ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

“ลักทรัพย์รับของโจร – คำพิพากษาเปลี่ยนแนว”

ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนหรือรับของโจร ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นต้องสอบถามให้ได้ความชัดว่ารับสารภาพฐานใดแล้วจึงพิพากษาลงโทษในข้อหาที่จำเลยรับสารภาพ การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามจำเลยให้ชัดเจนแต่กลับพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ฯโดยไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยรับสารภาพในข้อหาดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๗๗๓๕/๒๕๕๗
ข้อสังเกต๑. กรณีที่ทรัพย์สินหายแต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าคนร้ายคือใครแต่ไปพบของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยอาจเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป หรืออาจไม่ใช่คนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหาย แต่รู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก เจ้าพนักงานยักยอก แล้วช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ หรือรับทรัพย์นั้นไว้ด้วยประการใดๆโดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก เจ้าพนักงานยักยอก อันเป็นความผิดฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ผู้เสียหายหรือเป็นคนช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ ทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์อันเป็นความผิดฐานรับของโจร จึงต้องดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวทั้งสองฐาน
๒.ในการร่างฟ้องในตอนแรกจะบรรยายฟ้องเพียงมีคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นใครเข้ามาลักทรัพย์ไปโดยไม่ยืนยันว่าจำเลยหรือใครเป็นคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ แล้วในตอนท้ายจะบรรยายฟ้องว่า มีการพบทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลย หากจำเลยไม่ได้เป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องเป็นคนช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ ทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์อันเป็นความผิดฐาน รับของโจรทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แบบนี้จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้เต็มที่ แต่หากบรรยายฟ้องในตอนแรกยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์แล้วตอนท้ายมาบรรยายฟ้องยืนยันว่าจำเลยเป็นคนรับของโจรฟ้องจะขัดแย้งกันอยู่ในตัว จำเลยไม่สามารถเข้าใจข้อกล่าวหาและไม่สามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่ เป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามปวอ มาตรา ๑๕๘(๕) จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ ศาลอาจสั่ง ให้ไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ประทับฟ้อง(กรณีศาลใช้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องคดีของพนักงานอัยการตาม ปวอ มาตรา ๑๖๒(๒)) หรือพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๑
๓.การร่างฟ้องแบบนี้(ฟ้องฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร)เป็นการ “ฟ้องเพื่อให้ศาลเลือกลงโทษตามทางพิจารณาที่ได้ความ” ซึ่งหากทางพิจารณาได้ความไปในทางใด หรือศาลเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ทางปฏิบัติอัยการจะไม่อุทธรณ์ฏีกาเพราะเป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษฐานใดฐานหนึ่งตามที่ได้ความ เมื่อศาลลงโทษฐานใดฐานหนึ่งแล้ว พนักงานอัยการต้องพอใจในการตัดสินของศาล จะมาอุทธรณ์ฏีกาว่าศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งไม่เต็มตามคำขอหรือคำขอท้ายฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรก ไม่ได้
๔.ในการบรรยายฟ้องหากไปบรรยายฟ้องในตอนต้น “ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย” ที่เข้าไปลักทรัพย์แล้วในตอนท้ายมา” ยืนยันว่าพบของกลางที่จำเลยโดยจำเลยช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ ทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญา อันเป็นความผิดฐานรับของโจร” เท่ากับยืนยันในตอนแรกว่าจำเลยลักทรัพย์ผู้เสียหายไป แล้วมายืนยันในตอนท้ายอีกว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร หากเป็นดังนี้ถือฟ้องขัดกันในสาระสำคัญ จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีได้เต็มที่ เพราะเมื่อกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้วย่อมไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรอีก หรือหากกระทำความผิดฐานรับของโจรแล้วก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันในตัว ไม่อาจเป็นไปได้ที่จะมากระทำความผิดทั้งลักทรัพย์และรับของโจรในคราวเดียวกันในทรัพย์ชิ้นเดียวกันได้ ถือเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม บรรยายฟ้องเคลือบคลุม จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้เต็มที่ ศาลอาจสั่ง ให้ไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ประทับฟ้อง(กรณีศาลใช้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องคดีของพนักงานอัยการตาม ปวอ มาตรา ๑๖๒(๒),๑๖๕) หรือพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๑
๕.ในทางปฏิบัติเมื่อมีการยื่นฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ เพียงแต่พบทรัพย์ที่ถูกลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลย หากจำเลยไม่เป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป จำเลยก็เป็นผู้กระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งเมื่อฟ้องมาดังนี้ในวันนัดสอบถามคำให้การจำเลย ศาลต้องสอบถามให้ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยรับสารภาพหรือปฏิเสธ หากรับสารภาพ รับสารภาพในข้อหาใด เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องสอบถามให้ได้ความแน่ชัด หากจำเลยบอกเพียง “ ขอรับสารภาพตามฟ้อง” หรือ “ ขอรับสารภาพ” เป็นหน้าที่ของศาลตาม ปวอ มาตรา ๑๗๒วรรคสอง ต้องสอบถามว่ารับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ หรือรับสารภาพในข้อหารับของโจร หากศาลไม่สอบถาม เป็นหน้าที่อัยการต้องสอบถาม หากจำเลยยังคงยืนกรานแบบเดิม หรือศาลไม่ได้สอบถามว่ารับสารภาพฐานใด พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบตาม ปวอ มาตรา ๑๗๔วรรคสอง เพื่อให้ได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใด ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษได้
๖.หากศาลไม่ถามและอัยการไม่นำพยานมานำสืบ ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งไม่ได้ ซึ่งในแนวคำพิพากษาเดิม เช่น คำพิพากษาฏีกา ๖๗๔๒/๒๕๔๔,๑๗๙๘/๒๕๕๐,๔๗๘๔/๒๕๕๐ ศาลสูงจะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ในแนวคำพิพากษาใหม่(คำพิพากษาฏีกาที่๗๗๓๕/๒๕๕๗)ได้กลับแนวคำพิพากษาเดิมๆโดย “ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี คือสอบถามให้ได้ความชัดว่า รับสารภาพฐานลักทรัพย์ หรือรับสารภาพฐานรับของโจร เมื่อได้ความชัดว่ารับสารภาพในความผิดฐานใด แล้วจึงพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
๗.หากในการสอบถามคำให้การจำเลยใหม่ จำเลยจะกลับคำให้การมาปฏิเสธ ไม่ขอรับสารภาพแล้ว ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าสามารถกระทำได้ เพราะจำเลยสามารถต้อสู้คดีได้เต็มที่ หากจำเลยไม่บอกว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธต้องถือว่าจำเลยปฏิเสธ จะถือว่า การนิ่ง เป็นการรับแบบกฎหมายแพ่งไม่ได้ หรือแม้จำเลยรับสารภาพในคดีที่ต้องมีการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ปวอ มาตรา ๑๗๖ หากโจทก์นำสืบไม่ได้ความว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น หรือจำเลยไม่ได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ ตาม ปวอ มาตรา ๑๘๕ แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
๘.แม้คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ไม่บอกรับสารภาพฐานใด และศาลไม่ได้สอบถามว่ารับสารภาพฐานใดและอัยการไม่ได้นำพยานมาสืบแล้วศาลช้นต้นไปพิพากษาลงโทษในความผิดฐานใดฐานหนึ่งเข้า เมื่อศาลอุทธรณ์ศาลฏีกาพบในแนวคำพิพากษาเดิม ศาลสูงจะพิพากษายกฟ้อง แม้โจทก์จะสามารถฟ้องจำเลยใหม่ได้ภายในกำหนดอายุความก็ตาม โดยไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำเพราะยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีแรกในเนื้อหาของการกระทำว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่อย่างไร ไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะไม่มีฟ้องอยู่ในศาลแล้วมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเพราะยังไม่ได้มีการดำเนินการสืบพยานในศาลเป็นเพียงศาลสอบถามคำให้การในคดีก่อนแล้วพิพากษาลงโทษโดยไม่ได้สอบถามให้ได้ความชัดว่ากระทำผิดฐานใด แม้จะนำมาฟ้องใหม่ก็เป็นเรื่องการเสียเวลา เป็นภาระหน้าที่เป็นการเพิ่มงานขึ้นมาโดยไม่จำเป็นเพราะเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลก็ปล่อยตัวจำเลยไป การที่จะได้ตัวจำเลยมาฟ้องจึงเป็นไปค่อนข้างจะยาก ต้องตามหาและตามจับตัวเพื่อนำมาฟ้อง และในขณะเดียวกัน เมื่ออัยการเจ้าของสำนวนไม่ได้แถลงขอนำพยานเข้าสืบถือเป็นความบกพร่องของพนักงานอัยการ ซึ่งอาจเกิดจากเพิ่งเป็นอัยการใหม่ๆไม่มีประสบการณ์ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเจตนาทุจริตต้องการช่วยเหลือจำเลยโดยรู้ว่ามีคำพิพากษาฏีกาแนวเดิมซึ่งหากไม่ถามให้แน่ชัดว่ารับสารภาพฐานใดแล้วศาลชั้นต้นลงโทษฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อศาลสูงพบก็จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างให้ยกฟ้องโจทก์ เมื่อรู้มีแนวคำพิพากษาดังกล่าวก็อาจมีเจตนาต้องการช่วยเหลือจำเลยโดยไม่แถลงขอสืบพยานเพื่อต้องการให้ศาลสูงยกฟ้อง ซึ่งความบกพร่องนี้อาจถูกว่ากล่าวตักเตือนหรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยได้
๙.หากอัยการแถลงขอสืบพยานแล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยเห็นว่าจำเลยรับสารภาพแล้วศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้ โดยเป็นความผิดที่มีอัตราโทษขั้นต่ำไม่ถึง ๕ ปี หรือเป็นโทษสถานหนักกว่านี้ที่จำเลยรับสารภาพแล้วไม่ต้องนำพยานเข้าสืบตาม ปวอ มาตรา ๑๗๖ หากเป็นดังนี้ พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลดังกล่าวซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตาม ปวอ มาตรา ๑๘๗,๑๙๖ เพื่อใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ฏีกาเพื่อขอนำพยานเข้าสืบ หากไม่มีการโต้แย้งคำสั่งถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕ ที่จะก่อให้เกิดสิทธิ์ในการอุทธรณ์ได้ หากอัยการไม่ทำดังนี้ทั้งที่รู้ว่าจำเลยให้การไม่แจ้งชัดว่ารับสารภาพฐานใดและเมื่อขอสืบพยานศาลไม่อนุญาต ก็นิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลย ไม่ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ฏีกาเพื่อขอนำพยานเข้าสืบ หากเป็นดังนี้ก็ถืออัยการบกพร่องต่อหน้าที่ ซึ่งบกพร่องต่อหน้าที่เพราะเป็นอัยการมือใหม่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานหรือเป็นเพราะมีเจตนาต้องการช่วยเหลือจำเลย .ซึ่งต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆไป เมื่ออัยการศาลสูงตรวจสำนวนของอัยการศาลชั้นต้นพบข้อบกพร่องดังกล่าวจะมีหนังสือให้อัยการศาลชั้นต้นชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่นำพยานเข้าสืบ หรือเมื่อศาลไม่อนุญาตนำพยานเข้าสืบทำไมไม่ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาล ตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ฯ ข้อ ๑๕๓ หากอัยการศาลสูงพบข้อบกพร่องของอัยการศาลชั้นต้นแล้วไม่รายงานถือเป็นความบกพร้องของอัยการศาลสูงที่ต้องถูกลงโทษทางวินัยตาม ระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๑๔๙วรรคท้าย ดังนั้น หากอัยการศาลชั้นต้นไม่มีเหตุผลหรือมีเหตุผลไม่เพียงพออาจถูกแนะนำการปฏิบัติราชการ หากเป็นข้อบกพร่องที่ถึงขนาดที่จะเกิดความเสียหายและไม่อาจแก้ไขได้ อัยการศาลสูงต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับเพื่อรายงานสนง. อัยการสูงสุดทราบและอาจโดนตั้งกรรมการสอบทางวินัยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือส่อเจตนาทุจริตหรือมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยได้ ตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๑๕๓วรรคท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: