ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563

จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบจำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2563

การกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 และ 182จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินสดจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติของธนาคาร ก. และธนาคาร ท. รวม 7 ครั้ง ตามฟ้องจริง ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยจะใช้บัตรแต่ละใบใน 3 ใบ เบิกเงินแต่ละจำนวน ตามที่มีเงินอยู่ในบัญชีของบัตรแต่ละใบ โดยใช้ตู้เบิกถอนเงินต่างธนาคารและต่างเวลากัน ลักษณะการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2558

แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้บัตรเครดิตปลอมทั้ง 5 ใบ ในคราวเดียวกัน แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์บัตรเครดิตของกลางว่า บัตรเครดิตปลอมแต่ละใบมีข้อมูลในบัตรของผู้ถือบัตรต่างรายกัน ต่างหมายเลขกันและมีข้อมูลของสมาชิกผู้ถือบัตรต่างธนาคารกัน บัตรทุกใบมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสดได้ ทั้งโดยสภาพของการใช้บัตรดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาให้มีการนำไปใช้แต่ละใบแยกต่างหากจากกัน ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรตามเนื้อความของบัตรเครดิตปลอมแต่ละใบ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวม 5 กระทง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20134/2556

องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 มีว่า "ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ด้วย แต่ฟ้องโจทก์มิได้มีข้อความดังกล่าว และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดยตลอดก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11227/2555

องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คือ ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8833/2554

การที่จำเลยนำบัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนเงินสดและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะได้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย จำเลยใช้บัตรเอ ที เอ็ม ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาต่อเนื่องกันและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินของผู้เสียหาย หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจะเป็นความผิดสำเร็จก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2553

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 2 ปี และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำคุก 3 ปี แต่ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ศาลชั้นต้นปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ให้ถูกต้องเท่านั้น ส่วนโทษคงพิพากษาจำคุก 3 ปี เช่นเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 212


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15630/2553

จำเลยมิได้ร่วมกับคนร้ายในการลักบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการเพื่อโอนเงินคงเป็นเรื่องของคนร้ายซึ่งทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายมิใช่จำเลยเป็นผู้กระทำ ไม่พอฟังว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่จำเลยยอมให้คนร้ายโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้าบัญชีของจำเลยและยอมให้คนร้ายใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยเพื่อให้การลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จดังกล่าว ถือเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86


การลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้ง ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ ส. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายและธนาคาร ซ. ดังนั้น คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการนำเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งธนาคารออกให้แก่ผู้เสียหาย ที่จำเลยลักไปจากผู้เสียหาย ไปทำการถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายอยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายโจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์แทนผู้เสียหายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552

การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188


การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอัน เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัว เองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่าง กัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึง เป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำ บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2550

ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 17)ฯ กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและต้องระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550

โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจาก บัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

ไม่มีความคิดเห็น: