นการแสดงเจตนาโดยทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ที่เอาไป แสดงว่า ไม่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีเจตนาลักทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ที่ต้องมีการลักทรัพย์เป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วย เมื่อไม่ผิดลักทรัพย์ก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ 
การตกลงทำร้ายคนที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมานั้นจะมีการตกลงให้เอารถไปด้วยหรือไม่ พยานฝ่ายโจทก์ไม่อาจทราบได้เพราะเป็นการร่วมตกลงกันในระหว่างพวกจำเลยด้วยกันมีแต่พวกจำเลยด้วยกันเท่านั้นที่จะรู้ว่ามีการตกลงจะเอารถไปด้วยหรือไม่ นั้นก็คือ เมื่อพยานโจทก์ไม่อาจยืนยันได้ว่าจำเลยกับพวกต้องการนำรถไปด้วยการเอาไปแอบทิ้งน้ำไว้แล้วมาเอาในภายหลังหรือไม่ จึงต้องฟังความในลักษณะเป็นคุณแก่จำเลยว่า เมื่อไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยัน ไม่มีพยานจำเลยฝ่ายใดยอมรับ จึงต้องฟังความในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยว่าไม่มีเจตนาร่วมกันที่จะเอารถไป จึงไม่มีเจตนาทุจริตที่ประสงค์อยากได้ทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อไม่ผิดฐานลักทรัพย์จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ 
แต่การที่นำรถไปทิ้งในคลองย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ารถจะได้รับความเสียหาย เกิดความเสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ในทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๘๓,๓๕๘
๙..จำเลยที่ ๑ ต้องคำพิพากษารับของโจร ภายในเวลา ๓ ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ ๑ มากระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจึงเพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๓ ไม่ได้ เพราะความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นความผิดที่ระบุไว้ใน ปอ มาตรา ๙๓(๑๑) ส่วนความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๙๓(๑๓) จึงไม่ใช่กรณีเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เมื่อพ้นโทษมาแล้วภายใน ๓ ปี กลับมากระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกตามที่บัญญัติไว้ในปอ มาตรา ๙๓.นั้นก็คือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และความผิดเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายเป็นความผิดคนละอนุมาตรากัน การมากระทำความผิดครั้งหลังจึงไม่ใช่การกลับมากระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันที่จะขอเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งตาม ปอ มาตรา ๙๓ ได้ แต่อย่างไรก็ดีก็ถือว่านับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อนแล้วกลับมากระทำผิดอีกภายในเวลา ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษ ศาลจึงเพิ่มโทษ ตาม ปอ มาตรา ๙๒ได้ อีกทั้งตาม ปอ มาตรา ๙๒ ไม่ได้บัญญัติว่าความผิดครั้งหลังต้องเป็นความผิดประเภทเดียวกับความผิดครั้งแรก ดังนั้นแม้เป็นความผิดคนละฐานความผิดกันก็ตามก็ขอเพิ่มโทษ ๑ ใน ๓ ตาม ปอ มาตรา ๙๒ได้ ซึ่งเป็นบทเบากว่าการเพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๓ ที่เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง และเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๓ ไมได้ขอตาม ปอ มาตรา ๙๒ มาด้วย ก็เพิ่มโทษตาม ปอ มาตรา ๙๒ ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้..ถือว่าโจทก์ได้ “บรรยายมาในฟ้อง” เพื่อขอเพิ่มโทษจำเลยและมี “คำขอท้ายฟ้อง” แล้วศาลจึงเพิ่มโทษจำเลยได้ ไม่ถือเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก
๑๐. ซื้อขายทรัพย์โดยชำระราคาบางส่วน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายกัน ปพพ มาตรา ๔๕๘ การส่งมอบการชำระราคาหาใช่สาระสำคัญในการซื้อขายแต่อย่างใดไม่ แม้จะยังคงค้างชำระราคากันอยู่แต่กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว การที่ผู้ซื้อไปติดตามเอาคืนเพราะยังชำระราคาไม่ครบถ้วน,เป็นการใช้อำนาจบังคับตามสิทธิ์ของเจ้าหนี้โดยพลการไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องบังคับให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการกระทำให้โจทก์ลูกหนี้ใช้หนี้ค่ารถยนต์และเครื่องนวดข้าวที่ค้างชำระ ศาลฏีกามองว่าไม่มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่มีเจตนาทุจริต เพราะคงไม่รู้กฎหมายเข้าใจเอาเองว่าสามารถกระทำได้ จึงขาดเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งในกรณีนี้เป็นการมองว่า แม้ปอ มาตรา ๖๔ จะบัญญัติว่า บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย,เพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ คือ จะแก้ตัวว่า ไม่ทราบว่า การบังคับชำระหนี้ต้องทำโดยผ่านทางวิธีการทางศาลโดยมีฟ้องคดีเพื่อยึดทรัพย์นำมาชำระหนี้ แต่จะดำเนินการบังคับคดีเองโดยพละการไม่ได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมาย ศาลจึงต้องนำหลักความเป็นธรรมมาใช้มากกว่าการนำตัวบทกฎหมายมาบังคับใช้ ผลของคำวินิจฉัยจึงเป็นแบบนี้ ซึ่งในสมัยก่อนก็เคยมีคำพิพากษาฏีกาวินิจฉัยเป็นอีกอย่างว่า การชำระหนี้ต้องกระทำทางศาลจะมาชำระหนี้กันเองตามอำเภอใจไม่ได้
๑๑..การที่ไม่มีความสนิทชิดเชื้อกันถึงขนาดที่จะหยิบฉวยสิ่งของมาโดยพละการโดยไม่ต้องบอกกล่าวเจ้าของ และทางปฏิบัติก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยดำเนินการดังนี้มาก่อน ย่อมไม่อาจอ้างวิสาสะมาหยิบฉวยสิ่งของของบุคคลอื่นมาโดยเจ้าของไม่รู้เห็นยินยอมได้ หากถือวิสาสะดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างวิสาสะมาใช้ยันว่าไม่มีเจตนาหาได้ไม่ การถือวิสาสะหยิบฉวยสิ่งของบุคคลอื่นที่เราไม่สนิทชิดเชื้อส่อเจตนาที่จะทำการลักทรัพย์สิ่งนั้น 
จำเลยเอาวิทยุมือถือของผู้เสียหายไปโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายนอนหลับ แม้จำเลยจะรู้จักผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีความสินทสนมกันถึงขนาดที่จะสามารถหยิบฉวยสิ่งของผู้เสียหายไปได้โดยพลการ การที่จำเลยเอาวิทยุมือถือของผู้เสียหายไปจึงเป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง จึงเป็นความผิดฐานลักเอาเครื่องส่งวิทยุไปเป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่ง เมื่อจำเลยครอบครองเครื่องส่งวิทยุนั้นต่อมาย่อมเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่ง ฐานมีไว้ในความครอบครองเครื่องรับวิทยุโดยไมได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดสองกรรมต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้ฏีกาขอให้ลงโทษในความผิดฐานมีเครื่องส่งวิทยุมือถือโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดกระทงนี้ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง และถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรก,วรรคสี่ 
๑๒.. การที่จำเลยที่ ๑ เอาทรัพย์ผู้ตายไปฝังดินไว้ภายหลังการฆ่าผู้ตายโดยจะขุดมาแบ่งกับพวกเมื่อเรื่องเงียบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยการแย่งการครอบครองโดยแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันส่อให้เห็นถึงเจตนาทุจริตทุจริต เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๓๔ แล้ว หากฆ่าเพื่อต้องการเอาทรัพย์ผู้เสียหายไปย่อมเป็นการฆ่าเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดฐานอื่นหรือฆ่าเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการที่ตนได้กระทำความผิดฐานอื่น ตาม ปอ มาตรา ๒๘๙(๖)(๗) 
๑๓.. ผู้กระทำผิดที่อ้างว่าป่วยเป็นโรคจิตและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องดูขณะกระทำความผิดว่ากระทำความผิดไปขณะมีจิตบกพร่องไม่สามารถรู้สึกตัวหรือเปล่า หรือยังสามารถรู้สึกตัวได้บ้าง การที่จำเลยออกจากโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นไม่ได้ติดต่อโรงพยาบาลดังกล่าวอีก แต่ยังคงรับราชการตำรวจอยู่จนถึงวันเกิดเกตุ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ได้หายป่วยหรือมีอาการทุเลาขึ้นจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้แล้ว เพราะปกติคนที่ป่วยเป็นโรคจิต หรือโรคซึมเศร้ามักต้องทานยาเพื่อระงับอาการ หากไม่ทานยาจะมีอาการคลุ้มคลังบังคับตัวเองไม่ได้ การที่จำเลยไม่ต้องทานยา ไม่มีอาการคลุ้มคลั้ง สามารถทำงานได้แสดงว่าจำเลยมีอาการหายจากโรคจิตแล้ว ทั้งสาเหตุที่ฆ่าผู้ตายเนื่องจากผู้ตายดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อบุพการี วงศ์ตระกูล และตำแหน่งหน้าที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งย่อมเห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ รู้สึกต่อการกระทำของผู้ตายดังกล่าวเป็นการข่มเหงใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกข่มเหงจึงได้กระทำตอบต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นอันเป็นการบันดาลโทสะตาม ปอ มาตรา ๗๒ ซึ่งศาลสามารถลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีอาการโกรธเมื่อถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อบุพการี วงศ์ตระกูล และตำแหน่งหน้าที่จำเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อบุพการี วงศ์ตระกูล และตำแหน่งหน้าที่ การที่จำเลยบันดาลโทสะแล้วฆ่าผู้ตาย แสดงว่าจำเลยรู้สึกตัว ไม่ได้กระทำผิดขณะป่วยเป็นโรคจิต จิตฟั่นเฟือน ทั้งเมื่อได้กระทำผิดแล้วจำเลยที่ ๑ ยังได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ซ่อนเร็นศพผู้ตายโดยทิ้งศพพร้อมรถยนต์กระบะของผู้ตายลงไปในบ่อดินลูกรังเพื่อปิดบังการตายและนำทรัพย์ต่างๆของผู้ตายที่ติดตัวผู้ตายมาฝังดินซ่อนไว้ แสดงว่าขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบชั่วดียังสามารถบังคับการกระทำของตนได้หาได้กระทำผิดในขณะวิกลจริตหรือทำผิดในขณะจิตฟั่นเฟือน ขณะ เกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ยังคงความโกรธต่อการถูกด่าว่าและดูหมิ่นเหยียดหยามจากผู้ตาย มีความกลัวต่อการที่จะต้องรับโทษจากการกระทำความผิดของตนและมีความโลภที่จะได้ทรัพย์ของผู้อื่น ข้อเท็จจริง “ฟังไม่ได้ว่า” จำเลยที่ ๑ ฆ่าผู้ตายในขณะที่ยังไม่สามารถรู้สึกผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต จึงต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยเจตนา
๑๕.แม้จำเลยเป็นข้าราชการครูมีหน้าที่ปฏิบัติราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. แต่เมื่อได้รับมอบหายจากผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวะศึกษา ส. ซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. จำเลยจึงมีฐานะเป็น “ เจ้าพนักงาน” ผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างปรับปรุงต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส ดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้าง 
การที่จำเลยยอมให้ ก. นำเหล็กไลท์เกจอันเป็นวัสดุที่เหลือใช้ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยไปเก็บรักษาไว้ที่ร้าน ก. และให้ ก. เอาเหล็กดังกล่าวนั้นไปเสีย จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายสำหรับผู้อื่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมอาชีวศึกษาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ปอ มาตรา ๑๕๗
จำเลยรับราชการครูหน้าที่หลักคือการสอนหนังสือ แต่เมื่อได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่พิเศษในการควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารงานที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวสำเร็จดุล่วงไปด้วยดี การที่จำเลยทุจริตร่วมกันเอาเหล็กไลท์เกจไปขายที่เป็นเหล็กที่เหลือจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารและมีราคาไม่แพงมากนัก พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดจึงไม่ร้ายแรง จำเลยรับสารภาพโดยไม่มีเรื่องเสื่อมเสียมาก่อน สมควรรอการลงโทษ

ไม่มีความคิดเห็น: