ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

“ผู้ต้องหาอายุไม่เกิน ๑๘ ปี”

แม้ไม่ปรากฏพนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมในการสอบถามคำให้การจำเลย ถ้อยคำใดๆที่จำเลยให้การไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวนก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔วรรคท้าย เพราะความผิดฐานแข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบก เป็นกรณีความผิดอื่นซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่า พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหาตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๒,๑๓๓ทวิ ประกอบกับผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ คำรับสารภาพที่มีไว้กับพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย และเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ศาลจึงนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๔๓๒/๒๕๔๗
ข้อสังเกต๑.ผู้ต้องหาหรือเด็กที่เป็นพยานที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์มีสิทธิ์ดังนี้คือ
๑.๑ ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันไม่ใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหายอาญา หรือความผิดตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดเกี่ยวสถานพยาบาล หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก
๑.๑.๑ สามารถร้องขอให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำการสอบสวนที่เป็น สัดส่วน ในสถานที่เหมาะกับเด็ก คือจะนำไปปะปนกับสถานที่ซึ่งสอบปากคำผู้ใหญ่ไม่ได้ จะอ้างว่าสถานที่คับแคบไมได้ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องจัดหาสถานที่และเครื่องมือให้พร้อมในการสอบปากคำเด็ก ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคแรก
๑.๑.๒ ขอให้มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการอยู่ร่วมด้วยในการสอบปากคำ ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคแรก
๑.๒.๓ให้พนักงานสอบสวนถามคำถามโดยผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะ ตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยไม่ให้เด็กได้ยินคำถาม ของพนักงานสอบสวน ทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการจะนั่งในห้องเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละห้องที่เด็กนั่งโดยเด็กจะนั่งอยู่กับนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา แล้วมีการใช้โทรทัศน์วงจรปิดให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเห็นเด็ก คำถามที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการถามจะถามผ่านไมโครโฟนซึ่งเสียงที่ออกจะไปปรากฏที่หูฟังของนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งอาจเป็นคำถามที่ไม่เหมาะสมที่เด็กจะได้ยินจึงต้องถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เปลี่ยนการใช้คำพูดเสียใหม่ให้เด็กไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากคำถามที่ถามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคแรก
๑.๑.๔มีสิทธิ์ห้ามพนักงานสอบสวนไม่ให้ถามคำถามซ้ำซากหลายครั้งโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุอันควร เช่นเด็กให้การปฏิเสธแล้ว พนักงานสอบสวนก็พยายามถามคำถามเดียวกันว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ เพื่อต้องการให้เด็กเปลี่ยนคำตอบใหม่ จากการให้การปฏิเสธเพื่อมารับสารภาพ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ หรือในกรณีเด็กให้การยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้ายจะมาถามเพื่อต้องการให้เด็กกลับคำให้การใหม่เป็นว่าผู้ต้องหาไม่ใช่คนร้ายหรือจำไม่ได้ หรือ ไม่ยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้าย หรือคลับคล้ายคลับคราไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้จักคนร้ายมาก่อน หรือที่เกิดเหตุมีแสงไฟไม่เพียงพอ ทั้งที่เด็กยืนยันแต่แรกแล้วว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้าย หรือกรณีที่เกิดเหตุมีแสงไฟสว่างเพียงพอแก่การมองเห็นก็จะมาถามย้ำเพื่อให้เด็กกลับคำให้การเป็นว่าที่เกิดเหตุไม่มีแสงไฟหรือมีแต่เห็นได้ไม่ไกล ดังนี้พนักงานสอบสวนไม่สามารถถามคำถามซ้ำซากหลายครั้งโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุอันควร ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคแรก
๑.๑.๕ มีสิทธิ์ได้รับทราบจากพนักงานสอบสวนว่าตนมีสิทธิ์ตามข้อ ๑.๑.๑ถึงข้อ ๑.๑.๔ เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิ์ดังกล่าวตามข้อ ๑.๑.๑ ถึง ๑.๑.๔ให้เด็กทราบ ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคสอง
๑.๑.๖เด็กสามารถตั้งข้อรังเกียจ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และขอเปลี่ยนตัว พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิวรรคสาม
๑.๑.๗ สามารถร้องขอให้พนักงานสอบสวนบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยานหลักฐาน คือ ต้องมีการบันทึกการสอบปากคำเด็กเป็นวีดีโอเทป จะเลี่ยงบาลี โดยให้มีภาพใช้กล่องถ่ายรูปถ่ายภาพเป็นภาพนิ่ง และกรณี ให้มีเสียงใช้เทปมาบันทึกเสียงดังที่พนักงานสอบสวนบางคนกระทำโดยให้นักข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งใช้เทปมาบันทึกเสียง และใช้กล่องถ่ายภาพมาถ่ายภาพเป็นภาพนิ่ง แบบนี้ไม่ใช้การบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด หากกระทำไปถือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิวรรคสี่
๑.๑.๘สามารถร้องขอให้พนักงานสอบสวนให้จัดสถานที่ให้เหมาะสมในการชี้ตัวผู้ต้องหา โดยสถานที่ดังกล่าวบุคคลที่ถูกชี้ตัวต้องไม่เห็นเด็กที่ชี้ตัวยืนยันว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดตามกฏหมาย ทางปฏิบัติอาจใช่ห้องที่บุคคลภายในห้องไม่สามารถมองเห็นบุคคลนอกห้องได้ หรือใช้วัสดุปิดทึบไม่ให้คนในห้องเห็นคนข้างนอกแต่คนข้างนอกมองผ่านรู้เข้าไปแล้วยืนยันว่าบุคคลหมายเลขใดที่พนักงานสอบสวนจัดมาหลายคนนั้น คนใดคนหนึ่งเป็นผู้กระทำผิด ปวอ มาตรา ๑๓๓ตรี วรรคแรก
๑.๑.๙ สามารถร้องขอให้มีพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์หรือบุคคลที่เด็กร้องขออยู่ด้วยในขณะชี้ตัวผู้กระทำผิด ปวอ มาตรา ๑๓๓ตรี วรรคแรก
๑.๑.๑๐ ในการชี้ตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ที่ถูกชี้ตัวว่ากระทำผิดทางอาญาหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวในสถานที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กเห็นบุคคลที่ทำการชี้ตัว ปวอ มาตรา ๑๓๓ตรี วรรคสอง
๑.๑.๑๑ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหาอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ หรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนถามคำให้การ พนักงานสอบสวนต้องถามเด็กก่อนว่ามี “ ทนายความ “หรือไม่ “ หากไม่มีและต้องการ” เป็นหน้าที่รัฐจัดหาทนายความให้ ปวอ มาตรา ๑๓๔/๑ วรรคแรก
๑.๑.๑๒ ในการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ให้นำความตามข้อ ๑.๑.๑ ถึง ๑.๑.๗ มาบังคับใช้โดยอณุโลม
๑.๑.๑๓ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า
- -ผู้ต้องหามีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔(๑)
-มีสิทธิ์ให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำได้ ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔(๒)
๑.๑.๑๔ ถ้อยคำใดที่ผู้ต้องหาที่ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ให้ไว้กับพนักงานสอบสวน ก่อนมีการแจ้งสิทธิ์ตามข้อ ๑.๑.๑๑, ถึง ๑.๑.๗,๑.๑.๑๓ รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ไม่ได้ ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔ วรรคท้าย
๑.๑.๑๕ ในการสอบปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ พนักงานสอบสวน จำทำ หรือ จัดให้กระทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำการโดยไม่ชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้ให้การไมได้ ปวอ มาตรา ๑๓๕
๑.๑.๑๖. มีสิทธิ์ได้รับแจ้งว่าตน มีสิทธิ์ที่จะพบและปรึกษาผู้ที่จะที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความเป็นการเฉพาะตัว ปวอ มาตรา ๗/๑(๑)
๑.๑.๑๗. มีสิทธิ์ได้รับแจ้งว่าตน มีสิทธิ์ให้ที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนได้ ปวอ มาตรา ๗/๑(๒)
๑.๑.๑๘. มีสิทธิ์ได้รับแจ้งว่าตน มีสิทธิ์ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อญาติตามสมควร ปวอ มาตรา ๗/๑(๓)
๑.๑.๑๙ มีสิทธิ์ได้รับแจ้งว่าตน มีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย ปวอ มาตรา ๗/๑(๔)
๑.๑.๒๐ มีสิทธิ์ได้รับการจัดหาล่ามจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการโดยไม่ชักช้า หากการสืบพยานต้องแปลภาษาไทยท้องถิ่น ภาษาถิ่น ภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยเป็นแปลภาษาไทยท้องถิ่น ภาษาถิ่น ภาษาต่างประเทศ ปวอ มาตรา ๑๓ วรรคสอง
๑.๑.๒๑ ในกรณีที่ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ไม่สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ และไม่มีล่ามภาษามือ ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ มีสิทธิ์ได้รับการจัดหาล่ามภาษามือ หรือจัดให้มีการถามตอบหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควร จากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการโดยไม่ชักช้า ปวอ มาตรา ๑๓วรรคสาม
๑.๑.๒๒ มีสิทธิ์ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ปวอ มาตรา ๑๓๔
๑.๑.๒๓. ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ มีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ยอมให้พนักงานสอบสวน เก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื้อ ผิวหนัง เส้นผม ขน น้ำลาย น้ำปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธ์กรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ได้ ปวอ มาตรา ๑๓๑/๑ วรรค สอง
๑.๑.๒๔ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกเกิน ๓ ปี “ หากเป็นการจำเป็นแล้ว “ต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื้อ ผิวหนัง เส้นผม ขน น้ำลาย น้ำปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธ์กรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์พนักงานสอบสวนสามารถกระทำได้ต่อเมื่อผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ยินยอม แต่ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ตามสมควร และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ปวอ มาตรา ๑๓๑/๑ วรรค สอง,
๑.๑.๒๕ หากผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันควร ปวอ มาตรา ๑๓๑/๑ วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ หากการตรวจพิสูจนนั้นเป็นผลเสียแก่ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ปวอ มาตรา ๑๓๑/๑ วรรค สอง
๑.๑.๒๖ ในการตรวจตัวผู้ต้องหาที่เป็นหญิงอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ให้เจ้าพนักงานหญิงหรือหญิงอื่นเป็นผู้ตรวจ และเมื่อมีเหตุอันควร ผู้ต้องหาที่เป็นหญิงอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์จะขอนำบุคคลใดมาร่วมในการตรวจนั้นด้วยก็ได้ ปวอ มาตรา ๑๓๒(๑)วรรคสอง,๘๕วรรคสอง
๒.คำพิพากษาฏีกานี้แยกได้เป็นประเด็นดังนี้คือ
๒.๑แม้ไม่ปรากฏพนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมในการสอบถามคำให้การจำเลย ถ้อยคำใดๆที่จำเลยให้การไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวนก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔วรรคท้าย
๒.๒เพราะความผิดฐานแข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบก เป็นกรณีความผิดอื่นซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่า พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหาตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๒,๑๓๓ทวิ จึงไม่จำต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหา โดยศาลไปมองว่า เฉพาะในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันไม่ใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหายอาญา หรือความผิดตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดเกี่ยวสถานพยาบาล หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก เท่านั้นแต่ไม่รวมความผิดฐานแข่งรถด้วย ที่ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหา เมื่อความผิดฐานแข่งรถไม่ได้จัดอยู่ในประเภทความผิดดังกล่าวจึงไม่จำต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหาแต่อย่างใด
๒.๓ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าความผิดฐานแข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาตมีทั้งโทษจำคุกและปรับจึงเข้าตาม ปวอ. มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคแรกที่ได้บัญญัติถึงความผิดต่างๆที่ต้องมี นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึง “ ความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก” เมื่อกฎหมายใช้คำๆนี้ ดังนั้นความผิดฐานแข่งรถที่มีอัตราโทษจำคุกด้วยจึงต้องอยู่ในบังคับที่ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหา แต่เมื่อศาลฏีกามีคำวินิจฉัยเป็นบันทัดฐานแบบนี้ก็เคารพในการวินิจฉัยของศาล
๒.๔.ประกอบกับผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ คำรับสารภาพที่มีไว้กับพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย และเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ศาลจึงนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้ นั้นคือคำให้การที่ไม่ได้มีนักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ร่วมสอบปากคำด้วยไม่เสียไป
๓. คำพิพากษาฏีกานี้จึงเป็นการกลับหลักของคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๖๖๒๘/๒๕๕๔ที่วินิจฉัยว่า ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ,๑๓๔/๒ นำมาใช้ในการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก “ ไม่ว่าจะเป็นคดีใดๆก็ตาม” ซึ่งรวมทั้งความผิดฐานแข่งรถด้วย “ ซึ่งคำพิพากษาฏีกานี้(๑๖๖๒๘/๒๕๕๕) ถือว่าการสอบสวนไม่เสียไปทั้งหมด เพียงแต่รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่านั้น หาใช่ไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นอันจะทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เป็นเพียงคำให้การนั้นรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่านั้นเอง ซึ่งคำพิพากษาฏีกา ๑๖๖๒๘/๒๕๕๕สอดคล้องคำพิพากษาฏีกา ๙๓๔๕/๒๕๕๘ ที่วินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาลงไว้ก่อนมีการสอบถามเรื่องทนายตามปวอ มาตรา ๑๓๔/๑ นั้นรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เพราะขัด ปวอ มาตรา ๑๓๔/๓ แต่อย่างไรก็ดีไม่มีกฏหมายใดห้ามนำการสอบสวนดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยอื่นหรือบุคคลอื่น นั้นก็คือ ใช้ยันจำเลยที่ไม่ได้มีการสอบถามเรื่องทนายไม่ได้แต่ใช้ประกอบหลักฐานอื่นใช้ยันจำเลยอื่นหรือบุคคลอื่นได้
๔.ส่วนในคำพิพากษาฏีกา ๗๐๖๐/๒๕๕๔ที่อัยการสูงสุดรับรองให้ฏีกาในคดีที่เด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี กระทำผิดในคดี” ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง ๓ ปี “ ไม่ปรากฏเด็กร้องขอให้มีนักสังคมสงเคราะห์นักจิตวิทยา(ที่อาจไม่ร้องขอเพราะไม่ทราบว่ามีข้อกฏหมายนี้อยู่ก็ได้) การสอบสวนดังกล่าวที่ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์นักจิตวิทยานั้นถือว่าการสอบสวนชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นถ้อยคำพยานดังกล่าวที่สอบสวนโดยไม่มีนักจิตวิทยาก็สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
๕.จึงเห็นได้ว่าแนวคำพิพากษาฏีกามี ๒ แนวโดยแนวแรก
๕.๑ที่วินิจฉัยว่าการสอบปากคำเด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ที่ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาหรือการสอบปากคำเด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ที่ไม่มีทนาย เป็นเพียงทำให้ “ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ “ แต่ไม่ถึงกับทำให้การสอบสวนเสียไปจนอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (แนวนี้คือคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๖๖๒๘/๒๕๕๕คือไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา,,คำพิพากษาฏีกา ๙๓๔๕/๒๕๕๘ คือไม่มีทนายลงชื่อ)
๕.๒ที่วินิจฉัยว่า การสอบปากคำเด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ที่ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เมื่อความผิดใดไม่ได้ระบุไว้ใน ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ(เช่นแข่งรถ) แล้วสามารถ “รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้” (แนวนี้คือคำพิพากษาฏีกา ๓๔๓๒/๒๕๕๗)
๖.นอกจากนี้แล้วคำพิพากษาฏีกาดังกล่าวยังแบ่งแยกออกเป็นสองแนว โดย การกำหนดอัตราโทษที่จะลง ออกเป็นสองแนวคือ
๖.๑ แนวแรกการสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ(ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์นักจิตวิทยานั่งอยู่ด้วยตอนสอบเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบรูณ์) ที่ทำให้ไม่สามารถรับฟังคำพยานดังกล่าวได้ หลักการนี้ใช้กับทุกคดีไม่ว่ามีอัตราโทษเท่าไหร่ (คำพิพากษาฏีกา ๑๖๖๒๘/๒๕๕๕)
๖.๒แนวที่สองใช้เฉพาะคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี (คำพิพากษาฏีกา ๗๐๖๐/๒๕๕๔)
๖.๓ผมเห็นด้วยกับคำพิพากษาฏีกาแนวแรก เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ดังนั้นไม่ว่าจะมีอัตราโทษจำคุกเท่าไหร่ หากเป็นคดีที่ระบุไว้ในปอ มาตรา ๑๓๓ทวิแล้วย่อมอยู่ในบังคับ ปวอ ๑๓๓ทวิ
๗.จึงพอสรุปคำพิพากษาฏีกาสองแนวดังนี้
๗.๑แนวแรกเห็นว่าหากฎหมายไม่บังคับให้ต้องมีนักกฎหมายหรือเป็นความผิดที่เด็กร้องขอ พนักงานสอบสวนไม่ต้องทำตาม ปวอ มารตรา ๑๓๓ทวิ,๑๓๔/๒, คำพิพากษาฏีกา ๓๔๓๒/๒๕๕๗ ซึ่งสอดคล้องคำพิพากษาฏีกา ๗๐๖๐/๒๕๕๔
๗.๒แนวที่สองต้องมีการปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิ,๑๓๔/๒ มิเช่นนั้น คำพยานดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ (คำพิพากษาฏีกา ๑๖๖๒๘/๒๕๕๕,๙๓๔๕/๒๕๕๘)
๘.ซึ่งคำพิพากษาฏีกา ๑๖๖๒๘/๒๕๕๔ ได้กลับคำพิพากษาฏีกาที่ ๗๐๖๐/๒๕๕๔ ที่วินิจฉัยว่า การสอบสวนเด็กที่อายุไม่เกิน ๑๘ ปีต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็ก ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป หรือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง ๓ ปีซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กร้องขอ หรือคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษอย่างสูงไม่ถึงสามปี เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาร้องขอพนักงานสอบสวนให้มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำการสอบสวนนั้นด้วย แม้ไม่มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำด้วยการสอบสวนก็ไม่เสียไป การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ คำรับสารภาพที่มีไว้กับพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย และเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ศาลจึงนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้
๙.ทางปฏิบัติแล้วไม่อาจทราบได้แน่ชัดในข้อความที่ระบุว่า “ ผู้ต้องหาไม่ต้องการนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมในการสอบถามคำให้การจำเลย” เป็นจริงหรือไม่อย่างไร เพราะขั้นตอนการทำงานกว่าที่ พนักงานอัยการหรือนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ จะได้เข้ามาร่วมในการสอบสวน ก็ต้องผ่านขั้นตอนการแจ้งของพนักงานสอบสวน ซึ่งทั้งพนักงานอัยการ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ไม่สามารถทราบได้เองว่า มีการจับกุมเด็กที่ไหนอย่างไร เมื่อไหร่ และเด็กได้รับการแจ้งสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่อย่างไร เด็กต้องการหรือไม่ต้องการให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็กหรือไม่อย่างไร ความยุ่งยากในการตามตัวนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการในการเข้ามาร่วมสอบปากคำนั้นมีมากกว่า และเสียเวลาที่ต้องมารอบุคคลดังกล่าวมาครบถ้วน หากไม่มีบุคคลดังกล่าวเข้ามาร่วมความยุ่งยากก็หมดไป และการเข้ามาร่วมก็เป็นการคานอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนลงไป ซึ่งไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนประสงค์หรือไม่ประสงค์ที่จะให้เกิดการคานอำนาจแบบนี้ หรือจำต้องยอมเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว จึงอาจมีพนักงานสอบสวนบางคน(ใช้คำว่าบางคน)นะครับ ใช้ข้อยกเว้นมาเป็นหลักในการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากออกไปเสีย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กไม่ได้พูด หรือกลัวที่จะพูด ก็ต้องสันนิษฐานว่าข้อความเป็นไปตามที่พนักงานสอบสวนระบุไว้ว่าเด็กไม่ต้องการนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการให้มาร่วมในการสอบปากคำเป็นความจริง
๑๐.ในส่วนของพนักงานอัยการนั้นมี หนังสือของสนง. อัยการสูงสุดที่ อส(สฝปผ)๐๐๑๘/ว๒๑๐ ลงวันที่ ๑๕ มิ.ย.๒๕๔๙ ซักซ้อมความเข้าใจของพนักงานอัยการไว้ว่า “ การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีเป็นผู้ต้องหาในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง ๓ ปี ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กไม่ได้ร้องขอ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าร่วมสอบสวน และพนักงานสอบสวนไม่จำต้องจัดให้สหวิชาชีพต่างๆ(คือนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา)เข้าร่วมสอบสวน พนักงานอัยการพึงรับสำนวนการสอบสวนในกรณีดังกล่าวไว้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป “

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

“คดีถึงที่สุดไม่มีเหตุชี้ขาดความเห็นแย้ง”

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันฆ่า และร่วมกันพยายามฆ่า เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทลงบทหนักฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจะเพิ่มโทษอีกไม่ได้ ส่วนความผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับคนละ ๑๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษในความผิดฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ๑ ใน ๓ และฐานร่วมกันพาอาวุธฯลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธฯปรับคนละ ๕๐ บาท นับโทษจำเลยที่ ๑ต่อโทษจำเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ ........./.........ของศาลชั้นต้น ริบขวาน มีดพกปลายแหลม ด้ามมีดพร้าของกลาง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก อัยการศาลสูงจังหวัด........ไม่อุทธรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด.......รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค.....ตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค....พิพากษายืน อัยการศาลสูงจังหวัด........ไม่ฏีกาส่งสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค..... รองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาคปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคแย้งคำสั่งอัยการศาลสูงจังหวัด.....ให้ฏีกา
สนง.อัยการพิเศษฝ่ายคดีอัยการศาลสูงพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุธรณ์จนพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๘ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและต้องดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรกเว้นแต่ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเว้นแต่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ คดีนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค..... ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค....มีคำพิพากษายืน คดีจึงถึงที่สุด ต้องดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้า ไม่มีกรณีที่ต้องพิจารณาว่าต้องฏีกาหรือไม่อย่างไร คำสั่งไม่ฏีกาแล้วส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ จึงขัดกับ ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคสองที่บัญญัติให้คดีถึงที่สุดแล้ว มีผลให้ความเห็นแย้งของรองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาคที่ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ไม่ใช่ความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาด คืนสำนวนให้อัยการศาลสูงจังหวัด.....เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง
อธิบดีอัยการ สนง.อัยการสูงสุดเห็นว่า ความเห็นแย้งของรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฏีกาของอัยการศาลสูงจังหวัด.......แล้วส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณานั้น เป็นกรณีดำเนินการขัดบทบัญญัติกฎหมายและคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีกรณีที่อัยการสูงสุดต้องทำความเห็นแย้ง
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฏีกาของพนักงานอัยการแล้วส่งสำนวนพร้อมความเห็นแย้งให้อัยการสูงสุดพิจารณานั้น เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีกรณีที่อัยการสูงสุดต้องพิจารณาความเห็นแย้ง ให้ส่งเรื่องคืน แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค.....ทราบ ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๕๑/๒๕๕๗
ข้อสังเกต ๑.คดีนี้คมมากน่าออกเป็นข้อสอบอัยการ ได้บอกแต่เพียงว่าน่าสนใจที่จะออกเป็นข้อสอบยิ่งมีการแก้ไข ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ให้ตำรวจมาทำหน้าที่แทนฝ่ายปกครองด้วยยิ่งทำให้น่าศึกษา
๒.การกระทำที่เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ปอ. มาตรา ๙๐ ให้นำบทที่หนักลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งความผิดฐานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ปอ. มาตรา ๒๘๙(๔) ระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวจึงมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานร่วมกันฆ่าซึ่งระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๒๐ ปี ซึ่งศาลสามารถเลือกลงโทษได้ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด
๓.ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าลงโทษ ๒ ใน ๓ ของความผิดสำเร็จของความผิดฐานฆ่าผู้อื่น การลงโทษ ๒ใน ๓ คือการลดโทษ ๑ใน ๓ ตาม ปอ มาตรา ๕๒(๑) ซึ่งการลดโทษ ๑ ใน ๓ หรือลงโทษ ๒ ใน ๓ ของความผิดประหารชีวิตคือจำคุกตลอดชีวิต
๔.ส่วนการลงโทษ๒ใน ๓ ของโทษจำคุกตลอดชีวิตคือการลดโทษ ๑ ใน ๓ ซึ่งต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก ๕๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๕๓ ซึ่ง ๒ใน ๓ ของโทษจำคุกจำคุก ๕๐ ปี คือ ๓๓ ปี ๓๓เดือน ส่วนโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๕ปีถึง ๒๐ ปี ๒ใน ๓ ของโทษดังกล่าวคือ ๑๐ ปี ถึง ๑๓ ปี ๓๓เดือน ดังนั้นระวางโทษฐานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงมีอัตราโทษสูงกว่า กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ปอ มาตรา ๙๐
๕.หากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก แล้วกระทำผิดในระหว่างที่รับโทษอยู่ หรือภายในเวลา ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษ ( ปอ. มาตรา ๙๒) หรือภายในเวลา ๓ ปีนับแต่วันพ้นโทษโดยได้กระทำความผิดในอนุมาตราที่กำหนดไว้ในปอ มาตรา ๙๓(๑)ถึง(๑๓) เมื่อมากระทำความผิดอีก พนักงานอัยการจะมีคำขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยตาม ปอ มาตรา ๙๒หรือ ๙๓ แล้วแต่กรณี ซึ่งปอ. มาตรา ๙๒,๙๓ ไม่ใช่บทมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๘(๖)ที่ต้องระบุเลขมาตราลงไป แต่ในทางปฏิบัติจะใส่เลขมาตราดังกล่าวลงไปเพื่อให้ศาลทราบว่าต้องการให้ศาลเพิ่มโทษตามกฏหมายใด หากไม่บรรยายมาในฟ้องให้เข้าหลักเกณท์ที่ขอเพิ่มโทษ และไม่มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลเพิ่มโทษแล้ว ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ เพราะใน ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรกห้ามศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง
๖.เมื่อศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกจำเลยได้ จึงต้องยกคำร้องขอเพิ่มโทษดังกล่าว
๗.ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรเป็นความผิดลหุโทษตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ ศาลสามารถริบอาวุธของกลางได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เมื่อได้นำมาใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบตาม ปอ มาตรา ๓๓(๑)
๘.จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งศาลสามารถลดโทษได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงสำหรับความผิดนั้น ตาม ปอ มาตรา ๗๘ ใน.ความผิดฐานร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลลงโทษประหารชีวิต ลดโทษ ๑ ใน ๓ จึงต้องลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ตาม ปอ มาตรา ๕๒(๑)
๙.ศาลให้นำโทษที่ลงมานับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่......../.....ของศาล....... ซึ่งการที่ศาลจะนับโทษต่อได้ พนักงานอัยการต้องบรรยายมาในฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลนับโทษต่อด้วยมิเช่นนั้นศาลจะนับโทษต่อไม่ได้เพราะ ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรก ห้ามศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง แต่บทมาตราที่ขอนับโทษต่อไม่ใช่มาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ปวอ มาตรา ๑๕๘(๖) แต่หากไม่บรรยายมาในฟ้องและไม่มีคำขอให้นับโทษต่อ ศาลไม่สามารถนับโทษต่อได้ กลายเป็นว่าจำเลยรับโทษสองคดีพร้อมกันไปซึ่งเป็นที่เสียหายต่อบ้านเมืองและความสงบสุขของประชาชน
๑๐.เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่อุทธรณ์ อัยการศาลสูงจังหวัด......มีความเห็นไม่อุทธรณ์ส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕ เป็นกรณีในต่างจังหวัดที่พนักงานอัยการมีความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต้องส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ คำสั่งไม่อุทธรณ์ของพนักงานอัยการเป็นที่สุด แต่หากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้อุทธรณ์ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดความเห็นแย้ง คำสั่งอัยการสูงสุดเป็นที่สุด(เป็นการใช้กฎหมายในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ ที่ให้ส่งสำนวนให้ผู้บังคับการตำรวจฯ)
๑๑.กรณีตามปัญหาเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจะรักษาการแทนกระทำการแทนในนามผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งต้องใช้คำว่า “ รักษาราชการแทน” แต่หากเป็นกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการกระทำการแทน และใช้คำว่า “ ปฏิบัติราชการแทน” ถือไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ ปวอ มาตรา ๑๔๕ ไม่ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะสามารถมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติหน้าที่แทนได้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจะปฏิบัติหน้าที่แทนได้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้คำว่า “ รักษาราชการแทน” ไม่ใช่ใช้คำว่า “ ปฏิบัติราชการแทน”
๑๒.ในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนดังกล่าวที่ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตไปยังศาลอุทธรณ์ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตาม เพื่อเป็นการตรวจสอบการลงโทษว่าได้กระทำถูกต้องหรือไม่อย่างไรเพราะศาลได้ลงโทษสถานหนัก คำพิพากษาเช่นนี้ยังไม่ถึงที่สุดจนกว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ทั้งนี้เป็นไปตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคสอง
๑๓.เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา ๑ เดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งย่อมเป็นที่สุดตาม ปวอ มาตรา ๑๙๘ ซึ่งต้องบังคับคดีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรก แต่หากในคดีนั้นศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้ว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ก็เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณา หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาที่ให้จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตจึงถึงที่สุดตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคสอง
๑๔.คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษา คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะเป็นที่สุดเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาก็เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือคดีถึงที่สุดตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง เมื่อคดีถึงที่สุดต้องดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรก จึงไม่มีกรณีที่อัยการศาลสูงจะมีคำสั่งไม่ฏีกาแล้วส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคอีกแต่อย่างใด การส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ เป็นกรณีที่ดำเนินการขัดต่อบทบัญญัติในกฎหมายที่เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วต้องบังคับคดีโดยทันที ดังนั้นความเห็นแย้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีความเห็นแย้งให้ฏีกา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงไม่ใช่ความเห็นแย้งข้อชี้ขาดที่อัยการสูงสุดต้องทำความเห็นตามปวอ มาตรา ๑๔๕ แต่อย่างใด จึงต้องคืนสำนวนให้อัยการศาลสูงจังหวัด.....รับไปดำเนินการต่อไป.และมีหนังสือแจ้งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค....ทราบต่อไป
๑๕.อัยการศาลสูงไม่มีหน้าที่ต้องส่งสำนวนที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณา เพราะเมื่อไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นเพียงศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกที เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด ต้องบังคับคดีทันที ไม่มีเหตุที่จะฏีกาต่อไปได้ และไม่มีเหตุต้องส่งสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณาด้วย ความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจภาคที่มีความเห็นแย้งความเห็นอัยการศาลสูงจังหวัด.......ให้ฏีกานั้น กรณีดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นแย้งตามกฎหมายที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาด ให้คืนสำนวนและมีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค.......ทราบ

"ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็น"

ผู้ต้องหาและผู้ตายมีเหตุโกรธเคืองกันเรื่องรุกล้ำที่ดินที่มีแนวเขตติดกัน ผู้ต้องหาขู่ฆ่าผู้ตายหลายครั้ง เคยใช้ปืนไล่ยิงบุตรผู้ตาย วันเกิดเหตุผู้ตาย ภรรยาและบุตรไปดำนา ได้ยินเสียงปืน ๑ นัดขณะนั้นผู้ตายอยู่ที่ไร่ไม่ได้ลงไปดำนาด้วยเข้าใจว่าชาวบ้านยิงนกยิงหนู เมื่อเลิกดำนากลับบ้านไม่พบผู้ตายจึงออกตามหาพบผู้ตายถูกยิงถึงแก่ความตาย จากการตรวจที่เกิดเหตุพบหมอนรองกระสุนปืนลูกซอง ขนาด ๑๒ จำนวน ๒ อัน น่าเชื่อว่าคนร้ายซุ่มยิงในป่าหญ้าห่างศพผู้ตาย ๑๐ เมตร พบรองเท้ายาง ๑ ข้างบริเวณที่ซุ่มยิง และพบอีกข้างห้างจากจุดซุ้มยิงไปทางเถียงนาผู้ต้องหา ๕ เมตร พบคาบเขม่าดินปืนติดบนกิ่งหญ้าในจุดที่ซุ่มยิง พนักงานสอบสวนเก็บเลือดผู้ตาย ๑ ถุงเล็กเป็นของกลาง ได้นำรองเท้ายางไปให้ภรรยาผู้ต้องหาดูรับว่าเป็นรองเท้าผู้ต้องหา และบอกว่าผู้ต้องหาไปนอนเฝ้านาแล้วไม่ได้กลับบ้าน ผู้ต้องหามีปืนลูกซอง ขนาด ๑๒ จำนวน ๑ กระบอก ไม่ทราบเก็บไว้ที่ใด ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มาสอบปากคำภรรยาผู้ต้องหาอีกได้ความว่าผู้ต้องหาได้หนีออกจากบ้านไปแล้ว อาวุธปืนลูกซองขนาด ๑๒ที่ผู้ต้องหาซื้อเป็นปืนมีทะเบียนแต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียนและเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน อไปตรวจสอบพบว่าเป็นอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว ขนาด ๑๒ แยกชิ้นส่วนลำกล่องปืนกับตัวปืน จึงได้ยึดอาวุธปืนเป็นของกลางโดยอาวุธปืนดังกล่าวถูกห่อไว้ด้วยพลาสติก ภรรยาผู้ต้องหานำใบอนุญาตเลขที่ ๑๓๒/๒๕๐๙ ทะเบียน กท ๑๑๒๖๘๙ เลขทะเบียนปืน ๒๔KQ เมื่อตรวจดูแล้วไม่พบหมายเลขทะเบียนที่ตัวปืนและที่ด้ามปืนคงพบแต่หมายเลข ๒๔kQ ภรรยาผู้ต้องหาอ้างว่าผู้ต้องหาฝั่งปืนดังกล่าวเมื่อ ๓ถึง ๔ เดือนที่แล้วเครื่องหมายทะเบียนไม่มีเพราะทำด้ามใหม่ ผลการตรวจอาวุธปืนพบเขม่าดินปืนติดอยู่ภายในลำกล้อง แต่ปืนของกลางไม่มีเข็มแทงชนวน จึงใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุไม่ได้ จากการตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แม้คดีไม่มีประจักษ์พยาน แต่ก็พบรองเท้าผู้ต้องหาบริเวณที่คนร้ายใช้ซุ่มยิง พบอาวุธปืนลูกซองยาวขนาด ๑๒ ของผู้ต้องหาซุกซ่อนฝังไว้ใต้ถุนบ้านผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีสาเหตุโกรธเคืองผู้ตาย หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาหลบหนีออกจากบ้านไปเป็นเวลา ๗ ปี จึงสามารถตามจับได้ พยานแวดล้อมรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาใช้อาวุธซุ้มยิงผู้ตาย ชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหา ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอศาลสั่งริบหมอนรองกระสุนปืนลูกซองและอาวุธปืนลูกซองของกลาง ชี้ขาดความเห็นแย้ง๖๔/๒๕๕๑

ข้อสังเกต ๑.ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหา
๒.ผู้ต้องหามีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายเรื่องรุกล้ำที่ดินที่มีแนวเขตติดต่อกัน เคยพูดขู่จะฆ่าผู้ตายหลายครั้ง และเคยใช้ปืนไล่ยิงบุตรผู้ตาย ที่เกิดเหตุพบรองเท้ายางของผู้ต้องหาตกอยู่บริเวณที่ซุ้มยิง ๑ ข้าง และพบอีกข้างห่างที่เกิดเหตุ ๕ เมตรโดยภรรยาของผู้ต้องหายืนยันเป็นรองเท้าของผู้ต้องหา ตรวจยึดอาวุธปืนลูกซองยาว ขนาด ๑๒ ที่บ้านผู้ต้องหา อันเป็นขนาดเดียวกับที่พบหมอนรองกระสุนปืนขนาด ๑๒ ตกที่เกิดเหตุ โดยอาวุธปืนดังกล่าวมีคาบเขม่าดินปืนติดอยู่ แม้จากการตรวจสอบจะพบว่าไม่มีเข็มแทงชนวนทำให้ไม่สามารถใช้ยิงได้ก็ตาม แต่ก็พบว่ามีการแยกลำกล้องปืนออกจากตัวปืน และด้ามปืนก็ไม่มีหมายเลขทะเบียนปืนที่เจ้าพนักงานประทับไว้โดยภรรยาผู้ต้องหาอ้างว่าไปทำด้ามปืนใหม่ ผู้ต้องหาหลบหนีออกจากบ้านเป็นเวลา ๗ ปี โดยไม่กลับบ้านซึ่งผิดปกติที่คนเราออกจากบ้านไม่กลับมาหาลูกเมีย จนต่อมาผู้ต้องหาถูกจับกุมได้ตามหมายจับ พยานแวดล้อมน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้ายรายนี้แม้ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาก็ตาม หลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
๓.เมื่อรับฟังว่าอาวุธปืนของกลางที่พบใช้ในการยิงผู้ตาย เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตให้พาอาวุธปืน จึงเป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันควร

"ทำนาบนหลังคน -ให้มากู้เงิน"

ผู้ต้องหากับพวกวางนามบัตรตามโต๊ะอาหารชักชวนให้คนไปกู้เงิน ทั้งได้จัดนายหน้าพาคนไปกู้เงิน เมื่อมีคนมากู้ก็ลงเงินในสัญญากู้สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้เป็นจำนวนมากเทียบได้กับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๖๐ ถึง ๑๒๐ ต่อปี อ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันการชำระเงิน แล้วได้นำสัญญากู้ไปฟ้องบังคับให้ชำระเต็มตามจำนวนที่ลงไว้ในสัญญากู้ แม้ผู้กู้บางรายชำระเต็มตามจำนวนเงินที่กูแล้ว ก็ยังนำไปฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ซ้ำอีก เห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้ต้องหากับพวกมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกในการวางแผนเพื่อจะหลอกอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายและคนทั่วไปโดยวิธีเชิญชวนมากู้เงินเป็นการบังหน้าและเมื่อมีผู้หลงเชื่อเข้าใจกันว่าเป็นการกู้ตามปกติ แต่ทำสัญญากู้ระบุจำนวนเงินไว้สูงเพื่อเป็นหลักประกัน จึงได้ยอมทำสัญญากู้ดังกล่าว เป็นการหลอกลวงคนทั่วไปให้มากู้เงินและทำสัญญากู้อันเป็นเอกสารสิทธิ์์ให้แก่ผู้ต้องหากับพวก เพื่อจะใช้สิทธิ์ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับทรัพย์สินผู้กู้เต็มตามจำนวนที่หลอกให้ลงจำนวนกู้สูงกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ชี้ขาด "ให้ฟ้อง" ผู้ต้องหาที่ ๑ที่๒ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และชี้ขาด "ควรสั่งฟ้อง" ผู้ต้องหาที่ ๖ ฐานร่วมกันฉ้อโกง ให้ผู้ต้องหาทั้งหมดคืนหรือใช้เงิน นับบโทษผู้ต้องหาที่ ๑ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ส่วนผู้ต้องหาที่ ๖ ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี แจ้งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจัดการให้ได้ตัวมาภายในอายุความ ๑๐ ปีนับแต่วันกระทำผิด ชี้ขาดความเห็นแย้ง๓๙๙/๒๕๕๑

ข้อสังเกต ๑.กู้ยืมเงินเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง สมบรูณ์เมื่อมีการส่งมอบเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐วรรคท้าย เมื่อมีการทำสัญญากู้ลงจำนวนเงินสูงเกินจำนวนเงินที่มีการกู้กันจริง จำนวนเงินที่กู้ส่วนที่ไม่มีการส่งมอบย่อมไม่สมบรูณ์ถือมีการกู้ในจำนวนเงินดังกล่าวไม่ได้ ในความเห็นของผมน่าถือว่าสัญญากู้ในส่วนที่ไม่ได้มีการส่งมอบเงินตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฏหมายกำหนดไว้ ทั้งการเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๖๐ ถึง ๑๒๐ ต่อปีเป็นความผิดตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด จึงเป็นกรณีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมสัญญากู้ย่อมตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓ จะถือว่าแยกส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะผู้ต้องหามีเจตนาชั่วร่้ายอยู่ในตัวทั้งยังเป็นการกระทำความผิดตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯซึ่งมีโทษทางอาญาและการเอาสัญญากู้ดังกล่าวมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕ เมื่อนิติกรรมตกเป็นโมฆะผู้กู้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะรับไว้ซึ่งเงินกู้จึงต้องคืนเงินตามที่กู้กันจริงในฐานลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๖
๒.ในคดีนี้การนำสืบว่าจำนวนเงินกู้กันจริงเท่าไหร่สามารถนำพยานบุคคลมานำสืบหักล้างเอกสารสัญญากู้ได้ โดยปกติแล้วการกู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงเป็นกรณีกฏหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตามหลักจะนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารว่า ไม่ได้กู้จำนวนเท่านี้ ได้รับเงินไม่ครบตามที่ระบุในสัญญากู้ไม่ได้ แต่ในกรณีนี้เป็นการนำสืบว่าสัญญากู้ไม่สมบรูณหรือไม่ถูกต้องบาง่ส่วนเพราะไม่มีการส่งมอบเงินตนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ทั้งหมด สามารถนำพยานบุคคลมาหักล้างพยานเอกสารได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ วรรค ๒
๓.ส่วนผู้กู้ที่ชำระหนี้เงินกู้ครบแล้วผู้ต้องหายังนำมาฟ้องอีก แม้การฟ้องเท็จคดีแพ่งไม่เป็นความผิดตามกฏหมายเพราะไม่มีกฏหมายบัญญัติให้เป็นความผิดไว้ แต่เมื่อมาเบิกความย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ นำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีของศาลตาม ป.อ . มาตรา ๑๗๗,๑๘๐
๔.ผู้ต้องหากับพวกโดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปให้มากู้เงินด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าให้ลงจำนวนเงินกู้สูงกว่าจำนวนเงินกู้ที่กู้กันจริงเพื่อเป็นหลักประกัน โดยผู้ต้องหากับพวกหาได้มีเจตนาให้ลงจำนวนเงินกู้สูงกว่าที่กู้กันจริงเพื่อเป็นหลักประกันในการกู้เงิน แต่ผู้ต้องหากับพวกมีเจตนาที่จะนำหลักฐานการกู้เงินนั้นไปฟ้องเต็มจำนวน จนผู้เสียหายและประชาชนอื่นหลงเชื่อได้ทำสัญญากู้อันเป็นเอกสารสิทธิ์กับผู้ต้องหากับพวก เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
๕.การเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปีเป็นความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนดไว้ตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด
๖.สังเกตุใช้คำว่า "ชี้ขาดให้ฟ้อง " คือมีตัวให้ฟ้อง และใช้คำว่า "ชี้ขาด "ควรสั่งฟ้อง" คือไม่มีตัวให้ฟ้องเพราะหลบหนี
๗.ใช้คำว่า ชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑ ผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๓ ผู้ต้องหาที่ ๔ ผู้ต้องหาที่ ๕ ไม่ได้ใช้คำว่า ผู้ต้องหาที่ ๑ ถึงผู้ต้องหาที่ ๕ เพื่อกันการผิดพลาดว่าฟ้องใครไม่ฟ้องใคร
๘.ใช้คำว่า " ดำเนินการให้ได้ตัวมาภายในอายุความ" ไม่ได้ใช้คำว่า " ออกหมายจับภายในอายุความ" คือทำการอย่างไรก็แล้วแต่รวมทั้งการออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวมาฟ้อง
๙.ฉ้อโกงประชาชนระวางโทษจำคุกไม่เกิน๕ ปี มีอายุ ๑๐ ปี ตาม ป.อ.มาตรา ๙๕(๓)
๑๐.อายุความ๑๐ ปีนับแต่วันเกิดเหตุคือรับแต่วันที่ทำสัญญากู้

“ไม่มีความเห็นแย้งที่ต้องวินิจฉัย”

เจ้าหน้าที่ตำรวจพบรถบรรทุกพ่วงคลุมผ้าใบแล่นมาอย่างผิดสังเกตจึงเรียกให้หยุด คนขับรถหยุดรถแล้วหลบหนีไป จากการตรวจภายในรถพบไม้ซุงท่อนไม่มีรอยตราเจ้าพนักงานประทับ ภายในรถตรวจพบใบอนุญาตขับขี่รถทุกประเภทจำนวน ๑๐ ใบ กุญแจรถ ๓ ดอก สำเนาหนังสือรับรองที่ดินนิคมฯ หนังสือนำไม้เคลื่อนย้ายไปใช้ประโยชน์และเอกสารอื่นรวม ๑๓ แผ่น โทรทัศน์ติดรถยนต์ ๑ เครื่อง นาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน ยึดไว้เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน อัยการจังหวัด........มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาทำไม้หรือกระทำด้วยประการใดๆแก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฟ้องในข้อหามีไว้ในความครอบครองไม้หวงห้าม(ไม้ท่อน)อันยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย ขอริบไม้ของกลาง ส่วนของกลางอื่นรวมทั้งรถบรรทุกและรถพ่วงให้จัดการตามปวอ มาตรา ๘๕ ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ แต่ไม่เห็นชอบกับคำสั่งที่ไม่ริบรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลาง อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า อัยการจังหวัด......มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาบางข้อหา ขอริบไม้หวงห้ามของกลาง ในส่วนของกลางอื่นรวมทั้งรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางเป็นของบุคคลภายนอก แจ้งพนักงานสอบสวนจัดการตาม ปวอ มาตรา ๘๕ กับมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเฉพาะข้อหาฐานทำไม้หรือกระทำด้วยประการใดๆแก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง คำสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องตามปวอ มาตรา ๑๔๗ แต่ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการเกี่ยวกับรถบรรทุก รถบรรทุกของกลางที่แจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการตาม ปวอ มาตรา ๘๕ จึงไม่มีความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดต้องพิจารณาชี้ขาดตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑ ในส่วนความเห็นของพนักงานอัยการที่แจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการเกี่ยวกับรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางตาม ปวอ มาตรา ๘๕นั้น เป็นเพียง “ คำแนะนำ” ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน ปวอ มาตรา ๘๕ ตอนท้าย ความเห็นดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งไม่ฟ้องที่ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้จะใช้อำนาจตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑แย้งความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการในเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดต้องพิจารณาเช่นกัน การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนจัดการเกี่ยวกับรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางตาม ปวอ มาตรา ๘๕ นั้น เห็นว่า รถบรรทุกดังกล่าวเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจใจในการกระทำความผิดด้วย และเมื่อทราบว่ารถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางถูกยึดก็ได้มาขอคืนของกลางจากพนักงานสอบสวนและให้ทนนายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางคืนจากผู้เช่าซื้อพร้อมเรียกค่าเสียหาย การขอคืนรถบรรทุกรถบรรทุกพ่วงของกลางของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ จึงไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ความเห็นของพนักงานอัยการชอบแล้ว คำสั่งชี้ขาดความเห็นแย้ง ๒๙๓/๒๕๕๘
ข้อสังเกต ๑.”ไม้” หมายความว่า ไม้สักและไม้อื่นทุกชนิดที่เป็น ต้น เป็น กอ เป็น เถา รวมถึง ไม้ไผ่ทุกชนิด ปลาม หวายตลอดจน ราก ปุ่ม ตอ เศษปลายและกิ่งของสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะถูกตัดตอนเลื่อยผ่าถากขุดหรือกระทำด้วยประการอื่นใด
“แปรรูปไม้” หมายความถึง เลื่อยหรือกระทำด้วยประการใดๆแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม นอกจากการลอกเปลือก หรือตกแต่งอันจำเป็นแก่การชักลาก
“ไม้แปรรูป” หมายความว่า ไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว แต่ไม่หมายถึงไม้ที่ได้ทำเป็นเครื่องใช้หรือสิ่งของอื่นหรือประ กอบเข้ากับเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นแล้ว
“ ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ขุด ถอน ชักลากไม้ในป่าหรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใดๆ
๒. “.ความผิดฐานทำไม้” คือการตัดฟันกานโค่นลิดเลื่อยผ่าถากขุดถอน ชักลากไม้ในป่าหรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใดๆ ซึ่งไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเห็นได้ว่าตามวิเคราะห์ศัพท์ดังกล่าว เพียงชักลากไม้ในป่าหรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใดๆ ซึ่งไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ถือเป็นการ “ ทำไม้” แล้ว หากไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดตามกฏหมาย
“.ความผิดฐานมีไว้ในความครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป(มีไม้ท่อน)โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย คือยังไม่มีการแปรรูปไม้(ท่อน)หวงห้ามด้วยการเลื่อยหรือกระทำด้วยประการใดๆแก่ไม้(ท่อน)หวงห้ามให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม ไม้หวงห้ามยังคงเป็นท่อนอยู่
“ความผิดฐานนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทางจากเจ้าหน้าที่ โดยเมื่อนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ล่วงด่านป่าไม้ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งแสดงใบเบิกทางกำกับไม้หรือของป่าที่นำมาที่นำมานั้นเพื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตเป็นหนังสือให้ผ่านด่านได้ จึงจะนำไม้หรือของป่านั้นไปได้ และการเคลื่อนย้ายไม้หวงห้ามต้องไม่กระทำระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
๓.ไม้ท่อนที่ยังไม่แปรรูปหรือไม้แปรรูปหวงห้ามที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีไว้ในความครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตให้แปรรูปไม้ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้ใช้หรือมีเหตุอันสมควรในการกระทำความผิดหรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ได้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ทรัพย์ที่ยึดไว้ ถ้าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือศาลไม่พิพากษาให้ริบและผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ได้ร้องขอคืนภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่”ทราบ “ หรือ “ถือว่าได้ทราบ” คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ตกเป็นของกรมป่าไม้ หากเป็นทรัพย์ที่เสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินกว่าค่าแห่งทรัพย์สินรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายจะจัดการขายทอดตลาดก็ได้ ได้เงินมาให้ยึดไว้แทนทรัพย์สิ้นนั้น พรบ.ป่าไม้ฯ มาตรา ๖๔(๓๔)ทวิ
๔.ปอ. มาตรา ๓๒,๓๓บัญญัติให้ทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิดหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น
๕.ใบอนุญาตขับขี่รถทุกประเภทจำนวน ๑๐ ใบ กุญแจรถ ๓ ดอก สำเนาหนังสือรับรองที่ดินนิคมฯ หนังสือนำไม้เคลื่อนย้ายไปใช้ประโยชน์และเอกสารอื่นรวม ๑๓ แผ่น โทรทัศน์ติดรถยนต์ ๑ เครื่อง นาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เป็นความผิดในความผิดฐาน มีไว้ในความครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป(มีไม้ท่อน)โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย จึงไม่อาจริบได้ พนักงานอัยการจะมีคำสั่งแจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการตาม ปวอ มาตรา ๘๕ คือคืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นที่มีสิทธิ์เรียกร้องขอสิ่งนั้นคืน
๖.รถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วง เมื่ออยู่ระหว่างการเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในรถยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อ ผู้ให้เช่าซื้อไม่รู้เห็นเป็นใจในการที่นำรถดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นกรณีที่เจ้าของไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดจึงไม่อาจริบได้ตาม ปอ มาตรา ๓๓ ตอนท้าย
๗.คำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเฉพาะข้อหาฐานทำไม้หรือกระทำด้วยประการใดๆแก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง คำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
๘..ส่วนที่ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการที่ให้จัดการรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงนั้น เห็นว่า...ตามปวอ มาตรา ๑๔๕ ให้อำนาจ.ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้มีสิทธิ์เพียง “เห็นชอบ” หรือ “มีความเห็นแย้ง” กับคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องในข้อหาที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่.ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ไม่มีอำนาจกล่าวล่วงไปสั่งในเรื่องอื่นใดนอกจากคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ การที่ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ไปสั่งเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ของกลางโดยเห็นว่าควรริบรถยนต์ของกลาง จึงเป็นการสั่งโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ....ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ไม่มีความเห็นแย้งในเรื่องข้อหาที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ดังนั้นข้อหาที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจึงเด็ดขาดเป็นที่สุด ไม่มีความเห็นแย้งในข้อหาที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เมื่อไม่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ที่จะให้อัยการสูงสุดพิจารณา อัยการสูงสุดจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าการคืนของกลางหรือจัดการของกลางตาม ปวอ มาตรา ๘๕ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
๙..ในส่วนความเห็นของพนักงานอัยการที่แจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการเกี่ยวกับรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางตาม ปวอ มาตรา ๘๕นั้น เป็นเพียง “ คำแนะนำ” ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน ปวอ มาตรา ๘๕ ตอนท้าย ความเห็นดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งไม่ฟ้องที่ผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้จะใช้อำนาจตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕/๑แย้งความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการในเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดต้องพิจารณาเช่นกัน
๑๐. การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนจัดการเกี่ยวกับรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางตาม ปวอ มาตรา ๘๕ นั้น เห็นว่า รถบรรทุกดังกล่าวเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วย และเมื่อทราบว่ารถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางถูกยึดก็ได้มาขอคืนของกลางจากพนักงานสอบสวนและให้ทนายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงของกลางคืนจากผู้เช่าซื้อพร้อมเรียกค่าเสียหาย การขอคืนรถบรรทุกรถบรรทุกพ่วงของกลางของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ จึงไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ความเห็นของพนักงานอัยการชอบแล้ว ไ ม่จำต้องพิจารณาว่าการคืนของกลางหรือจัดการของกลางตาม ปวอ มาตรา ๘๕ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร และไม่มีเหตุให้อัยการสูงสุดต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเพราะความเห็นของผู้บัญชาการศนูย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการในเรื่องของกลาง ไม่ใช่ความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาด
๑๑.ในสมัยที่ผมรับราชการที่จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน เมื่อพนักงานอัยการคืนรถของกลางที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ เพราะไม่มีหลักฐานใดสามารถยืนยันได้ว่าผู้ให้เช่าซื้อรู้เห็นยินยอมในการกระทำผิดของผู้ต้องหา ป่าไม้ไม่พอใจได้ไปปรึกษากับผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษามีคำสั่งให้ “ ริบของกลางในสำนวนการสอบสวนเสียทั้งสิ้น” คงมองอัยการในแง่ลบในการสั่งสำนวนมั้ง ทั้งที่บางเรื่องไม่มีของกลางที่จะให้ริบหรือคืน แต่ศาลไปสั่งให้“ ริบของกลางในสำนวนการสอบสวนเสียทั้งสิ้น” จึงเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒ คำสั่งของศาลที่ให้ “ ริบของกลางในสำนวนการสอบสวนเสียทั้งสิ้น” ทั้งที่ไม่มีของกลางจะให้ริบและโจทก์ไม่ได้กล่าวหรือบรรยายไว้ในคำฟ้องหรือมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบของกลางในสำนวนการสอบสวนเสียทั้งสิ้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ศาลฏีกาแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว
๑๒.ระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ข้อ ๗๗ เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกคน หรือมีกรณีมีความเห็นไม่ขอริบทรัพย์สินของกลาง เนื่องจากของกลางนั้นริบไม่ได้ตามกฎหมายหรือไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และไม่มีความจำเป็นต้องยึดของกลางนั้นไว้วินิจฉัยในคดี ให้แจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางตามแบบพิมพ์อก ๔๖ เพียงว่า “ของกลางให้จัดการตามปวอ มาตรา ๘๕” เท่านั้นโดยไม่จำต้องรอถึงคดีถึงที่สุด
กรณีเสร็จคดีชั้นศาล ให้แจ้งผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว โดยให้แจ้งตามแบบพิมพ์ อก ๔๖ เมื่อพ้นอายุความอุทธรณ์ฏีกาแล้วแต่กรณี

“โทษระงับด้วยความตาย”

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ๒ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ๒ ปี จำเลยชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฏีกา ระหว่างฏีกาจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลฏีกามีคำสั่งว่า เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบ ต่อมาวันที่ ๖ พ.ย.๒๕๕๖ ส. ยืนคำร้องว่าจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทของจำเลย เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไป จึงขอรับเงินค่าปรับคืน ศาลฏีกาเห็นว่า โทษเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิด ตาม ปอ มาตรา ๓๘ ดังนั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา โทษตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองศาลจึงเป็นอันระงับไป เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายยื่นคำร้องขอรับคืนค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องคืนค่าปรับให้ผู้ร้อง การที่ศาลล่างทั้งสองศาลยกคำร้อง ศาลฏีกาไม่เห็นด้วย ฏีกาผู้ร้องฟังขึ้น พิพากษากลับให้คืนค่าปรับ ๑๐,๐๐๐บาทที่จำเลยต้องนำมาชำระที่ศาลชั้นต้นให้แก่ผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลย คำพิพากษา๑๐๔๘๘/๒๕๕๘
ข้อสังเกต ๑.เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙( ๑ ) อีกทั้งโทษตาม ปอ ระงับไปด้วยความตาย ปอ มาตรา ๓๘
- หากความปรากฏในชั้นศาล ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
-หากความปรากฏในชั้นพนักงานอัยการก่อนที่จะยื่นฟ้อง พนักงานอัยการต้องสั่ง “ยุติการดำเนินคดี” กับผู้ต้องหาตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๕๔...ไม่ได้ใช้คำสั่ง “ ไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย แต่ต้องสั่ง “ ยุติการดำเนินคดี “ กับผู้ต้องหาเพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย โดยไม่จำต้องปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๔๕,๑๔๕/๑ คือ ไม่ต้องนำสำนวนส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้บังคับการตำรวจภูธรภาคพิจารณา ระเบียบฯข้อ ๕๔ วรรคสาม.
-หากความมาปรากฏในชั้นพนักงานอัยการภาย “ หลังยื่นฟ้องไปแล้ว” พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลแถลงให้ศาลทราบว่า จำเลยถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ ซึ่งศาลจะเรียกพนักงานอัยการโจทก์มาสอบถาม ซึ่งพนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่โดยอาจต้องไปสอบปากคำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ บิดามารดา สามีหรือภรรยาหรือญาติพี่น้องของจำเลยพร้อมแนบมรณะบัตรมาประกอบการพิจารณาของศาล
-หรือในกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนสั่งสำนวนเพื่อยื่นฟ้องหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล สามีภรรยาหรือญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วแต่กรณียื่นคำร้องมาที่พนักงานอัยการว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยตาย พนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบว่าถึงแก่ความตายจริงหรือไม่พร้อมแนบใบมรณะบัตรเพื่อพนักงานอัยการจะมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีในชั้นของพนักงานอัยการ(กรณียังไม่มีการยื่นฟ้อง) หรือกรณียื่นฟ้องไปแล้วพนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ โดยเมื่อศาลสอบถามพนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนมาแถลงต่อศาลว่าตรวจสอบแล้วจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่มีหลักฐานอะไรเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งต่อไป
หรือในกรณีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล สามีภรรยา บุตรหรือญาติจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลจะเรียกพนักงานอัยการมาสอบถาม ซึ่งพนักงานอัยการจะขอเลื่อนคดีไปเพื่อประสานงานกับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะแถลงให้ศาลทราบในการนัดพิจารณาคดีต่อไป
-ข้อควรระวัง พนักงานอัยการไม่ควรแถลงเองว่า จำเลยถึงแก่ความตาย เพราะพนักงานอัยการไม่ได้รู้เห็นว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ เพราะผลแห่งการตายทำให้สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามกฏหมาย จึงควรสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่อย่างไรพร้อมแนบมรณะบัตรประกอบการพิจารณา และเมื่อต้องไปแถลงควรให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้แถลงว่าจำเลยถึงแก่ความตายจริงหรือไม่อย่างไร
๒.เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการดำเนินคดีกับจำเลยย่อมระงับไป สิทธิ์ในการดำเนินคดีแทนจำเลยในคดีอาญาไม่ตกทอดไปยังผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยา กรณีไม่เหมือนกับผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ .ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยาสามารถจัดการแทนผู้เสียหายได้ตามปวอ มาตรา ๕(๒)
๓.คู่สมรสที่ทำการจดทะเบียนสมรสย่อมเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามปพพ มาตรา ๑๔๕๗ การร้องขอคืนเงินค่าปรับที่จำเลยจ่ายไป หากเป็นการจ่ายไปโดยไม่ชอบ หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้วสิทธิ์ขอคืนเงินค่าปรับที่ได้จ่ายไปเป็นสิทธิ์ในทางทรัพย์สินย่อมตกทอดเป็นมรดกตกแก่ทายาทและคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถือเป็นทายาทที่สามารถเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยผู้ตายได้
๔.เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไป โทษปรับเป็นโทษตาม ปอ มาตรา ๑๘(๔)..เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามคำพิพากษาฏีกานี้เมื่อทายาทมาขอคืนค่าปรับที่ชำระต่อศาลชั้นต้นไปแล้ว เมื่อโทษระงับด้วยความตายจึงจำต้องคืนเงินค่าปรับให้แก่ผู้ร้อง ที่ศาลฏีกาตัดสินแบบนี้คงเพราะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา โดยจำเลยยื่นฏีกา ตราบใดที่ศาลฏีกายังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อจำเลยนั้นถูกสันนิษฐานว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษ ดังนั้น เมื่อจำเลยตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับ ค่าปรับซึ่งเป็นโทษที่ได้ชำระไปแล้วในศาลชั้นต้นจึงต้องคืนแก่ผู้ร้องที่เป็นทายาทผู้ตาย
๕.ด้วยความเคารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า แม้สิทธิ์ในการนำคดีมาฟ้องระงับไปเพราะความตายของผู้กระทำผิดก็ตาม แต่เมื่อได้ชำระค่าปรับไปแล้วไม่น่าขอคืนได้ เพราะการอุทธรณ์ฏีกาคำพิพากษาไม่เป็นการทุเลาการบังคับคดี ตามปวอ มาตรา ๑๕ ปวพ มาตรา ๒๓๑ เมื่อโทษปรับเป็นโทษทางอาญา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วต้องดำเนินการคำพิพากษาทันที แม้ในปวอ มาตรา ๒๔๕วรรคแรกใช้คำว่า “ เมื่อคดีถึงที่สุด” ก็ตาม เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วต้องดำเนินการบังคับตามโทษที่ศาลลงทันที ไม่ต้องรอว่ามีการอุทธรณ์ฏีกาหรือไม่อย่างไร การบังคับคดีต้องเดินต่อไป คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยนั้นแม้จะมีการอุทธรณ์ฏีกาคำพิพากษาก็ตาม สามารถบังคับคดีได้ทันที โดยปวอ มาตรา ๒๔๕ การบังคับตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีทันทีเร่งด่วน อีกทั้งใน ปอ มาตรา ๒๙ บัญญัติไว้ชัดว่า ผู้ต้องโทษปรับหากไม่ชำระค่าปรับภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ผู้นั้นต้องถูกยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับ หรือถูกกักขังแทนค่าปรับ และถ้าศาลเห็นสมควรว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะเรียกประกันหรือสั่งให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้บังคับโทษปรับในทันทีภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา และในมาตรา ๒๙นี้ “ไม่ได้ใช้” คำว่า นับแต่วันที่มีคำพิพากษา “ ถึงที่สุด” ดังนั้นแม้ยังไม่มีคำพิพากษา “ ถึงที่สุด” ก็จำต้องชำระโทษปรับในทันทีภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จึงไม่อาจคืนค่าปรับให้ทายาทได้เพราะศาลฏีกาก็ยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในเรื่องนี้แต่อย่างไร กล่าวคือศาลฏีกายังไม่มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากเป็นดังนี้จึงต้องคืนค่าปรับให้จำเลย แต่เมื่อศาลฏีกาก็ยังไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งศาลฏีกาอาจเห็นว่ากระทำความผิดจริงศาลก็ลงโทษโดยพิพากษายืนได้ ดังนั้นในชั้นนี้แม้จำเลยถึงแก่ความตายก่อนศาลฏีกาพิพากษาก็ตามก็ไม่อาจมาขอรับเงินคืนได้ จะถือว่าความตายของจำเลยทำให้สิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไป ดังนั้นจึงต้องคืนค่าปรับ ในความเห็นส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเมื่อศาลฏีกายังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดจึงไม่มีกรณีที่ต้องคืนค่าปรับ เมื่อศาลฏีกายังไม่ได้มีคำพิพากษา คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมีผลบังคับอยู่โดยทั้งสองศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด จึงไม่น่าต้องคืนค่าปรับด้วยเหตุว่าจำเลยถึงแก่ความตาย ความตายของจำเลยไม่ใช่เครื่องชี้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด จำเลยตายก็แค่สิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไปเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็เป็นหมันไม่มีผลบังคับ หรือในกรณีศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นลงโทษจำคุกโดยไม่ปรับจำเลย จำเลยยื่นฏีกาแล้วตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา ดังนี้ก็เป็นเพียงสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไป แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังอยู่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะถูกลบล้างไปก็ต่อเมื่อศาลฏีกามีคำพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เมื่อการกระทำไม่เป็นความผิดจึงไม่สามารถลงโทษปรับได้ ค่าปรับที่จ่ายไปสามารถขอคืนได้ เมื่อจำเลยตายระหว่างพิจารณาของศาลฏีกา สิทธิ์ในการดำเนินคดีกับจำเลยระงับไปก็น่ามีผลเพียงศาลฏีกาไม่ต้องวินิจฉัยอะไรต่อไป ให้จำหน่ายคดีจากสารบบ แม้จำหน่ายคดีจากสารบบคำพิพากษาศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ยังอยู่เพราะไม่ได้ถูกลบล้างโดยคำพิพากษาศาลฏีกาแต่อย่างใด เป็นความเห็นส่วนตัวครับ เมื่อศาลท่านได้วินิจฉัยมาแล้วก็เคารพในคำวินิจฉัยของท่าน หากเป็นข้อสอบออกมาก็คงต้องถือตามคำพิพากษาฏีกาครับ

“ลักทรัพย์รับของโจร – คำพิพากษาเปลี่ยนแนว”

ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนหรือรับของโจร ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นต้องสอบถามให้ได้ความชัดว่ารับสารภาพฐานใดแล้วจึงพิพากษาลงโทษในข้อหาที่จำเลยรับสารภาพ การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามจำเลยให้ชัดเจนแต่กลับพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ฯโดยไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยรับสารภาพในข้อหาดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๗๗๓๕/๒๕๕๗
ข้อสังเกต๑. กรณีที่ทรัพย์สินหายแต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าคนร้ายคือใครแต่ไปพบของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยอาจเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป หรืออาจไม่ใช่คนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหาย แต่รู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก เจ้าพนักงานยักยอก แล้วช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ หรือรับทรัพย์นั้นไว้ด้วยประการใดๆโดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก เจ้าพนักงานยักยอก อันเป็นความผิดฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ผู้เสียหายหรือเป็นคนช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ ทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์อันเป็นความผิดฐานรับของโจร จึงต้องดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวทั้งสองฐาน
๒.ในการร่างฟ้องในตอนแรกจะบรรยายฟ้องเพียงมีคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นใครเข้ามาลักทรัพย์ไปโดยไม่ยืนยันว่าจำเลยหรือใครเป็นคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ แล้วในตอนท้ายจะบรรยายฟ้องว่า มีการพบทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลย หากจำเลยไม่ได้เป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องเป็นคนช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ ทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์อันเป็นความผิดฐาน รับของโจรทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แบบนี้จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้เต็มที่ แต่หากบรรยายฟ้องในตอนแรกยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์แล้วตอนท้ายมาบรรยายฟ้องยืนยันว่าจำเลยเป็นคนรับของโจรฟ้องจะขัดแย้งกันอยู่ในตัว จำเลยไม่สามารถเข้าใจข้อกล่าวหาและไม่สามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่ เป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามปวอ มาตรา ๑๕๘(๕) จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ ศาลอาจสั่ง ให้ไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ประทับฟ้อง(กรณีศาลใช้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องคดีของพนักงานอัยการตาม ปวอ มาตรา ๑๖๒(๒)) หรือพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๑
๓.การร่างฟ้องแบบนี้(ฟ้องฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร)เป็นการ “ฟ้องเพื่อให้ศาลเลือกลงโทษตามทางพิจารณาที่ได้ความ” ซึ่งหากทางพิจารณาได้ความไปในทางใด หรือศาลเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ทางปฏิบัติอัยการจะไม่อุทธรณ์ฏีกาเพราะเป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษฐานใดฐานหนึ่งตามที่ได้ความ เมื่อศาลลงโทษฐานใดฐานหนึ่งแล้ว พนักงานอัยการต้องพอใจในการตัดสินของศาล จะมาอุทธรณ์ฏีกาว่าศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งไม่เต็มตามคำขอหรือคำขอท้ายฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคแรก ไม่ได้
๔.ในการบรรยายฟ้องหากไปบรรยายฟ้องในตอนต้น “ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย” ที่เข้าไปลักทรัพย์แล้วในตอนท้ายมา” ยืนยันว่าพบของกลางที่จำเลยโดยจำเลยช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ ทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญา อันเป็นความผิดฐานรับของโจร” เท่ากับยืนยันในตอนแรกว่าจำเลยลักทรัพย์ผู้เสียหายไป แล้วมายืนยันในตอนท้ายอีกว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร หากเป็นดังนี้ถือฟ้องขัดกันในสาระสำคัญ จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีได้เต็มที่ เพราะเมื่อกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้วย่อมไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรอีก หรือหากกระทำความผิดฐานรับของโจรแล้วก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันในตัว ไม่อาจเป็นไปได้ที่จะมากระทำความผิดทั้งลักทรัพย์และรับของโจรในคราวเดียวกันในทรัพย์ชิ้นเดียวกันได้ ถือเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม บรรยายฟ้องเคลือบคลุม จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้เต็มที่ ศาลอาจสั่ง ให้ไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ประทับฟ้อง(กรณีศาลใช้อำนาจไต่สวนมูลฟ้องคดีของพนักงานอัยการตาม ปวอ มาตรา ๑๖๒(๒),๑๖๕) หรือพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม ปวอ มาตรา ๑๖๑
๕.ในทางปฏิบัติเมื่อมีการยื่นฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ เพียงแต่พบทรัพย์ที่ถูกลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลย หากจำเลยไม่เป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป จำเลยก็เป็นผู้กระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งเมื่อฟ้องมาดังนี้ในวันนัดสอบถามคำให้การจำเลย ศาลต้องสอบถามให้ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยรับสารภาพหรือปฏิเสธ หากรับสารภาพ รับสารภาพในข้อหาใด เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องสอบถามให้ได้ความแน่ชัด หากจำเลยบอกเพียง “ ขอรับสารภาพตามฟ้อง” หรือ “ ขอรับสารภาพ” เป็นหน้าที่ของศาลตาม ปวอ มาตรา ๑๗๒วรรคสอง ต้องสอบถามว่ารับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ หรือรับสารภาพในข้อหารับของโจร หากศาลไม่สอบถาม เป็นหน้าที่อัยการต้องสอบถาม หากจำเลยยังคงยืนกรานแบบเดิม หรือศาลไม่ได้สอบถามว่ารับสารภาพฐานใด พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบตาม ปวอ มาตรา ๑๗๔วรรคสอง เพื่อให้ได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใด ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษได้
๖.หากศาลไม่ถามและอัยการไม่นำพยานมานำสืบ ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งไม่ได้ ซึ่งในแนวคำพิพากษาเดิม เช่น คำพิพากษาฏีกา ๖๗๔๒/๒๕๔๔,๑๗๙๘/๒๕๕๐,๔๗๘๔/๒๕๕๐ ศาลสูงจะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ในแนวคำพิพากษาใหม่(คำพิพากษาฏีกาที่๗๗๓๕/๒๕๕๗)ได้กลับแนวคำพิพากษาเดิมๆโดย “ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี คือสอบถามให้ได้ความชัดว่า รับสารภาพฐานลักทรัพย์ หรือรับสารภาพฐานรับของโจร เมื่อได้ความชัดว่ารับสารภาพในความผิดฐานใด แล้วจึงพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
๗.หากในการสอบถามคำให้การจำเลยใหม่ จำเลยจะกลับคำให้การมาปฏิเสธ ไม่ขอรับสารภาพแล้ว ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าสามารถกระทำได้ เพราะจำเลยสามารถต้อสู้คดีได้เต็มที่ หากจำเลยไม่บอกว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธต้องถือว่าจำเลยปฏิเสธ จะถือว่า การนิ่ง เป็นการรับแบบกฎหมายแพ่งไม่ได้ หรือแม้จำเลยรับสารภาพในคดีที่ต้องมีการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ปวอ มาตรา ๑๗๖ หากโจทก์นำสืบไม่ได้ความว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น หรือจำเลยไม่ได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ ตาม ปวอ มาตรา ๑๘๕ แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
๘.แม้คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ไม่บอกรับสารภาพฐานใด และศาลไม่ได้สอบถามว่ารับสารภาพฐานใดและอัยการไม่ได้นำพยานมาสืบแล้วศาลช้นต้นไปพิพากษาลงโทษในความผิดฐานใดฐานหนึ่งเข้า เมื่อศาลอุทธรณ์ศาลฏีกาพบในแนวคำพิพากษาเดิม ศาลสูงจะพิพากษายกฟ้อง แม้โจทก์จะสามารถฟ้องจำเลยใหม่ได้ภายในกำหนดอายุความก็ตาม โดยไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำเพราะยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีแรกในเนื้อหาของการกระทำว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่อย่างไร ไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะไม่มีฟ้องอยู่ในศาลแล้วมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเพราะยังไม่ได้มีการดำเนินการสืบพยานในศาลเป็นเพียงศาลสอบถามคำให้การในคดีก่อนแล้วพิพากษาลงโทษโดยไม่ได้สอบถามให้ได้ความชัดว่ากระทำผิดฐานใด แม้จะนำมาฟ้องใหม่ก็เป็นเรื่องการเสียเวลา เป็นภาระหน้าที่เป็นการเพิ่มงานขึ้นมาโดยไม่จำเป็นเพราะเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลก็ปล่อยตัวจำเลยไป การที่จะได้ตัวจำเลยมาฟ้องจึงเป็นไปค่อนข้างจะยาก ต้องตามหาและตามจับตัวเพื่อนำมาฟ้อง และในขณะเดียวกัน เมื่ออัยการเจ้าของสำนวนไม่ได้แถลงขอนำพยานเข้าสืบถือเป็นความบกพร่องของพนักงานอัยการ ซึ่งอาจเกิดจากเพิ่งเป็นอัยการใหม่ๆไม่มีประสบการณ์ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเจตนาทุจริตต้องการช่วยเหลือจำเลยโดยรู้ว่ามีคำพิพากษาฏีกาแนวเดิมซึ่งหากไม่ถามให้แน่ชัดว่ารับสารภาพฐานใดแล้วศาลชั้นต้นลงโทษฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อศาลสูงพบก็จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างให้ยกฟ้องโจทก์ เมื่อรู้มีแนวคำพิพากษาดังกล่าวก็อาจมีเจตนาต้องการช่วยเหลือจำเลยโดยไม่แถลงขอสืบพยานเพื่อต้องการให้ศาลสูงยกฟ้อง ซึ่งความบกพร่องนี้อาจถูกว่ากล่าวตักเตือนหรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยได้
๙.หากอัยการแถลงขอสืบพยานแล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยเห็นว่าจำเลยรับสารภาพแล้วศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้ โดยเป็นความผิดที่มีอัตราโทษขั้นต่ำไม่ถึง ๕ ปี หรือเป็นโทษสถานหนักกว่านี้ที่จำเลยรับสารภาพแล้วไม่ต้องนำพยานเข้าสืบตาม ปวอ มาตรา ๑๗๖ หากเป็นดังนี้ พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลดังกล่าวซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตาม ปวอ มาตรา ๑๘๗,๑๙๖ เพื่อใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ฏีกาเพื่อขอนำพยานเข้าสืบ หากไม่มีการโต้แย้งคำสั่งถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕ ที่จะก่อให้เกิดสิทธิ์ในการอุทธรณ์ได้ หากอัยการไม่ทำดังนี้ทั้งที่รู้ว่าจำเลยให้การไม่แจ้งชัดว่ารับสารภาพฐานใดและเมื่อขอสืบพยานศาลไม่อนุญาต ก็นิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลย ไม่ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ฏีกาเพื่อขอนำพยานเข้าสืบ หากเป็นดังนี้ก็ถืออัยการบกพร่องต่อหน้าที่ ซึ่งบกพร่องต่อหน้าที่เพราะเป็นอัยการมือใหม่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานหรือเป็นเพราะมีเจตนาต้องการช่วยเหลือจำเลย .ซึ่งต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆไป เมื่ออัยการศาลสูงตรวจสำนวนของอัยการศาลชั้นต้นพบข้อบกพร่องดังกล่าวจะมีหนังสือให้อัยการศาลชั้นต้นชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่นำพยานเข้าสืบ หรือเมื่อศาลไม่อนุญาตนำพยานเข้าสืบทำไมไม่ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาล ตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ฯ ข้อ ๑๕๓ หากอัยการศาลสูงพบข้อบกพร่องของอัยการศาลชั้นต้นแล้วไม่รายงานถือเป็นความบกพร้องของอัยการศาลสูงที่ต้องถูกลงโทษทางวินัยตาม ระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๑๔๙วรรคท้าย ดังนั้น หากอัยการศาลชั้นต้นไม่มีเหตุผลหรือมีเหตุผลไม่เพียงพออาจถูกแนะนำการปฏิบัติราชการ หากเป็นข้อบกพร่องที่ถึงขนาดที่จะเกิดความเสียหายและไม่อาจแก้ไขได้ อัยการศาลสูงต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับเพื่อรายงานสนง. อัยการสูงสุดทราบและอาจโดนตั้งกรรมการสอบทางวินัยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือส่อเจตนาทุจริตหรือมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยได้ ตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๑๕๓วรรคท้าย