ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“อย่าคิดว่าเป็นบิดามารดาแล้วทำได้ทุกอย่าง”

๑การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำไม่ได้เว้นศาลอนุญาต เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าเป็นการสมควรก็จะอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน รวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินของผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่า ผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เท่ากับ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาต เป็นการผิดเจตนารมณ์กฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ได้กระทำในขณะยังเป็นผู้เยาว์ แม้บิดาที่เป็นผุ้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาในฉบับเดียวกันก็ตาม สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ กรณีไม่ใช่โมฆียกรรม แม้ภายหลังจำเลยที่ ๓ จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ แม้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เยาว์จะเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยที่ ๒ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกัน แต่ผู้เยาว์ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๓และจำเลยที่ ๒ หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ แม้สัญญาจะไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ ๓ ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒มีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้โจทก์ตามสัญญา คำพิพากษาฏีกา๔๙๘๔/๒๕๓๗
๒. ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินจำเลยที่ ๓ ถึง ที่ ๖เป็นผู้เยาว์ การทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ แม้โจทก์จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ทำสัญญา โดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาก็เป็นเพียงการยึดถือแทนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เท่านั้น การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ไปจดทะเบียนโอนสิทธิ์ในที่ดินเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านก็หาใช่เป็นการแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการียึดถือที่ดินหรือถือว่าจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ สละเจตนายึดถือครอบครองในที่ดินแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาฏีกาที่ ๗๗๗๖/๒๕๕๑
๓.ธ เป็นบิดาและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลย ซื้อที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองแต่ใส่ชื่อผู้เยาว์ในโฉนดแทน แล้วได้ขายที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ แม้จะขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ก็ไม่ทำให้สิทธิ์การได้มาของโจทก์เสียไป เพราะจำเลยเพียงมีชื่อในโฉนดเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทน ธ เท่านั้น หาใช่ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยผู้เยาว์ไม่หลักจากโจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ธ. ธ.ก็ไม่อาจโอนให้ได้เพราะโฉนดมีชื่อจำเลยซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ ก็ไม่ได้ตกลงกันเรื่องการโอนทางทะเบียนอีกเป็นการแน่นอนว่าจะโอนกันหรือไม่เมื่อใด โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นสำนักงาน ลงบัญชีว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เสียภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือนเอง แจ้งให้ผู้ตรวจการธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทุกครั้งว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ทำหนังสือแจ้งกระทรวงการคลังทราบ ขออนุมัติรื้อถอนตัวอาคารเมื่อย้ายสำนักงานสาขาไปตั้งยังที่อื่นซึ่งกระทรวงการคลังอนุมัติ แสดงว่าทั้งโจทก์และนาย ธ.ไม่คำนึงถึงการทำการจดทะเบียนโอนกรรสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ถือว่า ธ สละการครอบครองที่ดินให้โจทก์โดยเด็ดขาด การครอบครองของโจทก์จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของหาใช่ครอบครองตามสัญญาจะซื้อขาย เมื่อเกิน ๑๐ ปีย่อมได้กรรมสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๐๙๔/๒๕๒๘
๔.มีผู้ทำละเมิดต่อผู้เยาว์ซึ่งทำให้ผู้เยาว์มีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมทดแทน การที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด หากมีการประนีประนอมยอมความกันซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะขออนุญาตจากศาลก่อนเพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ เมื่อบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ โดยบิดาโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีกเป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพังโดยไมได้รับอนุญาตจากศาลเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย ตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ไม่ระงับไป เมื่อต้องเสียความสามารถในการมองเห็นเนื่องจากต้องเสียตาซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้โดยละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันไม่ใช่ตัวเงิน ผู้ทำละเมิดจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวหาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่ต้องเสื่อมเสียสุขภาพอนามัยต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันไม่ใช่ตัวเงินโจทก์มีสิทธิ์เรียกร้องได้ คำพิพากษาฏีกาที่ ๕๓๓/๒๕๕๒
๕.จำเลยที่ ๑๒ ทำสัญญาแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับโจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ในขณะที่เป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑๒ และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเป็นสิ่งเกี่ยวพันธ์ไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรมที่จำเลยที่ ๑ถึง ๑๑ ได้ร่วมกระทำข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ ถึง ๑๑ ด้วย โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่พิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์คำพิพากษาฏีกา ๔๘๖๐/๒๕๔๘
๖.จำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทำสัญญาขายไม้ในส่วนที่เป็นของผู้เยาว์กับโจทก์ ไม่ใช่เป็นการนำทรัพยิ์สินของผู้เยาว์ไปแสวงหาผลประโยชน์อันจะต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน หากแต่เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายไม่เป็นการต้องห้ามตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔ สัญญาซื้อขายบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๓๙๔/๒๕๔๕
๗ การท้าเป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลที่คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะ ไม่ได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อก่อเปลี่ยนแปลงดอนสงวน ระงับซึ่งสิทธิ์จึงไม่เป็นนิติกรรม โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองฟ้องคดีแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เมื่อโจทก์แพ้คดีตามคำท้า จำเลยที่ ๑ ย่อมบังคับคดีตามฟ้องแย้งได้โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องแย้งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าหรือไม่เพราะเป็นเรื่องนอกคำท้าไม่ถืออยู่ในบังคับ ปพพ มาตรา ๕๓๘เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ฟ้องแย้งและจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้อาศัย คำพิพากษาให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยที่ ๒เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากคำขอตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ และปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน.คำพิพากษาฏีกาที่ ๓๕๙๐/๒๕๓๘
ข้อสังเกต๑. แม้เป็นบิดามารดาก็ไม่สามารถกระทำอะไรกับบุตรได้ทุกอย่างมีบางอย่างที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ ความหมายของการเป็นบิดามารดาคือต้องเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ฝ่ายหญิงไม่น่ามีปัญหาเพราะใน ปพพ มาตรา ๑๕๔๖ บัญญัติว่า เด็กที่เกิดจากชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิง ดังนั้นไม่ว่าหญิงจะจดทะเบียนสมรสกับชายหรือไม่ บุตรก็เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงเสมอ ส่วนฝ่ายชายหากจดทะเบียนสมรสกับหญิง บุตรที่เกิดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของทั้งชายและหญิง แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้ว ชายจะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กก็ต่อเมื่อ ชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง บิดาจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตาม ปพพ มาตรา ๑๕๔๗
๒.บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ์ดังนี้คือ
๒.๑ มีอำนาจปกครองบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๖๖
๒.๒กำหนดที่อยู่อาศัยของบุตร
๒.๓ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
๒.๔ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
๒.๕เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๒.๖มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ ปพพ มาตรา ๑๕๗๑
๒.๗ กรณีบุตรมีเงินได้ นำเงินดังกล่าวเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษา ส่วนที่เหลือเก็บไว้เพื่อส่งมอบแก่บุตร ปพพ มาตรา ๑๕๗๓
๓.มารดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีอำนาจดังนี้
๓.๑ก่อหนี้ที่บุตรต้องทำเองโดยไมได้รับความยินยอมจากบุตรตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๒
๓.๒ทำนิติกรรมบางอย่างตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔และ ๑๕๗๖ ไม่ได้เว้นได้รับอนุญาตจากศาล
๓.๓กิจการใดประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง(คือบิดาหรือมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและบุคคลอื่นตามที่บัญยัติไว้ใน ปพพ มาตรา ๑๕๖๖(๑)ถึง(๖) หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิเช่นนั้นกิจการนั้นตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๕
๔.การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำไม่ได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔(๑) เว้นศาลอนุญาต เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าเป็นการสมควรก็จะอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน รวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินของผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่า ผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เท่ากับ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต่อศาล เป็นการผิดเจตนารมณ์กฎหมาย(ปพพ มาตรา ๑๕๗๔(๑)) สัญญาจะซื้อจะขายที่ได้กระทำในขณะที่จำเลยที่ ๓ ยังเป็นผู้เยาว์ แม้บิดาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาในฉบับเดียวกันก็ตาม สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการทำนิติกรรมที่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตาม ปพพ มาตรา ๑๕๐,๑๕๗๔(๑)ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เพราะไม่ใช่การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากศาล กรณีไม่ใช่โมฆียกรรมที่จะมาสามารถบอกล้างกันในภายหลังตาม ปพพ มาตรา ๑๗๕หรือมาให้สัตยาบันกันในภายหลังตาม ปพพ มาตรา ๑๗๙,๑๘๐ แต่อย่างใดไม่ แม้ภายหลังจำเลยที่ ๓ จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ตาม ปพพ มาตรา ๒๐ ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ แม้จำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นผู้เยาว์จะเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยที่ ๒ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกัน แต่จำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นผู้เยาว์และจำเลยที่ ๒ หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ เพราะไม่ใช่การชำระหนี้ซื้อขายที่แต่ละคนต้องชำระหนี้สิ้นเชิงที่เจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตาม ปพพ มาตรา ๒๙๑แต่เป็นกรณีที่แต่ละคนขายที่ดินตามส่วนของตนเท่านั้น โดยหนี้ของจำเลยที่ ๓ตกเป็นโมฆะไปเพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายอนุญาตคือไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลก่อน แม้สัญญาจะไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ ๓ ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒มีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย เป็นกรณีที่นิติกรรมซื้อขายตกเป็นโมฆะบางส่วน สามารถแยกส่วนที่เป็นสมบรูณ์ออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๗๓จำเลยที่ ๒จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้โจทก์ตามสัญญา
๕. ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินจำเลยที่ ๓ ถึง ที่ ๖เป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล การทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ แม้โจทก์จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ทำสัญญา โดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาก็ ไม่ได้เป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยอำนาจจากการซื้อขายที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นเพียงการเข้าครอบครองโดยการยึดถือแทนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เท่านั้นไม่ใช่การยึดถือเพื่อตนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖๗,๑๓๖๘อันจะได้มาซึ่งสิทธิ์ครอบครอง เพราะเมื่อการซื้อขายฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย(ซื้อขายทรัพย์ผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล)ตกเป็นโมฆะ ถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์สละการครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ไปจดทะเบียนโอนสิทธิ์ในที่ดินเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว หาอาจกระทำได้ไม่ เพราะนิติกรรมซื้อขายตกเป็นโมฆะมาแต่แรกแล้ว ไม่มีข้อสัญญาที่ต้องผูกพันต้องปฏิบัติตามสัญญา แม้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านก็หาใช่ว่าเป็นการยอมรับเพราะจำเลยที่๓ ถึงที่ ๖ ไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านในนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะไปแล้ว การแจ้งให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ไปจดทะเบียนโอนสิทธิ์ในที่ดินก็หาใช่เป็นการแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินว่าโจทก์ครอบครองโดยสงบมีเจตนาเป็นเจ้าของมีเจตนาแย่งการครอบครองตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๒ แต่อย่างใดไม่ และจะถือว่าจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ สละเจตนายึดถือครอบครองในที่ดินหาได้ไม่
๖.ธ เป็นบิดาและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลย ซื้อที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองแต่ใส่ชื่อผู้เยาว์ในโฉนดแทน เป็นการแสดงเจตนาที่ในใจจริงไม่ได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่แสดงเจตนาออกมาคือไม่ต้องการให้บุตรเป็นเจ้าของ แต่ใส่ชื่อบุตรลงในโฉนดแทน การแสดงเจตนานี้ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๕๔ แล้วได้ขายที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ แม้จะขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ก็ไม่ทำให้สิทธิ์การได้มาของโจทก์เสียไป เพราะจำเลยเพียงมีชื่อในโฉนดเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทน ธ เท่านั้น หาใช่ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยผู้เยาว์ไม่ หลักจากโจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ธ. ธ.ก็ไม่อาจโอนให้ได้เพราะโฉนดมีชื่อจำเลยซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ ซึ่งเป็นไปตามข้อสันนิษฐานของ ปพพ มาตรา ๑๓๗๓ ที่สันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง เจ้าหน้าที่ที่ดินย่อมไม่โอนที่ดินให้เว้นแต่ผู้มีชื่อในโฉนดจะมาดำเนินการ เมื่อไม่สามารถโฮนทางทะเบียนได้ก็ไม่ได้ตกลงกันเรื่องการโอนทางทะเบียนเป็นการแน่นอนว่าจะโอนกันหรือไม่เมื่อใด โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นสำนักงาน ลงบัญชีว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เสียภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือนเอง แจ้งให้ผู้ตรวจการธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทุกครั้งว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ทำหนังสือแจ้งกระทรวงการคลังทราบ ขออนุมัติรื้อถอนตัวอาคารเมื่อย้ายสำนักงานสาขาไปตั้งยังที่อื่นซึ่งกระทรวงการคลังอนุมัติ แสดงว่าทั้งโจทก์และนาย ธ.ไม่คำนึงถึงการทำการจดทะเบียนโอนกรรสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ถือว่า ธ สละการครอบครองที่ดินให้โจทก์โดยเด็ดขาด การครอบครองย่อมสิ้นสุดไปตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๗ การครอบครองของโจทก์จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของหาใช่ครอบครองตามสัญญาจะซื้อขาย เมื่อครอบครองโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน ๑๐ ปีย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๒ นั้นคือได้สิทธิ์โดยการแย่งการครอบครองแต่ไม่ใช่ได้สิทธิ์ตามสัญญาซื้อขายแต่อย่างใดไม่
๗.มีผู้ทำละเมิดต่อผู้เยาว์ซึ่งทำให้ผู้เยาว์มีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมทดแทน การที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด หากมีการประนีประนอมยอมความกันซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะขออนุญาตจากศาลก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔(๑๒) เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ เมื่อบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ โดยบิดาโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีกเป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพังโดยไมได้รับอนุญาตจากศาลเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ไม่ระงับไป เมื่อต้องเสียความสามารถในการมองเห็นเนื่องจากต้องเสียตาซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้โดยละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันไม่ใช่ตัวเงินตาม ปพพ มาตรา ๔๔๖ ผู้ทำละเมิดจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวหาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่ต้องเสื่อมเสียสุขภาพอนามัยต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันไม่ใช่ตัวเงินโจทก์มีสิทธิ์เรียกร้องได้
๘.จำเลยที่ ๑๒ ทำสัญญาแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับโจทก์ มีลักษณะคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันและกัน อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ปพพ มาตรา ๘๕๐ ในขณะที่เป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑๒ และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเป็นสิ่งเกี่ยวพันธ์ไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรมที่จำเลยที่ ๑ถึง ๑๑ ได้ร่วมกระทำข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ ถึง ๑๑ ด้วย โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่พิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์
๙.จำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทำสัญญาขายไม้ในส่วนที่เป็นของผู้เยาว์กับโจทก์ ไม่ใช่เป็นการนำทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปแสวงหาผลประโยชน์อันจะต้องขออนุญาตต่อศาลก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔(๑๑) หากแต่เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายไม่เป็นการต้องห้ามตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔ สัญญาซื้อขายบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว
๑๐ การท้าเป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลที่คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะ ไม่ได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อก่อเปลี่ยนแปลงโอนสงวน ระงับซึ่งสิทธิ์จึงไม่เป็นนิติกรรมตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙ จึงไม่ใช่กรณีที่ต้องขออนุญาตศาลก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔แต่อย่างใดไม่ แม้ว่าการที่ โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองฟ้องคดีให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า ๓ ปีแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตาม ปพพ มาตรา ๑๕๗๔(๕)ก็ตาม แต่เมื่อการท้ากันไม่ใช่การทำนิติกรรม จึงไม่นำบทกฏหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ เมื่อโจทก์แพ้คดีตามคำท้า จำเลยที่ ๑ ย่อมบังคับคดีตามฟ้องแย้งได้โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องแย้งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าหรือไม่เพราะเป็นเรื่องนอกคำท้าไม่ถืออยู่ในบังคับในเรื่องการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ปพพ มาตรา ๕๓๘ เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ฟ้องแย้งและจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้อาศัย คำพิพากษาให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นผู้อาศัยเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากคำขอตามฟ้องแย้งซึ่งถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งจึงต้องตัดสินตามฟ้องแย้งจะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในฟ้องแย้งไม่ได้ คำขอที่ให้ให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นผู้อาศัยเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากคำขอตามฟ้องแย้ง จึงไม่ชอบตาม ปวพ มาตรา ๑(๓),๑๔๒ และปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามปวพ มาตรา ๑๔๒(๕).

ไม่มีความคิดเห็น: