ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

๑. ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ส. เมื่อจับได้แล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบนำตัวส่งพนักงานสอบสวนทันทีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยอมให้ ส. พบญาติแล้วเป็นเหตุให้ ส หลบหนีไปในระหว่างควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ถือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและกรมตำรวจ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๕๔/๒๕๓๖
๒. จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ผู้เสียหาย แต่ไม่ยอมรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับตัวคนร้ายได้ จำเลยปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ และยังเป็นกากรกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการอันไม่ชอบเพื่อช่วยคนร้ายไม่ต้องโทษตาม ปอ มาตรา ๒๐๐วรรคแรก กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ คำพิพากษาฏีกา ๔๔๓๖/๒๕๓๑
๓. ขณะจำเลยปฏิบัติหน้าที่ตรวจคนโดยสารขาออกนอกราชอาณาจักร จ คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้โดยสารขาออกถือหนังสือเดินทางมาให้จำเลยตรวจเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยตรวจพบมีหนังสือเดินทางโดยไม่มีตราประทับขาเข้าและไม่มีเอกสารการเดินทางครบถ้วน แต่จำเลยไม่ได้ยึดหนังสือเดินทางและควบคุมเพื่อให้ตำรวจสัญญาบัตรรับตัวไปดำเนินคดี ตามระเบียบปฏิบัติกลับปล่อยให้ผ่านช่องทางของจำเลยเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ สนง ตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๗/๒๕๔๗
๔. จำเลยรับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเลิดสินมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการคือตรวจและรักษาคนไข้ การที่จำเลยเบิกความเกี่ยวการตรวจร่างกายของโจทก์ที่โรงพยาบาลศิริราชขณะจำเลยเป็นนักศึกษาแพทย์ จึงไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แม้ ปวอ มาตรา ๑๖๕ วรรคสาม บัญญัติว่าก่อนที่ศาลจะประทับฟ้องไม่ให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น แต่บทมาตราดังกล่าวก็ให้สิทธิ์จำเลยตั้งทนายซักค้านพยานโจทก์ได้ จำเลยจึงมีสิทธิ์ยื่นคำแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลได้ด้วยคำพิพากษาฏีกาที่๗๗๓๗/๒๕๕๒
๕. จำเลยเป็นตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด แต่จำเลยกลับเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยการเล่นการพนัน แล้วจำเลยไม่จับกุมผู้ร่วมเล่นการพนัน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร่วมเล่นการพนันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทั้งสองเสพเมทแอมเฟตตามีนโดยวิธีสูดดมเอาควันเข้าสู่ร่างกาย เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๐๙วรรคสอง พรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๙๓วรรคท้าย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งสองฐานดังกล่าว โจทก์คงอุทธรณ์เฉพาะความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๐๙ วรรคสองเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทลงโทษตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๙๓วรรคท้าย อันเป็นบทหนักตาม ปอ มาตรา ๙๐ เป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๒๑๒ สำนวนแรกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยผิดฐานเสพเมทแอมเฟตตามีน จำคุก ๘ เดือน สำนวนสองศาลฏีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้อาวุธปืน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ปอ มาตรา ๙๑ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเมื่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกันแล้วจึงไม่อาจนับโทษต่อกันได้เพราะคดีทั้งสองได้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ฏีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฏีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้นำโทษฐานเสพเมทแอมเฟตตามีนนับโทษต่อกันตามที่ถูกต้องได้คำพิพากษาฏีกา ๗๘๓๖/๒๕๔๔
๖. ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่รายงานและให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ไม่มีหน้าที่ทำหนังสือลาออกของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของจำเลยและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ คำพิพากษาฏีกา ๒๖๒/๒๕๔๓
๗. จำเลยเป็นปลัดเทศบาลและเป็นเลขานุการสภาเทศบาล จำเลยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาเทศบาลจึงแต่งตั้งให้ ส. รองปลัดเทศบาลทำหน้าที่เลขานุการสภาเทศบาลแทนจำเลย จำเลยใช้ให้แก้ไขรายงานการประชุมที่ ส. ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ได้โดยพลการ เพื่อจะให้ผู้เกี่ยวข้องหลงเชื่อว่า สภาเทศบาลมีมติตามที่จำเลยได้แก้ไข โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น มีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารตาม ปอ มาตรา ๒๖๕,๘๔ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารดังกล่าว จึงมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๖๑ อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ปอ มาตรา ๒๖๘อีกกระทง จำเลยในฐานะเลขานุการสภาเทศบาลมีหน้าที่ทำรายงานการประชุมของสภาเทศบาล จำเลยทำรายงานการประชุมตามอำนาจหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อของตนเป็นผู้ทำ ไม่ได้ทำในนามบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารไม่เป็นความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ปอ มาตรา ๑๖๑ แต่เป็นการทำเอกสารเท็จ ตาม ปอ มาตรา ๑๖๒ เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๖๒ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ คำว่า “ เพื่อ” ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดถือเป็นเจตนาพิเศษ การที่จำเลยแก้ไขมติของสภาเทศบาลในรายงานการประชุม โดยไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล หากเป็นการกระทำไปเพราะความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗คำพิพากษาฏีกา ๒๙๐๗/๒๕๒๖
๘. จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่พอใจที่เห็นภรรยาจำเลยเล่นไพ่อยู่กับโจทก์ จึงเข้าไปอาละวาดกลางวงไพ่ เตะโจทก์ และทำทีขอตรวจใบอนุญาตเพื่อกลบเกลื่อนการกระทำของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่ชอบ ตาม ปอ มาตรา ๑๕๗๘ โจทก์ต่อว่าจำเลย จำเลยจึงเข้าไปเตะโจทก์อีก โจทก์เอากระโถนขว้างจำเลย แล้วเกิดการกอดปล้ำสมัครใจวิวาทกัน ถือเป็นเหตุการณ์ตอนหลัง โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายในความผิดที่จำเลยกระทำต่อโจทก์ในตอนแรกได้ คำพิพากษาฏีกา๓๔๐/๒๕๐๗
๙. องค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ นั้น ต้องได้ความว่า การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าพนักงานนั้นต้องอยู่ในหน้าที่ โจทก์พา ส.ไป แล้วได้จดทะเบียนสมรสกัน ม. บิดาของ ศ.ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมว่า โจทก์ฉุดคร่า ส. จำเลยที่ ๒เป็นนายตำรวจอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากรจับโจทก์บอกมีคนแจ้งให้จับเรื่องฉุดคร่าผู้หญิง และขู่ให้ถอนทะเบียนสมรสเสีย เมื่อไปถึงตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม จำเลยที่ ๒พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ ๑ที่บ้าน จำเลยที่ ๑ เป็นตำรวจอยู่กองกำกับการตำรวจภูธรเขต ๗ ตำแหน่งนายเวร พูดจาข่มขู่จะทำร้ายโจทก์และให้คนไปตาม ม. มา ม.บอกว่าจัดการแล้วกัน จำเลยที่ ๑ ก็ให้จำเลยที่ ๒ พาโจทก์ไปมอบให้ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม เป็นการปฏิบัตินอกหน้าที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในปอ มาตรา ๑๕๗ เพราะจำเลยไมได้มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่ ม. แจ้งความไว้ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๗/๒๕๑๖
๑๐. การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบอันจะเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่ได้รับมอบหมายในหน้าที่นั้นๆเท่านั้น ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๐๓/๒๕๑๒
๑๑. ปกติการทำร้ายร่างกายไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยเป็นตำรวจจับโจทก์ข้อหาวิ่งราวทรัพย์แล้วทำร้ายร่างกายโจทก์โดยเจตนาทำร้ายธรรมดา ไม่ใช่เพื่อประสงค์ให้เกิดผลอันใดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะจำเลยจับโจทก์ได้แล้ว และจำเลยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ทำร้ายโจทก์เพื่อประสงค์ให้โจทก์รับสารภาพ จึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เมื่อโจทก์ได้รับอันตรายจากการทำร้ายของจำเลยจำเลยมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๙๕ คำพิพากษาฏีกา ๓๖๔/๒๕๓๑
๑๒. ความผิดตามปอ มาตรา ๑๕๗ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ อำนาจหน้าที่ในการสั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจเป็นอำนาจหน้าที่กรมตำรวจหรือผู้ที่กรมตำรวจมอบหมายโดยตรง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่สั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจ แม้จำเลยที่ ๑ ทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาในการที่โจทก์ขาดราชการเกินกว่า ๑๕ วัน และเสนอความเห็นให้มีคำสั่งให้โจทก์ออกราชการ และการที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ สั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่การเงินจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ก็เพราะเหตุที่เชื่อว่าโจทกิ์ทิ้งราชการหรือหนีราชการประกอบกับในทางปฏิบัติกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้จ่ายเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนให้แก่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้ขอเบิกรับเงินไป หากมีเงินส่งคืนก็จะบันทึกเหตุผลในการสั่งคืนไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ คำพิพากษาฏีกา ๖๕๖๔/๒๕๔๒
๑๓. จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในระหว่างสอบสวนได้ทำร้ายร่ายกายโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗,๓๙๑ ถูกชกไม่เกิดบาดแผลเป็นอันตรายแก่กาย แล้วถูกพันธนาการพาตัวไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจแต่เดียวดาย ไกลหูไกลตาผู้ต้องหาด้วยกัน เช่นนี้ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจตาม ปอ มาตรา ๒๙๕ ปอ มาตรา ๕๖ ต้องการเพียงว่า ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็เพียงพอที่จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการที่จะพิพากษารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษได้แล้ว หาต้องนำสืบไม่ แม้ไม่ได้สืบศาลก็อาจคำนึงถึงอายุ และอื่นๆ เท่าที่พึงมีปรากฏในสำนวนได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๙๙/๒๕๐๘
๑๔. พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๖๗ กำหนดให้ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชี รวมเรียกว่า กรรมการอำเภอ แม้มีตำแหน่งต่างกันย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบรวมกัน ในการที่จะให้การปกครองอำเภอเรียบร้อย จึงต้องถือว่าจำเลยซึ่งมีตำแหน่งปลัดอำเภอมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกับนายอำเภอปลัดอำเภอคนอื่นอยู่ การที่จำเลยให้คำรับรอง ท. ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนทั้งที่ทราบว่า ท เป็นคนต่างด้าว เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ ๑/๒๕๐๙ ระเบียบในการสอบสวนข้าราชการปกครองว่าต้องมีพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจด้วย ก็เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ต้องหาให้การรับสารภาพโดยถูกพนักงานสอบสวนขู่เข็ญ แต่คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด สิทธิ์จำเลยไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด การสอบสวนจึงชอบตาม ปวอ มาตรา ๑๘ แล้วคำพิพากษาฏีกาที่ ๓๙๔๑/๒๕๔๑
๑๕. จำเลยจับโจทก์ข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น แม้การจับจะไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า แต่ก็เป็นกรณีออกหมายจับได้โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์จะหลบหนีและจำเลยรักษาการณ์แทนผู้บังคับกองเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปจับโจทก์ด้วยตนเอง แม้ไม่มีหมายจับก็ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย(ปวอ มาตรา ๗๘วรรคท้าย) เมื่อจำเลยมีอำนาจจับโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตาม ปอ มาตรา ๑๕๗คำพิพากษาฏีกา ๑๒๓๓/๒๕๑๙
ข้อสังเกต ๑.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗
๒.เจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อจับกุม ผู้กระทำความผิดทางอาญาได้แล้วมีหน้าที่ต้องรีบนำตัวส่งพนักงานสอบสวนทันทีโดยไม่ชักช้าตาม ปวอ มาตรา ๘๔วรรคแรก เพื่อให้มีการแจ้งข้อหา รับทราบสิทธิ์ตาม ปวอ มาตรา ๗/๑ และรับมอบบันทึกการจับกุมพร้อมของกลางที่ทำการยึดได้ 
๓.โดยใน ปวอ มาตรา ๘๗ วรรคสาม กำหนดให้นำผู้ถูกจับไปศาลภายใน สี่แปดชั่วโมง หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอันมิอาจกล่าวล่วงได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอหมายขัง การที่ไม่นำตัวไปส่งพนักงานสอบสวนทันทีโดยผู้ถูกจับกุมยังถูกควบคุมตัวอยู่นั้นเป็นการหน่วงเหนียวกักขังทำให้ผู้ถูกจับปราศจากเสรีภาพตามสมควร อีกทั้งในคดีที่อยู่ในอัตราโทษศาลแขวงต้องดำเนินการฟ้องคดีภายในกำหนด ๔๘ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกจับกุม โดยไม่ให้นับเวลาเดินทางตามปกติจากที่จับกุมมาที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือที่ทำการพนักงานอัยการมาศาลรวมอยู่ด้วย การไม่รีบนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวนทันทีเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาที่จะนำตัวจากที่จับกุมมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือที่ทำการพนักงานอัยการมาศาล หรือในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคแรก ของพรบ.จัดตั้งศาลเด็กและเยาวชนฯ เป็นหน้าที่ผู้จับกุมต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับกุมไปยังที่ทำการพนักงานสอบสวน “ ทันที “ และในมาตรา ๗๒ของกฏหมายดังกล่าว เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการพนักงานสอบสวน โดยไม่ให้นับเวลาเดินทางจากที่จับกุมมาที่ทำการพนักงานสอบสวนรวมใน ๒๔ ชั่วโมง และในมาตรา ๗๘ ของกฏหมายดังกล่าว ต้องรีบดำเนินการสอบสวนเพื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการฟ้องให้ทันภายใน ๓๐ วัน ทั้งในมาตรา ๗๐ เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแก่เด็กหรือเยาวชนแล้วต้องให้ผู้อำนวยการสถานพินิจทราบ ดังนั้นการที่ไม่รีบดำเนินการส่งตัวผู้ต้องหาไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนทันทีย่อมทำให้กระบวนการพิจารณาดังกล่าวล่าช้า ขัดต่อกฏหมาย
๔. การยอมให้ผู้ต้องหา พบญาติแล้วเป็นเหตุให้ ผู้ต้องหาหลบหนีไปในระหว่างควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ถือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามข้อสังเกตที่ ๒และ ๓ ตามที่กล่าวมาแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและกรมตำรวจ แม้ในปวอ มาตรา๗/๑(๓) ให้สิทธิ์ผู้ต้องหาที่พบญาติได้ ก็เป็นการเยี่ยมเยียนผู้ถูกจับที่สถานีตำรวจมิใช่ให้ผู้ถูกจับไปพบญาติ ณ. สถานที่อื่นซึ่งอาจทำให้ผู้ถูกจับหลบหนีได้ อีกทั้งใน ปวอ มาตรา ๘๓ หากการแจ้งญาติผู้ถูกจับทราบนั้นเป็นการสะดวกและไม่ขัดขวางการจับกุมหรือการควบคุมตัวผู้ถูกจับหรือก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเเล้ว ผู้จับกุมสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ตามควรแก่กรณี โดยต้องบันทึกไว้ในบันทึกการจับกุมด้วย ซึ่งกฎหมายเพียงให้แจ้งให้ญาติทราบถึงการที่ตนถูกจับกุมแต่ไม่ได้อนุญาตให้พาผู้ถูกจับไปพบญาติแต่อย่างใด การที่นำผู้ถูกจับไปพบญาติแล้วผู้ถูกจับหลบหนีถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
๕.การที่พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับตัวคนร้ายได้ แล้วปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการอันไม่ชอบเพื่อช่วยคนร้ายไม่ต้องโทษตาม ปอ มาตรา ๒๐๐วรรคแรก กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ 
๖.การช่วยบุคคลอื่นเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษ ตามปอ มาตรา ๒๐๐ เป็นบทเฉพาะใช้กับเจ้าพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งโดยไม่ชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ส่วนปอ มาตรา ๑๘๙ เป็นบททั่วๆไปใช้กับบุคคลทั่วไปที่ช่วยผู้กระทำความผิดหรือต้องหาว่ากระทำความผิดซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษ ไม่ให้ต้องรับโทษ โดยให้ที่พำนัก ซ่อนเร็น หรือช่วยด้วยประการใดๆไม่ให้ถูกจับกุม เมื่อมีบทเฉพาะตาม ปอ มาตรา ๒๐๐ แล้วไม่นำปอ มาตรา ๑๘๙มาใช้ ทั้งโทษในปอ มาตรา ๑๘๙ ก็น้อยกว่าอัตราโทษตาม ปอ มาตรา ๒๐๐ ด้วย 
๗. กรณีเจ้าพนักงานตรวจพบหนังสือเดินทางไม่มีตราประทับขาเข้าและไม่มีเอกสารการเดินทางครบถ้วน แต่ไม่ได้ยึดหนังสือเดินทางและควบคุมเพื่อให้ตำรวจสัญญาบัตรรับตัวไปดำเนินคดี ตามระเบียบปฏิบัติแต่กลับปล่อยให้ผ่านช่องทาง เพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ สนง ตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ
๘. นักศึกษาแพทย์ยังไม่ใช่แพทย์และยังไม่ได้รับมอบหมายจากทางราชการให้มีหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ ดังนั้น การเบิกความเกี่ยวการตรวจร่างกายของโจทก์ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ จึงไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ จึงไม่ใช่ “ เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมาย และไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย จึง ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ 
๙..ในกรณีนี้มีข้อน่าคิดว่า นักศึกษาแพทย์อยู่ระหว่างฝึกงานยังไม่ใช่ แพทย์ และยังไม่ได้รับมอบหมายจากทางราชการให้มีหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ ยังไม่ถือว่าเป็น เจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ แล้ว หากเป็น “ อัยการผู้ช่วย” หรือ “ ผู้ช่วยผู้พิพากษา” ละ จะถือเป็น “ เจ้าพนักงาน” ผู้การกระทำการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่อย่างไร? หากยังไม่ใช่การกระทำการตามหน้าก็ไม่อาจมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ได้อย่างนั้นหรือ? หรือกรณีข้าราชการที่สอบบรรจุเข้ารับราชการได้ใหม่ๆต้องมีการฝึกงานทดลองงานตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ในช่วงเวลาที่ยังไม่พ้นกำหนดดังกล่าวสามารถเกิดความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ได้หรือไม่อย่างไร? ฝากเป็นข้อคิดครับ
๑๐.ในระหว่างราษฏร์ฟ้องกันเองต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อกันการแกล้ง ไม่เหมือนการแจ้งความร้องทุกข์ที่มีการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ถือว่ามีการกลั่นกรองจากพนักงานสอบสวนมาชั้นหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะกลั่นกรองเป็นหนที่สองจากพนักงานอัยการ ดังนั้น คดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องจึงมักไม่มีการไต่สวนมูลฟ้อง แม้ใน ปวอ มาตรา ๑๖๒(๒) บัญญัติให้ทำการไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ได้ก็ตาม . 
๑๑.แม้ ปวอ มาตรา ๑๖๕ วรรคสาม บัญญัติว่าก่อนที่ศาลจะประทับฟ้องไม่ให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น ยกเว้นการแต่งทนายเข้ามาแก้ต่าง คือตราบใดศาลยังไม่ประทับฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะจำเลย จึงไม่เกิดสิทธิ์ตาม ปวอ มาตรา ๘ ยกเว้นการแต่งทนายเข้ามาแก้ต่างสามารถระทำได้ แต่บทบัญญัติใน ปวอ มาตรา ๑๖๕ วรรคสามก็ให้สิทธิ์จำเลยตั้งทนายซักค้านพยานโจทก์ได้ การยื่นคำแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล นั้นก็คือ การใช้สิทธิ์ในการถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักพยานนั้นเอง จำเลยจึงมีสิทธิ์ยื่นคำแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลได้ 
๑๒.เมื่อเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด แต่ไม่จับกุมแต่กลับเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยเสียเอง การไม่เข้าไม่จับกุมผู้ร่วมกระทำผิดกับตน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบการกระทำผิดตามมาตรานี้ต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน แต่การกระทำดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้กระทำความผิดหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ในความเห็นส่วนตัวด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกา เห็นว่าการที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าร่วมกระทำผิดกับผู้กระทำผิดตามกฏหมายเสียเองเป็นการละเว้นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายแล้ว การละเว้นไม่จับกุมย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ และการไม่จับกุมผู้เล่นการพนันแต่กลับเข้าร่วมเล่นการพนันเสียเองเท่ากับสนับสนุนให้มีการเล่นการพนันในท้องที่ ซึ่งการพนันเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมต่างๆตามมา เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นต้น แต่เมื่อศาลฏีกาท่านวินิจฉัยแบบนี้ก็คงต้องถือตามนี้จนกว่าจะมีคำพิพากษาฏีกาอื่นมากลับหรือแก้คำพิพากษานี้
๑๓.จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทั้งสองเสพเมทแอมเฟตตามีนโดยวิธีสูดดมเอาควันเข้าสู่ร่างกาย เป็นการข่มขืนใจให้ผู้อื่นโดยมีอาวุธโดยกระทำการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น และเป็นการข่มขืนใจให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๐๙วรรคสอง และเป็นการขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำที่ผิดครองธรรมให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษโดยมีอาวุธโดยเป็นการระทำต่อบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะพรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๙๓วรรคแรก,.วรรคสอง,วรรคท้าย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๙๓ วรรคท้ายซึ่งเป็นบทหนัก
๑๔.แต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งสองฐานดังกล่าว โจทก์คงอุทธรณ์เฉพาะความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๐๙ วรรคสองเท่านั้น ความผิดตามพรบ.ยาเสพติดฯ มาตรา ๙๓วรรคท้ายย่อมเป็นอันยุติไป การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทลงโทษตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๙๓วรรคท้าย อันเป็นบทหนักตาม ปอ มาตรา ๙๐ เป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษ และเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษ ทั้งเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่ง ศาลสูงจะเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้เว้นแต่โจทก์จะอุทธรณ์ให้เพิ่มเติมโทษจำเลย การที่ศาลสอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษย่อมไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๙๒วรรคสี่ ,๒๑๒ ,๒๒๕ 
๑๕.คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๒๑๒ สำนวนแรกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยผิดฐานเสพเมทแอมเฟตตามีน จำคุก ๘ เดือน สำนวนสองศาลฏีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้อาวุธปืน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ปอ มาตรา ๙๑ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า เมื่อศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกันแล้วจึงไม่อาจนับโทษต่อกันได้เพราะคดีทั้งสองได้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันย่อมไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ฟ้องเป็นสองคดีต่างหากจากกันและประสงค์ขอให้นับโทษทั้งสองคดีต่อกัน ส่วนที่ศาลให้รวมสองคดีเข้าด้วยกันก็เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ฏีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฏีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้นำโทษฐานเสพเมทแอมเฟตตามีนนับโทษต่อกันตามที่ถูกต้องได้ เป็นเรื่องเกินคำขอและเป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษฐานนี้จึงไม่อุทธรณ์คำพิพากษา คือพอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลจึงไม่อาจนับโทษทั้งสองคดีต่อกันได้
๑๖.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่เพียงรายงานและให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ แต่ไม่มีหน้าที่ทำหนังสือลาออกของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของตน การทำหนังสือลาออกของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของตนจึงไม่ใช่การกระทำการในหน้าที่แต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำนอกหน้าที่ของตน แม้หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมและนำหนังสือดังกล่าวมาใช้แสดงหรือยื่นตามลำดับชั้นก็ตาม แต่เมื่อไม่ใช่การกระทำการตามหน้าที่ จึงไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ส่วนจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
๑๗.เมื่อจำเลยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาเทศบาลได้แต่งตั้งให้ ส. รองปลัดเทศบาลทำหน้าที่เลขานุการสภาเทศบาลแทน จำเลยจึงไม่มีอำนาจทำรายงานการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายงานการประชุม การที่จำเลยใช้ให้ผู้อื่นทำการแก้ไขรายงานการประชุมที่ ส. ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ได้โดยพลการโดยไม่ได้สอบถามคณะกรรมการอื่นที่เข้าร่วมประชุม การแก้ไขดังกล่าว เพื่อจะให้ผู้เกี่ยวข้องหลงเชื่อว่า สภาเทศบาลมีมติตามที่จำเลยได้แก้ไข โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น มีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารราชการตาม ปอ มาตรา ๒๖๕,๘๔ 
๑๘.เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารดังกล่าว จึงมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๖๑ อีกบทหนึ่ง ครั้นมื่อจำเลยนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตาม ปอ มาตรา ๒๖๘อีกกระทง 
๑๙.จำเลยในฐานะเลขานุการสภาเทศบาลมีหน้าที่ทำรายงานการประชุมของสภาเทศบาล จำเลยทำรายงานการประชุมตามอำนาจหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อของตนเป็นผู้ทำ ไม่ได้ทำในนามบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารไม่เป็นความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ปอ มาตรา ๑๖๑ แต่เป็นการทำเอกสารเท็จ ตาม ปอ มาตรา ๑๖๒ 
๒๐.เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๖๒ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ เป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องตาม ปอ มาตรา ๑๙๒ 
๒๑.บทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ คำว่า “ เพื่อ” ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ถือเป็นเจตนาพิเศษ การที่จำเลยแก้ไขมติของสภาเทศบาลในรายงานการประชุม โดยไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล หากเป็นการกระทำไปเพราะความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เป็นเรื่องขาดเจตนา โดยผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด คือไม่รู้ว่าตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยตนไม่มีอำนาจแก้ไขได้ จึงจะถือว่าจำเลยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำตนเองไมได้ มีข้อน่าคิดคือ การเป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมายและอยู่ในฐานะเป็นเลขานุการสภาเทศบาลแต่ไม่ศึกษาระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้องให้ถ้วนถี่ ไม่ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ว่าสามารถแก้ไขระเบียบได้เองโดยพละการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบกับสมาชิกของสภาเทศบาลก่อนนั้นสามารถกระทำการได้หรือไม่ นั้น ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่? ความเข้าใจผิดพลาดว่าตนมีอำนาจแก้ไขได้นั้น สามารถรับฟังได้แค่ไหนเพียงใด?
๒๒.จำเลยเป็นตำรวจไม่พอใจที่เห็นภรรยาจำเลยเล่นไพ่อยู่กับโจทก์ จึงเข้าไปอาละวาดกลางวงไพ่ เตะโจทก์ และทำทีขอตรวจใบอนุญาตเพื่อกลบเกลื่อนการกระทำของจำเลย การเข้าไปอาละวาดในวงการพนันและทำร้ายร่างกายคนที่เล่นการพนัน ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ที่จำเลยสามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่ชอบ ตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ 
๒๓.ส่วนที่โจทก์ต่อว่าจำเลย จำเลยจึงเข้าไปเตะโจทก์อีก โจทก์เอากระโถนขว้างจำเลย แล้วเกิดการกอดปล้ำสมัครใจวิวาทกัน ถือเป็นเหตุการณ์ตอนหลัง ขาดตอนไปจากการกระทำในครั้งแรกแล้ว ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายในความผิดที่จำเลยกระทำต่อโจทก์ในตอนแรกได้ 
๒๔.ส่วนที่โจทก์สมัครใจวิวาทกับจำเลยโดยเอากระถางขวางและเข้ากอดปล้ำกัน ถือโจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะฟ้องจำเลยได้
๒๕.องค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ นั้น ต้องได้ความว่า การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าพนักงานนั้นต้องอยู่ในหน้าที่ การที่โจทก์พา ส.ไปจากอำนาจปกครองของบิดามารดา แล้วได้จดทะเบียนสมรสกัน ม. บิดาของ ส.ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมว่า โจทก์ฉุดคร่า ส. จำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นนายตำรวจอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากรจับโจทก์บอกมีคนแจ้งให้จับเรื่องฉุดคร่าผู้หญิง และขู่ให้ถอนทะเบียนสมรสเสีย เมื่อไปถึงตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม ได้พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ ๑ที่บ้าน จำเลยที่ ๑ เป็นตำรวจอยู่กองกำกับการตำรวจภูธรเขต ๗ ตำแหน่งนายเวร พูดจาข่มขู่จะทำร้ายโจทก์และให้คนไปตาม ม. มา ม.บอกว่าจัดการแล้วกัน จำเลยที่ ๑ ก็ให้จำเลยที่ ๒ พาโจทก์ไปมอบให้ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม เป็นการปฏิบัตินอกหน้าที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในปอ มาตรา ๑๕๗ เพราะจำเลยไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่ ม. แจ้งความไว้ การพูดขู่ให้ถอนชื่อจากทะเบียนสมรสไม่ใช่การกระทำในหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจสั่งให้บุคคลใดไปถอนชื่อจากทะเบียนสมรสซึ่งก็คือบอกให้ไปหย่ากันนั้นเอง เมื่อไม่ใช่การกระทำในหน้าที่จึงไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ส่วนการจับกุมก็เป็นไปตามกฏหมายเก่าที่จับกุมโดยมีผู้แจ้งขอให้จับกุมโดยอ้างว่าได้มีการแจ้งตความร้องทุกข์กันไว้แล้วตามระเบียบ 
๒๖.การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบอันจะเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่ได้รับมอบหมายในหน้าที่นั้นๆเท่านั้น ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ 
๒๗.เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาได้ ปกติการทำร้ายร่างกายไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เว้นแต่การทำร้ายนั้นเพื่อประสงค์ให้เกิดผลอันใดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น ผู้จับกุมทำร้ายเพื่อให้รับสารภาพในชั้นจับกุม หรือพนักงานสอบสวนทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน 
๒๘.การที่จำเลยจับโจทก์ข้อหาวิ่งราวทรัพย์แล้วทำร้ายร่างกายโจทก์โดยเจตนาทำร้ายธรรมดา ไม่ใช่เพื่อประสงค์ให้เกิดผลอันใดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะจำเลยจับโจทก์ได้แล้ว เมื่อจำเลยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ทำร้ายโจทก์เพื่อประสงค์ให้โจทก์รับสารภาพในชั้นสอบสวน หรือเป็นผู้จับกุมแล้วทำร้ายร่างกายเพือให้รับสารภาพในชั้นจับกุม การทำร้ายดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ เมื่อโจทก์ได้รับอันตรายจากการทำร้ายของจำเลย จำเลยคงมีความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๙๕เท่านั้น 
๒๙.ความผิดตามปอ มาตรา ๑๕๗ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ 
๓๐.อำนาจหน้าที่ในการสั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจเป็นอำนาจหน้าที่กรมตำรวจหรือผู้ที่กรมตำรวจมอบหมายโดยตรง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่สั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจ แม้จำเลยที่ ๑ ทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาในการที่โจทก์ขาดราชการเกินกว่า ๑๕ วัน และเสนอความเห็นให้มีคำสั่งให้โจทก์ออกราชการ ก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ในฐานะผู้พบเห็นการกระทำความผิดเบื้องต้น ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาเบื้องต้นเท่านั้น นั้น 
๓๑.การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ สั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่การเงินจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ก็เพราะเหตุที่เชื่อว่าโจทก์ทิ้งราชการหรือหนีราชการประกอบกับในทางปฏิบัติกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้จ่ายเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนให้แก่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้ขอเบิกรับเงินไป หากมีเงินส่งคืนก็จะบันทึกเหตุผลในการสั่งคืนไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ 
๓๒.จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในระหว่างสอบสวนได้ทำร้ายร่ายกายโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๑๕๗,๓๙๑ 
๓๓.การถูกชกไม่เกิดบาดแผลเป็นอันตรายแก่กาย(เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจตาม ปอ มาตรา ๓๙๑แล้ว) ส่วนการถูกพันธนาการพาตัวไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจแต่เดียวดาย ไกลหูไกลตาผู้ต้องหาด้วยกัน เช่นนี้ไม่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่จิตใจตาม ปอ มาตรา ๒๙๕ 
๓๔.ปอ มาตรา ๕๖ ต้องการเพียงว่า ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็เพียงพอที่จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการที่ศาลจะพิพากษารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษได้แล้ว หาจำเป็นที่จำเลยต้องนำสืบไม่ แม้ไม่ได้สืบศาลก็อาจคำนึงถึงอายุ และอื่นๆ เท่าที่พึงมีปรากฏในสำนวนได้ เพราะหน้าที่นำสืบว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อนหรือไม่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบเพื่อผลในการนำโทษที่รอการลงโทษมาบวกหรือนับโทษต่อหรือขอเพิ่มโทษ เมือโจทก์ไม่สืบก็ต้องสันนิษฐานในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
๓๕. พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๖๗ กำหนดให้ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชี รวมเรียกว่า กรรมการอำเภอ แม้มีตำแหน่งต่างกันย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ในการที่จะให้การปกครองอำเภอเรียบร้อย จึงต้องถือว่าจำเลยซึ่งมีตำแหน่งปลัดอำเภอมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกับนายอำเภอปลัดอำเภอคนอื่นอยู่ การที่จำเลยให้คำรับรอง ท. ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนทั้งที่ทราบว่า ท เป็นคนต่างด้าว เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ปอ มาตรา ๑๕๗ 
๓๖.ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ ๑/๒๕๐๙ ว่าด้วยระเบียบในการสอบสวนข้าราชการปกครองว่าต้องมีพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจด้วย ก็เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ต้องหา ก็เพื่อเป็นหลักประกันการให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาว่าไม่ได้รับสารภาพโดยถูกพนักงานสอบสวนขู่เข็ญ เพราะเมื่อสองหน่วยงานร่วมกันสอบสวน ย่อมเป็นการคานอำนาจของกันและกัน การให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนจึงน่าเชื่อถือได้ แต่ในคดีนี้เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด แม้การสอบสวนจะไม่ได้ทำตามข้อบังคับกระมรวงมหาดไทยดังกล่าวก็ตามสิทธิ จำเลยก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด การสอบสวนจึงชอบตาม ปวอ มาตรา ๑๘ แล้ว อีกทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานฝ่ายปกครองก็มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๘,๑๙ โดยใน ปวอ มาตรา ๑๘และ ๑๙ ไม่ได้บัญญัติว่า การสอบสวนที่ชอบด้วยกฏหมายต้องเป็นการสอบสวนที่ร่วมกันระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะต่างคนก็ต่างมีอำนาจสอบสวนได้ ส่วนที่ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวออกมาก็ไม่ได้ตัดอำนาจการสอบสวนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายทั้งตำรวจและปกครองก็ยังมีอำนาจในการสอบสวนได้ ระเบียบดังกล่าวน่าออกเพื่อเป็นความร่วมมือและบอกว่ากรณีใดควรร่วมกันสอบสวนมากกว่าเพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะและแย่งงานกัน โดยในข้อบังคับดังกล่าวได้วางข้อกำหนดว่าข้อหาใดที่พนักงานฝายปกครองต้องเข้าทำการสอบสวนร่วมกับตำรวจโดย พนักงานฝ่ายปกครองเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน เพื่อกันการโต้เถียงกันว่าใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้สรุปสำนวนและทำความเห็น โดยในระเบียบดังกล่าวก็จำกัดว่าคดีประเภทใดที่พนักงานฝ่ายปกครองเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน
๓๗. แม้ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าซึ่งสามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับก็ตาม แต่หากเข้ากรณีข้อยกเว้นการจับโดยไม่มีหมายจับ หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้กระทำผิดจะหลบหนี และเป็นการจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ก็สามารถจับกุมได้แม้ไม่มีหมายจับ(เป็นไปตามกฎหมายเก่า) 
๓๘.เมื่อจำเลยรักษาการณ์แทนผู้บังคับกองเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปจับโจทก์ด้วยตนเอง เป็นกรณีตำรวจชั้นผู้ใหญ่จับกุมด้วยตนเองได้โดยไม่จำต้องมีหมายจับหากเข้าเกณท์ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ แม้ไม่มีหมายจับก็ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายตาม ปวอ มาตรา ๗๘วรรคท้าย ซึ่งเป็นกฏหมายเก่าก่อนปีพ.ศ. ๒๕๔๗ (หากเป็นปัจจุบัน การจับกุมโดยไม่มีหมายจับหรือไม่ได้กระทำการตามคำสั่งของศาลทำไม่ได้ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตาม ปวอ มาตรา ๗๘(๑)ถึง(๔) ในคดีนี้เมื่อจำเลยมีอำนาจจับกุมได้ตามข้อยกเว้นแม้ไม่มีหมายจับก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตาม ปอ มาตรา ๑๕๗

ไม่มีความคิดเห็น: