ผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาทเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษายกฟ้องได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) และมาตรา 26 แต่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(3) การไต่สวนมูลฟ้องโดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนเดียวในศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ เป็นเพียงการย้อนสำนวนมาให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำพิพากษาใหม่ในส่วนที่ไม่ชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31(1) ประกอบมาตรา 29(3) เมื่อการไต่สวนมูลฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนเดียวในศาลชั้นต้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(3) ศาลชั้นต้นหาจำต้องไต่สวนมูลฟ้องใหม่อีกไม่ และเมื่อทนายโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า โจทก์หมดพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การไต่สวนมูลฟ้องย่อมเสร็จสิ้นลงโดยชอบแล้ว โจทก์ไม่อาจนำพยานเข้าไต่สวนเพิ่มเติมได้อีก
คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงลายมอชื่อร่วมเป็นองค์คณะ เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31(1) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลย่อมมีอำนาจตรวจสำนวนคดีและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29(3) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ซึ่งมีระวางโทษเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสำนวนคดีและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะจึงเป็นการพิจารณาและพิพากษาใหม่โดยมีผู้พิพากษาครบองค์คณะโดยชอบ
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่า บุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชน หรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์ กลุ่มโพสต์นิวออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328
แต่ถ้าหากการโพสต์ข้อความลงในไลน์ไทม์ไลน์ (Line Timeline) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) แล้วตั้งค่าสถานะข้อความสาธารณะ (Public) ทำให้ความทั่วไปแม้ไม่ได้เป็นเพื่อนกับผู้ใช้งานก็สามารถเห็นข้อความที่โพสต์ได้ เมื่อข้อความนั้นมีลักษณะหมิ่นประมาทผู้อื่น ผู้โพสต์จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ด้วยแต่ในทางกลับกันไม่ได้ตั้งค่าเป็นข้อความสาธารณะ (Public) แต่เห็นเฉพาะกลุ่มก็จะมีความผิดพียงฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 74/2563
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดและสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าโฆษณาทั้งหมดศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กชื่อ“คุยกับหม่อมกร” จำเลยใช้บริการเฟซบุ๊กชื่อ “Veerasak Pungrassamee” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 โจทก์เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กของโจทก์ว่า “ตอนน้ำมันขึ้นราคา สินค้าก็ขึ้นราคาตอนน้ำมันดิบลงเกิน 50% มีอะไรในประเทศราคาลง 50% บ้างหรือไม่ แม้แต่น้ำมันก็ลงมาประมาณ 20% เท่านั้น น่าคิดว่าเราสามารถจัดการให้มีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้หรือไม่” หลังจากนั้นมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “อยากคุยกับหม่อมกร” ได้นำข้อความและภาพหน้าเฟซบุ๊กของโจทก์มาเผยแพร่ต่อโดยแต่งเติมรูปโจทก์ด้วยการใช้สีคาดตาและเติมเขา และเพิ่มข้อความว่า “น่าคิดว่า 1. บ้านหม่อมเติมน้ำมันดิบเหรอ ราคาหมูหน้าฟาร์มเท่าราคาตลาดแถวๆบ้านหม่อมหรือเปล่า 2. น้ำมันดิบมีมากพอไม่ต้องนำเข้า ไม่...ขนส่งหรือไง 3. จงใจไม่พูดเรื่องภาษีและเงินกองทุนที่รัฐเก็บหรือเปล่าครับ เพราะเงินส่วนนี้ไม่ได้ขึ้นลงตามราคาน้ำมัน เขียนเชิงสงสัยไม่น่าจะผิด แต่ชี้นำคนอื่นคิดผิดๆเพราะตัวเองเคยเป็นแกนนำคนคิดผิดเนี่ย เลวนะ จะไปใช้มุกตรวจสอบโดยสุจริตคงไม่มีใครเชื่อเพราะพฤติกรรมก่อนนี้ชัดเจน ความผิดสำเร็จแล้ว” ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จำเลยได้คัดลอกภาพและข้อความดังกล่าวจากเฟซบุ๊ก “อยากคุยกับหม่อมกร” มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของจำเลยคดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยนำภาพหน้าเฟซบุ๊กของโจทก์ส่วนที่มีการแต่งเติมรูปของโจทก์ด้วยการใช้สีคาดตาและเติมเขาไปเผยแพร่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า รูปของโจทก์เป็นการเติมภาพวาดการ์ตูนคล้ายเขาบนศีรษะมีลักษณะเป็นการล้อเลียนให้ดูตลกขบขันมากกว่า กรณีไม่ถึงกับเป็นการใส่ความโจทก์ว่าโง่เขลาหรือเป็นคนมีเขาตามฟ้อง ส่วนนี้จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ แต่ปัญหาว่าที่จำเลยนำข้อความของผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อ “อยากคุยกับหม่อมกร” ไปเผยแพร่ต่อเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กได้ความจากโจทก์ว่า เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับราคาน้ำมันหน้าปั๊ม การที่มีข้อความเขียนด้วยลายมือหมึกสีน้ำเงินใต้ภาพเฟซบุ๊กของโจทก์ว่า “น่าคิดว่า 1. บ้านหม่อมเติมน้ำมันดิบเหรอ ราคาหมูหน้าฟาร์มเท่าราคาตลาดแถวๆ บ้านหม่อมหรือเปล่า 2. น้ำมันดิบมีมากพอ ไม่ต้องนำเข้า ไม่...ขนส่งหรือไง 3.จงใจไม่พูดเรื่องภาษีและเงินกองทุนที่รัฐเก็บหรือเปล่าครับ เพราะเงินส่วนนี้ไม่ได้ขึ้นลงตามราคาน้ำมัน” แม้จะเป็นข้อความที่โต้ตอบโจทก์ทำนองว่าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกลไกราคาน้ำมันกับราคาสินค้าตามที่จำเลยเบิกความ แต่ข้อความที่เขียนต่อมาด้วยหมึกสีแดงว่า “เขียนเชิงสงสัยไม่น่าจะผิด แต่ชี้นำให้คนอื่นคิดผิดๆ เพราะตัวเองเคยเป็นแกนนำคนคิดผิดเนี่ย เลวนะ จะไปใช้มุกตรวจสอบโดยสุจริตคงไม่มีใครเชื่อ เพราะพฤติกรรมก่อนนี้ชัดเจนความผิดสำเร็จแล้ว” เป็นการเขียนด้วยหมึกสีแดงให้แตกต่างกัน โดยเฉพาะมีการขีดเส้นใต้คำว่า “เลวนะ” 2 เส้น เป็นการเน้นคำว่า “เลวนะ” ให้เด่นชัดขึ้น ย่อมต้องทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า เป็นการตำหนิว่าโจทก์เป็นคนเลว เป็นการใส่ความว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี เป็นคนต่ำทรามที่ไม่สมควรได้รับการยอมรับนับถือในสังคม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท การที่จำเลยคัดลอกข้อความดังกล่าวมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยนำภาพที่มีข้อความอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ดังกล่าวออกกระจายต่อบุคคลที่สามทางเฟซบุ๊กของจำเลย และภาพข้อความที่จำเลยนำไปเผยแพร่ลงเฟซบุ๊กมีถ้อยคำตำหนิด่าโจทก์ว่าเลวอยู่ด้วย สามารถเห็นได้ โดยแจ้งชัดว่ามิใช่เป็นลักษณะที่ผู้เขียนติชมด้วยความเป็นธรรมแต่อย่างใด และหลังจากจำเลยนำภาพข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่แล้ว ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้วิเคราะห์และอธิบายข้อเท็จจริงทางวิชาการในเฟซบุ๊กของจำเลยให้ทราบว่าโจทก์บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานเชื้อเพลิงที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเรื่องใดอย่างไร การที่จำเลยนำภาพข้อความดังกล่าวเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของจำเลยโดยลำพังแต่ข้อความเดียวแสดงให้เป็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่าต้องการหมิ่นประมาทโจทก์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
ศาลฎีกาพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์รายวัน ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และผู้จัดการ กับสื่อออนไลน์เว็บไซต์ khaosod, ฺbangkokpost, thaipost และ posttoday เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น