๑.เจ้าของนาที่อยู่ใต้น้ำ จำต้องรับน้ำที่ไหลบ่าจากนาทางเหนือตามสภาพปกติ ถ้าไปกั้นคันนาให้สูงขึ้น ทำให้น้ำไหลบ่าไม่ได้เป็นเหตุให้นาทางเหนือน้ำ น้ำท่วม ทำนาไมได้ เจ้าของนาทางเหนือมีสิทธิ์ฟ้องขอให้เปิดคันนาให้น้ำไหลตามสภาพเดิมได้ ฟ้องขอให้เปิดคันนาที่จำเลยกั้นสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้น้ำไหลบ่าไม่ได้เป็นเหตุให้น้ำท่วมนาโจทก์ ทำนาไม่ได้ ทำให้ข้าวกล้าในนาที่ปลักดำไว้เสียหาย พร้อมเรียกค่าเสียหาย แม้ในขณะฟ้องยังไม่ได้ปลูกข้าวยังไม่เสียหายในเรื่องข้าวก็ดี ศาลก็พิพากษาให้เปิดคันนาให้น้ำไหลไปตามสภาพเดิมได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๕๔/๒๔๙๑
๒.ที่ดินโจทก์เป็นที่ดินสูง ที่ดินจำเลยเป็นที่ดินต่ำ การที่โจทก์ระบายน้ำฝนตามธรรมชาติจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยไปสู่ลำน้ำ เป็นกรณีที่จำเลยต้องยอมรับตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๙,๑๓๔๐ คำพิพากษาฏีกา ๖๔๐๖/๒๕๒๐
๓.น้ำที่ไหลเข้ามาในที่ดินจำเลยในที่ดินจำเลยไปยังที่ดินโจทก์ผ่านท่อส่งน้ำที่ฝังไว้ใต้ดินเพื่อชักน้ำเข้ามาใช้เป็นทอดๆ เป็นท่อส่งน้ำที่ทำขึ้นเองเพื่อเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ท่อน้ำดังกล่าวไม่ใช่น้ำที่ไหลตามธรรมชาติจากที่ดินสูงมาที่ดินต่ำ ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ คำพิพากษาฏีกา ๒๓๒๘/๒๕๕๑
๔.แม้ฟังว่าที่ดินโจทก์อยู่สูงกว่าที่ดินจำเลยโดยธรรมชาติ โจทก์ก็ไม่อาจขอให้จำเลยปิดทางระบายน้ำได้ เพราะกรณีที่เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่สูงมาในที่ดินตนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๔๐ นั้น หมายถึงน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำฝน เป็นต้น หาใช่น้ำใช้แล้วหรือน้ำโสโครก ดังเช่นกรณีโจทก์ไม่ คำพิพากษฏีกา ๔๑๒/๒๕๒๕
๕.จำเลยทำคันดินให้สูงขึ้นเป็นทำนบปิดลำห้วยซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะตอนเหนือนาโจทก์ปิดตาย ไม่ยอมให้น้ำไหลตามธรรมชาติ เป็นเหตุให้ตอนใต้ของทำนบน้ำแห้ง โจทก์ทำนาไม่ได้ การกระทำจำเลยปรับตาม ปพพ มาตรา ๑๓๕๕ เป็นการกระทำที่ถือไม่ได้ว่า เป็นการชักเอาน้ำไว้ จำเลยไม่มีสิทธิ์กระทำ จึงเป็นการละเมิดโจทก์ คำพิพากษาฏีกา ๓๑๗/๒๕๐๙
๖.คลองสาธารณะตื้นเขิน รัฐบาลขายให้เอกชน ไม่นับว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินต่อไป เจ้าของที่ดินต่ำจึงต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่สูงมายังที่ของตน แต่ไม่จำต้องรับน้ำที่ใช้แล้วระบายทิ้ง คำพิพากษาฏีกา ๑๕๘/๒๔๗๘
๗.เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำที่ไหลตามธรรมดาหรือเพราะการระบายน้ำจากที่ดินสูงมาสู่ที่ของตน ถ้าได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ ก็มีสิทธิ์เรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงจัดทำทางระบายน้ำหรือมีสิทธิ์เรียกค่าทดแทน ถ้าหากปิดกั้นเสียโดยลำพังเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินสูงได้รับความเสียหายต้องรับผิด คำพิพากษาฏีกา ๔๒๘/๒๔๙๑
๘. ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินสูงมีสิทธิ์กันน้ำเอาไว้ใช้เพียงจำเป็นแก่ที่ดินได้ ส่วน ปพพ มาตรา ๑๓๕๕ เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินริมน้ำหรือทางน้ำผ่านไม่มีสิทธิ์ชักน้ำเอาไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของตนตามสมควร เป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตามทางนั้น คำพิพากษาฏีกา ๓๑๗/๒๕๐๙
๙โจทก์ใช้น้ำจากลำเหมืองสาธารณะตามที่โจทก์มีสิทธิ์ และหากมีการแบ่งเฉลี่ยการใช้น้ำระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว ก็จะมีน้ำใช้พอทั้งสองฝ่าย การที่โจทก์เปิดน้ำเข้าฟาร์มของโจทก์ในช่วงเกิดเหตุที่เป็นฤดูแล้งมีน้ำน้อยไม่พอแก่การทำนาของราษฏร์ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของโจทก์ตามสมควร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๕ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิ์ที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันจะเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปพพ มาตรา ๔๒๑ คำพิพากษาฏีกา ๓๘๐๑/๒๕๔๐
ข้อสังเกต ๑. เจ้าของที่ดินต้องรับน้ำที่ไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงลงมาสู่ที่ดินของตน และน้ำไหลตามธรรมดามาที่ดินต่ำ และจำเป็นแก่ที่ดินนั้น เจ้าของที่ดินที่สูงกว่าจะกันไว้ได้เพียงที่จำเป็นแก่ที่ดินของตน ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ นั้นมีข้อควรพิจารณาดังนี้
๑.๑ต้องเป็นน้ำที่ไหลตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และต้องไม่ใช้น้ำโสโครกจากการระบายของเจ้าของที่ดินแปลงสูง
๑.๒ที่ดินสูงต้องเกิดตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ดินต่างระดับที่เป็นที่สูงและที่ต่ำต้องเกิดจากทำเลที่ตั้งของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าและต่ำกว่าโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดจากการขุดของมนุษย์ ไม่ว่าเป็นการถมให้สูงขึ้นหรือขุดให้ต่ำลง (คำพิพากษาฏีกา ๑๕๕๘/๒๕๐๕) ซึ่งคำพิพากษาฏีกาดังกล่าวอธิบายว่า ที่ดินสูงที่ดินต่ำตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๙,๑๓๔๐ หมายถึงที่ดินสูงต่ำตามธรรมชาติ เจ้าของที่ดินต่ำหาจำต้องรับน้ำจากที่ดินที่ถมให้สูงขึ้นไม่ และน้ำที่เจ้าของที่ดินต่ำต้องยอมรับ หมายถึงน้ำที่ไหลตามธรรมชาติผ่านที่ดินสูงสู่ที่ดินต่ำ มิใช่ไหลเพราะการกักเก็บน้ำด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วปล่อยให้ไหลโดยผิดธรรมชาติลงสู่ที่ดินต่ำ ซึ่งไม่ใช่ความหมายของคำว่า “ น้ำซึ่งไหลตามธรรมดา”ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ และไม่ใช่ความหมายของน้ำที่ไหลเพราะระบายจากที่ดินสูง ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๔๐ หรือเป็นกรณีน้ำในลำห้วยลำธารที่ไหลผ่านที่ดินริมทางน้ำ(ปพพ มาตรา ๑๓๕๕) และต้องไม่ใช่น้ำที่ใช้แล้ว น้ำสกปรก หรือน้ำโสโครกอันเกิดจากการกระทำของเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าหรือบริวาร
๑.๓เจ้าของที่ดินต่ำต้องยอมรับกรรมยอมให้น้ำไหลจากที่สูงผ่านที่ดินตน จะปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลสู่ที่ดินตนไม่ได้
๑.๔ส่วนเจ้าของที่ดินสูงจะกันน้ำได้เพียงเท่าที่จำเป็นแก่ที่ดินตนเท่านั้นจะกักเก็บน้ำไว้ทั้งหมดไม่ยอมให้น้ำไหลลงไปสู่ที่ดินต่ำไม่ได้
๒,ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินที่สูงกว่ามีสิทธิ์กันน้ำเอาไว้ใช้เพียงจำเป็นแก่ที่ดิน ส่วน ปพพ มาตรา ๑๓๓๕ เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินริมทางน้ำหรือมีทางน้ำผ่านไม่มีสิทธิ์ชักน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของตนตามสมควรเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตามทางน้ำนั้น ส่วนใน ปพพ มาตรา ๑๓๔๐ เป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ของตน ถ้าก่อนที่จะระบายน้ำนั้นน้ำได้ไหลเข้ามาในที่ดินของตนตามธรรมดาอยู่แล้ว แต่หากได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ เจ้าของที่ดินต่ำอาจเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายในการนั้นเพื่อระบายน้ำไปให้ตลอดที่ดินต่ำจนถึงทางน้ำหรือท่อน้ำสาธารณะ และไม่ลบล้างสิทธิ์ที่เจ้าของที่ดินต่ำจะเรียกค่าทดแทน
๓.เจ้าของนาที่อยู่ใต้น้ำ จำต้องรับน้ำที่ไหลบ่าจากนาทางเหนือตามสภาพปกติ หรือแม้เจ้าของที่ดินสูงจะทำรางระบายน้ำจากที่ดินตนลงมาผ่านที่ดินที่อยู่ต่ำกว่าก็ตาม เจ้าของที่ดินต่ำจะไปฟ้องเจ้าของที่ดินสูงว่าทำละเมิดต่อตนไม่ได้
๔.และหากเจ้าของที่ดินต่ำไปกั้นคันนาให้สูงขึ้น ทำให้น้ำไหลบ่าไม่ได้เป็นเหตุให้นาทางเหนือน้ำ น้ำท่วม ทำนาไมได้ เป็นการใช้สิทธิ์ไม่สุจริตตาม ปพพ มาตรา ๕ เป็นการใช้สิทธิ์ซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ปพพ มาตรา ๔๒๑) เป็นการกระทำละเมิดตาม ปพพ มาตรา ๔๒๐ เป็นการใช้สิทธิ์ของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ และเหตุอันควร เมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์มาคำนึงประกอบ เจ้าของที่ดินแปลงทางเหนือมีสิทธิ์จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องขอให้ เปิดคันนาให้น้ำไหลตามสภาพเดิม พร้อมเรียกค่าทดแทนในความเสียหายที่เกิดได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๗
๕.หากเจ้าของนาทางเหนือไม่ใช้สิทธิ์ฟ้องศาลตามข้อสังเกตข้อ ๒ แต่ใช้กำลังเข้าไปทำลายคันนาเสียเอง เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งคันนาของเจ้าของที่ดินแปลงต่ำ เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่อาจอ้างการกระทำโดยป้องกัน โดยอ้างว่า จำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ในนาข้าวของตนไม่ให้ต้องเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ปิดกั้นน้ำโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการกระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมาย( ปพพ มาตรา ๕,๔๒๐,๔๒๑, ) เป็นภยันตรายที่ใกล้ถึงหรือถึงแล้ว หากได้กระทำพอสมควรแก่เหตุไม่มีความผิดตามกฎหมาย ปอ มาตรา ๖๘ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่นักกฎหมายบางคนอาจมองว่า เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยวิธีอื่นใด โดยภยันตรายไม่ได้เกิดจากความผิดของตนอันเป็นการกระทำด้วยความจำเป็นตาม ปอ มาตรา ๖๗ หากกระทำไปพอสมควรแก่เหตุพอควรแก่กรณีแห่งความจำเป็นแล้วไม่ต้องรับโทษ ตาม ปอ มาตรา ๖๗ และมีนักกฎหมายอีกฝ่ายเห็นว่า การที่เจ้าของที่ดินแปลงสูงไปทำลายคันกั้นน้ำเสียเองโดยไม่ไปใช้สิทธิ์ทางศาลตาม ปพพ มาตรา ๕,๔๒๐,๔๒๑,๑๓๓๗ ย่อมเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไม่อาจอ้างการกระทำป้องกันหรือจำเป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะอ้างเป็นการกระทำโดยป้องกันหรือจำเป็นได้หรือไม่อย่างไร แต่มูลเหตุในการกระทำผิดเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนคือนาข้าวไม่ให้เสียหาย หากศาลจะฟังว่าเป็นความผิดก็เป็นดุลพินิจที่ศาลจะลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษได้
๖.การฟ้องขอให้เปิดคันนาที่จำเลยกั้นสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้น้ำไหลบ่าไม่ได้เป็นเหตุให้น้ำท่วมนาโจทก์ ทำนาไม่ได้ ทำให้ข้าวกล้าในนาที่ปลักดำไว้เสียหาย พร้อมเรียกค่าเสียหาย แม้ในขณะฟ้องยังไม่ได้ปลูกข้าวยังไม่เสียหายในเรื่องข้าวก็ดี ศาลก็พิพากษาให้เปิดคันนาให้น้ำไหลไปตามสภาพเดิมได้ แต่ค่าเสียหายที่อ้างว่าข้าวกล้าที่ปลักดำไว้เสียหายนั้น เมื่อยังไม่ได้ปลูกข้าว จึงไม่มีข้าวที่จะเสียหายตามที่โจทก์อ้าง ค่าเสียหายในส่วนนี้โจทก์เรียกไม่ได้ ผมว่าตั้งรูปคดีผิด จริงๆน่าจะตั้งรูปคดีเป็นว่าเมื่อปิดกั้นแล้วทำให้น้ำท่วมไม่สามารถทำนาได้ หากสามารถทำนาได้จะได้ผลผลิตเท่าไหร่ แต่เมื่อไม่สามารถทำนาได้จึงได้รับความเสียหายในส่วนนี้ การไปตั้งประเด็นว่าข้าวกล้าเสียหายทั้งที่ยังไม่ได้ปลูกข่าวย่อมไม่มีความเสียหายในส่วนนี้ แม้การฟ้องเท็จในคดีแพ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดก็ตาม แต่ตอนสืบพยานการนำสืบและการเบิกความในศาลเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จได้ ตาม ปอ มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐
๗.ที่ดินโจทก์เป็นที่ดินสูง ที่ดินจำเลยเป็นที่ดินต่ำ การที่โจทก์ระบายน้ำฝนตามธรรมชาติจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยไปสู่ลำน้ำ เป็นกรณีที่จำเลยต้องยอมรับตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๙,๑๓๔๐ เพราะเป็นน้ำที่ไหลตามธรรมดาจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์
๘.น้ำที่ไหลเข้ามาในที่ดินจำเลยในที่ดินจำเลยไปยังที่ดินโจทก์ผ่านท่อส่งน้ำที่ฝังไว้ใต้ดินเพื่อชักน้ำเข้ามาใช้เป็นทอดๆ เป็นท่อส่งน้ำที่ทำขึ้นเองเพื่อเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ท่อน้ำดังกล่าวไม่ใช่น้ำที่ไหลตามธรรมชาติจากที่ดินสูงมาที่ดินต่ำ ไม่ใช่น้ำซึ่งไหลตามธรรมดาตามธรรมชาติจากที่สูงสู่ที่ต่ำที่เจ้าของที่ดินแปลงต่ำต้องยอมรับกรรม ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ แต่อย่างใดไม่ เป็นกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงสูงใช้สิทธิ์ของตนในการระบายน้ำผ่านท่อส่งน้ำเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินแปลงต่ำได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน เกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ และเหตุอันควร เมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์มาคำนึงประกอบ เจ้าของที่ดินแปลงต่ำมีสิทธิ์จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องขอให้ เอาท่อที่ฝังดินออกเพื่อให้น้ำไหลตามสภาพเดิม พร้อมเรียกค่าทดแทนในความเสียหายที่เกิดได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๗
๙..แม้ฟังว่าที่ดินโจทก์อยู่สูงกว่าที่ดินจำเลยโดยธรรมชาติ โจทก์ก็ไม่อาจขอให้จำเลยปิดทางระบายน้ำได้ เพราะกรณีที่เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่สูงมาในที่ดินตนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๔๐ นั้น หมายถึงน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำฝน เป็นต้น หาใช่น้ำใช้แล้วหรือน้ำโสโครก ดังเช่นกรณีโจทก์ไม่ เมื่อไม่ใช่น้ำตามธรรมชาติแต่เป็นน้ำใช้แล้วหรือน้ำโสโครกที่ระบายลงมาสู่ที่ดินต่ำ เจ้าของที่ดินต่ำไม่จำต้องยอมรับ แต่มีสิทธิ์ฟ้องเพื่อให้เจ้าของที่ดินแปลงสูงจัดการกับการระบายน้ำโสโครกไม่ให้ไหลมาในที่ดินของตนซึ่งอยู่ต่ำกว่าได้
๑๐.จำเลยทำคันดินให้สูงขึ้นเป็นทำนบปิดลำห้วยซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะตอนเหนือนาโจทก์ปิดตาย ไม่ยอมให้น้ำไหลตามธรรมชาติ เป็นเหตุให้ตอนใต้ของทำนบน้ำแห้ง โจทก์ทำนาไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายที่บัญญัติไว้ในเรื่องนี้โดยตรง ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาปรับ จึงต้องนำ ปพพ มาตรา ๑๓๕๕ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ปพพ มาตรา ๔มาใช้ในการวินิจฉัย การทำนบปิดลำห้วยซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะตอนเหนือนาโจทก์ปิดตาย เป็นการกระทำที่ถือไม่ได้ว่า เป็นการชักเอาน้ำไว้ตามความหมายใน ปพพ มาตรา ๑๓๓๕ เพราะการชักน้ำเอาไว้ใช้ต้องไม่เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของตนตามสมควร และต้องไม่เป็นที่เสียหายเสื่อมเสียสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นด้วย จำเลยไม่มีสิทธิ์ทำทำนบเก็บกักน้ำไว้ใช้คนเดียว จำเลยไม่มีสิทธิ์กระทำดังนั้น การกระทำของจำเลย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทำนบหรือรื้อถอนทำลายทำนบนั้นเพื่อให้สภาพที่ดินกลับเป็นไปตามเดิมได้
๑๑.คลองสาธารณะตื้นเขิน รัฐบาลขายให้เอกชนนั้น โดยปกติแล้วคลองสาธารณะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกันตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๔(๒) จะโอนให้แก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกา ปพพ มาตรา ๑๓๐๕ ดังนั้น การที่รัฐบาลขายคลองสาธารณะที่ตื้นเขินให้แก่ประชาชนต้องออกเป็นกฏหมายเฉพาะหรือพระราชกษฤฏีกาเพื่อเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เมื่อขายคลองดังกล่าวไปแล้วคลองดังกล่าวไม่นับว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินต่อไป เจ้าของที่ดินต่ำจึงต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่สูงมายังที่ของตน แต่ไม่จำต้องรับน้ำที่ใช้แล้วระบายทิ้งจากที่ดินแปลงสูง
๑๒.เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำที่ไหลตามธรรมดา(ปพพ มาตรา ๑๓๓๙)หรือเพราะการระบายน้ำจากที่ดินสูงมาสู่ที่ของตน(ปพพ มาตรา ๑๓๔๐)ถ้าได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ ก็มีสิทธิ์เรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงจัดทำทางระบายน้ำหรือมีสิทธิ์เรียกค่าทดแทนโดยการฟ้องศาล แต่ ถ้าหากปิดกั้นเสียเองโดยลำพังเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินสูงได้รับความเสียหายต้องรับผิด
๑๓. ปพพ มาตรา ๑๓๓๙ เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินสูงมีสิทธิ์ “กันน้ำ” เอาไว้ใช้เพียงจำเป็นแก่ที่ดินได้ ส่วน ปพพ มาตรา ๑๓๕๕ เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินริมน้ำหรือทางน้ำผ่านไม่มีสิทธิ์ “ชักน้ำ” เอาไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของตนตามสมควร เป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตามทางนั้น คำว่า “ ชักน้ำ” หรือ “กันน้ำ” น่าจะอยู่ในความหมายเดียวกัน คือ “การกักเก็บน้ำไว้ใช้” นั้นเอง
๑๔.โจทก์ใช้น้ำจากลำเหมืองสาธารณะตามที่โจทก์มีสิทธิ์ และหากมีการแบ่งเฉลี่ยการใช้น้ำระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว ก็จะมีน้ำใช้พอทั้งสองฝ่าย การที่โจทก์เปิดน้ำเข้าฟาร์มของโจทก์ในช่วงเกิดเหตุที่เป็นฤดูแล้งมีน้ำน้อยไม่พอแก่การทำนาของราษฏร์ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของโจทก์ตามสมควร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๕ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิ์ที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันจะเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปพพ มาตรา ๔๒๑ ปัญหาที่เกิดคือช่วงนาแล้งน้ำน้อย หากเฉลี่ยน้ำกันแล้วก็พอใช้ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมกัน แต่เมื่อโจทก์เปิดน้ำเข้าฟาร์มตนเองตามสมควร ไม่ได้เก็บกักไว้ใช้คนเดียวจนคนอื่นใช้ไม่ได้ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการทำละเมิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น