ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“ก่อความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน”

๑.กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยซึ่งเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ครอบครองต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้น การที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ เพราะต้นมะพร้าวอยู่ใกล้ชิดแนวสายไฟฟ้าเป็นเหตุให้ทางมะพร้าวฟาดไปถูกเสาไฟฟ้าเมื่อมีลมพัดซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยอาจป้องกันได้ถ้าตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้โจทก์ตัดอันเป็นหน้าที่ของจำเลย ถือโจทก์มี่ส่วนร่วมในการที่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยจึงให้รับผิดในความเสียหายครึ่งหนึ่ง คำพิพากษาฏีกา ๕๒๙/๒๕๒๓
๒.โจทก์ขับรถไปชนไม้ที่จำเลยบรรทุกยื่นออกมา โจทก์เป็นฝ่ายประมาทมากกว่าจำเลย ไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย คำพิพากษาฏีกา ๓๐๐๒/๒๕๓๓
๓.ขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านทางร่วมทางแยกถือโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียง ๒ ใน ๓ จึงชอบแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๗๖๗๓/๒๕๕๐
๔.ออกรถจากท้ายรถโดยสารที่จอดล้ำเข้าไปในทางรถของจำเลยที่สวนมาเป็นการประมาทมากกว่า ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า คำพิพากษาฏีกา ๒๑๕๖/๒๕๒๔
๕.ใกล้ที่เกิดเหตุมีป้ายจราจรสองป้ายคือ “ ให้ระวังรถไฟ” และอีกป้ายเขียนว่า “ หยุด” จำเลยไม่หยุดรถเมื่อเห็นรถไฟวิ่งมาห่างในระยะ ๓๐ เมตร จำเลยเร่งเครื่องเพื่อข้ามทางรถไฟให้ทัน เป็นเหตุให้รถจำเลยชนกับรถไฟ จำเลยไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร กลับฝ่าฝืนและเสี่ยงภัยอย่างชัดแจ้ง แสดงจำเลยขับรถด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง แม้การรถไฟไม่มีแผงกั้นทางขณะรถไฟวิ่งผ่านที่เกิดเหตุก็ไม่อาจถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย จำเลยประมาทฝ่ายเดียว คำพิพากษาฏีกา ๕๒๖/๒๕๓๔
ข้อสังเกต ๑. หากความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เสียหายประกอบด้วย หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากัน แม้เป็นความผิดของผู้เสียหายมีเพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นการร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจรู้ได้ หรือละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๒,๒๒๓
๒.กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยซึ่งเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ครอบครองต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเกิดจากกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่ทำให้เกิดอันตรายโดยสภาพของกระแสไฟฟ้านั้นเอง ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ การที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ เพราะต้นมะพร้าวอยู่ใกล้ชิดแนวสายไฟฟ้าเป็นเหตุให้ทางมะพร้าวฟาดไปถูกเสาไฟฟ้าเมื่อมีลมพัดนั้น ไม่ใช่เหตุอันใดอันจะเกิดขึ้นแล้วส่งผลพิบัติอันเป็นเหตุไม่สามารถป้องกันได้ แม้บุคคลที่ต้องประสบหรือใกล้ประสบ จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและสภาวะเช่นนั้น ตามป.พ.พ. มาตรา ๘ โจทก์อาจป้องกันได้ถ้าตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยตัดอันเป็นหน้าที่ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ไม่ทำแล้วเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทั้งที่สามารถทำได้อันจะพึงคาดหมายได้จากบุคคลทั่วไปในสภาวะเช่นเดียวกับโจทก์โดยทั่วไปจะกระทำกัน การที่ลมพัดทางมะพร้าวถูกสายไฟฟ้าแล้วเกิดลัดวงจรเกิดไฟไหม้ขึ้นจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ส่วนโจทก์เมื่อเห็นว่าต้นมะพร้าวอยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้าหากมีลมหรือต้นมะพร้าวโยกคลอนเพราะฝนตกทางมะพร้าวอาจฟาดไปถึงสายไฟฟ้าและอาจเกิดการลัดวงจรได้ ถือโจทก์มีส่วนร่วมในการที่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลย(การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)ซึ่งเป็นผู้ครอบครองสายไฟฟ้าอันก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพจึงให้ต่างรับผิดในความเสียหายคนละครึ่งหนึ่ง
๓.ตามพรบ.จราจรฯ กำหนดให้รถที่บรรทุกสิ่งของล้ำออกนอกตัวรถมีหน้าที่ติดผ้าแดงเพื่อให้บุคคลที่ขับรถตามมาทราบถึงการที่บรรทุกสิ่งของล้ำออกนอกตัวรถ และในพรบ.จราจรฯ บัญญัติให้รถที่วิ่งตามหลังรถคันหน้าต้องทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าพอสมควรเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน โจทก์ขับรถไปชนไม้ที่จำเลยบรรทุกยื่นออกมาเพราะขับด้วยความเร็วและไม่เว้นระยะห่างของรถให้อยู่ห่างจากรถคันหน้า แม้รถค้นหน้าจะไม่ผูกผ้าแดงเป็นเครื่องหมายให้รถที่ตามหลังมาทราบว่ามีการบรรทุกสิ่งของล้ำออกนอกตัวรถอันเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่เหตุโดยตรงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น หากรถคันหลังขับมาด้วยความเร็วต่ำและเว้นระยะห่างของรถก็จะไม่เกิดการเฉี่ยวชนกัน การที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ด้วยความประมาทของรถคันหลังที่ขับมาด้วยความเร็วและไม่เว้นระยะห่างจากรถคันแรกจึงเกิดการเฉี่ยวชนกัน โจทก์เป็นฝ่ายประมาทมากกว่าจำเลย จึงไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากจำเลย
๔.ขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านทางร่วมทางแยกถือโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย เพราะตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๗๐ บัญญัติให้ผู้ที่ขับรถใกล้ทางร่วมทางแยกต้องลดความเร็วของรถลง ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา ๑๔๘ การที่ขับรถผ่านทางร่วมทางแยกด้วยความเร็วสูงโดยไม่ลดความเร็วของรถลงจึงเป็นการกระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฏหมายที่จะปกป้องบุคคลอื่น ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นผู้ผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๒ การที่ขับรถผ่านทางร่วมทางแยกโดยไม่ลดความเร็วของรถถือเป็นการขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ขับขี่รถจำต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ด้วยการลดความเร็วของรถลงเมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงขับรถผ่านทางร่วมแยกนั้นไป ซึ่งโจทก์อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาใช่ให้เพียงพอไม่ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการขับรถโดยประมาทเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับการเฉี่ยวชนกับรถคนอื่นถือโจทก์มีส่วนประมาทด้วย จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียง ๒ ใน ๓ จึงชอบแล้ว
๕. เมื่อมีรถโดยสารจอดข้างทางแต่ท้ายรถโดยสารจอดล้ำเข้าไปในทางเดินรถของอีกฝ่าย ท้ายรถโดยสารที่มีความยาวของตัวรถย่อมบังไม่ให้เห็นว่ามีรถแล่นสวนมาหรือไม่อย่างไร จึงต้องรอให้รถโดยสารขับออกไปเสียก่อนจึงค่อยขับรถไป แต่ การที่ขับรถออกจากท้ายรถโดยสารที่จอดล้ำเข้าไปในทางรถของจำเลยที่สวนมาย่อมไม่สามารถมองเห็นรถที่แล่นสวนมาได้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการประมาทมากกว่า ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่อีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนคนที่ขับรถสวนทางมาก็ถือประมาทด้วยที่เห็นส่วนท้ายรถบรรทุกล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของตนและบดบังไม่ให้เห็นว่าท้ายรถมีรถจอดอยู่พร้อมจะขับเคลื่อนต่อไปหรือไม่อย่างไร จึงควรชะลอความเร็วของรถและหยุดรถเพื่อให้รถโดยสารขับเคลื่อนออกไปก่อนเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน การที่ไม่ชะลอความเร็วของรถและจอดรถเพื่อรอให้รถโดยสารแล่นไปก่อนแต่ยังคงขับรถต่อไปทั้งที่อาจคาดหมายได้ว่าอาจมีรถแล่นออกจากท้ายรถโดยสารที่จอดคล่อมเลนได้ แม้จะมีส่วนประมาทด้วย แต่จำเลยที่ขับรถออกมาจากท้ายรถบรรทุกโดยมองไม่เห็นทางด้านหน้าและล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถที่สวนมาย่อมมีความประมาทมากกว่าเพราะไม่สามารถมองเห็นรถที่สวนมาได้ทั้งจุดชนก็ชนบนช่องทางเดินรถที่สวนมาด้วย ดังนั้นค่าเสียหายมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าใครก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งในกรณีนี้ถือโจทก์มีส่วนประมาทมากกว่า
๖.ใกล้ที่เกิดเหตุมีป้ายจราจรสองป้ายคือ “ ให้ระวังรถไฟ” และอีกป้ายเขียนว่า “ หยุด” การที่จำเลยไม่หยุดรถเมื่อเห็นรถไฟวิ่งมาห่างในระยะ ๓๐ เมตรซึ่งเป็นระยะใกล้ที่รถไฟสามารถใช้ความเร็วผ่านในบริเวณดังกล่าวได้ภายในไม่กี่วินาทีจำเลยเร่งเครื่องเพื่อข้ามทางรถไฟให้ทัน เป็นเหตุให้รถจำเลยชนกับรถไฟ จำเลยไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร กลับฝ่าฝืนและเสี่ยงภัยอย่างชัดแจ้ง แสดงว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง แม้การรถไฟไม่มีแผงกั้นทางขณะรถไฟวิ่งผ่านที่เกิดเหตุก็ไม่อาจถือว่ามีส่วนประมาทด้วย จำเลยประมาทฝ่ายเดียว เพราะไม่ใช่ว่าทุกรายจะถูกรถไฟชน มีเพียงรายของจำเลยเท่านั้นที่ถูกรถไฟชนเพราะไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรข้างทาง หากจำเลยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรโดยเคร่งครัดด้วยการลดความเร็วของรถลงโดยเมื่อเห็นรถไฟในระยะ ๓๐ เมตรก็ควรที่จะลดความเร็วของรถลงแล้วจอดรถเพื่อรอให้รถไฟผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัย จึงค่อยขับรถผ่านทางรถไฟไปเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน มิใช่ว่าเห็นว่ารถไฟอยู่ห่างไปเพียง ๓๐ เมตรก็เร่งเครื่องเพื่อให้พ้นจากรถไฟ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ขับขี่เช่นจำเลยจักต้องมีต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ โดยการใช้ความเร็วในการขับขี่ด้วยความเร็วต่ำพร้อมลดความเร็วของรถลงและจอดรถเพื่อให้รถไฟผ่านไปก่อน แต่จำเลยก็หาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นไม่ แม้การรถไฟจะไม่มีแผงกั้นขณะรถไฟวิ่งผ่านจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหาได้ไม่ เพราะบริเวณจุดตัดทางรถไฟและถนนอีกหลายแห่งก็ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น การเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นความประมาทเล่นเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ไม่ยอมชลอความเร็วของรถลงพร้อมหยุดรถเพื่อรอให้รถไฟผ่านไปก่อนแต่กลับเร่งความเร็วของรถ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าในระยะ ๓๐ เมตรไม่อาจเร่งเครื่องยนต์ผ่านทางรถไฟไปได้โดยปลอดภัย การเร่งเครื่องรถพร้อมขับรถออกไปจึงเป็นการขับรถตัดหน้ารถไฟในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทแต่ฝ่ายเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: