ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

“คดีถึงที่สุดไม่มีเหตุชี้ขาดความเห็นแย้ง”

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันฆ่า และร่วมกันพยายามฆ่า เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทลงบทหนักฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจะเพิ่มโทษอีกไม่ได้ ส่วนความผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับคนละ ๑๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษในความผิดฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ๑ ใน ๓ และฐานร่วมกันพาอาวุธฯลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธฯปรับคนละ ๕๐ บาท นับโทษจำเลยที่ ๑ต่อโทษจำเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ ........./.........ของศาลชั้นต้น ริบขวาน มีดพกปลายแหลม ด้ามมีดพร้าของกลาง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก อัยการศาลสูงจังหวัด........ไม่อุทธรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด.......รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค.....ตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค....พิพากษายืน อัยการศาลสูงจังหวัด........ไม่ฏีกาส่งสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค..... รองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาคปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคแย้งคำสั่งอัยการศาลสูงจังหวัด.....ให้ฏีกา
สนง.อัยการพิเศษฝ่ายคดีอัยการศาลสูงพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุธรณ์จนพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๘ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและต้องดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรกเว้นแต่ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเว้นแต่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ คดีนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค..... ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค....มีคำพิพากษายืน คดีจึงถึงที่สุด ต้องดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้า ไม่มีกรณีที่ต้องพิจารณาว่าต้องฏีกาหรือไม่อย่างไร คำสั่งไม่ฏีกาแล้วส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ จึงขัดกับ ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคสองที่บัญญัติให้คดีถึงที่สุดแล้ว มีผลให้ความเห็นแย้งของรองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาคที่ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ไม่ใช่ความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาด คืนสำนวนให้อัยการศาลสูงจังหวัด.....เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง
อธิบดีอัยการ สนง.อัยการสูงสุดเห็นว่า ความเห็นแย้งของรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฏีกาของอัยการศาลสูงจังหวัด.......แล้วส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณานั้น เป็นกรณีดำเนินการขัดบทบัญญัติกฎหมายและคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีกรณีที่อัยการสูงสุดต้องทำความเห็นแย้ง
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฏีกาของพนักงานอัยการแล้วส่งสำนวนพร้อมความเห็นแย้งให้อัยการสูงสุดพิจารณานั้น เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีกรณีที่อัยการสูงสุดต้องพิจารณาความเห็นแย้ง ให้ส่งเรื่องคืน แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค.....ทราบ ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๕๑/๒๕๕๗
ข้อสังเกต ๑.คดีนี้คมมากน่าออกเป็นข้อสอบอัยการ ได้บอกแต่เพียงว่าน่าสนใจที่จะออกเป็นข้อสอบยิ่งมีการแก้ไข ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ให้ตำรวจมาทำหน้าที่แทนฝ่ายปกครองด้วยยิ่งทำให้น่าศึกษา
๒.การกระทำที่เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ปอ. มาตรา ๙๐ ให้นำบทที่หนักลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งความผิดฐานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ปอ. มาตรา ๒๘๙(๔) ระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวจึงมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานร่วมกันฆ่าซึ่งระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๒๐ ปี ซึ่งศาลสามารถเลือกลงโทษได้ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด
๓.ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าลงโทษ ๒ ใน ๓ ของความผิดสำเร็จของความผิดฐานฆ่าผู้อื่น การลงโทษ ๒ใน ๓ คือการลดโทษ ๑ใน ๓ ตาม ปอ มาตรา ๕๒(๑) ซึ่งการลดโทษ ๑ ใน ๓ หรือลงโทษ ๒ ใน ๓ ของความผิดประหารชีวิตคือจำคุกตลอดชีวิต
๔.ส่วนการลงโทษ๒ใน ๓ ของโทษจำคุกตลอดชีวิตคือการลดโทษ ๑ ใน ๓ ซึ่งต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก ๕๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๕๓ ซึ่ง ๒ใน ๓ ของโทษจำคุกจำคุก ๕๐ ปี คือ ๓๓ ปี ๓๓เดือน ส่วนโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๕ปีถึง ๒๐ ปี ๒ใน ๓ ของโทษดังกล่าวคือ ๑๐ ปี ถึง ๑๓ ปี ๓๓เดือน ดังนั้นระวางโทษฐานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงมีอัตราโทษสูงกว่า กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ปอ มาตรา ๙๐
๕.หากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก แล้วกระทำผิดในระหว่างที่รับโทษอยู่ หรือภายในเวลา ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษ ( ปอ. มาตรา ๙๒) หรือภายในเวลา ๓ ปีนับแต่วันพ้นโทษโดยได้กระทำความผิดในอนุมาตราที่กำหนดไว้ในปอ มาตรา ๙๓(๑)ถึง(๑๓) เมื่อมากระทำความผิดอีก พนักงานอัยการจะมีคำขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยตาม ปอ มาตรา ๙๒หรือ ๙๓ แล้วแต่กรณี ซึ่งปอ. มาตรา ๙๒,๙๓ ไม่ใช่บทมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๘(๖)ที่ต้องระบุเลขมาตราลงไป แต่ในทางปฏิบัติจะใส่เลขมาตราดังกล่าวลงไปเพื่อให้ศาลทราบว่าต้องการให้ศาลเพิ่มโทษตามกฏหมายใด หากไม่บรรยายมาในฟ้องให้เข้าหลักเกณท์ที่ขอเพิ่มโทษ และไม่มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลเพิ่มโทษแล้ว ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ เพราะใน ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรกห้ามศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง
๖.เมื่อศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกจำเลยได้ จึงต้องยกคำร้องขอเพิ่มโทษดังกล่าว
๗.ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรเป็นความผิดลหุโทษตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ ศาลสามารถริบอาวุธของกลางได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เมื่อได้นำมาใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบตาม ปอ มาตรา ๓๓(๑)
๘.จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งศาลสามารถลดโทษได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงสำหรับความผิดนั้น ตาม ปอ มาตรา ๗๘ ใน.ความผิดฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลลงโทษประหารชีวิต ลดโทษ ๑ ใน ๓ จึงต้องลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ตาม ปอ มาตรา ๕๒(๑)
๙.ศาลให้นำโทษที่ลงมานับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่......../.....ของศาล....... ซึ่งการที่ศาลจะนับโทษต่อได้ พนักงานอัยการต้องบรรยายมาในฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลนับโทษต่อด้วยมิเช่นนั้นศาลจะนับโทษต่อไม่ได้เพราะ ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรก ห้ามศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง แต่บทมาตราที่ขอนับโทษต่อไม่ใช่มาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๘(๖) แต่หากไม่บรรยายมาในฟ้องและไม่มีคำขอให้นับโทษต่อ ศาลไม่สามารถนับโทษต่อได้ กลายเป็นว่าจำเลยรับโทษสองคดีพร้อมกันไปซึ่งเป็นที่เสียหายต่อบ้านเมืองและความสงบสุขของประชาชน
๑๐.เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่อุทธรณ์ อัยการศาลสูงจังหวัด......มีความเห็นไม่อุทธรณ์ส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕ เป็นกรณีในต่างจังหวัดที่พนักงานอัยการมีความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต้องส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ คำสั่งไม่อุทธรณ์ของพนักงานอัยการเป็นที่สุด แต่หากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้อุทธรณ์ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดความเห็นแย้ง คำสั่งอัยการสูงสุดเป็นที่สุด(เป็นการใช้กฎหมายในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ ที่ให้ส่งสำนวนให้ผู้บังคับการตำรวจฯ)
๑๑.กรณีตามปัญหาเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจะรักษาการแทนกระทำการแทนในนามผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งต้องใช้คำว่า “ รักษาราชการแทน” แต่หากเป็นกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการกระทำการแทน และใช้คำว่า “ ปฏิบัติราชการแทน” ถือไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ ปวอ มาตรา ๑๔๕ ไม่ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะสามารถมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติหน้าที่แทนได้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจะปฏิบัติหน้าที่แทนได้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้คำว่า “ รักษาราชการแทน” ไม่ใช่ใช้คำว่า “ ปฏิบัติราชการแทน”
๑๒.ในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนดังกล่าวที่ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตไปยังศาลอุทธรณ์ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตาม เพื่อเป็นการตรวจสอบการลงโทษว่าได้กระทำถูกต้องหรือไม่อย่างไรเพราะศาลได้ลงโทษสถานหนัก คำพิพากษาเช่นนี้ยังไม่ถึงที่สุดจนกว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ทั้งนี้เป็นไปตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคสอง
๑๓.เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา ๑ เดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมเป็นที่สุดตาม ปวอ มาตรา ๑๙๘ ซึ่งต้องบังคับคดีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรก แต่หากในคดีนั้นศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้ว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ก็เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณา หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาที่ให้จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตจึงถึงที่สุดตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคสอง
๑๔.คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษา คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะเป็นที่สุดเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาก็เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือคดีถึงที่สุดตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง เมื่อคดีถึงที่สุดต้องดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรก จึงไม่มีกรณีที่อัยการศาลสูงจะมีคำสั่งไม่ฏีกาแล้วส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคอีกแต่อย่างใด การส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ เป็นกรณีที่ดำเนินการขัดต่อบทบัญญัติในกฎหมายที่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วต้องบังคับคดีโดยทันที ดังนั้นความเห็นแย้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีความเห็นแย้งให้ฏีกา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงไม่ใช่ความเห็นแย้งข้อชี้ขาดที่อัยการสูงสุดต้องทำความเห็นตามปวอ มาตรา ๑๔๕ แต่อย่างใด จึงต้องคืนสำนวนให้อัยการศาลสูงจังหวัด.....รับไปดำเนินการต่อไป.และมีหนังสือแจ้งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค....ทราบต่อไป
๑๕.อัยการศาลสูงไม่มีหน้าที่ต้องส่งสำนวนที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณา เพราะเมื่อไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นเพียงศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกที เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด ต้องบังคับคดีทันที ไม่มีเหตุที่จะฏีกาต่อไปได้ และไม่มีเหตุต้องส่งสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณาด้วย ความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจภาคที่มีความเห็นแย้งความเห็นอัยการศาลสูงจังหวัด.......ให้ฏีกานั้น กรณีดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นแย้งตามกฎหมายที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาด ให้คืนสำนวนและมีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค.......ทราบ

ไม่มีความคิดเห็น: