ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“ยึดอายัดไม่ได้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”

๑.ตายในระหว่างรับราชการ ทางราชการจ่ายช่วยเงินช่วยพิเศษให้ ๓ เท่าของอัตราเงินเดือน เงินช่วยพิเศษนี้ไม่ใช่เงินเดือนของข้าราชการและไม่ใช่เงินมรดกของผู้ตาย จึงไม่อยู่ในความรับผิดในหนี้สินของข้าราชการผู้ตาย คำพิพากษาฏีกา ๑๙๓๕/๒๕๑๕
๒.สัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งพิพากษาให้แบ่งเบี้ยหวัดของพลทหารประจำการแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ศาลบังคับยึดเงินนั้นไม่ได้ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒) คำพิพากษาฏีกา ๒๔๐๔/๒๕๑๘
๓.เช่าที่ดินปลูกสร้างอู่ซ่อมรถ มีข้อสัญญาว่า ผู้เช่าจะรักษาที่เช่าทุกส่วนให้เรียบร้อยจนกว่าผู้เช่าจะออกจากที่เช่าหรือหมดอายุสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าเลิกกันเพราะผิดสัญญา ผู้เช่าจะรื้อถอนอู่ซ่อมรถที่สร้างไม่ได้ ต้องตกเป็นของผู้ให้เช่าโดยไม่เรียกร้องค่าอะไรจากผู้ให้เช่า สัญญาเช่านี้เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของผู้เช่าและบริวารเท่านั้นที่มีสิทธิ์ จะให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือให้ผู้อื่นเข้าอยู่แทนไม่ได้ เมื่ออู่ซ่อมรถนี้ถูกเจ้าหนี้ของผู้เช่ายึดทรัพย์บังคับตามคำพิพากษา ก็เป็นอันว่าผู้เช่าต้องออกจากทรัพย์ที่เช่านี้โดยปริยายตามอำนาจของการยึด อู่ซ่อมรถจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าคือเจ้าของที่ดินตามสัญญา คดีตกในบังคับ ปวพ มาตรา ๒๘๕(๒)(ปัจจุบันคือ ๒๘๕(๔)) คือเป็นทรัพย์สินที่โอนไม่ได้ หรือไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ศาลต้องถอนการยึดอู่รถยนต์รายนี้..คำพิพากษาฏีกาที่ ๗๖๔/๒๔๙๔
๔..โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ที่ดินนั้นยังมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ถ้าปรากฏว่าจำเลยได้ยอมความโอนขายที่ดินแก่ผู้ร้องซึ่งศาลพิพากษาบังคับตามยอม ผู้ร้องได้ชำระเงินครบถ้วนและพ้นกำหนดที่จะห้ามโอนตามยอมแล้ว ผู้ร้องอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ์ได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๐ โจทก์นำยึดที่ดินมาชำระหนี้ไม่ได้.คำพิพากษาฏีกา๑๖๖๐/๒๔๙๘
๕.โต๊ะทำงาน ตู้เก็บเอกสาร เป็นของใช้ส่วนตัวของเจ้าของในการทำงานเกี่ยวกับหนังสือและเอกสารเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องใช้ในครัวเรือน คำพิพากษาฏีกา ๒๕๕๔/๒๕๕๕
๖.ที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอน คำพิพากษาฏีกา ๔๕๖/๒๕๓๗
๗.สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน คำพิพากษาฏีกา ๕๑๔๒/๒๕๓๑
๘.สิทธิ์เช่าตึกเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของผู้ให้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าไม่อนุญาตให้นำสิทธิ์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพราะประสงค์จะนำมาหาประโยชน์ด้วยตนเอง ถือเป็นทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๒๒๒๗/๒๕๓๗
๙.สิทธิ์เรียกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักที่ทางราชการจ่ายให้เป็นพิเศษนอกจากเงินเดือนและค่าจ้างตามงบประมาณรายจ่าย คำพิพากษาฏีกา ๕๕๔/๒๕๒๙
๑๐.ค่าป่วยการรายเดือน ค่าป่วยการประจำตำแหน่งซึ่งคำนวณจากรายได้จริงและทรัพย์สินของเทศบาลมีลักษณะไม่คงที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามรายได้ ไม่ใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญและเบี้ยหวัดตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒) คำพิพากษาฏีกา ๒๐๙๒/๒๕๔๕
๑๑.เงินเดือนหรือเงินบำเหน็จยังไม่ได้ปะปนจากเงินอื่นจนแยกไม่ออก จะยึดเงินดังกล่าวไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๐๒๐/๒๕๓๒
๑๒.เงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญตกทอด คำพิพากษาฏีกา ๑๒๒/๒๕๓๗
๑๓.เงินสะสมของข้าราชการ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน คำพิพากษาฏีกา ๑๘๖๓/๒๕๔๕
๑๔.สิทธิ์เรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน(บำนาญ)ของลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เงินจากงบประมาณของรัฐบาล จึงตกในความรับผิดในการบังคับคดี คำพิพากษาฏีกา ๒๕๔๑/๒๕๔๕
ข้อสังเกต ๑.เงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
๑.๑เบี้ยเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่เกินเดือนละ ๑๐,๐๐๐บาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น โดยคำนึงฐานะทางครอบครัว บุพการี ละผู้สืบสันดานของลูกหนี้
๑.๒เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ และเบี้ยหวัดของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างของรัฐบาล เงินสงเคราะห์หรือบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุบคลเหล่านั้น มีข้อสังเกต คือ คนงานของบริษัทเดินอากาศไทย หรือลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่คนงานของรัฐบาล
๑.๓เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ และเบี้ยหวัดของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างของรัฐบาล เงินสงเคราะห์หรือบำนาญ ทำนองเดียวกับข้อ ๑.๒ที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง คนงานของตนไม่อยู่ในบังคับความรับผิดในการบังคับคดีรวมกันไม่เกินเดือนละ ๑๐,๐๐๐บาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดและไม่เกินอัตราเงินเดือนสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น โดยคำนึงฐานะทางครอบครัว จำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานของลุกหนี้ตามคำพิพากษา
๑.๔เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้มาเนื่องจากการตายของบุคคลอื่นโดยผู้ตายเป็นสมาชิกฌาปานกิจศพซึ่งจะมีการระบุไว้ว่าเมื่อตนถึงแก่ความตายเงินจะตกแก่ผู้ใด เงินนี้ไม่ตกในบังคับความรับผิดในการบังคับคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงความจำเป็นในการจัดงานศพผู้ตายด้วย เงินดังกล่าวนี้ได้มาหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ได้มีอยู่ก่อนหรือขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตายเพียงแต่เงินดังกล่าวตกทอดแก่บุคคลที่ระบุไว้
๑.๕ตามพรบ.สหกรณ์ฯมาตรา ๔๒วรรคสอง ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกของสหกรณ์หรือสมาชิกกลุ่มเกษตรยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ของสมาชิกของสหกรณ์หรือสมาชิกกลุ่มเกษตรใช้สิทธิ์เรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกของสหกรณ์หรือสมาชิกกลุ่มเกษตรและเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิ์นำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่หักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ โดยสหกรณ์มีฐานะเป็น “ เจ้าหนี้บุริมสิทธิ์พิเศษเหนือเงินค่าหุ้น” นั้น
๑.๖หากสมาชิกของสหกรณ์หรือสมาชิกกลุ่มเกษตรทำ “ ความยินยอมเป็นหนังสือ” ไว้กับสหกรณ์ ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือน หรือ เงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกของสหกรณ์หรือสมาชิกกลุ่มเกษตร เพื่อชำระหนี้ หรือภาระผูกพันอื่นอันมีต่อสหกรณ์ ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป ให้หน่วยงานนั้นส่งเงินที่หักไว้นั้นแก่สหกรณ์โดยพลัน โดยให้หักให้สหกรณ์เป็นอันดับแรก ถัดจากหนี้ภาษีอากร และการหักเงินเข้ากองทุนที่สมาชิกต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม ตามพรบ.สหกรณ์ ฯ มาตรา ๔๒/๑นั้นก็คือเมื่อหักหนี้จากหนี้ภาษีอากรและเงินที่ต้องถูกหักเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคมแล้ว หนี้ลำดับถัดไปคือหนี้สหกรณ์ซึ่งมีบุริมสิทธิ์เหนือหนี้อื่น บทบัญญัติในมาตรานี้จึงเป็นข้อยกเว้น ปวพ มาตรา ๒๘๖ที่จะสามารถหักเงินเดือนค่าจ้างบำเหน็จบำนาญได้แม้ว่าตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖ได้บัญญัติไว้ว่าเงินเหล่านี้ไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ตาม แต่ในมาตราดังกล่าวใช้คำว่า “ ภายใต้บทบังคับแห่งกฎหมายอื่น” ดังนั้น เมื่อ พรบ.สหกรณ์ฯบัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยบัญญัติจึงยกเว้นปวพ มาตรา ๒๘๖ไว้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในพรบ.สหกรณ์ฯ
๒.แต่ทางปฏิบัติมีหน่วยราชการบางหน่วย “ เสมือนหนึ่งว่า “ ให้ลูกหนี้ทำข้อตกลงกับหน่วยงานนั้นว่าหากผิดข้อสัญญาให้สามารถหักเอากับเงินเดือนได้ ซึ่งจะถือว่าขัดกับกฎหมายหรือไม่อยางไรไม่ขอวิจารณ์
๓. ตายในระหว่างรับราชการ ทางราชการจ่ายช่วยเงินช่วยพิเศษให้ ๓ เท่าของอัตราเงินเดือน เงินช่วยพิเศษนี้ไม่ใช่เงินเดือนของข้าราชการเพราะไม่ได้จ่ายตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้จ่ายเป็นประจำทุกเดือนลักษณะการจ่ายคล้ายๆเงินช่วยเหลือเพื่อให้ญาตินำไปทำศพของผู้ตาย และเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินมรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่ทายาทโดยทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่ามรดกที่ตกทอดแก่ตนตาม ปพพ มาตรา ๑๖๐๑ เพราะเป็นเงินที่ได้มาหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ใช่ทรัพย์ที่ผู้ตายมีอยู่หรือในขณะที่ถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดก และไม่อยู่ในความรับผิดในหนี้สินของข้าราชการผู้ตาย กรณีนี้เทียบได้กับกรณีข้าราชการที่เสียชีวิตแล้วได้เงิน ๓๐ เท่าของเงินเดือนเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้ คล้ายๆเงินช่วยในการทำศพ เงินดังกล่าวได้มากน้อยไม่เท่ากันแล้วแต่ฐานเงินเดือนของข้าราชการที่ตาย เงินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ที่ผู้ตายมีอยู่หรือมีในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท และไม่ใช่เงินเดือน ค่าจ้าง เพราะไม่ได้จ่ายตอบแทนเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นประจำทุกเดือน
๔.สัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งพิพากษาให้แบ่ง “เบี้ยหวัด” ของพลทหารประจำการแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ศาลบังคับยึดเงินนั้นไม่ได้ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒) เพราะในมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ให้ “ เบี้ยหวัด” ไม่ตกในบังคับความรับผิดในการบังคับคดี
๕.เช่าที่ดินปลูกสร้างอู่ซ่อมรถ มีข้อสัญญาว่า “ผู้เช่าจะรักษาที่เช่าทุกส่วนให้เรียบร้อยจนกว่าผู้เช่าจะออกจากที่เช่าหรือหมดอายุสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าเลิกกันเพราะผิดสัญญา ผู้เช่าจะรื้อถอนอู่ซ่อมรถที่สร้างไม่ได้ ต้องตกเป็นของผู้ให้เช่าโดยไม่เรียกร้องค่าอะไรจากผู้ให้เช่า” แม้ว่าการปลูกอู่ซ่อมรถในที่ดินที่เช่าเป็นการปลูกโดยมีสิทธิ์ อู่ซ่อมรถไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่งจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินตาม ปพพ มาตรา ๑๔๔,๑๔๖ ก็ตาม แต่สัญญาเช่าที่ตกลงยกอู่ซ่อมรถให้แก่ผู้ให้เช่าเมื่อสัญญาเช่าหมดลงไปนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า สิทธิ์ในการเช่านี้เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของผู้เช่าและบริวารเท่านั้นที่มีสิทธิ์ จะให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือให้ผู้อื่นเข้าอยู่แทนไม่ได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า ตาม ปพพ มาตรา ๕๔๔ หากผู้เช่าเอาทรัพย์ที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงโดยไม่ชอบเพราะในสัญญาไม่ให้เอาไปให้เช่าช่วงได้ดังนี้แล้วผู้เช่าช่วงย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง หากผู้เช่าช่วงได้ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าก็หาอาจยกเป็นข้อต่อสู้ต่อผู้ให้เช่าได้ไม่ ทั้งไม่เป็นการตัดสิทธิ์ผู้ให้เช่าที่จะบังคับใช้สิทธิ์ของตนต่อผู้เช่าด้วย ปพพ มาตรา ๕๔๕ ดังนั้น เมื่ออู่ซ่อมรถนี้ถูกเจ้าหนี้ของผู้เช่ายึดทรัพย์บังคับตามคำพิพากษา ก็เป็นอันว่าผู้เช่าต้องออกจากทรัพย์ที่เช่านี้โดยปริยายตามอำนาจของการยึด เพราะการเช่าที่ดินเพื่อทำอู่ซ่อมรถ วัตถุประสงค์ในการเช่าที่ดินก็เพื่อทำอู่ซ่อมรถ เมื่ออู่ซ่อมรถถูกยึดก็เสมือนหนึ่งว่าไม่มีอู่ซ่อมรถแล้ว สัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำอู่ซ่อมรถย่อมเป็นอันระงับไปเพราะวัตถุประสงค์หลักในการเช่าที่ดินเพื่อทำอู่ซ่อมรถ เมื่อไม่มีอู่ซ่อมรถแล้วก็เสมือนหนึ่งว่าทรัพย์ที่เช่าสูญหายไปทั้งหมด สัญญาเช่าย่อมระงับไป เทียบเคียง ปพพ มาตรา ๔วรรคสองและ มาตรา ๕๖๗ เมื่อสัญญาเช่าระงับ อู่ซ่อมรถจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าคือเจ้าของที่ดินตามสัญญาเช่า คดีจึงตกในบังคับ ปวพ มาตรา ๒๘๕(๒)(ปัจจุบันคือ ๒๘๕(๔)) คือเป็นทรัพย์สินที่โอนไม่ได้ หรือไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ศาลต้องถอนการยึดอู่รถยนต์รายนี้
๖..โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ที่ดินนั้นยังมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ถ้าปรากฏว่าจำเลยได้ยอมความโอนขายที่ดินแก่ผู้ร้องซึ่งศาลพิพากษาบังคับตามยอม ผู้ร้องได้ชำระเงินครบถ้วนและพ้นกำหนดที่จะห้ามโอนตามยอมแล้ว เป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์แม้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้นำยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อมาชำระหนี้ของตนก็ตาม แม้ที่ดินจะระบุเป็นชื่อของจำเลยก็ตาม แต่ผู้ร้องผู้ได้สิทธิ์มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลอยู่ในฐานะเสียเปรียบโจทก์ผู้นำยึดที่ดินที่อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ์ของตนได้ก่อนก็จริง แต่ก็เป็นการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นทางให้เสียเปรียบแก่ผู้ร้องผู้ได้สิทธิ์มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้ร้องอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ์ได้สามารถเรียกให้เพิกถอนการโอนได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๐ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการโอนที่มีค่าตอบแทนซึ่งกระทำการโดยสุจริต แต่เป็นการนำยึดที่ดินเพื่อชำระหนี้ เมื่อไม่ใช่การโอนที่ดินโดยมีค่าตอบแทนรับโอนโดยสุจริตตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๐ ตอนท้ายที่จะเรียกให้เพิกถอนทางทะเบียนไม่ได้แต่เป็นการได้มาโดยการนำยึดเพื่อชำระหนี้ ดังนั้นโจทก์นำยึดที่ดินมาชำระหนี้ไม่ได้
๗.โต๊ะทำงาน ตู้เก็บเอกสาร เป็นของใช้ส่วนตัวของเจ้าของในการทำงานเกี่ยวกับหนังสือและเอกสารเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องใช้ในครัวเรือน ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๕(๑) จึงอยู่ในความรับผิดในการบังคับคดี มีข้อสังเกตตาม ปวพ มาตรา ๒๘๕ ที่บัญญัติว่า หากมีความจำเป็นแล้วให้ทรัพย์สินส่วนตัวโดยแท้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยึดมาตรวจดูเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีได้ แต่ไม่สามารถนำออกขายทอดตลาดได้เท่านั้น
๘.ที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอน เช่น ที่ดินตามพรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรฯ มักมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้เว้นตกทอดแก่ทายาทหรือโดยมรดก หรือมีข้อกำหนดว่าห้ามโอนภายในระยะเวลากี่ปี ดังนี้เมื่อที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอน จึงเป็นทรัพย์ที่โอนไม่ได้ตามกฎหมาย ซึ่ง ปวพ มาตรา ๒๘๕(๔) บัญญัติให้ไม่ตกในความรับผิดในการบังคับคดี....
๙.สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน โอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกา ปพพ มาตรา ๑๓๐๕ อีกทั้งใน ปพพ มาตรา ๑๓๐๗ บัญญัติห้ามไม่ให้ทำการยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ สาธารณะสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นทรัพย์ที่โอนไม่ได้ตามกฎหมาย จึงไม่ตกในบังคับในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ปวพ มาตรา ๒๘๕(๔)
๑๐.สิทธิ์เช่าตึกเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของผู้ให้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าไม่อนุญาตให้นำสิทธิ์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพราะประสงค์จะนำมาหาประโยชน์ด้วยตนเอง ถือเป็นทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เพราะสิทธิ์ที่จะให้บุคคลใดเช่าทรัพย์สินนั้น ผู้ให้เช่าต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสำคัญ เมื่อผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้เช่าต่อโดยประสงค์จะนำมาหาประโยชน์ด้วยตนเอง สิทธิ์ในการเช่าจึงเป็นทรัพย์ที่โอนไม่ได้ตามกฎหมาย จึงไม่ตกในบังคับความรับผิดในการบังคับคดี ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๕(๔)
๑๑.สิทธิ์เรียกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักที่ทางราชการจ่ายให้เป็นพิเศษนอกจากเงินเดือนและค่าจ้างตามงบประมาณรายจ่าย เมื่อไม่ได้จ่ายเป็นประจำทุกเดือนเหมือนเงินเดือนมีลักษณะจ่ายเป็นครั้งคราวเมื่อต้องมีการเดินทางไปราชการ การเดินทางไปราชการแต่ละครั้งก็ได้ไม่เท่ากัน(ค่าที่พัก) จึงไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้างตามงบประมาณรายจ่าย
๑๒.ค่าป่วยการรายเดือน ค่าป่วยการประจำตำแหน่งซึ่งคำนวณจากรายได้จริงและทรัพย์สินของเทศบาลมีลักษณะไม่คงที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามรายได้ ไม่ใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญและเบี้ยหวัดตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒) เพราะเงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด มีจำนวนเป็นรายได้แน่นอนว่าจะได้เท่าไหร่ แต่ ค่าป่วยการรายเดือน ค่าป่วยการประจำตำแหน่งซึ่งคำนวณจากรายได้จริงและทรัพย์สินของเทศบาลมีลักษณะไม่คงที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามรายได้ มีจำนวนไม่แน่นอน จึงไม่ใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญและเบี้ยหวัดตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒) แต่อย่างใดไม่
๑๓.เงินเดือนหรือเงินบำเหน็จเมื่อยังไม่ได้ปะปนกับเงินอื่นจนแยกไม่ออก สามารถแยกออกได้ว่าส่วนไหนคือเงินเดือน ส่วนไหนคือเงินบำเหน็จ เมื่อเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ จึงยึดเงินดังกล่าวไม่ได้ เงินดังกล่าวไม่ตกในบังคับความรับผิดในการบังคับคดี
๑๔.เงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญตกทอด ไม่ตกอยู่ในบังคับความรับผิดในการบังคับคดีตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒)(๓)แล้วแต่ว่าจะเป็นข้าราชการตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒) หรือเป็นพนักงาน ลูกจ้าง คนงาน ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๓)
๑๕.เงินสะสมของข้าราชการ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับความรับผิดในการบังคับคดี ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒)
๑๖.สิทธิ์เรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน(บำนาญ)ของลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เงินจากงบประมาณของรัฐบาล ไม่ใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นลักษณะทำนองเดียวกัน และไม่ใช่เงินสงเคราะห์ที่หน่วยราชการจ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ตาม ปวพ มาตรา ๒๘๖(๒)(๓) จึงตกในความรับผิดในการบังคับคดี
๑๕.บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ในขณะที่บทบัญญัติเรื่องการบังคับคดีที่แก้ไขใหม่ยังไม่ได้ประการใช้

ไม่มีความคิดเห็น: