ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“ต่อสู้ขัดขวาง”

อำนาจตำรวจในการจับกุมตรวจค้น 
๑.จำเลยที่ ๑ ฏีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อ้างเหตุพยานโจทก์ที่นำมาสืบฟังไม่ได้ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ ๑มีไว้ใช้ยิงได้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นอาวุธปืนตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิด ปัญหาว่าอาวุธปืนยิงได้หรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาว่าจำเลยที่๑ ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยอ้างว่าขณะที่เจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นและจับกุมพวกลักลอบเล่นการพนัน ตำรวจไม่มีหมายค้นหมายจับจึงไม่อาจตรวจค้นจับกุมได้ จำเลยที่ ๑ เข้าขัดขวางการจับกุมไม่มีความผิด แม้ปัญหานี้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฏีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕วรรคสอง,๒๒๕ ในขณะเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีหมายจับหมายค้น แต่เห็นว่ามีการเล่นการพนันอันเป็นความผิดซึ่งหน้า หากไม่เข้าจับกุมตรวจค้นทันทีตามที่พลเมืองดีแจ้ง ผู้ต้องหาอาจหลบหนีไปได้เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งจึงตรวจค้นในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายค้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๒),๙๖(๒) จึงเป็นการจับกุมตรวจค้นโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยเข้าขัดขวางการจับกุมโดยใช้มือดึงผู้เล่นการพนันให้ออกไปจึงมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคแรก การปรับบทความผิดและลงโทษจำเลยที่ ๑เป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฏีกา ศาลฏีกาก็มีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ ๒ได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๑๓,๒๒๕ คำพิพากษาฏีกา ๔๙๕๐/๒๕๔๐
๑. จำเลยใช้มือผลักและตัวดันเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตตามีนบรรจุอยู่จากมือเจ้าหน้าที่ไปใส่ปากเคี้ยวเพื่อทำลายหลักฐานนั้นเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมสิ่งของที่ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือได้สืบทราบมา จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยใช้มือผลักเจ้าหน้าที่ตำรวจกระเด็นไปติดประตูแล้วใช้ตัวดันเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตตามีนบรรจุอยู่มาใส่ปากเพื่อเคี้ยวทำลายหลักฐาน จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการผลักและดันจำเลยว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามกฏหมายแล้วแม้จำเลยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ต่อผลในการที่จะกระทำต่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าพนักงานก็ตามก็เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคสอง คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๘๕๐/๒๕๔๓
๒. จำเลยที่ ๑ ถูกตำรวจจับในข้อหาลักทรัพย์ ควบคุมตัวไปที่รถโดย สิบตำรวจโท ศ กับดาบตำรวจ อ. เดินขนาบข้างคล้องแขนจำเลยที่ ๑ ไว้คนละข้าง จำเลยที่ ๒กับพวก ๑๐ ถึง ๑๕ คน เข้ามาแย่งตัวจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒เข้ามาดึงตัวจำเลยที่ ๑ออกไปและถีบ สิบตำรวจโท ศ กับดาบตำรวจ อ. จำเลยที่ ๑ ได้พยายามดิ้นรนให้พ้นจากการถูกควบคุมแม้ขณะดิ้นรนจะเป็นเหตุให้เท้าไปถูก โดย สิบตำรวจโท ศ กับดาบตำรวจ อ. ก็ตาม ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตาม ปอ มาตรา ๑๔๐ คำพิพากษาฏีกาที่ ๕๙๘๐/๒๕๔๐
๓. สิบตำรวจตรี ส. เบิกความว่า วิ่งไล่ตามจำเลยจนทันแล้ว จำเลยหันกลับมาใช้มือปัดป้องไม่ยอมให้เข้าใกล้ เมื่อเข้าไปกอดและพยายามทำให้จำเลยคว่ำหน้าลง จำเลยล้มลงพร้อมพยาน พยานสั่งให้จำเลยนอนอยู่เฉยๆแล้วพยานใส่กุญแจมือแล้วให้จำเลยลุกขึ้นไม่ปรากฏจำเลยใช้เท้าถีบใช้มือผลักอกอันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด การที่จำเลยใช้มือปัดป้องไม่ให้สิบตำรวจตรี ส. เข้าใกล้ตัว ยังถือไม่ได้เป็นการต่อสู่ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๘๑๙๘/๒๕๕๐
๔. จำเลยทั้งสามร่วมกันเพื่อประสงค์ในทางการค้าหรือโดยการค้าทำให้แพร่หลายด้วยการฉายภาพยนตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นภาพลามกอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๘๗(๑) การขัดขวางไม่ให้ตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นภายในห้องซึ่งนำเครื่องฉายภาพยนต์และฟิลม์เก็บไว้ แสดงว่าประสงค์ไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นจับกุมลุล่วงไปโดยสะดวก เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๒๑๒๘/๒๕๓๓
๕. คำว่า “ เจ้าบ้าน “ ตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๕) หมายถึงผู้เป็นหัวหน้าของบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น ตลอดถึงคู่สมรสของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการครอบครองบ้าน และปกครองผู้อยู่อาศัยภายในบ้านหลังนั้นหาได้รวมถึงทุกคนที่อยู่ในบ้านไม่ ทะเบียนบ้านหลังเกิดเหตุมี บ. บิดาจำเลยเป็นหัวหน้า มีชื่อจำเลยอยู่ในฐานะเป็นบุตร จำเลยจึงไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าบ้าน การที่ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านดังกล่าวตามหมายจับแต่ไม่มีหมายค้น ทั้งผู้เสียหายกับพวกก็ไม่ใช่พนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่จะทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย จึงเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ตาม ปวอ มาตรา ๘๑ เป็นการจับโดยไม่มีอำนาจ จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการจับกุมโดยไม่ชอบ หากจำเลยต่อยผู้เสียหายจริงก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่และทำร้ายร่างกาย คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๐๓๕/๒๕๓๖
๖. โรงไม้เป็นที่พักอาศัยของยามที่โรงไม้หยุดดำเนินการ ภายในบริเวณโรงไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่ที่สาธารณะ แต่เป็นที่รโหฐานตาม ปวอ มาตรา ๒(๑๓) แม้โจทก์ร่วมมีอำนาจจับกุมจำเลยเพราะเป็นกรณีมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำผิดและแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้วตาม ปวอ มาตรา๗๘(๔) แต่การจับกุมดังกล่าวต้องไม่ใช่การจับกุมในที่รโหฐาน เพราะตาม ปวอ มาตรา ๘๑ บัญญัติว่า จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามห้ามไม่ให้จับกุมในที่รโหฐานเว้นแต่ได้ทำตามบทบัญญัติว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ซึ่งพฤติกรรมของโจทก์ร่วมก็ไม่เข้าข้อยกเว้น การที่โจทก์ร่วมกับพวกเข้าจับกุมจำเลยในที่รโหฐาน เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ ปราศจากอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้จำเลยต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมจริง การกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมาย คำพิพากษาฏีกาที่ ๒๙๑๔/๒๕๓๗
๗. สิบตำรวจตรี ส. กับพวกแต่งกายในเครื่องแบบร่วมกันจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนัน ก่อนจับกุมไปขอแบ่งรายได้ที่เก็บจากการเล่นการพนันจาก ก. แต่ ก. ปฏิเสธ สิบตำรวจตรี ส. จึงพูดทำนองข่มขู่ หลังจากนั้นจึงได้ไปในที่เล่นการพนัน โดยได้ร้องตะโกนให้พวกเล่นการพนันหลบหนี โดยไม่ได้เข้าจับกุมบุคคลเหล่านั้นแต่อย่างใด แต่ได้ยึดเครื่องมือในการเล่นการพนันและเงินสดโดยไม่ได้ทำบันทึกการยึดของกลางไว้ การกระทำดังกล่าวหาใช่การกระทำในหน้าที่ในการจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไม่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๗๑๕๒/๒๕๓๘
๘. ผู้เสียหายที่ ๑ สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยึดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่กระทำการตามหน้าที่ ทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยชกต่อยใช้มีดแทงเพื่อขัดขวางไม่ให้เข้าตรวจค้นจับกุม ก็หามีความผิดฐานต่อสู่ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ แม้ชั้นสอบสวนให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า โดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลชั้นต้นลดโทษและกำหนดโทษให้จำเลย แต่คำนวณโทษไม่ถูกต้องครบถ้วน เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ฏีกาในปัญหานี้ ศาลฏีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามโทษจำคุกที่ถูกต้องได้เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษต้องห้ามตาม ปวอ มาตรา ๒๑๒คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๙๕๔/๒๕๔๖
๑๐.การกระทำที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานทีกระทำการตามหน้าที่ ต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้ พรบ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๖(๒) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานปกครองหรือตำรวจ มาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างการทำการในหน้าที่ “ ให้ถือว่า “ เป็น “ เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมายลักษณะอาญา บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมาย และให้ถือว่าผู้เสียหายเป็น “ เจ้าพนักงาน” เมื่อปรากฏ เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีเพียงหน้าที่ เพียงสกัดกั้นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจจับกุม หากจะจับต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองอยู่ด้วย การที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมร่วมกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึง “ไม่ใช่” เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๗๙๘๕/๒๕๔๐
๑๑.จำเลยที่ ๑ เข้าไปเรียกผู้โดยสารในท่าอากาศยาน ไม่ปรากฏว่ารบกวนผู้โดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด เป็นเพียงการชักชวนผู้โดยสารให้ใช้บริการแท็กซี่ของจำเลยที่ ๑ แม้ทำให้แท็กซี่ที่อยู่ในความควบคุมของท่าอากาศยานขาดรายได้ไปบ้าง ก็ไม่ถือมีความผิดรบกวนผู้โดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๘ ข้อ ๘(๖)ง ออกตามความในพรบ. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔(๒) นาย ต. หัวหน้าฝ่ายเวรรักษาความปลอดภัยเป็น “ พนักงาน” ตามประกาศกระทรวงคมนาคมา เรื่องแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามพรบ.การท่าอากาศยานต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ วันที่ ๖ กพ ๒๕๓๐ ข้อ ๒.๑ แต่ตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็น “ เจ้าพนักงาน” ตามกฏหมาย นาย ต.รับทราบทางวิทยุว่า จำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องโดยสารขาเข้า จึงสั่งให้ อ. กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากไม่ยอมออกไปให้ทำการจับกุม ต่อมา ๑๐ นาที ต. ได้รับแจ้งว่า อ. กำลังถูกรุมทำร้าย จึงไปที่เกิดเหตุ เมื่อถึงที่เกิดเหตุ พวกจำเลยหลบหนี แสดงว่า ต. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ ต. อนุญาตให้ อ. ณ. และ ย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุม ไม่อาจถือได้ว่า ต. เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือกระทำการตามหน้าที่ เพราะ ต. ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฏิบัติการหรือกระทำการตามหน้าที่ การที่ อ,ณและ ย,เข้าจับกุมจำเลยที่ ๑ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจข้าพนักงานปฏิบัติหรือกระทำการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคสอง,๒๘๙(๓),๒๙๖ แต่เป็นการจับกุมที่ไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกต่อสู้ขัดขวาง ถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เกินสมควรกว่าเหตุ โดยปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลว่าผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายจากการเข้าจับกุมเป็นรอยถลอกและบาดแผลเล็กน้อยบริเวณแขน ข้อมือและขมับ การกระทำจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายผู้ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไมได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในอันที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตน เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้ เจ้าพนักงานต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนผู้โดยสารที่จะต้องถูกจับกุมหรือไม่ บุคคลอื่นหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานไม่อาจวินิจฉัยได้ ดังได้เห็นว่าในคดีนี้ผู้จับกุมวินิจฉัยผิดพลาดและเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้คดีในส่วนจำเลยที่สามถึงที่สุด โดยจำเลยที่สามไม่อุทธรณ์ฏีกา แต่เป็นเหตุในลักษณะแห่งคดี ศาลฏีกาเห็นสมควรยกฟ้องไปถึงจำเลยที่สามได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๑๓.๒๒๕ คำพิพากษาฏีกาที่ ๗๗/๒๕๔๑
๑๒.จำเลยกับ ศ. มีอาวุธปืนร้ายแรงคนละกระบอกไม่ได้ร่วมกันในการกระทำความผิดอื่น เมื่อถูกเจ้าพนักงานล้อมจับต่างก็วิ่งหลบหนีเจ้าพนักงานเพื่อให้พ้นการจับกุมโดยต่างคนต่างไป แม้จะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ไปคนละที่และไปห่างกัน การที่ ศ. ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานที่เข้าทำการจับกุมโดยจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงด้วย จึงเป็นการกระทำเฉพาะตัวของ ศ. จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกับ ศ.ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๙๐/๒๕๓๒
๑๓.ผู้ตายถูกกระสุนถึงแก่ความตายเนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นผู้ยิง แต่ไม่อาจระบุได้ว่าจำเลยคนใด แม้จะฟังว่าจำเลยคนหนึ่งคนใดเป็นคนยิง แต่การที่จำเลยทั้งสองต่างมีอาวุธปืนอาก้าไปร่วมชิงทรัพย์ ส่อให้เห็นเจตนาจำเลยทั้งสองว่าถ้ามีเหตุการณ์คับขันเกิดขึ้นในการชิงทรัพย์จำเลยทั้งสองจะใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้หรือขัดขวาง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกัน เมื่อยิงแล้วก็วิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ขับขี่หลบหนีไปด้วยกันโดยยิงปืนอีกหนึ่งชุด พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางและยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๕๙๕/๒๕๓๒
๑๔.จำเลยเป็นคนให้คนต่างด้าวสัญชาติลาว จำนวน ๒๐ คน โดยสารรถยนต์จากตำบลนาตาล กิ่งอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปส่งจังหวัดปทุม โดยรู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนต่างด้าวและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายจึงเป้นความผิดตาม พรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ วรรคแรกแล้ว ระหว่างทางเจ้าหน้าที่พบการกระทำผิดของจำเลยจึงเข้าจับกุมแต่จำเลยขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่โดยขับรถที่พาคนต่างด้าวพุ่งเข้าหารถทางราชการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ต่างกรรมต่างวาระอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ปอ มาตรา ๙๑ การที่จำเลยร่วมกันขับรถหลบหนีและพุ่งเข้าชนรถยนต์ของทางราชการเสียหาย จำเลยมีเจตนาที่จะกระทำขึ้นในวาระเดียวกันอันเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่กับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ตาม ปอ มาตรา ๙๐ คำพิพากษาฏีกา ๔๐๔๕/๒๕๔๕
๑๕. จำเลยรู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ ๒ กับ พวก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุม จำเลยกอดปล้ำต่อสู้ใช้มีดแทงฟันผู้เสียหายที่ ๒ เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘,๑๔๐ เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ ๒ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วย การเป็นอันตรายสาหัสตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘) ต้องป่วยเจ็บด้วยการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน แต่ผู้เสียหายมีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านหลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล ๑๑ วัน หลังจากนั้นกลับไปรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน ในระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ ๒ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติแต่ต้องไปล้างแผลทุกวัน แสดงว่าไม่ได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ จึงไม่ได้รับอันตรายสาหัสตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ปอ มาตรา ๒๙๕การที่จำเลยทำร้ายเจ้าพนักงานจึงเป้นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๙๖ คำพิพากษาฏีกา ๗๗๔/๒๕๔๘
๑๖.เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไงก็ได้ และเรียกทำเย็ดแม่ คำว่า “ เป็นนายจับอย่างไงก็ได้ “ เป็นคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวว่า ผู้เสียหายกลั่นแกล้ง ไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า ทำเย็ดแม่ เป็นคำด่า อันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย ๑ ครั้ง จนฟันหักมีเลือดไหลออกจากปาก จำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคสอง และทำร้ายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๒๙๖ อีกกระทงหนึ่ง คำพิพากษาฏีกา๕๐๑/๒๕๓๗
๑๗.จำเลยไม่ยอมให้ ร้อยตำรวจโท ว. จับกุม ได้ชกต่อย ร้อยตำรวจโท ว.ที่จะเข้าจับกุมจำเลยซึ่งทำร้ายผู้อื่นซึ่งหน้า แม้ขณะเกิดเหตุร้อยตำรวจโท ว.จะเป็นร้อยเวรสอบสวนและไปนั่งในร้านอาหารที่เกิดเหตุ แต่ ร้อยตำรวจโท ว. ก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมมีอำนาจจับกุมจำเลยที่กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ตาม ปวอ มาตรา ๗๘ การที่ ร้อยตำรวจโท ว. ทำหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนและไปนั่งในร้ายขายอาหาร ไม่ทำให้ไม่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า การกระทำจำเลยจึงเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และทำร้ายเจ้าพนักง่านที่กระทำการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกา๒๓๓๕/๒๕๑๘
ข้อสังเกต ๑.ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นความผิดตามกฎหมาย ปอ มาตรา ๑๓๘ หากการต่อสู้ขัดขวางมีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องระวางโทษสูงขึ้น ปอ มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง
๒.ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๙๖,๒๘๙(๒)(๓)
๓.ตาม พรบ. อาวุธปืนฯนั้นไม่ได้นิยามศัพท์ว่า อาวุธปืนต้องสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินได้ ทั้งในวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ อาวุธปืน” ตาม มาตรา ๔(๑) ยังบัญญัติให้ อาวุธปืนรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่สำคัญที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในกฏกระทรวง ฃึ่งในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๑ ลงวันที่ ๖ สค ๒๔๙๑บัญญัติให้สิ่งต่อไปนี้ซึ่งเป็นอาวุธปืนด้วย เช่น ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน เช่น ลำกล้อง ลูกเลื่อน ส่วนประกอบลูกเลื่อน เครื่องลั่นไกล ส่วนประกอบเครื่องลั่นไกล เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุนหรือส่วนประกอบของสิ่งเหล่านี้ เป็น “อาวุธปืน” 
๔.กรณี “ฉุกเฉินอย่างยิ่ง” ตาม ปวอ มาตรา ๙๖(๒)เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถค้นในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายค้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๒),๙๖(๒)
๕.การต่อสู้ว่า พยานโจทก์ที่นำมาสืบฟังไม่ได้ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ ๑มีไว้ใช้ยิงได้หรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นอาวุธปืนตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิด นั้นเห็นว่าตาม พรบ.อาวุธปืนฯมาตรา ๔(๑) ไม่ได้ให้นิยามศัพท์ว่า “ อาวุธปืน “ ที่จะเป็น “ อาวุธปืน” ตาม พรบ. อาวุธปืนฯนั้นต้องสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินได้ ทั้งในวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ อาวุธปืน” ตาม มาตรา ๔(๑) ยังบัญญัติให้ อาวุธปืนรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่สำคัญที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในกฏกระทรวง ฃึ่งในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๑ ลงวันที่ ๖ สค ๒๔๙๑ บัญญัติให้สิ่งต่อไปนี้ซึ่งเป็นอาวุธปืน เช่น ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน เช่น ลำกล้อง ลูกเลื่อน ส่วนประกอบลูกเลื่อน เครื่องลั่นไกล ส่วนประกอบเครื่องลั่นไกล เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุนหรือส่วนประกอบของสิ่งเหล่านี้ เป็น “อาวุธปืน”ดังนั้นแม้ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนกฎหมายยังถือว่าเป็นอาวุธปืน แม้โดยสภาพอาจใช้ยิงทำอันตรายไม่ได้ก็ตาม เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน ดังนั้นอาวุธปืนก็คืออาวุธปืน แม้ใช้ยิงได้หรือไม่ได้ก็ตาม เพียงแต่อาจเป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษเท่านั้น
๖. ปัญหาว่า “อาวุธปืนยิงได้หรือไม่” เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การที่จะสามารถอุทธรณ์ฏีกาได้หรือไม่จึงต้องอยู่ในบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ฏีกาในปัญหาข้อเท็จตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ 
๗.ปัญหาว่า “ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เพราะขณะที่เจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นและจับกุม ตำรวจไม่มีหมายค้นหมายจับจึงไม่อาจตรวจค้นจับกุมได้ การเข้าขัดขวางการจับกุมไม่มีความผิด” ปัญหาว่าสามารถจับกุมตรวจค้นโดยไม่มีหมายจับได้หรือไม่ การเข้าต่อสู้ขัดขวางการจับกุมตรวจค้นที่ไม่ได้กระทำตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สามารถกระทำได้หรือไม่ นี้เป็น “ ปัญหาข้อกฎหมาย” แม้ปัญหานี้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฏีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕วรรคสอง,๒๒๕ 
๘. แม้ในขณะเข้าตรวจค้นจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีหมายจับหมายค้น แต่เห็นว่ามีการเล่นการพนันอันเป็นความผิดซึ่งหน้า ตาม ปวอ มาตรา ๘๐ เพราะเห็นขณะกระทำความผิด หากไม่เข้าจับกุมตรวจค้นทันทีตามที่พลเมืองดีแจ้ง ผู้ต้องหาอาจหลบหนีไปได้เป็นกรณี “ฉุกเฉินอย่างยิ่ง” ตาม ปวอ มาตรา ๙๖(๒)จึงสามารถค้นในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายค้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๒),๙๖(๒) จึงเป็นการจับกุมตรวจค้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
๙.การที่จำเลยเข้าขัดขวางการจับกุมโดยใช้มือดึงผู้เล่นการพนันให้ออกไปจึงเป็นการขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคแรก การปรับบทความผิดและลงโทษจำเลยที่ ๑เป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฏีกา ศาลฏีกาก็มีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ ๒ได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๑๓,๒๒๕ 
๑๐. การใช้มือผลักและตัวดันเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตตามีนบรรจุอยู่จากมือเจ้าหน้าที่ไปใส่ปากเคี้ยวเพื่อทำลายหลักฐานนั้นเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมสิ่งของที่ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือได้สืบทราบมา จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และหากการกระทำดังกล่าวเพื่อช่วยผู้อื่นไม่ให้ต้องรับโทษก็จะมีความผิดฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นไม่ให้ต้องรับโทษทำให้เสียหายทำลายทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด และฐานช่วยผู้อื่นที่เป็นผู้กระทำความผิดอันไม่ใช่ความผิดลหุโทษโดยช่วยด้วยประการใดๆไม่ให้ถูกจับกุม ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘,๑๘๔,๑๘๙ 
๑๑. การที่จำเลยใช้มือผลักเจ้าหน้าที่ตำรวจกระเด็นไปติดประตูแล้วใช้ตัวดันเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตตามีนบรรจุอยู่มาใส่ปากเพื่อเคี้ยวทำลายหลักฐาน จำเลยย่อม “เล็งเห็นผล” ของการผลักและดันจำเลยว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามกฏหมายแล้วแม้จำเลยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ต่อผลในการที่จะกระทำต่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าพนักงานก็ตามก็เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคสอง และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๒๙๕,๒๙๖ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงตามบทหนักฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ 
๑๒. การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ควบคุมตัวคนร้ายที่กระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยเดินขนาบข้างคล้องแขน ไว้คนละข้าง พวกคนร้าย ๑๐ ถึง ๑๕ คน เข้ามาแย่งตัว โดยพวกคนร้ายเข้ามาดึงตัวคนร้ายออกไปและถีบ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองนาย คนร้ายได้พยายามดิ้นรนให้พ้นจากการถูกควบคุมแม้ขณะดิ้นรนจะเป็นเหตุให้เท้าไปถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองนายก็ตาม ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปตาม ปอ มาตรา ๑๔๐ เท้าที่ไปถูกน่าจะเป็นการดิ้นรนเพื่อให้พ้นการจับกุมมากว่าที่จะเป็นเท้าที่ใช้ทำร้ายร่างกายโดยการถีบหรือเตะ เมื่อไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำแล้วจะถือว่ามีเจตนาทำร้ายร่างกายและต่อสู้ขัดขวางการจับกุมตาม ปอ มาตรา ๕๙ หาได้ไม่
๑๓.ส่วนพวกคนร้ายมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในการช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำผิดหรือต้องหาว่ากระทำความผิดซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษด้วยประการใดๆไม่ให้ถูกจับกุมตาม ปอ มาตรา ๘๓,๑๘๙และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ตามปอ มาตรา ๘๓, ๒๙๕,๒๙๖และร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง,๑๔๐
๑๔.การที่จำเลยใช้มือปัดป้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าใกล้ตัว โดยไม่ปรากฏมีการใช้เท้าถีบใช้มือผลักอกอันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด เพียงแค่นี้ยังถือไม่ได้เป็นการต่อสู่ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ทั้งยังได้ความว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปกอดและพยายามทำให้คว่ำหน้าลง จนจำเลยล้มลงพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้จำเลยนอนอยู่เฉยๆแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่กุญแจมือแล้วให้ลุกขึ้น ก็ไม่ได้มีการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้แรงกายภาพหรือวิธีอื่นใดหรือกระทำการใดๆจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ จึงไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายใน ปอ มาตรา ๑(๖) ลำพังเพียงใช้มือปัดป้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าใกล้ตัวเท่านี้ จึงไม่ใช่การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่แต่อย่างใด
๑๕.. การขัดขวางไม่ให้ตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นภายในห้องซึ่งนำเครื่องฉายภาพยนต์และฟิลม์ภาพยนตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นภาพลามกอนาจารเก็บไว้ แสดงว่าประสงค์ไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นจับกุมลุล่วงไปโดยสะดวก เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ 
๑๖..แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าขณะเข้าตรวจค้นนั้นกำลังฉายภาพยนตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นภาพลามกอนาจารอยู่หรือไม่ หากใช่ก็เป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเป็นความผิดที่เห็นซึ่งหน้าขณะกำลังกระทำความผิดตาม ปวอ มาตรา ๘๐ ซึ่งสามารถเข้าตรวจค้นในห้องฉายภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่รโหฐานอันไม่ใช่สถานที่ที่เป็นสาธารณะสถานตาม ปอ มาตรา ๑(๓) และ ปวอ มาตรา ๒(๑๓) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๒) การเข้าขัดขวางไม่ให้ตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นภายในห้องซึ่งนำเครื่องฉายภาพยนต์และฟิลม์ภาพยนตร์ย่อม เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว
๑๗..แต่หากปรากฏว่าขณะเข้าทำการตรวจค้นไม่มีการฉายภาพยนตร์ลามกอนาจาร หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีหมายค้น ไม่มีหมายจับ การเข้าไปงัดห้องที่เก็บภาพยนตร์และฟิลม์ดังกล่าว ย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งห้องดังกล่าวอันเป็นความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๘๓,๓๕๘ และเป็นการร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขและโดยไม่มีเหตุอันควรเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันควรอันเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๘๓,๓๖๒,๓๖๔,๓๖๕(๒) อันเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การขัดขวางไม่ให้ตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นภายในห้อง ย่อมเป็นการป้องกันตามกฎหมาย หากกระทำการพอสมควรแก่เหตุย่อมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๖๘ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้างัดห้องโดยไม่มีหมายจับหมายค้น ย่อมเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ หากปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแกล้งเพื่อให้บุคคลใดต้องรับโทษ ก็เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๐๐ วรรคสองได้
๑๘.คำว่า “ เจ้าบ้าน “ ตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๕) หมายถึงผู้เป็นหัวหน้าของบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น ตลอดถึงคู่สมรสของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการครอบครองบ้าน และปกครองผู้อยู่อาศัยภายในบ้านหลังนั้นหาได้รวมถึงทุกคนที่อยู่ในบ้านไม่
๑๙. การค้นในที่รโหฐานซึ่งไม่ใช่ที่สาธารณะที่ประชาชนทุกคนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ โดยผู้ถูกจับเป็น “ เจ้าบ้าน” และการจับกุมนั้นมีหมายจับหรือเป็นกรณียกเว้นที่สามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ปวอ มาตรา ๗๘ เป็นข้อยกเว้นที่สามารถเข้าตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๕) นั้น เมื่อตามทะเบียนบ้านเกิดเหตุ บิดาจำเลยเป็นหัวหน้า จึงเป็น “ เจ้าบ้าน” ส่วนจำเลยอยู่ในฐานะเป็นบุตร จำเลยจึง “ไม่” ได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าบ้าน กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ปวอ. มาตรา ๙๒(๕) ที่สามารถจับกุม “ เจ้าบ้าน” ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น การที่ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านดังกล่าวตามหมายจับแต่ไม่มีหมายค้น ทั้งผู้เสียหายกับพวกก็ไม่ใช่พนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่จะทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย (คำพิพากษาฏีกานี้ตัดสินเมื่อพ.ศ.๒๕๓๖ซึ่งสมัยก่อนตำรวจชั้นผู้ใหญ่คือหัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไปหรือหัวหน้าสถานีตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่า ถือเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่สามารถตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ การเข้าตรวจค้นต้องมีหมายค้นจากศาลเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๑)ถึง(๕)) ในกรณีนี้จึงเป็นการเข้าตรวจค้นโดยไม่ชอบมีความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนียวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ปอ มาตรา ๘๓,๓๑๐ และเป็นการร่วมกันรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควร ตาม ปอ มาตรา ๘๓,๓๖๒,๓๖๔,๓๖๕(๒) เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ตาม ปวอ มาตรา ๘๑ เป็นการจับโดยไม่มีอำนาจ เป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและถึงแล้ว การที่จำเลยชกเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตน เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะกระทำและการกระทำได้สัดส่วนโดยการชกต่อยเพื่อป้องการบุกรุกและกระทำความผิดต่อเสรีภาพ จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการจับกุมโดยไม่ชอบ หากจำเลยต่อยผู้เสียหายจริงก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ 
๒๐. โรงไม้เป็นที่พักอาศัยของยามที่โรงไม้หยุดดำเนินการ ภายในบริเวณโรงไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่ที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ตาม ปอ มาตรา ๑(๓) แต่เป็นที่รโหฐานตาม ปวอ มาตรา ๒(๑๓)
๒๑. แม้โจทก์ร่วมมีอำนาจจับกุมจำเลยเพราะเป็นกรณีมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำผิดและแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้วตาม ปวอ มาตรา๗๘(๔)ตามกฎหมายเก่าก่อนปีพ.ศ. ๒๕๔๗ แต่การจับกุมดังกล่าวต้องไม่ใช่การจับกุมในที่รโหฐาน เพราะตาม ปวอ มาตรา ๘๑ บัญญัติว่า จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามห้ามไม่ให้จับกุมในที่รโหฐานเว้นแต่ได้ทำตามบทบัญญัติว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือเว้นแต่เข้าข้อยกเว้นที่สามารถตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม ปวอ มาตรา ๙๒(๑)ถึง(๕) 
๒๒.ซึ่งพฤติกรรมของโจทก์ร่วมก็ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะสามารถเข้าตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น การที่โจทก์ร่วมกับพวกเข้าจับกุมจำเลยในที่รโหฐาน เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ ปราศจากอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่เป็นการร่วมกันรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควร ตาม ปอ มาตรา ๘๓,๓๖๒,๓๖๔,๓๖๕(๒) เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ตาม ปวอ มาตรา ๘๑ เป็นการจับโดยไม่มีอำนาจ เป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและถึงแล้ว การที่จำเลยต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตน เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะกระทำและการกระทำได้สัดส่วนโดยการชกต่อยเพื่อป้องการบุกรุกและกระทำความผิดต่อเสรีภาพ จำเลยมีสิทธิ์ป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการจับกุมโดยไม่ชอบ หากจำเลยต่อยผู้เสียหายจริงก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ แม้จำเลยต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมจริง การกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมาย 
๒๓.. การที่สิบตำรวจตรี ส. กับพวกแต่งกายในเครื่องแบบร่วมกันจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนัน โดยก่อนจับกุมไปขอแบ่งรายได้ที่เก็บจากการเล่นการพนันจาก ก. แต่ ก. ปฏิเสธ สิบตำรวจตรี ส. จึงพูดทำนองข่มขู่ เป็นการเรียก รับ ทรัพย์สินอื่นใดสำหรับตนเองกับพวกโดยไม่ชอบ เพื่อละเว้นการกระทำการตามหน้าที่ที่จะเข้าจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนัน อันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๔๙และเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ ข่มขืนใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองกับพวกตาม ปอ มาตรา ๑๔๘ เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยทุจริตตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะไม่เข้าจับกุม การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปในที่มีการลักลอบเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วร้องตะโกนให้พวกเล่นการพนันหลบหนี โดยไม่ได้เข้าจับกุมบุคคลเหล่านั้นแต่อย่างใด แต่ได้ยึดเครื่องมือในการเล่นการพนันและเงินสดโดยไม่ได้ทำบันทึกการยึดของกลางไว้ การกระทำดังกล่าวหาใช่การกระทำในหน้าที่ในการจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไม่ เพราะหากเป็นการกระทำตามหน้าที่ การร้องตะโกนให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีไม่ใช่วิสัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพึงกระทำ เพราะตนมีหน้าที่ในการจับกุมไม่ใช่ร้องเตือนให้คนกระทำความผิดหลบหนี แม้การตรวจยึดของกลางจะเป็นส่วนหนึ่งของการจับกุมก็ตาม แต่การร้องบอกให้ผู้กระทำผิดหลบหนีย่อมไม่ใช่การกระทำตามหน้าที่ เพราะตำรวจมีหน้าที่ต้องจับกุมผู้กระทำความผิดไม่ใช่ร้องเตือนให้ผู้กระทำผิดหลบหนี หากจะมีผู้หนึ่งผู้ใดขัดขืนหรือทำร้ายไม่ให้จับกุมย่อมไม่ใช่การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่
๒๔. การไม่แต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจลำพังเพียง สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยึดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่กระทำการตามหน้าที่ ย่อมทำให้ผู้ถูกตรวจค้นเข้าใจผิดไปได้ เมื่อไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่อาจทราบได้แน่นอนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่อย่างไร เป็นกรณีหากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงว่าชายดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงแต่มาขอทำการตรวจค้นจับกุม จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายของจำเลยได้ หากเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุจำเลยไม่ต้องรับโทษ แม้ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงคือไม่มีคนร้ายที่ปลอมเป็นตำรวจแต่คนที่ขอตรวจค้นนั้นเป็นตำรวจจริงๆ แต่จำเลยสำคัญผิดว่าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริงคือสำคัญผิดว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถตรวจค้นจับกุมได้ จึงได้เข้าทำร้าย การกระทำของจำเลยย่อมไม่มีความผิด ตาม ปอ มาตรา ๖๒ แม้จำเลยชกต่อยใช้มีดแทงเพื่อขัดขวางไม่ให้เข้าตรวจค้นจับกุม ก็หามีความผิดฐานต่อสู่ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ 
๒๕. แม้ชั้นสอบสวนให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า ไม่ได้ทำต่อหน้าศาลโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยตาม ปวอ มาตรา ๑๗๒ วรรคแรก ไม่มีการถามค้านเพื่อกระจายข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ปรากฏแก่ศาล โดยลำพังแล้วคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ 
๒๖..การที่ศาลชั้นต้นลดโทษและกำหนดโทษให้จำเลย แต่คำนวณโทษไม่ถูกต้องครบถ้วน เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ฏีกาในปัญหานี้ จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฏีกา “ ขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย “ ศาลฏีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามโทษจำคุกที่ถูกต้องได้เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษต้องห้ามตาม ปวอ มาตรา ๒๑๒ และเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรก เพราะโจทก์ไม่ได้ฏีกาขอให้เพิ่มโทษหรือปรับบทกฏหมายให้ถูกต้องเพื่อลงโทษจำเลยให้ถูกต้องตามฐานความผิดและถือว่าเป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรค ๔
๒๗..การกระทำที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้ 
๒๘. พรบ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๖(๒) บัญญัติให้ กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานปกครองหรือตำรวจ โดยใน มาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างการทำการในหน้าที่ “ ให้ถือว่า “ เป็น “ เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมายลักษณะอาญา บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมาย และให้ถือว่าผู้เสียหายเป็น “ เจ้าพนักงาน” เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีเพียงหน้าที่ เพียงสกัดกั้นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจจับกุม หากจะจับต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองอยู่ด้วย การที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมร่วมกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึง “ไม่ใช่” เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่อาจเกิดความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ได้ 
๒๙.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองอยู่ด้วยในขณะจับกุม แต่เป็นการเข้าจับกุมโดยลำพัง เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่อยู่ด้วยก็ไม่อาจถือได้ว่ากองอาสารักษาดินแดนเป็น “ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” ตามปอ มาตรา ๑๓๘ และหากถูกทำร้ายขณะจับกุมก็ไม่ใช่การทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๒๘๙(๓),๒๙๖ได้ ทั้งเมื่อไม่มีอำนาจจับกุมการเข้าจับกุมหากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือเข้าข้อยกเว้นที่ราษฏร์สามารถจับราษฏร์ด้วยกันเองได้ตาม ปวอ มาตรา๗๙,๘๐,๘๒ แล้วย่อมเป็นความผิดฐานหน่วงเหนียวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ปอ มาตรา ๓๑๐ เมื่อไม่ใช่ “ เจ้าพนักงาน” จึงไม่อาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายโดยประการให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ได้ 
๓๐. การชักชวนผู้โดยสารให้ใช้บริการแท็กซี่ของจำเลยที่ ๑ แม้ทำให้แท็กซี่ที่อยู่ในความควบคุมของท่าอากาศยานขาดรายได้ไปบ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่ารบกวนผู้โดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด เป็นเพียงการชักชวนผู้โดยสารให้ใช้บริการแท็กซี่ของจำเลยที่ ๑ แม้ทำให้แท็กซี่ที่อยู่ในความควบคุมของท่าอากาศยานขาดรายได้ไปบ้าง ก็ไม่ถือมีความผิดรบกวนผู้โดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๘ ข้อ ๘(๖)ง ออกตามความในพรบ. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔(๒) 
๓๑.นาย ต. หัวหน้าฝ่ายเวรรักษาความปลอดภัยเป็น “ พนักงาน” ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามพรบ.การท่าอากาศยานต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ วันที่ ๖ กพ ๒๕๓๐ ข้อ ๒.๑ แต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็น “ เจ้าพนักงาน” ตามกฏหมาย 
๓๒.การที่นาย ต.สั่งให้ อ. กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากไม่ยอมออกไปให้ทำการจับกุม ต่อมา ได้รับแจ้งว่า อ. กำลังถูกรุมทำร้าย จึงไปที่เกิดเหตุ เมื่อถึงที่เกิดเหตุ พวกจำเลยหลบหนี แสดงว่า ต. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้า “จับกุม” จำเลยทั้งหกหรือ “ควบคุม”การจับกุมด้วยตัวเอง” เพียงแต่ ต. อนุญาตให้ อ. ณ. และ ย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุม ไม่อาจถือได้ว่า ต. เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือกระทำการตามหน้าที่ เพราะ ต. ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฏิบัติการหรือกระทำการตามหน้าที่อยู่ด้วยขณะจับกุม การที่ อ,ณและ ย,เข้าจับกุมจำเลยที่ ๑ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือกระทำการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคสอง,๒๘๙(๓),๒๙๖ แต่เป็นการจับกุมที่ไม่มีอำนาจ เป็นการประทุษร้ายอันละเมิดกฏหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้ถึงกำลังถึงแม้จำเลยทั้งหกต่อสู้ขัดขวาง ถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เกินสมควรกว่าเหตุ โดยปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลว่าผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายจากการเข้าจับกุมเป็นรอยถลอกและบาดแผลเล็กน้อยบริเวณแขน ข้อมือและขมับ การกระทำจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายผู้ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไมได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในอันที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตน
๓๓. เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้ เจ้าพนักงานต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนผู้โดยสารที่จะต้องถูกจับกุมหรือไม่ บุคคลอื่นหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานไม่อาจวินิจฉัยได้ ดังได้เห็นว่าในคดีนี้ผู้จับกุมวินิจฉัยผิดพลาดและเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้คดีในส่วนจำเลยที่สามถึงที่สุด โดยจำเลยที่สามไม่อุทธรณ์ฏีกา แต่เป็นเหตุในลักษณะแห่งคดี ศาลฏีกาเห็นสมควรยกฟ้องไปถึงจำเลยที่สามที่ไมได้อุทธรณ์ฏีกาได้ได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๑๓.๒๒๕
๓๔.เป็นอุทธาหรณ์สำหรับคนที่ไม่มีอำนาจแต่อยากมีอำนาจ เช่น อส ตำรวจบ้าน ทหาร หน่วย ๑๒๓ หรือคนที่เข้าช่วยตำรวจ โดยลำพังแล้วบุคคลเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการจับกุม เว้นเป็นความผิดซึ่งหน้าที่คนทั่วไปก็สามารถเข้าจับกุมได้ การที่จะมีอำนาจในการจับกุมต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองอยู่ด้วยจึงมีอำนาจในฐานะเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน สมัยผมรับราชการอยู่ที่จังหวัดหนึ่ง ตำรวจไม่ยอมจับกุมฝ่ายปกครองใช้ อส ช่วยในการจับกุม อส ขึ้นบนท้ายรถกระบะแล้วใช้อาวุธปืนไล่ยิงเพื่อจับกุมคิดว่าตนเองมีอำนาจ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังไม่มีอำนาจแบบนี้ ผลที่สุด อส ถูกฟ้องพยายามฆ่า เป็นอุทธาหรณ์สำหรับคนที่ไม่มีอำนาจแต่อยากมีอำนาจคิดว่าตัวเองมีอำนาจทั้งที่ไม่มีกฏหมายรองรับ
๓๕.การที่จำเลยกับ ศ. มีอาวุธปืนร้ายแรงคนละกระบอกไม่ได้ร่วมกันในการกระทำความผิดอื่น เมื่อถูกเจ้าพนักงานล้อมจับต่างก็วิ่งหลบหนีเจ้าพนักงานเพื่อให้พ้นการจับกุมโดยต่างคนต่างไป แสดงว่าไม่มีเจตนาร่วมกันในการกระทำความผิด แม้จะไปในทิศทางเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเลือกเพราะถูกไล่จับต้องพยายามหลบหนีให้ได้ เมื่อมีทางหนีได้ทางเดียวก็จำต้องไปในทิศทางเดียวกัน การไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้แสดงว่ามีเจตนาร่วมกัน ทั้งยังได้ความว่าต่างคนต่างหลบหนีโดยไปคนละที่และไปห่างกัน ดังนั้นการที่ ศ. ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานที่เข้าทำการจับกุมโดยจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงด้วย จึงเป็นการกระทำ “ เฉพาะตัว” ของ ศ. จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกับ ศ.ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน 
๓๖. แม้ไม่สามรถระบุได้ว่าผู้ตายถูกจำเลยคนใดยิงถึงแก่ความตาย คงรับฟังได้ว่าไม่จำเลยคนใดคนหนึ่งหรืออาจเป็นทั้งสองคนยิงผู้ตาย เมื่อผู้ตายถูกกระสุนถึงแก่ความตาย การที่จำเลยทั้งสองต่างมีอาวุธปืนอาก้าซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงใช้ในการสงครามไปร่วมชิงทรัพย์ ส่อให้เห็นเจตนาจำเลยทั้งสองมีเจตนาใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ หากเจ้าทรัพย์ต่อสู้หรือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมก็พร้อมจะใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงต่อสู้ ถ้ามีเหตุการณ์คับขันเกิดขึ้นในการชิงทรัพย์จำเลยทั้งสองย่อมจะใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้หรือขัดขวาง ทั้งยังได้ความว่า จำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกัน เมื่อยิงแล้วก็วิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ขับขี่หลบหนีไปด้วยกันโดยยิงปืนอีกหนึ่งชุดเพื่อไม่ให้เจ้าทรัพย์หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางและยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า 
๓๗..การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าจับกุมจำเลยที่ลักลอบพาคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย โดยขึ้นรถสารรถยนต์ของจำเลยจาก จังหวัดหนึ่ง เพื่อไปส่งอีกจังหวัดหนึ่ง จำเลยขับรถที่พาคนต่างด้าวพุ่งเข้าชนรถทางราชการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ต่างกรรมต่างวาระอันเป็นความผิดใหม่ที่เกิดขึ้นนอกจากความผิดฐาน รู้ว่าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตช่วยด้วยประการใดให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ตาม พรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ วรรคแรก คือเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่และฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘,๓๕๘(ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ทางราชการหรือใช้ในทางราชการ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญา คงมีแต่ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์)จึงเป็นความผิดเฉพาะฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น)อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ปอ มาตรา ๙๑
๓๘. การที่จำเลยร่วมกันขับรถหลบหนีและพุ่งเข้าชนรถยนต์ของทางราชการเสียหาย จำเลยมีเจตนาที่จะกระทำขึ้นในวาระเดียวกันอันเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่กับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ตาม ปอ มาตรา ๙๐ 
๓๙.การที่จำเลยขับรถพุ่งชนรถทางราชการเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมยังเป็นความผิดฐาน ช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำผิดหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอันไม่ใช่ความผิดลหุโทษโดยช่วยด้วยประการใดๆเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมตาม ปอ มาตรา ๑๘๙ ด้วย เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฐาน รู้ว่าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตช่วยด้วยประการใดให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ตาม พรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ วรรคแรก ด้วย หากเป็นข้อสอบตอบฐานใดฐานหนึ่งถือว่าตอบไม่ครบทุกประเด็น
๔๐. การเป็นอันตรายสาหัสตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘) ต้องป่วยเจ็บด้วยการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน แต่ผู้เสียหายมีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านหลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล ๑๑ วัน หลังจากนั้นกลับไปรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน ในระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ ๒ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติแต่ต้องไปล้างแผลทุกวัน แสดงว่าไม่ได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ จึงไม่ได้รับอันตรายสาหัสตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ปอ มาตรา ๒๙๕ จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสตาม ปอ มาตรา ๒๙๗(๘)ได้ เมื่อผู้เสียหายถูกทำร้ายในขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๒๙๖,๒๘๙(๒) และฐาน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘,๑๔๐ 
๔๑. คำว่า “ เป็นนายจับอย่างไงก็ได้ “ เป็นคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกลั่นแกล้งจับกุมโดยที่ตนเองไม่ได้กระทำความผิด ไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า “ทำเย็ดแม่” เป็นคำด่า อันเป็นการ “ดูหมิ่น” เจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ตาม ปอ มาตรา ๑๓๖
๔๒. เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย ๑ ครั้ง จนฟันหักมีเลือดไหลออกจากปาก จำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ปอ มาตรา ๑๓๘วรรคสอง และทำร้ายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๒๙๖ อีกกระทงหนึ่ง 
๔๓.แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นร้อยเวรสอบสวนไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบด้านการจับกุมปราบปรามก็ตามและแม้ไปนั่งในร้านอาหารที่เกิดเหตุอันไม่ใช่สถานีตำรวจที่ตนต้องเข้าเวรสอบสวนก็ตาม แต่ เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมมีอำนาจจับกุมผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ตาม ปวอ มาตรา ๗๘ การที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่าจะอยู่ในชั้นยศใดหรือทำหน้าที่ใดย่อมมีอำนาจในการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ แม้ขณะเกิดเหตุจะ ทำหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนและไปนั่งในร้ายขายอาหารที่ไม่ใช่สถานีตำรวจก็ตามก็ ไม่ทำให้อำนาจจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้าหมดไป การที่คนร้ายเข้าชกต่อยไม่ยอมให้จับกุมย่อมเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และทำร้ายเจ้าพนักง่านที่กระทำการตามหน้าที่

ไม่มีความคิดเห็น: