ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

จอดรถริมถนน

จอดรถริมถนนไม่ใช่ขับรถโดยประมาท     
การที่จำเลยจอดรถอยู่ริมถนนโดยที่ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถให้รถซึ่งขับมาทางด้านหลังสามารถมองเห็นได้ในระยะห่างเพียงพอที่จะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลโดยตรงจากการขับรถของจำเลย ๆ ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522
  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยขับ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนมิตรภาพจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถให้นายคำมูลซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังสามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่นายคำมูลจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ การที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3284/2552
 
          จำเลยจอดรถยนต์บรรทุกพ่วงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถช่องซ้ายโดยไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถหรือให้สัญญาณใดๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด เป็นเหตุให้ ค. ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังไม่สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ ค. จะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ ค. จึงขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวมีผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย การที่ ค. ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าว จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แต่มิใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
            จำเลยให้การปฏิเสธ
            ระหว่างพิจารณา นายรุ่งโรจน์ และนายนิกร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกต้อง อนุญาตให้นายรุ่งโรจน์ซึ่งได้รับอันตรายแก่กายเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และอนุญาตให้นายนิกรซึ่งได้รับอันตรายแก่กายสาหัสเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300)
            ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
            จำเลยอุทธรณ์
            ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
            โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า จำเลยมีส่วนร่วมกระทำโดยประมาทด้วยหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าฟังเชื่อได้ว่า รถยนต์บรรทุกพ่วงของจำเลยจอดล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถช่องซ้ายโดยไม่มีการให้สัญญาณใด ๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด จึงเป็นการประมาทในลักษณะการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลเช่นนั้น แต่จำเลยมิได้กระทำคือการไม่เปิดสัญญาณไฟกระพริบหรือให้สัญญาณอื่นใด จึงฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำโดยประมาทด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยจึงไม่ต้องเปิดสัญญาณไฟหรือใช้แสงสว่างตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะแสงสว่างในที่เกิดเหตุตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยมิได้นำสืบให้ชัดเจน มีแต่ตัวจำเลยคนเดียวเบิกความลอย ๆ ส่วนบรรดาหลอดไฟที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกมาวินิจฉัยก็ไม่มีการนำสืบให้เชื่อได้ว่าขณะเกิดเหตุได้เปิดอยู่ทุกดวงหรือไม่ และระยะทางของดวงไฟอยู่ห่างที่เกิดเหตุในลักษณะจะให้แสงสว่างได้ขนาดนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 คาดหมายเอาเท่านั้น อีกทั้งขัดแย้งกับความสมด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น
            เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยขับ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนมิตรภาพจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถให้นายคำมูลซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังสามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่นายคำมูลจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ การที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157.

( สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช - วรพจน์ วิไลชนม์ )
ศาลจังหวัดสระบุรี - นายสิงห์ชัย สุพรรณพงษ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสุรพันธุ์ ละอองมณี
ป.อ. มาตรา 291, 300, 390
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43(4), 61, 157

ไม่มีความคิดเห็น: