ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

“แม้ยังไม่ได้ฟ้อง”

จำเลยที่ ๑ เคยเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ มีหน้าที่เกี่ยวการเบิกจ่ายเงิน จำเลยที่ ๒ เป็นน้องเขยจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ปลอมใบสั่งจ่ายเงินงบประมาณฏีกาเลขที่......ได้รับเงินของโจทก์ไป ๑,๒๓๐,๓๐๐ บาท ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร ปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ ปลอมใช้เอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสาราชการปลอม ฉ้อโกงจำคุกจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้ราคา ศาลอุทธรณ์ศาลฏีกาพิพากษายืน จำเลยที่ ๑ วางเงินจำนวน ๑,๒๓๐,๓๐๐ บาทต่อศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ นอกจากใบฏีกาปลอมที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องแล้ว สนง.ตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่าจำเลยที่ ๑ ปลอมใบสั่งจ่ายเงินงบประมาณอีก ๑๒ ฏีกา และเบิกเงินไปใช้ส่วนตัว ๑๒,๘๘๕,๙๗๒.๘๙บาท พนักงานอัยการฟ้องจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ปลอมเอกสารและฉ้อโกง จำเลยหลบหนี ต่อมาวันที่ ๑๕ พ.ย.๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินโฉนด ๓๒๓๒๖พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่.....ให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๘๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ นำบ้านและที่ดินดังกล่าวไปจำนองประกันหนี้เงินกู้แก่ธนาคาร กรุงเทพฯ. เป็นเงิน ๙๘๓,๐๐๐บาท ต่อมาวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๓๑๗,๓๒๓๑๘,๓๒๓๒๗ให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยที่ ๒ นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๒๓๑๗,๓๒๓๑๘ไปประกันหนี้เงินกู้ธนาคารเกียรติ์นาคิน จำกัด เป็นเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท นั้น จำเลยที่ ๒ ยื่นฏีกาว่า ปพพ มาตรา ๒๓๗ ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น หมายถึง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หนี้จำนวน ๑๒,๘๘๕,๙๗๒.๘๙ บาท ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฏีกาเห็นว่า การฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ปพพ มาตรา ๒๓๗ เป็นการให้สิทธิ์เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ปพพ มาตรา ๒๑๔ ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉล จึงหมายถึงเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิ์เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ “ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่” แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิ์ฟ้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อสนง. ตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่า จำเลยลปลอมเอกสารใบสั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๒ ฏีกาและเบิกเงินงบประมาณของโจทก์ไปใช้ส่วนตัว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่มีสิทธิ์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ นิติกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่? นั้นเห็นว่า พ.ต.ต. ด เจ้าหน้าที่คดีวินัยทางการเงินและตรวจสอบทรัพย์สิน ได้ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ แล้วปรากฏว่า การตรวจสอบที่ดอินของจำเลยที่ ๑ ทั่วราชอาณาจักรพบว่าจำเลยที่ ๑ มีที่ดินมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดเลขที่ ๓๒๓๑๗,๓๒๓๑๘,๓๒๓๒๗ เท่านั้น ไม่พบการถือครองกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรออสังหาริมทรัพย์มีค่าอื่น ที่ดินทั้งสี่แปลงมีราคาประเมินตารางวาละ ๖,๘๐๐ บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๓๑๗,๓๒๓๑๘,๓๒๓๒๗ มีราคาประเมินรวม ๑,๒๖๔,๘๐๐ บาท แต่จำเลยทั้งสองขายในราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้เถียงว่า จำเลยที่ ๑ ยังมีทรัพย์สินอื่น และจำเลยที่ ๑ เบิกความยอมรับว่า ขณะซื้อที่ดินจำเลยที่ ๒ รู้ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหนี้โจทก์ พฤติการณ์จำเลยที่ ๑ ที่โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตนมีทั้งหมดให้จำเลยที่ ๒ ในราคาต่ำ โดยจำเลยทั้งสองรู้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายได้ แม้จำเลยที่ ๒ ฏีกาว่า รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมไม่ได้ นั้นเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่การซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ พิพากษายืน คำพิพากษาฏีกา ๘๘๓๗/๒๕๕๗
ข้อสังเกต ๑.ในความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาจะเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ด้วย แต่ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร ปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ ปลอมใช้เอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสาราชการปลอมที่โจทก์ยิ่นฟ้องไม่ใช่ฐานความผิดตาม ปวอ มาตรา ๔๓ ที่ผู้เสียหายจะขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้
๒.การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ต้องบรรยายมาในฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตาม ปวอ มาตรา๑๕๘ มิเช่นนั้นศาลให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ดำเนินคดีในส่วนนี้และเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก
๓.เจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆอันลูกหนี้ได้กระทำไปโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ตาม ปพพ มาตรา ๒๓๗ เว้นเสียแต่บุคคลผู้ได้”ลาภงอก” แต่การนั้น ไม่ได้รู้ถึงข้อความอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่หากเป็นการให้โดยเสน่หา ลูกหนี้รู้แต่ผู้เดียวว่าการทำนิติกรรมใดๆอันลูกหนี้ได้กระทำไปเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ก็ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ ปพพ มาตรา ๒๓๗ ตอนท้าย โดยต้องทำการฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน แต่อย่างไรห้ามฟ้องเมื่อพ้น ๑๐ ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ปพพ มาตรา ๒๔๐ การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นไม่กระทบถึงสิทธิ์บุคคลภายนอกอันได้สิทธิ์มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่หากเป็นการให้โดยเสน่หาแล้วแม้บุคคลภายนอกอันได้สิทธิ์มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ก็สามารถฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ปพพ มาตรา ๒๓๘
๔.การที่ จำเลยที่ ๒ ยื่นฏีกาว่า ปพพ มาตรา ๒๓๗ ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น หมายถึง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หนี้จำนวน ๑๒,๘๘๕,๙๗๒.๘๙ บาท ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฏีกาเห็นว่า การฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ปพพ มาตรา ๒๓๗ เป็นการให้สิทธิ์เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ปพพ มาตรา ๒๑๔ โดยเจ้าหนี้มีสิทธิ์ให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย และหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตรงความประสงค์แห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ชอบที่จะได้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการนั้น ปพพ มาตรา ๒๑๕
๕. ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉล จึงหมายถึงเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิ์เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ดังนั้น “ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่” หรือ “ แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้” ก็มีสิทธิ์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้
๕.เมื่อสนง. ตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่า จำเลยปลอมเอกสารใบสั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๒ ฏีกาและเบิกเงินงบประมาณของโจทก์ไปใช้ส่วนตัว โจทก์ในฐานะที่เป็น สนง. ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ ๑ เคยรับราชการอยู่ ย่อมได้รับความเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยที่ ๑ ทำการปลอมเอกสารและใช้เอกสารราชการปลอมแล้วนำไปเบิกเงินไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ อีกทั้งการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารราชการเบิกเอาเงินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่การกระทำการในหน้าที่ของจำเลย เพราะจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อเบิกเงินมาเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ โจทก์ในฐานะที่เป็นหน่วยราชการและเป็น “ หน่วยงานของรัฐ ตาม พรบ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ มาตรา ๔ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็น “ ข้าราชการ” ย่อมเป็น “ เจ้าหน้าที่ “ ตามความหมายใน มาตรา ๔ ของพรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดฯ เมื่อการกระทำละเมิดดังกล่าวไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัวตาม มาตรา ๖ พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด ฯ โดยในมาตรา ๑๐ของกฎหมายดังกล่าว เมื่อปรากฏว่า เมื่อเป็นกรณี “ เจ้าหน้าที่ “ กระทำผิดต่อ “ หน่วยงานของรัฐ” เมื่อไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ คือถือว่า จำเลยที่ ๑ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ปพพ มาตรา ๔๒๐ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่งแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่มีสิทธิ์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้โดยคืนเงินที่ถูกจำเลยเอาไปได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
๖. การตรวจสอบที่ดินของจำเลยที่ ๑ ทั่วราชอาณาจักรพบว่าจำเลยที่ ๑ มีที่ดินมีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดเลขที่ ๓๒๓๑๗,๓๒๓๑๘,๓๒๓๒๗ เท่านั้น ไม่พบการถือครองกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรออสังหาริมทรัพย์มีค่าอื่น ที่ดินทั้งสี่แปลงมีราคาประเมินตารางวาละ ๖,๘๐๐ บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๓๑๗,๓๒๓๑๘,๓๒๓๒๗ มีราคาประเมินรวม ๑,๒๖๔,๘๐๐ บาท แต่จำเลยทั้งสองขายในราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาท การขายที่ดินในราคาต่ำกว่าราคาประเมินทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนเป็นหนี้ทางแพ่งอยู่กับโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีเจตนายักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อให้พ้นจากการถูกบังคับคดี ทั้งยังได้ความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นน้องเขยจำเลยที่ ๑ ด้วยแล้วยิ่งส่อให้เห็นเจตนาฉ้อฉลในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อให้พ้นจากการถูกบังคับชำระหนี้
๗.จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้เถียงว่า จำเลยที่ ๑ ยังมีทรัพย์สินอื่น และจำเลยที่ ๑ เบิกความยอมรับว่า ขณะซื้อที่ดินจำเลยที่ ๒ รู้ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหนี้โจทก์ พฤติการณ์จำเลยที่ ๑ ที่โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตนมีทั้งหมดให้จำเลยที่ ๒ ในราคาต่ำ โดยจำเลยทั้งสองรู้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายได้
๘.แม้จำเลยที่ ๒ ฏีกาว่า รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมไม่ได้ นั้นเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่การซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เพราะการได้มาโดยการซื้อขายที่ดินดังกล่าว “เป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์” แม้ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ปพพ มาตรา ๑๒๙๙วรรคแรกก็ตาม แต่บทบัญญัติในกฏหมายดังกล่าวใช้คำว่า “ ภายใต้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” นั้นก็คือเมื่อในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งในประมวลกฎหมายนี้คือ ปพพ มาตรา ๒๓๗ บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำไปทั้งที่รู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้ลาภงอกจากการนั้นรู้เท่าข้อความจริงที่ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษา ย่อมรู้ว่า การโอนที่ดินของจำเลยที่ ๑ นั้นทำให้โจทก์เสียเปรียบ ทั้งยังเป็นการโอนระหว่างพี่เขยน้องเขยและโอนในราคาต่ำกว่าราคาประเมินหรือราคาท้องตลาดเป็นจำนวนมาก จำเลยที่ ๒ ย่อมรู้ว่าการโอนขายที่ดินดังกล่าวเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์สามารถฟ้องขอเพิกถอนการโอนได้ จำเลยที่ ๒ ไม่อาจอ้าง ปพพ มาตรา ๑๒๙๙วรรคแรกว่าตนรับโอนโดยสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนมาใช้ยันในกรณีนี้ได้
๙..การที่ตรวจแล้วไม่พบการถือครองกรรมสิทธิ์ในรถยนต์อาจเกิดจากกรณีซื้อรถแล้วยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนโดยยังเป็นรถป้ายแดงไม่จดทะเบียนเพื่อเลี่ยงภาษี หรือเมื่อซื้อรถมือสองมาแล้วมีการโอนทะเบียนลอยของผู้ขายไว้ แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้ไปทำการจดทะเบียนโอนเป็นชื่อของตน หรือเมื่อซื้อได้จดทะเบียนในนามบุคคลอื่นที่เป็นสามีภรรยาบุตรหรือหลานเพื่อเจตนาเลี่ยงการถูกตรวจสอบในเรื่องความมีอยู่แห่งทรัพย์สินว่าเป็นคนที่ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
๑๐.การตรวจสอบความมีอยู่ของทรัพย์สินสามารถตรวจสอบได้จากการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อาคารชุด สิทธิ์เรียกร้องในบัญชีเงินฝากของธนาคาร สลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ พันบัตร เป็นต้น หากไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฏหมายที่จะสามารถตรวจสอบแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นจะปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลโดยถือเป็นความลับและได้รับการคุ้มกันตามกฏหมายของหน่วยงานนั้นๆ
๑๑.อำนาจในการตรวจสอบทรัพย์สินตลอดทั้งสิทธิ์เรียกร้องในบัญชีเงินฝากในธนาคาร สลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน อาคารชุด รถยนต์ เป็นต้น พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตามพรบ.องค์กรอัยการฯ มาตรา ๑๔,๑๖,๑๘,๒๓ ปอ. มาตรา ๒๙/๑ ปวอ มาตรา ๑๑๙ และประกาศคณะกรรมการอัยการเรื่องแบ่งหน่วยงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในสนง.อัยการสูงสุด พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๖(๑๙)และ๗(๑๙) ให้อำนาจสนง.การบังคับคดี สนง.อัยการสูงสุด มีอำนาจในการตรวจสอบข้อมูลทางทรัพย์สินและสถานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของหน่วยงานของรัฐ และจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาหรือนายประกันที่ผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาล ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการ เพื่อการพิจารณา การแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมหลักฐาน เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีแก่จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือนายประกัน ทั้งพนักงานอัยการมีอำนาจออกคำสั่งหรือขอความร่วมมือเป็นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร ที่ดิน กรมการขนส่งทางบก ธนาคาร ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา โดย “คำสั่ง” ของพนักงานอัยการตาม มาตรา ๑๖ ของพรบ.องค์กรอัยการฯ ถือเป็น “คำบังคับ” ตามประมวลกฏหมายอาญา ซึ่งใน ปอ มาตรา ๑๖๙ บัญญัติว่า ผู้ใดขัดขืนคำบังคับตามกฏหมายของพนักงานอัยการให้ส่ง หรือจัดส่งทรัพย์หรือเอกสารใด ให้สาบาน ให้ปฏิญาณ ให้ถ้อยคำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
๑๒.ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังได้ความว่าจำเลยที่ ๑ เคยขอผ่อนชำระหนี้ที่ต้องชดใช้ แต่กระทรวงการคลังไม่อนุมัติ เพราะหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการทุจริตของจำเลยที่ ๑ หาใช่เป็นมูลหนี้ที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือกระทำโดยไม่ตั้งใจแต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจอ้างมาตรา ๑๓ แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาใช้บังคับโดยขอผ่อนชำระเงินที่ต้องรับผิดโดยคำนวณรายได้ฐานะความรับผิดชอบและพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบเป็นเกณท์ในการขอผ่อนได้

ไม่มีความคิดเห็น: