ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“ผัวเมียแบ่งมรดก”

๑.จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีขาดอายุความเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน คำให้การจำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องฟ้องคดีมรดก โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิ์เรียกร้องตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีจึงขาดอายุความไปแล้วคำให้การจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วย ปวพ มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ปพพ มาตรา ๑๗๕๔วรรคท้าย เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ปวพ มาตรา ๑๔๒วรรคแรก เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีผู้ใดกล่าวอ้าง ปวพ มาตรา ๑๔๒(๕) เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทได้แก่ภรรยาและบุตรทั้งเจ็ด โดยภรรยามีสิทธิ์ได้รับมรดกเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕(๑) ภรรยารับโอนที่พิพาทแทนทายาทและยกที่ดินให้จำเลยทั้งสองถือกกรมสิทธิ์ในที่พิพาทแทนโจทก์ที่ ๑ ที่เป็นทายาทคนหนึ่งด้วย จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิ์ในที่พิพาทดีไปกว่าภรรยาเจ้ามรดกผู้โอน โจทก์ที่ ๑ จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ๑ ใน ๘ ส่วนชอบที่จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ ๑ ลงในโฉนดที่พิพาทได้ตาม ปพพ มาตรา ๘๑๐ วรรคแรก คำพิพากษาฏีกาที่ ๕๖๙๑/๒๕๕๔
๒. แม้ไม่ปรากฏใบแต่งทนายสำหรับ อ. แต่ อ. ได้เรียงคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์จนเสร็จการพิจารณาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านประการใดมาแต่ต้น ตามพฤติการณ์เชื่อว่าโจทก์ให้ อ. เป็นทนายความในคดีนี้ เมื่อปรากฏยังไม่มีใบแต่งทนายสำหรับ อ. ในสำนวน ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม ปวพ มาตรา ๒๗ แม้ศาลชั้นต้นไมได้แก้ไขข้อบกพร่องก่อนพิพากษาคดี แต่โจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งตั้ง อ เป็นทนายความในคดีพร้อมกับยื่นอุทธรณ์อันเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ย และ จ ได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยากัน เมื่อ ย. ถึงแก่ความตาย การสมรสสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาต้องแบ่งกันคนละครึ่ง ดังนั้น จ จึงยกที่พิพาทให้จำเลยได้เฉพาะส่วนของ จ. เท่านั้น แต่ส่วนที่เป็นของ ย ต้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม โจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นบุตรของ ย ซึ่งเป็นเจ้ามรดก โจทก์ทั้งห้าและจำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๑ จ เป็นคู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๒๙ มีสิทธิ์รับมรดกเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา ๑๖๓๕ ที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกของ ย.ต้องแบ่งออกเป็น ๗ ส่วนเท่าๆกัน เพื่อแบ่งแก่โจทก์ทั้งห้าจำเลยและ จ คนละ ๑ ส่วน จำเลยฏีกาว่าคดีขาดอายุความนั้นในชั้นอุทธรณ์จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในประเด็นเรื่องอายุความจึงไม่ใช่ข้อที่ว่ามาแล้วในศาลอุทธรณ์ และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามไม่ให้ฏีกาตาม ปวพ มาตรา ๒๔๙ วรรครแรก ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาฏีกา ๕๓๕๐/๒๕๓๖
ข้อสังเกต ๑.หลักกฎหมายที่ต้องเกี่ยวข้อง
๑.๑ครอบครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ หากครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๐ ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๒ เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม หากยังไม่ได้จดทะเบียนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และห้ามไม่ให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิ์โดยสุจริตตาม ปพพ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง อย่างไรก็ตามก็เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ์ได้ก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๐
๑.๒จำเลยต้องแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นด้วย ปวพ มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง หากไม่ได้ให้การโดยแจ้งชัดในคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้วย่อมไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทตาม ปวพ มาตรา ๑๘๓ เพราะไม่มีการยอมรับ หรือโต้แย้งข้ออ้างข้อเถียงแต่อย่างใด
๑.๓ อายุความมรดกต้องฟ้องเรียกมรดกซึ่งมีอายุความ ๑ ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้เรื่องความตายเจ้ามรดก ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๕๔ ซึ่งอายุความมรดกเป็นคนละเรื่องกับระยะเวลา ๑๐ ปีของการครอบครองปรปักษ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๒
๑.๔ปวพ มาตรา ๑๔๒ ห้ามไม่ให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเกินกว่าที่ปรากฏหรือเกินกว่าในคำฟ้อง เว้นแต่เป็น
ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีผู้ใดกล่าวอ้าง ปวพ มาตรา ๑๔๒(๕)
๑.๕ ทรัพย์ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๗๔(๑) เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม คู่สมรสมีส่วนแบ่งคนละครึ่ง ปพพ มาตรา ๑๓๕๗ เมื่อคู่สมรสตายการสมรสสิ้นสุดลง ปพพ มาตรา ๑๕๐๑ คู่สมรสมีส่วนแบ่งตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕(๑) เมื่อคู่สมรสเป็นทายาทชั้นบุตร จึงเป็นกรณีมีทายาทอยู่ในลำดับเดียวกันจึงมีสิทธิ์รับมรดกในส่วนเท่าๆกัน ปพพ มาตรา ๑๖๓๓
๑.๖กรณีไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่น การเขียน การส่งคำคู่ความหรือเอกสารใดประกอบการพิจารณาของศาล อันเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบตาม ปวพ มาตรา ๒๗ ซึ่งศาลสามารถเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือมีคำสั่งให้แก้ไขตามที่ศาลเห็นสมควรได้
๑.๗ ๖. การแต่งตั้งทนายต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความ และยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความตาม ปวพ มาตรา ๖๑ ทนายความจึงมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความเพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความได้ ตาม ปวพ มาตรา ๖๒
๒.จำเลยทั้งสองให้การว่า “คดีขาดอายุความเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน” เป็นการต่อสู้ทำนองว่าจำเลยทั้งสองครอบครองปรปักษ์ในที่พิพาท ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๒ ในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมแม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ์ ก็มีผลเพียงไม่ให้ยกเป็นคู่ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิ์โดยสุจริตตาม ปพพ มาตรา ๑๒๙๙วรรรคสองเท่านั้น แต่ในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิ์ได้ก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๐ เท่านั้น เมื่อจำเลยครอบครองโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยย่อมอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ์ได้ก่อน แต่ในคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกมรดกซึ่งมีอายุความ ๑ ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้เรื่องความตายเจ้ามรดก ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๕๔ คำให้การจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความในคดีมรดกให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องฟ้องคดีมรดกเมื่อใด โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิ์เรียกร้องในทรัพย์มรดกตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใด เมื่อนับจากวันนั้นถึงวันฟ้องคดีจึงขาดอายุความไปแล้วหรือไม่อย่างไร คำให้การจำเลยทั้งสองจึงเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธนั้น เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ปวพ มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คดีไม่มีข้ออ้างข้อถียงในประเด็นเรื่องอายุความ ตาม ปวพ มาตรา ๑๘๓ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ปพพ มาตรา ๑๗๕๔วรรคท้าย เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ไม่ชอบด้วย ปวพ มาตรา ๑๔๒วรรคแรก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีผู้ใดกล่าวอ้าง ปวพ มาตรา ๑๔๒(๕)
๓. ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า จำเลยทั้งสองน่าที่จะไปฟ้องเป็นอีกคดีต่างหากว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ในทรัพย์มรดกแล้วตนได้กรรมสิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๒ และตนอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิ์การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมได้ก่อน เมื่อตนอยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ์ดังกล่าวได้ก่อนโดยทรัพย์นั้นไม่ใช่มรดกตกทอดแก่ทายาทผู้ตาย เพราะผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกยอมให้ถูกแย่งการครอบครองปรปักษ์จนล่วงเลยเวลาที่จะสามารถฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้ว ตนได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ แล้วจึงนำผลคดีดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในคดีที่ฟ้องมรดก หรือมิเช่นนั้นก็ต่อสู้ในคดีมรดกเลยว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่มรดกแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนที่ได้จากการแย่งการครอบครองปรปักษ์
๔.เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทได้แก่ภรรยาและบุตรทั้งเจ็ด โดยภรรยามีสิทธิ์ได้รับมรดกเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕(๑) ซึ่งในที่นี้หมายถึงภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่มีการจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเท่านั้น หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายย่อมไม่ใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่จะนำความตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕(๑)มาใช้บังคับได้
๕.ภรรยารับโอนที่พิพาทแทนทายาทและยกที่ดินให้จำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแทนโจทก์ที่ ๑ ที่เป็นทายาทคนหนึ่งด้วย จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิ์ในที่พิพาทดีไปกว่าภรรยาเจ้ามรดกผู้โอน เพราะภรรยามีสิทธิ์ในทรัพย์มรดกเพียง๑ ส่วนเท่านั้น ไม่ได้มีสิทธิ์ในที่พิพาททั้งแปลงแต่อย่างใดไม่คือไม่ได้มีสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๘ ส่วน (ทายาทผู้ตายมีบุตร ๗ คน และภรรยา ๑ คน ได้รับส่วนแบ่งคนละเท่าๆกันตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕(๑),๑๖๓๓) ดังนั้น โจทก์ที่ ๑ ในฐานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ๑ ใน ๘ ส่วนชอบที่จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ ๑ ลงในโฉนดที่พิพาทได้ตาม ปพพ มาตรา ๘๑๐ วรรคแรก โดยถือว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองในฐานะตัวแทนของภรรยาผู้ตายรับไว้เกี่ยวเนื่องจากการเป็นตัวแทนจึงต้องส่งให้แก่ตัวการตามจำนวนที่ตัวการแต่ละคนมีสิทธิ์
๖. การแต่งตั้งทนายต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความ และยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความตาม ปวพ มาตรา ๖๑ ทนายความจึงมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความเพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความได้ ตาม ปวพ มาตรา ๖๒ เมื่อไม่ปรากฏใบแต่งทนายสำหรับ อ. แต่ อ. ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล จึงเป็นกรณีไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่น การเขียน การส่งคำคู่ความหรือเอกสารใดประกอบการพิจารณาของศาล อันเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบตาม ปวพ มาตรา ๒๗ ซึ่งศาลสามารถเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือมีคำสั่งให้แก้ไขตามที่ศาลเห็นสมควรได้
๗.เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อ. ได้เรียงคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์จนเสร็จการพิจารณาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านประการใดมาแต่ต้น จึงเป็นการยอมรับเอาผลแห่งการกระทำที่ผิดระเบียบและถือเป็นการให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ปวพ มาตรา ๒๗ วรรคสองด้วย ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่าโจทก์ให้ อ. เป็นทนายความในคดีนี้ เมื่อปรากฏยังไม่มีใบแต่งทนายสำหรับ อ. ในสำนวน ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม ปวพ มาตรา ๒๗ แม้ศาลชั้นต้นไมได้แก้ไขข้อบกพร่องก่อนพิพากษาคดี แต่โจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งตั้ง อ เป็นทนายความในคดีพร้อมกับยื่นอุทธรณ์อันเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
๘.ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ย และ จ ได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยากัน จึงเป็นสินสมรสตาม ปพพ มาตรา ๑๔๗๔(๑)เมื่อ ย. ถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นมรดก ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๐๐ เมื่อคู่สมรสถึงแก่ความตาย การสมรสสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ปพพ มาตรา ๑๕๐๑ ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาต้องแบ่งกันคนละครึ่ง ตามปพพ มาตรา ๑๓๕๗ ดังนั้น จ จึงยกที่พิพาทให้จำเลยได้เฉพาะส่วนของ จ. เท่านั้น ปพพ มาตรา ๑๓๕๘,,๑๓๖๑วรรคแรก แต่ส่วนที่เป็นของ ย ต้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ซึ่ง จ ในฐานะคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีส่วนแบ่งในฐานะทายาทโดยชอบธรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕(๑) คือเมื่อ ย ถึงแก่ความตายต้องแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นสองส่วน โดยทั้งผู้ตายและคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ได้รับส่วนแบ่งคนละครึ่งตามกฎหมายครอบครอง ในส่วนของผู้ตายนั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายในส่วนนี้จึงตกเป็นมรดกซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกนี้ด้วยตาม ปพพ มาตรา ๑๖๓๕ นั้นก็คือ คู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งตามกฎหมายครอบครอง ส่วนอีกครึ่งที่ตกเป็นมรดกตนเองก็มีส่วนได้ตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในปพพ มาตรา ๑๖๓๕
๙.โจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นบุตรของ ย ซึ่งเป็นเจ้ามรดก โจทก์ทั้งห้าและจำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๑ จ เป็นคู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๖๒๙ มีสิทธิ์รับมรดกเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา ๑๖๓๕(๑) เมื่อเป็นทายาทในลำดับเดียวกันจึงได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตาม ปพพ มาตรา๑๖๓๓ ที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกของ ย.ต้องแบ่งออกเป็น ๗ ส่วนเท่าๆกัน เพื่อแบ่งแก่โจทก์ทั้งห้าจำเลยและ จ คนละ ๑ ส่วน
๑๐. จำเลยฏีกาว่าคดีขาดอายุความนั้นในชั้นอุทธรณ์จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในประเด็นเรื่องอายุความจึงไม่ใช่ข้อที่ว่ามาแล้วในศาลอุทธรณ์ และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ปวพ มาตรา ๑๔๒(๕) จึงต้องห้ามไม่ให้ฏีกาตาม ปวพ มาตรา ๒๔๙ วรรครแรก ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ไม่มีความคิดเห็น: