ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารด้วยเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ (Line) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ต่างเป็น ที่ยอมรับทั้งในภาคสังคมและภาคธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารทำให้ทั้งไลน์และเฟซบุ๊ก ต่างก็เป็นแอปพลิเคชัน สังคมออนไลน์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ทางกฎหมายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา การถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทอันเนื่องมาจากข้อความที่ถูกโพสต์ ดังนั้น บทความนี้จะสะท้อนให้เห็น ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความผิดฐาน หมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความลงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ การโพสต์ข้อความลงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นได้ ข้อความนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และข้อความที่ถูกโพสต์นั้นต้องเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริงด้วย แต่ถ้าข้อความที่ถูกโพสต์เป็นเพียงการตั้งประเด็นคำถาม หรือเป็นเพียงการคาดคะเนย่อมไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง จึงยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๕๕/๒๕๓๑)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๕๕/๒๕๓๑ จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความ อันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีก นอกจากข้อความที่ถูกโพสต์จะต้องยืนยันข้อเท็จจริงแล้ว ข้อความนั้นจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความให้ชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใดด้วย หากมีการปกปิดตัวบุคคลด้วยอักษรย่อ และการจะทราบได้ว่าบุคคลตามอักษรย่อนั้นหมายถึงใคร ต้องไปสืบเสาะค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม จึงเป็นกรณีที่ผู้อ่านข้อความที่ถูกโพสต์แล้วไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าบุคคลตามอักษรย่อหมายถึงบุคคลใดจากข้อความที่ถูกโพสต์ แต่ทราบจากการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น กรณีเช่นว่านี้ผู้โพสต์ข้อความจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๑๓/๒๕๕๑)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๑๓/๒๕๕๑ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่าผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข ๕ ที่กำลังจะเกษียณในปี ๒๕๔๖ ได้ไป ๓ ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้นและมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข ๕ ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ชัดว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้ว จะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ กรณีมีการนำข้อความต่าง ๆ ที่ถูกโพสต์ไว้หลาย ๆ ข้อความมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว จะเป็นการหมิ่นประมาทได้จะต้องถึงขนาดที่ทำให้บุคคลทั่วไปซึ่งได้อ่านข้อความเหล่านั้นทั้งหมดแล้วเข้าใจได้ในทันทีว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาทโดยไม่ต้องไปสืบค้นข้อมูลอื่นเพิ่มเติม และลำพังความเข้าใจของผู้ที่ถูกโพสต์ข้อความกล่าวถึงเพียงผู้เดียวจะอ้างว่าข้อความนั้นมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทตนแล้วไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๑๘/๒๕๕๗)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๑๘/๒๕๕๗ ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรงการใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่ออ่านข้อความตามที่โจทก์กล่าวอ้างโดยตลอดแล้วไม่มีตอนใดระบุว่าเป็นโจทก์ร่วมหรือทำให้เข้าใจว่าหมายถึงโจทก์ร่วม การที่โจทก์นำข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่ ๔, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๗, ๑๙, ๒๐ และ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ มารวมเข้าด้วยกันแล้วสรุปว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมนั้น เป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์ร่วมเท่านั้น หาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่วไปไม่บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่ทราบหรือเข้าใจ ได้ว่าข้อความที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างมานั้น หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์ หรือไม่ หากต้องการรู้ว่าหมายถึงผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์ร่วมจริงหรือไม่ และในกรณีที่ทำการสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ ร่วมก็เป็นการทราบจากการที่บุคคลนั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบโดยอาศัยข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องไม่ เมื่อโจทก์ร่วมยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญทั้ง ๆ ที่บุคคลทั่วไปมิได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในข้อความดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามฟ้อง กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือไลน์ไทม์ไลน์ (Line Timeline) หากมีการตั้งค่าสถานะข้อความสาธารณะ (Public) ทำให้คนทั่วไปแม้ไม่ได้เป็นเพื่อนกับผู้ใช้งานก็สามารถเห็นข้อความที่โพสต์ได้ เมื่อข้อความนั้นมีลักษณะหมิ่นประมาท ผู้อื่น ผู้โพสต์จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วย การโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ซึ่งคำว่า “โฆษณา” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้คำจำกัดความว่า “การเผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชน ป่าวร้อง ป่าวประกาศ” ดังนั้น การโพสต์ข้อความต่าง ๆ แม้จะมีลักษณะหมิ่นประมาท แต่หากข้อความที่โพสต์นั้นจำกัดการเข้าถึงเพียงบางกลุ่มบางคนไม่เป็นการกระจายไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป กรณีนี้จะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาแต่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ เท่านั้น (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๗๖/๒๕๖๒)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๗๖/๒๕๖๒ ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความ อันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้นยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าว ไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ กรณีแม้ไม่ได้เป็นผู้โพสต์เองโดยตรง แต่การไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนซึ่งทราบว่ามีช่องทางการ เผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ เมื่อข้อความที่ให้สัมภาษณ์เป็นการหมิ่นประมาทแล้ว หากมีการนำเสนอเนื้อหาที่ให้สัมภาษณ์ลงในสื่อออนไลน์ถือได้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์เล็งเห็นได้ว่าจะมีการเผยแพร่ข้อความผ่านทางสื่อออนไลน์ กรณีนี้ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาโดยเล็งเห็นผลแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๘๓๙/๒๕๕๗)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๘๓๙/๒๕๕๗ การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปาง ว่าจำเลยซื้อสลากเลขท้าย ๓ ตัว หมายเลข ๙๖๖ ประจำงวดวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ การส่งข้อความผ่านไลน์หรือเฟซบุ๊ก ในลักษณะข้อความส่วนตัว ไม่เป็นความผิดฐาน ดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ (เทียบคำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๔๐๙/๒๕๕๙)
คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๔๐๙/๒๕๕๙ ผู้ต้องหาได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์เข้าไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ ๑ มีข้อความว่าผู้เสียหายที่ ๑ เป็นชู้กับผู้เสียหายที่ ๒ ถึงผู้เสียหายที่ ๕ ต่อมาหลังเกิดเหตุผู้ต้องหารับว่าเป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าวไปยังผู้เสียหายที่ ๑ จริง แต่เนื่องจากขณะที่ผู้เสียหายที่ ๑ รับข้อความดังกล่าวผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ต่อหน้าหรือกล่าวข้อความดังกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ บัญญัติ ให้ผู้กระทำต้องกล่าวข้อความดูหมิ่นต่อหน้าผู้ถูกกระทำ เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันได้ทันทีที่มีการกล่าวข้อความดูหมิ่น เมื่อผู้ต้องหาส่งข้อความอันเป็นการดูหมิ่นผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่โดย ผู้ต้องหาไม่ได้ปรากฏตัวให้ผู้เสียหายที่ ๑ เห็นซึ่งหน้าที่จะสามารถเข้าถึงตัวกันได้ทันทีที่ผู้ต้องหาส่งข้อความ การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง
ข้อสังเกต : ข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๔๐๙/๒๕๕๙ ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้ส่งข้อความผ่านไลน์ไปยังกลุ่มบุคคลหรือเป็นกรณีมีบุคคลที่สามเห็นข้อความที่ผู้ต้องหาส่งไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ผู้เสียหายที่ ๑ แต่อย่างใด จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นที่จะต้องพิจารณา การโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทลงในเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ แม้การโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทลงในเครือข่ายสังคมออนไลน์จะเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้มีตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ ขึ้น โดยมีการแก้ไขมาตรา ๑๔ (๑) ว่า “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่ากรณีนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หากเป็นข้อความหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ข้อความที่ถูกโพสต์จะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ (แก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๖๐) มาตรา ๑๔ (๑) อีกต่อไป (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๗๘/๒๕๖๐) คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๗๘/๒๕๖๐ ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยความในมาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา ๑๔ ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความ ในมาตรา ๑๔ (๑) จากเดิมที่บัญญัติว่า “(๑) นำเข้า สู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” โดยความใหม่บัญญัติว่า “(๑) โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือ บางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ดังนี้ เป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติ ภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ย่อมไม่เป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) ที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคสอง และจำเลยที่ ๒ ไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๔ (๕) ซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๔ (๑) ด้วย