ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จราจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5942/2548
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

นายเอกรินทร์ จินดาสมัย จำเลย
จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ด้วย การเปรียบเทียบปรับก็ไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกัน ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ได้
_______________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2545 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ง ? 2796 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนทางด่วนขั้นที่ 2 จากทางด้านด่านถนนจันทร์ มุ่งหน้าไปลงถนนพระราม 9 โดยความประมาทด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน บต ? 3958 ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีนายโสภา วงษ์ฟ้า เป็นผู้ขับอยู่ข้างหน้าในช่องทางเดียวกัน เป็นเหตุให้นายโสภาได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ง ? 2796 กรุงเทพมหานคร โดยประมาท ชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน บต ? 3958 ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีนายโสภา วงษ์ฟ้า ผู้เสียหายเป็นผู้ขับอยู่ข้างหน้าในช่องทางเดียวกัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายและผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวโดยผู้เสียหายและจำเลยยินยอม ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าคดีอาญาเลิกกันแล้วหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ด้วย ก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

ไม่มีความคิดเห็น: