ค้นหาบล็อกนี้
วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ยอดเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีที่มาจากการนำหนี้เก่ารวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๘๑/๒๕๖๔
ยอดเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีที่มาจากการนำหนี้เก่ารวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน เมื่อยอดเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีดอกเบี้ยที่โจทก์ร่วมเรียกในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔ (๑) การที่โจทก์ร่วมรับเช็คพิพาททั้งห้าฉบับจากจำเลยเพื่อชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวโดยมีดอกเบี้ยที่โจทก์ร่วมเรียกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ก็จะถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๒ (๔) ไม่ได้ แม้โจทก์ร่วมจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เข็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ ก็ตาม ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจท์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๑๒๐ และ ๑๒๑ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔
วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563
จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบจำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2563
การกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 และ 182จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินสดจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติของธนาคาร ก. และธนาคาร ท. รวม 7 ครั้ง ตามฟ้องจริง ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยจะใช้บัตรแต่ละใบใน 3 ใบ เบิกเงินแต่ละจำนวน ตามที่มีเงินอยู่ในบัญชีของบัตรแต่ละใบ โดยใช้ตู้เบิกถอนเงินต่างธนาคารและต่างเวลากัน ลักษณะการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2559
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2490/2558
แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้บัตรเครดิตปลอมทั้ง 5 ใบ ในคราวเดียวกัน แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์บัตรเครดิตของกลางว่า บัตรเครดิตปลอมแต่ละใบมีข้อมูลในบัตรของผู้ถือบัตรต่างรายกัน ต่างหมายเลขกันและมีข้อมูลของสมาชิกผู้ถือบัตรต่างธนาคารกัน บัตรทุกใบมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสดได้ ทั้งโดยสภาพของการใช้บัตรดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาให้มีการนำไปใช้แต่ละใบแยกต่างหากจากกัน ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรตามเนื้อความของบัตรเครดิตปลอมแต่ละใบ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้เพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ รวม 5 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20134/2556
องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 มีว่า "ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ด้วย แต่ฟ้องโจทก์มิได้มีข้อความดังกล่าว และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดยตลอดก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11227/2555
องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คือ ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8833/2554
การที่จำเลยนำบัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนเงินสดและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะได้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย จำเลยใช้บัตรเอ ที เอ็ม ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาต่อเนื่องกันและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินของผู้เสียหาย หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจะเป็นความผิดสำเร็จก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2553
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 2 ปี และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำคุก 3 ปี แต่ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ศาลชั้นต้นปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ให้ถูกต้องเท่านั้น ส่วนโทษคงพิพากษาจำคุก 3 ปี เช่นเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 212
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15630/2553
จำเลยมิได้ร่วมกับคนร้ายในการลักบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการเพื่อโอนเงินคงเป็นเรื่องของคนร้ายซึ่งทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายมิใช่จำเลยเป็นผู้กระทำ ไม่พอฟังว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่จำเลยยอมให้คนร้ายโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้าบัญชีของจำเลยและยอมให้คนร้ายใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยเพื่อให้การลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จดังกล่าว ถือเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86
การลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้ง ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ ส. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายและธนาคาร ซ. ดังนั้น คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการนำเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งธนาคารออกให้แก่ผู้เสียหาย ที่จำเลยลักไปจากผู้เสียหาย ไปทำการถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายอยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายโจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์แทนผู้เสียหายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) ซึ่งออกให้แก่ น. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ น. และบริษัท บ. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 188
การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัท บ. ซึ่งออกให้แก่ น. แล้วใช้บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดอัน เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ มาตรา 269/7 รวม 3 ครั้ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อๆ และการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัว เองต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทแตกต่างกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่าง กัน การกระทำของจำเลยฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตกับฐานใช้บัตรเครดิตจึง เป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยนำ บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2550
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 17)ฯ กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและต้องระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจาก บัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่
บัตรอิเล็กทรอนิกส์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11227/2555
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา 269/5 269/6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.192 วรรคหนึ่ง 192วรรคหนึ่ง ป.อ. ม.269/5 ม.269/6 ป.วิ.อ.
เนื้อหา
องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คือ ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 269/1, 269/4, 269/7, 91 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินรวม 314,411.21 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 269/1, 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม (ที่ถูก เพียงกระทงเดียว) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์นั้น ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด (ที่ถูก เพียงกระทงเดียว) ตามมาตรา 269/4 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานใช้เอกสารปลอม จำคุกกระทงละ 3 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด จำคุกกระทงละ 9 เดือน รวมจำคุก 24 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 314,411.21 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 269/1, 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 มิใช่ความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 โจทก์จึงไม่อาจขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่ผู้เสียหายได้ จึงยกคำขอในส่วนนี้ และข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานใช้เอกสารปลอม รวมจำคุก 6 เดือน ข้อหาปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสดให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม 2 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอม รวมจำคุก 6 เดือน เท่ากับศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม 2 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 และฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/6 นั้น เห็นว่า องค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติดังกล่าวคือใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงมิใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาของให้ศาลรอการลงโทษจำคุกหรือเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษปรับนั้นเป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
พิพากษายืน
คดีบัตรATM บัตรเครดิต บัตรเดบิต ตามกฎหมายเรียกว่า "บัตรอิเล็กทรอนิกส์"
ประเด็น : ลักบัตรเอทีเอ็มแล้วนำไปถอน-โอนเงิน เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ลักบัตร หากนำไปใช้ด้วยรับโทษบทหนักกว่าตามมาตรา 188
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543
การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม.ไปจากผู้เสียหายแล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็มดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหาย โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม
การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้นเป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของ ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188
บัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบการกระทำของจำเลยที่ใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายแล้วลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกันแม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่
ประเด็น : ลักบัตรเครดิตแล้วนำไปรูดซื้อสินค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552
บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดมีลักษณะตามบทนิยามคำว่า "เอกสาร" ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) จึงเป็นเอกสาร และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 แตกต่างกับความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารสิทธิซึ่งออกให้แก่ บ. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 188
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในแต่ละข้อต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำผิดก็เป็นคนละประเภทแตกต่างกัน ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรเครวีซ่าการ์ด จากนั้นจำเลยนำไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดรวม 3 ครั้ง ย่อมเป็นความผิดหลายกรรม
การนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสดจำนวน 3 คราว เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น 3 กรรมต่างกัน
ประเด็น : บัตรเครดิตถูกลักขอโมยไปใช้ซื้อสินค้า เจ้าของบัตรไม่ต้องรับผิดชอบถือเป็นความบกพร่องธนาคารเองแม้จะมีข้อตกลงให้เจ้าของบัตรต้องรบผิดชอบ ก็ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวนั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552
ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์
ใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นโดยมิชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 350 / 2564
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซค์ อโกด้า ดอทคอม โดยโจทก์ไม่ยินยอม เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบหรือไม่
บัตรเครดิตถือเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์ " ตามบทนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) เนื่องจากผู้ออกได้ออกเอกสารคือบัตรเครดิตให้แก่ผู้มีสิทธิใช้โดยมีการบันทึกข้อมูลในชิปการ์ดและเทปแม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ส่วนข้อมูลบัตรเครดิต ได้แก่ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือ และวันหมดอายุ เมื่อปรากฎอยู่บนบัตรเครดิต ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ถือว่าเป็นกรณีที่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ จึงไม่เป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามบทนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข)
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) เป็นเพียงบทนิยามว่าสิ่งใดเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่มิได้ระบุเกี่ยวกับวิธีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นวิธีใช้โดยทั่วไปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนั้นหรือไม่ โดยไม่จำกัดว่าหากเป็น "บัตรอิล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) แล้ว การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเป็นการใช้เอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ผู้ออกได้ออกให้โดยตรงเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข) ที่ระบุว่า "....วิธีการใช้ทำนองเดียวกับ (ก)" ทั้งที่ไม่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดไว้ให้ แสดงว่าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) ย่อมสามารถใช้เฉพาะข้อมูลหรือรหัสได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยว่าจำเลยใช้บัตรเครดิตของโจทโดยมิชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันการกรอกข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดผ่านทางเว็บไซต์ โดยผู้รับชำระไม่ต้องเห็นบัตรเครดิต เป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปวิธีหนึ่ง การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซต์ อ. ดอทคอม จึงเป็นการใช้บัตรเครดิตของโจทก์แล้ว จำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7
วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 (ค้ามนุษย์)
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91
- พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4, 6, 9, 52
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 210, 295
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 210, 295
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 225
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่า ความผิดนั้นมีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 210 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามมาตรา 210 วรรคสอง ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92, 210, 289, 290 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1102/2561 ของศาลชั้นต้น และเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสามตามกฎหมายจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษระหว่างพิจารณานายสมศรี บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายธีรศักดิ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวม 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องจำเลยทั้งห้าให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 290 วรรคสอง, 289 (4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรคนละ 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1094/2561 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลให้รอการลงโทษจึงไม่อาจนับโทษต่อ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ยกคำร้องที่ขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระค่าสินไหมทดแทน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยคู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2561 เวลากลางคืน มีการแสดงหมอลำที่บ้านชาติ หมู่ที่ 5 และที่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 6 จำเลยทั้งห้ากับพวกชมการแสดงหมอลำที่บ้านหัวฝายก่อนแล้วจึงพากันไปชมการแสดงที่บ้านชาติ จนกระทั่งใกล้เวลา 1 นาฬิกา ของวันที่ 8 เมษายน 2561 มีกลุ่มวัยรุ่นไม่ทราบว่ามาจากหมู่บ้านใดเข้ามาล้อมจำเลยทั้งห้ากับพวกแล้วขว้างขวดใส่ เป็นเหตุให้นายสุริยันต์หรือโก๊ะตี๋ พวกของจำเลยทั้งห้าได้รับบาดเจ็บเลือดออกที่บริเวณใบหน้า เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณงานเข้าห้ามทั้งสองกลุ่มไม่ให้วิวาทกันและนำจำเลยทั้งห้ากับพวกออกจากงานโดยตามไปส่งจนถึงบ้านหัวฝาย ต่อมาเวลา 1 นาฬิกาเศษ ของวันเกิดเหตุ ขณะที่ผู้ตายเดินอยู่บนถนนสายบ้านเปือยใหญ่ – บ้านชาติ บริเวณหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเปือยใหญ่ จำเลยที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาพบจึงขว้างขวดเบียร์ใส่ เตะ ถีบ และกระทืบใบหน้ากับศีรษะของผู้ตายหลายครั้ง ผู้ตายถูกนำส่งโรงพยาบาลและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เนื่องจากสมองได้รับบาดเจ็บมีเลือดออกจากการกระแทกของแข็งไม่มีคมอย่างแรง สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีคู่ความฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีส่วนแพ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และยกคำร้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า แม้พยานโจทก์ดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่เบิกความว่าที่หน้าร้านค้ายายขาวที่บ้านหัวฝายมีการพูดคุยตกลงกันว่าจะไปทำร้ายกลุ่มวัยรุ่นบ้านชาติเพื่อเป็นการแก้แค้นที่นายสุริยันต์ถูกทำร้ายบาดเจ็บมาก่อนก็ตาม แต่โจทก์ก็มีนายภัควัตรเบิกความยืนยันว่า ที่หน้าร้านค้ายายขาวมีการพูดคุยตกลงกันว่าจะไปเอาคืน ซึ่งหมายถึงแก้แค้นกลุ่มวัยรุ่นบ้านชาติ แต่พยานไม่ไปเพราะพาน้องอายุยังน้อยมาด้วยจึงกลับบ้านพร้อมกับรถกระบะของนายสมหวัง นายภัควัตรรู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเบิกความได้ต่อเนื่องเชื่อมโยงและสมเหตุสมผล ทั้งสอดคล้องกับคำเบิกความตอนหนึ่งของนายสุริยันต์ที่ว่ากลุ่มนายสมหวังกลับบ้านไปก่อน คำเบิกความของนายภัควัตรจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีแก่นายภัควัตรก็เนื่องจากนายภัควัตรไม่ได้ร่วมเดินทางไปก่อเหตุด้วย หาได้มีข้อพิรุธว่าจะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดอย่างที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ เมื่อฟังคำเบิกความของนายภัควัตรประกอบกับพยานโจทก์ปากอื่น ๆ ที่ว่ามีการรวมตัวกันที่หน้าร้านค้ายายขาวที่บ้านหัวฝายก่อนเดินทางไปบ้านชาติ ซึ่ง ณ ที่นั้นมีนายสุริยันต์ที่เพิ่งถูกทำร้ายมาและยังมีบาดแผลบนใบหน้าให้เห็นอยู่ด้วย ทั้งมีการชักชวนนายวิชัย นายอนุรักษ์และนายพลากรให้ร่วมเดินทางไปบ้านชาติด้วย อันเป็นพฤติกรรมรวบรวมพรรคพวกเพื่อไปก่อเหตุมากกว่าไปชมการแสดงหมอลำตามข้ออ้าง ซึ่งขณะนั้นการแสดงน่าจะเลิกแล้ว เมื่อถึงที่เกิดเหตุพบผู้ตายเดินอยู่บนถนนเพียงลำพังก็เข้าทำร้ายทันที โดยนายสุริยันต์เบิกความถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า มีคนในกลุ่มพยานตะโกนว่าผู้ตายเป็นคนขว้างขวดใส่พยาน พยานจึงขว้างขวดเบียร์ใส่ผู้ตายและพวกพยานเข้ารุมทำร้ายผู้ตาย ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นข้อบ่งชี้ว่า ก่อนเกิดเหตุมีการคบคิดประชุมวางแผนและตกลงกันที่หน้าร้านค้ายายขาวที่บ้านหัวฝายว่าจะไปแก้แค้นกลุ่มวัยรุ่นบ้านชาติ โดยมีการตระเตรียมขวดเบียร์ที่ใช้ขว้างผู้ตายไปด้วย แม้นายสุริยันต์จะเบิกความอ้างว่าเรื่องที่ตนเองถูกทำร้ายและต้องการแก้แค้นนั้นเป็นความคิดอยู่ในใจไม่ได้บอกพวกของตนก็ตาม แต่เป็นข้ออ้างที่ขัดต่อเหตุผลเพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันทันที ในชั้นสอบสวนนายสุริยันต์นายวิชัยและนายอนุรักษ์ก็ได้ให้การไว้ในฐานะพยานโดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงตรงกันว่าก่อนเกิดเหตุมีการประชุมกันที่หน้าร้านค้ายายขาวที่บ้านหัวฝายว่า จะกลับไปเอาคืนหรือแก้แค้นกลุ่มวัยรุ่นที่ทำร้ายนายสุริยันต์ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมด้วย โดยพันตำรวจโทศราวุธ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโนนศิลา เบิกความยืนยันว่า ในการสอบปากคำพยานทั้งสามปากดังกล่าวมีผู้ปกครองหรือบุคคลที่พยานไว้วางใจร่วมฟังการสอบสวนและได้สอบสวนต่อหน้าสหวิชาชีพ นายสุริยันต์และนายอนุรักษ์ให้การในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ ส่วนนายวิชัยให้การหลังเกิดเหตุเพียงสองวัน เชื่อว่าขณะนั้นไม่มีโอกาสคิดปรุงแต่งเรื่องเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 2 กับพวก แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การดังกล่าว น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและสหวิชาชีพหาได้มีการจูงใจหรือกระทำโดยไม่ชอบอย่างที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 อยู่ในเหตุการณ์ตลอดตั้งแต่ตอนชมการแสดงหมอลำที่บ้านหัวฝายแล้วย้ายไปชมการแสดงที่บ้านชาติ ตอนเกิดเหตุที่นายสุริยันต์ได้รับบาดเจ็บที่บ้านชาติ ตอนกลับมารวมตัวกันที่หน้าร้านค้ายายขาวที่บ้านหัวฝาย ตลอดจนตอนกลับไปที่บ้านชาติอีกครั้งและเกิดเหตุทำร้ายผู้ตายซึ่งเป็นวัยรุ่นกลุ่มบ้านชาติ เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดประชุมวางแผนและตกลงว่าจะไปทำร้ายผู้อื่นด้วย เมื่อเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร โดยหาจำต้องเป็นการสมคบเพื่อทำร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงอย่างที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นอย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่า ความผิดนั้นมีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามมาตรา 210 วรรคสอง ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนละ 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ส่วนโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4
ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นรูดลง
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 277 วรรคสอง (เดิม), 279 วรรคหนึ่ง (เดิม), 279 วรรคสี่ (ใหม่)
- แม้ ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ให้ความหมายของการกระทำชำเราว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น แต่การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นนั้น หากเป็นกรณีชายกระทำต่อชายด้วยกัน ต้องเป็นการใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าในทวารหนักของผู้ถูกกระทำ หรือใช้อวัยวะเพศของชายผู้ถูกกระทำล่วงล้ำหรือสอดใส่เข้าไปในช่องปากหรือทวารหนักของผู้กระทำด้วย จึงจะเป็นความผิดสำเร็จ เมื่อจำเลยเพียงแต่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 รูดขึ้นรูดลงเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม)
ผ่อนทอง
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณสร้อยคอทองคำลายโซ่กลม ในลักษณะผ่อนชำระรายงวด อันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 4 (2) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งเสื้อคลุม 2 ตัว ซึ่งปักชื่อบริษัท น. จำเลยทั้งสองใช้สวมใส่เพื่อแสดงตนว่าเป็นพนักงานของบริษัท น. ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ริบได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5, 7, 8, 14, 16 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้คืนสมุดตารางการรับชำระค่าสินค้าในแต่ละครั้ง 1 แผ่น เงินสด 280 บาท รถจักรยานยนต์ และเสื้อคลุม 2 ตัว ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และห้ามจำเลยที่ 1 ทำงานติดตามทวงหนี้หรือยุ่งเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบสมุดตารางการรับชำระราคาสินค้า เงินสด รถจักรยานยนต์ และเสื้อคลุม ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขามีอำนาจตรวจสอบข้อมูลและอนุมัติขายสินค้าให้แก่ลูกค้า ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานทดลองงานโดยฝึกงานอยู่กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 นางสาวกุหลาบ ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอลายโซ่กลม น้ำหนัก 7.6 กรัม (สองสลึง) 1 เส้น ราคา 14,615.25 บาท จากบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ตกลงชำระราคาในวันทำสัญญา 1,400 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายวัน วันละ 280 บาท รวม 48 งวด โดยงวดสุดท้ายชำระ 55.25 บาท ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2561 จำเลยทั้งสองสวมเสื้อคลุมของบริษัทขับรถจักรยานยนต์ไปหาผู้เสียหายซึ่งขายผลไม้สดและผลไม้ดองอยู่ที่ตลาดวัดสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เพื่อเก็บเงินซึ่งผู้เสียหายผ่อนชำระราคาสร้อยคอทองคำที่ซื้อไปจำนวน 280 บาท หลังจากจำเลยทั้งสองได้รับเงินแล้ว พันตำรวจโทพีระพงษ์ และร้อยตำรวจเอกการุณ เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรนครปฐมกับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาร่วมกันอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าพนักงานตำรวจยึดสมุดตารางการรับชำระค่าสินค้าในแต่ละครั้ง 1 แผ่น เงินสด 280 บาท รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 1 กณ นครปฐม 7397 และเสื้อคลุม 2 ตัว เป็นของกลาง วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มีหนังสือที่ กค 1014/2953 ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรดอนตูมชี้แจงว่า บริษัทที่ขายสินค้าของตนเองเป็นทางการค้าปกติและให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปสามารถเลือกผ่อนชำระเงินเป็นงวด ๆ ได้ จะไม่ถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โจทก์มิได้ฎีกาจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คดีคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำการอันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้เสียหายได้รับสร้อยคอทองคำจากบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ก็นำไปขายในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้เสียหายในการผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทว่าผู้เสียหายต้องการเงินสดจากบริษัทมาใช้จ่ายตามความประสงค์ของตนเท่านั้น หาใช่ต้องการทองรูปพรรณมาเพื่อเป็นเครื่องประดับหรือเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรในส่วนต่างของราคาทองคำที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตแต่อย่างใดไม่ เมื่อพิจารณาถึงการประกอบการธุรกิจของบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ปรากฏว่าบริษัทมีสถานประกอบการเป็นอาคารพาณิชย์ และมีป้ายโฆษณาติดไว้ที่ด้านหน้าของอาคาร ว่า “จำหน่าย : อุปกรณ์เสริม เคสมือถือ บัตรเติมเงิน ซิมการ์ด เบอร์เทพ ติดฟิล์มกันรอยทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ” โดยไม่ได้ระบุถึงการจำหน่ายทองรูปพรรณแต่อย่างใด ส่วนภาพที่ 3 เป็นตู้วางสินค้าซึ่งไม่แน่ชัดว่าขณะเกิดเหตุมีสินค้าวางอยู่ตามภาพหรือไม่ เพราะเป็นภาพถ่ายที่จำเลยทั้งสองส่งเป็นพยานในชั้นพิจารณา อาจมีการนำสินค้ามาวางแล้วถ่ายภาพหลังจากจำเลยทั้งสองถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตู้วางสินค้าดังกล่าวมีสินค้าอยู่ในตู้เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีกำไล แหวน และสร้อยคอทองคำเพียงไม่กี่ชิ้นรวมอยู่ในกล่องกระจกเพียงกล่องเดียววางปะปนอยู่กับสินค้าที่เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบริษัทไม่ได้มีทองรูปพรรณวางจำหน่ายเป็นปกติทางการค้าของตนเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเหมือนเช่นร้านค้าทองทั่วไป เมื่อได้รับการติดต่อจากผู้เสียหาย บริษัทจึงไปซื้อสร้อยคอทองคำมาให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายด้วยวิธีผ่อนชำระราคาแก่บริษัทเป็นรายวัน แต่จากเจตนาที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ต้องการเงินสดมาใช้จ่ายย่อมไม่มีความจำเป็นที่ผู้เสียหายจะต้องเลือกแบบของทองรูปพรรณเพราะอย่างไรก็ต้องนำไปขายอยู่ดี คำเบิกความของนายเอกชัยและนางสาวสุดาพยานจำเลยทั้งสองที่อ้างว่า ผู้เสียหายมีความประสงค์จะซื้อสร้อยคอทองคำลายโซ่กลมหนักสองสลึงจึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่า ผู้เสียหายเพียงแต่แจ้งความประสงค์ต้องการเงินจำนวนหนึ่งแก่บริษัท แล้วบริษัทไปซื้อสร้อยคอทองคำที่มีราคาใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายต้องการมาให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายในราคาที่บวกผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับด้วยวิธีผ่อนชำระราคาแก่บริษัทเป็นรายวันแทน ทั้งนี้เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อห้ามเรื่องการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยบริษัททราบดีอยู่แล้วว่าผู้เสียหายจะนำสร้อยคอทองคำที่ได้รับไปขายในทันทีเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสด เหตุที่ผู้เสียหายยินยอมทำสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดตามความประสงค์ของตนในลักษณะที่จำยอมต้องกระทำ หาใช่ว่าผู้เสียหายเปลี่ยนเจตนาในการทำนิติกรรมจากกู้ยืมเงินมาเป็นการซื้อขายสร้อยคอทองคำแบบผ่อนชำระราคาโดยสมัครใจดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ การที่บริษัทให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำด้วยวิธีผ่อนชำระราคาจึงเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทซื้อสร้อยคอทองคำมาในราคา 10,300 บาท แต่กำหนดราคาขายให้ผู้เสียหาย 14,615.25 บาท โดยต้องผ่อนชำระราคาให้แล้วเสร็จภายใน 48 วัน คำนวณเป็นผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 318 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของบริษัทจึงมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากนางสาวสุดาว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่บริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุประมาณ 3 ปี ต่อมาให้ทดลองงานเป็นผู้จัดการสาขา มีหน้าที่อนุมัติการซื้อขายสินค้าแทนนางสาวสุดา สอดคล้องกับสำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งของและสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าสร้อยคอทองคำที่บริษัทขายให้แก่ผู้เสียหาย ที่มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจแสดงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นกับวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทรวมทั้งการทำสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำระหว่างบริษัทกับผู้เสียหายอันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำการอันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณสร้อยคอทองคำลายโซ่กลม ในลักษณะผ่อนชำระรายงวด อันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 4 (2) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบเสื้อคลุมและรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ปรากฏว่าเสื้อคลุม 2 ตัว ซึ่งปักชื่อบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด จำเลยทั้งสองใช้สวมใส่เพื่อแสดงตนว่าเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าว ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรงอันศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กับที่ให้ริบเสื้อคลุมและรถจักรยานยนต์ของกลาง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไม่ริบเสื้อคลุม 2 ตัว และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 1 กณ นครปฐม 7397 ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
แก้ไขระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมให้เป็นรุ่นทดลองใช้
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 82
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม. 10
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 10จำเลยให้การปฏิเสธระหว่างพิจารณา บริษัท ส. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยเขียนโปรแกรมบริหารจัดการภายในด้วยระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาท รวมเวลา 2 ปี เป็นเงิน 1,680,000 บาท หลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจำเลยส่งมอบระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินให้โจทก์ร่วมไม่มีข้อความระบุว่า รุ่นทดลองใช้ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2559 ระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมมีข้อความขึ้นว่า รุ่นทดลองใช้ กำหนดวันสิ้นสุดการใช้งาน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2559 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมไม่สามารถใช้งานได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยให้เขียนโปรแกรมบริหารจัดการเพื่อใช้งานภายในบริษัท รวมระยะเวลาจ้าง 2 ปี เป็นเงินค่าจ้าง 1,680,000 บาท การที่ว่าจ้างเป็นระยะเวลานานและค่าจ้างในอัตราสูง เป็นการว่าจ้างให้เขียนโปรแกรมที่สมบูรณ์ให้ใช้งานได้ตลอดไปไม่มีวันหมดอายุ มิใช่ให้เขียนโปรแกรมที่ใช้งานได้เพียง 30 วัน โดยในช่วงแรกโปรแกรมที่จำเลยเขียนขึ้นส่งให้โจทก์ร่วมสามารถใช้งานได้ตามปกติไม่มีข้อความขึ้นว่า รุ่นทดลองใช้ และได้ความจากคำเบิกความของนางพรศรีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจำเลยจะขอทำงานให้โจทก์ร่วมต่อ โดยขอคิดค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท และค่าดูแลระบบที่จำเลยเขียนอีกเดือนละ 30,000 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมไม่ตกลงด้วย ระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมจึงมีข้อความขึ้นว่า รุ่นทดลองใช้ กำหนดวันสิ้นสุดการใช้งาน 30 วัน โปรแกรมที่จำเลยเขียนขึ้นจึงมีการแก้ไขในภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างแล้ว ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปแก้ไขโปรแกรมต้องเป็นคนเขียนโปรแกรม คือ จำเลย สอดคล้องกับที่มีการตรวจสอบรหัสต้นฉบับพบข้อความว่า Acting capt. Zastra thitiwattana ซึ่งเป็นชื่อจำเลย เมื่อจำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธว่ามิได้ใช้ชื่อดังกล่าว และจำเลยรับในฎีกาว่าจำเลยตั้งค่าโปรแกรมบัญชีและการเงินเป็นรุ่นทดลองใช้ ทั้งจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ตั้งแต่จำเลยเก็บของออกจากบริษัทโจทก์ร่วมในวันที่ 27 มกราคม 2559 จนถึงปลายเดือนมีนาคม 2559 จำเลยไม่เคยแจ้งโจทก์ร่วมว่าระบบบัญชีและการเงินของคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมจะขึ้นข้อความว่า เป็นรุ่นทดลองใช้ และมีกำหนดเวลาใช้งาน ข้ออ้างที่ว่าเป็นการใส่มาตรการทดสอบโปรแกรมไว้และแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบแล้ว นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนเข้าไปแก้ไขระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมเป็นรุ่นทดลองใช้ และมีกำหนดวันสิ้นสุดการใช้งาน 30 วัน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวที่จำเลยเขียนขึ้นและมอบให้โจทก์ร่วมใช้งานแล้วย่อมเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยจะเข้าไปแก้ไขโปรแกรมโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปแก้ไขระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมให้เป็นรุ่นทดลองใช้ มีกำหนดอายุการใช้งาน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2559 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป โดยไม่มีบุคคลอื่นนอกจากจำเลยผู้พัฒนาเขียนโปรแกรมขึ้นที่จะสามารถแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ จึงเชื่อว่าจำเลยแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบีบบังคับให้โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยให้ทำงานต่อไป ถือได้ว่าจำเลยกระทำการด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 และเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่มีการแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมเป็นรุ่นทดลองใช้ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมไม่สามารถทำงานตามปกติจากโปรแกรมที่ไม่มีวันหมดอายุเป็นโปรแกรมรุ่นทดลองใช้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่เป็นความผิดสำเร็จในวันที่หมดอายุดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้น การที่จำเลยมอบ External harddisk ให้แก่นายรัฐสิทธิ์ ที่ปรึกษาของโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 เพื่อใช้ปลดล็อกโปรแกรมรุ่นทดลองใช้ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ จึงมิใช่กรณีการพยายามกระทำความผิดแล้วยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 ดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
การยับยั้งเสียเอง
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 82, 277 วรรคหนึ่ง, 277 วรรคสาม (เดิม)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 284, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ตามฟ้องข้อ 1.1, 1.9, 1.11 และ 1.13 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามฟ้องข้อ 1.2, 1.10, 1.12 และ 1.14 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี 16 เดือน ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามฟ้องข้อ 1.4, 1.6, 1.8, 1.16, 1.18, 1.20, 1.22, 1.24, 1.26, 1.28 และ 1.30 จำคุกกระทงละ 5 ปี 4 เดือน รวม 11 กระทง เป็นจำคุก 55 ปี 44 เดือน และฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามฟ้องข้อ 1.31 จำคุก 4 ปี รวมทุกกระทงจำคุก 99 ปี 60 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 49 ปี 36 เดือน แต่ความผิดที่จำเลยกระทำกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี จึงให้จำคุกเพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) ด้วย จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 คงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 16 กระทง เมื่อลดโทษให้จำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 96 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี 120 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนาย อ. กับผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 และพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 และนาง ห. ซึ่งเป็นยาย ที่บ้านเลขที่ 63 บางครั้งผู้เสียหายที่ 1 จะไปพักอาศัยอยู่กับนาง ส. ย่าของผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 29 ซึ่งอยู่ใกล้กัน จำเลยมีศักดิ์เป็นลุงเขยของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปกระท่อมนาที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง ต่อมาในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 ถึงปลายเดือนสิงหาคม 2561 จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกหลายครั้ง รวม 15 ครั้ง โดยบางครั้งจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปพยายามกระทำชำเราที่กระท่อมนาที่เกิดเหตุ และบางครั้งจำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 นอนอยู่ในห้องนอนภายในบ้านเลขที่ 63 และบ้านเลขที่ 29 โดยในการกระทำแต่ละครั้งจำเลยจะบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ถอดเสื้อผ้าออกและนอนลงกับพื้น จากนั้นจำเลยใช้มือลูบคลำบริเวณหน้าอกและอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้วนำอวัยวะเพศของจำเลยพยายามสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่สามารถสอดใส่เข้าไปได้ สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามฟ้องข้อ 1.3, 1.4, 1.5, 1.6, 1.7, 1.8, 1.15 ถึง 1.30 นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดทั้งสองฐานตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามกระทำชำเรา หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 บัญญัติว่า ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการยับยั้งเสียเองซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษนั้น เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่มีการยับยั้งไม่กระทำความผิดไปให้ตลอด ซึ่งจะต้องเป็นการยับยั้งโดยสมัครใจของผู้กระทำเอง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และได้ลงมือกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้ว โดยการใช้อวัยวะเพศของจำเลยพยายามสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อผลสำเร็จในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้ว แต่กระทำไม่สำเร็จ โดยอวัยวะเพศของจำเลยยังไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด อันเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดฐานพยายามกระทำชำเราแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาว่า อวัยวะเพศของจำเลยยังไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยเลิกกระทำต่อไป จึงเป็นผลให้การกระทำยังไม่บรรลุผลเป็นความผิดสำเร็จก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะที่จำเลยลงมือกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยพยายามเอาอวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่สามารถกระทำได้ ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกเจ็บ พยายามใช้มือปัดออก จำเลยจึงไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ได้ จำเลยจึงหยุดกระทำ พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไปไม่ตลอด เป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็ก ร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำ กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกที่ทำให้จำเลยต้องจำใจหยุดกระทำต่อไป จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 จำเลยต้องรับโทษฐานพยายามกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามคำฟ้องข้อ 1.2, 1.4, 1.6, 1.8, 1.10, 1.12, 1.14, 1.16, 1.18, 1.20, 1.22, 1.24, 1.26, 1.28 และ 1.30 กระทงละ 5 ปี 4 เดือน และวางโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามคำฟ้องข้อ 1.31 มีกำหนด 4 ปี นั้น เห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยตามฟ้องข้อ 1.2, 1.4, 1.6, 1.8, 1.10, 1.12, 1.14, 1.16, 1.18, 1.20, 1.22, 1.24, 1.26, 1.28 และ 1.30 กระทงละ 4 ปี 8 เดือน และลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.31 จำคุก 2 ปี 8 เดือน รวม 16 กระทง เป็นจำคุก 62 ปี 128 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 31 ปี 64 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 39 ปี 88 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
นำข้อมูลบัตรเครดิตของผู้อื่นไปใช้
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (14), 188, 269/5, 269/7
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ออกบัตรเครดิตวีซ่าแพลทินัมรีดเดอร์การ์ดให้แก่โจทก์ เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซต์ อโกด้า ดอทคอม แทนการชำระเงินสด 13,426.32 บาท โดยโจทก์ไม่ยินยอม สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซต์ อโกด้า ดอทคอม โดยโจทก์ไม่ยินยอม เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ตามบทนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) หมายความว่า (ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใด ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทํานองเดียวกับ (ก) หรือ (ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ จากบทนิยามดังกล่าวข้างต้น บัตรเครดิตถือเป็น “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ตามบทนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) เนื่องจากผู้ออกได้ออกเอกสารคือบัตรเครดิตให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมีการบันทึกข้อมูลในชิปการ์ดและเทปแม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ส่วนข้อมูลบัตรเครดิต ได้แก่ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือ และวันหมดอายุ เมื่อปรากฏอยู่บนบัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ถือว่าเป็นกรณีที่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ จึงไม่เป็น “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ตามบทนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข) ดังที่จำเลยฎีกา อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) เป็นเพียงบทนิยามว่าสิ่งใดเป็น “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่มิได้ระบุเกี่ยวกับวิธีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นวิธีใช้โดยทั่วไปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนั้นหรือไม่ โดยไม่จำกัดว่าหากเป็น “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ตามนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) แล้ว การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเป็นการใช้เอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ผู้ออกได้ออกให้โดยตรงเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ตามนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข) ที่ระบุว่า “...มีวิธีการใช้ทำนองเดียวกับ (ก)” ทั้งที่ไม่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดไว้ให้ แสดงว่าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) ย่อมสามารถใช้เฉพาะข้อมูลหรือรหัสได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยว่าจำเลยใช้บัตรเครดิตของโจทก์โดยมิชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันการกรอกข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดผ่านทางเว็บไซต์ โดยผู้รับชำระไม่ต้องเห็นบัตรเครดิต เป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปวิธีหนึ่ง การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซต์ อโกด้า ดอทคอม จึงเป็นการใช้บัตรเครดิตของโจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
คำรับอันเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจำเลย
- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 265, 268, 335
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226/3, 227/1