ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

“โทษระงับด้วยความตาย”

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ๒ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ๒ ปี จำเลยชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฏีกา ระหว่างฏีกาจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลฏีกามีคำสั่งว่า เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบ ต่อมาวันที่ ๖ พ.ย.๒๕๕๖ ส. ยืนคำร้องว่าจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทของจำเลย เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไป จึงขอรับเงินค่าปรับคืน ศาลฏีกาเห็นว่า โทษเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิด ตาม ปอ มาตรา ๓๘ ดังนั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา โทษตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองศาลจึงเป็นอันระงับไป เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายยื่นคำร้องขอรับคืนค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องคืนค่าปรับให้ผู้ร้อง การที่ศาลล่างทั้งสองศาลยกคำร้อง ศาลฏีกาไม่เห็นด้วย ฏีกาผู้ร้องฟังขึ้น พิพากษากลับให้คืนค่าปรับ ๑๐,๐๐๐บาทที่จำเลยต้องนำมาชำระที่ศาลชั้นต้นให้แก่ผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลย คำพิพากษา๑๐๔๘๘/๒๕๕๘
ข้อสังเกต ๑.เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙( ๑ ) อีกทั้งโทษตาม ปอ ระงับไปด้วยความตาย ปอ มาตรา ๓๘
- หากความปรากฏในชั้นศาล ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
-หากความปรากฏในชั้นพนักงานอัยการก่อนที่จะยื่นฟ้อง พนักงานอัยการต้องสั่ง “ยุติการดำเนินคดี” กับผู้ต้องหาตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๕๔...ไม่ได้ใช้คำสั่ง “ ไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย แต่ต้องสั่ง “ ยุติการดำเนินคดี “ กับผู้ต้องหาเพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย โดยไม่จำต้องปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕,๑๔๕/๑ คือ ไม่ต้องนำสำนวนส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้บังคับการตำรวจภูธรภาคพิจารณา ระเบียบฯข้อ ๕๔ วรรคสาม.
-หากความมาปรากฏในชั้นพนักงานอัยการภาย “ หลังยื่นฟ้องไปแล้ว” พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลแถลงให้ศาลทราบว่า จำเลยถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ ซึ่งศาลจะเรียกพนักงานอัยการโจทก์มาสอบถาม ซึ่งพนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่โดยอาจต้องไปสอบปากคำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ บิดามารดา สามีหรือภรรยาหรือญาติพี่น้องของจำเลยพร้อมแนบมรณะบัตรมาประกอบการพิจารณาของศาล
-หรือในกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนสั่งสำนวนเพื่อยื่นฟ้องหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล สามีภรรยาหรือญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วแต่กรณียื่นคำร้องมาที่พนักงานอัยการว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยตาย พนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบว่าถึงแก่ความตายจริงหรือไม่พร้อมแนบใบมรณะบัตรเพื่อพนักงานอัยการจะมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีในชั้นของพนักงานอัยการ(กรณียังไม่มีการยื่นฟ้อง) หรือกรณียื่นฟ้องไปแล้วพนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ โดยเมื่อศาลสอบถามพนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนมาแถลงต่อศาลว่าตรวจสอบแล้วจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่มีหลักฐานอะไรเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งต่อไป
หรือในกรณีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล สามีภรรยา บุตรหรือญาติจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลจะเรียกพนักงานอัยการมาสอบถาม ซึ่งพนักงานอัยการจะขอเลื่อนคดีไปเพื่อประสานงานกับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะแถลงให้ศาลทราบในการนัดพิจารณาคดีต่อไป
-ข้อควรระวัง พนักงานอัยการไม่ควรแถลงเองว่า จำเลยถึงแก่ความตาย เพราะพนักงานอัยการไม่ได้รู้เห็นว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ เพราะผลแห่งการตายทำให้สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามกฏหมาย จึงควรสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่อย่างไรพร้อมแนบมรณะบัตรประกอบการพิจารณา และเมื่อต้องไปแถลงควรให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้แถลงว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่อย่างไร
๒.เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับจำเลยย่อมระงับไป สิทธิ์ในการดำเนินคดีแทนจำเลยในคดีอาญาไม่ตกทอดไปยังผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยา กรณีไม่เหมือนกับผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ .ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยาสามารถจัดการแทนผู้เสียหายได้ตามปวอ มาตรา ๕(๒)
๓.คู่สมรสที่ทำการจดทะเบียนสมรสย่อมเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามปพพ มาตรา ๑๔๕๗ การร้องขอคืนเงินค่าปรับที่จำเลยจ่ายไป หากเป็นการจ่ายไปโดยไม่ชอบ หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้วสิทธิ์ขอคืนเงินค่าปรับที่ได้จ่ายไปเป็นสิทธิ์ในทางทรัพย์สินย่อมตกทอดเป็นมรดกตกแก่ทายาทและคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถือเป็นทายาทที่สามารถเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยผู้ตายได้
๔.เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไป โทษปรับเป็นโทษตาม ปอ มาตรา ๑๘(๔)..เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามคำพิพากษาฏีกานี้เมื่อทายาทมาขอคืนค่าปรับที่ชำระต่อศาลชั้นต้นไปแล้ว เมื่อโทษระงับด้วยความตายจึงจำต้องคืนเงินค่าปรับให้แก่ผู้ร้อง ที่ศาลฏีกาตัดสินแบบนี้คงเพราะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา โดยจำเลยยื่นฏีกา ตราบใดที่ศาลฏีกายังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อจำเลยนั้นถูกสันนิษฐานว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษ ดังนั้น เมื่อจำเลยตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับ ค่าปรับซึ่งเป็นโทษที่ได้ชำระไปแล้วในศาลชั้นต้นจึงต้องคืนแก่ผู้ร้องที่เป็นทายาทผู้ตาย
๕.ด้วยความเคารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า แม้สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไปเพราะความตายของผู้กระทำผิดก็ตาม แต่เมื่อได้ชำระค่าปรับไปแล้วไม่น่าขอคืนได้ เพราะการอุทธรณ์ฏีกาคำพิพากษาไม่เป็นการทุเลาการบังคับคดี ตามปวอ มาตรา ๑๕ ปวพ มาตรา ๒๓๑ เมื่อโทษปรับเป็นโทษทางอาญา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วต้องดำเนินการคำพิพากษาทันที แม้ในปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรกใช้คำว่า “ เมื่อคดีถึงที่สุด” ก็ตาม เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วต้องดำเนินการบังคับตามโทษที่ศาลลงทันที ไม่ต้องรอว่ามีการอุทธรณ์ฏีกาหรือไม่อย่างไร การบังคับคดีต้องเดินต่อไป คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยนั้นแม้จะมีการอุทธรณ์ฏีกาคำพิพากษาก็ตาม สามารถบังคับคดีได้ทันที โดยปวอ มาตรา ๒๔๕ การบังคับตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีทันทีเร่งด่วน อีกทั้งใน ปอ มาตรา ๒๙ บัญญัติไว้ชัดว่า ผู้ต้องโทษปรับหากไม่ชำระค่าปรับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ผู้นั้นต้องถูกยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับ หรือถูกกักขังแทนค่าปรับ และถ้าศาลเห็นสมควรว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะเรียกประกันหรือสั่งให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้บังคับโทษปรับในทันทีภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา และในมาตรา ๒๙นี้ “ไม่ได้ใช้” คำว่า นับแต่วันที่มีคำพิพากษา “ ถึงที่สุด” ดังนั้นแม้ยังไม่มีคำพิพากษา “ ถึงที่สุด” ก็จำต้องชำระโทษปรับในทันทีภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จึงไม่อาจคืนค่าปรับให้ทายาทได้เพราะศาลฏีกาก็ยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในเรื่องนี้แต่อย่างไร กล่าวคือศาลฏีกายังไม่มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากเป็นดังนี้จึงต้องคืนค่าปรับให้จำเลย แต่เมื่อศาลฏีกาก็ยังไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งศาลฏีกาอาจเห็นว่ากระทำความผิดจริงศาลก็ลงโทษโดยพิพากษายืนได้ ดังนั้นในชั้นนี้แม้จำเลยถึงแก่ความตายก่อนศาลฏีกาพิพากษาก็ตามก็ไม่อาจมาขอรับเงินคืนได้ จะถือว่าความตายของจำเลยทำให้สิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไป ดังนั้นจึงต้องคืนค่าปรับ ในความเห็นส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเมื่อศาลฏีกายังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดจึงไม่มีกรณีที่ต้องคืนค่าปรับ เมื่อศาลฏีกายังไม่ได้มีคำพิพากษา คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมีผลบังคับอยู่โดยทั้งสองศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด จึงไม่น่าต้องคืนค่าปรับด้วยเหตุว่าจำเลยถึงแก่ความตาย ความตายของจำเลยไม่ใช่เครื่องชี้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด จำเลยตายก็แค่สิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไปเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็เป็นหมันไม่มีผลบังคับ หรือในกรณีศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นลงโทษจำคุกโดยไม่ปรับจำเลย จำเลยยื่นฏีกาแล้วตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา ดังนี้ก็เป็นเพียงสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไป แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังอยู่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะถูกลบล้างไปก็ต่อเมื่อศาลฏีกามีคำพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เมื่อการกระทำไม่เป็นความผิดจึงไม่สามารถลงโทษปรับได้ ค่าปรับที่จ่ายไปสามารถขอคืนได้ เมื่อจำเลยตายระหว่างพิจารณาของศาลฏีกา สิทธิ์ในการดำเนินคดีกับจำเลยระงับไปก็น่ามีผลเพียงศาลฏีกาไม่ต้องวินิจฉัยอะไรต่อไป ให้จำหน่ายคดีจากสารบบ แม้จำหน่ายคดีจากสารบบคำพิพากษาศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ยังอยู่เพราะไม่ได้ถูกลบล้างโดยคำพิพากษาศาลฏีกาแต่อย่างใด เป็นความเห็นส่วนตัวครับ เมื่อศาลท่านได้วินิจฉัยมาแล้วก็เคารพในคำวินิจฉัยของท่าน หากเป็นข้อสอบออกมาก็คงต้องถือตามคำพิพากษาฏีกาครับ

ไม่มีความคิดเห็น: