๑. โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ ๒ซึ่งเป็นภรรยาของผู้เสียหายที่ ๑ ขณะที่ผู้เสียหายที่ ๒ กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ ๒ อายุ ๑๕ ปีเศษซึ่งไม่ใช่ภรรยาจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้ายลูบคลำร่างกายผู้เสียหายที่ ๒และพยายามถอดเสื้อผ้าผู้เสียหายที่ ๒ที่สวมใส่อยู่ และใช้อาวุธปืนขู่บังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ โดยผู้เสียหายที่ ๒ อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารบุคคลอายุกว่า ๑๕ ปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและลายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดกากรกระทำนั้นๆอีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้แล้ว ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกาย และจำเลยลูบคลำผู้เสียหายอย่างไรเป็นเพียงลายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๕๘(๕) ปวอ มาตรา ๒(๗),๑๒๓ ไม่ได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตัวเองได้ คำพิพากษาฏีกา๓๙๑๕/๒๕๕๑
๒. เจ้าพนักงานตาม ปวอซึ่งมีอำนาจรับคำร้องทุกข์ได้ตามมาตรา ๒(๑๗) ได้แก่พนักงานสอบสวนกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ปวอ มาตรา ๑๒๓,๑๒๔ เท่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทำทรวงมหาดไทยไม่ใช่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ปวอ มาตรา ๒(๑๖),๒(๑๗) คำพิพากษาฏีกา ๑๒๒๖/๒๕๐๓
๓. การพิจารณาปัญหาว่า พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ไว้ จะมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นหรือไม่เป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาปัญหาว่า พนักงานสอบสวนผู้นั้นจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดเรื่องนั้นด้วยหรือไม่ ปวอ มาตรา ๑๒๔ไม่ได้บังคับให้ร้องทำทุกข์ต่อเฉพาะพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนเสมอไป เหตุนี้พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดแม้ไม่มีอำนาจในการสอบสวนในคดีใดเลยก็ตามก็ยังมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๙๗๔/๒๕๑๖
๔. ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ของโจทก์มีว่า “ ............มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฏหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง” เป็นการแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ข้อความที่แสดงว่า ยังไม่มอบคดีให้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) เมื่อร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์ฟ้องคดีภายใน ๕ ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๐๙/๒๕๓๑
๕. ผู้เสียหายไปแจ้งความเรื่องถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราต่อผู้ใหญ่บ้าน โดยเล่าเรื่องให้ฟังแล้วผู้เสียหายบอกผู้ใหญ่บ้านว่า “ รอดูไปก่อน หากย้อนกลับมาอีกก็จะเอาเรื่อง แต่หากไม่มาอีกก็แล้วไป “ แสดงว่าผู้เสียหายเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวนตามที่พนักงานอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ต้องห้ามตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑วรรคสองคำพิพากษาฏีกา ๒๒๐๖/๒๕๒๒
๖. คดียักยอก ข้อความที่ว่า “ นำความมาแจ้งเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน หากจำเลยไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อไปอีก จึงนำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน” ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เพราะขณะแจ้งความยังไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ครั้นพ้นกำหนด ๓ เดินนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลย คดีขาดอายุความฟ้องร้องตาม ปอ มาตรา ๙๖ คำพิพากษาฏีกา ๓๙๑/๒๕๒๗
๗. ความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๒๖ และ ๓๒๘ เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ปอ มาตรา ๓๓๓ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง แต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันหลังแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า “ ผู้เสียหายทั้งสามรวมกับบุคคลอื่นอีก ๗ คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอให้ ส.ไปล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูที่มีผู้เสียหายทั้งสามรวมกับบุคคลอื่นอีก ๗ คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่า วันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. ขอร้องให้ไปล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วย ผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ และในหน้าที่สองระบุว่า จึงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป กรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความครั้งเดียวตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น เมื่อข้อความในสำเนารายงาน.ระบุแต่เพียงว่า ผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป จึงไม่ใช่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นการร้องทุกข์ เพราะขณะแจ้งไม่มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฏีกา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นได้ตาม ปวอ มาตรา๑๙๕วรรคสอง,๒๒๕. คำพิพากษาฏีกาที่ ๖๖๔๔/๒๕๔๙
๘. หนังสือขอแจ้งความร้องทุกข์กรณีละเมิดลิขสิทธิ์มีข้อความว่า “ บริษัท อ. ได้รับความเสียหายโดยปรากฏผู้กระทำความผิดดังกล่าว ณ สถานที่ดังนี้ (๗) อำเภอกุยบุรี....... จึงขอร้องทุกข์ต่อท่านเพื่อโปรดจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการสอบสวน ตรวจค้น จับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นตามกฎหมาย” ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งการกระทำความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมมีความประสงค์ให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๓ วรรคสอง คำพิพากษาฏีกา ๗๙๗๑/๒๕๔๙
๙. ความผิดอันยอมความได้ราษฏร์เป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ถ้าไม่ได้ร้องทุกข์ ใน ๓ เดือนนับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๖ ซึ่งเป็นบทบังคับว่าถ้าไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด คดีขาดอายุ ฉะนั้นถ้าไม่ร้องทุกข์จะฟ้องเลยทีเดียวก็ต้องฟ้องภายใน ๓ เดียวเช่นกัน ในกรณีนี้ถือได้ว่า การฟ้องเท่ากับการนร้องทุกข์แล้ว จึงต้องหาจำต้องร้องทุกข์ความอีกไม่ คำพิพากษาฏีกา ๗๓๓/๒๕๐๕
ข้อสังเกต ๑ คำร้องทุกข์ หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗)
คำกล่าวโทษ หมายถึงการที่บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดก็ตาม ปวอ มาตรา ๒(๘)
ห้ามไม่ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัว เว้นแต่จะมีการร้องทุกข์ตามกฎหมาย ปวอ มาตรา ๑๒๑
ห้ามพนักงานอัยการยื่นฟ้องในความผิดที่ไม่ได้มีการสอบสวน ปวอ มาตรา ๑๒๐
๒.การร้องทุกข์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มักเกิดปัญหา จะเกิดปัญหาเฉพาะในความผิดต่อส่วนตัว เพราะหากการร้องทุกข์ไม่ชอบ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจในการฟ้องโดยถือเสมือนว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน แต่หากเป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน แม้ร้องทุกข์ไม่ชอบ เพราะไม่ได้เป็น” ผู้เสียหาย” ก็ดี แม้ไม่ใช่การร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗)ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการกล่าวโทษตาม ปวอ มาตรา๒(๘) ซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการทำการสอบสวนได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑วรรคแรก พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องได้ตามปวอ มาตรา. ๑๒๐
.๓.บรรยายฟ้องว่า “จำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ ๒ซึ่งเป็นภรรยาของผู้เสียหายที่ ๑ ขณะที่ผู้เสียหายที่ ๒ กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ ๒ อายุ ๑๕ ปีเศษซึ่งไม่ใช่ภรรยาจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้ายลูบคลำร่างกายผู้เสียหายที่ ๒และพยายามถอดเสื้อผ้าผู้เสียหายที่ ๒ที่สวมใส่อยู่ และใช้อาวุธปืนขู่บังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ โดยผู้เสียหายที่ ๒ อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้” ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารบุคคลอายุกว่า ๑๕ ปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและลายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้นๆอีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้แล้ว ตาม ปวอ มาตรา ๑๕๘(๕) เป็นฟ้องที่ถูกต้องตามกฏหมายแล้ว
๔.ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกาย และจำเลยลูบคลำผู้เสียหายอย่างไรเป็นเพียงลายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องมาบรรยายในฟ้องแต่อย่างใดไม่ ปวอ มาตรา ๑๕๘(๕)ต้องการเพียงบรรยายฟ้องโดยนำข้อเท็จจริงมาปรับตัวบทกฎหมายโดยมีลายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้นๆอีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ หาจำต้องบรรยายในลายละเอียดว่าใช้มือข้างไหนกระทำอนาจาร กระทำที่ไหนอย่างไร พฤติการณ์ที่กระทำเป็นอย่างไร ผู้เสียหายเป็นอย่างไร บรรยายฟ้องพอให้เข้าใจและไม่ขาดองค์ประกอบความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนพฤติการณ์ลายละเอียดต่างๆเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ปวอ มาตรา ๑๕๘(๕)
๕.ปวอ มาตรา ๒(๗),๑๒๓ ไม่ได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตัวเองได้ กรณีดังกล่าวไม่เหมือนการทำนิติกรรมในทางแพ่งที่ผู้เยาว์กระทำลงไปต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากกระทำโดยปราศจากความยินยอม การนั้นเป็นโมฆียะ สมบรูณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง ตาม ปพพ มาตรา ๒๑,๑๕๓,๑๗๖ และเมื่อถูกบอกล้างแล้วถือเป็นโมฆะมาแต่แรกและทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่สถานะเดิม
๖.การพิจารณาปัญหาว่า “ พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ไว้ จะมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นหรือไม่” เป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาปัญหาว่า “ พนักงานสอบสวนผู้นั้นจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดเรื่องนั้นด้วยหรือไม่” เนื่องด้วย ปวอ มาตรา ๑๒๔ไม่ได้บังคับให้ร้องทุกข์ต่อเฉพาะพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนเสมอไป เหตุนี้พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดแม้ไม่มีอำนาจในการสอบสวนในคดีนั้นก็ตามก็ยังมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นได้ ขอเพียงแต่ให้ผู้ที่จะรับคำร้องทุกข์มีอำนาจรับ เมื่อรับคำร้องทุกข์แล้วให้ส่งไปยังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเท่านั้น ดังนั้นหากมีการแจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ แก้โดย
๖.๑แจ้งความกับพนักงานสอบสวนท้องที่อื่นเพื่อส่งมอบต่อพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจ
๖.๒หรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองตาม ปวอ มาตรา ๑๒๔
๖.๓หรือฟ้องเองพร้อมดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ปอ มาตรา ๑๕๗
๖.๔ หรือจะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาพนักงานสอบสวนที่ไม่ยอมรับแจ้งความ
๗. ผู้เสียหายไปแจ้งความเรื่องถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราต่อผู้ใหญ่บ้าน โดยเล่าเรื่องให้ฟังแล้วผู้เสียหายบอกผู้ใหญ่บ้านว่า “ รอดูไปก่อน หากย้อนกลับมาอีกก็จะเอาเรื่อง แต่หากไม่มาอีกก็แล้วไป “ แสดงว่าผู้เสียหายเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวนตามที่พนักงานอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ต้องห้ามตาม ปวอ มาตรา ๑๒๗วรรคสอง เมื่อการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือถือเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการร้องทุกข์ ทั้งยังเป็นความผิดต่อส่วนตัวไม่ใช่ความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินด้วยแล้ว เมื่อร้องทุกข์ไม่ชอบ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หากพนักงานอัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนสามารถปฏิเสธไม่ทำการสอบสวนตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งก็ได้
๘.คดียักยอกซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ข้อความที่ว่า “ นำความมาแจ้งเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน แสดงว่า ยังไม่มีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงไม่ใช่การร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) ส่วนข้อความที่ว่า “หากจำเลยไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อไปอีก จึงนำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน” คำว่า “ ไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งความ” ก็ดี หรือถ้อยคำว่า “ แจ้งไว้เป็นหลักฐาน” ก็ดี แสดงว่า .ในขณะนี้ยังไม่มีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงไม่ใช่การร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) .
๙.เมื่อพนักงานสอบสวนรู้ว่าการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์เพราะไม่มีเจตนาเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ พนักงานสอบสวนควรแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าการแจ้งความดังกล่าวไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฏหมาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง พนักงานสอบสวนควรแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ใช่การร้องทุกข์ หากประสงค์จะร้องทุกข์ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายคือต้องแจ้งความร้องทุกข์เพื่อประสงค์เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ มิใช่จะนำความไม่รู้กฎหมายของผู้เสียหายมาตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการดำเนินคดี แต่ หากพนักงานสอบสวนแจ้งแล้วผู้เสียหายยังคงยืนยันว่าต้องการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานก็เป็นเรื่องผู้เสียหายเองที่ไม่รักษาสิทธิ์ของตนเอง หรือหากผู้เสียหายต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษก็ต้องแจ้งความโดยประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในทางปฏิบัติเมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวมาให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการเห็นว่าการร้องทุกข์ไม่ชอบ ในส่วนตัวของผมจะไม่ด่วนสั่งยุติการดำเนินคดีเพราะการร้องทุกข์ไม่ชอบ ไม่มีการร้องทุกข์เพื่อประสงค์เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ผมจะดูว่ายังอยู่ในระยะเวลาที่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้หรือไม่คือดูว่ายังอยู่ในระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่อย่างไร หากยังอยู่ในระยะเวลาดังกล่าวผมจะสั่งสอบสวนเพิ่มเติมโดยให้พนักงานสอบสวนสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร หากประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาให้ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่หากผู้เสียหายยังยืนยันว่าต้องการแจ้งไว้เป็นหลักฐานหรือไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาก็เป็นอีกเรื่อง แต่หากสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมายังพนักงานอัยการเกินกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๖,ปวอ มาตรา ๓๙(๖) ก็ไม่อาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อสอบถามว่าผู้เสียหายประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร พนักงานอัยการคงต้องสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพราะคดีขาดอายุความร้องทุกข์ไปแล้ว
๑๐.เจ้าพนักงานตาม ปวอซึ่งมีอำนาจรับคำร้องทุกข์ได้ตามมาตรา ๒(๑๗) ได้แก่พนักงานสอบสวนกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ปวอ มาตรา ๑๒๓,๑๒๔ เท่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทำทรวงมหาดไทยไม่ใช่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ระบุไว้ใน ปวอ มาตรา ๒(๑๖),๒(๑๗)(ก)ถึง(ร) จึงไม่มีอำนาจในการรับคำร้องทุกข์ได้
๑๑.การพิจารณาปัญหาว่า พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ไว้ จะมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นหรือไม่เป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาปัญหาว่า พนักงานสอบสวนผู้นั้นจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดเรื่องนั้นด้วยหรือไม่ ปวอ มาตรา ๑๒๔ไม่ได้บังคับให้ร้องทำทุกข์ต่อเฉพาะพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนเสมอไป เหตุนี้พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดแม้ไม่มีอำนาจในการสอบสวนในคดีนั้นก็ตามก็ยังมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นได้ เมื่อรับคำร้องทุกข์แล้วต้องส่งคำร้องทุกข์ไปยังพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจเพื่อดำเนินการต่อไป
๑๒.ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ของโจทก์มีว่า “ ............มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายเช็คตามกฏหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง” เป็นการแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว เพราะมีการระบุชัดว่า “ เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” เท่ากับยืนยันว่าที่มาแจ้งความร้องทุกข์โดยมีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ส่วนข้อความว่า “ การขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่าย” ไม่ใช่ข้อความที่แสดงว่า ยังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการ แต่ เป็นเรื่องการดำเนินการในทางแพ่งเป็นคนละส่วนที่ไปแจ้งความไว้ หากตกลงกันได้ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ได้ตามกฏหมาย ปวอมาตรา ๑๒๓ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) เมื่อร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์ฟ้องคดีภายใน ๕ ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
๑๓.ผู้เสียหายไปแจ้งความเรื่องถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราต่อผู้ใหญ่บ้าน โดยเล่าเรื่องให้ฟังแล้วผู้เสียหายบอกผู้ใหญ่บ้านว่า “ รอดูไปก่อน หากย้อนกลับมาอีกก็จะเอาเรื่อง แต่หากไม่มาอีกก็แล้วไป “ แสดงว่าผู้เสียหายเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตาม ปวอ มาตรา ๒(๗) เมื่อความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแก่บุคคลอายุเกินกว่า ๑๕ ปีตาม ปอ มาตรา ๒๗๖ วรรคแรกเป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๒๘๑เมื่อไม่มีการร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการสอบสวน แม้พนักงานอัยการจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจในการสอบสวน เป็นการต้องห้ามตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑วรรคสอง
๑๔.คดียักยอก ข้อความที่ว่า “ นำความมาแจ้งเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน หากจำเลยไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อไปอีก จึงนำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน”ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๓๕๖ การมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยไม่ได้ประสงค์ที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เพราะขณะแจ้งความยังไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ครั้นพ้นกำหนด ๓ เดินนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลย คดีขาดอายุความฟ้องร้องตาม ปอ มาตรา ๙๖
๑๕.ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ปอ มาตรา ๓๒๖ และ ๓๒๘ เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ปอ มาตรา ๓๓๓ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง
๑๖.สำเนารายงานประจำวันหลังแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า “ ผู้เสียหายทั้งสามรวมกับบุคคลอื่นอีก ๗ คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้ “เป็นหลักฐาน” ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอให้ ส.ไปล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูที่มีผู้เสียหายทั้งสามรวมกับบุคคลอื่นอีก ๗ คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่า “วันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. ขอร้องให้ไปล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วย” ผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ” เป็นการ” แจ้งไว้เป็นหลักฐาน” เพื่อให้รู้ว่ามีการล่าลายมือชื่อชาวบ้านเพื่อทำการขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ได้แจ้งเพื่อประสงค์เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในส่วนนี้ไม่ใช่การร้องทุกข์ตามกฏหมาย
๑๗. ในหน้าที่สองระบุว่า “ จึงแจ้งไว้ “เป็นหลักฐาน” เพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป” ข้อความในส่วนนี้ก็ “ แจ้งเพื่อเป็นหลักฐาน” เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงต่อไป ไม่ได้แจ้งเพื่อประสงค์เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ใช่การร้องทุกข์ตามกฎหมาย
๑๘.ประจำวันตามข้อสังเกตข้อ ๑๖ และข้อ ๑๗ น่าเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความครั้งเดียวตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น เพราะมีข้อความสอดคล้องต้องกันเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานจึงมีการแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน เมื่อข้อความในสำเนารายงาน.ระบุแต่เพียงว่า ผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้ “ เป็นหลักฐาน” เพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป จึงไม่ใช่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นการร้องทุกข์ เพราะขณะแจ้งไม่มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐
๑๙. ปัญหาเรื่องการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฏีกา ศาลฏีกาก็มีอำนาจยกขึ้นได้ตาม ปวอ มาตรา๑๙๕วรรคสอง,๒๒๕
๒๐.หนังสือขอแจ้งความร้องทุกข์มีข้อความว่า “ บริษัท อ. ได้รับความเสียหายโดยปรากฏผู้กระทำความผิดดังกล่าว ณ สถานที่ดังนี้ (๗) อำเภอกุยบุรี....... จึงขอร้องทุกข์ต่อท่านเพื่อโปรดจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการสอบสวน ตรวจค้น จับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นตามกฎหมาย” การมาแจ้งความเพื่อขอให้จัดเจ้าหน้าที่ไปทำการสอบสวนนั้น “การสอบสวน” ตามปวอ มาตรา๒(๑๑) คือ การรวบรวมพยานหลักฐานและการกระทำการอื่นใดตาม ปวอ. ซึ่งพนักงานสอบสวนได้กระทำไปเพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือ “พิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิด มาลงโทษ” นั้นก็คือการแจ้งความเพื่อประสงค์ “ให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ” แล้วจึงเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามกฏหมาย ส่วนการตรวจค้น จับกุมก็มีวัตถุประสงค์เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมามอบแก่พนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด ข้อความดังกล่าวจึงเป็นการ “มอบคดีให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ” จึงเป็นการแจ้งความโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามกฏหมายแล้ว
ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งการกระทำความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมมีความประสงค์ให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๓ วรรคสอง
๒๑.ในความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ในกรณีที่ราษฏร์เป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ก็ตกอยู่ในบังคับที่ต้องฟ้องคดีภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยถือว่า “การฟ้องเท่ากับการร้องทุกข์” แล้ว จึงหาจำต้องร้องทุกข์ขึ้นมาอีกไม่
๒๒.ดูตามคำวินิจฉัยของศาลฏีกาแล้วประหนึ่งว่าถ้าไม่ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปโดยถือคดีขาดอายุความตาม นั้นก็คืออายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ อยู่ภายใต้บังคับอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๖ ดังนั้นหากไม่ร้องทุกข์แล้วมาฟ้องคดีหลัง ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องตาม ปอ มาตรา ๙๕ย่อมหมดไป มิใช่ว่าฟ้องหลังขาดอายุความร้องทุกข์ตาม ปอ มาตรา ๙๖แล้ว แต่ยังอยู่ในอายุความฟ้องคดีตาม ปอ มาตรา ๙๕ ก็ไม่สามารถฟ้องได้
๒๓.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาฏีกา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าอายุความตาม ปอ ตรา ๙๖ กฎหมายใช้คำว่า “ มิได้ร้องทุกข์” เท่ากับว่า เป็น “ อายุความการร้องทุกข์” ที่กฎหมายบัญญัติว่าการร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวต้องร้องทุกข์ภายในเวลาเท่าใด ส่วนอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ กฎหมายใช้คำว่า “ ถ้าไม่ได้ฟ้อง” จึงเป็น “อายุความฟ้องร้อง” หาใช่อายุความร้องทุกข์แต่อย่างใดไม่ ทั้งใน ปอ มาตรา ๙๕ ก็หาได้มีข้อความว่า “ ภายใต้บทบังคับอายุความร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๙๖ “ หากไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาลภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้เป็นอันขาดอายุความ เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า ปอ มาตรา ๙๕ ต้องอยู่ภายใต้บังคับ ปอ มาตรา ๙๖ ก่อน ดังนั้นจึงไม่จำต้องไปร้องทุกข์ก่อนจึงจะสามารถนำคดีมาฟ้องได้ และก็ไม่จำต้องมาฟ้องคดีภายในอายุความร้องทุกข์ ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความตามปอ มาตรา ๙๕ ไม่งั้นกลายเป็นว่าอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ ใช้บังคับกับพนักงานอัยการเท่านั้นเพราะต้องมีการร้องทุกข์ภายในเวลาตามที่ระบุไว้ในปอ มาตรา ๙๖ ก่อน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อผ่านการสอบสวนโดยชอบ มีการร้องทุกข์ภายในเวลา ๓ เดือนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีภายในอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า แม้จะไม่ได้มีการร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่นำคดีมาฟ้องภายในอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ ก็น่าจะใช้ได้ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่อย่าเสี่ยงดีกว่า เผื่อเหนียวไว้ก่อน หากศาลวินิจฉัยว่าความผิดต่อส่วนตัวที่ไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่มาฟ้องคดีหลัง ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วแม้ยังอยู่ในอายุความฟ้องร้องตาม ปอ มาตรา ๙๕ ก็ตามคดีก็ขาดอายุความแล้ว โดยอายุความตาม ปอ มาตรา ๙๕ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในอายุความตามปอ มาตรา ๙๖ แล้ว คดีอาจเสียหายได้ และหากเป็นข้อสอบตอบตามคำพิพากษานะครับ ความเห็นส่วนตัวเป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่งเท่านั้น แต่ก็เคารพในการตัดสินของศาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น