ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”

ในความผิดอาญาบางฐาน
ดร. เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
“เมื่อถ้อยคำดังกล่าวเป็น “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” มิใช่เป็น “ข้อเท็จจริง” มีผลในทางกฎหมายก็คือ จะนำหลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม ที่ว่า ไม่รู้ไม่มีเจตนา มาปรับใช้ไม่ได้เพราะหลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม จะนำมาใช้ได้กับกรณี องค์ประกอบภายนอก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น...”

ความผิดอาญาบางฐาน กฎหมายบัญญัติองค์ประกอบของความผิดโดยใช้ถ้อยคำว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เช่น ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๔๖ เป็นต้น
ความผิดฐานนี้ แยก “องค์ประกอบภายนอก” และ “องค์ประกอบภายใน” ได้ดังนี้
องค์ประกอบภายนอก
(๑) ผู้ใด
(๒) (ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
(๓) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน
ข้อสังเกต
(๑) ถ้อยคำที่ว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เป็น “องค์ประกอบภายนอก” ประการหนึ่งของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๖๔ แต่เป็น “องค์ประกอบภายนอก” ซึ่งเป็น “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”
(๒) ถ้อยคำที่ว่า “ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด” หรือ “เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง” หรือ “ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร” เป็น “องค์ประกอบภายนอก” ประการหนึ่งของความผิดบานปลอมเอกสาร ตามมาตรา ๒๖๔ แต่เป็น “องค์ประกอบภายนอก” ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริง”
ดังนั้น จึงต้องอยู่ภายใต้หลักของ ป.อ. มาตรา ๕๙ วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”
หลักดังกล่าว คือหลักที่ว่า “ไม่รู้ไม่มีเจตนา” ด้วยเหตุนี้ หากผู้กระทำไม่รู้ว่า สิ่งที่ตนปลอมนั้นเป็น “เอกสาร” ก็จะถือว่า ผู้กระทำมีเจตนาปลอมเอกสารมิได้ ดุจเดียวกับการยิงไปหลังพุ่มไม้โดยคิดว่าเป็นการยิงหมูป่า แต่ความจริงสิ่งที่ถูกยิงคือ “ผู้อื่น” เช่นนี้ก็จะถือว่ามีเจตนายิง “ผู้อื่น” ไม่ได้ เพราะเป็นการไม่รู้ “ข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็น “องค์ประกอบภายนอก” ของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา ๒๘๘
เช่นเดียวกัน หากผู้กระทำไม่รู้ว่า สิ่งที่ตนปลอม (หรือสิ่งที่ตน “เติมหรือตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ) เป็น “เอกสาร” โดยเข้าใจผิดไปว่าเป็นสิ่งอื่นไม่ใช่ “เอกสาร” ก็จะถือว่า ผู้กระทำมีเจตนาปลอมเอกสารไม่ได้ เพราะมีหลักว่า “ไม่รู้ก็ไม่มีเจตนา” ซึ่งหมายความว่า “ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก” ของความผิดฐานปลอมเอกสาร กล่าวคือ “ไม่รู้” ว่าสิ่งที่ตนปลอมเป็น “เอกสาร” เพราะสิ่ง ๆ นั้นเป็น “เอกสาร” หรือไม่เป็น “ข้อเท็จจริง” (fact) ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๖๔ ดังนั้น จึงต้องอยู่ภายใต้หลักของมาตรา ๕๙ วรรคสาม ซึ่งเป็นหลักที่ว่า “ไม่รู้ก็ไม่เจตนา”
ประเด็นต่อไปก็คือ หากผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่ตนปลอมเป็น “เอกสาร” ก็ย่อมถือได้ว่ามี “เจตนา” ปลอมเอกสาร อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำจะผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๖๔ การกระทำยังต้องครบองค์ประกอบภายนอกอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ การปลอมเอกสารซึ่งกระทำโดยเจตนานั้น จะต้องเป็น “การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ด้วย
(๓) ได้กล่าวไว้ในข้อ (๑) ข้างต้นแล้วว่า ถ้อยคำดังกล่าวนั้นเป็น แม้จะเป็น “องค์ประกอบภายนอก” แต่ก็เป็นเพียง “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” มิใช่เป็น “ข้อเท็จจริง”
ศาลฎีกาใช้คำว่า “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” ในฎีกาที่ ๗๖๙/๒๕๔๐ และ ๖๖๕๔/๒๕๕๐
เมื่อถ้อยคำดังกล่าวเป็น “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” มิใช่เป็น “ข้อเท็จจริง” มีผลในการทางกฎหมายก็คือ จะนำหลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม ที่ว่า “ไม่รู้ไม่มีเจตนา” มาปรับใช้ไม่ได้เพราะหลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม จะนำมาใช้ได้กับกรณี “องค์ประกอบภายนอก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง” เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ในการพิจารณาว่า “น่าจะเกิดความเสียหาย” หรือไม่ จึงวินิจฉัยโดยระดับความรู้ของ “วิญญูชน” ทั่วไป หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า “ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย” การกระทำก็ไม่เป็นความผิด เพราะขาดองค์ประกอบภายนอก แม้ความผิดฐานพยายามก็ไม่เป็นความผิดตรงกันข้าม หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า “น่าจะเกิดความเสียหาย” ก็ต้องถือว่าการกระทำครบองค์ประกอบภายนอกในส่วนนี้ แม้ผู้กระทำจะ “ไม่รู้ว่าน่าจะเกิดความเสียหาย” ก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ จะนำหลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม ที่ว่า “ไม่รู้ไม่มีเจตนา” มาใช้ไม่ได้ เพราะหลักดังกล่าวใช้กับกรณี “ไม่รู้ข้อเท็จจริง” เท่านั้น ไม่นำมาใช้กับกรณี “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”
กล่าวโดยสรุปคือ “น่าจะเกิดความเสียหาย” หรือไม่ วินิจฉัยตามความรู้ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป ไม่ใช่พิจารณาจากความรู้ความเข้าใจของผู้กระทำ ดังนั้น หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า “น่าจะเกิดความเสียหาย” ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดในส่วนนี้ ทั้งนี้ แม้ผู้กระทำจะ “ไม่รู้” ว่าน่าจะเกิดความเสียหายก็ตาม ตรงกันข้าม หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า “ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย” การกระทำก็ขาดองค์ประกอบภายนอกในส่วนนี้ไปเลย การกระทำก็ไม่เป็นความผิด (เพราะถือว่า “ขาดองค์ประกอบภายนอก”) แม้ความผิดฐาน “พยายาม” ก็ไม่เป็นความผิด ทั้งนี้ แม้ว่าผู้กระทำจะเข้าใจไปว่า “น่าจะเกิดความเสียหาย” ก็ตาม
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่อง “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” ตามมาตรา ๒๖๔ ไว้ดังนี้
คำพิพากษา ฎีกาที่ ๗๖๙/๒๕๔๐ ข้อความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ ที่ว่า โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปส่วนคำว่าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงนั้น เป็นเจตนาพิเศษโดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อให้ ด. หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารไปใช้แสดงต่อ ด. ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหาย จึงเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้
คำพิพากษา ฎีกาที่ ๖๖๕๔/๒๕๕๐ การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ มิใช่ผลที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ เพียงแต่น่าจะเกิดแม้จะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว และความเสียหายที่น่าจะเกิดนั้นอาจเป็นความเสียหายที่มีรูปร่าง เช่นความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความเสียหายต่อศีลธรรม เช่น เสียชื่อเสียง หรือความเสียหายต่อประชาชน เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจในการประกอบธุรกิจด้วย การที่จำเลยปลอมใบรับฝากเงิน อันเป็นเอกสารสิทธิดังกล่าวนำเงินเข้าฝากในบัญชีของบุคคลทั้งสองที่ธนาคาร ก.สาขาสี่แยกบ้านแขก เป็นผลให้เงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองบัญชีเพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่เป็นเปลี่ยนแปลงหลักฐานจำนวนเงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองในระบบบัญชีของธนาคาร ก. ให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง อันจะเป็นผลให้เจ้าของบัญชีทั้งสองและธนาคาร ก. อาจเสียชื่อเสียงไม่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจในสังคมและในการประกอบกิจการธุรกิจอันเป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียตามบทบัญญัติในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก
ข้อสังเกต
(๑) ศาลฎีกากล่าวไว้ในฎีกาที่ ๖๖๕๔/๒๕๕๐ ข้างต้นว่า “เพียงแต่น่าจะเกิด (ความเสียหาย) แม้จะไม่เกิดขึ้น ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว” ซึ่งเป็นการวินิจฉัยตามฎีกาที่ ๑๒๘๑-๑๒๘๒/๒๕๓๘ ซึ่งวินิจฉัยว่า องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๓ ที่ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จำเลยใช้เรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อเรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น แม้ยังไม่มีความเสียหายก็ถือเป็นความผิดสำเร็จ
มีข้อสังเกตว่า แม้ “น่าจะเกิดความเสียหาย” (กรณีมาตรา ๒๖๔) หรือ “น่าจะเป็นอันตราย” (กรณีมาตรา ๒๓๓) ก็ถือเป็น “ความผิดสำเร็จ” แล้วก็ตาม แต่ความผิดดังกล่าวก็มี “พยายาม” กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๘๐ ได้ เช่น จำเลย “กำลังจะปลอมใบรับฝากเงิน” เช่น กำลังจะกรอกข้อความในใบรับฝากเงิน กรณีเช่นนี้ คือการพยายามปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๖๔ ประกอบมาตรา ๘๐ นั่นเอง เช่นเดียวกัน หากจำเลย “กำลังจะให้คนจำนวนมากลงไปในเรือโดยสาร” ก็คือ การพยายามกระทำความผิดตามมาตรา ๒๓๓ ประกอบมาตรา ๘๐ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การ “พยายาม” กระทำความผิดตามสองตัวอย่างดังกล่าว เป็นการพยายามกระทำความผิดประเภท “กระทำไปไม่ตลอด” ความผิดในลักษณะเช่น มาตรา ๒๖๔ และมาตรา ๒๓๓ นี้ ไม่น่าจะมีการพยายามกระทำความผิดประเภท “กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล” ได้ เพราะเมื่อกระทำไปตลอดแล้ว เช่น กรอกข้อความและลงลายมือชื่อในใบรับฝากเงินแล้ว (กรณีมาตรา ๒๖๔) หรือ นำคนจำนวนมากลงไปในเรือแล้วจนเรือเพียบน่ากลัวคว่ำ (กรณีมาตรา ๒๓๓) การกระทำก็เป็นความผิดสำเร็จทันที โดยถือว่า “น่าจะเกิดความเสียหาย” (กรณีมาตรา ๒๖๔) หรือ “น่าจะเป็นอันตราย” (กรณีมาตรา ๒๓๓) แล้ว
ดังนั้น ความผิดตามมาตรา ๒๖๔ และมาตรา ๒๓๓ จึงน่าจะมีได้เฉพาะการ “ยับยั้ง” ตาม ป.อ. มาตรา ๘๒ เท่านั้น ไม่น่าจะมีการ “กลับใจ” ได้
ตัวอย่าง จำเลยกำลังจะกรอกข้อความลงในใบรับฝากเงิน กรณีเช่นนี้ จำเลยกำลังกระทำความผิดฐานพยายามปลอมเอกสาร (พยายามประเภท “กระทำไปไม่ตลอด”) ตามมาตรา ๒๖๔ ประกอบมาตรา ๘๐ หากจำเลย “สำนึกผิด” และหยุดการกระทำลง เช่นนี้ คือการ “ยับยั้ง” ตาม ป.อ. มาตรา ๘๒ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากจำเลยกรอกข้อความลงในใบรับฝากเงินแล้ว การกระทำก็เป็นความผิดสำเร็จ แม้จำเลยจะสำนึกผิดหยุดการกระทำ กรณีก็ไม่ใช่การ “กลับใจ” ตามมาตรา ๘๒ เพราะการ “กลับใจ” ตามมาตรา ๘๒ จะใช้กับกรณีพยายามกระทำความผิดประเภท “กระทำไปตลอดแล้ว” แต่ความผิดตามมาตรา ๒๖๔ นั้น เมื่อ “กระทำไปตลอดแล้ว” กล่าวคือ กรอกข้อความลงในใบรับฝากเงิน ก็เป็นความผิดสำเร็จทันที จึงไม่มีกรณีที่จะ “กลับใจ” ตามมาตรา ๘๒ “เพื่อไม่ให้การกระทำบรรลุผล”
(๒) ความผิดที่กฎหมายบัญญัติ “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” ในทำนองเดียวกับมาตรา ๒๖๔ และมาตรา ๒๓๓ ยังมีในมาตราอื่น ๆ อีกหลายมาตรา เช่น
๑. น่าจะเกิดความเสียหาย หรืออาจเกิดความเสียหาย ตามมาตรา ๑๓๗, ๑๓๒, ๑๘๘, ๒๒๐, ๒๒๑, ๒๒๕-๒๓๑, ๒๓๔, ๒๓๖, ๒๓๗, ๒๖๗-๒๖๙, ๓๐๗, ๓๒๒, ๓๒๓
๒. อันเป็นการมิชอบ ตามมาตรา ๒๐๐, ๒๐๙
๓. อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา ตามมาตรา ๒๐๖
๔. โดยประการที่ทำให้เด็กปราศจากผู้ดูแล ตามมาตรา ๓๐๖
๕. โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ตามมาตรา ๓๒๖
๖. อันเป็นการรบกวนการครอบครอง ตามมาตรา ๓๖๒
(๓) ความผิดตามมาตรา ๑๘๘ ก็ใช้ถ้อยคำในทำนองเดียวกันว่า “ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ซึ่งก็เป็น “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ” เช่นเดียวกับกรณีของมาตรา ๒๖๔ นั่นเอง
คำพิพากษา ฎีกาที่ ๓๐๓/๒๕๑๓ วินิจฉัยว่า การที่จำเลยได้ฉีกสัญญากู้จนขาดออกเป็นชิ้นๆ ผู้ให้กู้ต้องเอามาต่อติดกันจึงอ่านข้อความได้ เช่นนี้เรียกได้ว่าจำเลยได้ทำให้สัญญากู้เสียหายแล้วหาจำต้องทำให้สูญสิ้นไปหมดทั้งฉบับ จนกระทั่งไม่มีรูปเป็นเอกสารไม่ เพียงแต่ฉีกสัญญาขาดออกจากกัน ก็เป็นการกระทำอันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้กู้ เข้าเกณฑ์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ แล้ว หาใช่จะต้องฉีกทำลายจนใช้ไม่ได้ผลไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๑๘/๒๕๐๖
คำพิพากษา ฎีกาที่ ๑๔๑๘/๒๕๐๖ การที่จำเลยขอสัญญากู้ที่ทำให้ผู้ให้กู้ไว้มาดูแล้วฉีก แต่ผู้ให้กู้และผู้อื่นช่วยกันแย่งไว้ทัน จำเลยจึงไม่มีโอกาสทำลายสัญญากู้จนใช้ไม่ได้นั้น เรียกได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้กู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำลายจนใช้ไม่ได้ผลหรือต้องเอกไปเสียจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยจะชำระเงินกู้ตามสัญญาฉบับนั้นในภายหลัง ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความผิดไปได้
ข้อสังเกต
แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่า จำเลยฉีกสัญญากู้ไปส่วนหนึ่ง การกระทำก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๑๘๘ ความผิดตามมาตรา ๑๘๘ ก็มี “พยายาม” กระทำความผิดได้ เช่น จำเลย “กำลังจะฉีก” สัญญากู้ เช่นนี้ จำเลยผิดฐานพยายามตามมาตรา ๑๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐ โดยเป็นพยายามประเภท “กระทำไปไม่ตลอด” ซึ่งหากจำเลยสำนึกผิด จำเลยจึงไม่ฉีก เช่นนี้ คือการ “ยับยั้ง” ไม่กระทำการให้ตลอด
อย่างไรก็ตาม หากจำเลยฉีกสัญญากู้แล้ว แม้ฉีกเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงขนาดฉีกจนสัญญากู้ใช้ไม่ได้ ก็ถือว่าจำเลย “กระทำไปตลอดแล้ว” และการกระทำเป็นความผิดสำเร็จทันที (ตามคำวินิจฉัยในฎีกาที่ ๑๔๑๘/๒๕๐๖) ดังนี้ แม้จำเลยจะสำนึกผิดไม่ทำการฉีกต่อไปทั้งฉบับ ก็ไม่ใช่การ “กลับใจ” ตามมาตรา ๘๒ เพราะการ “กลับใจ” จะใช้กับกรณีที่ “กลับใจแก้ไขการกระทำที่กระทำไปตลอดแล้วไม่บรรลุผล” เช่นใช้กับกรณีที่จำเลยยิงผู้เสียหายในป่าลึกจนผู้เสียหายใกล้ตาย จำเลยสงสารจึงพาออกมารักษาจนหาย เช่นนี้ จึงเป็นกรณี “กลับใจแก้ไขให้การกระทำที่กระทำไปตลอดแล้วไม่บรรลุผล” ซึ่งการกลับใจในทำนองนี้จะนำมาใช้กับความผิดตามมาตรา ๑๘๘ (รวมทั้งมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๑๓๓ ฯลฯ) ไม่ได้ เพราะความผิดเหล่านี้ เมื่อกระทำไปตลอดแล้ว (เช่นฉีกสัญญากู้แล้วแม้ฉีกเพียงเล็กน้อย” ก็เป็นความผิดสำเร็จทันที จึงไม่มีกรณี “กลับใจ” คงมีได้เฉพาะกรณี “ยับยั้ง” เช่น กำลังจะฉีกสัญญากู้ จึง “ยับยัง” ด้วยการไม่ฉีกสัญญากู้ เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องยุ่ง ๆ ของผัวเมีย

๑.ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ร เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๖ ในระหว่างสมรสผู้ร้องมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ ผู้ร้องซื้อและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจาก จ.เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ต่อมาวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดกัน กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ ๕ ใหม่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ แม้ผู้ร้องจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วอันจะทำให้การสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ ๑ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ผู้ร้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทมายังไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙๕(เดิม) ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ ๑มีผลสมบรูณ์ยู่ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรสกับ ร และ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ ๑ ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ ๑มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยที่ ๑จะจดทะเบียนหย่าขาดกันก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องตามสิทธิ์ที่ผู้ร้องมีอยู่ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๓๒,๑๕๓๓ เจ้าพนักงานพิทักษ์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิ์ยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๔๕/๒๕๔๕
๒.บทบัญญัติแห่ง ปพพ มาตรา ๑๕๒๒กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ เป็นกรณีเฉพาะศาลมีคำพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่าไม่ได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ แม้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย ศาลเห็นสมควรยกมาพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ ๑๐,๐๐๐ บาท และบิดามารดาโจทก์ดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ภายหลัง ก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ บิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างใด แสดงว่าบิดามารดามีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาระหว่างสมรส ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๗๔(๑) สิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิ์การเช่าซื้อรถยนต์คันนี้ให้ ว.ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภรรยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่อง จึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิ์การเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่ง ปพพ มาตรา ๑๕๓๔ ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า ทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้ง จะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยนำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าการกู้เงินในปี๒๕๔๓ จำเลยได้ระบุในการประสงค์ขอกู้ว่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้เงินใน ปี ๒๕๔๖ เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรส จึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙๐ คำพิพากษาฎีกา๖๒๔๔/๒๕๕๐ 
๓. ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดก ๖ รายการเป็นทรัพย์สินที่เจข้ามรดกได้มาขณะที่ ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์บรรพ ๕ เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาประเภทใดต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้ขณะได้มา เมื่อเจ้ามรดกได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับ ร.ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๖๖ แม้ต่อมาจะมีบทบัญญัติแห่งบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่พ.ศ. ๒๕๑๙ใช้บังคับมีมาตรา ๑๔๗๑ บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัว และมาตรา ๑๔๗๔ บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการยกให้เป็นหนังสือ และพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ได้ระบุว่าเป็น สินสมรส จึงเป็นสินสมรส อันแตกต่างจากบทบัญญัติในบรรพ ๕เดิมก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดก เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิม จึงจะนำบทบัญญัติแห่ง ปพพ บรรพ ๕ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ทาตรา ๑๔๗๑ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส เจ้ามรดกคงมีส่วนอยู่เพียงครึ่งเดียวที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม ๔ รายการเป็นสินสมรสนั้น ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสเพราะเหตุว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาระหว่างสมรสโดยได้รับมรดกซึ่งไม่มีการระบุให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรส ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๖๖ ดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวโต้แย้ง ในอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวทรัพย์สิน๔ รายการจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ปวพ มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง แม้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฏีกา ตาม ปวพ มาตรา ๒๒๓ ทวิ ศาลฏีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาฏีกา ๖๖๕๒/๒๕๓๘
๔.ที่ดินของชายถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับมารดาก่อนเป็นสามีภรรยากับโจทก์ เป็นสินส่วนตัวของชาย ต่อมาชายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับมารดา เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ก็เป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับมารดา ที่ดินไม่เป็นสินสมรส ชายหญิงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันมาก่อนแล้วจดทะเบียนสมรสภายหลัง ทรัพย์ที่ได้มาร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส เป็นกรรมสิทธ์ร่วมแบ่งกันคนละครึ่ง คำพิพากษาฏีกา ๑๕๖๗/๒๕๒๔
ข้อสังเกต ๑.ชายหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ ปพพ มาตรา ๑๔๕๒ หากฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ ปพพ มาตรา ๑๔๙๕ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียจะยกขึ้นกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ ปพพ มาตรา ๑๓๔๙๗ การสมรสที่เป็นโมฆะนี้ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังสมรสซ้อน รวมทั้งดอกผลของฝ่ายนั้นให้คงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นประการอื่น ปพพ มาตรา ๑๔๙๘
การสมรสที่เป็นโมฆะนี้ไม่ทำให้คู่สมรสที่ทำการสมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิ์ที่ได้มา แต่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ์รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่าย ปพพ มาตรา ๑๔๙๙ วรรคสอง หากคู่สมรสที่สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลง ไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือก่อนรู้ว่าการสมรสเป็นโมฆะเพราะทำการสมรสซ้อน ฝ่ายนั้นมีสิทธิ์เรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลจะให้หรือไม่อย่างไรก็ได้ โดยคำนึงความสามารถผู้ให้และฐานะผู้รับ ปพพ มาตรา ๑๕๒๖ประกอบมาตรา ๑๔๙๙ วรรคสาม ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้จ่ายเป็นเงินโดยชำระเป็นครั้งคราวตามที่กำหนด เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นหรือตกลงให้ชำระโดยวิธีอื่น ปพพ มาตรา ๑๕๙๘/๔๐ ฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพ หากทำการสมรสใหม่ ค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป ปพพ มาตรา ๑๕๒๘
การสมรสตาม ปพพ จะมีขึ้นได้เฉพาะเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น ปพพ มาตรา ๑๔๕๗
๒. เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสซ้อน ภรรยาคนแรกย่อมเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้การสมรสดังกล่าวตกเป็นโมฆะได้ เพราะเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสซ้อน ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะ ต้องถือการการสมรสยังคงสมบรูณ์อยู่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้มาหลังจดทะเบียนสมรสซ้อนต้องถือเป็นสินสมรสของภรรยาเดิม และภรรยาใหม่ เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสคือภายหลังจดทะเบียนสมรส ปพพ มาตรา ๑๔๗๔(๑) และหากมีข้อสงสัยว่าทรัพย์ใดเป็นสินสมรสหรือไม่ ปพพ มาตรา ๑๔๗๔วรรคท้ายบัญญัติให้ “ สันนิษฐาน” ไว้ก่อนว่า เป็นสินสมรส ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อเป็นสินสมรสของทั้งฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง และฝ่ายหญิงที่จดทะเบียนสมรสซ้อน อำนาจในการจำหน่ายทรัพย์ดังกล่าวย่อมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายตาม ปพพ มาตรา๑๔๗๖หากคู่สมรสฝ่ายใดทำนิติกรรมไปฝ่ายเดียวโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่าย คู่สมรสอีกฝ่ายขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตาม ปพพ มาตรา๑๔๘๐. เมื่อทรัพย์สินได้มาหลังจดทะเบียนสมรสซ้อนโดยที่การจดทะเบียนกับภรรยาคนแรกยังสมบรูณ์อยู่ ทรัพย์ที่ฝ่ายชายได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสซ้อนเป็นสินสมรสของภรรยาคนแรก และเป็นสินสมรสของภรรยาคนที่สอง(คนที่จดทะเบียนสมรสซ้อน)ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาให้การสมรสตกเป็นโมฆะ ดังนั้นการจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำนิติกรรมตามที่ระบุไว้ใน ปพพ มาตรา ๑๔๗๖ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายนั้น หากฝ่ายชายจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำนิติกรรมดังกล่าว ฝ่ายชายต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาทั้งสองคนนั้นหรือ หากภรรยาคนใดไม่ให้ความยินยอมทำอย่างไร?.อำนาจในการจัดการสินสมรสทำอย่างไร? จะนำ ปพพ มาตรา ๑๔๘๔ มาใช้ได้หรือไม่อย่างไร? ทรัพย์ที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสซ้อนโดยยังไม่มีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น หากมีหนี้ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องทรัพย์ดังกล่าว หรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดการบ้านเรือน หรือจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙๐ซึ่งถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมแล้วจะดำเนินการอย่างไร? ทั้งการไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่าย ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๘๔(๒)อำนาจในการจัดการสินสมรสที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสซ้อนทำอย่างไร? 
๓. ในอดีตก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส นายทะเบียนจะถามว่าเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนหรือไม่ หากเคยจดทะเบียนสมรสแต่บอกนายทะเบียนว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรส จนนายทะเบียนหลงเชื่อยอมให้จดทะเบียนสมรส ก็จะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ และแจ้งให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จดข้อความ จดข้อความอันเป็นเท็จลงไปในเอกสารราชการอันเป็นเอกสารมหาชนโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายทะเบียน กรมการปกครอง ภรรยาคนแรกและภรรยาคนที่สองซึ่งจดทะเบียนสมรสซ้อนได้ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๗,๒๖๗ เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสซ้อน ภรรยาคนแรกเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จดข้อความ จดข้อความอันเป็นเท็จลงไปในเอกสารราชการอันเป็นเอกสารมหาชนโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายทะเบียน กรมการปกครอง ภรรยาคนแรกและภรรยาคนที่สองซึ่งจดทะเบียนสมรสซ้อนได้ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๗,๒๖๗ และภรรยาคนที่สองก็เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานตาม.แจ้งให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จดข้อความ จดข้อความอันเป็นเท็จลงไปในเอกสารราชการอันเป็นเอกสารมหาชนโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายทะเบียน กรมการปกครอง ภรรยาคนแรกและภรรยาคนที่สองซึ่งจดทะเบียนสมรสซ้อนได้ ตาม ปอ มาตรา ๑๓๗,๒๖๗.เช่นกัน นายทะเบียนและกรมการปกครองก็เป็นผู้เสียหายในความผิดนี้ด้วย.
๔. จดทะเบียนสมรสซ้อนกับหญิงอื่นเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายตกเป็นโมฆะ ซึ่งต้องมีผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งยกขึ้นกล่าวอ้าง เช่น ตัวหญิงที่จดทะเบียนสมรสซ้อน หญิงที่เป็นภรรยาคนแรก หรือเจ้าหน้าที่ทางทะเบียน หากยังไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดกล่าวอ้างขึ้น การสมรสซ้อนยังไม่เป็นโมฆะตามกฎหมาย
๕.ชายจดทะเบียนสมรสซ้อนกับหญิงอื่น ต่อมาฝ่ายชายซื้อและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจาก จ.เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาเพิกถอนการสมรสครั้งหลังต้องถือว่าการสมรสครั้งหลังยังมีผลสมบรูณ์ตามกฎหมาย ทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการซื้อที่ดินนี้เป็นสินสมรสของฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง(คนแรก) และเป็นสินสมรสของฝ่ายหญิงคนที่สอง(คนที่จดทะเบียนสมรสซ้อน)ด้วย เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ต่อมาฝ่ายหญิงได้จดทะเบียนหย่ากับฝ่ายชายเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๖ เมื่อทำการหย่าภายหลัง ปพพ ว่าครอบครัวฉบับใหม่ใช้บังคับ การจดทะเบียนหย่าจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ ๕ ใหม่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ แม้ฝ่ายชายจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วอันจะทำให้การสมรสระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงคนที่สองตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ฝ่ายชายจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทมายังไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙๕(เดิม) ต้องถือว่าการสมรสระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง(คนที่สอง)มีผลสมบรูณ์อยู่ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์ที่ฝ่ายชายได้มาระหว่างสมรสกับ ฝ่ายหญิง(ภรรยาคนแรก) และในขณะเดียวกันก็เป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างการสมรสของฝ่ายชายกับ ฝ่ายหญิงคนที่สองด้วยจึงเป็นสินสมรสของฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงคนที่สอง ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายหญิงคนที่สองมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้ภายหลังฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงคนที่สองจะจดทะเบียนหย่าขาดกันก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ฝ่ายชายตามสิทธิ์ที่ฝ่ายชายมีอยู่ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๓๒,๑๕๓๓ เจ้าพนักงานพิทักษ์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิ์ยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของฝ่ายหญิงคนที่สองเด็ดขาดได้ 
๖.บทบัญญัติแห่ง ปพพ มาตรา ๑๕๒๒กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ เป็นกรณีเฉพาะศาลมีคำพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่าไม่ได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ แม้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย ศาลเห็นสมควรยกมาพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย กรณีนี้ไม่ถือเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องตาม ปวพ มาตรา ๑๔๒วรรคแรก เพราะถือเป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
๗..ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ ๑๐,๐๐๐ บาท และบิดามารดาโจทก์ดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ภายหลัง ก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ บิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างใด แสดงว่าบิดามารดามีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาระหว่างสมรส ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๗๔(๑) จึงเป็นสินสมรส สิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส 
๘.เมื่อเป็นสินสมรสการที่โจทก์โอนสิทธิ์การเช่าซื้อรถยนต์คันนี้ให้ ว.ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภรรยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่อง จึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิ์การเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย หรือจำหน่ายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่ง ปพพ มาตรา ๑๕๓๔ ให้ “ถือเสมือนหนึ่ง” ว่า ทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง ซึ่งหากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรได้ คู่สมรสที่ได้จำหน่ายต้องชดใช้จากสินสมรสในส่วนของตนเองหรือจากสินส่วนตัวของตนเอง ปพพ มาตรา ๑๕๓๔ตอนท้าย
๙.ดังนั้น แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้ง จะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยนำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ถือได้ว่าเป็น “หนี้ร่วม” ที่สามีภรรยาก่อให้เกิดขึ้นระหว่างสมรส จึงต้องร่วมกันรับผิดอย่าง “ ลูกหนี้ร่วม “ ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙๐(๑) โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกันตาม ปพพ มาตรา ๑๕๖๓ การที่ จำเลยกู้เงินในปี๒๕๔๓ โดยมีวัตถุประสงค์ขอกู้ว่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า และการกู้เงินใน ปี ๒๕๔๖ เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน รับฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรส จึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ปพพ มาตรา ๑๔๙๐ 
๑๐... ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดก ๖ รายการเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาขณะที่ ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์บรรพ ๕ เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาประเภทใดต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้ขณะได้มา เมื่อเจ้ามรดกได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับ ร.ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๖๖ (กฎหมายเดิม) กรณีนี้น่าจะ “เทียบเคียง” กับ ปพพ มาตรา๑๔๗๔วรรคท้าย(กฎหมายปัจจุบัน)ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสหรือไม่กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส
๑๑.แม้ต่อมาจะมีบทบัญญัติแห่งบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่พ.ศ. ๒๕๑๙ใช้บังคับมีมาตรา ๑๔๗๑ บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัว และมาตรา ๑๔๗๔(๒) บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการยกให้เป็นหนังสือ และพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ได้ระบุว่าเป็น สินสมรส จึงเป็นสินสมรส อันแตกต่างจากบทบัญญัติในบรรพ ๕เดิมก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดก เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไป จึงจะนำบทบัญญัติแห่ง ปพพ บรรพ ๕ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๑๔๗๑ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ นั้นก็คือ เมื่อกฎหมายใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ในกรณีดังกล่าวที่คู่สมรสที่ได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ซึ่งกฎหมายเก่าบัญญัติให้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรส เมื่อกฎหมายไม่ไม่ได้บัญญัติว่าในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าทรัพย์ดังกล่าวที่เป็นสินสมรสให้เปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวแล้ว ก็ต้องยังคงถือว่าทรัพย์ดังกล่าวยังเป็นสินสมรสอยู่ตามเดิม
๑๒. เมื่อทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้นเป็นสินสมรสของเจ้ามรดกเพียงครึ่งเดียวที่จะตกทอดเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม ๔ รายการเป็นสินสมรสนั้น ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสเพราะเหตุว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาระหว่างสมรสโดยได้รับมรดกซึ่งไม่มีการระบุให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรส ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๖๖(กฎหมายเก่า) ดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวโต้แย้ง ในอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวทรัพย์สิน๔ รายการจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งเพราะไม่ได้ยกขึ้นมาซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายให้ชัดแจ้งในอุทธรณ์จึง ไม่ชอบด้วย ปวพ มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง,๒๔๙ แม้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฏีกา ตาม ปวพ มาตรา ๒๒๓ ทวิ ศาลฏีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ 
๑๓..ที่ดินของชายถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับมารดาก่อนเป็นสามีภรรยากับโจทก์ ปพพ มาตรา ๑๓๕๘ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของร่วมมีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินร่วมกัน และ ปพพ มาตรา ๑๓๕๗ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้เป็นเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากัน เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมีก่อนสมรส(ก่อนจดทะเบียนสมรส) ที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของชายตาม ปพพ มาตรา ๑๔๗๑(๑) ต่อมาชายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับมารดา เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ก็เป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับมารดาตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖๓,๑๓๖๔ เมื่อที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมในส่วนของฝ่ายชายก่อนมีการแบ่งแยกออกจากเจ้าของร่วมคนอื่นเป็นสินส่วนตัว เมื่อแบ่งแยกมาแล้วก็ยังเป็นสินส่วนตัวอยู่ตามเดิม เป็นเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนหนึ่งใช้สิทธิ์ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตาม ปพพ มาตรา ๑๓๖๓ เท่านั้น ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นสินสมรส ส่วนกรณีที่ชายหญิงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันมาก่อนแล้วจดทะเบียนสมรสภายหลัง ทรัพย์ที่ได้มาร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส เป็นกรรมสิทธ์ร่วมที่จะต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2561

หมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2514

จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลอื่นว่า "นายก กินเนื้อของนายเนี้ยว วันละ 8 กิโลจึงอนุญาตให้ฆ่า ถ้าไม่กินเนื้อวันละ 8 กิโล เขาก็คงไม่อนุญาต" ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ร่วมนายกเทศมนตรีจังหวัดชัยภูมิร่วมรับสินบนของนายสมชายหรือเนี้ยว คำกล่าวเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ร่วมให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

“เช่าต่อเมื่อหมดสัญญาเช่า”

๑. การจะถือว่า เมื่อสิ้นกำหนดการเช่าแล้วมีการเช่าต่อไปไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม ปพพ มาตรา ๕๗๐ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเบิกเลิกการเช่าหรือบอกกล่าวให้ผู้ให้เช่าทราบก่อนหรือในวันครบกำหนดการเช่าว่าจะไม่ให้เช่าต่อไป หากแต่ให้ดูเจตนาของผู้ให้เช่าว่ามีการยินยอมให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งการยินยอมนั้นรวมถึงการไม่ทักท้วงเมื่อรู้ว่าผู้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าต่อมาหลังจากสิ้นกำหนดเช่าแล้ว สัญญาเช่าที่ดินมีกำหนดเวลาเช่าแน่นอน โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยในวันครบกำหนดการเช่า แสดงเจตนาโจทก์ว่าไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปนับแต่วันครบกำหนดการเช่าแล้ว และหนังสือดังกล่าวจำเลยได้รับแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้ถือโจทก์ได้ทักท้วงในการที่จำเลยจะอยู่ในที่เช่าต่อไป การที่จำเลยอยู่ในที่เช่าต่อไปหลังสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จึงไม่ใช่การเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม ปพพ มาตรา ๕๗๐โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องบอกเลิกการเช่าตาม ปพพ มาตรา ๕๖๖ อีก คำพิพากษาฏีกา ๓๖๙๑/๒๕๓๕
๒. ในชั้นชี้สองสถานจำเลยยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ๒ ประเด็นคือ
๑).โจทก์ให้คำมั่นจะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก ๖ ปี หรือไม่?
๒).โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยหรือไม่?
แต่ศาลกำหนดประเด็นพิพาทว่า จำเลยมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ครอบคลุมรวมถึงประเด็นที่จำเลยประสงค์ให้กำหนดไว้แล้วทั้งสองประเด็น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมอีก คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อไปของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นสัญญาด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิม แม้จำเลยจะสนองรับข้อตกลงนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าใหม่ขึ้นก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับโจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่พิพาทต่อไปได้ตาม ปพพ มาตรา ๕๓๘ หนังสือสัญญาเช่าแบ่งที่ดินมีกำหนดเวลา ๒๐ ปีนับแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๕ สัญญาเช่าจึงสิ้นสุดในวันที่๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๕ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนตาม ปพพ มาตรา ๕๖๔ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ๔ วัน โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลย แสดงว่าโจทก์ได้ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่จำเป็นต้องมีการบอกเลิกสัญญาอีก เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงผู้เช่ายังอยู่ในที่ดินพิพาทโดยผู้ให้เช่าไม่ยินยอมจึงเป็นการอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้อาศัยสิทธิ์ตามสัญญาเช่า การอยู่ในที่พิพาทของผู้เช่าจึงเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ให้เช่า ส่วนค่าเสียหายที่ผู้เช่าแถลงต่อศาลชั้นต้นยอมรับว่าค่าเสียหายของโจทก์คิดเป็นเงินเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ศาลย่อมกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๐๖๒/๒๕๓๙
๓. สัญญาเช่าข้อ ๒ ระบุว่า “ ผู้เช่าจะชำระค่าเช่าของเดือนถัดไปภายในวันที่ ๕ ของทุกเดือน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวผู้เช่ายอมให้ปรับเป็นรายวันในอัตราวันละ ๕ เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่ารายเดือนเป็นเงิน ๑๕ บาท จนกว่าจะชำระค่าเช่าครบถ้วน” เมื่อจำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม๒๕๓๓ ถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ แต่โจทก์กลับฟ้องเรียกค่าปรับดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๔ ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุด ข้อตกลงนี้ย่อมระงับไป จะนำมาใช้แก่กันอีกไมได้ สัญญาข้อ ๙ กำหนดว่า “ การต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไป ผู้เช่าต้องยื่นคำร้องขอต่ออายุสัญญาต่อผู้อำนวยการวชิรพยาบาลก่อนสิ้นสุดสัญญานี้ไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน และหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เช่าต้องเสียค่าบำรุงโรงพยาบาลจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ผู้ให้เช่าสงวนสิทธิ์จะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาหรือไม่ก็ได้ “ ดังนี้แม้ตาม ปพพ มาตรา ๕๗๐ จะบัญญัติว่า “ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ ผู้ให้เช่ารู้ความแล้วไม่ทักท้วง ให้ถือว่าคู่สัญญาเช่าเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา” ก็ดี กรณีเพียงทำให้เกิดผลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น แต่ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นถือเป็นข้อตกลงเป็นพิเศษและมีข้อความว่า “ ในครั้งต่อไป” กำกับอยู่ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าจะต้องมีการทำสัญญาเช่ากันจริงๆมิใช่โดยผลของกฎหมาย ทั้งยังต้องให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๑ อีกด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าบำรุงโรงพยาบาลแต่อย่างใด ตามสัญญาเช่าข้อ ๑๑ มีข้อความว่า “ หากผู้ให้เช่ามีความประสงค์จะใช้อาคารที่เช่าเพื่อดำเนินการของรัฐหรือกิจการใดๆของผู้ให้เช่า ผู้เช่ายินยอมขนย้ายสิ่งของสัมภาระและบริวารออกจากอาคารที่เช่าภายใน ๓๐ วัน หากครบกำหนดแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกจากอาคารที่เช่า ผู้เช่ายินยอมชำระค่าปรับให้ผู้ให้เช่าในอัตราวันละ ๑ ใน ๓ ของค่าเช่ารายเดือนเป็นเงิน ๑๐๐ บาทจนกว่าจะออกจากอาคารที่เช่า” ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้าจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย และตาม ปพพ มาตรา ๓๘๐ วรรคสาอง บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไปโดยคิดเบี้ยปรับรวมอยู่ด้วย คือให้ถือเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหาย โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่า ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยเสียเบี้ยปรับดังกล่าวให้โจทก์อีกหาได้ไม่ เป็นการเรียกร้องที่นอกเหนือจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับขัดต่อ ปพพ มาตรา ๓๘๐ วรรคสอง คำพิพากษาฏีกา๕๒๗๗/๒๕๔๐
๔. ข้อความที่จำเลยขอให้แก้ไขคำให้การจำเลยทั้งสี่ข้อได้แก่
๕. ๑).ข้อเกี่ยวข้องกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากเดิมเป็นว่า “ ลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม และตราประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้
๒).ข้อความที่เกี่ยวข้องกับอาคารข้อพิพาทที่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนและจำเลยมีสิทธิ์อยู่ได้ตลอดชีวิตเป็นว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า
๓).ข้อที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวของโจทก์ที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นว่าภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วง จึงเป็นการเช่ามี่มีกำหนดเวลา การเลิกสัญญาเช่าต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติใน ปพพ มาตรา ๕๖๖ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า และหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
๔)ข้อที่เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งหมดเป็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงใด บ้านพิพาทตั้งอยู่บนถนนตรอกซอยอะไร ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมล้วนเป็นข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการปฏิเสธขึ้นใหม่ เปลี่ยนแปลงข้อต่อสู้เดิมที่จำเลยให้การไว้แต่แรก รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งฃอนุญาตให้แก้ไขตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลย จำเลยอาจยื่นคำร้องขอให้แก้ไขได้ก่อนวันสืบพยาน มิใช่เป็นเพียงแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือเป็นการข้อแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นที่จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ภายหลังสืบพยานตาม ปวพ มาตรา ๑๘๐ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันสืบพยานเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้การที่จำเลยฏีกาในข้อ ๓)และข้อ ๔)เป็นการยกข้อต่อสู้ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขข้อดังกล่าวในฏีกา จึงเป็นฏีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ และจำเลยฏีกาต่อมา ถือเป็นฏีกาที่ไมได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น โดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ปวพ มาตรา ๒๔๙ คำพิพากษาฏีกา๕๔๙๑/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังครองทรัพย์สินอยู่ ผู้ให้เช่ารู้ความแล้วไม่ทักท้วง “ ให้ถือว่า “ คู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ปพพ มาตรา ๕๗๐
๒.ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกัน หรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร์ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า ๒ เดือน ปพพ มาตรา ๕๖๖
๓.เช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้าไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ปพพ มาตรา ๕๓๘
๔.เช่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ มิพักต้องบอกกล่าวก่อน ปพพ มาตรา ๕๖๔
๕.ปกติการนิ่งในทางแพ่งถือเป็นการยอมรับ แต่ในทางอาญาการที่จำเลยนิ่งถือเป็นการปฏิเสธ เพราะจำเลยมีสิทธิ์ต่อสู้คดีได้เต็มที่ จำเลยมีสิทธิ์ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๗๒ เมื่อจำเลยไม่ให้การจึงต้องถือจำเลยให้การปฏิเสธ
๖. การเกิดสัญญาเช่าใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามปพพ มาตรา ๕๗๐ นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องบอกกเลิกการเช่าหรือบอกกล่าวให้ผู้ให้เช่าทราบก่อนหรือในวันครบกำหนดการเช่าว่าจะไม่ให้เช่าต่อไป แต่ให้ดูเจตนาของผู้ให้เช่าว่ายินยอมให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปหรือไม่ การไม่ทักท้วงเมื่อรู้ว่าผู้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าต่อมาหลังจากสิ้นกำหนดเช่าแล้วถือยินยอมให้เช่าต่อ เพราะการอยู่โดยหมดสัญญาเช่าก็คือการอยู่โดยไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่ผู้ให้เช่าจะฟ้องขับไล่ได้ แต่ผู้ให้เช่าไม่ฟ้องขับไล่ หรือยอมรับค่าเช่าต่อมา ถือได้โดยปริยายว่าผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปโดยเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลาการเช่า หากวันใดผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้เช่าต่อไปต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า ๒ เดือน ตาม ปพพ มาตรา ๕๖๖
๗.สัญญาเช่าที่ดินมีกำหนดเวลาเช่าแน่นอน สัญญาเช่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่ากันก่อนแต่อย่างใด ตาม ปพพ มาตรา ๕๖๔, การที่ผู้ให้เช่ามีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังผู้เช่าในวันครบกำหนดการเช่า แสดงเจตนาผู้ให้เช่าว่าไม่ประสงค์ให้ผู้เช่าเช่าต่อไปนับแต่วันครบกำหนดการเช่าแล้ว
๘. เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกการเช่าแล้ว ต้องถือว่าผู้ให้เช่าได้ทักท้วงในการที่ผู้เช่าจะอยู่ในที่เช่าต่อไป การที่ผู้เช่าอยู่ในที่เช่าต่อไปหลังสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จึงไม่ใช่การเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม ปพพ มาตรา ๕๗๐ผู้ให้เช่าจึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องบอกเลิกการเช่าตาม ปพพ มาตรา ๕๖๖ อีก
๙..ในชั้นชี้สองสถานจำเลยยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ๒ ประเด็นคือ
๑).โจทก์ให้คำมั่นจะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก ๖ ปี หรือไม่?
และ ๒).โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยหรือไม่?
แต่ศาลกำหนดประเด็นพิพาทว่า “จำเลยมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปหรือไม่” ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ครอบคลุมรวมถึงประเด็นที่จำเลยประสงค์ให้กำหนดไว้แล้วทั้งสองประเด็นแล้วเพราะ หากผู้ให้เช่า(โจทก์)ให้คำมั่นแก่จำเลยผู้เช่าให้เช่าที่พิพาทต่อไปอีก ๖ ปีแล้วจำเลยผู้เช่าย่อมมีสิทธิ์เช่าที่ดินต่อไป และการบอกเลิกสัญญากับจำเลยนั้นก็เป็นการบอกให้รู้ว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการบอกเลิกการเช่าก็ทำให้จำเลยมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินดังกล่าวซึ่งนั้นก็คือจำเลยมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมตามที่จำเลยขอให้ชี้สองสถานอีก
๑๐.คำมั่นด้วยวาจาจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อไปของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อจำเลยผู้เช่าซึ่งอยู่ “ เฉพาะหน้า” โจทก์ เมื่อจำเลยจะได้ทราบการแสดงเจตนานั้นถือว่า คำมั่นที่จะให้เช่าที่ดินต่อไปมีผลบังคับได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๖๘ แต่เนื่องจากคำมั่นด้วยวาจาที่ยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และข้อตกลงที่ให้ด้วยวาจาก็อยู่นอกเหนือข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิม แม้จำเลยจะสนองรับข้อตกลงนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าใหม่ขึ้นก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับโจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่พิพาทต่อไปได้ตาม ปพพ มาตรา ๕๓๘ นั้นก็คือแม้คำมั่นที่จะให้เช่าที่ดินพิพาทมีผลนับแต่จำเลยได้ทราบการแสดงเจตนาด้วยวาจาก็ตาม(ปพพ มาตรา ๑๖๘) แต่เมื่อไม่ได้ทำตามแบบที่ปพพ มาตรา ๕๓๘ บัญญัติไว้คือไม่ได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับโจทก์ให้ยอมให้จำเลยเช่าที่พิพาทต่อไปได้
๑๑. หนังสือสัญญาเช่าแบ่งที่ดินมีกำหนดเวลา ๒๐ ปีนับแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๕ จึงมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน สัญญาเช่าจึงสิ้นสุดในวันที่๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๕ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนตาม ปพพ มาตรา ๕๖๔
๑๒.การที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ๔ วัน แสดงว่าโจทก์ได้ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่จำเป็นต้องมีการบอกเลิกสัญญาอีก เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงผู้เช่ายังอยู่ในที่ดินพิพาทโดยผู้ให้เช่าไม่ยินยอมจึงเป็นการอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้อาศัยสิทธิ์ตามสัญญาเช่า การอยู่ในที่พิพาทของผู้เช่าจึงเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ให้เช่า
๑๓. ส่วนค่าเสียหายที่ผู้เช่าแถลงต่อศาลชั้นต้นยอมรับว่าค่าเสียหายของโจทก์คิดเป็นเงินเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท เท่ากับจำเลยยอมรับว่าค่าเสียหายเป็นเงินเท่าใด จึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบ ศาลย่อมกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทได้
๑๔. สัญญาเช่าข้อ ๒ ระบุว่า “ ผู้เช่าจะชำระค่าเช่าของเดือนถัดไปภายในวันที่ ๕ ของทุกเดือน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวผู้เช่ายอมให้ปรับเป็นรายวันในอัตราวันละ ๕ เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่ารายเดือนเป็นเงิน ๑๕ บาท จนกว่าจะชำระค่าเช่าครบถ้วน” เมื่อจำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม๒๕๓๓ ถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ แต่โจทก์กลับฟ้องเรียกค่าปรับดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๔ ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุด จึงไม่มีข้อตกลงที่ผู้เช่าให้ยอมปรับเป็นรายวันอีกเพราะสัญญาสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ ข้อตกลงที่จะยอมให้ชำระค่าปรับเป็นรายวันนี้ย่อมระงับไป จะนำมาใช้แก่กันอีกไมได้ เป็นเรื่องที่โจทก์ตั้งประเด็นผิด ความจริงการเรียกเบี้ยปรับโจทก์ควรเรียกเบี้ยปรับนับแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๓ อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าไปถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญาเช่า หาใช่มาฟ้องเรียกเบี้ยปรับตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๔ เพราะเมื่อเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๔แล้วจึงไม่อาจเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาเพราะการไม่ชำระค่าเช่าได้อีก เพราะเมื่อไม่มีสัญญาที่จะให้เรียกเบี้ยปรับตามสัญญาแล้วจึงไม่มีสิทธิ์เรียกเบี้ยปรับตามสัญญาได้อีก
๑๕.สัญญาข้อ ๙ กำหนดว่า “ การต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไป ผู้เช่าต้องยื่นคำร้องขอต่ออายุสัญญาต่อผู้อำนวยการวชิรพยาบาลก่อนสิ้นสุดสัญญานี้ไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน และหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เช่าต้องเสียค่าบำรุงโรงพยาบาลจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ผู้ให้เช่าสงวนสิทธิ์จะให้ผู้เช่าต่ออายุสัญญาหรือไม่ก็ได้ “ ดังนี้แม้ตาม ปพพ มาตรา ๕๗๐ จะบัญญัติว่า “ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ ผู้ให้เช่ารู้ความแล้วไม่ทักท้วง ให้ถือว่าคู่สัญญาเช่าเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา” ก็ดี กรณีเพียงทำให้เกิดผลการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น แต่ข้อตกลงที่ต้องเสียค่าบำรุงโรงพยาบาลดังกล่าวข้างต้นถือเป็นข้อตกลงเป็นพิเศษ ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจไว้ว่า เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้วผู้เช่ายังคงอยู่ต่อไปผู้ให้เช่าก็ไม่ทักท้วงแล้ว ข้อตกลงตามสัญญาเช่าอื่นที่เป็นข้อพิเศษนอกเหนือจากการเช่าต้องตกติดไปกับการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย กรณีที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมที่นำมาใช้บังคับต่อไปน่าเป็นข้อตกลงในส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเช่า เช่น ค่าเช่า ซึ่งก็คงต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราเดิม หากผู้ให้เช่าประสงค์จะได้ค่าเช่ามากกว่านี้คงต้องมาตกลงทำสัญญาใหม่อีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งในสัญญาเช่าเดิมยังมีข้อความว่า “ ในครั้งต่อไป” กำกับอยู่ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าจะต้องมีการทำสัญญาเช่ากันจริงๆมิใช่โดยผลของกฎหมาย ทั้งการตีความกฎหมายยังต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๑ อีกด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าบำรุงโรงพยาบาลแต่อย่างใด
๑๖. ตามสัญญาเช่าข้อ ๑๑ มีข้อความว่า “ หากผู้ให้เช่ามีความประสงค์จะใช้อาคารที่เช่าเพื่อดำเนินการของรัฐหรือกิจการใดๆของผู้ให้เช่า ผู้เช่ายินยอมขนย้ายสิ่งของสัมภาระและบริวารออกจากอาคารที่เช่าภายใน ๓๐ วัน หากครบกำหนดแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกจากอาคารที่เช่า ผู้เช่ายินยอมชำระค่าปรับให้ผู้ให้เช่าในอัตราวันละ ๑ ใน ๓ ของค่าเช่ารายเดือนเป็นเงิน ๑๐๐ บาทจนกว่าจะออกจากอาคารที่เช่า” ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้าจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย และตาม ปพพ มาตรา ๓๘๐ วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไปโดยคิดเบี้ยปรับรวมอยู่ด้วย คือให้ถือเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหาย โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่า ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยเสียเบี้ยปรับดังกล่าวให้โจทก์อีกหาได้ไม่ เป็นการเรียกร้องที่นอกเหนือจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับขัดต่อ ปพพ มาตรา ๓๘๐ วรรคสอง ทั้งเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตาม ปพพ มาตรา ๕,๖ ด้วย
๑๗.ข้อความที่จำเลยขอให้แก้ไขคำให้การจำเลยทั้งสี่ข้อได้แก่
ก).ข้อเกี่ยวข้องกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากเดิมเป็นว่า “ ลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม และตราประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้
ข).ข้อความที่เกี่ยวข้องกับอาคารข้อพิพาทที่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนและจำเลยมีสิทธิ์อยู่ได้ตลอดชีวิตเป็นว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า
ค).ข้อที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวของโจทก์ที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นว่าภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วง จึงเป็นการเช่ามี่มีกำหนดเวลา การเลิกสัญญาเช่าต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติใน ปพพ มาตรา ๕๖๖ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า และหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ง)ข้อที่เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งหมดเป็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงใด บ้านพิพาทตั้งอยู่บนถนนตรอกซอยอะไร ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมล้วนเป็นข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการปฏิเสธขึ้นใหม่ เปลี่ยนแปลงข้อต่อสู้เดิมที่จำเลยให้การไว้แต่แรก
เพราะตามประเด็นในข้อ ก.ที่ให้การว่า “ลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม และตราประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้” เท่ากับต่อสู้ว่า ผู้รับมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือปลอมทั้งตราประทับของบริษัทก็เป็นตราประทับปลอม เท่ากับไม่มีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี
ส่วนในประเด็นตามข้อ ข. ที่ให้การว่า “.ข้อความที่เกี่ยวข้องกับอาคารข้อพิพาทที่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนและจำเลยมีสิทธิ์อยู่ได้ตลอดชีวิตเป็นว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า” เท่ากับต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญาเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
ส่วนในประเด็นข้อ ค. ที่ให้การว่า “ข้อที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวของโจทก์ที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ขอแก้เป็นว่า “ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วง จึงเป็นการเช่ามี่มีกำหนดเวลา การเลิกสัญญาเช่าต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติใน ปพพ มาตรา ๕๖๖” ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า และหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เท่ากับขอแก้ต่อสู้จากการบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นว่า “เป็นเรื่องเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่าเพราะเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าแล้วผู้เช่าอยู่ในที่เช่าต่อไปผู้ให้เช่าก็ไม่ทักท้วง” จึงเป็นการให้การกลับคำให้การเดิมเสียทั้งหมดและขัดแย้งกันเองจากเดิมที่ต่อสู้ว่า “ บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ” มาเป็น ไม่เคยบอกเลิกสัญญา โดยเป็นหนังบอกกล่าวไม่ใช่การบอกเลิกสัญญา” จึงเป็นการให้การที่ขัดแย้งกับการให้การในครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง
ส่วนในประเด็นข้อ ง. ที่ให้การว่า “ข้อที่เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งหมดเป็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงใด บ้านพิพาทตั้งอยู่บนถนนตรอกซอยอะไร ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม” ล้วนเป็นข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการปฏิเสธขึ้นใหม่ เปลี่ยนแปลงข้อต่อสู้เดิมที่จำเลยให้การไว้แต่แรก
๑๘.การที่จำเลยให้การใหม่ดังนี้เป็นกรณีจำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่แก้ข้อหาเดิม เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง ข้อเถียงเพื่อหักล้างฟ้องโจทก์ตาม ปวพ มาตรา ๑๗๙(๓) ซึ่งการขอแก้ไขนี้ต้องกระทำก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลย จำเลยอาจยื่นคำร้องขอให้แก้ไขได้ก่อนวันสืบพยาน ซึ่งการขอแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือเป็นการข้อแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นที่จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ภายหลังสืบพยานตาม ปวพ มาตรา ๑๘๐ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันสืบพยานเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้การที่จำเลยฏีกาในข้อ ค)และข้อ ง)เป็นการยกข้อต่อสู้ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขข้อดังกล่าวในฏีกา จึงเป็นฏีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ และจำเลยฏีกาต่อมา ถือเป็นฏีกาที่ไมได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น โดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ปวพ มาตรา ๒๒๕,๒๔๙ ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัยให้

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ลานจอดรถ

ฎีกาที่ 743/2561 

การจัดให้มีลานจอดรถสำหรับเป็นที่จอดรถของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลยเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการจึงเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า จำเลยย่อมต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย แม้จำเลยยินยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องให้การดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของลูกค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ที่ต้องดูแลรถกระบะที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลย ห้างสรรพสินค้าจำเลยใช้มาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าโดยมีพนักงานคอยตรวจสอบดูแลรถยนต์ในขณะที่เข้าหรือออกจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลย หากไม่มีบัตรที่มอบให้ในขณะที่นำรถยนต์เข้ามาจอดก็ไม่สามารถนำรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยได้ อันเป็นมาตรการในการตรวจสอบที่ค่อนข้างจะรัดกุมแต่จำเลยกลับยกเลิกไปและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนและติดป้ายเตือนไว้ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยว่า ลูกค้าต้องดูแลทรัพย์สินของตนเองเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิดเป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกไม่สามารถป้องกันการโจรกรรมได้ นับว่าเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้า การที่รถกระบะที่ อ. ขับมาจอดที่ลานจอดรถของจำเลยสูญหายไปจึงเกิดจากการงดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่รถหายไป

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

“ผิดเพี้ยนในลายละเอียดปลีกย่อย ไม่มีเหตุปรักปรำ รับฟังลงโทษได้” (ตอนที่ ๑)

๑.ตำรวจ ๓ นายเบิกความว่า จำเลยทั้งสองกับพวกมีเฮโรอินจะขาย จึงให้ตำรวจสองนายปลอมตัวเป็นพ่อค้าเดินทางไปกับสายลับติดต่อล่อซื้อเฮโรอินจากจำเลยทั้งสองกับพวกที่บ้าน ตกลงซื้อขายและนัดส่งมอบเฮโรอิน ในวันนัดตำรวจขับรถไปกับสายลับเพื่อรับจำเลยทั้งสองกับพวก จำเลยทั้งสองเป็นคนนำเฮโรอินบรรจุถุงปุ๋ยขึ้นรถที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขับและนั่งรถคันนั้นมาจุดนัดพบ ถูกร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งนำกำลังซุ้มรออยู่จับกุมและยึดเฮโรอินของกลางได้ คำเบิกความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเหตุผล เพราะเป็นผู้ติดต่อซื้อเฮโรอินของกลางและเห็นเหตุการณ์ จำเลยเบิกความรับ ทั้งไม่มีเหตุผลปรักปรำจำเลย ข้ออ้างที่ว่าในถุงไม่มีเฮโรอินเป็นคำของจำเลยคนเดียวลอยๆ ฟังเป็นจริงไมได้ จำเลยที่ ๒ อ้างงติดต่อขอซื้อเฮโรอินให้สายลับอ้างว่าถ้าจับคนขายได้จะได้รางวัล ไม่น่าเชื่อถือ เพราะถ้าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ติดต่อซื้อเฮโรอินของกลางให้สายลับจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจคงต้องทราบและคงไม่ถูกจับกุมกล่าวหาจำเลยที่ ๒ ด้วย พยานที่นำสืบน่าเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย คำพิพากษาฎีกา ๗๘/๒๕๓๐
๒.การที่พยานสองคนปลอมตัวเป็นพ่อค้าติดต่อขอซื้อเฮโรอินกับจำเลยที่ ๑ และพวกเป็นผู้เข้าไปร่วมในเหตุการณ์สามารถรู้เห็นการกระทำของจำเลยทั้งหมดได้อย่างใกล้ชิด คำเบิกความพยานสอดคล้องต้องกัน แม้คำพยานทั้งสองจะแตกต่างกันบ้างก็เฉพาะในส่วนที่เป็นพลความ หาใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ เมื่อพยานดังกล่าวสามารถติดต่อกับจำเลยแล้วรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความตรงกัน จากการวางแผนล่อซื้อเฮโรอินดังกล่าวสามารถทำให้จับกุมจำเลยทั้งหมด คำพยานโจทก์เชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบ พยานเบิกความไปตามหน้าที่ไม่ปรากฎมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยคนหนึ่งคนใดมาก่อนที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำให้จำเลยได้รับโทษจากคำเบิกความพยานโจทก์ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง พยานจำเลยเบิกความลอยๆไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ คำพิพากษาฎีกา ๕๒/๒๕๓๖
๓.พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอดได้ความว่า จำเลยจำหน่ายเฮโรอินที่มีไว้ในความครอบครองให้แก่ผู้ล่อซื้อ ๑ หลอด ราคา ๕๕๐ บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเฮโรอิน ๓ หลอด และธนบัตรที่ล่อซื้อเป็นของกลาง แม้การเบิกความบางตอนจะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความหาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำพยานโจทก์มีน้ำหนักลดน้อยลงถึงกับรับฟังไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ จำเลยเองก็รับว่าอยู่ในวันเกิดเหตุ ตำรวจยึดเฮโรอินพร้อมเงินสด ๖๐๐ บาท ของกลางได้จากจำเลยจริง เพียงแต่บ่ายเลี่ยงว่าของกลางที่ยึดได้นั้นมีผู้นำมาฝากจำเลยไว้ โดยจำเลยไม่ทราบว่าของที่นำมาฝากเป็นเฮโรอิน ซึ่งผิดปกติวิสัยที่คนทั่วไปจะรับฝากของโดยไม่รู้จักคนฝาก พยานที่นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิด คำพิพากษาฏีกา ๔๑๐/๒๕๓๖
๔.โจทก์นำสืบได้ความมาก่อนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่า มีการจำหน่ายเฮโรอินที่บ้านจำเลยในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำกำลังไปตรวจค้น โดยก่อนไปได้มอบธนบัตรจำนวน ๕๐ บาท ให้สายลับไปทำการล่อซื้อเฮโรอินจากจำเลย และได้จัดแบ่งกำลังตำรวจเป็นสองชุด ไปซุ่มดูและเห็นสายลับส่งธนบัตรให้จำเลย จำเลยส่งเฮโรอินให้สายลับ สายลับนำเฮโรอินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้เขจ้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยพบเฮโรอิน ๑ ห่อเล็กซ่อนอยู่ในช่องอิฐบล็อกที่ใช้ทำการก่อฝาบ้าน พบธนบัตรที่ล่อซื้อในกระปุกออมสิน เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันมีเหตุผลเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นจนจบ เบิกความไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ที่จะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้รับโทษ แม้ไม่ได้สายลับมาเบิกความประกอบ และแม้ไม่เห็นว่าใครเป็นผู้รับธนบัตรหรือส่งมอบเฮโรอินให้สายลับ แต่ปรากฏว่าที่บ้านจำเลยมีจำเลยและภรรยาซึ่งนอนป่วยอยู่เท่านั้นไม่มีคนอื่นอีก ดังนั้นจำเลยคือผู้ขายเฮโรอินให้สายลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกชุดเบิกความสนับสนุนว่า เห็นจำเลยขายเฮโรอินให้สายลับเช่นกัน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังค้นได้ธนบัตรที่สายลับล่อซื้อเฮโรอินจากกระปุกออมสินในบ้านจำเลย พยานจำเลยคงมีจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง แม้ในบันทึกจับกุมกับการเบิกความจะปรากฏเฮโรอินแตกต่างกัน แต่เห็นว่าบันทึกการตรวจค้นจับกุมอาจผิดพลาดได้ เป็นข้อแตกต่างเล็กน้อยที่ไม่เป็นข้อสาระสำคัญ เห็นว่าแม้กระปุ๊กออมสินจะทำไว้สำหรับใส่เงินเหรียญ แต่ก็สามารถใส่ธนบัตรได้ จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า กระปุ๊กออมสินเล็กมาจนไม่สามารถใส่ธนบัตรได้ คำเบิกความโจทก์จึงไม่ขาดเหตุผล คำพิพากษาฎีกา ๔๑๓/๒๕๓๖
๕.โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๒ นายเบิกความสอดคล้องกันว่า ก่อนมอบธนบัตรของกลางให้สายลับไปล่อซื้อ ได้นำธนบัตรไปบันทึกลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อน เมื่อสายลับล่อซื้อเฮโรอินได้ ๑ หลอดนำกลับมามอบให้พร้อมบอก ชายคนหนึ่งเป็นคนรับเงิน ส่วนอีกคนเป็นคนมอบเฮโรอินให้โดยบอกลักษณะการแต่งกายของชายทั้งสองคน เมื่อเข้าไปตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสองมีลักษณะและการแต่งกายตามที่สายลับบอก พบธนบัตรของกลางที่ลงประจำวัน พบเฮโรอินของกลาง แม้จะไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยัน พยานโจทก์ก้เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย พยานโจทก์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองอันจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ การที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า มีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อเสพมิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย แต่ที่รับสารภาพเพราะเข้าใจว่า ถูกฟ้องเฉพาะในข้อหามีเฮโรอินไว้ในความครอบครอง ต่อมาเข้าใจข้อหาจึงให้การปฏิเสธ นั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ข้อต่อสู้ในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ คำพิพากษาฏีกา๕๔๙๓/๒๕๓๗
๖.ตำรวจเบิกความว่าได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านว่ามีการขายเฮโรอินที่บ้านเกิดเหตุ จึงวางแผนการล่อซื้อ โดยนำธนบัตรไปบันทึกหมายเลขในประจำวันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำไปล่อซื้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปที่เกิดเหตุโดยแต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปล่อซื้อในบ้าน ส่วนที่เหลือซุ้มอยู่ด้านหลัง หลังจากได้มอบเงินและเฮโรอินแล้ว จึงส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซุ้มอยู่เข้าจับกุมจำเลยพบเฮโรอินอีก ๑ หลอด และธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจากจำเลยที่ ๒ พยานที่เป็นตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง น่าเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ ๑ อ้างว่าไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแกล้งจับกุมและปรักปรำก็ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ แม้พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันในเรื่องสถานที่พบจำเลยทั้งสองก่อนล่อซื้อก็ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๔/๒๕๓๘
๗.แม้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ เป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน แม้มีน้ำหนักน้อย แต่เมื่อฟังประกอบกับระยะเวลาที่สายลับไปทำการล่อซื้อเมทแอมเฟตตามีนจากจำเลยที่ ๒ จนกระทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจค้นจำเลยและพบธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจากจำเลยแทบจะในทันทีทันใดแล้ว คำซัดทอดดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๗๐๕/๒๕๓๘
๘. โจทก์นำสืบแผนการวางแผนจับโดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมเป็นผู้ซื้อเป็นการสืบตามฟ้องหาใช่เป็นการสืบนอกฟ้องไม่ จำเลยมีสิทธิ์นำพยานมาสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนโดยไม่จำต้องซักค้านพยานโจทก์ไว้ก่อน แต่จะรับฟังได้หรือไม่เป็นดุลพินิจศาล ไม่มีกฎหมายห้ามรับฟังข้อนำสืบต่อสู้คดีของจำเลยอื่น การจำหน่ายเฮโรอินเป้นความผิดที่มีอัตราโทษทางกฎหมายสูง ผู้กระทำผิดย่อมปกปิดเป็นความลับ ถ้าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำผิด ก็ไม่มีเหตุที่ผู้กระทำผิดจะกล้าให้ร่วมรู้เห็นด้วย พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติการไปตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุจะปรักปรำใส่ร้าย เมื่อเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจับจำเลยได้ มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง คำพิพากษาฏีกา ๑๘๕/๒๕๓๙
๙.จำเลยที่ ๑ มีเฮโรอินคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ ๒,๘๘๕ กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลักษณะคดีและพฤติการณ์ที่ตำรวจวางแผนให้สายลับเข้าไปล่อซื้อมีความสลับซับซ้อนพอสมควร เชื่อว่าเป็นการกระทำที่เป็นขบวนการซึ่งย่อมต้องมีผู้ร่วมขบวนการ เมื่อพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เข้าไปเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ในการล่อซื้อเฮโรอินและถูกจับได้พร้อมของกลางในห้องพักเดียวกัน อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกในลักษณะร่วมขบวนการเดียวกันกับพยานหลักฐานโจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ร่วมจำเลยที่ ๑ มีเฮโรอินไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่สำหรับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ซึ่งโจทก์นำสืบว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นเกี่ยวกับการส่งมอบเฮโรอินของกลางโดยเป็นผู้นำเฮโรอินไปส่งให้จำเลยที่ ๓ นั้น พยานโจทก์เบิกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความแตกต่างจากพยานคนกลางอื่น ทั้งที่เกิดเหตุก็มีแสงสว่างน้อย พยานโจทก์ซุ้มดูเหตุการณ์อยู่ ๑๐ เมตรเศษ เชื่อว่าพยานโจทก์ไม่สามารถมองเห็นกลุ่มคนดังกล่าวได้ชัดเจนพอ พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ได้ร่วมกระทำผิด คำพิพากษาฏีกา ๓๒๖/๒๕๓๙
๑๐.พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย พยานผู้ร่วมจับกุมต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันในเรื่องธนบัตรของกลางที่ใช้ในการล่อซื้อ มีการถ่ายภาพ และลงหมายเลขไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการก่อนที่จะมอบให้สายลับไปดำเนินการ เมื่อสายลับล่อซื้อเฮโรอินมาได้ พยานผู้ร่วมจับกุมตรงไปที่บ้านจำเลยทันที ทำการตรวจค้นและพบธนบัตรดังกล่าวที่ตัวจำเลย ขั้นตอนต่างๆเป็นไปในระยะเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกัน จำเลยเบิกความว่าธนบัตรของกลางได้จากกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่สวมใส่อยู่ขณะถูกตรวจค้นจริงเป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานโจทก์ ประกอบกับจำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับที่จำเลยถูกจับกุม คำรับสารภาพของจำเลยจึงมีน้ำหนักในการรับฟังประกอบพยานหลักฐานโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เพราะถูฏเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย มีแต่คำเบิกความของจำเลยลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ คำพิพากษาฎีกา ๖๗๒/๒๕๔๓๖
๑๑.ผู้จับกุมเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าแอบซุ้มดูขณะสายลับล่อซื้อเฮโรอินจากจำเลยที่ ๑ โดยสายลับเข้าไปพูดกับจำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๑ หันไปพูดกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ เดินเข้าไปในถนนซอยสักครู่ก็นำถุงพลาสติกส่งให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ หยิบกล่องกระดาษออกจากถุงส่งให้สายลับ สายลับส่งธนบัตรให้จำเลยที่ ๒ เมื่อสายลับส่งสัญญาณและนำเฮโรอินที่ล่อซื้อมามอบให้จึงเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งสอง เหตุที่จับกุมจำเลยทั้งสองเพราะมีการสืบทราบและมีการวางแผนจับกุมมาก่อน ที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าสว่าง ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พยานโจทก์มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง คำพิพากษาฏีกา ๖๓/๒๕๔๐
๑๒. จำเลยฏีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมายืนยันขั้นตอนที่จำเลยทำการแบ่งบรรจุเฮโรอินใส่ในหลอดกาแฟ คงปรากฏเพียงมีเฮโรอินใส่ในหลอดกาแฟไว้เรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงน่าเป็นความผิดเพียงมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเจตนาตำรวจที่ล่อซื้อเฮโรอินเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานอันไม่ชอบ เห็นว่า พรบ. ยาเสพติดฯ มาตรา ๔ ให้นิยามศัพท์คำว่า “ ผลิต” ให้หมายความรวมถึง การแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า ขณะจับจำเลยได้นั้นตำรวจพบเฮโรอินในหลอดกาแฟถึง ๒๘ หลอด อยู่ในกล่องพลาสติกที่จำเลยถืออยู่ และมีหลอดกาแฟเปล่าขนาดเดียวกันที่ตัดโดยปิดด้านหนึ่งอยู่อีก ๓๓ หลอด ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพว่าซื้อเฮโรอินมาแบ่งบรรจุในหลอดกาแฟ และแสดงท่าบรรจุเฮโรอินในหลอดกาแฟเปล่าให้ตำรวจผู้จับกุมดู ชั้นสอบสวนก็รับว่าหลอดกาแฟเปล่าเตรียมไว้เพื่อบรรจุเฮโรอิน พฤติการณ์จำเลยที่แบ่งเฮโรอินออกเป็นส่วนย่อยและบรรจุลงในหลอดกาแฟดังกล่าว ทั้งมีหลอดกาแฟเปล่าขนาดเดียวกันจำนวนมาก แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขั้นตอนการแบ่งบรรจุใส่หลอดกาแฟ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยกระทำเพื่อความสะดวกในการจัดจำหน่ายนั้นเอง พยานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานผลิตเฮโรอินของกลางตามฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๔๑๘๓/๒๕๔๐
๑๓. โปรดติดตามตอนต่อไป
ข้อสังเกต ๑. การที่ไม่ได้ตัวสายลับมาเบิกความแล้วรู้ได้ไงว่าสายลับได้ทำการล่อซื้อจริง ของกลางที่ส่งมอบให้ตำรวจก็อาจเป็นของสายลับเองที่มีไว้เพื่อปรักปรำจำเลยได้ ดังนั้น การนำสืบต้องนำสืบว่า ก่อนให้สายลับไปล่อซื้อได้มีการค้นตัวสายลับแล้วไม่พบของผิดกฎหมาย แต่ก็มีช่องโหว้อยู่ที่ขณะค้นตัวไม่พบของผิดกฎหมาย แล้วหลังจากนั้นละ สายลับไปหยิบของผิดกฎหมายที่ไหนหรือไม่ในเมื่อไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยประกบสายลับอยู่ตลอดเวลาจนถึงเวลาที่มีการล่อซื้ อ แม้แต่ธนบัตรที่มอบให้สายลับไปล่อซื้อบางทีก็เกิดความพลั้งเผลอที่สายลับเอาธนบัตรนั้นไปใช้แล้วนำธนบัตรส่วนตัวของตนมาทำการล่อซื้อ เมื่อล่อซื้อได้ทำการตรวจค้นก็ไม่พบธนบัตรที่นำไปลงประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการล่อซื้อ นี้เป็นช่องว่างเป็นจุดโหว่ที่ต้องทำการแก้ไข
๒.ในวันนัดตำรวจขับรถไปกับสายลับเพื่อรับจำเลยทั้งสองกับพวก จำเลยทั้งสองเป็นคนนำเฮโรอินบรรจุถุงปุ๋ยขึ้นรถที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขับและนั่งรถคันนั้นมาจุดนัดพบ ถูกร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งนำกำลังซุ้มรออยู่จับกุมและยึดเฮโรอินของกลางได้ คำเบิกความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเหตุผล เพราะเป็นผู้ติดต่อซื้อเฮโรอินของกลางและเห็นเหตุการณ์ จำเลยเบิกความรับ ทั้งไม่มีเหตุผลปรักปรำจำเลย ข้ออ้างที่ว่าในถุงไม่มีเฮโรอินเป็นคำของจำเลยคนเดียวลอยๆ ฟังเป็นจริงไมได้ จำเลยที่ ๒ อ้างงติดต่อขอซื้อเฮโรอินให้สายลับอ้างว่าถ้าจับคนขายได้จะได้รางวัล ไม่น่าเชื่อถือ เพราะถ้าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ติดต่อซื้อเฮโรอินของกลางให้สายลับจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจคงต้องทราบและคงไม่ถูกจับกุมกล่าวหาจำเลยที่ ๒ ด้วย พยานที่นำสืบน่าเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย
๓.การที่พยานสองคนปลอมตัวเป็นพ่อค้าติดต่อขอซื้อเฮโรอินกับจำเลยที่ ๑ และพวกเป็นผู้เข้าไปร่วมในเหตุการณ์สามารถรู้เห็นการกระทำของจำเลยทั้งหมดได้อย่างใกล้ชิด คำเบิกความพยานสอดคล้องต้องกัน แม้คำพยานทั้งสองจะแตกต่างกันบ้างก็เฉพาะในส่วนที่เป็นพลความ หาใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ จึงไม่เป็นพิรุธน่าสงสัย แต่หากพยานทั้งสองปากเบิกความสอดคล้องต้องกันทุกอย่างทั้งในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและในส่วนลายละเอียดแบบนี้เป็นพิรุธน่าสงสัยที่พยานทั้งสองปากจะจดจำลายละเอียดได้เหมือนกันทุกอย่าง คนแต่ละคนการสังเกตก็แตกต่างกัน จุดที่ยืนต่างกันมองเห็นก็ต่างกัน การจดจำจึงไม่น่าเหมือนกันหมดทุกประการ เพียงแค่สาระสำคัญส่วนใหญ่ตรงกันก็พอแล้ว หากลายละเอียดเหมือนกันทุกอย่างนิสิเป็นพิรุธน่าสงสัยว่ามีการซักซ้อมกันมาก่อนเบิกความหรือไม่อย่างไร
๔.เมื่อพยานสามารถติดต่อกับจำเลยแล้วรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นไปตามขั้นตอนการทำงาน ไม่มีพิรุธน่าสงสัยและเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความสอดคล้องตรงกันตั้งแต่การวางแผนล่อซื้อเฮโรอินดังกล่าวจนสามารถทำให้จับกุมจำเลยทั้งหมด คำพยานโจทก์เชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบ พยานเบิกความไปตามหน้าที่ ไม่ปรากฎมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยคนหนึ่งคนใดมาก่อนที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำให้จำเลยได้รับโทษจากคำเบิกความพยานโจทก์ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง พยานจำเลยเบิกความลอยๆไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนหรือเบิกความลำพังเพียงปากเดียวย่อมยากที่จะหักล้างพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำไปตามอำนาจหน้าที่และไม่มีเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน ทำให้คำเบิกความน่าเชื่อถือ พยานจำเลยจึงไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้
๕..พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอดได้ความว่า จำเลยจำหน่ายเฮโรอินที่มีไว้ในความครอบครองให้แก่ผู้ล่อซื้อ โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเฮโรอิน ๓ หลอด และธนบัตรที่ล่อซื้อเป็นของกลาง แม้การเบิกความบางตอนจะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความหาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำพยานโจทก์มีน้ำหนักลดน้อยลงถึงกับรับฟังไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ จำเลยเองก็รับว่าอยู่ในวันเกิดเหตุ ตำรวจยึดเฮโรอินพร้อมเงินสด ๖๐๐ บาท ของกลางได้จากจำเลยจริง เท่ากับการนำสืบของจำเลยเจือสมการนำสืบของโจทก์ และเป็นการยืนยันยอมรับว่าถูกจับกุมได้พร้อมเฮโออินของกลางหาใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจยัดของกลางแต่อย่างใดไม่
๖.การที่บ่ายเบี่ยงว่าของกลางที่ยึดได้นั้นมีผู้นำมาฝากจำเลยไว้ โดยจำเลยไม่ทราบว่าของที่นำมาฝากเป็นเฮโรอิน เป็นการผิดปกติวิสัยที่คนทั่วไปจะรับฝากของโดยไม่รู้จักคนฝากและไม่รู้ว่าของที่ฝากนั้นคืออะไร อีกทั้งเฮโรอินเป็นของผิดกฎหมายมีราคาแพง คงไม่มีใครนำเฮโรอินมาฝากคนที่ตนไม่รู้จัก พยานที่นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิด
.๗.สืบทราบว่า มีการจำหน่ายเฮโรอินที่บ้านจำเลยในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำกำลังไปตรวจค้น โดยก่อนไปได้มอบธนบัตรจำนวน ๕๐ บาท ให้สายลับไปทำการล่อซื้อเฮโรอินจากจำเลย และได้จัดแบ่งกำลังตำรวจเป็นสองชุด ไปซุ่มดูและเห็นสายลับส่งธนบัตรให้จำเลย จำเลยส่งเฮโรอินให้สายลับ สายลับนำเฮโรอินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้เขจ้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยพบเฮโรอิน ๑ ห่อเล็กซ่อนอยู่ในช่องอิฐบล็อกที่ใช้ทำการก่อฝาบ้าน พบธนบัตรที่ล่อซื้อในกระปุกออมสิน เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันมีเหตุผลเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นจนจบ เบิกความไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ที่จะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้รับโทษ แม้ไม่ได้สายลับมาเบิกความประกอบ และแม้ไม่เห็นว่าใครเป็นผู้รับธนบัตรหรือส่งมอบเฮโรอินให้สายลับ แต่ปรากฏว่าที่บ้านจำเลยมีจำเลยและภรรยาซึ่งนอนป่วยอยู่เท่านั้นไม่มีคนอื่นอีก ดังนั้นจำเลยคือผู้ขายเฮโรอินให้สายลับ
๘.เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกชุดเบิกความสนับสนุนว่า เห็นจำเลยขายเฮโรอินให้สายลับเช่นกัน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังค้นได้ธนบัตรที่สายลับล่อซื้อเฮโรอินจากกระปุกออมสินในบ้านจำเลย พยานจำเลยคงมีจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง
๙.แม้ในบันทึกจับกุมกับการเบิกความจะปรากฏเฮโรอินแตกต่างกัน แต่เห็นว่าบันทึกการตรวจค้นจับกุมอาจผิดพลาดได้ เป็นข้อแตกต่างเล็กน้อยที่ไม่เป็นข้อสาระสำคัญ เห็นว่าแม้กระปุ๊กออมสินจะทำไว้สำหรับใส่เงินเหรียญ แต่ก็สามารถใส่ธนบัตรได้ จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า กระปุ๊กออมสินเล็กมาจนไม่สามารถใส่ธนบัตรได้ คำเบิกความโจทก์จึงไม่ขาดเหตุผล
๑๐.. ก่อนมอบธนบัตรของกลางให้สายลับไปล่อซื้อ ได้นำธนบัตรไปบันทึกลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อน เมื่อสายลับล่อซื้อเฮโรอินได้ ๑ หลอดนำกลับมามอบให้พร้อมบอก ชายคนหนึ่งเป็นคนรับเงิน ส่วนอีกคนเป็นคนมอบเฮโรอินให้โดยบอกลักษณะการแต่งกายของชายทั้งสองคน เมื่อเข้าไปตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสองมีลักษณะและการแต่งกายตามที่สายลับบอก พบธนบัตรของกลางที่ลงประจำวัน พบเฮโรอินของกลาง แม้จะไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยัน พยานโจทก์ก็เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย
๑๑.. พยานโจทก์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองอันจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ การที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า มีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อเสพมิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย แต่ที่รับสารภาพเพราะเข้าใจว่า ถูกฟ้องเฉพาะในข้อหามีเฮโรอินไว้ในความครอบครอง ต่อมาเข้าใจข้อหาจึงให้การปฏิเสธ เท่ากับยอมรับว่า มีเฮโรอินไว้ในความครอบครองจริงและถูกจับกุมได้พร้อมเฮโรอินของกลาง และการสอบสวนได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ล่อหลอกหรือทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพ เพียงแต่ตนผิดหลงเข้าใจว่า ถูกฟ้องเฉพาะในข้อหามีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเท่านั้น ต่อมาเข้าใจข้อหาจึงให้การปฏิเสธ เมื่อไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ข้อต่อสู้ในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์
๑๒.วางแผนการล่อซื้อ โดยนำธนบัตรไปบันทึกหมายเลขในประจำวันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำไปล่อซื้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปที่เกิดเหตุโดยแต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปล่อซื้อในบ้าน ส่วนที่เหลือซุ้มอยู่ด้านหลัง หลังจากได้มอบเงินและเฮโรอินแล้ว จึงส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซุ้มอยู่เข้าจับกุมจำเลยพบเฮโรอินอีก ๑ หลอด และธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจากจำเลยที่ ๒ พยานที่เป็นตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง น่าเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ ๑ อ้างว่าไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแกล้งจับกุมและปรักปรำก็ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ แม้พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันในเรื่องสถานที่พบจำเลยทั้งสองก่อนล่อซื้อก็ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ สาระสำคัญน่าจะอยู่ที่ขณะทำการล่อซื้อว่าทำอะไรกันบ้าง และขณะทำการตรวจค้นจับกุมพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อพรน้อมเฮโรอินอื่นหรือไม่อย่างไร
๑๓..ลำพังพียงคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ เป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน มีน้ำหนักน้อยไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยด้วยกันได้เพราะ จำเลยที่ ๒ อาจให้การซัดทอดว่าจำเลยอื่นเป็นผู้กระทำผิดเพื่อปกปิดความผิดของตนเองหรือยอมให้การเช่นนั้นเพราะได้รับคำมั่นสัญญา จูงใจจากพนักงานสอบสวนเพื่อตอบแทนกับการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เมื่อนำคำซัดทอดนั้นไปรับฟังประกอบกับระยะเวลาที่สายลับไปทำการล่อซื้อเมทแอมเฟตตามีนจากจำเลยที่ ๒ จนกระทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจค้นจำเลยและพบธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจากจำเลยแทบจะในทันทีทันใดแล้วสอดคล้องต้องกัน คำซัดทอดดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังได้
๑๔. การนำสืบแผนการวางแผนจับกุมโดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมเป็นผู้ซื้อ เพื่อทำการล่อซื้อยาเสพติดเป็นการสืบตามฟ้องหาใช่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใดไม่ ไม่ใช่คำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นตาม ปวพ มาตรา ๑๑๘(๑) ปวอ มาตรา ๑๕ แต่อย่างใดไม่
๑๕.จำเลยมีสิทธิ์นำพยานมาสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนโดยไม่จำต้องซักค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนและสามารถใช้คำถามอื่นใดแม้เป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับคำพยานที่เบิกความตอบคำถามค้าน คือไม่นำปวพ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ปวอ มาตรา ๑๕ มาใช้บังคับในการสืบพยานจำเลย เพราะจำเลยมีสิทธิ์ต่อสู้คดีได้เต็มที่สามารถให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้าไม่ให้การถือจำเลยปฏิเสธ ส่วนกรณีการสืบพยานของจำเลยดังกล่าวจะรับฟังได้หรือไม่เป็นดุลพินิจศาล
๑๖..ไม่มีกฎหมายห้ามรับฟังข้อนำสืบต่อสู้คดีของจำเลยอื่น แต่จะรับฟังได้แค่ไหนเพียงใดเป็นอีกกรณีหนึ่ง
๑๗.การจำหน่ายเฮโรอินเป็นความผิดที่มีอัตราโทษทางกฎหมายสูง ผู้กระทำผิดย่อมปกปิดเป็นความลับ ถ้าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำผิด ก็ไม่มีเหตุที่ผู้กระทำผิดจะกล้าให้ร่วมรู้เห็นด้วย พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติการไปตามหน้าที่ ไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุจะปรักปรำใส่ร้าย เมื่อเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจับจำเลยได้ มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง
๑๘.จำเลยที่ ๑ มีเฮโรอินคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ ๒,๘๘๕ กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลักษณะคดีและพฤติการณ์ที่ตำรวจวางแผนให้สายลับเข้าไปล่อซื้อมีความสลับซับซ้อนพอสมควร เชื่อว่าเป็นการกระทำที่เป็นขบวนการซึ่งย่อมต้องมีผู้ร่วมขบวนการ เมื่อพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เข้าไปเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ในการล่อซื้อเฮโรอินและถูกจับได้พร้อมของกลางในห้องพักเดียวกัน อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกในลักษณะร่วมขบวนการเดียวกันกับพยานหลักฐานโจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ร่วมจำเลยที่ ๑ มีเฮโรอินไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ๑๙..แต่สำหรับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ซึ่งโจทก์นำสืบว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นเกี่ยวกับการส่งมอบเฮโรอินของกลางโดยเป็นผู้นำเฮโรอินไปส่งให้จำเลยที่ ๓ นั้น พยานโจทก์เบิกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความแตกต่างจากพยานคนกลางอื่น เป็นพิรุธน่าสงสัย ทั้งที่เกิดเหตุก็มีแสงสว่างน้อย พยานโจทก์ซุ้มดูเหตุการณ์อยู่ ๑๐ เมตรเศษ เชื่อว่าพยานโจทก์ไม่สามารถมองเห็นกลุ่มคนดังกล่าวได้ชัดเจนพอ ไม่อาจทราบได้ว่าได้มีการกพูดคุยหรือกระทำการค้ายาเสพติดกันหรือไม่อย่างไร และหากไม่ได้นำสายลับมาเบิกความประกอบด้วยแล้วย่อมมีน้ำหนักน้อยไม่เพียงพอแก่การลงโทษ พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ได้ร่วมกระทำผิด
๒๐..พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย พยานผู้ร่วมจับกุมต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันในเรื่องธนบัตรของกลางที่ใช้ในการล่อซื้อ มีการถ่ายภาพ และลงหมายเลขไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการก่อนที่จะมอบให้สายลับไปดำเนินการ เมื่อสายลับล่อซื้อเฮโรอินมาได้ พยานผู้ร่วมจับกุมตรงไปที่บ้านจำเลยทันที ทำการตรวจค้นและพบธนบัตรดังกล่าวที่ตัวจำเลย ขั้นตอนต่างๆเป็นไปในระยะเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกัน น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง
๒๑.จำเลยเบิกความว่าธนบัตรของกลางได้จากกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่สวมใส่อยู่ขณะถูกตรวจค้นจริงเป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานโจทก์ ทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักในการรับฟังการลงโทษจำเลย ประกอบกับจำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับที่จำเลยถูกจับกุม เมื่อไม่ได้ต่อสู้ว่ารับสารภาพโดยไม่สมัครใจ ถูกบังคับขู่เข็ญหรือมิชอบด้วยประการใด คำรับสารภาพของจำเลยจึงมีน้ำหนักในการรับฟังประกอบพยานหลักฐานโจทก์ ส่วนที่อ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย มีแต่คำเบิกความของจำเลยลอยๆ โดยไม่มีใบรับรองแพทย์ว่าถูกทำร้ายร่างกายจริงหรือไม่อย่างไร ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้จับกุมฐานทำร้ายร่างกายหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ไม่มีการร้องเรียนตำรวจผู้จับกุมว่ากระทำโดยไม่ชอบ จึง ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
๒๒.แม้ไมได้นำสายลับมาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย แต่พยานผู้จับกุมเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าแอบซุ้มดูขณะสายลับล่อซื้อเฮโรอินจากจำเลยที่ ๑ โดยสายลับเข้าไปพูดกับจำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๑ หันไปพูดกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ เดินเข้าไปในถนนซอยสักครู่ก็นำถุงพลาสติกส่งให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ หยิบกล่องกระดาษออกจากถุงส่งให้สายลับ สายลับส่งธนบัตรให้จำเลยที่ ๒ เป็นลักษณะแบ่งงานกันทำ แบ่ง เมื่อสายลับส่งสัญญาณและนำเฮโรอินที่ล่อซื้อมามอบให้จึงเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งสอง เหตุที่จับกุมจำเลยทั้งสองเพราะมีการสืบทราบและมีการวางแผนจับกุมมาก่อน ที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าสว่าง ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พยานโจทก์มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง
๒๓. แม้ไม่มีประจักษ์พยานมายืนยันขั้นตอนที่จำเลยทำการแบ่งบรรจุเฮโรอินใส่ในหลอดกาแฟ คงปรากฏเพียงมีเฮโรอินใส่ในหลอดกาแฟไว้เรียบร้อยแล้ว ก็หาใช่เป็นความผิดเพียงมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่จำเลยฏีกาไม่ อีกทั้งการที่ตำรวจที่ล่อซื้อเฮโรอินก็หาใช่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานอันไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยมีเฮโรอินไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้วพร้อมที่จำหน่าย หาใช่จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะจำหน่ายแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปล่อซื้อเพื่อให้จำเลยจำหน่ายแต่อย่างใดไม่ หากไม่มีการล่อซื้อก็อาจจับกุมได้เพียงมีเฮโรอินไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้อนุญาต แต่ไม่สามารถจับกุมในข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย
๒๔.เห็นว่า พรบ. ยาเสพติดฯ มาตรา ๔ ให้นิยามศัพท์คำว่า “ ผลิต” ให้หมายความรวมถึง การแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย เมื่อได้ความว่า ขณะจับจำเลยได้นั้นตำรวจพบเฮโรอินในหลอดกาแฟถึง ๒๘ หลอด อยู่ในกล่องพลาสติกที่จำเลยถืออยู่ ซึ่งมีจำนวนมากเกินที่จะมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ เฮโรอินเป็นของผิดกฎหมายมีราคาแพงการจะซื้อตุนไว้เพื่อเสพจำนวนมากอาจถูกจับกุมตรวจค้นได้ อีกทั้งการที่มีหลอดกาแฟเปล่าชนิดและขนาดเดียวกันกับที่บรรจุเฮโรอินเพื่อจำหน่ายโดยหลอดกาแฟดังกล่าวถูกตัดโดยปิดด้านหนึ่งอยู่อีก ๓๓ หลอดถือมีจำนวนมาก และมีเหตุผลใดที่ต้องตัดหลอดกาแฟในลักษณะนี้ หากไม่ได้มีไว้เพื่อการบรรจุเฮโรอินเพื่อจำหน่าย
๒๕.ประกอบทั้งในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพว่าซื้อเฮโรอินมาแบ่งบรรจุในหลอดกาแฟ และแสดงท่าบรรจุเฮโรอินในหลอดกาแฟเปล่าให้ตำรวจผู้จับกุมดู ชั้นสอบสวนก็รับว่าหลอดกาแฟเปล่าเตรียมไว้เพื่อบรรจุเฮโรอิน พฤติการณ์จำเลยที่แบ่งเฮโรอินออกเป็นส่วนย่อยและบรรจุลงในหลอดกาแฟดังกล่าว ทั้งมีหลอดกาแฟเปล่าขนาดเดียวกันจำนวนมาก แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขั้นตอนการแบ่งบรรจุใส่หลอดกาแฟ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีหลอดกาแฟไว้เพื่อแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุเฮโรอินแล้ว เข้าตามวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ ผลิต” การตัดหลอดกาแฟที่ปิดด้านหนึ่งอยู่เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการจัดจำหน่ายนั้นเอง ผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย น่าเชื่อว่ากระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานผลิตเฮโรอินของกลางตามฟ้อง

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

“ข้อมูลอีเล็กทรอนิกที่เข้าถึงได้”

โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยทางfacebook มีใจความว่า “ เงินทั้งหมด ๖๗๐,๐๐๐ บาท ไม่ต้องส่งคืนให้ ยกให้ทั้งหมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว” การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอีเล็คทรอนิกส์ต้องนำพรบ ธุรกรรมทางอีเล็คทรอนิค พ.ศ. ๒๕๔๔ มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา ๗ บัญญัติว่า “ ห้ามไม่ให้ปฏิเสธความผูกพันและการบังคับใช้กฎหมายของข้อความใดๆเพียงเพราะข้อความนั้นอยู่ในรูปแบบอีเล็คทรอนิกส์” และในมาตรา ๘ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๙ ในกรณีกฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอีเล็คทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง “ให้ถือว่า “ ข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ดังนั้นข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทาง facebook แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความโจทก์ทาง facebook จะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วย และโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความทาง facebookถึงจำเลยจริง ข้อความสนทนาจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยแล้วโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐ แล้วหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับ โจทก์ไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่มีเจตนาปลดหนี้ให้จำเลย แต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกตกเป็นโฆฆะ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนเร็นอยู่ภายใน คำพิพากษาฏีกา ๖๗๕๗/๒๕๖๐
ข้อสังเกต ๑.สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบุคคลที่อยู่ห่างโดยระยะทาง ย่อมเป็นสัญญาขึ้นตั้งแต่เวลาที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ปพพ มาตรา ๓๖๑
๒.ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ปพพ มาตรา ๖๕๓วรรคสอง 
๓.เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานบุคคลที่จะนำสืบแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง หรือนำสืบข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีการเติม ตัดทอน เปลี่ยนแปลงแก้ไขในเอกสาร แม้คู่ความอีกฝ่ายยินยอม ปวพ มาตรา ๙๔
๔ ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาจะปลดหนี้ให้ลูกหนี้ หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือ การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวรคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐ 
๕. “ ธุรกรรมทางอีเล็คทรอนิกส์” หมายถึง การกระทำใดๆเกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดไว้(ธุรกรรมอิเล็คทรอนิกส์ภาครัฐ เช่น การขอ การ การจดทะเบียน คำสั่งทางปกครอง การชำระเงิน การประกาศ การดำเนินการใดๆตามกฏหมายกับหน่วยงานของรัฐหรือโดยหน่วยงานของรัฐโดยกระทำในรูปข้อมูลอีเล็คทรอนิกส์ตามหลักเกณท์และวิธีการที่กำหนดพระราชกฤษฏีกา พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอีเล็คทรอนิกส์พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๔
๖. “ อีเล็คทรอนิกส์ หมายความถึง การประยุกต์ใช้วิธีการทางอีเล็คตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็ก หรือวิธีการอื่นใดอันคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึง การประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีการต่างๆเช่นว่านี้
๗.” ข้อมูลทางอีเล็กทรอนิก” หมายถึงข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษาหรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอีเล็คทรอนิกส์ จดหมายอีเล็คทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ โทรสาร
๘.ห้ามปฏิเสธความผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะข้อความนั้นอยู่ในรูปข้อมูลอีเล็คทรอนิกส์ มาตรา ๗ พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอีเล็กทรอนิกส์
๙.กรณีกฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมาย ไม่เปลี่ยนแปลง “ ให้ถือว่า “ ข้อความนั้น ได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว มาตรา ๘ พรบ.ว่าด้วยว่าด้วยธุรกรรมทางอีเล็กทรอนิกส์
๑๐.กรณีบุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ “ ให้ถือว่า “ข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์มีการลงลายมือชื่อแล้ว มาตรา ๙ พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอีเล็กทรอนิกส์
๑๑กู้ยืมเงินเกินกว่า ๒,๐๐๐ บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ปพพ มาตรา ๖๕๓ เมื่อการกู้ยืมมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญแล้ว การนำสืบการใช้เงินจะกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นได้เวนคืนหรือมีการแทงเพิกถอนข้อความในเอกสารแล้ว ปพพ มาตรา ๖๕๓ วรรคสอง มิเช่นนั้นจะนำพยานบุคคลมานำสืบเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนข้อความในเอกสารหรือนำพยานบุคคลมานำสืบแทนพยานเอกสารว่าได้มีการชำระหนี้เงินยืมแล้วไม่ได้ ปวพ มาตรา ๙๔
๑๒.การส่งข้อความทางfacebook มีใจความว่า “ เงินทั้งหมด ๖๗๐,๐๐๐ บาท ไม่ต้องส่งคืนให้ ยกให้ทั้งหมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว” ข้อความดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงิน แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่า จำทำการปลดหนี้กู้ยืมเงินให้ หนี้กู้ยืมเป็นอันระงับไปตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐
๑๓.มีปัญหาว่า เมื่อหนี้กู้ยืมเงินเกินกว่า ๒,๐๐๐ บาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วยหรือมีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสียตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย 
๑๔.การส่งข้อมูลดังกล่าวทางfacebook เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอีเล็คทรอนิกส์ต้องนำพรบ ธุรกรรมทางอีเล็กทรอนิก พ.ศ. ๒๕๔๔ มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา ๗ บัญญัติว่า “ ห้ามไม่ให้ปฏิเสธความผูกพันและการบังคับใช้กฎหมายของข้อความใดๆเพียงเพราะข้อความนั้นอยู่ในรูปแบบอีเล็คทรอนิกส์” นั้นก็คือจะปฏิเสธว่าการส่งข้อความดังกล่าวไม่มีความผูกพันธ์และบังคับตามกฏหมายไม่ได้เพราะเป็นการส่งข้อมูลทางอีเล็กทรอนิก ไม่มีลายมือชื่อของผู้ส่งเป็นสำคัญหาได้ไม่ อีกทั้งในมาตรา ๘ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๙ ในกรณีกฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง “ให้ถือว่า “ ข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว นั้นก็คือ ต้องถือว่าการส่งข้อความดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือแล้วว่าได้ยินยอมให้มีการปลดหนี้
๑๕..ดังนั้นข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทาง facebook แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม จะอ้างว่าตนไม่ได้ลงลายมือชื่อของตน ไม่ได้มีลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายทำนองอื่นเช่นว่านั้นทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อโดยมีพยานรับรองไว้แล้วสองคนตาม ปพพ มาตรา ๙ วรรคแรก,วรรคสอง หาได้ไม่ 
๑๖.การส่งข้อความโจทก์ทาง facebook จะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วย และโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความทาง facebookถึงจำเลยจริง ข้อความสนทนาจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยแล้วโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐ แล้วหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับ ไปตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐ 
๑๗.โจทก์ไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่มีเจตนาปลดหนี้ให้จำเลย แต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกตกเป็นโฆฆะ หาอาจอ้างได้ไม่ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนเร็นอยู่ภายในหาได้ไม่ ตาม ปพพ มาตรา ๑๕๔ คือจะกล่าวอ้างว่าการแสดงเจตนาปลดหนี้ดังกล่าว ตนผู้แสดงเจตนาไม่มีเจตนาปลดหนี้ให้ตามเจตนาที่ได้แสดงออกมา เมื่อจำเลยไม่ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร็นอยู่ภายในใจของโจทก์ การแสดงเจตนาปลดหนี้ของโจทก์หาตกเป็นโมฆะตาม ปพพ มาตรา ๑๕๔ แต่อย่างใดไม่ ต้องถือว่าโจทก์ปลดหนี้ให้จำเลย หนี้เงินกู้จึงเป็นอันระงับไปตาม ปพพ มาตรา ๓๔๐

วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

“ถามคำให้การ”

๑. แม้ ปวอ. มาตรา๗/๑(๒)จะบัญญัติให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน และมาตรา ๑๓๔/๓ บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ และมาตรา ๑๓๔/๔(๒) บัญญัติเรื่องการถามความผู้ต้องหานั้น ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้าฟังการสอบสวนเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ก็ตาม แต่ในวรรคท้ายมาตรา ๑๓๔/๔ บัญญัติเพียงว่า ถ้อยคำใดๆที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๔/๓ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้เท่านั้น ดังนั้นพนักงานสอบสวนแม้ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวก็หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาฏีกา ๓๑๑๙/๒๕๕๐
๒. บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๔ตรีประกอบมาตรา ๑๓๓ทวิวรรคห้าใช้กับกรณีผู้ต้องหาอายุไม่เกิน ๑๘ ปีในขณะที่มีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าเมื่อขณะสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกิน ๑๘ ปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยจึงไม่ต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการในการร่วมการถามปากคำแต่อย่างใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ พนักงานสอบสวนไม่จำต้องถามเรื่องทนายความตามมาตรา ๑๓๔ทวิ(ปัจจุบันคือมาตรา ๑๓๔/๑วรรคหนึ่ง) ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกิน ๑๘ ปีแล้ว แม้ขณะกระทำผิดจะมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหาไม่ใช่การสอบปากคำ ไม่ใช่การชี้ตัวผู้ต้องหา จึงไม่จำต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ตามมาตรา ๑๓๔ตรี,๑๓๓ ทวิมาใช้บังคับ ความผิดฐานลักทรัพย์ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๓๒/๒๕๔๘
๓. คดีที่มีโทษประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การผู้ต้องหาอยู่ในบังคับแห่งทาตรา ๑๓๔/๑วรรคแรก ซึ่งเป็นสิทธิ์เด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาไม่มีทนาย เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิ์ให้จำเลยทราบและสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ไม่ต้องการทนายความหรือผู้ไว้ใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่จัดหาทนายให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าว จำเลยไม่ขอให้การโดยจะขอให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๑วรรคแรก แต่ในบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๔/๔ วรรคท้าย บัญญัติเพียงว่า ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้การไว้กับพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิ์ตามวรรคแรกหรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๔/๑ รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตตามีน แต่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย หลักฐานที่โจทก์นำสืบได้เพียง จำเลยถูกจับขณะขับรถยนต์ที่ใช้ขณะเกิดเหตุ ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตตามีน ๑๒,๐๐๐ เม็ด อาวุธปืนเป็นของบุคคลอื่นที่อนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ ซองกระสุนปืน ๑ ซอง กระสุนปืนออโตเมตริกขนาด ๙ มม.จำนวน ๑๑ นัด โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ฐานมีเมทแอมเฟตตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้อง โดยตรงและไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พรบ. ยาเสพติดให้โทษ มาตรา ๑๐๒ และ ปอ มาตรา ๓๓ ไม่ใช่ทรัพย์ที่ทำไว้หรือมีไว้เป็นความผิดอันต้องริบทั้งสิ้นตาม ปอ มาตรา ๓๒ จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ากระทำผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ปอ มาตรา ๗๘ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๓๐/๒๕๕๓
๔. คดีที่มีอัตตาโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนสอบถามผู้ต้องหาว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายให้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๑ เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดหาทานายให้จำเลยที่ ๒ อันเป็นการไม่ปฏิบัติการ ตามมาตรา ๑๓๔/๑ ถ้อยคำใดๆที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยที่ ๒ไม่ได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔ วรรรคท้าย ดังนั้นจึงไม่อาจรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ ที่ให้การว่า ขณะจำเลยที่ ๑ ตรวจนับเมทแอมเฟตตามีนในห้องพักในห้องจำเลยที่ ๒ อยู่ด้วยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ ๒ไม่ได คำพิพากษาฏีกา ๗๗๐๓/๒๕๕๔
๕. โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ ๑ มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากผู้เสียหายที่ ๑ ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การผู้เสียหายที่ ๑ ในชั้นสอบสวน แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายที่ ๑ ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการ โดยมีการบันทึกภาพและเสียงบไว้ตามแถบวีดีทัศน์วัตถุพยาน วจ ๑ อันเป็นการปฏิบัติการตาม ปวอ มาตรา ๑๓๓ ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การผู้เสียหายที่ ๑ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ ๑ ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบหลักฐาน อื่นของโจทก์ได้ ตาม ปวอ มาตรา๑๗๒ ตรี วรรคห้า วรรคท้าย,๒๒๖/๓วรรค๒ คำพิพากษาฏีกา ๓๕๑๑/๒๕๕๒
๖. ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี ขึ้นไป และเป็นคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี กรณีต้องด้วย ปวอ มาตรา ๑๓๓ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ในการสอบปากคำเด็กไว้ในฐานะผู้เสียหายให้แยกกระทำเป็นสัดส่วน ในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็กนั้นด้วย พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต่อหน้า ร มารดาผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ ทั้งไม่ได้ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกเหตุที่ไมอาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนตามที่ มาตรา ๑๓๓ ทวิวรรคท้าย การถามปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หามีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดและถือไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐ ไม่ คำพิพากษาฏีกา ๗๒๔๑/๒๕๔๙
๗. พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ที่มีอายุ ๑๓ ปีเศษ ในฐานะพยานโดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิวรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ คงทำให้คำให้การชั้นสอบสวนเด็กหญิง ว.ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๒๖และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๐มาตรา ๒๔๓วรรคสองเท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นตามปวอ มาตรา๑๒๐ แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน๑๘ ปีไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๓๓ ทวิวรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน เด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบแล้วตาม ปวอ มาตรา ๑๗๒ ตรี ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้ คำพิพากษาฏีกา๕๒๙๔/๒๕๔๙
๘. จำเลยฏีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปวอ มาตรา ๑๓๓ ตรี เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กหญิง น. ชี้ตัว แม้ปัญหานี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฏีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิ์ยกขึ้นฏีกาได้ เห็นว่ามาตรา ๑๓๓ ตรีหาใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดีไม่ เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะจัดให้มีการชี้ตัวหรือไม่ก็ได้ เพียงแต่ว่าหากจัดให้มีการชี้ตัวต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวจึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การสอบสวนชอบด้วยกฏหมาย คำพิพากษาฏีกา ๒๘๓๔/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีร้องขอเวลาที่พนักงานสอบสวนจะทำการสอบปากคำในคดีที่
๑.๑เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ
๑.๒ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันไม่ใช่ความผิดฐานชุลลมุนต่อสู้
๑.๓ ความผิดต่อเสรีภาพ
๑.๔ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์
๑.๕ความผิดเกี่ยวการปรามปรามการค้าหญิงและเด็ก
๑.๖ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
๑.๗ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก
การถามปากคำเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีต้องกระทำดังนี้
ก.แยกการสอบสวนเป็นสัดส่วน ในสถานที่เหมาะสมกับเด็ก
ข.มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์
ค. บุคคลที่เด็กร้องขอ
ง.พนักงานอัยการ
เข้าร่วมในการสอบปากคำ คำถามใดหรือการถามเด็กคนในจะกระทบกระเทือนจิตใจเด็กอย่างรุนแรงต้องถามผ่านนนักสังฃคมสงฃเคราะห์หรือนักจิตวิทยาตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวนโดยไม่ให้เด็กได้ยินคำถามนั้น และห้ามถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร การถามด้วยคำถามเดิมหลายครั้งเป็นการตอกย้ำการกระทำที่เด็กได้รับมา เช่น เด็กถูกข่มขืนการตอกย้ำในคำถามเดิมเสมือนหนึ่งเป็นการข่มขืนเด็กอีกครั้งด้วยคำพูดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฏหมายจึงห้ามถามซ้ำซ้อนโดยไม่มีเหตุอันควร
๒.กรณีมีเหตุอันสมควรไม่อาจรอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ พนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดดังกล่าวข้างต้นอยู่ร่วม แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นได้ การถามปากคำพยานหรือผู้เสียหายในกรณีนี้ให้ถือว่าทำโดยชอบด้วยกฎหมาย บางทีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนก็ใช้ข้อยกเว้นนี้เป็นหลักเพราะกว่าจะรอให้ทุกคนมาพร้อมก็เสียเวลาเลยใช้ข้อยกเว้นเป็นหลักไป
๓.การชี้ตัวผู้ต้องหาโดยผู้เสียหายและพยานที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมในการชี้ตัว เว้นมีเหตุจำเป็นไม่อาจหาหรือรอบุคคลดังกล่าวได้ เช่นอยู่ไกลคนละจังหวัด หากเด็กไม่ประสงค์ให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุดังกล่าวไว้
๔.การสอบปากคำเด็กที่เป็นผู้ต้องหาที่อายุไม่เกิน ๑๘ ปี หากไม่ได้กระทำตามข้อสังเกตที่ ๑ จะนำบันทึกคำให้การดังกล่าวมารับฟังในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาไม่ได้ ปกติบันทึกคำให้การผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าที่มีน้ำหนักน้อยต้องประกอบพยานหลักฐานอื่นจึงจะนำมารับฟังพิสูจน์ความผิดผู้ต้องหาได้ ยิ่งเป็นคำให้การที่ไม่ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตที่ ๑ ด้วยแล้วยิ่งไม่สามารถนำมารับฟังพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้.
๕..แม้ ตามบทบัญญัติกฎหมายในปวอ มาตรา๗/๑(๒)จะบัญญัติให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน และมาตรา ๑๓๔/๓ บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้และมาตรา ๑๓๔/๔(๒)บัญญัติเรื่องการถามความผู้ต้องหานั้น ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้าฟังการสอบสวนเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงคุ้มครองผู้ต้องหาในขณะที่สอบปากคำ ซึ่งอาจเกิดความกลัวต่อพนักงานสอบสวน หรือถูกล่อลวง ข่มขู่ ฉ้อฉลด้วยประการใดอันไม่ชอบหรือถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ การที่มีทนายเข้ามาร่วมรับฟังในขณะสอบปากคำผู้ต้องหาย่อมขจัดข้อสงสัยดังกล่าว ดังนั้นแม้ในขณะสอบปากคำผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินการตาม ปวอ มาตรา ๗/๑, ๑๓๔/๓,๑๓๔/๔(๒)ก็ตาม ก็หาทำให้การสอบสวนเสียไป คงมีผลตามความตอนในวรรคท้ายมาตรา ๑๓๔/๔ บัญญัติเพียงว่า “ ถ้อยคำใดๆที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งหรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๔/๓ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้” เท่านั้น ดังนั้นพนักงานสอบสวนแม้ไม่ได้ปฏิบัติก็หาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง เป็นเพียงใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดจำเลยไม่ได้เท่านั้น จะอาศัยข้อความในบันทึกคำให้การที่เป็นผลร้าย เช่น รับสารภาพ หรือมีข้อเท็จจริงที่นำไปประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อให้หลักฐานของโจทก์มั่นคงขึ้นเพื่อรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ แต่การสอบสวนไม่เสียไป อัยการมีอำนาจฟ้อง แต่ศาลจะลงโทษได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง อยู่ที่พยานหลักฐานของโจทก์ว่านอกจากคำให้การผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนแล้วมีพยานหลักฐานอื่นอีกไหมที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด 
๖.บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๔ตรีประกอบมาตรา ๑๓๓ทวิวรรคห้าใช้กับกรณีผู้ต้องหาอายุ “ไม่เกิน” ๑๘ ปีในขณะที่มีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าเมื่อขณะสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุ “เกิน” ๑๘ ปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยจึงไม่ต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการในการร่วมการถามปากคำแต่อย่างใด 
๗.แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ พนักงานสอบสวนต้องถามเรื่องทนายความตามมาตรา ๑๓๔ทวิ(ปัจจุบันคือมาตรา ๑๓๔/๑วรรคหนึ่ง) แต่ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกิน ๑๘ ปีแล้ว แม้ขณะกระทำผิดจะมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี แต่เมื่อขณะสอบปากคำมีอายุเกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์แล้วพนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องถามเรื่องทนายความแต่อย่างใดไม่ 
๘.การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหาไม่ใช่การสอบปากคำ ไม่ใช่การชี้ตัวผู้ต้องหา จึงไม่จำต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ตามมาตรา ๑๓๔ตรี,๑๓๓ ทวิมาใช้บังคับ คือไม่จำต้องให้มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวน อีกทั้งการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพกฎหมายไม่ได้บังคับว่าทุกคดีต้องมีการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนพิจารณาเป็นเรื่องๆไปว่าเรื่อใดควรจะมีหรือไม่อย่างไร
๙.ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดที่กระทำต่ออำนาจความครอบครองหรือความเป็นเจ้าของทรัพย์ ด้วยการแย่งการครอบครองจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์โดยเจตนาทุจริต ผู้ครอบครองทรัพย์และเจ้าของทรัพย์ที่ถูกแย่งการครอบครองไปจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ มีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้ 
๑๐.คดีที่มีโทษประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การผู้ต้องหาอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๓๔/๑วรรคแรก คือ ก่อนเริ่มถามคำให้การ พนักงานสอบสวนต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีและต้องการ รัฐต้องจัดหาทนายความให้ ซึ่งเป็นสิทธิ์เด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาไม่มีทนาย เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้ผู้ต้องหา 
๑๑..ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิ์ให้จำเลยทราบและสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ไม่ต้องการทนายความหรือผู้ไว้ใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่จัดหาทนายให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าว แม้จำเลยจะไม่ขอให้การโดยจะขอให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๑วรรคแรก ก็มีผลเพียงที่บัญยัติไว้ในบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๔/๔ วรรคท้าย บัญญัติเพียงว่า “ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้การไว้กับพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิ์ตามวรรคแรกหรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา ๑๓๔/๑ รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้” แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เป็นเพียงถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การไม่สามารถใช้ในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาเท่านั้น หาทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 
๑๒..โจทก์ขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตตามีน แต่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย หลักฐานที่โจทก์นำสืบได้เพียง จำเลยถูกจับขณะขับรถยนต์ที่ใช้ขณะเกิดเหตุ ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตตามีน ๑๒,๐๐๐ เม็ด อาวุธปืนเป็นของบุคคลอื่นที่อนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ ซองกระสุนปืน ๑ ซอง กระสุนปืนออโตเมตริกขนาด ๙ มม.จำนวน ๑๑ นัด โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ฐานมีเมทแอมเฟตตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงและไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พรบ. ยาเสพติดให้โทษ มาตรา ๑๐๒ และ ปอ มาตรา ๓๓ อีกทั้งโทรศัพท์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ทำไว้หรือมีไว้เป็นความผิดอันต้องริบทั้งสิ้นตาม ปอ มาตรา ๓๒ กรณีนี้ฟ้องว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายดังนั้นโทรศัพท์มือถืออาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นหรือสิ่งที่ชี้ชัดว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด แต่หากเป็นการฟ้องมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตตามีน โดยก่อนมีการจำหน่ายได้ใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตตามีน นัดสถานที่ วันเวลาในการส่งมอบ ระบุจำนวนของที่แน่นอนโดยการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อแทนการพูดด้วยวาจาดังนี้แล้วโทรศัพท์ก็จะเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตตามีนอันเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันสามารถริบได้
๑๓.จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ากระทำผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ปอ มาตรา ๗๘ 
๑๔.ผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาไม่มีทนาย เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิ์ให้จำเลยทราบและสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ไม่ต้องการทนายความหรือผู้ไว้ใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่จัดหาทนายให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าว จำเลยไม่ขอให้การโดยจะขอให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๑วรรคแรก แต่ในบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๔/๔ วรรคท้าย บัญญัติเพียงว่า ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้การไว้กับพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิ์เท่านั้น
๑๕.คดีที่มีอัตตาโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนสอบถามผู้ต้องหาว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายให้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๑ เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดหาทานายให้จำเลยที่ ๒ อันเป็นการไม่ปฏิบัติการ ตามมาตรา ๑๓๔/๑ ถ้อยคำใดๆที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยที่ ๒ไม่ได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔/๔ วรรรคท้าย ดังนั้นจึงไม่อาจรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๒ ที่ให้การว่า ขณะจำเลยที่ ๑ ตรวจนับเมทแอมเฟตตามีนในห้องพักในห้องจำเลยที่ ๒ อยู่ด้วยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ ๒ไม่ได้ ซึ่งโดยลำพังการให้การซัดทอดระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกัน ศาลมักไม่ค่อยรับฟังอยู่แล้วเว้นแต่จะมีพยานหลักฐานอื่นประกอบ เพราะผู้ที่กระทำผิดด้วยกันอาจซัดทอดหรือโยนความผิดให้ผู้ต้องหาอื่นเพื่อให้ตนพ้นผิด ดังนั้นลำพังคำให้การซัดทอดมีน้ำหนักน้อยอยู่แล้วยิ่งเป็นคำให้การที่สอบปากคำไม่ถูกต้องตามกฏหมายด้วยยิ่งทำให้มีน้ำหนักน้อยลงไปอีกและไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
๑๖.โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ ๑ มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากผู้เสียหายที่ ๑ ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การผู้เสียหายที่ ๑ ในชั้นสอบสวน แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายที่ ๑ ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการ โดยมีการบันทึกภาพและเสียงบไว้ตามแถบวีดีทัศน์วัตถุพยาน วจ ๑ อันเป็นการปฏิบัติการตาม ปวอ มาตรา ๑๓๓ ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การผู้เสียหายที่ ๑ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ ๑ ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบหลักฐาน อื่นของโจทก์ได้ ตาม ปวอ มาตรา๑๗๒ ตรี วรรคห้า วรรคท้าย,๒๒๖/๓วรรค๒ คือนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ส่วนศาลจะเชื่อในคำให้การดังกล่าวหรือไม่เป็นอีกเรื่อง การที่ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายมาเบิกความได้ เนื่องจากย้ายที่อยู่อาจเป็นเพราะโดนข่มขู่ว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของพยานหรือบุคคลที่ใกล้ชิดพยาน หรือโดยจ้างให้หนีเพื่อไม่ให้มาให้การ หรือพยานมาศาลแล้ว จำเลย ญาติจำเลยหรือ มีนักกฏหมายบางคน (บางคน เน้นนะครับว่าบางคนไม่ใช่ทุกคน)บอกให้กลับบ้านได้เลย 
๑๗.ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี ขึ้นไป และเป็นคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี กรณีต้องด้วย ปวอ มาตรา ๑๓๓ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ในการสอบปากคำเด็กไว้ในฐานะผู้เสียหายให้แยกกระทำเป็นสัดส่วน ในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็กนั้นด้วย พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต่อหน้า ร มารดาผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ ทั้งไม่ได้ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนตามที่ มาตรา ๑๓๓ ทวิวรรคท้าย การถามปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หามีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดและถือไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐ ไม่ เป็นเพียงคำให้การนำมารับฟังลงโทษจำเลยหาได้ไม่เท่านั้น 
๑๘.พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ที่มีอายุ ๑๓ ปีเศษ ในฐานะพยานโดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๓๓ทวิวรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ คงทำให้คำให้การชั้นสอบสวนเด็กหญิง ว.ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ปวอ มาตรา ๒๒๖และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๐มาตรา ๒๔๓วรรคสองเท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นตามปวอ มาตรา๑๒๐ แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน๑๘ ปีไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๓๓ ทวิวรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน เด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบแล้วตาม ปวอ มาตรา ๑๗๒ ตรี ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้ นั้นก็คือ แม้สอบปากคำในชั้นสอบสวนไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่เมื่อพยานมาเบิกความต่อศาลโดยมีสหวิชาชีพ(นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการ)เข้าร่วมในการถามปากคำ ศาลรับฟังพยานดังกล่าวที่เบิกความที่ศาลโดยเชื่อพยานที่เบิกความต่อศาลได้
๑๙ปัญหาว่า “ การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่น การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ( ปวอ มาตรา ๑๓๓ ตรี) เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กหญิง น. ชี้ตัว แม้ปัญหานี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฏีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิ์ยกขึ้นฏีกาได้ 
๒๐..กฏหมายไม่ได้บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดีไม่ เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะจัดให้มีการชี้ตัวหรือไม่ก็ได้ เพียงแต่ว่าหากจัดให้มีการชี้ตัวต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ กล่าวคือ ในคดีที่ต้องมีการชี้ตัวผู้กระทำผิด ในกรณีผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน ๑๘ ปี หรือกรณีผู้ต้องหาอายุไม่ถึง ๑๘ ปีและมีการชี้ตัวผู้ต้องหาต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ในการสอบสวนนั้นด้วย เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจหาหรือรอบุคคลดังกล่าวได้หรือด็กไม่ประสงค์ให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าว
๒๑.เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวจึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การสอบสวนชอบด้วยกฏหมาย 
๒๒.แม้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนได้ การถามความผู้ต้องหานั้น ให้พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิ์ดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิ์ให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้าฟังการสอบสวนเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ก็ตาม ดังนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวก็หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้เท่านั้น นั้นก็คือไม่อาจรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาที่เป็นผลร้ายมาประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อนำมาลงโทษหาได้ไม่ แม้จะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้ แต่หาทำให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไปทั้งหมดไม่ ยังถือได้ว่ายังมีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา มีการสอบสวนปากคำผู้ต้องหาเพียงแต่บันทึกการสอบปากคำผู้ต้องหานำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาไม่ได้เท่านั้น เมื่อการสอบสวนไม่เสียไป พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
๓.เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีทนายมาร่วมรับฟังในการสอบปากคำผู้ต้องหา เนื่องจากผู้ร่างกฎหมายเกรงว่า พนักงานสอบสวนอาจมีการจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือทำร้ายผู้ต้องหาให้รับสารภาพ จึงจำเป็นต้องให้มีบุคคลที่สามไม่ว่าจะเป็นทนายความหรือบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้ใจมาร่วมฟังการสอบสวนด้วย เพื่อกันข้อครหาดังกล่าว หากการสอบสวนได้กระทำต่อหน้าทนายความหรือบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้ใจมาร่วมฟังการสอบสวนด้วย หากผู้ต้องหารับสารภาพก็จะมีน้ำหนักในการรับฟังมากขึ้น