ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"ทำนาบนหลังคน -ให้มากู้เงิน"

ผู้ต้องหากับพวกวางนามบัตรตามโต๊ะอาหารชักชวนให้คนไปกู้เงิน ทั้งได้จัดนายหน้าพาคนไปกู้เงิน เมื่อมีคนมากู้ก็ลงเงินในสัญญากู้สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้เป็นจำนวนมากเทียบได้กับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๖๐ ถึง ๑๒๐ ต่อปี อ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงิน แล้วได้นำสัญญากู้ไปฟ้องบังคับให้ชำระเต็มตามจำนวนที่ลงไว้ในสัญญากู้ แม้ผู้กู้บางรายชำระเต็มตามจำนวนเงินที่กูแล้ว ก็ยังนำไปฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ซ้ำอีก เห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้ต้องหากับพวกมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกในการวางแผนเพื่อจะหลอกอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายและคนทั่วไปโดยวิธีเชิญชวนมากู้เงินเป็นการบังหน้าและเมื่อมีผู้หลงเชื่อเข้าใจกันว่าเป็นการกู้ตามปกติ แต่ทำสัญญากู้ระบุจำนวนเงินไว้สูงเพื่อเป็นหลักประกัน จึงได้ยอมทำสัญญากู้ดังกล่าว เป็นการหลอกลวงคนทั่วไปให้มากู้เงินและทำสัญญากู้อันเป็นเอกสารสิทธิ์์ให้แก่ผู้ต้องหากับพวก เพื่อจะใช้สิทธิ์ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับทรัพย์สินผู้กู้เต็มตามจำนวนที่หลอกให้ลงจำนวนกู้สูงกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ชี้ขาด "ให้ฟ้อง" ผู้ต้องหาที่ ๑ที่๒ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และชี้ขาด "ควรสั่งฟ้อง" ผู้ต้องหาที่ ๖ ฐานร่วมกันฉ้อโกง ให้ผู้ต้องหาทั้งหมดคืนหรือใช้เงิน นับบโทษผู้ต้องหาที่ ๑ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ส่วนผู้ต้องหาที่ ๖ ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี แจ้งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจัดการให้ได้ตัวมาภายในอายุความ ๑๐ ปีนับแต่วันกระทำผิด ชี้ขาดความเห็นแย้ง๓๙๙/๒๕๕๑

ข้อสังเกต ๑.กู้ยืมเงินเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง สมบรูณ์เมื่อมีการส่งมอบเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐วรรคท้าย เมื่อมีการทำสัญญากู้ลงจำนวนเงินสูงเกินจำนวนเงินที่มีการกู้กันจริง จำนวนเงินที่กู้ส่วนที่ไม่มีการส่งมอบย่อมไม่สมบรูณ์ถือมีการกู้ในจำนวนเงินดังกล่าวไม่ได้ ในความเห็นของผมน่าถือว่าสัญญากู้ในส่วนที่ไม่ได้มีการส่งมอบเงินตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฏหมายกำหนดไว้ ทั้งการเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๖๐ ถึง ๑๒๐ ต่อปีเป็นความผิดตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด จึงเป็นกรณีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมสัญญากู้ย่อมตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓ จะถือว่าแยกส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะผู้ต้องหามีเจตนาชั่วร่้ายอยู่ในตัวทั้งยังเป็นการกระทำความผิดตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯซึ่งมีโทษทางอาญาและการเอาสัญญากู้ดังกล่าวมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕ เมื่อนิติกรรมตกเป็นโมฆะผู้กู้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะรับไว้ซึ่งเงินกู้จึงต้องคืนเงินตามที่กู้กันจริงในฐานลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๖
๒.ในคดีนี้การนำสืบว่าจำนวนเงินกู้กันจริงเท่าไหร่สามารถนำพยานบุคคลมานำสืบหักล้างเอกสารสัญญากู้ได้ โดยปกติแล้วการกู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงเป็นกรณีกฏหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตามหลักจะนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารว่า ไม่ได้กู้จำนวนเท่านี้ ได้รับเงินไม่ครบตามที่ระบุในสัญญากู้ไม่ได้ แต่ในกรณีนี้เป็นการนำสืบว่าสัญญากู้ไม่สมบรูณหรือไม่ถูกต้องบาง่ส่วนเพราะไม่มีการส่งมอบเงินตนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ทั้งหมด สามารถนำพยานบุคคลมาหักล้างพยานเอกสารได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ วรรค ๒
๓.ส่วนผู้กู้ที่ชำระหนี้เงินกู้ครบแล้วผู้ต้องหายังนำมาฟ้องอีก แม้การฟ้องเท็จคดีแพ่งไม่เป็นความผิดตามกฏหมายเพราะไม่มีกฏหมายบัญญัติให้เป็นความผิดไว้ แต่เมื่อมาเบิกความย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ นำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีของศาลตาม ป.อ . มาตรา ๑๗๗,๑๘๐
๔.ผู้ต้องหากับพวกโดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปให้มากู้เงินด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าให้ลงจำนวนเงินกู้สูงกว่าจำนวนเงินกู้ที่กู้กันจริงเพื่อเป็นหลักประกัน โดยผู้ต้องหากับพวกหาได้มีเจตนาให้ลงจำนวนเงินกู้สูงกว่าที่กู้กันจริงเพื่อเป็นหลักประกันในการกู้เงิน แต่ผู้ต้องหากับพวกมีเจตนาที่จะนำหลักฐานการกู้เงินนั้นไปฟ้องเต็มจำนวน จนผู้เสียหายและประชาชนอื่นหลงเชื่อได้ทำสัญญากู้อันเป็นเอกสารสิทธิ์กับผู้ต้องหากับพวก เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
๕.การเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปีเป็นความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนดไว้ตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด
๖.สังเกตุใช้คำว่า "ชี้ขาดให้ฟ้อง " คือมีตัวให้ฟ้อง และใช้คำว่า "ชี้ขาด "ควรสั่งฟ้อง" คือไม่มีตัวให้ฟ้องเพราะหลบหนี
๗.ใช้คำว่า ชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑ ผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๓ ผู้ต้องหาที่ ๔ ผู้ต้องหาที่ ๕ ไม่ได้ใช้คำว่า ผู้ต้องหาที่ ๑ ถึงผู้ต้องหาที่ ๕ เพื่อกันการผิดพลาดว่าฟ้องใครไม่ฟ้องใคร
๘.ใช้คำว่า " ดำเนินการให้ได้ตัวมาภายในอายุความ" ไม่ได้ใช้คำว่า " ออกหมายจับภายในอายุความ" คือทำการอย่างไรก็แล้วแต่รวมทั้งการออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวมาฟ้อง
๙.ฉ้อโกงประชาชนระวางโทษจำคุกไม่เกิน๕ ปี มีอายุ ๑๐ ปี ตาม ป.อ.มาตรา ๙๕(๓)
๑๐.อายุความ๑๐ ปีนับแต่วันเกิดเหตุคือรับแต่วันที่ทำสัญญากู้

ไม่มีความคิดเห็น: