ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

“ถนนในหมู่บ้านที่ยังไม่ได้ยกเป็นทางสาธารณะ”

ราษฏรในหมู่บ้านฟอร์จูนร้องขอให้เทศบาลปู่เจ้าสมิงพรายเข้าดำเนินการปรับปรุงพัฒนาถนนและสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้านฟอร์จูน เทศบาลอ้างว่าไม่สามารถเข้าดำเนินการตามที่ร้องขอได้ เนื่องจากถนนในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในที่ดินซึ่งมีชื่อเอกชนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยไม่ปรากฏว่ามีการอุทิศให้เป็นถนนสาธารณะหรือได้โอนที่ดินซึ่งเป็นถนนหมู่บ้านให้แก่ทางราชการแต่อย่างใด เทศบาลได้ติดต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้ขอโอนที่ดินซึ่งเป็นถนนภายในหมู่บ้านให้เป็นถนนสาธารณะประโยชน์ แต่เจ้าของที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการโดนให้เป็นถนนสาธารณะและเจ้าของที่ดินบางรายไม่สามารถติดต่อได้ เทศบาลฯเห็นว่าตามกฎหมายแล้วสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป เว้นแต่จะอุทิศทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นสาธารณะประโยชน์ หรือโอนให้แก่ทางราชการก่อน ทางเทศบาลฯจึงจะเข้าไปพัฒนาได้ อนึ่งถนนดังกล่าวเปิดให้ประชาชนทั่วไปสัญจรไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยไม่มีการหวงกันพื้นที่แต่อย่างใด จึงขอหารือว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ถนนดังกล่าวเป็นถนนสาธารณะเพื่อที่เทศบาลจะได้เข้าไปดูแล สนง.อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ผู้มีชื่อซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดของถนนในโครงการหมู่บ้านฟอร์จูน มิได้ปิดกั้นและหวงห้ามประชาชนทั้งในและนอกโครงการใช้ถนนในโครงการหมู่บ้านฟอร์จูน เป็นทางสัญญจรเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ถือได้ว่าอุทิศถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย ถนนดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนและไม่ต้องดำเนินการขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด และโดยเหตุที่เทศบาลปู่เจ้าสมิงพรายมีอำนาจหน้าที่ตามพรบ.เทศบาลฯ มาตรา ๕๐,๕๓ จึงมีอำนาจเข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมบำรุงรักษาถนนภายในหมู่บ้านดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดอุทิศหรือโอนถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะเสียก่อน วินิจฉัยข้อหารือที่ ๑๑๔/๒๕๕๕

ข้อสังเกต ๑.สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดิน(ผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินรวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาต)จัดขึ้นเพื่อจัดสรรที่ดินตามแบบแผนโครงการที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน(เช่นหมู่บ้านจัดสรร)โดยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินตามแบบแผน ผัง โครงการตามที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่การจัดสรร โดยให้เป็นหน้าที่ผู้จัดสรรที่ดิน(เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร)ต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพตามที่ได้จัดสรร และจะกระทำการให้เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมไปไม่ได้
๒.ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษา เมื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหลังครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบในการบำรุงรักษาตามแผนงาน โครงการ ระยะเวลาบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังนี้คือ
๒.๑ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร(คนที่ซื้อบ้านตามหมู่บ้านจัดสรรรวมถึงผู้รับโอนคนต่อมา)ได้ร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการดูแลรักษาภายในเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน ทางปฏิบัติการที่ผู้จัดสรรที่ดินจะแจ้งนั้นมักเป็นระยะเวลาภายหลังจากขายบ้านจัดสรรในโครงการหมดซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี
๒.๒ผู้จัดสรรได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร(กรณีในกรุงเทพ)หรือคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด(กรณีต่างจังหวัด)ให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค เช่นยอมจ่ายเงินเท่านั้นเท่านี้เพื่อเป็นกองทุนที่จะฝากธนาคารเพื่อเอาเงินดังกล่าวมาซ่อมแซม บำรุงรักษาสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้านจัดสรร
๒.๓ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นสาธารณะประโยชน์
๓.ผู้จัดสรรที่ดินหมู่บ้านฟอร์จูนซึ่งมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินของถนนในโครงการหมู่บ้าน เมื่อไม่ได้ปิดกั้นและหวงห้ามประชาชนทั้งในและนอกโครงการในการใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน เป็นทางสัญจรเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี โดยไม่มีการหวงกัน ไม่มีการแลกบัตรผู้ที่จะเข้าไปภายในหมู่บ้าน(กรณีบุคคลภายนอกหมู่บ้านในโครงการ) ถือได้ว่ามีการอุทิศถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว ถนนดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔(๒) โดยไม่จำต้องจดทะเบียน และไม่ต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้นเทศบาลซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคำนึงถึงส่วนรวมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล ทำงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบ ประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งยังมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางบก ดูแลรักษาความสะอาดในถนน ทางเดิน ที่สาธารณะ รวมทั้งจัดเก็บขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกุล ตามพรบ.เทศบาลฯ มาตรา ๕๐(๒)(๓)และ ๕๓(๑) จึงมีอำนาจเข้าไปซ่อมบำรุงรักษาถนนภายในหมู่บ้านดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องรอให้ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดอุทิศหรือโอนถนนดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะเสียก่อนแต่อย่างใด
๔. เมื่อถนนดังกล่าวถือว่าอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว ถนนดังกล่าวตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าใช้สรอยได้ การที่เทศบาลเข้าไปทำการซ่อมแซมถนน จึงไม่ใช่การรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของเจ้าของที่ดินตามโฉนดแต่อย่างใด ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๒,๓๖๕(๒) และเมื่อเทศบาลมีอำนาจในการดูแลรักษาและจัดให้มีทางบก และมีหน้าที่บำรุงรักษาที่สาธารณะ การที่เทศบาลเข้าไปดำเนินการซ่อมถนนจึงไม่ใช่การกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๘ ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ไม่อาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเทศบาลในความผิดดังกล่าวได้
๕.เมื่อถนนดังกล่าวถือว่าอุทิศให้โดยปริยาย ถนนดังกล่าวเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจึงโอนแก่กันไม่ได้เว้นอาศัยอำนาจกฏหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกา และไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับทรัยพ์สินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ และไม่สามารถยึดทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๓๐๕,๑๓๐๖,๑๓๐๗

“ฟ้องต้องนำไปยื่นเอง”

๑.อัยการมอบฟ้องให้เจ้าหน้าที่สนง.อัยการมายื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นประกาศเรียกโจทก์และให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์มาศาลเพื่อสอบถาม แต่โจทก์ไม่มา เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นนัดโจทก์มาศาลเพื่อสอบถามเป็นเรื่องอะไรถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลจะยกฟ้องเพราะเหตุนี้ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๖,๑๘๑ ไมได้ โจทก์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์มายื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยไม่มีใบมอบฉันทะตาม ปวพ มาตรา ๖๔ ปวอ มาตรา ๑๕ การยื่นฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ปวพ มาตรา ๒๗ ปวอ มาตรา ๑๕ พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งประทับฟ้องเป็นไม่รับฟ้อง คำพิพากษาฏีกา๑๓๓๑/๒๕๔๒
๒.คำร้องของผู้เสียหายที่ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณา ประกอบคำแถลงของโจทก์ รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑ กค ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๓๙ นาฬิกา โจทก์มอบคำฟ้องให้เจ้าหน้าที่มายื่นต่อศาล โดยจำเลยมาศาล แต่โจทก์ไม่ได้มาศาล เมื่อปรากฏว่าโจทก์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่มีใบมอบฉันทะตาม ปวพ มาตรา ๑๕ พรบล.ศาลแขวงฯ มาตรา ๔ การยื่นฟ้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความใน ปวพ มาตรา ๒๗ ประกอบ ปวอ มาตรา ๑๕และพรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๔ ให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบ (เทียบคำพิพากษาฏีกา ๑๓๓๑/๒๕๔๒ ) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นมา ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น และที่อุทธรณ์ว่า พนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่ตามองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔(๒) การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ จึงเป็นการดำเนินคดีในฐานะทนายแผ่นดินตามที่กฎหมายรับรอง นั้นเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการแม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ก็ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน คดีหมายเลขดำที่ ๒๗๓๙/๒๕๕๘ ของศาลแขวง.............
ข้อสังเกต๑. ในบทบัญญัติเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง หากโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้อง หากเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้จะสั่งเลื่อนคดีไปก่อนก็ได้ การที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากโจทก์ร้องเข้ามาภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง โดยแสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนใหม่ ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ แต่ในคดีที่ราษฏร์เป็นโจทก์แล้วศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแล้วโดยเป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ตัดสิทธิ์พนักงานอัยการที่จะนำฟ้องมายื่น ปวอ มาตรา ๑๖๖ ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติในเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่ง ปวอ มาตรา ๑๘๑ ให้นำบทบัญญัตินี้มาใช้ในเรื่องการพิจารณาด้วย
๒.กรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายในข้อที่ม่งหมายจะยังการให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน การยื่น การส่ง คำคู่ความหรือเอกสาร หรือในการพิจารณาคดี หรือในการพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความที่เสียหายเนื่องจากาการไม่ปฏิบัติตามสิ่งเช่นว่านั้น จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
๓.การคัดค้านเรื่องผิดระเบียบอาจยกขึ้นในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า ๘ วันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่คู่ความฝ่ายนั้นต้องไม่ได้ดำเนินการอันหนึ่งอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องที่ผิดระเบียบหรือให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น
๔.เมื่อศาลสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ อันไม่ใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นๆภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ เพียงเท่านี้ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นๆใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ ปวพ มาตรา ๒๗
๕.พนักงานอัยการต้องนำฟ้องไปยื่นเองเพราะตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๑๙ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการโจทก์สามารถฟ้องเป็นหนังสือหรือฟ้องด้วยวาจาได้ ซึ่งหากเป็นการฟ้องด้วยวาจาเป็นหน้าที่โจทก์ต้องแถลงชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่ สัญชาติจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง ละลายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราตามกฎหมายที่บัญญัติว่ากากรกระทำเป็นความผิด เพื่อให้ศาลบันทึกสาระสำคัญไว้เป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อไว้ ตาม พรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๑๙ วรรคสี่ หากโจทก์ไม่มาศาล ศาลไม่สามารถสอบถามข้อเท็จและให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือมือชื่อไว้เป็นหลักฐานได้ หรือแม้จะฟ้องเป็นหนังสือเข้าไป จำเลยเองก็สามารถให้การด้วยวาจาหรือจะทำเป็นหนังสือก็ได้ หากจำเลยให้การเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา ศาลก็จะจดบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ หากโจทก์ไม่มาศาลแล้วก็ไม่สามารถแถลงข้อความจริงตามที่ศาลต้องการและไม่สามารถลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้
๖.การที่พนักงานอัยการมอบให้เจ้าหน้าที่มายื่นฟ้องแล้วศาลชั้นต้นประกาศเรียกโจทก์และให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์มาศาลเพื่อสอบถาม แต่โจทก์ไม่มา เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นนัดโจทก์มาศาลเพื่อสอบถามเป็นเรื่องอะไรถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๖ประกอบมาตรา ๑๘๑ ที่ศาลจะสามารถยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดได้ ทางแก้ศาลอาจไม่รับฟ้องแล้วจำหน่ายคดีจากสารบบความเพราะไม่มีการมอบฉันทะให้มายื่นฟ้องซึ่งก็เป็นเรื่องการยื่นคำคู่ความที่ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือคืนฟ้องให้โจทก์รับไปดำเนินการให้ถูกต้องโดยโจทก์ต้องนำฟ้องมาเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเอาฟ้องมายื่นแทน
๗. โจทก์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์มายื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยไม่มีใบมอบฉันทะตาม ปวพ มาตรา ๖๔ ปวอ มาตรา ๑๕ การยื่นฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ เป็นการดำเนินการที่ผิดระเบียบ ตาม ปวพ มาตรา ๒๗. ปวอ มาตรา. ๑๕ ซึ่งบัญญัติให้นำกระบวนพิจารณาแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยคู่ความสามารถแต่งตั้งให้บุคคลใดทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนได้โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเมื่อยื่นฟ้องแล้วหากจำเลยปฏิเสธอาจต้องมีการกำหนดวันพิจารณา หรือวันสืบพยานหรืออาจต้องฟังการชี้ขาดของศาลหรือสลักหลังรับรู้ข้อความนั้นๆ หรือรับสำเนาคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่นของฝ่ายจำเลยก็ได้การที่ให้นำฟ้องมายื่นโดยไม่มาการมอบฉันทะให้เอาฟ้องมายื่น คนที่เอาฟ้องมายื่นไม่มีอำนาจในการรับรู้รับฟังหรือรับเอกสารหรือทราบคำสั่งจากศาลหรือจากจำเลยได้
๘. การยื่นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่น อัยการไม่นำฟ้องมายื่นเองและไม่ได้มอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่นำฟ้องมายื่นแทนแล้ว ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่จะยังการให้เป็นไปตามความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นหรือส่งคำคู่ความหรือในการพิจารณาคดี อันเป็นการการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ปวพ มาตรา ๒๗ ที่ปวอ มาตรา ๑๕ ที่ให้นำบทบัญญัติใน ปวพ มาใช้บังคับกรณีบทบัญญัติใน ปวอ ไม่ได้บัญญัติไว้ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕,๒๒๕ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ตาม
๙,.ข้ออ้างว่า พนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่ตามองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔(๒) การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ จึงเป็นการดำเนินคดีในฐานะทนายแผ่นดินตามที่กฎหมายรับรอง นั้นเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการแม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ก็ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ต่างจากราษฏร์ทั่วไป
๑๐.การที่ศาลฏีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งประทับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องนั้น แม้คำพิพากษานี้ยังไม่ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่อย่างไร? แม้ยังอยู่ในอายุความฟ้องร้อง มีปัญหาว่าสามารถนำมาแก้ไขและยื่นฟ้องใหม่ได้หรือไม่? เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายตามกฎหมายหรือไม่? เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่อย่างไร? หากเป็นการยกฟ้องเพราะไม่มาตามกำหนดนัดตาม ปวอ มาตรา ๑๖๖ แล้วกฏหมายบัญญัติว่า หากเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้จะสั่งเลื่อนคดีไปก่อนก็ได้ การที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากโจทก์ร้องเข้ามาภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง โดยแสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนใหม่ ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ แต่ในคดีที่ราษฏร์เป็นโจทก์แล้วศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด หากไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแล้วโดยเป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ตัดสิทธิ์พนักงานอัยการที่จะนำฟ้องมายื่น ปวอ มาตรา ๑๖๖ ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติในเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่ง ปวอ มาตรา ๑๘๑ ให้นำบทบัญญัตินี้มาใช้ในเรื่องการพิจารณาด้วย กฎหมายบัญญัติให้ต้องร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ด้วยการไต่สวนมามีเหตุจงใจหรือไม่อย่างไรเหตุใดจึงไม่มาตามกำหนดนัด กฎหมายบัญญัติว่าไม่สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลไต่สวนว่ามีเหตุอันควรที่จะขอพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เมื่อกฎหมายบัญญัติติไว้เป็นพิเศษแล้วก็ไม่น่าที่จะนำมาฟ้องใหม่ได้ ไม่งั้นบทบัญญั ติใน ปวอ มาตรา ๑๖๖ ก็เป็นหมั่น โดยทุกคนจะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อยื่นฟ้องใหม่กันหมด เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ
๑๑ การที่พนักงานอัยการต้องนำฟ้องไปยื่นต่อศาลก็มีข้อดีหลายอย่างคือ
๑๑.๑ หากฟ้องมีปัญหาสามารถแก้ไขได้ทันที ส่วนใหญ่มักจะลืม เหตุเกิดที่ไหน หากนำฟ้องไปยื่นเองก็สามารถแก้ไขได้ทันที ไม่ต้องมีการปลอมลายมือชื่ออัยการโดยคนที่นำฟ้องไปยื่น
๑๑.๒ กันการแอบอ้างว่า ต้องเสียเงินให้อัยการจึงจะนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้องศาล ซึ่งมักจะเกิดในคดีศาลแขวง ที่มีหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมบางหน่วยแอบอ้างว่า การที่อัยการยื่นฟ้องต้องเสียเงินไม่งั้นอัยการไม่ยื่นฟ้องให้ ดังนั้นการที่อัยการถือฟ้องไปเองจะได้ตัดข้อครหาดังกล่าวว่าต้องเสียเงินให้อัยการ อัยการจึงจะนำฟ้องไปยื่น
๑๑.๓.ป้องกันปัญหาการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา เมื่ออัยการถือฟ้องไปยื่นเอง ศาลจะได้รู้ว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ หรือเปลี่ยนตอนนำตัวไปยื่นฟ้อง หรือเปลี่ยนตัวในเรือนจำ หรือเปลี่ยนตัวในชั้นศาล
๑๑.๔ป้องกันการแก้ไขฟ้องโดยพละการของเจ้าหน้าที่อัยการ ที่อาจแก้ไขฟ้องให้แตกต่างไปจากที่อัยการยื่นฟ้องโดยประสงค์จะช่วยผู้ต้องหาให้รับโทษน้อยลง หรือได้รับการรอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ เช่น อัยการฟ้องจำเลยมีเมทแอมเฟตตามีน(ยาบ้า)ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย หากอัยการไม่ได้ถือฟ้องไปเองแต่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ถือฟ้องไป หากเจ้าหน้าที่ทุจริตอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาโดยพิมพ์ฟ้องแผ่นแรกใหม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตตามีน(ยาบ้า)ไว้ในความครอบครอง ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าการมีเมทแอมเฟตตามีน(ยาบ้า)ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตตามีน เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้จำเลยได้รับโทษน้อยลงหรือได้รับการรอการลงโทษ ดังนั้น หากอัยการถือฟ้องไปเองย่อมตัดปัญหาดังกล่าว
๑๑.๕สามารถอธิบายฟ้องให้ศาลทราบได้ทันทีกรณีที่ศาลสงสัยในฟ้องว่าฟ้องต้องการอะไร
๑๒.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การนำบทบัญญัติทางกฎหมาย “สบัญญัติ” มาตัดฟ้องกฎหมาย “สารบัญญัติ” แล้ว ผลที่ได้เป็นอย่างไร? ยกฟ้องเพราะไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยยังไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาว่าจำเลยทำผิดหรือไม่อย่างไร? หากจำเลยทำผิดจริงแต่มีการยกฟ้องเพราะไม่ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ความเสียหายเกิดแก่ใคร? ใครเสียหาย? สามารถอลุมอหลวยหรือแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่อย่างไร เพื่อที่จะได้นำพยานมาสืบกันว่า จำเลยทำผิดหรือไม่อย่างไร จำเลยบางคนก็อยากให้ศาลยกฟ้องเพราะศาลฟังพยานหลักฐานแล้วเชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด หรือการกระทำจำเลยไม่ผิดกฎหมาย มากกว่าที่จะมายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย “ สบัญญัติ” เหมือนการเสียแชมป์ เสียเข็มขัดบนตาชั่งเพราะทำน้ำหนักตัวไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าหากขึ้นชกกันแล้วใครแพ้ใครชนะ แต่มาแพ้ทางเทคนิค ในขณะเดียวกันก็ต้องให้อัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาตัวเองว่าเป็นอย่างไร จะถือแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมายาวนานโดยไม่ดูกฎหมายก็ลำบาก เพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ทางปฏิบัติที่เป็นประเพณีอาจใช้ได้ที่หนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกที่หนึ่ง หรือใช้ได้กับบุคคลหนึ่งแต่ใช้ไม่ได้กับอีกบุคคลหนึ่ง ฝากไว้ครับ

“บังคับคดี”

๑.พิพากษาโจทก์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ไม่ใช่พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ จึงไม่ต้องออกคำบังคับ จำเลยไม่มีหน้าที่อย่างใดทางนิติกรรมที่ต้องไปจดทะเบียนให้โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมจึงไม่ถูกต้อง ศาลฏีกาพิพากษาเพิกถอนคำบังคับ คำพิพากษาฏีกา ๗๓๒๖/๒๕๓๙
๒.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งมรดกกัน ให้มรดกส่วนหนึ่งตกแก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ขอยุ่งเกี่ยว โจทก์จำเลยไม่ต้องการมรดกส่วนนั้น เมื่อศาลพิพากษาตามยอมและโจทก์ได้รับส่วนแบ่งของโจทก์แล้ว การบังคับคดีเพื่อประโยชน์ของโจทก์เป็นอันเสร็จสิ้น โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียที่จะขอบังคับจำเลยให้แบ่งมรดกแก่บุคคลภายนอก คำพิพากษาฏีกา ๙๐๙/๒๕๑๑
๓.ศาลพิพากษาให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๑๐๐ ส่วน ใน ๗๘๐ ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนด เจ้าของที่ดินจดทะเบียนสิทธิ์เสร็จเรียบร้อยตามคำพิพากษาแล้ว การบังคับคดีจึงสิ้นสุดลง การที่โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินกัน แต่ตกลงแนวเขตในการวัดไม่ได้ เป็นเรื่องนอกเหนือคำพิพากษา ไม่อาจนำมาพิจารณาและบังคับคดีนี้ได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๙๗/๒๕๒๔
๔.เมื่อโจทก์ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยได้ชำระเงินตามจำนวนที่เจ้าพนักงานศาลคิดให้ตามที่จำเลยร้องขอ เมื่อจำนวนเงินยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา โจทก์มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ขาดได้ เนื่องจากการบังคับคดียังไม่สิ้นสุด ไม่เป็นการบังคับคดีซ้ำ คำพิพากษาฏีกา ๗๘๕/๒๕๒๕
๕.จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่โจทก์ จนโจทก์ยอมถอนการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ต่อมาจำเลยและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ช ผู้อาวัล ไม่ได้ชำระเงินตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยชำระด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับลง โจทก์มีสิทธิ์คิดดอกเบี้ยจากหนี้ดังกล่าวต่อไปจนถึงวันที่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน และดอกเบี้ยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่ต้องชำระในคดีนี้ มิใช่หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับคดี จึงเป็นการ จึงเป็นการบังคับคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาฏีกาที่ ๒๔๑๗/๒๕๓๗
๖.สมุดเงินฝากธนาคารซึ่งจำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นเป็นประกันในการขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างฏีกา ไม่ใช่เงินที่นำมาวางศาลเพื่อชำระตามคำพิพากษา แม้จำเลยแถลงต่อศาลขอรับชำระหนี้โดยยอมให้โจทก์รับเงินจากสมุดเงินฝากดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากนั้นให้โจทก์ได้ วิธีการที่ศาลให้ธนาคารส่งเงินตามสมุดเงินฝากมาจ่ายให้โจทก์จำต้องดำเนินการตามหมายบังคับคดี กรณีถือไม่ได้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๘๘๘/๒๕๔๐
๗.การบังคับคดีเป็นเรื่องที่แล้วแต่ใจสมัครของโจทก์ หากโจทก์จำเลยตกลงยืดเวลาให้แก่กันจนศาลรับบังคับให้แล้ว ก็ต้องถือตามข้อตกลงนั้น คำพิพากษาฏีกา ๖๒๖/๒๔๙๑
๘.การบังคับคดีเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตาม ปวพ มาตรา ๒๗๑ โจทก์จะต้องดำเนินการบังคับคดีเมื่อใด ภายในกำหนด ๑๐ ปี จึงเป็นสิทธิ์ที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบ จำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษาให้โจทก์ หาใช่เป็นผลจากการที่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีแต่อย่างใด การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีในทันทีจึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้จำเลยไม่ต้องล้มละลาย คำพิพากษาฏีกา ๒๖๖/๒๕๔๕
๙.ศาลพิพากษาให้ถมคู รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยจะขอให้จทก์ทำเองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๖๔๙/๒๔๙๘
๙.พิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ขายให้โจทก์ตามฟ้องหรือมิเช่นนั้นให้ใช้เงิน จำเลยจะเลือกชำระเงินในเมื่อยังสามารถปฏิบัติตามอันดับแรกโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๘๒๒/๒๕๐๑
๑๐.คำพิพากษาที่บังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารื้อห้องแถวที่ปลูกรุกล้ำเข้ามาในที่พิพาทออกเสียจากที่พิพาท ถ้าไม่สามารถรื้อได้ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาใช้ค่าที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะเลือกปฏิบัติในประการหลังโดยอ้างเหตุว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับความเสียหายไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๖๑/๒๕๐๗
๑๑.ศาลฏีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสองแปลงให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หรือให้จำเลยใช้เงินค่าที่ดินแก่โจทก์ในส่วนที่จำเลยไม่สามารถโอนคืนแก่โจทก์ได้ เป็นเรื่องกำหนดให้ชำระหนี้ก่อนหลังตามลำดับในคำพิพากษา จำเลยไม่มีสิทธิ์เลือกชำระหนี้ได้ตามอำเภอใจ ข้ออ้างที่จำเลยไม่ยอมโอนที่ให้โจทก์ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่มีสิทธิ์ชดใช้ราคาที่ดินพิพาทแทนการโอนกรรมสิทธิ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ชดใช้เงินค่าที่ดินแทนการที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยจนทำให้จำเลยไม่สามารถโอนได้ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งในการบังคับคดีที่สั่งไปโดยผิดหลง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควรมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การทีร่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องของโจทก์ให้จำเลยทราบ ชอบด้วยกระบวนการพิจารณา ไม่ขัด ปวพ มาตรา ๒๑(๒) คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๗/๒๕๔๒
๑๒.ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันส่งมอบรถในสภาพที่ใช้การดีคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบคืนให้ใช้ราคา แม้ในตอนท้ายคำพิพากษาไม่ได้ระบุว่ารถยนต์ต้องอยู่ในสภาพใดก็ตาม แต่พึงเป็นที่เข้าใจว่าต้องอยู่ในสภาพใช้การได้ดี ดังที่ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้น เพราะการพิจารณาถึงความหมายของคำพิพากษาเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ที่ถูกต้อง ต้องพิจารณาจากคำพิพากษาทั้งฉบับ ดังนั้นเมื่อรถอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถแก่โจทก์ เท่ากับ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ยอมรับรถยนต์และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามลำดับต่อไปได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๐/๒๕๔๕
๑๓.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ยอมชำระเงิน ๒๕,๐๐๐บาท ให้จำเลยที่ ๒ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยทั้งสองจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับชำระเงิน ศาลพิพากษาตามยอม โจทก์จะอ้างว่าสิทธิ์ในการบังคับคดี ๑๐ ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหาได้ไม่ เพราะกำหนดระยะเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาระสำคัญของสัญญาซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้ชำระราคาภายในกำหนด โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายผิดนัด ไม่มีสิทธิ์ขอให้บังคับคดีเอากับจำเลยให้โอนขายที่ดินแก่โจทก์ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๒๐/๒๕๒๕
๑๔.ร้องขอให้ยึดทรัพย์ตามที่มีคำพิพากษาให้แบ่งกัน แต่ตกลงแบ่งกันไม่ได้ นำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน ไม่ใช่การร้องขอให้บังคับคดี แต่เป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยผู้เป็นเจ้าของร่วมตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖๔วรรคสอง บุคคลภายนอกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๘ ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๔๑/๒๕๒๕
ข้อสังเกต๑. เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วหากคู่ความที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือปฏิบัติแต่ไม่ครบถ้วน จึงมีการออกคำบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา
๒.การที่จะขอศาลออกคำบังคับหรือขอศาลออกหมายบังคับคดี คนที่ขอต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอบังคับคดีได้ด้วย
๓..พิพากษาโจทก์ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ไม่ใช่พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ จึงไม่ต้องออกคำบังคับ จำเลยไม่มีหน้าที่อย่างใดทางนิติกรรมที่ต้องไปจดทะเบียนให้โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมจึงไม่ถูกต้อง ศาลฏีกาพิพากษาเพิกถอนคำบังคับได้
๔.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งมรดกกัน ให้มรดกส่วนหนึ่งตกแก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ขอยุ่งเกี่ยว โจทก์จำเลยไม่ต้องการมรดกส่วนนั้น เมื่อศาลพิพากษาตามยอมและโจทก์ได้รับส่วนแบ่งของโจทก์แล้ว การบังคับคดีเพื่อประโยชน์ของโจทก์เป็นอันเสร็จสิ้น โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียที่จะขอบังคับจำเลยให้แบ่งมรดกแก่บุคคลภายนอก
๕.ศาลพิพากษาให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๑๐๐ ส่วน ใน ๗๘๐ ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนด เจ้าของที่ดินจดทะเบียนสิทธิ์เสร็จเรียบร้อยตามคำพิพากษาแล้ว การบังคับคดีจึงสิ้นสุดลง การที่โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินกัน แต่ตกลงแนวเขตในการวัดไม่ได้ เป็นเรื่องนอหกเหนือคำพิพากษา ไม่อาจนำมาพิจารณาและบังคับคดีนี้ได้
๖.แม้ ปวพ มาตรา..๒๘๔บัญญัติห้ามไม่ให้มีการยึดอายัดเกินกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระก็ตาม แต่การที่จำเลยได้ชำระเงินตามจำนวนที่เจ้าพนักงานศาลคิดให้ตามที่จำเลยร้องขอ แม้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าตนต้องชำระเท่าที่เจ้าพนักงานศาลคำนวณก็ตาม แต่เมื่อจำนวนเงินที่บังคับชำระยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิทธิ์ในการบังคับคดียังไม่หมดไปตาม ปวพ มาตรา ๒๗๕(๒),๒๘๔วรรคแรก โจทก์มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ขาดได้ เนื่องจากการบังคับคดียังไม่สิ้นสุด ไม่ใช่การยึดอายัดเกินกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ การบังคับคดีในส่วนที่ขาดไม่เป็นการบังคับคดีซ้ำ เพราะโจทก์ย่อมมีสิทธิ์บังคับคดีได้เท่าจำนวนที่จำเลยเป็นหนี้ เมื่อได้รับชำระไม่ครบถ้วนจึงมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาด
๗.จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่โจทก์ จนโจทก์ยอมถอนการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ต่อมาจำเลยและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ช ผู้อาวัล ไม่ได้ชำระเงินตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยชำระด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับลงเพราะการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ยอมถอนการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ เป็นสัญญาต่างตอบแทน ตาม ปพพ มาตรา ๓๖๙ ที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ช ผู้อาวัล (ผู้ประกันการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ตาม ปพพ มาตรา ๙๓๘,๙๘๕ ซึ่งต้องรับผิดเช่นเดียวกับบุคคลที่ตนประกันตาม ปพพ มาตรา ๙๔๐ ,๙๘๕) มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมยังไม่ระงับไป ตาม ปพพ มาตรา ๓๓๐เมื่อหนี้ไม่ระงับ โจทก์มีสิทธิ์คิดดอกเบี้ยจากหนี้ดังกล่าวได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าหากผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้เรียกดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด หรือหากในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ก็คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ตาม ปพพ มาตรา ๗ต่อไปจนถึงวันที่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน และดอกเบี้ยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่ต้องชำระในคดีนี้ มิใช่หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ที่ต้องไปฟ้องร้องเป็นอีกคดีต่างหากจากคดีนี้แต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับคดี จึงเป็นการบังคับคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย
๘.สมุดเงินฝากธนาคารซึ่งจำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นเป็นประกันในการขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างฏีกา ไม่ใช่เงินที่นำมาวางศาลเพื่อชำระตามคำพิพากษา แม้จำเลยแถลงต่อศาลขอรับชำระหนี้โดยยอมให้โจทก์รับเงินจากสมุดเงินฝากดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากนั้นให้โจทก์ได้ เพราะเป็นการนำมาวางเพื่อขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกาโดยยังมีข้อต่อสู้ตามฏีกาว่าตนไม่ต้องชำระหนี้ หรือหนี้ที่ต้องชำระไม่มากตามที่โจทก์หรือศาลล่างพิพากษามา การวางเงินดังกล่าวไม่ใช่การวางเงินเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลล่างแต่อย่างใด แต่เป็นการวางเงินเพื่อทุเลาการบังคับคดี ปวพ มาตรา ๒๓๑,๒๔๗ และใช่เป็นการวางเงินตาม ปวพ มาตรา ๑๓๕,๑๓๖,๒๔๖,๒๔๗ แต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ใช่การวางเงินโดยยอมรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องจึงไม่เป็นเหตุไม่ให้ต้องเสียดอกเบี้ยตาม ปวพ มาตรา ๑๓๖วรรคท้ายแต่อย่างใดไม่..วิธีการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ธนาคารส่งเงินตามสมุดเงินฝากมาจ่ายให้โจทก์จำต้องดำเนินการตามหมายบังคับคดีโดยโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีโดยขอหมายบังคับคดี เพื่อดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเพื่อนำมาบังคับคดี ลำพังเพียงสมุดเงินฝากธนาคารซึ่งจำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นเป็นประกันในการขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างฏีกาไม่ใช่การบังคับคดี กรณีนี้ถือไม่ได้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์แล้ว
๙.การบังคับคดีเป็นเรื่องที่แล้วแต่ใจสมัครของโจทก์ หากโจทก์จำเลยตกลงยืดเวลาให้แก่กันจนศาลรับบังคับให้แล้ว ก็ต้องถือตามข้อตกลงนั้น แต่อย่างไรก็ดีการยึดระยะเวลาในการบังคับคดีคือไม่ทำการบังคับคดีทันทีภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดแต่ให้โอกาสจำเลยหาเงินมาชำระหนี้ดังนี้สามารถกระทำได้ แต่การหยุดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวก็ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการบังคับคดีด้วย หากเลยล่วงกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วก็ไม่สามารถบังคับคดีได้
๑๐.การบังคับคดีเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตาม ปวพ มาตรา ๒๗๑ โจทก์จะต้องดำเนินการบังคับคดีเมื่อใด ภายในกำหนด ๑๐ ปี เป็นสิทธิ์ที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบที่จะบังคับคดีเมื่อใดก็ได้ภายใน ๑๐ ปี เหมือนการยื่นฟ้องที่สามารถยื่นฟ้องวันใดก็ได้ภายในกำหนดอายุความ จำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษาให้โจทก์ หาใช่เป็นผลจากการที่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีแต่อย่างใด จำเลยไม่สามารถอ้างว่าหากโจทก์ดำเนินการบังคับคดีแต่เนิ่นๆดอกเบี้ยคงไม่มากขนาดนี้ และเมื่อเอาดอกเบี้ยมารวมต้นเงินแล้วคงมีจำนวนไม่มากจนถึงเกณฑ์ที่จะฟ้องล้มละลายได้ การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตาม ปพพ มาตรา. ๕,๖ หาอาจอ้างดังนี้ได้ไม่ เพราะโจทก์มีสิทธิ์บังคับคดีได้ภายในกำหนดอายุความการบังคับคดี เมื่อได้ใช้สิทธิ์ในวันใด หากวันนั้นยังไม่ล่วงเลยระยะเวลาที่สามรถบังคับคดีได้แล้ว ถือโจทก์สามารถทำได้ การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีในทันทีจึงไม่ใช่ข้ออ้างของจำเลยว่าเป็นเหตุให้มีหนี้ค้างชำระพร้อมเอกเบี้ยจำนวนมากเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยไม่ต้องล้มละลาย ดังนี้หาอาจอ้างได้ไม่
๑๑.ศาลพิพากษาให้ถมคู รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยจะขอให้โจทก์ทำเองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายไม่ได้ เพราะการบังคับหรือปฏิบัติตามคำสั่งศาล ต้องเป็นไปตามที่ระบุในคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อมีคำพิพากษาให้จำเลยถมคู รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยต้องทำเอง จำเลยจะขอให้โจทก์ทำเองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายไม่ได้ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง จะมาอ้างว่าจำเลยพร้อมปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วโดยให้โจทก์ถมคู รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ โดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายให้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จึงจะหาว่าจำเลยมีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังนี้จำเลยไม่สามารถอ้างได้
๑๒. –คำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ขายให้โจทก์ตามฟ้องหรือมิเช่นนั้นให้ใช้เงิน
-หรือคำพิพากษาที่บังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารื้อห้องแถวที่ปลูกรุกล้ำเข้ามาในที่พิพาทออกเสียจากที่พิพาท ถ้าไม่สามารถรื้อได้ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาใช้ค่าที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา นั้น
จำเลยจะเลือกชำระเงินในเมื่อยังสามารถปฏิบัติตามอันดับแรกโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่ได้ หรือจะเลือกปฏิบัติในประการหลังโดยอ้างเหตุว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับความเสียหายไม่ได้ เพราะเจตนาที่มีการฟ้องร้องก็เพื่อต้องการบังคับให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ขายให้โจทก์ตามฟ้อง หรือบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารื้อห้องแถวที่ปลูกรุกล้ำเข้ามาในที่พิพาทออกเสียจากที่พิพาท หากสามารถกระทำได้โจทก์ย่อมพอใจตามนี้ แต่หากไม่สามารถกระทำดังนี้ได้ด้วยเหตุสุดวิสัยใดๆแล้วการเยียวยาแก่โจทก์ก็คงต้องทำในรูปการชดใช้เป็นเงิน แต่เมื่อยังสามารถทำได้ก็ต้องทำไปจะมาชดใช้ด้วยเงินไม่ได้เพราะไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ บางครั้งโจทก์ต้องการที่ดินไม่ต้องการเงิน หรือต้องการให้รื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออกไป ไม่ได้ต้องการเงินแทนการที่ไม่ต้องรื้อถอน และไม่ตรงตามความประสงค์ของการบังคับคดีที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา คำพิพากษาไม่ได้ออกมาเพื่อให้เลือกปฏิบัติอันใดอันหนึ่ง แต่ออกมาเพื่อให้ปฏิบัติตามอันดับแรกก่อน หากอันดับแรกไม่สามารถกระทำได้จึงต้องปฏิบัติตามอันดับที่สอง
๑๓.คำพิพากษาที่ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสองแปลงให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หรือให้จำเลยใช้เงินค่าที่ดินแก่โจทก์ในส่วนที่จำเลยไม่สามารถโอนคืนแก่โจทก์ได้ เป็นเรื่องกำหนดให้ชำระหนี้ก่อนหลังตามลำดับในคำพิพากษา จำเลยไม่มีสิทธิ์เลือกชำระหนี้ได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นการ ไม่ตรงตามความประสงค์ของการบังคับคดีที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา คำพิพากษาไม่ได้ออกมาเพื่อให้เลือกปฏิบัติอันใดอันหนึ่ง แต่ออกมาเพื่อให้ปฏิบัติตามอันดับแรกก่อน หากอันดับแรกไม่สามารถกระทำได้จึงต้องปฏิบัติตามอันดับที่สอง เมื่อข้ออ้างที่จำเลยไม่ยอมโอนที่ให้โจทก์ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่มีสิทธิ์ชดใช้ราคาที่ดินพิพาทแทนการโอนกรรมสิทธิ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ชดใช้เงินค่าที่ดินแทนการที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยจนทำให้จำเลยไม่สามารถโอนได้ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งในการบังคับคดีที่สั่งไปโดยผิดหลงโดยเป็นคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่มีความมุ่งหมายเพื่อจะยังการให้เป็นไปตามความยุติธรรมในเรื่องการบังคับคดี เป็นการพิจารณาสั่งโดยผิดหลงผิดระเบียบตาม ปวพ มาตรา ๒๗ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
๑๔.. คำสั่งดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควรมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ตาม ปวพ มาตรา ๑๔๒(๕),๒๔๖,๒๔๗ การทีศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องของโจทก์ให้จำเลยทราบ ชอบด้วยกระบวนการพิจารณา ไม่ขัด ปวพ มาตรา ๒๑(๒) เพราะไม่ใช่การชี้ขาดหรือมีคำสั่งในประเด็นเกี่ยวการแก้ฟ้อง แก้คำให้การ ตาม ปวพ มาตรา ๑๘๑(๒),๒๑วรรคท้ายและไม่ใช่กรณีที่ต้องทำการสืบพยานเพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสที่จะมาฟังการพิจารณาหรือใช้สิทธิ์เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น ตาม ปวพ มาตรา ๑๐๓ ,๒๑วรรคท้าย แต่เป็นเรื่องการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการบังคับคดีที่ผิดระเบียบหรือผิดหลงตาม ปวพ มาตรา ๒๗ เมื่อ “ ศาลเห็นสมควร” ศาลจึงมีอำนาจสั่งได้เองตาม ปวพ มาตรา,๒๑วรรคท้าย ไม่ขัดต่อ ปวพ มาตรา ๒๑(๒)
๑๕.ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยให้ส่งมอบรถในสภาพที่ใช้การดีคืนโจทก์ หากไม่ส่งมอบคืนให้ใช้ราคา แม้ในตอนท้ายคำพิพากษาไม่ได้ระบุว่ารถยนต์ต้องอยู่ในสภาพใดก็ตาม แต่พึงเป็นที่เข้าใจว่าต้องอยู่ในสภาพใช้การได้ดี เพราะการฟ้องให้ส่งมอบรถคืนย่อมต้องการให้ส่งมอบรถในสภาพที่สามารถใช้งานได้ไม่ใช่เป็นซากหรือเป็นเศษเหล็ก มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่ สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ เป็นการชำระหนี้ที่เป็นการพ้นวิสัยตาม ปพพ มาตรา ๒๑๗,๒๑๘ ทั้งเป็นการชำระหนี้ไม่ต้องตรงตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตาม ปพพ มาตรา ๒๑๕เพราะการพิจารณาถึงความหมายของคำพิพากษาเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ที่ถูกต้อง ต้องพิจารณาจากคำพิพากษาทั้งฉบับไม่ใช่ดูเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของคำพิพากษา การอ่านคำพิพากษาทั้งฉบับเพื่อให้รู้ถึงวัตถุประสงค์ว่าศาลพิพากษาอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ตีความคำพิพากษาผิดไปจากเจตนารมย์ของศาลที่มีคำพิพากษาออกมา ดังนั้นเมื่อรถอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถแก่โจทก์ เท่ากับ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ยอมรับรถยนต์และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามลำดับต่อไปได้
๑๖.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ยอมชำระเงิน ๒๕,๐๐๐บาท ให้จำเลยที่ ๒ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยทั้งสองจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับชำระเงิน ศาลพิพากษาตามยอม เป็นการที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตาม ปพพ มาตรา ๘๕๐ ซึ่งทำให้สิทธิ์เรียกร้องของแต่ละฝ่ายที่ได้สละแล้วระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิ์ตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ปพพ มาตรา ๘๕๒ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม ปพพ มาตรา๓๖๙ ที่ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ การที่โจทก์อ้างว่าสิทธิ์ในการบังคับคดี ๑๐ ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ปวพ มาตรา ๒๗๑หาได้ไม่ เพราะกำหนดระยะเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาระสำคัญของสัญญาซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้ชำระราคาภายในกำหนด โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายผิดนัด เมื่อเป็นฝ่ายผิดนัดย่อมไม่มีสิทธิ์ขอให้บังคับคดีเอากับจำเลยให้โอนขายที่ดินแก่โจทก์ได้
๑๗.การร้องขอให้ยึดทรัพย์ตามที่มีคำพิพากษาให้แบ่งกันระหว่างเจ้าของร่วม แต่ตกลงแบ่งกันไม่ได้ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์นั้นออกแบ่ง หากแบ่งกันไม่ได้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ หากว่าไม่สามารถทำได้หรือเกิดความเสียหายมาก ศาลจะให้ขายโดยประมูลกันระหว่างเจ้าของร่วมหรือนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การร้องขอให้บังคับคดี แต่เป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยผู้เป็นเจ้าของร่วมตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖๔วรรคสอง เมื่อไม่ใช่เป็นการบังคับคดี และไม่ใช่การขายทอดตลาดอันเนื่องมาจากการบังคับคดี บุคคลภายนอกจะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๘ ไม่ได้ เพราะในปวพ มาตรา ๒๘๘ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ไว้เพื่อการบังคับคดี แล้วมีการอ้างว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา บุคคลที่อ้างดังกล่าวจึงต้องร้องขอต่อ “ ศาลที่ออกหมายบังคับคดี” ให้ปล่อยทรัพย์เช่นว่านั้น โดยเมื่อส่งสำเนาคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้อง “ งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์” นั้นไว้ เพื่อรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล เมื่อการขายทอดตลาดที่เป็นการขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินที่ได้มาแบ่งกันระหว่างเจ้าของร่วมที่ตกลงกันไม่ได้ ไม่ใช่การขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นได้

“ไอ้ควาย ไอ้เหี้ยมึงแน่จริงถอดเครื่องแบบมาชกกันตัวต่อตัว”

ร.ต.ต. ส. รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยสืบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำผิดอาญา การที่ร.ต.ต. ส. ได้รับแจ้งเหตุว่า มีกลุ่มนักเรียนจับกลุ่มกันบริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ ๑๕ เกรงว่าจะมีการก่อเหตุร้ายก่อการวิวาท จึงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังที่เกิดเหตุ แนะนำให้นักเรียนดังกล่าวกลับบ้าน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในการป้องกันปราบปรามผู้กระทำความผิดทางอาญา การที่ผู้ต้องหาพูดต่อ ร.ต.ต. ส.ด้วยถ้อยคำว่า “ ไอ้ควาย ไอ้เหี้ย มึงแน่จริง ถอดเครื่องแบบมาต่อยกับกูตัวต่อตัว ไม่ใช่ลูกผู้ชายนี้หว่า” เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งแต่งเครื่องแบบในขณะนั้นและกำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว เป็นการดูถูก สบประมาท เหยียดหยาม เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่แล้ว ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๖๘๙/๒๕๔๙

ข้อสังเกต ๑. คำว่า “ ไอ้ควาย” เป็นการเปรียบเทียบว่า ร.ต.ต. ส.ว่าเป็นควาย ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่า โง่ มีแต่กำลังกาย ไม่ใช้สมองในการทำงาน เป็นถ้อยคำดูหมิ่น
๒.คำว่า “ ไอ้เหี้ย” นั้น เหี้ยเป็นสัตว์เลื่อยคลานประเภทหนึ่งสกุลเดียวกับตะกวด ตัวอ้วนใหญ่สีน้ำตาลเข็ม มีลายดอกสีเหลืองฟาดขวางหางยาว หากินบริเวณใกล้น้ำ บางคนก็เรียก ตัวเงินตัวทอง บางคนก็เรียก ตัวแลน จึงเป็นการเปรียบว่า ร.ต.ต. ส. เป็นตัวเงินตัวทองหรือตัวแลนหรือเป็นสัตว์เลื่อยคลานประเภทหนึ่ง ซึ่งคนไทยมีความเชื่อว่ามักนำโชดร้ายมาสู่บ้านเรือนจึงมักแก้เคล็ดด้วยการเรียกว่า ตัวเงินตัวทองเพื่อให้เงินทองเข้าบ้าน การที่พูดว่า ร.ต.ต. ส เหี้ย เป็นถ้อยคำดูหมิ่นดูถูกว่า ร.ต.ต. ส เป็นคนประเภทเดียวกับสัตว์เลื่อยคลานประเภทนี้เข้าบ้านใครมีแต่นำความซวยมาสู่บ้านนั้น
๓.คำว่า “ มึงแน่จริง ถอดเครื่องแบบมาต่อยกับกูตัวต่อตัว ไม่ใช่ลูกชายนี่หว่า” เป็นการดูถูกดูหมิ่นไม่ให้เกียรติ์เจ้าพนักงาน ไม่ให้เกียรติ์เครื่องแบบที่สวมอยู่ มีความหมายเป็นนัยยะว่า เก่งเฉพาะใส่เครื่องแบบ เก่งเฉพาะเป็นตำรวจเวลาออกตวรจมีลูกน้องติดตามมาด้วย แต่หากจะสู้กันตัวๆก็ไม่กล้า เป็นการพูดทำนองว่าใช้อำนาจในเครื่องแบบกับประชาชนทั่วไป หากไม่แต่งเครื่องแบบแล้วก็ไม่กล้า ไม่ใช่ลูกผู้ชาย เก่งเฉพาะมีพวกเยอะและอยู่ในเครื่องแบบ หากไม่มีเครื่องแบบแล้วมาสู้กันตัวๆก็ไม่กล้า เป็นการดูถูก สบประมาท เหยีดหยาม ร.ต.ต. ส. ในขณะปฏิบัติการตามหน้าที่
๔.การที่ ร.ต.ต. ส ออกไปแนะนำให้กลุ่มนักเรียนกลับบ้านเพื่อกันการทะเลาะวิวาท เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดอาญา การที่ผู้ต้องนำถ้อยคำในข้อ ๑, ๒ และ ๓ มาพูดกับ ร.ต.ต. ส.ขณะกระทำการตามหน้าที่ระงับเหตุร้ายอันเป็นการกระทำการตามหน้าที่ย่อมเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่แล้ว

วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

"8 ข้อคิด"

1. แก้วที่คว่ำอยู่กลางสายฝน ต่อให้ฝนตกกระหน่ำทั้งคืนก็ไม่อาจเต็มไปด้วยน้ำ คนที่ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้ ต่อให้คลุกคลีอยู่กับนักปราชญ์ทั้งคืนก็ยังคงโง่เท่าเดิม
2. คนที่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความโกรธ ต่อให้นอนบนเตียงราคาแพงลิบลิ่ว ปูด้วยพรมขนสัตว์ที่มีลวดลายบุปผชาติประดับไปทั้งผืน ก็ไม่อาจทำให้หลับตาลงอย่างเป็นสุขได้เลยตลอดรัตติกาลอันยาวนาน
3. อยู่คนเดียวจงระวังความคิด อยู่กับมิตรจงระวังวาจา อยู่กับมารดาบิดาจงระวังการปฏิบัติตน ถ้าคิดไม่ระวังจะกลายเป็นคิดฟุ้งซ่าน ถ้าพูดไม่ระวังมิตรจะเข้าใจผิด ถ้าปฏิบัติไม่ดีต่อมารดาบิดาจะเป็นการสร้างบาปให้ตนเอง
4. อย่าแค่สอนให้ลูกอยาก "รวย" แต่สอนให้เข้าใจ "ความสุข" เพราะเมื่อลูกคุณโตขึ้น เขาจะได้รู้ "คุณค่า" ของสิ่งของ ไม่ใช่รู้แค่ "ราคา" ของมันเท่านั้น
5. ผู้คนคิดว่าการอยู่คนเดียวทำให้เราเหงา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก การถูกห้อมล้อมไปด้วยคนที่ไม่ใช่ต่างหาก คือสิ่งที่เหงาที่สุดในโลก
6. สมองคนเรามีพื้นที่จำกัด โปรดใช้จำแต่สิ่งดี!
7. คนฉลาด ไม่ได้คบคนที่สวยที่สุดในโลก แต่…คบคนที่คบแล้ว โลกสวยที่สุด
8. เก็บปาก...ไว้ที่ใจ ทำอะไรก็ไม่ลำบาก แต่หากเก็บใจ...ไว้ที่ปาก ความลำบากจะมาเยือน

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

“กรรมเดียว”

๑.เข้าไปในห้องมีทรัพย์หลายคนเป็นเจ้าของแล้วลักไปในคราวเดียวกัน คำพิพากษาฏีกา ๑๑๐๔/๒๕๐๔
๒.ขับรถฝ่าไฟแดงไปชนคน เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๒๔๘๕/๒๕๒๙
๓.เขียนบทความหมิ่นประมาทคนหลายคนในหนังสือพิมพ์ เป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนในคราวเดียวกัน เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๑๘๕๓/๒๕๓๐,
๔.มีอาหารปลอมหรืออาหารที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อจำหน่ายโดยสินค้านั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมติดอยู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายอาหารปลอม เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๓๐๙๑/๒๕๕๓
๕.ร่วมกันบุกรุก ถือครอง ก่นสร้างแผ้วถางป่าสงวนและร่วมทำไม้ เป็นการกระทำคราวเดียวกัน เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๗๑๓๕/๒๕๕๓
๖.ปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถ แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถและคู่มือจดทะเบียนรถ แม้เป็นการปลอมเอกสารราชการต่างประเภทกันที่มีลักษณะการปลอมที่แตกต่างกัน แต่ก็ได้ติดป้ายต่างๆไว้ในรถคันเดียวกันเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานในคราวเดียวกัน มีเจตนาให้เจ้าพนักงานตรวจเอกสารเข้าใจว่าเป็นรถที่จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๑๑๗๓/๒๕๕๓
๗.ด่าพร้อมขู่ว่าจะใช้ปืนยิง กระทำในคราวเดียวกันโดยมีเจตนาดูหมิ่นและทำให้ผู้เสียหายเกิดความตกใจกลัว เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาฏีกา ๖๑๔/๒๕๕๔
๘.เข้าไปลักทรัพย์ในบ้าน บุตรผู้เสียหายพบเห็นจึงแทง เป็นการกระทำในวาระเดียวกันตั้งแต่ลักทรัพย์จนถึงใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๘๓๗/๒๕๐๗
๙.ปลูกกัญชาเพื่อขาย เป็นกรรมเดียว ไม่ใช่ผิดฐานผลิตกรรมหนึ่ง และมีไว้เพื่อจำหน่ายอีกกรรม คำพิพากษาฏีกา ๖๕/๒๕๒๗
๑๐.กระทำอนาจารก่อนข่มขืนเป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๕๔/๒๕๒๘
๑๑.ใช้มีดแทงคนขับรถจักรยานยนต์เมื่อรถล้มจึงแทงคนซ้อนทันที แม้กระทำสองหนต่อบุคคลสองคนก็เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๑๔๐๐/๒๕๔๙
๑๒.หน่วงเหนียวกักขังใช้กำลังดึงแขนขู่บังคับให้นั่งรถไปด้วยโดยทำให้กลัวจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายแล้วพาไปทำอนาจาร เป็นการกระทำที่เชื่อมโยงในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน กระทำไปโดยมีเจตนากระทำอนาจารเป็นสำคัญ เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๔๙๔/๒๕๕๐
๑๓.ลักเช็คแล้วนำไปกรอกข้อความและตัวเลขพร้อมลงลายมือชื่อปลอม แล้วนำไปเบิกเงิน มีเจตนาที่มุ่งหมายที่จะได้เงินผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่างๆเป็นวิธีการที่จะได้เงิน เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๓๙๐๓/๒๕๕๑
๑๔.เอาไปซึ่งหนังสือเดินทาง ปลอมหนังสือเดินทางโดยนำภาพถ่ายจำเลยมาติดแทนภาพผู้มีชื่อในหนังสือเดินทางแล้วปลอมตราประทับบันทึกการอนุญาตให้คนเดินทางออกนอกราชอาณาจักร มีเจตนาเดียวคือต้องการออกนอกราชอาณาจักร เป็นกรรมเดียวระหว่างความผิดฐานเอาไปซึ่งเอกสารและฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารราชการ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๙๔/๒๕๕๒
๑๕.เอาโฉนดที่ดินปลอมที่มีรอยตราปลอมประทับอยู่ ไปแลกโฉนดที่แท้จริงของผู้เสียหายอันเป็นการเอาไปซึ่งเอกสารและลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แล้วนำโฉนดที่แท้จริงพร้อมหนังสือมอบอำนาจปลอมของผู้เสียหายไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน กากรกระทำดังกล่าว “ มีวัตถุประสงค์เดียว” ที่จะขายหรือ ขายฝากที่ดินพร้อมอาคารผู้เสียหายเท่านั้น เป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๘๔๙๐/๒๕๕๒
๑๖.วิ่งราวโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะและใช้อาวุธ การวิ่งราวเป็นการใช้กริยาฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ซึ่งรวมการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ด้วย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คือผิดลักทรัพย์โดยใช้อาวุธในเวลากลางคืน ตาม ปอ มาตรา ๓๓๔,๓๓๕(๑)((๗) และความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยใช้อาวุธและยานพาหนะ คำพิพากษาฏีกา ๓๖๑๒/๒๕๕๓
๑๗.ลักปลายขั้วสลากเลขท้าย ๓ ตัว ๒ ตัวของผู้เสียหายไปกรอกเลขให้ตรงรางวัลเลขท้ายประจำงวด นำไปหลอกเอารางวัลจากผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่น ใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม แม้เป็นการกระทำต่างฐานกัน แต่เป็นความผิดต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อเอาเงินจากผู้เสียหาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาฏีกา ๗๒๔๓/๒๕๕๓
๑๘.เข้าไปในโรงงานที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายและทุบอิฐบ็อกและคอนกรีต รื้อเหล็กโครงสร้างอาคารแล้วเอาเหล็กดังกล่าวไป มีเจตนาเดียวคือต้องการเอาเหล็กไป จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบททั้งฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๘๑๐//๒๕๕๓
๑๙.กระทำชำเราอันมีละกษณะโทรมหญิงแล้ว ยังคงควบคุมหน่วงเหนียวและกักขังแล้วพาไปอีกสถานที่หนึ่งแล้วกระทำชำเราอีก ผู้เสียหายยังไม่พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำผิดของจำเลย จึงเชื่อมโยงต่อเนื่องในวาระเดียวกันเป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๒๒๒/๒๕๕๔
๒๐.จำเลยเป็นครูประจำชั้นจูงมือผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ไปต่อหน้าบิดามารดา เป็นการใช้อำนาจของครูต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นศิษย์ แม้ทำอนาจารศิษย์นอกเวลาเรียนก็ถือว่าศิษย์อยู่ในความควบคุมดูแล เมื่อทำอนาจารและข่มขืน เป็นความผิดกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๒๔๒๕/๒๕๕๔
๒๑.จำเลยยิง ส. กระสุนพลาดไปถูก ว. เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาฏีกา ๕๔๓๘/๒๕๓๘
๒๒.เมาสุราขับรถเฉี่ยวชนรถคันอื่นมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาฏีกา๑๔๑๑/๒๕๕๓,๓๐๕๕/๒๕๕๑,๔๐๖๗/๒๕๕๐
๒๓.เมาสุราขับรถด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนผู้อื่น เป็นการกระทำโดยต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๒๔๐๘/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑.การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามบทหนัก แต่หากเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้ลงทุกกรรม
๒.ความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่างอยู่ในอันเดียวกัน โดยต่างเป็นองค์ประกอบของความผิด เมื่อรวมการกระทำผิดหลายอย่างเข้าด้วยกันแล้วกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดฐานใหม่ถือเป็นกรรมเดียว เช่น ชิงทรัพย์รวมการลักทรัพย์และการทำร้ายอยู่ด้วยกัน เมื่อการลักทรัพย์ยังไม่ขาดตอนแล้วไปทำร้ายเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นกรรมเดียวในความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่เป็นสองกรรมในความผิดฐานลักทรัพย์ และฐานทำร้ายร่างกาย เพราะกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดฐานใหม่ ฐานชิงทรัพย์ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ดูตามคำพิพากษาฏีกาตาม ข้อ ๘
๓.ตั้งใจกระทำความผิดฐานหนึ่ง แต่ก่อนที่จะกระทำความผิดฐานนั้นได้อาจต้องกระทำความผิดฐานอื่นเพื่อนำไปสู่ความผิดฐานที่ตนประสงค์จะกระทำ เช่น เจตนาจะฉ้อโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินผู้เสียหาย อาจต้องทำการปลอมเอกสารเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเพื่อได้มาซึ่งเงินที่ได้จากการฉ้อโกง เช่นคำพิพากษาฏีกา ๒๗๑๖/๒๕๒๒ หรือการจับบุตรผู้เสียหายมามัดเพื่อบังคับให้บอกที่ซ่อนทรัพย์ เมื่อผู้เสียหายขึ้นมาบนเรือนก็ยิงผู้เสียหายทันที การจับหมัดเป็นการหน่วงเหนียวกักขังให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา, ๓๑๐ .การยิงผู้เสียหายทันที่ที่ขึ้นมาบนเรือนเป็นการยิงเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ เป็นการพยายามฆ่าเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดฐานอื่น เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เมื่อยิงแล้วได้เข้าไปค้นหาทรัพย์สินแล้วพาทรัพย์นั้นไป ความผิดเกิดขึ้นหลายฐานทั้งความผิดต่อเสรีภาพ ต่อชีวิต ต่อทรัพย์ แต่เมื่อมีเจตนาเดียวในการกระทำผิดจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งได้มีคำพิพากษาฏีกาที่เดินตามแนวนี้คือ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๘๕/๒๕๑๗.หรือการเข้าไปในบ้านเพื่อด่าเจ้าของบ้าน การเข้าไปด่าเจ้าของบ้านเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรอันเป็นความผิดฐานบุกรุก การด่าผู้เสียหายเป็นความผิดฐานดูหมิ่น เป็นกรรมเดียว มีคำพิพากษาฏีกาที่วินิจฉัยตามแนวนี้คือ คำพิพากษาฏีกา ๒๓๔๑/๒๕๒๙
๔.วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ผลิต” ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษยังหมายความรวมถึง การเพาะ ปลูก ทำผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการแบ่งบรรจุ รวมบรรจุด้วย ดังนั้นคนที่ปลูกกัญชาเพื่อขาย จึงเป็นการผลิตกัญชา เมื่อปลูกโดยมีเจตนาขายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวหาใช่เป็นความผิดหลายกรรมฐานผลิต และฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่งไม่
๕.จับหน้าอก จูบปาก ดูดคอ ดูดนม ก่อนขมขื่นเป็นการทำอนาจาร เจตนาหลักคือการข่มขืนจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทคือเป็นความผิดทั้งความผิดฐานขมขืนและฐานอนาจาร เมื่อเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทจึงต้องลงโทษฐานข่มขืนอันเป็นบทหนัก หรือในกรณีเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านไปพบปืนจึงหยิบปืนมาจี้บังคับให้บอกที่ซ่อนของทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียว ไม่ใช่สองกรรมคือลักปืนหนึ่งกรรมและลักทรัพย์อื่นอีกหนึ่งกรรม การเอาปืนไปเพื่อประโยชน์ในการบังคับให้บอกที่ซ่อนแห่งทรัพย์ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ ให้ยื่นซึ่งทรัพย์หรือยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งได้มีคำพิพากษาฏีกา ๒๔๕๗/๒๕๓๐วินิจฉัยรองรับแนวคิดนี้ไว้
๖.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกาที่วินิจฉัยว่า ใช้มีดแทงคนขับรถจักรยานยนต์เมื่อรถล้มจึงแทงคนซ้อนทันที แม้กระทำสองหนต่อบุคคลสองคนก็เป็นกรรมเดียว ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้คงเพราะเห็นว่าการแทงคนขับเพื่อต้องการให้รถล้ม การแทงคนซ้อนเพื่อต้องการยึดทรัพย์ทรัพย์ไว้และให้พ้นการจับกุม การแทงบุคคลทั้งสองมีเจตนาเดียวคือต้องการเอารถไป หากบุคคลทั้งสองแยกดำเนินคดีโดยฟ้องเอง ศาลก็คงรวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกันแล้วพิพากษาไปพร้อมกัน แต่ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าแม้แทงต่อเนื่องแต่บุคคลที่ได้รับความเสียหายก็เป็นคนละคนกัน คนขับถูกแทงไม่ตายสามารถเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ได้เอง แต่คนซ้อนถูกแทงถึงแก่ความตายหากประสงค์ที่จะดำเนินคดีต้องดำเนินคดีโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ปวอ มาตรา ๕(๒) หากต่างคนต่างฟ้องจะถือว่าเป็นฟ้องซ้อนไม่ได้เพราะผู้เสียหายคนละคนกัน โจทก์ที่ฟ้องเป็นคนละคนกัน หรือแม้ในทางแพ่งต่างคนต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายต่างคนต่างมีอำนาจฟ้องจะถือว่าคำพิพากษาในคดีอาญาต้องผูกพันในคดีแพ่งตาม ปวอ มาตรา๔๖หาได้ไม่ เพราะในมาตราดังกล่าวบัญญัติเพียงการพิพากษาในคดีแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญา แต่ไม่ได้ถือว่าคดีแพ่งต้องนำคำพิพากษาในคดีอาญามาถือตาม ซึ่งในปวอ มาตรา ๔๗ บัญญัติไว้ชัดว่า คำพิพากษาในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องคำพิพากษาในคดีอาญาว่าได้กระทำผิดหรือไม่นั้นก็คือ คือจะถือว่า เมื่อคดีอาญาถือเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามบทหนักคือฐานฆ่าเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดฐานอื่น เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการที่ตนได้กระทำความผิดอื่น ตาม ปอ มาตรา ๒๘๙(๖)(๗)แล้วจะมาฟ้องทางแพ่งฐานพยายามฆ่า(คนขับ)เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการที่ตนได้กระทำความผิดอื่น )ซึ่งเป็นบทเบากว่าหาได้ไม่ ดังนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เมื่อคดีแพ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้แล้ว ในคดีอาญาก็สามารถต่างคนต่างฟ้องได้ การพิจารณาในคดีอาญาว่าเป็นกรรมเดียวหรือสองกรรมก็น่าจะใช้เกณฑ์นี้พิจารณา เมื่อผู้เสียหายคนละคนกันเวลาที่ทำผิดก็คนละเวลาแม้ใกล้ชิดกันก็ตาม การกระทำก็น่าเป็นความผิดสองกรรม ศาลท่านคงพิจารณาว่าเป็นกรรมเดียวแม้แทงคนสองคนก็เพราะมีเจตนาเดียวคือต้องการได้รถของผู้เสียหายไปจึงเป็นกรรมเดียว แต่เมื่อมีคำพิพากษาฏีกาวินิจฉัยไว้ก็เคารพในคำพิพากษาดังกล่าว
๗.ศาลฏีกามองว่าอาจมีการกระทำหลายอย่างเพื่อให้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่งการกระทำหลายอย่างเพื่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น การกระทำในแต่ละอย่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง แต่เมื่อการกระทำความผิดทุกฐานกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายหรือต้องการให้สำเร็จผลเพียงอันใดอันหนึ่งนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามบทหนัก เช่นตาม ข้อ ๑๒,๑๓,๑๔,๑๕ เป็นต้น ในความเห็นส่วนตัวด้วยความเคารพในคำพิพากษาฏีกาเห็นว่า การกระทำแต่ละอย่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวของมันเอง ได้กระทำต่างกรรมต่างวาระ ต่างเวลาต่างสถานที่กัน หรือแม้แต่กระทำต่อบุคคลแตกต่างกันด้วย การกระทำดังกล่าวน่าเป็นความผิดหลายกรรมแยกต่างหากจากกันได้ จึงน่าเป็นความผิดหลายกรรมหาใช่กรรมเดียวไม่ แต่เมื่อศาลฏีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วก็เคารพในคำพิพากษาฏีกาดังกล่าว
๘.ลักปลายขั้วสลากเลขท้าย ๓ ตัว ๒ ตัวของผู้เสียหาย เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และในขณะเดียวกัน ปลายขั้วสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว เป็นกระดาษที่ทำให้ปรากฎความหมายด้วยตัวอักษรตัวเลขเพื่อให้ยืนยันหรือตรวจสอบว่าสลากที่อ้างว่าถูกรางวัลและนำมาขึ้นเงินนั้นสามารถเข้ากันกับรอยฉีกขาดที่ดึงออกจากต้นขั้วได้เพื่อแสดงว่าเป็นสลากที่ถูกต้องแท้จริง ปลายขั้วสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว จึงเป็นเอกสาร การเอาไปซึ่ง ปลายขั้วสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว จึงเป็นการเอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ปอ มาตรา ๑๘๘ ส่วนการที่นำปลายขั้วสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว ไปกรอกเลขให้ตรงรางวัลเลขท้ายประจำงวด นำไปหลอกเอารางวัลจากผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานปลอมเมื่อนำไปอ้างต่อผู้เสียหายเป็นความผิดฐาน ใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม แม้เป็นการกระทำต่างฐานกัน แต่เป็นความผิดต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อเอาเงินจากผู้เสียหาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
๙.การกระทำความผิดบางอย่างอาจต้องกระทำการหลายอย่างซึ่งเป็นความผิดหลายบทเพื่อให้ได้ผลตามที่ตนต้องการเช่นตาม ข้อ ๑๘ มีเจตนาลักเหล็กได้บุกรุกเข้าไปรื้อโครงสร้างทำลายอิฐบ็อกแล้วเอาเหล็กไป เป็นความผิดหลายฐานทั้งบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ เมื่อมีเจตนาเดียวคือต้องการลักทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
๑๐.เมื่อกระทำความผิดแล้ว การกระทำความผิดยังต่อเนื่องอยู่ต่อไป ผู้เสียหายยังไม่พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำผิดของจำเลยซึ่งเชื่อมโยงต่อเนื่องในวาระเดียวกัน ไม่ว่าจะโทรมหญิงแล้วมาโทรมใหม่ในวันรุ่งขึ้นในสถานที่เดียวกันหรือต่างสถานที่ก็ตาม ก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกันกับการโทรมหญิงครั้งแรกตราบใดที่ยังหน่วงเหนียวกักขังผู้เสียหายอยู่ภยันตรายยังไม่หมดไปจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายอาจถูกข่มขืนอันเป็นการโทรมหญิงอีกเมื่อใดก็ได้ เพราะหากจำเลยหมดความต้องการที่จะข่มขืนในลักษณะโทรมหญิงแล้วคงปล่อยตัวผู้เสียหายไป แต่เมื่อไม่ปล่อยแสดงยังมีเจตนาที่จะกระทำการโทรมหญิงต่อไปอีก ด้วยความเคารพในคำพิพากษาฏีกาในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า หากเทียบกรณียักยอกทรัพย์แต่ละวันไป โดยมีเจตนาเดียวคือต้องการยักยอก แต่ได้กระทำคนละวันเวลากัน คนละจำนวนเงินกัน ยังเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนที่ยักยอกทรัพย์ไป แล้วการกระทำชำเราอันเป็นการโทรมหญิงเมื่อกระทำคนละวันเวลากันก็น่าที่จะเป็นความผิดหลายกรรมหาใช่กรรมเดียว มิเช่นนั้นแล้วจำเลยอาจคิดว่าหากพลาดถูกจับดำเนินคดีแล้วการทำผิดครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็เป็นกรรมเดียวก็ยิ่งจะส่งเสริมให้จำเลยทำการข่มขืนผู้เสียหายไม่หยุดเพราะหากถูกจับก็ถือเป็นแค่กรรมเดียว เรื่องอะไรจะไปข่มขืนครั้งเดียว ข่มขืนหลายครั้งไม่ดีกว่าหรือ? หาก ถูกจับก็เป็นการกระทำแค่กรรมเดียวเท่านั้น แต่เมื่อศาลฏีกาวินิจฉัยไว้ก็เคารพในคำพิพากษา
๑๑.ศิษย์ที่อยู่ในความดูแลนั้น ไม่ได้หมายเฉพาะในเวลาเรียนเวลาสอนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงนอกเวลาเรียนตามปกติด้วย ตามข้อเท็จจริงเมื่อครูดึงมือศิษย์ไปต่อหน้าบิดามารดาเป็นการแสดงอำนาจความเป็นครูที่มีต่อศิษย์ต่อหน้าบิดามารดาของศิษย์นั้นแล้ว แม้เป็นการกระทำนอกเวลาเรียนก็ถือว่าศิษย์อยู่ในความควบคุมดูแล เมื่อครูได้กระทำอนาจารและข่มขืนผู้เสียหายซึ่งเป็นศิษย์จึงเป็นการกระทำต่อศิษย์ที่อยู่ในความดูแล จึงต้องระวางโทษหนักกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกหนึ่งในสาม ตามปอ มาตรา ๒๘๕ และเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ตาม ปอ มาตรา ๒๘๑ด้วย นั้นก็คือ หากหญิงมีอายุเกิน ๑๕ ปีบริบรูณ์ถูกกระทำการอนาจารหรือข่มขืนแล้วเป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ แต่หากผู้กระทำผิดเป็นครูที่ดูแลผู้เสียหายที่เป็นศิษย์ที่อยู่ในความดูแลแล้ว ไม่สามารถยอมความได้ เมื่อกระทำอนาจารและข่มขืนแล้วถือเป็นกรรมเดียวกัน และการกระทำอนาจารหรือข่มขืนศิษย์ที่อยู่ในความดูแลของตนตาม ปอ มาตรา ๒๗๖,๒๗๗,๒๗๘,๒๗๙,๒๘๕เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานข่มขืนและกระทำอนาจารบุคคลทั่วไปตาม ปอ มาตรา ๒๗๖,๒๗๗,๒๗๘,๒๗๙
๑๒.ในความผิดเรื่องพลาดตาม ปอ มาตรา ๖๐ เมื่อมีเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ผลเกิดทั้งบุคคลที่ต้องการกระทำและบุคคลที่ไม่ต้องการกระทำ หรือผลไม่เกิดแก่บุคคลที่ต้องการกระทำ แต่ผลยังไปเกิดกับบุคคลภายนอกด้วย เมื่อมีเจตนาเดียวที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด แม้ผลไปเกิดแก่บุคคลอื่นโดยพลาดด้วยแล้วก็ยังเป็นกรรมเดียว เช่น ยิง ท กระสุนถูก ท แต่ไม่ตาย หรือไม่ถูก ท. แต่ไปถูก ส. ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวคือพยายามฆ่า ท โดยเจตนาประสงค์ต่อผล ตาม ปอ มาตรา ๕๙,๘๐,๒๘๘ และพยายามฆ่า ส. โดยพลาด ตาม ปอ มาตรา ๖๐,๘๐,๒๘๘ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงบทหนัก เมื่อเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า ท และพยายามฆ่า ส ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันศาลลงบทใดก็ได้ แต่หากว่า เจตนายิง ท กระสุนถูก ท ถึงแก่ความตายและยังไปถูก ส. ด้วย มีความผิดฐานฆ่า ท โดยเจตนาประสงค์ต่อผลตาม ปอ มาตรา ๕๙,๒๘๘ และฐานพยายามฆ่า ส. โดยเจตนาพลาด ตาม ปอ มาตรา ๖๐,๘๐,๒๘๘ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงบทหนักตาม ปอ มาตรา ๕๙,๒๘๘
๑๓.ความผิดฐานเมาสุราแล้วขับรถแล้วได้ไปกระทำความผิดฐานอื่นอีก ศาลฏีกาวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว นั้นก็คือ การเมาแล้วขับถือเป็นการขับรถด้วยความประมาทเมื่อไปเฉี่ยวชนคนหรือรถอื่นทำให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นหรือผู้โดยสารมาในรถนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย หรือถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและฐานเมาแล้วขับ ตาม ปอ มาตรา๕๙,๒๙๑,๓๐๐,๓๙๐พรบ จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓(๒),๑๖๐ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว
๑๔.กรณีเสพยาเสพติดแล้วมาขับรถเป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓ทวิ ความผิดเกิดขึ้นทันทีที่เสพยาเสพติดแล้วมาขับรถ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การเสพยาเสพติดแล้วมาขับรถถือเป็นการขับรถโดยประมาทเมื่อไปเฉี่ยวชนคนหรือรถอื่นทำให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นหรือผู้โดยสารมาในรถนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย หรือถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและฐานเสพยาเสพติดแล้วขับรถ ตาม ปอ มาตรา๕๙,๒๙๑,๓๐๐,๓๙๐พรบ จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓ทวิ,๑๕๗ทวิ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว โดยเทียบตามคำพิพากษาฏีกากา ๒๔๐๘/๒๕๕๓และตามข้อสังเกตที่ ๑๓

“เริ่มนับอายุความ”

๑.ความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ถูกจับกุม คำพิพากษาฏีกา๑๓๘/๒๕๐๗
๒.ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดเกิดขึ้นนับแต่วันที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อเนื่องไปถึงวันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความเริ่มนับแต่วันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ หาใช่ต่อเนื่องกันตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ คำพิพากษาฏีกา๑๖๕๔/๒๕๑๒
๓.เข้าในราชอาณาจักรโดยใช้หนังสือเดินทางคนอื่น แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ตนมีชื่อในหนังสือเดินทางนั้น ความผิดฐานแจ้งความเท็จเกิดตั้งแต่วันที่ทำการแจ้งความเท็จ ไม่ใช่วันที่เจ้าพนักงานรู้ว่าเป็นการกระทำความผิด ส่วนการอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมา คำพิพากษาฏีกา ๘๐๘/๒๕๒๐
๔.ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปปลูกเรือนในที่ดินคนอื่นความผิดเกิดเมื่อเข้าไปปลูกเรือนในที่คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หาใช่เป็นความผิดตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนที่ปลูก หรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ คำพิพากษาฏีกา๔๕๓/๒๕๒๒,๒๒๕๓/๒๕๓๑
๕.คนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละปี ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ความผิดในปีสุดท้ายจึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๒๔๐/๒๕๒๓
๖.ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่ได้รื้อถอน คำพิพากษาฎีกา ๗๓๓๐/๒๕๔๐
๗.เข้าไปถือการครอบครองที่ดินของรัฐเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังยึดถือครอบครอง คำพิพากษาฏีกา ๑๓๙๙/๒๕๔๘
๘.ยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อพ้นกำหนด เป็นความผิดทันทีที่ยื่นพ้นกำหนด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง การปรับเป็นรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นเพียงบทบังคับให้ต้องกระทำโดยเร็ว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน คำพิพากษาฏีกา๒๒๐๐/๒๕๔๘
๙.ยื่นฟ้องภายในอายุความ จำเลยหลบหนี ได้ตัวมาอีกครั้งเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว ถือคดีขาดอายุความต้องปล่อยตัวจำเลยไป จะดำเนินคดีกับจำเลยไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๗๓๕/๒๕๑๔
๑๐.อายุความคดีอาญาเป็นเรื่องเฉพาะจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๔ มาใช้ไม่ได้ คดีแรกฟ้องภายในอายุความแต่ฟ้องผิดศาล ศาลจำหน่ายคดีเพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล การนำคดีมาฟ้องใหม่ ณ ศาลที่มีเขตอำนาจต้องฟ้องภายในอายุความด้วย คำพิพากษาฏีกา ๕๘๘/๒๕๔๖,๔๓๑๑/๒๕๔๘
๑๑.ฟ้องภายในอายุความ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีภายในอายุความ คดีขาดอายุความ จะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๙๘๖/๒๕๑๔
๑๒.บทบัญญัติตาม มาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องและได้ตัวมาศาล อายุความจึงหยุดนับตาม ปอ มาตรา ๙๕ เป็นบททั่วไปใช้ทั้งพนักงานอัยการและราษฏร์ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๐/๒๕๒๘
๑๓.การนับอายุความนั้นมีคำพิพากษาฏีกา ๑๙๘/๒๕๐๘,๙๒๐/๒๕๕๐
ให้นับระยะเวลาตาม ปพพ ซึ่งในมาตรา ๑๙๓/๓ของ ปพพ ไม่ให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วย นั้นคือ ให้ถือวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกของการนับอายุความในคดีอาญา และนับเรื่อยไปจนกว่าคดีจะขาดอายุความหรือจนกว่าจะได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาล อายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ ถือตามอัตราโทษที่พิจารณาได้ความไม่ใช่พิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่ฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๕๔๙๔/๒๕๓๔,๒๐๖๐/๒๕๓๘ หากศาลชั้นต้นปรับบทผิดต้องถือตามมาตราที่ถูกต้อง คำพิพากษาฏีกา ๒๐๒๔/๒๕๔๓
๑๔.อายุความฟ้องคดีอาญาถือตามอัตราโทษหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่ถือตามฐานความผิดที่จำเลยได้รับ เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา ๕๕ วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓) คณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ส.ค.๒๕๔๗ จำเลยต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายพร้อมรับรองความถูกต้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายในวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๔๗ เมื่อไม่ยื่นภายในกำหนด ถือกระทำความผิดตั้งแต่วันที่๒๒ พ.ย.๒๕๔๗ เมื่อฟ้องวันที่ ๑๐ ก.ย.๒๕๕๑ คดีไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๔๙๕๘/๒๕๕๓
๑๕.ความผิดฐานบุกกรุกไม่ใช่ความผิดเกิดตลอดเวลาที่บุกรุกหรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลุกอยู่ ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕ จำคุกไม้เกิน ๕ ปี เมื่อฟ้องเกิน ๑๐ ปี คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๔๕๓/๒๕๒๒
๑๖.คดีโจทก์มีอายุความ ๑๐ ปี ต้องฟ้องและให้ได้ตัวมาภายในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ เมื่อฟ้องวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี ได้ตัวจำเลยมาพิจารณา ๒๕ มิ.ย. ๒๕๒๔ เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๐/๒๕๒๘
๑๗.ความผิดฐานพาอาวุธปืนตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ มีอายุความ ๑ ปีตาม ปอ มาตรา ๙๕(๕) เมื่อกระทำความผิด ๒๕ ธ.ค.๒๕๔๕ เมื่อฟ้องวันที่ ๑๖ ม.ค.๒๕๔๗ คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๗๐๐๗/๒๕๕๓
๑๘.ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๙๑ มีอายุความ ๑ ปี กระทำผิดวันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๓๖ ฟ้องคดีวันที่๒๗ กย ๒๕๔๔ เกิน ๑ ปี คดีขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๙๖๕๐/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑.อายุความในคดีอาญา เป็นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้มิเช่นนั้นย่อมเสียสิทธิ์ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ เช่น
๑.๑กำหนดระยะเวลาที่ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิเช่นนั้นสิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖) ปอ มาตรา ๙๕
๑.๒หรือเป็นกำหนดระยะเวลาในการรับโทษของจำเลยที่หลบหนีการคุมขังหากไม่ได้ตัวมารับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้กระทำผิดหลบหนี หากเกินกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นอันล่วงเลยการลงโทษซึ่งจะลงโทษผู้กระทำผิดไม่ได้ ปอ มาตรา ๙๘ เป็นอายุความล่วงเลยการลงโทษ
๑.๓ หรือในความผิดต่อส่วนตัวที่ยอมความได้ นั้น เป็นกำหนดระยะเวลาที่ต้องมาร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องภายในกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ ปอ มาตรา ๙๖
๑.๔หรือเป็นกำหนดระยะเวลาที่จะฟ้องภายหลังคดีอันเป็นมูลฐานที่จะขอให้กักกัน ตาม ปอ มาตรา ๙๗
๑.๕หรือเป็นกำหนดระยะเวลายึดทรัพย์หรือกักขังแทนค่าปรับ ปอ มาตรา ๙๙
๑.๖หรือเป็นกำหนดระยะเวลาบังคับในการกักกันผู้ใด ซึ่งหากยังกักกันยังไม่ครบแล้วหลบหนี หรือพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นับแต่วันที่พ้นโทษตามคำพิพากษา หรือล่วงเลยระยะเวลาการลงโทษ เป็นอันล่วงเลยการกักกัน ปอ มาตรา ๑๐๐
๑.๗หรือเป็นกรณีบังคับตามคำสั่งศาลที่สั่งให้ทำทัณท์บนว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย ตาม ปอ มาตรา ๔๖ หรือร้องขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินเมื่อกระทำผิดทัณท์บน ตาม ปอ มาตรา ๔๗ แล้วไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จะบังคับหรือร้องขอดังกล่าวไม่ได้ ปอ มาตรา ๑๐๑
๒.การนับวันเริ่มต้นแห่งอายุความในคดีอาญา
๒.๑เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีในความผิดต่อส่วนตัวเมื่อใด ในความผิดต่อส่วนตัวหากไม่ได้ “ร้องทุกข์” หรือ “ฟ้องคดี” ภายในกำหนด ๓ เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความร้องทุกข์ สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(.๖). คำพิพากษาฏีกา ๗๓๓/๒๕๐๕ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ปวอ มาตรา ๑๒๐,๑๒๑ เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด แม้ฟ้องคดีเกิน ๓ เดือนคดีก็ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๕๔/๒๕๓๐,๗๗๑/๒๕๐๗ นั้นก็คือ หากไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน แต่ฟ้องคดีภายใน ๓ เดือน เมื่อยังไม่พ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ แล้ว คดีก็ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๗๗๓/๒๕๐๓ ปัญหาเรื่องการร้องทุกข์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือคดีขาดอายุความฟ้องร้อง หรือขาดอายุความร้องทุกข์หรือไม่เป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลสามารถยกขึ้นมาพิจารณาได้ ปวอ มาตรา ๑๙๕,.๒๒๕ในคดีแพ่งหากไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกอายุความขึ้นมายกฟ้องหาได้ไม่ ปพพ มาตรา ๑๙๓/๒๙ แม้คดีขาดอายุความในทางแพ่งก็สามารถฟ้องคดีได้เพราะมีมูลหนี้กัน เพียงแต่หากคู่ความอีกฝ่ายยกอายุความขึ้นมาตัดฟ้องตาม ปวพ มาตรา ๒๔ ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ฝ่ายที่นำคดีที่ขาดอายุความมาฟ้องก็เป็นฝ่ายแพ้คดี
๒.๒.เพื่อจะได้รู้ว่าคดีขาดอายุความเมื่อใด?.
๒.๓.อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมีหรือไม่ อำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรืออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการมีหรือไม่ ?
๒.๔เพื่อที่ผู้กระทำผิดจะได้รู้ว่าตนเองได้รับอสิระภาพโดยไม่อาจถูกดำเนินคดีได้เมื่อไหร่ ปอ มาตรา ๙๕ การที่บุคคลใดกระทำความผิดแล้วหลบหนีไปจนขาดอายุความ บุคคลนั้นต้องหลบๆซ่อนๆได้รับความทุกข์ทรมานมาพอสมควรแล้ว เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องบางคนอาจไม่คบค้า ช่วยเหลือ หรือให้ที่พักพิง ถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับโทษทางอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นโทษทางสังคมเป็นโทษทางศีลธรรมที่ต้องหลบๆซ่อนๆ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็หวาดกลัวต้องหลบหลีกใช้ชีวิตไม่เป็นไปตามปกติคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วถือบุคคลนั้นได้ถูกลงโทษมาตามสมควรแล้ว
๓. การนับอายุความในคดีอาญาพิจารณาดังนี้
๓.๑ความผิดที่สำเร็จได้ในการกระทำเพียงครั้งเดียว เช่นใช้ปืนยิงความผิดเกิดขึ้นทันที ส่วนผู้เสียหายต้องรักษาตัวเกิน ๒๐ วันหรือไม่ หรือตายในภายหลังจากถูกยิงไปแล้วหลายวัน ไม่ได้นำวันเหล่านี้มาคิด แต่ให้นำวันที่ยิงเป็นวันเริ่มนับอายุความ
๓.๒ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วยังไม่เสร็จสิ้นอาจมีการกระทำนั้นๆซ้ำๆซากได้ เช่นการพรากหญิงเพื่อการข่มขืนอนาจาร ผู้ต้องหาข่มขืนแล้วไม่ปล่อยตัวผู้เสียหายกลับแต่ยังกักขังเพื่อทำการข่มขืนต่อไปอีกหลายวันต้องเริ่มนับวันสุดท้ายที่ข่มขืนเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความ
๓.๓ ความผิดที่เกิดต่อเนื่องกันไป เช่น บุกรุก “ที่ดินของรัฐ หรือที่ป่าไม้ ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ “ ตราบใดยังบุกรุกอยู่ความผิดยังดำเนินการต่อไป จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อการกระทำผิดหมดไปคือเลิกบุกรุกหรือออกไปจากที่ดินแล้วให้เริ่มนับวันนั้นเป็นวันแรกในการเริ่มนับอายุความ แต่หากเป็นการบุกรุกที่ดิน “เอกชน” ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดไปตราบแม้ยังบุกรุกครอบครอง ต่อเนื่องต่อไป
๓.๔ความผิดบางอย่างประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเข้าด้วยกัน อาจมีการหลอกลวงจนได้ทรัพย์ไป การได้ทรัพย์อาจไม่ใช่วันที่หลอกลวงก็ได้ ได้ทรัพย์เมื่อใดวันนั้นถือเป็นวันกระทำความผิดที่ต้องเริ่มนับอายุความ เพราะองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ต้องได้ไปซึ่งทรัพย์ของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
๓.๕พยายามกระทำความผิดต้องถือเอาการกระทำอันสุดท้าย เพราะการกระทำไม่สำเร็จหรือไม่บรรลุผล
๓.๖ความผิดที่เกิดจากการละเว้นไม่กระทำ อายุความเริ่มนับแต่วันสุดท้ายที่ละเลยไม่การะทำการ เช่นไม่ไปขึ้นทะเบียนทหารภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด อายุความเริ่มนับแต่วันสุดท้ายที่กำหนดให้ไปขึ้นทะเบียนทหาร คำพิพากษาฏีกา ๖๗๑/๒๔๘๖ โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดระยะเวลาให้มาขึ้นทะเบียนทหาร เช่น ๓๐ วัน พ้นวันที่ ๓๐ ไปแล้วจึงเริ่มนับอายุความ ไม่ใช่เริ่มนับแต่วันที่ ๑ เพราะแม้ไม่มาขึ้นทะเบียนในวันที่ ๑ อาจมาขึ้นทะเบียนในวันที่ ๒๐ ก็ได้ จึงต้องถือเอาวันสุดท้ายที่ทางราชการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความในการกระทำความผิด หากไปเริ่มนับในวันที่ ๑ ผู้กระทำผิดจะหลุดพ้นจากการดำเนินคดีอาญาไปก่อนกำหนดถึง ๒๙ วัน
๔.ความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ถูกจับกุม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่ได้รื้อถอน เข้าไปถือการครอบครองที่ดินของรัฐเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังยึดถือครอบครอง ,อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดมา
๕.ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดเกิดขึ้นนับแต่วันที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อเนื่องไปถึงวันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความเริ่มนับแต่วันที่ปลูกสร้างอาคารเสร็จ หาใช่ต่อเนื่องกันตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ , ความผิดฐานแจ้งความเท็จเกิดตั้งแต่วันที่ทำการแจ้งความเท็จ ว่า ตนมีชื่อในหนังสือเดินทางนั้น ไม่ใช่วันที่เจ้าพนักงานรู้ว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ,บุกรุกเข้าไปปลูกเรือนในที่ดินคนอื่นความผิดเกิดเมื่อเข้าไปปลูกเรือนในที่คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หาใช่เป็นความผิดตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนที่ปลูก หรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ ,คนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละปี ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง, .ยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อพ้นกำหนด เป็นความผิดทันทีที่ยื่นพ้นกำหนด ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
๖. ฟ้องภายในอายุความ จำเลยหลบหนี ได้ตัวมาอีกครั้งเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว ถือคดีขาดอายุความต้องปล่อยตัวจำเลยไป จะดำเนินคดีกับจำเลยไม่ได้
๗..อายุความคดีอาญาเป็นเรื่องเฉพาะจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๔ มาใช้ไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าหากไม่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแล้วให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอนุโลมใช้ ดังนั้นจะถือว่าการฟ้องคดีอาญาทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๔ ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับในอายุความ เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเมื่อใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตาม ปพพ มาตรา ๑๙๓/๑๕ ไม่ได้ เพราะเป็นการ “ขยาย” อายุความที่ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ปอ มาตรา ๙๕ ดังนั้นการที่ฟ้องผิดศาล ศาลจำหน่ายคดีเพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล การนำคดีมาฟ้องใหม่ ณ ศาลที่มีเขตอำนาจต้องฟ้องภายในอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ ด้วย จะถือว่าการฟ้องคดีแรกทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านี้ไม่นำมานับเป็นอายุความและเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดคือมีการฟ้องคดีใหม่ ณ ศาลที่มีเขตอำนาจแล้วเมื่อใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นดังนี้ไม่ได้ เป็นการขยายอายุความในการฟ้องคดี อายุความในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่อาจขยายหรือย่นอายุความ หรือมาตกลงกันเองว่าคดีนี้มีกำหนดอายุความเท่าไหร่
๘..ฟ้องคดีอาญาภายในอายุความ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีภายในอายุความ คดีขาดอายุความ จะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้ไม่ได้ คือจะถือว่าเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาแล้วจำเลยหลบหนีไป อายุความสะดุดหยุดลงระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านี้ไม่นำมานับเป็นอายุความและเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดคือเมื่อจับตัวจำเลยได้แล้วจึงเริ่มนับอายุความใหม่ดังนี้ไม่ได้
๙.บทบัญญัติตามปอ มาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาล เป็นบททั่วไปใช้ทั้งพนักงานอัยการและราษฏร์
๑๐.การนับอายุความนั้น
ก.ให้นับระยะเวลาตาม ปพพ เพราะในคดีอาญาไม่ได้บัญญัติไว้จึงต้องนำ ปพพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา ๑๙๓/๓ของ ปพพ ไม่ให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วย นั้นคือ ให้ถือวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกของการนับอายุความในคดีอาญา และนับเรื่อยไปจนกว่าคดีจะขาดอายุความหรือจนกว่าจะได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาล
ข.อายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ ถือตาม “อัตราโทษที่พิจารณาได้ความ” ไม่ใช่พิจารณาจาก “ข้อหาหรือฐานความผิดที่ฟ้อง” หากศาลชั้นต้นปรับบทผิดต้องถือตามมาตราที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเกณท์ในการนับอายุความ
ค.อายุความฟ้องคดีอาญาถือตามอัตราโทษหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่ถือตามฐานความผิดที่จำเลยได้รับ เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา ๕๕ วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓) คณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ส.ค.๒๕๔๗ จำเลยต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายพร้อมรับรองความถูกต้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายในวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๔๗ เมื่อไม่ยื่นภายในกำหนด ถือกระทำความผิดตั้งแต่วันที่๒๒ พ.ย.๒๕๔๗ เมื่อฟ้องวันที่ ๑๐ ก.ย.๒๕๕๑ คดีไม่ขาดอายุความ
๑๑..ความผิดฐานบุกกรุกไม่ใช่ความผิดเกิดตลอดเวลาที่บุกรุกหรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕ จำคุกไม้เกิน ๕ ปี เมื่อฟ้องเกิน ๑๐ ปี คดีขาดอายุความ
๑๒.ในคดีที่ราษฏรเป็นโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาศาลภายในกำหนดอายุความ เมื่อราษฏรฟ้องเองศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องแม้จะฟ้องในวันสุดท้ายของอายุความฟ้องร้องคดีก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีมีมูลแล้ว ต้องหมายเรียกจำเลยมาแก้คดีภายในกำหนดอายุความด้วย นั้นคือ แม้ฟ้องภายในอายุความแล้วยังต้องได้ตัวมาศาลภายในกำหนดอายุความด้วย เมื่อหมายเรียกจำเลยแก้คดี ได้ตัวจำเลยมาพิจารณา เกิน กำหนดอายุความ คดีขาดอายุความ
๑๓.ความผิดลหุโทษฐานพาอาวุธปืนตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ หรือ ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๙๑ มีอายุความ ๑ ปีตาม ปอ มาตรา ๙๕(๕) จึงต้องฟ้องคดีภายใน ๑ ปี มิเช่นนั้นคดีขาดอายุความ