ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

“ พยาน ,ผู้เขียน พินัยกรรม”

๑. พยานในพินัยกรรมซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้น ไม่ได้ตามความหมายใน ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ วรรคหนึ่ง หมายถึงพยานที่ต้องลงลายมือชื่อในแบบพินัยกรรมที่ทำขึ้น การที่จำเลยเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั่งอยู่ด้วยในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม หาเป็นพยานตามความหายในบทบัญญัติดังกล่าวไม่ พินัยกรรมจึงไม่ตกเป็นโมฆะ คำพิพากษาฏีกา ๕๔๐๔/๒๕๓๓
๒. จำเลยลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์หัวแม่มือของผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ถือไม่ได้ว่าลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรม ไม่มีผลให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินให้จำเลยตกเป็นโมฆะ จำเลยมีสิทธิ์รับมรดกตามพินัยกรรม คำพิพากษาฏีกา ๔๐/๒๕๓๙
๓. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมเซ็นชื่อในพินัยกรรมในฐานะเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม ไม่ใช่ในฐานะพยาน แม้ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจะได้รู้เห็นว่าทำพินัยกรรมก็ตาม ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไป คำพิพากษาฏีกา ๕๒/๒๕๐๓
๔. ลายมือชื่อผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อ ว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า “ ผู้พิมพ์” ส่วนลายมือชื่อของ ว. มีข้อความต่อท้ายว่า “ ผู้พิมพ์” และ ว. เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม ทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียว จึงมีข้อสงสัยว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตีความในทางที่เป็นคุณกับผู้ร้องซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียหายในการนี้ ตาม ปพพ มาตรา ๑๑ จึงฟังว่า ผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์ด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ต้องด้วย ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ วรรคแรก อันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตาม มาตรา ๑๗๐๕ เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะแต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ใน ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ ทุกประการ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่า พินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับก็คงตั้งใจให้สมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา กรณีเข้าตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖เดิม (ปัจจุบันน่าจะคือ ปพพ มาตรา ๑๗๔) พินัยกรรมจึงสมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ทั้งได้ความว่าการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการ ผุ้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ปพพ มาตรา ๑๗๑๘ สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม คำพิพากษาฏีกา๓๐๐๑/๒๕๓๘
๕. พินัยกรรมที่ผู้ร้องและผู้ตายทำร่วมกันในฉบับเดียวกัน สาระสำคัญของข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ ก เป็นกรณีที่ผู้ร้องกับผู้ตายแสดงเจตนาไว้ว่า หากผู้ร้องหรือผู้ตายคนใดคนหนึ่งตายก่อนให้ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนเป็นสินส่วนตัวของผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เพียงผู้เดียว และให้เป็นผู้มีสิทธิ์และหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาจัดจำหน่ายหรือแบ่งปันหรือยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามแต่เจ้าของพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่จะเห็นสมควรภายใต้ภายใต้ข้อกำหนดซึ่งระบุไว้ในข้อ ข. แสดงว่าผู้ร้องและผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้อีกฝ่าย หากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้ แก่บุคคลตามระบุไว้ในข้อ ข.โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ ถือได้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ปพพ มาตรา ๑๗๐๗ ข้อกำหนดในส่วนทีผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง ยังคงสมบรูณ์ใช้บังคับได้ ไม่ใช่กรณีกำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่กำหนดทรัพย์สินให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่กำหนดทรัพย์สินให้แก่ทายาทมากน้อยตามแต่ใจ ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๖(๓) แต่อย่างใด การที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์สินให้แก่กันและกัน เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้นและผู้รับพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันพร้อมกัน ซึ่งพยานได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเข้าพินัยกรรม ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใด และไม่ใช่การพนันขันต่อ เพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่างๆอันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย ก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๖๔๖ การที่บุคคลจะเป็นผู้เขียนหรือพยานในในพินัยกรรมนั้น ปพพ มาตรา ๑๖๗๑บัญญัติว่า บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตน ทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียนหรือพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรม ไม่มีข้อความว่าเป็นพยาน จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยไม่ได้ พินัยกรรมจึงไม่เป็นโมฆะด้วยเหตุที่ผู้ร้องจะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๖๖/๒๕๓๗
๖. ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้มีข้อความและลักษณะครบถ้วนตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖และ ๑๖๗๑ ทุกประการ แต่ ป. ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เขียนและพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เท่านั้น เพราะฝ่าฝืน ปพพ มาตรา ๑๖๕๓และ๑๗๐๕ ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนอื่นยังสมบรูณ์อยู่ ดังนั้น แม้ผู้ตายจะได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๓ ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทุกคน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ด พินัยกรรมฉบับก่อนย่อมเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง คำพิพากษาฏีกา ๑๒๑/๒๕๒๗
๗. การที่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงนามเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนั้น มีผลทำให้ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ แต่สภาพแห่งการลงนามและเป็นพยานในพินัยกรรมนั้น และพินัยกรรมยังคงสมบรูณ์อยู่สำหรับผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ไม่ได้ลงนามเป็นพยานด้วย ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงนามเป็นผู้รับมอบทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ ไม่ถือลงนามเป็นพยานในพินัยกรรม คำพิพากษาฏีกา ๓๓๖/๒๕๐๖
ข้อสังเกต ๑.ผู้เขียนหรือพยานจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ รวมทั้งคู่สมรสของผู้เขียนหรือคู่สมรสของพยานจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เช่นกัน ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ ฝ่าฝืนผลโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๕,๑๕๒
๒. ผู้เขียนข้อความในพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อของตนพร้อมระบุว่า เป็น “ ผู้เขียน” หากบุคคลนั้นเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็น “ พยาน “ ไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานอื่นๆ ปพพ มาตรา ๑๖๗๑ เจ้าพนักงานที่จดข้อความที่พยานนำมาแจ้งด้วยวาจากรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่น เพราะอยู่ในภยันตรายใกล้ตาย มีสงครามหรือโรคระบาด โดยผู้แจ้งประสงค์ทำพินัยกรรมต่อพยานสองคนที่อยู่พร้อมกัน ณ. ที่นั้น “ ให้ถือว่า “ เป็น “ ผู้เขียน” พินัยกรรมด้วย ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ วรรคท้าย,๑๖๖๓
๓.ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า เจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ ปพพ มาตรา ๑๗๓
๔.การใดที่เป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะนิติติกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรมที่ไม่เป็นโมฆะ ถ้าพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่า การนั้นเป็นโมฆะแล้วก็คงตั้งใจมาแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นโมฆะ ปพพ มาตรา ๑๗๔
๕. แม้มีการตั้งบุคคลเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแล้ว ก็ยังต้องมาขอศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกอีกอย่างนั้นหรือ? ในทางปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สนง.ที่ดิน ธนาคารบางแห่ง บางสาขา ไม่อยากรับผิด ไม่อยากถูกฟ้อง เพราะ อาจมีการกล่าวอ้างว่า เป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้นสู้ให้ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แล้วนำคำสั่งศาลมาแสดงปลอดภัยกว่ากัน กลายเป็นว่าการทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกเป็นหมั้น ไม่สามารถบังคับได้ เป็นการไม่เคารพในเจตนาของผู้ทำพินัยกรรม เพียงเพราะความกลัวหรือความเห็นแก่ตัวของบางหน่วยงานที่จะเอาตัวเองปลอดภัยไว้ก่อนโดยถือทำตามคำสั่งศาลที่ตั้งผู้จัดการมรดกดูจะปลอดภัยว่าที่จะดำเนินการตามพินัยกรรมที่ตั้งผู้จัดการมรดก
๖. นั่งอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรม รู้เห็นการทำพินัยกรรม แม้ตามภาษาชาวบ้านบอกว่าเป็นพยานที่รับรู้เรื่องการทำพินัยกรรมแล้วก็ตาม แต่ตามกฎหมายแล้ว พยานตามความหมายใน ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ วรรคหนึ่ง หมายถึงพยานที่ต้องลงลายมือชื่อในแบบพินัยกรรมที่ทำขึ้น ดังนั้นการที่จำเลยเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั่งอยู่ด้วยในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม เมื่อไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมและไม่ได้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็น “ พยาน” ไว้ต่อท้ายลายมือชื่อ ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๗๑ จึงไม่ใช่พยานตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าวไม่ แม้จะอยู่รู้เห็นในขณะทำพินัยกรรม เมื่อไม่ใช่พยาน พินัยกรรมจึงไม่ตกเป็นโมฆะ ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๓,๑๗๐๕,๑๕๒ 
๗. การลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์หัวแม่มือของผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เป็นการลงลายมือชื่อเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อให้มีผลเสมือนหนึ่งว่าเป็นการลงลายมือชื่อตาม ปพพ มาตรา ๙ วรรคสอง แต่ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองว่ามีการทำพินัยกรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ คือเป็นการลงลายมือในฐานะพยานรับรองว่ามีการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือจริงเพื่อให้การพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือเสมือนหนึ่งลายมือชื่อ แต่ไม่ได้ลงชื่อในฐานะพยานในพินัยกรรมว่ามีการทำพินัยกรรม การลงลายมือชื่อดังกล่าว ไม่มีผลให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมเสียไป ผู้ที่ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมจึงมีสิทธิ์รับทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ 
๘.เซ็นชื่อในพินัยกรรมในฐานะเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม เมื่อไม่ได้เซ็นชื่อในฐานะพยานและมีข้อความต่อท้ายลายมือชื่อว่าเป็น “พยาน” แล้ว แม้ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจะได้รู้เห็นการทำพินัยกรรมก็ตาม ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไป 
๙.ลายมือชื่อผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อ ว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า “ ผู้พิมพ์” จึงไม่ใช่เป็นการเขียนหรือเป็นผู้พิมพ์ตามความหมายใน ปพพ มาตรา ๑๖๗๑ เพราะตามความหมายในมาตราดังกล่าว “ ผู้เขียน” หรือ “ ผู้พิมพ์ซึ่งก็คือ ผู้เขียน นั้นเอง “ ต้องมีข้อความระบุว่า ตนเป็น “ ผู้เขียน” หรือ “ ผู้พิมพ์”ต่อท้ายลายมือชื่อด้วย เมื่อไม่มีข้อความต่อท้ายลายมือชื่อว่าเป็น “ ผู้เขียน” หรือ “ ผู้พิมพ์” ก็จะเรียกว่าเป็น “ ผู้เขียน” หรือ “ ผู้พิมพ์” ไม่ได้
๑๐. ส่วนลายมือชื่อของ ว. มีข้อความต่อท้ายว่า “ ผู้พิมพ์” แสดงว่า ว. เป็น “ ผู้เขียน” หรือ “ ผู้พิมพ์พินัยกรรมนั้น และ ว. เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม จึงน่าเชื่อว่า ว. เป็นผู้เขียน หรือ “ ผู้พิมพ์” โดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียว มากกว่าที่จะต้องใช้หลายคนพิมพ์
๑๑.เมื่อมีข้อสงสัยว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ จึงต้องตีความในทางที่เป็นคุณกับผู้ร้องซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียหายในการนี้ ตาม ปพพ มาตรา ๑๑ นั้น คือ เมื่อมีข้อสงสัย ให้ตีความในทางเป็นคุณแก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายในมูลหนี้ จึงฟังว่า ผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์ด้วยหาได้ไม่ เมื่อฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องเป็น “ ผู้พิมพ์”กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๓ วรรคแรก อันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตาม มาตรา ๑๗๐๕ 
๑๒..เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะแต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ใน ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ ทุกประการ เป็นกรณีที่การใดเป็น “ โมฆะ” แต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นโมฆะ หากพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่า พินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับก็คงตั้งใจให้สมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา กรณีเข้าตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖เดิม (ปัจจุบันน่าจะคือ ปพพ มาตรา ๑๗๔) พินัยกรรมจึงสมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ 
๑๓..เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ทั้งได้ความว่าการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ปพพ มาตรา ๑๗๑๘ สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม 
๑๔.. พินัยกรรมที่ผู้ร้องและผู้ตายทำร่วมกันในฉบับเดียวกัน สาระสำคัญของข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ ก เป็นกรณีที่ผู้ร้องกับผู้ตายแสดงเจตนาไว้ว่า “ หากผู้ร้องหรือผู้ตายคนใดคนหนึ่งตายก่อนให้ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนเป็นสินส่วนตัวของผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เพียงผู้เดียว.” ..ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวที่ให้ทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นสินส่วนตัวก็คือการยกทรัพย์ตามพินัยกรรมให้นั้นเอง ในความเห็นส่วนตัวแม้ไม่ระบุให้เป็นสินส่วนตัวก็ตาม เมื่อได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมมาทรัพย์ดังกล่าวย่อมตกเป็นสิทธิ์ของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่แล้ว ในกรณีแบบนี้ไม่น่าที่จะต้องนำเรื่องสินส่วนตัวมาพิจารณา เพราะเมื่อคู่สมรสถึงแก่ความตาย การสมรสสิ้นสุดลงตาม ปพพ มาตรา ๑๕๐๑ ในการจัดการทรัพย์สินจึงไม่มีกรณีที่ต้องพิจารณาว่าเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว 
๑๕. ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุ “ ให้เป็นผู้มีสิทธิ์และหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาจัดจำหน่ายหรือแบ่งปันหรือยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามแต่เจ้าของพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่จะเห็นสมควรภายใต้ข้อกำหนดซึ่งระบุไว้ในข้อ ข.” คือยกทรัพย์ให้แก่บุคคลตามที่ระบุในข้อ ข. แสดงว่าผู้ร้องและผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้อีกฝ่าย หากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้ แก่บุคคลตามระบุไว้ในข้อ ข.โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ ถือได้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เพราะข้อกำหนดในพินัยกรรมตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๗ “ถือว่า “ เงื่อนไขนั้นไม่มี นั้นก็คือ ถือว่า ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่มีหน้าที่ต้องจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้ แก่บุคคลตามระบุไว้ในข้อ ข แต่อย่างใด
๑๖.ข้อกำหนดในส่วนทีผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง ยังคงสมบรูณ์ใช้บังคับได้ ไม่ใช่กรณีกำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่กำหนดทรัพย์สินให้แก่ทายาทมากน้อยตามแต่ใจ จึงไม่ใช่กรณีที่พินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดเจนจนไม่อาจทราบทรัพย์ที่ยกให้ตามพินัยกรรมได้แน่นอน ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๖(๓) แต่อย่างใด
๑๗. การที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์สินให้แก่กันและกัน เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้นและผู้รับพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันพร้อมกัน ซึ่งพยานได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเข้าพินัยกรรม ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใด ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเอาไว้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ 
๑๘.และข้อกำหนดตามพินัยกรรมดังกล่าวก็ไม่ใช่การพนันขันต่อ เพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่างๆอันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย ก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๖๔๖ การที่บุคคลจะเป็นผู้เขียนหรือพยานในในพินัยกรรมนั้น ปพพ มาตรา ๑๖๗๑บัญญัติว่า บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตน ทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียนหรือพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรม ไม่มีข้อความว่าเป็นพยาน จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยไม่ได้ พินัยกรรมจึงไม่เป็นโมฆะด้วยเหตุที่ผู้ร้องจะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ 
๑๙.ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้มีข้อความและลักษณะครบถ้วนตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖และ ๑๖๗๑ ทุกประการ แต่ ป. ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เขียนและพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เท่านั้น เพราะฝ่าฝืน ปพพ มาตรา ๑๖๕๓และ๑๗๐๕ ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนอื่นยังสมบรูณ์อยู่ เป็นกรณีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อสันนิษฐานพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาให้ส่วนที่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๗๓ ดังนั้น แม้ผู้ตายจะได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๓ก็ตาม แต่ ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทุกคน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ดจึงเป็นกรณีเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกด้วยนิติกรรมฉบับหลัง พินัยกรรมฉบับก่อนย่อมเป็นอันถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๙๔ โดยการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกด้วยพินัยกรรมฉบับหลังนั้น พินัยกรรมฉบับหลังต้องทำถูกต้องตามแบบการทำพินัยกรรมตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ 
๒๐.การที่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ลงนามเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนั้น มีผลทำให้ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ แต่สภาพแห่งการลงนามและเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นยังคงอยู่ พินัยกรรมยังคงสมบรูณ์อยู่สำหรับผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ไม่ได้ลงนามเป็นพยานด้วย ส่วนผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ลงนามเป็น “ พยาน” ไม่สามารถรับมอบทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ 
๒๑.ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม มีผลทำให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับทรัพย์ในพินัยกรรม แต่พินัยกรรมไมได้เสียไป โดยถือว่าพินัยกรรมที่พยานหรือผู้เขียนพินัยกรรมระบุยกทรัพย์ให้ตนตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๓,๑๗๐๕,๑๕๒ ก็ตาม เป็นกรณีที่พินัยกรรมแบบมีพยานตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ ตกเป็นโมฆะแต่ไปเข้านิติกรรมแบบอื่นคือไปเข้าพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ เมื่อพินัยกรรมซึ่งเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งตกเป็นโมฆะแต่ไปเข้านิติกรรมอีกแบบหนึ่งคือไปเข้าพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ นั้น ปพพ มาตรา ๑๗๔ “ ให้ถือตาม “ นิติกรรมที่ไม่เป็นโมฆะ คือให้ถือตามพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับที่ไม่ได้ตกเป็นโมฆะไปด้วย หากผู้ทำพินัยกรรมได้รู้ว่าการทำพินัยกรรมแบบมีพยานตกเป็นโมฆะเพราะให้พยานเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ก็คงจะตั้งใจแต่แรกที่จะทำพินัยกรรมที่ไม่เป็นโมฆะคือพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ แม้ผู้ที่ระบุเป็นผู้รับทรัพย์ในพินัยกรรมไม่ได้เพราะเป็นพยานในพินัยกรรมก็ตาม แต่เมื่อเข้าแบบพินัยกรรมแบบอื่น พินัยกรรมไม่เสียไป เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ
๒๒. ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า พยานที่ถูกระบุให้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม แม้ไม่สามารถได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมก็ตาม แต่ก็ยังเป็นพยานได้ว่ามีการทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมาจริง เป็นความเห็นส่วนตัวครับ

ไม่มีความคิดเห็น: