๑. ให้ของลับแก่เจ้าพนักงาน ขณะกระทำการตามหน้าที่เพื่อสบประมาทเจ้าหน้าที่ ผิดตาม ปอ มาตรา ๑๑๖ (ปัจจุบันคือ ปอ มาตรา ๑๓๖) คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๕๒/๒๔๖๕
๒. พูดกับผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการว่า “ ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ท. โกงบ้านโกงเมือง คำว่า ไอ้เหี้ยไอ้สัตว์เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ถ้อยคำว่า “ โกงบ้าน โกงเมือง “ มีความหมายว่า เป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เบียดบังทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ทางราชการมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการใส่ความผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดการเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาท คำพิพากษาฏีกา ๔๔๕/๒๕๒๒
๓. จำเลยที่ ๒ นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น เป็นกากรกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น ไม่เป้นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ การกระทำจำเลยที่ ๒ เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตาม ปอ มาตรา ๓๒๙(๔) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๖๕๔/๒๕๔๓
๔. ตำรวจขอตรวจค้นรถจำเลย ครั้งแรกจำเลยไม่ยอมให้ค้นเนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะกลั่นแกล้งเพราะเคยมีสาเหตุกับตำรวจนั้นมาก่อน ในที่สุดจำเลยยอมให้ตรวจค้น เห็นได้ว่าขาดเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๘ ที่จำเลยว่า ตำรวจจะเอาของผิดใส่รถจำเลย ตำรวจจะรุมทำร้ายจำเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นตำรวจ ตำรวจแต่งเครื่องแบบปล้นก็มี เป็นการกล่าวเพราะเชื่อโดยสุจริตว่า ถูกตำรวจกลั่นแกล้ง เนื่องจากตำรวจหาเหตุหยุดรถและค้นรถจำเลยโดยเฉพาะ การกล่าวเช่นนี้เป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ตำรวจกระทำการดังกล่าว ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตาม ปอ มาตรา ๑๓๔๖ ตำรวจรู้จักชื่อที่อยู่จำเลยแล้วเพราะเคยไปค้นบ้านจำเลยมาก่อน ไม่มีความจำเป็นต้องถามชื่อที่อยู่จำเลยอีก การที่จำเลยไม่ยอมแจ้งชื่อที่อยู่ตามที่ตำรวจถาม ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๗ คำพิพากษาฏีกา ๓๒๓๑/๒๕๓๑
๕. จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านที่เกิดเหตุ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุมและตรวจยึดสุราแช่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียบหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ จำเลยที่ ๑ กล่าวแก่เจ้าพนักงานประสรพสามิตซึ่งทำการจับกุม อ. ว่า “ โคตรแม่มึง เวลาเขาลักขโมยควายไป ๒ ถึง ๓ วัน ตามหาไม่เจอ เวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอกๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว เป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก เป็นถ้อยคำไม่สุภาพ ไม่ใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกา ๗๘๖/๒๕๔๓๒
๖. การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ คือดูหมิ่น ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทให้อับอาย ถ้อยคำที่กล่าวกับเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ว่า แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกู เป็นการกล่าวท้าทายให้ออกมาต่อสู้กับจำเลย เป็นคำกล่าวไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เข้าใจว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูก เหยีดหยามหรือสบประมาทให้ได้รับความอับอายแต่อย่างใดไม่ ไม่เป้นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ คำพิพากษาฏีกา๔๓๒๗/๒๕๔๐
๗. จำเลยพูดโต้ตอบกับพลตำรวจ ม. ในระหว่างที่ตรวจดูรถแท็กซี่คันที่จำเลยกับพวกนั่งมา เมื่อพลตำรวจ ม. บอกว่าหัวหน้าด้านตรวจตรวจคือ ร.ต.ท. ปรีชาฯ หากสงสัยว่าเป็นด่านที่ตั้งขึ้นโดยชอบหรือไม่ ให้ไปสอบถามหัวหน้าด้านได้ จำเลยพูดว่า “ แค่ร้อยตำรวจโท กระจอก ไม่อยากพูดด้วยแปลได้ว่าไม่ยากคุยกับหัวหน้าด่านตรวจที่มียศแค่ร้อยตำรวจโท เพราะจำเลยเห็นว่าหัวหน้าด่านตรวจมียศย่ำไป หาได้เจาะจงสบประมาทโจทก์ร่วมว่าเป็นคนต่ำต้อยหรือเลวแต่อย่างใด เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพเท่านั้น หรือใช่คำด่าหรือสบประมาทเหยียดหยามให้ได้รับความอับอายแต่ประการใดไม่ ไม่ผิดตามปอ มทาตรา ๑๓๖ คำพิพากษาฏีกา ๔๒๐/๒๕๒๙
๘. ฟ้องว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามปอ มาตรา ๑๓๖ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุพนักงานสอบสวนกำลังทานอาหารอยู่กับภรรยาที่บ้านพัก ไม่ใช่เวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่ จำเลยพูดขอประกันตัวผู้ต้องหาเป็นการส่วนตัว ถือไม่ได้ว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ คำพิพากษาฏีกาที่ ๙๒๐/๒๕๐๘
๙. จำเลยเป็นครูใหญ่ประชาบาลกล่าวว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอไม่เป็นประชาธิปไตย บังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้ ถ้าข้อความนี้เป็นความจริง ถือว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณะชน เพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฏร์อันเป็นการปกครองระบบประชาธิปไตยต้องเป็นไปด้วยใจสมัครของราษฏร์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่จำเลยกล่าวว่า “ ผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสะอาด เมื่อได้ความว่า ผู้เสียหายเป็นกรรมการขุดบ่อน้ำ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินขุดสระ แต่ใช้ไปครึ่งเดียว จำเลยซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านขอให้ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกั้นน้ำไว้บริโภคโดยผู้เสียหายตกลงซื้อปูนซีเมนท์มาส่งให้ แต่ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายทางอื่นโดยไม่ได้ให้จำเลยทราบการทำทำนบจึงไม่เสร็จถ้อยคำที่กล่าวถึงเป็นการกล่าวโดยสุจริตโดยอยู่ในวิสัยของการติชม ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท การกล่าวที่จะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้วหาเข้ามาตรานี้ คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๕๕๑/๒๕๐๓
๑๐. กำนันใช้ให้บุคคลอื่นไปตามบุตรสาวจำเลยมาไกล่เกลี่ยแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภรรยา ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของกำนันตาม พรบ.ลักษณะการปกครองท้องที่ จำเลยกล่าวดูหมิ่นกำนันไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๑๓/๒๕๑๖
๑๑. จำเลยว่าผู้เสียหายที่ ๑ ว่าเป็นผู้หญิงต่ำๆต่อหน้าผู้อื่น เป็นคำพูดเหยียดหยามผู้เสียหายที่ ๑ ว่า เป็นหญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ ๑ หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ ผู้เสียหายที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการปราบปรามสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดทางอาญา หาได้เกี่ยวกับบุคคลพิพาทกันในทางแพ่งไม่ แม้คู่กรณีนำเรื่องทางแพ่งไปให้ไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบและผู้เสียหายที่ ๒ ทำการไกล่เกลี่ยให้และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก็หาใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่ คงเป็นเพียงอัชฌาสัยในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น การกระทำของผู้เสียหายที่ ๒ จึง ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แม้จำเลยได้พูดว่า “ มันก็เข้าข้างกันก็ไม่เป้นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกา ๒๒๕๖/๒๕๓๗
ข้อสังเกต ๑. ดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามาหน้าที่ เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖
๒.หมิ่นประมาท ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๒๖
๓.กล่าวไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของบุคคลอื่น เป็นที่เสียหายต่อทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่น ผู้นั้น ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการนั้น แม้ตนไม่ได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรได้รู้ ปพพ มาตรา ๔๒๓
๔. การให้ของลับแก่กัน เป็นการนำของต่ำมามอบแก่กัน สังคมยังไม่ยอมรับที่จะให้นำอวัยวะเพศมาพูดหรือเปิดเผย เผยแพร่ หรือนำมากล่าวอ้างในทางสังคม การให้ของลับยังเป็นที่ไม่เปิดเผยในทางสังคม ถือเป็นการด่า เป็นการไม่ให้เกียรติ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้นการให้ของลับแก่เจ้าพนักงาน ขณะกระทำการตามหน้าที่ เป็นการสบสบประมาทเจ้าหน้าที่ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ผิดตาม ปอ มาตรา ๑๑๖ (ปัจจุบันคือ ปอ มาตรา ๑๓๖)
๕. คำว่า “ไอ้เหี้ยไอ้สัตว์” เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะคำว่า “ เหี้ย” หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกับตะกวด บางทีก็เรียก “ ตัวเงินตัวทอง” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า คนเลว การด่าใครว่า “ เหี้ย” เท่ากับยืนยันว่าคนถูกด่าเป็นคนเลว ด่าด้วยคำนี้จึงเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ส่วนคำว่า “ ไอ้สัตว์” เป็นการนำสัตว์เดรัฐฉานมาเปรียบเทียบกับคนที่เป็นสัตว์ที่ประเสริฐกว่า โดยสัตว์มักมีลำตัวที่ขวางโลก เดินหรือวิ่งด้วยลำตัวที่ขวางโลก ชอบใช้กำลังในการตัดสิน ไม่ใช่สมองในการตัดสิน คำด่าว่า “ ไอ้สัตว์”จึงเป็นการด่าว่าคนที่ถูกด่า ไม่มีความคิด ไม่ใช้สมองในการตัดสินใจ ชอบใช้กำลังในการตัดสิน ทำอะไรขวางโลกเหมือนลำตัวที่ใช้เดินหรือวิ่งขวางโลก เท่ากับกล่าวว่าคนที่ถูกพูดถึงเป็นสัตว์ที่ไม่ประเสริฐ ลำตัวยังขวางโลกอยู่ ส่วนถ้อยคำว่า “ โกงบ้าน โกงเมือง “ มีความหมายว่า เป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ทุจริตอาศัยโอกาสจากตำแหน่งหน้าที่การงานแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดย เบียดบังทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ทางราชการมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการใส่ความผู้เสียหายในประการที่น่าจะเกิดการเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทในทางอาญา และในทางแพ่ง เป็นการกล่าวไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเป็นที่เสียหาย แก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่น เป็นที่เสียหายต่อทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่น ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใดๆอันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งตนไม่รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ ปพพ มาตรา ๔๒๓
๖.จำเลยที่ ๒ นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ เป็นเพียงการ” ประจาน” โจทก์ให้ได้รับความอับอายเท่านั้น ลงข้อความไปเพราะคิดว่าตนเองทำได้ ตนเองได้รับความเสียหายจากโจทก์ จึงต้องการนำพฤติการณ์ของโจทก์มาลงไว้เพื่อไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่างหรือทำตาม และป้องกันสังคมป้องคนอื่นที่จะไม่ถูกกระทำการเยี่ยงนี้ได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้โจทก์หรือใครก็ตามจะนำพฤติกรรมนี้ไปหลอกใคร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำข้อความไปลงโฆษณาต้องลงด้วยความถูกต้องเป็นธรรมและเป็นจริง มิเช่นนั้นอาจถูกดำเนินคดีได้
๗.การกระทำจำเลยที่ ๒ เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตาม ปอ มาตรา ๓๒๙(๔) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง
๘.ตำรวจขอตรวจค้นรถจำเลย ครั้งแรกจำเลยไม่ยอมให้ค้นเนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะกลั่นแกล้งเพราะเคยมีสาเหตุกับตำรวจนั้นมาก่อน ในที่สุดจำเลยยอมให้ตรวจค้น เห็นได้ว่าขาดเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำเลยยอมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตนให้พ้นจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมายที่เกิดจากการตรวจค้นจับกุมได้ ทั้งเมื่อผู้ตรวจค้นมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนย่อมทำให้เกิดระแวงว่าจะถูกนำของผิดกฏหมายมาใส่ในรถเพื่อแจ้งข้อหาหรือไม่อย่างไร การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๘
๙.ที่จำเลยว่า ตำรวจจะเอาของผิดกฏหมายใส่รถจำเลย ตำรวจจะรุมทำร้ายจำเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นตำรวจ ตำรวจแต่งเครื่องแบบปล้นก็มี เป็นการกล่าวเพราะเชื่อโดยสุจริตว่า ถูกตำรวจกลั่นแกล้ง เนื่องจากตำรวจหาเหตุหยุดรถและค้นรถจำเลยโดยเฉพาะทั้งยังเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนด้วย การกล่าวเช่นนี้เป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ตำรวจกระทำการดังกล่าว หากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ หาเหตุหยุดรถและค้นรถจำเลยและเอาของผิดกฏหมายใส่รถจำเลย ตำรวจจะรุมทำร้าย ไม่แน่ใจว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่ หรือเป็น ตำรวจแต่งเครื่องแบบปล้น จำเลยย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีจริงแต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง และการสำคัญผิดนี้ไม่ได้เกิดจากการประมาทเลนเล่อ จำเลยจึงมีสิทธิ์ป้องกันโดยสำคัญผิดตาม ปอ มาตรา ๖๒,๖๘ได้
๑๐.เมื่อพูดออกไปโดยสุจริตต้องการป้องกันตนและส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรมตาม ปอ มาตรา ๓๒๙(๑)ที่จะไม่ถูกทำการจับกุมตรวจค้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้รู้สำนึกในการกระทำแต่ก็ไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลว่าข้อความนั้นจะเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย เมื่อ ไม่มีเจตนาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตาม ปอ มาตรา ๑๓๖เพราะ ตำรวจรู้จักชื่อที่อยู่จำเลยแล้วเพราะเคยไปค้นบ้านจำเลยมาก่อน ไม่มีความจำเป็นต้องถามชื่อที่อยู่จำเลยอีก การที่จำเลยไม่ยอมแจ้งชื่อที่อยู่ตามที่ตำรวจถาม ก็ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๗
๑๑. จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านที่เกิดเหตุ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุมและตรวจยึดสุราแช่ การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียบหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์เพื่อไม่ให้เกิดบานปลายหรือเกิดความรุนแรงขึ้น และหากเข้าจับกุมก็อาจเป็นอันตรายแก่ผู้จับกุมเนื่องจากมีกำลังน้อยกว่า แต่ทั้งนี้ต้องได้ความว่า การไม่เข้าจับกุมไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่ายังมีทางออกทางอื่นอีกแทนการไม่เข้าจับกุมด้วยการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเพิ่มเพื่อมีอำนาจต่อรองในการเข้าจับกุมตรวจค้น
๑๒.คำพูด ว่า “ โคตรแม่มึง เวลาเขาลักขโมยควายไป ๒ ถึง ๓ วัน ตามหาไม่เจอ เวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอกๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว “ เป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า เรื่องบางเรื่องที่สามารถจับกุมได้ง่ายและรวดเร็วแต่ก็ไม่สามารถจับกุมได้ แต่เรื่องสุราเถื่อนนี้สามารถจับกุมได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นถ้อยคำไม่สุภาพ ไม่ใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่
๑๓.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกาในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า คำพูดดังกล่าวเป็นคำพูดทำนองว่า เจ้าพนักงานเลือกปฏิบัติว่า หากการกระทำผิดใด ข้อหาใดเป็นข้อหาเล็กๆน้อยๆ ไม่มีอันตรายแก่ผู้จับกุมแล้ว หรือข้อหาใดได้รางวัลหรือสินบนในการนำจับแล้วก็กระตือรือร้นในการจับกุม ข้อหาใดเสี่ยงอันตราย ไม่มีผลตอบแทนในเรื่องรางวัลหรือสินบนนำจับก็เฉื่อยชาไม่เข้าจับกุม เจ้าพนักงานไม่มีฝีมือที่จะตามจับคนร้ายในคดีลักวัวควายได้ เก่งแต่จับสุราเถื่อน ทั้งการทำสุราเถื่อนก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเหมือนการไปลักวัวลักควายใคร ส่วนคำพูดว่า “เป็นหัวหน้าส่วนกระจอกกระจอก” เป็นการไม่ให้เกียรติ์ศักดิ์ศรีในความเป็นข้าราชการ ไม่ว่าจะอยู่ในยศตำแหน่งใดสูงต่ำแค่ไหนก็มีศักดิ์ศรีที่เป็นข้าราชการทั้งนั้น คำพูดว่า “ ใหญ่กว่านี้ก็ไม่กลัว” เป็นการท้าทายอำนาจของรัฐว่าข้าราชการที่ไม่มียศสูง คนร้ายก็จะสามารถกระทำความผิดได้ไม่เกรงกลัวโดยเอายศตำแหน่งมาเป็นการต่อรองว่าสามารถกระทำ การหรือไม่กระทำการหรือไม่อย่างไร ในความเห็นส่วนตัวน่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ แต่เมื่อศาลฏีกาวินิจฉัยไว้แล้วก็ต้องถือตามคำพิพากษาดังกล่าว
๑๔.. การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ คือดูหมิ่น ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทให้อับอาย ถ้อยคำที่กล่าวกับเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ว่า “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกู” เป็นการกล่าวท้าทายให้ออกมาต่อสู้กับจำเลย เป็นคำกล่าวไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เข้าใจว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูก เหยียดหยามหรือสบประมาทให้ได้รับความอับอายแต่อย่างใดไม่ ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖
๑๕.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การบอกให้เจ้าพนักงานถอดเครื่องแบบออกมาชกกัน เป็นการพูดส่อแสดงว่า เป็นข้าราชการใช้อำนาจในการจับกุมโดยไม่ชอบประชาชนเกรงกลัว ลองถอดเครื่องแบบออกมาก็ไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป เพราะเป็นเจ้าหน้าที่จึงไม่กล้าทำอะไร ลองไม่ใช่เจ้าหน้าที่แล้วมากระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่แล้วคงโดนดี ถ้อยคำนี้น่าเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่แล้ว เป็นความเห็นส่วนตัวครับ เมื่อมีคำพิพากษาฏีกาออกมาแล้วก็ต้องถือตามคำพิพากษาฏีกาครับ
๑๖. เมื่อพลตำรวจ ม. บอกว่า”หัวหน้าด้านตรวจตรวจคือ ร.ต.ท. ปรีชาฯ หากสงสัยว่าเป็นด่านที่ตั้งขึ้นโดยชอบหรือไม่ ให้ไปสอบถามหัวหน้าด้านได้” จำเลยพูดว่า “ แค่ร้อยตำรวจโท กระจอก ไม่อยากพูดด้วย” แปลได้ว่าไม่ยากคุยกับหัวหน้าด่านตรวจที่มียศแค่ร้อยตำรวจโท เพราะจำเลยเห็นว่าหัวหน้าด่านตรวจมียศต่ำไป หาได้เจาะจงสบประมาทโจทก์ร่วมว่าเป็นคนต่ำต้อยหรือเลวแต่อย่างใด เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพเท่านั้น หรือใช่คำด่าหรือสบประมาทเหยียดหยามให้ได้รับความอับอายแต่ประการใดไม่ ไม่ผิดตามปอ มาตรา ๑๓๖
๑๗.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า คำว่า “แค่ยศร้อยตำรวจโท กระจอก ไม่อยากคุยด้วย” นั้นเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีข้าราชการตำรวจว่ามียศต่ำไม่สมควรที่จะคุยด้วย เป็นการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว น่าเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่แล้ว เป็นความเห็นส่วนตัวครับ เมื่อมีคำพิพากษาฏีกาออกมาแล้วก็ต้องถือตามคำพิพากษาฏีกาครับ
๑๘.. ขณะเกิดเหตุพนักงานสอบสวนกำลังทานอาหารอยู่กับภรรยาที่บ้านพัก ไม่ใช่เวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่ ไม่ได้อยู่ในสถานที่ราชการ จำเลยพูดขอประกันตัวผู้ต้องหาเป็นการส่วนตัว เมื่อไม่ใช่เป็นเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการและไม่ได้อยู่ในสถานที่ราชการ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการตามหน้าที่ การพูดด้วยถ้อยคำดูหมิ่นเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ได้
๑๙.ถ้อยคำที่ว่า “ผู้เสียหายไม่เป็นประชาธิปไตย บังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้” แม้ข้อความนี้เป็นการดูหมิ่นเพราะเท่ากับว่าผู้เสียหายที่เป็นนายอำเภอใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบบีบบังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องกระทำการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศมีประชาชนมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะสามารถเลือกใครก็ได้เข้ามาเป็นตัวแทนของตนในการเข้ามาบริหารประเทศ แต่การบังคับให้ต้องเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเสนอให้ขึ้นเงินเดือน เท่ากับเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบบีบบังคับให้จำต้องกระทำตาม ถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่เนื่องจากใน ปอ มาตรา ๓๒๙(๓) บัญญัติเป็นข้อยกเว้นความรับผิดเอาไว้ โดยหากว่าถ้าข้อความนี้เป็นความจริง ถือว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณะชน ที่อยู่ในวิสัยที่ประชาชนสามารถกระทำการตำหนิติเตียนได้เพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฏร์อันเป็นการปกครองระบบประชาธิปไตยต้องเป็นไปด้วยใจสมัครของราษฏร์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
๒๐.ส่วนที่จำเลยกล่าวว่า “ ผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสะอาด” แม้ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทผู้เสียหาย เพราะความหมายส่อไปในทางว่าทำงานดดยไม่สุจริต แต่เมื่อได้ความว่า ผู้เสียหายเป็นกรรมการขุดบ่อน้ำ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินขุดสระ แต่ใช้ไปครึ่งเดียว จำเลยซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านขอให้ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกั้นน้ำไว้บริโภคโดยผู้เสียหายตกลงซื้อปูนซีเมนท์มาส่งให้ แต่ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายทางอื่นโดยไม่ได้ให้จำเลยทราบการทำทำนบจึงไม่เสร็จ คำพูดนี้หากเป็นจริงส่อไปในทางว่าผู้เสียหายแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายสำหรับผู้เสียหายเองส่อไปในทางทุจริตแทนที่จะนำเงินที่เหลือมาทำทำนบกั้นน้ำไว้บริโภค ถ้อยคำที่กล่าวถึงเป็นการกล่าวโดยสุจริตโดยอยู่ในวิสัยของของประชาชนที่สามารถติชมด้วยความเป็นธรรมเป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนและคนในหมู่บ้านโดยครรลองธรรมตาม ปอ มาตรา ๓๒๙(๑)(๓) ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท
๒๑..การกล่าวที่จะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ปอ มาตรา ๑๓๖ ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้วหาเข้ามาตรานี้
๒๒.กำนันมีอำนาจรักษาความสงบภายในหมู่บ้านที่ตนรับผิดชอบตามพรบ.ลักษณะการปกครองท้องที่ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดส่งเจ้าพนักงานได้ แต่ไม่มีอำนาจไกล่เกลี่ยแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภรรยาซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของกำนันตาม พรบ.ลักษณะการปกครองท้องที่ แต่เป็นเรื่องทางแพ่งหาใช่ความรับผิดทางอาญา เมื่อไม่ใช่การกระทำการตามหน้าที่ จึงไม่อาจเกิดความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ได้ ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๓๖
๒๐.คำพูด ว่า “เป็นผู้หญิงต่ำๆ” ต่อหน้าผู้อื่น เป็นคำพูดเหยียดหยามผู้เสียหายที่ ๑ ว่า เป็นหญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป เป็นการดูหมิ่นเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ ๑ หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่
๒๑. ผู้เสียหายที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการปราบปรามสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดทางอาญา ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับข้อพิพาทของบุคคลพิพาทกันในทางแพ่ง แม้คู่กรณีนำเรื่องทางแพ่งไปให้ไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบและผู้เสียหายที่ ๒ ทำการไกล่เกลี่ยให้และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก็หาใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่ คงเป็นเพียงอัชฌาสัยในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น จึง ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
๒๒.แม้จำเลยได้พูดว่า “ มันก็เข้าข้างกัน” ซึ่งเป็นคำพูดทำนองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ลำเอียงไปอย่างคู่กรณีอีกฝ่าย เป็นเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่มีความยุติธรรม อันเป็นถ้อยคำดูหมิ่นก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้กระทำการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ปอ มาตรา ๓๙๓ เพราะคำว่า เข้าข้างกัน แสดงถึงความลำเอียงในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความยุติธรรมในการทำงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น