ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

“ตายแล้วยังยุ่ง”

๑. ผู้ตายเขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับและลงลายมือชื่อของผู้ตายไว้แล้ว ส่วนที่ จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานไม่พร้อมกับพยานอีกคนหนึ่งในพินัยกรรมหาทำให้พินัยกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนด้วยมือตัวเองซึ่งข้อความทั้งหมด วันเดือนปี และลายมือชื่อของตน หาได้บังคับให้ต้องมีพยาน ๒ คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันไม่ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๐๐/๒๕๕๒
๒. พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ แต่ไม่ระบุวันเดือนปีที่ทำอันเป็นพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ใน ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๕ ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม เมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๑๓ แม้เอกสารฉบับพิพาทพร้อมคำแปลมีข้อความว่า ป เจ้ามรดกเป็นผู้ทำ และเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับโดยผู้ทำลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของตนเองในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังตาม ปวพ มาตรา ๙๓ จึงไม่อาจฟังว่า ป เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้จริง เมื่อเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการับบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณะรัฐเยอรมันระหว่างเจ้ามรดกกับผู้คัดค้าน เป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรม เพราะเจ้ามรดกไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณะรัฐเยอรมัน ดังนั้น เมื่อการรับบุตรบุญธรรมไม่สมบรูณ์และไม่มีผลตามกฎหมาย เมื่อเจ้ามรดกไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาท เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ป. จึงไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้จัดตั้งผู้จัดการมรดกได้ คำพิพากษาฏีกา ๘๒๒๒/๒๕๔๐
๓. เอกสารนี้ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวันเดือนปีและลายมือชื่อผู้ตายเป็นพินัยกรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคแรก การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มลงไปว่า “ และสมุดเงินฝากในธนาคารต่างๆด้วย “ แม้ไม่ชอบตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคสอง เพราะผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ก็มีผลเพียงว่า ไม่มีเพิ่มข้อความที่ว่า “และสมุดเงินฝากในธนาคารต่างๆด้วย “ เท่านั้น ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมยังมีผลสมบรูณ์ หาทำให้พินัยกรรมที่สมบรูณ์แล้วตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ปรากฏผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติของวัดผู้คัดค้าน เพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ปพพ มาตรา ๑๖๒๓ ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอันจะยื่นคำร้องคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้ คำพิพากษาฏีกาที่ ๖๔๓๓/๒๕๔๖
๔. ผู้ตายเขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกฎหมายที่ดิน แสดงเจตนาเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้โดยแสดงเจตนายกทรัพย์สินของตน ได้แก่ โรงเรียน วัด มูลนิธิ และบุคคลต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ เมื่อตนได้ถึงแก่กรรมไป โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการให้เป็นไปตามเจตนาของตน เอกสารนี้จึงเป็นพินัยกรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๔๖ แม้แบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจจะมีข้อความบางตอนพิมพ์อยู่แล้ว ถ้าตัดข้อความตามแบบพิมพ์นี้ออกไป คงเหลือแต่เฉพาะใจความที่ผู้ตายเขียนด้วยมือตนเองก็มีสาระสำคัญครบถ้วน เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับชอบด้วย ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ หาเป็นโมฆะไม่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๘๔๓/๒๕๒๔
ข้อสังเกต ๑.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือชื่อตัวเองทั้งหมด วันเดือนปี และลงลายมือชื่อตนเอง การขูดลบตกเติม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมย่อมไม่สมบรูณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้ ปพพ มาตรา ๑๖๕๗
๒.กิจการใดที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลนั้นไม่จำต้องเขียนเอง แต่ต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น ปพพ มาตรา ๙ แม้การทำพินัยกรรมจะถูกกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือก็ตาม หากเป็นการทำพินัยกรรมแบบ “ เขียนเอง “ ทั้งฉบับแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมต้อง “ เขียนเอง” จะให้บุคคลอื่นเขียนแทนแล้วตนลงลายมือชื่อตาม ปพพ มาตรา ๙ ไม่ได้ต้องห้ามตาม ปพพ มาตรา๑๕๖๗ วรรคท้าย
๓.ปกติ ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ โดยมีพยานรับรอง ๒ คน แล้ว “ ถือเสมือนหนึ่ง” ว่า เป็นการลงลายมือชื่อ ปพพ มาตรา ๙ วรรคสอง แต่หากเป็นการทำพินัยกรรมแบบ “ เขียนเองทั้งฉบับ” แล้ว จะมาลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ โดยมีพยานรับรอง ๒ คน แล้ว “ ให้ถือเสมือนหนึ่ง” ว่า เป็นการลงลายมือชื่อ ปพพ มาตรา ๙ วรรคสอง หาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติในเรื่องการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคท้ายห้ามไว้ เพราะเมื่อเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ความหมายก็บอกว่าเขียนเองทั้งฉบับ แล้วจะมาลง ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อได้อย่างไรเพราะการลง ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารที่จะใช้แทนการลงลายมือชื่อนั้นมักเกิดกับคนที่เขียนหนังสือไม่ได้ จึงต้องลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อเพราะเขียนหนังสือไม่ได้ หากเขียนหนังสือไม่ได้แล้วจะมาเขียนพินัยกรรมแบบ “ เขียนเองทั้งฉบับ” ได้อย่างไรย่อมขัดแย้งกันอยู่ในตัว กฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามไว้
๔.พินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กฏหมายกำหนดไว้ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๕,๑๕๒
๕.ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่สามารถรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เว้นแต่
๕.๑ คู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่า สำเนาเอกสารถูกต้อง
๕.๒ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมายื่นได้โดยประการอื่น อันไม่ใช่พฤติการณ์ที่ผู้อ้างเอกสารต้องรับผิด หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ต้องนำสืบสำเนาเอกสาร หรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไมได้ ศาลอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมานำสืบได้
๕.๓ต้นฉบับอยู่ในอารักขาหรือความควบคุมของทางราชการ จะนำมาแสดงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการ
๕.๔ สำเนาเอกสารราชการที่เจ้าหน้าที่รับรอง ถือเป็นอันเพียงพอที่จะนำมาแสดงเว้นศาลได้กำหนดเป็นอย่างอื่น
๕.๕คู่ความที่ถูกอีกฝ่ายอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานไม่ได้คัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบว่า ไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับปลอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือสำเนาไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ
๖.ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้.หากปรากฏว่า
๖.๑เจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหาย หรืออยู่นอกประเทศไทย หรือเป็นผู้เยาว์
๖.๒ผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ ไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก
๖.๓เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ตั้งผู้จัดการมรดกไม่มีผลบังคับ
๗.ทรัพย์สินพระภิกษุที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณะเพศ เมื่อพระภิกษุมรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ปพพ มาตรา ๑๖๒๓
๘.ส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์ว่า คู่กรณีเจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ ปพพ มาตรา ๑๗๓
๙.การใดที่เป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ “ ให้ถือตาม “ นิติกรรมที่ไม่เป็นโมฆะ “ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์ว่า หากคู่กรณีรู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้วก็คงจะได้ตั้งใจมาแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอื่นที่ไม่เป็นโมฆะ ปพพ มาตรา ๑๗๔
.๙..พินัยกรรมแบบ “เขียนเองทั้งฉบับ” และลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว แม้พยานทั้งสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยานไม่พร้อมกันกับพยานอีกคนหนึ่งในพินัยกรรมหาทำให้พินัยกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนด้วยมือตัวเองซึ่งข้อความทั้งหมด วันเดือนปี และลายมือชื่อของตน หาได้บังคับให้ต้องมีพยาน ๒ คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันไม่ นั้นก็คือพินัยกรรม “ แบบเขียนเองทั้งฉบับ” กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีพยานรู้เห็นอย่างน้อยสองคนและพยานต้องลงลายมือชื่อพร้อมกันต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรมแต่อย่างใดไม่ เพราะไม่ใช่การทำ “พินัยกรรมแบบธรรมดา”ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๖ ที่กฎหมายบังคับว่าการทำพินัยกรรมแบบนี้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงชื่อของตนต่อหน้าพยานสองคน และพยานทั้งสองคนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้นั้นพินัยกรรมไว้ “ ในขณะนั้น” เมื่อไม่ใช่ทำ “พินัยกรรมแบบธรรมดา” จึงไม่ต้องมีพยานรู้เห็นสองคน แม้ไม่มีพยานรู้เห็นสองคนก็ไม่ทำให้พินัยกรรม ““ แบบเขียนเองทั้งฉบับ” เสียไป หรือแม้มีพยานเพียงคนเดียว หรือมีพยานหลายคน แต่พยานลงลายมือชื่อไม่พร้อมกัน ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไป 
๑๐. ทางปฏิบัติการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ โดยไม่มีพยาน หรือมีพยานแต่พยานลงลายมือชื่อไม่พร้อมกันมักมีปัญหา เพราะทายาทที่ไม่ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมมักอ้างว่าเป็นพินัยกรรม ปลอม ถูกบังคับให้ทำ หรือขณะทำไม่มีสติสัมปัญชัญญะ จึงต้องมาสู้คดีกันในชั้นศาล ทางที่ดีควรทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ตาม ปพพ มาตรา๑๖๕๘หรือแบบเอกสารลับตาม ปพพ มาตรา๑๖๖๐ โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ(นายอำเภอ) ซึ่งเป็นกลาง ไม่เข้ากับใดฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้จดถ้อยคำในพินัยกรรมนั้น
๑๑.พินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ กฎหมายบังคับว่าต้องลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ทั้งต้องลงวันเดือนปีที่ทำ เพื่อให้รู้ว่าขณะทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และ ณ. ขณะทำนั้นมีสติสมบรูณ์ ยังมีสัมปัญชัญญะรู้ผิดชอบชั่วดีหรือไม่? ทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมมีการจำหน่ายไปก่อนหรือหลังจากทำพินัยกรรมแล้วหรือไม่อย่างไร?
๑๒.พินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ เมื่อไม่ระบุวันเดือนปีที่ทำอันเป็นพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ใน ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๗๐๕ ,๑๕๒ เสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำพินัยกรรม ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๙๙ เสมือนหนึ่งว่าที่ไม่เคยมีการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด
๑๓. เมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๑๓ แม้เอกสารฉบับพิพาทพร้อมคำแปลมีข้อความว่า “ ป เจ้ามรดกเป็นผู้ทำ และเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ” โดยผู้ทำลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของตนเองในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียง “สำเนา” เท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังตาม ปวพ มาตรา ๙๓ เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อสังเกตที่ ๕.๑ ถึง ๕.๕ จึงไม่อาจฟังว่า ป เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้จริง
๑๔, เมื่อเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการรับบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณะรัฐเยอรมันระหว่างเจ้ามรดกกับผู้คัดค้าน เป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรม เพราะเจ้ามรดกไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณะรัฐเยอรมัน ระบบกฎหมายของไทยยังไม่ยอมรับในระบบกฎหมายของชาติอื่น ทั้งเงื่อนไขของกฎหมายแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน แม้ทำถูกต้องตามบทกฎหมายชาติอื่น แต่หากยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฏหมายไทยก็จะยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายไทย ดังนั้น เมื่อการรับบุตรบุญธรรมไม่สมบรูณ์และไม่มีผลตามกฎหมาย เมื่อเจ้ามรดกไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาท เมื่อไม่ใช่ทายาทจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ป. จึงไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้จัดตั้งผู้จัดการมรดกได้ 
๑๕.แม้ในพินัยกรรมมีข้อความว่า “เอกสารนี้ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ” มีการลงวันเดือนปีและลายมือชื่อผู้ตายเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคแรก การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มลงไปว่า “ และสมุดเงินฝากในธนาคารต่างๆด้วย “ เป็นการตกเติม เปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใดในพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ข้างข้อความที่มีการตกเติม เปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใดในพินัยกรรม เมื่อไม่กระทำดังกล่าวพินัยกรรมย่อมไม่สมบรูณ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ วรรคสอง (ในความเห็นของผู้เขียนน่าจะหมายถึงข้อความที่ตกเติมไม่สมบรูณ์โดยตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๒,๑๖๕๗วรรคสอง เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ) แม้ไม่ชอบตามกฏหมาย เพราะผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ก็มีผลเพียงว่า ไม่มีเพิ่มข้อความที่ว่า “และสมุดเงินฝากในธนาคารต่างๆด้วย “ เท่านั้น เป็นกรณี ส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ แต่พึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์ว่า เจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๓ ดังนั้น พินัยกรรมจึงไม่เสียไปทั้งฉบับ มีผลเพียงว่าข้อความที่ตกเติมใหม่นั้นไม่มีผลบังคับ ดังนั้นเงินฝากในธนาคารต่างๆย่อมตกเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๕๙๙ โดยถือว่าเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นอันไร้ผล ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๙๙ ทรัพย์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ไร้ผลจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมที่จะไปแบ่งกัน
๑๖. ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมยังมีผลสมบรูณ์ หาทำให้พินัยกรรมที่สมบรูณ์แล้วตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ปรากฏผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติของวัดผู้คัดค้านซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายได้ทรัพย์สินมาในขณะที่อยู่ในสมณเพศ เพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ปพพ มาตรา ๑๖๒๓ จึงไม่มีตัวทรัพย์ตามพินัยกรรมที่จะตกแก่วัด(ผู้คัดด้าน) ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอันจะยื่นคำร้องคัดค้านการขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้ 
๑๗.กฏหมายไม่ได้บัญญัติในเรื่องรูปแบบฟรอม์ หรือ แบบพิมพ์ในการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับว่าต้องเป็นกระดาษแบบใด มีข้อความอื่นนอกเหนือจากการทำพินัยกรรมไม่ได้ แต่อย่างใด เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติในเรื่องแบบฟรอมของการทำพินัยกรรมว่าต้องเป็นอย่างไร การที่ผู้ตายเขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกฎหมายที่ดิน แสดงเจตนาเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้โดยแสดงเจตนายกทรัพย์สินของตน ได้แก่ โรงเรียน วัด มูลนิธิ และบุคคลต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ เมื่อตนได้ถึงแก่กรรมไป โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการให้เป็นไปตามเจตนาของตน เอกสารนี้จึงเป็นการแสดงเจตนาในการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๔๖ แม้แบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจจะมีข้อความบางตอนพิมพ์อยู่แล้ว ถ้าตัดข้อความตามแบบพิมพ์นี้ออกไป คงเหลือแต่เฉพาะใจความที่ผู้ตายเขียนด้วยมือตนเองก็มีสาระสำคัญครบถ้วน เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับชอบด้วย ปพพ มาตรา ๑๖๕๗ หาเป็นโมฆะไม่

ไม่มีความคิดเห็น: