- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 288, 371
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 120, 121 วรรคสอง, 130
ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติเพียงว่า เฉพาะคดีความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนได้จะต้องมีคำร้องทุกข์เสียก่อน เมื่อคดีความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทุกฐานความผิด พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนโดยลำพังตนเองหากพบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีนี้ ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเหตุต่อพนักงานสอบสวน เท่ากับว่าได้มีการกล่าวโทษซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนทราบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจเริ่มต้นการสอบสวนได้ในทันทีด้วยการออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 130 บัญญัติไว้ ถือได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนในความผิดตามฟ้องโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 92, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นจำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นจำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 13 ปี 20 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์มิได้อ้างส่งรายงานประจำวันรับแจ้งเหตุซึ่งพนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นเนื่องจากนายพิษณุ ผู้เสียหาย โทรศัพท์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่การมิได้อ้างส่งเอกสารที่ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการทำบันทึกจากการร้องทุกข์ด้วยปากของผู้เสียหายตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 วรรคสาม บังคับไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเอกสารนั้นเสมอไป อีกทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติเพียงว่า เฉพาะคดีความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนได้จะต้องมีคำร้องทุกข์เสียก่อน เมื่อคดีความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทุกฐานความผิด พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนโดยลำพังตนเองหากพบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีนี้ ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเหตุต่อพนักงานสอบสวน เท่ากับว่าได้มีการกล่าวโทษซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนทราบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจเริ่มต้นการสอบสวนได้ในทันทีด้วยการออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้ ซึ่งตามคำเบิกความของพันตำรวจโทวิชัย พนักงานสอบสวน ยืนยันว่าได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน ถือได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนในความผิดตามฟ้องแล้วโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหรือไม่ และคนร้ายมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือไม่นั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยใช้วิธีคัดลอกอุทธรณ์ตั้งแต่หน้า 14 จนถึงหน้าสุดท้ายชนิดคำต่อคำมาใส่ไว้ในฎีกาตั้งแต่หน้า 18 จนถึงหน้าสุดท้าย โดยมีเนื้อหาซึ่งจำเลยใช้วิธีสรุปจากอุทธรณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้นอีกเล็กน้อย และแก้ไขเพิ่มเติมชื่อศาลที่โต้แย้งจากเดิมซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเป็นศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลที่ขอให้วินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นศาลฎีกาเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น ฎีกาของจำเลยจึงยังคงเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่เช่นเดิม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันนี้โดยละเอียดและมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่เพิ่มเติมมากขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้ว กล่าวคือ เรื่องที่ผู้เสียหายสังเกตเห็นจำเลยก่อนเกิดเหตุที่ร้านค้าซึ่งผู้เสียหายยืนยันว่าเปิดไฟสว่างไว้ ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของจำเลย (เอกสารลำดับที่ 62/6) หรือเรื่องที่ผู้เสียหายมีความสนิทสนมกับนายกิตติศักดิ์ บิดาของจำเลย ซึ่งในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ขับรถมาส่งนายกิตติศักดิ์ถึงที่บ้าน ย่อมไม่มีเหตุผลที่ต้องสร้างเรื่องขึ้นมากลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยโดยไม่มีมูลความจริง หรือเรื่องวิถีกระสุนปืนที่ถูกรถยนต์ผู้เสียหายมีความสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายเบิกความ หรือแม้แต่เรื่องที่ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเหตุให้นายกิตติศักดิ์ทราบว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แต่นายกิตติศักดิ์ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ หลังจากเกิดเหตุ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อสนับสนุนพยานหลักฐานโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 นำมาวินิจฉัยว่ามีน้ำหนักเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย แต่ฎีกาของจำเลยมิได้โต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เรื่องดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด หรือมีอุทธรณ์ข้อใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยซึ่งมิได้ยกเหตุผลขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เช่นนี้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่าฎีกาต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่เพิ่มเติมขึ้นจากนี้อีกเล็กน้อยเป็นรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้วได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกเช่นกันพิพากษายืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น