๑๑. โจทก์จำเลย นำสืบพยานโต้แย้งสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยต่างฟ้องเป็นคดีแพ่งกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทอีกฝ่ายรุกล้ำขอให้ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย ในระหว่างที่ยังโต้แย้งสิทธิ์ในที่พิพาทอยู่ จำเลยเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นของจำเลย ไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใดๆในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ คำพิพากษาฏีกา ๒๒๖๔/๒๕๓๘
๑๒. โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่๒ ที่ ๓ ในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา จำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๕๙เป็นความผิดส่วนตัว โจทก์ขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดได้ ศาลฏีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๒) แต่ข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๓๕,๓๖๕ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วจึงถอนฟ้องไม่ได้ โจทก์จำเลยที่ต่างนำสืบโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทเป้นของโจทก์หรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องแพ่งไม่ใช่เรื่องอาญา การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามที่โจทก์นำสืบหาว่าร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตัดเอาดินและต้นไม้ไป จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์คำพิพากษาฏีกา ๒๙๔/๒๕๓๗
๑๓.ที่ดินผู้เสียหายไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยโต้เถียงตลอดมาว่า ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย ขณะที่จำเลยเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั่ว และก่อสร้างรั่วคอนกรีตในที่ดิน จำเลยจึงไม่รู้ว่าที่ดินอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ซึ่งตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสาม จะถือว่าจำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลไม่ได้ จึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนา ไม่มีความผิด คำพิพากษาฏีกา ๓๗๑๔/๒๕๔๐
๑๔. โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๙/๒๕๔๒ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบ อันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๕ ไม่ได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฏีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่พิพาท ดังนั้นในขณะเกิดเหตุดคีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาฏีกา๓๘๗๗/๒๕๕๑
๑๕. การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุก จะต้องกระทำโดยมีเจตนาบุกรุกด้วย คือ จำเลยต้องรู้ว่าที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุกนั้นเป็นของผู้เสียหาย คดีนี้เกี่ยวกับการครอบครองที่ดินหรือความเป็นเจ้าของที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุก โจทก์จำเลยยังนำสืบโต้แย้งกันอยู่ โดยโจทก์นำสืบว่าที่ดินเป้นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายครอบครองที่ดินตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ จำเลยนำสืบว่าที่ดินเป็นของจำเลย จำเลยซื้อจาก ช. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยครอบครองตลอดมา ผู้เสียหายไม่ได้ครอบครอง ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย แม้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ผู้เสียหาย จำเลยก็นำสืบว่า โฉนดที่ดินออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยไม่รู้มาก่อนและไม่ยอมรับว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายและจำเลยยังคงโต้เถียงความเป็นเจ้าของกันเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องทางแพ่งฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาบุกรุก ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๓๔๙๐/๒๕๕๓
๑๖.นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส๓ ก สำหรับที่พิพาทให้ ม และ ย ในปี ๒๕๒๐ ที่ดินพิพาทมีโรงสีและบ้านของ ม. ปลูกอยู่ โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆในที่พิพาทในลักษณะที่เป็นสาธารณะมานานแล้วย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ม และ ย มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียเงินค่าตอบแทนเป้นเงินสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ในการซื้อที่ดินมาจาก ม และ ย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด แม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบหนังสือจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองซานางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สน๓ ก ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ออกไปจากที่ดินพิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกันตลอดมาโดยจำเลยเข้าใจแต่ต้นว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยกากรกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาแต่แรก ไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน คำพิพากษาฏีกา๘๐๓๓/๒๕๕๓
๑๗.ระหว่างจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุก จำเลยทั้งสองไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกลับเข้ามาในที่ดินพิพาทใหม่ จึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งหาใช่การบุกรุกในครั้งก่อนยังคงอยู่ตลอดมาไม่ ฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีนี้ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกอีกจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ ตลอดมา ต่างกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุก ส่วนจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมทำให้เสียทรัพย์ของจำเลยที่อยู่ในที่ดินพิพาทเสียหาย และจำเลยทั้งสองยังฟ้องโจทก์ร่วมกับพวกเป็นคดีแพ่งขอให้พิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ ขณะที่จำเลยกลับเข้ามาในที่พิพาทใหม่นั้น คดีแพ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประกอบกับการเข้าไปในที่ดินพิพาทหลังจากศาลฏีกายกฟ้องในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินพิพาทในคดีอาญาก่อน แม้ที่พิพาทในคดีนี้มีเนื้อที่มากกว่าที่ดินในคดีเดิมที่ศาลฏีกายกฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่ที่ดินในบริเวณนี้ยังไม่มีแนวเขตที่แน่ชัดแจ้งและเนื้อที่ดินที่จำเลยถูกฟ้องว่าบุกรุกในแต่ละครั้งก็มีเนื้อที่แตกต่างกันไม่มาก แสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความเชื่อมั่นอย่างสุจริตใจว่าจำเลยมีสิทธิ์เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทได้ อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสองขาดเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท ไม่มีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา๗๓๓๐/๒๕๔๑
๑๘.แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ให้ ว. นำป้ายที่มีข้อความว่า “ สถานที่ราชการห้ามบุกรุกโดยเด็ดขาด” เข้าไปติดในศาลาร้างซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามที่รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการหลงเข้าใจโดยสุจริตคิดว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นของโรงเรียนบ้านเกาะปูโหลน ในสังกัดการประถมศึกษาจังหวัดสตูล โดยจำเลยทั้งสามเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่ปักแนวรั่วบุกรุกที่ดินของโรงเรียน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางราชการ ขาดเจตนาที่จะถือการครอบครองหรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕(๒),๘๓ คำพิพากษาฏีกา ๖๒๑/๒๕๓๙
๑๙.ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเป็นทรัพย์สิน๙งเจ้าของอาคารชุดแต่ละห้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การจัดการทรัพย์สินต้องเป็นไปตาม พรบ. อาคารชุดฯ มาตรา ๑๗,๓๓,๓๕,๓๖,๓๗ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจจัดการและดูแลรักษาห้องน้ำชายหญิงซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางได้ปิดกั้นประตูห้องน้ำไม่ให้โจทก์และเจ้าของห้องชุดคนอื่นซึ่งเป็นเจ้าของร่วมใช้ประโยชน์ หากเป็นการจัดการทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วย พรบงอาคารชุดฯ หรือข้อบังคับ โจทก์และเจ้าของอาคารชุดต้องดำเนินการแก่จำเลยทางมติที่ประชุมของเจ้าของห้องชุดหรือทางคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๑๒๑๔/๒๕๔๙
๒๐.โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่พิพาทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙/๒๕๔๒ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวมีประเด็นเพียงว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบอันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพพ มาตรา ๑๓๗๕ ไม่ได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฏีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่ดินพิพาท ดังนั้นในขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่พิพาทจะเป็นของผู๔ใดหรือผู้ใดมีสิทธิ์ครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยไม่มีผิดตามฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๓๘๗๗/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ต่อจากข้อสังเกต บุกรุกตอนที่ ๑
๑๕.กรณีที่มีการโต้แย้งในกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อ้างว่ามีการบุกรุก โดยฝ่ายต่างต่างฟ้องเป็นคดีแพ่งกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทอีกฝ่ายรุกล้ำขอให้ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย ในระหว่างที่ยังโต้แย้งสิทธิ์ในที่พิพาทอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตัดสินว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใด แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นของตน เป็นเรื่องการกระทำการที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกคือไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่ตนเข้าไปอยู่นั้นเป็นของบุคคลอื่น แต่เข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินของตน จึงถือไม่ได้ว่าการเข้าไปในที่พิพาทนั้นเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถือได้ว่า ไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใดๆในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ,๕๙วรรคสาม
๑๖. การถอนฟ้องความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๕๙ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๓๖๑ สามารถขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดได้ เมื่อมีการถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา เมื่อจำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ศาลฏีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตาม ปวอ มาตรา ๓๕วรรคสอง,๓๙(๒) ,
๑๗.แต่ข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๓๕,๓๖๕ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแต่เป็นคดีอาญาแผ่นดิน การถอนฟ้องต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ปวอ มาตรา ๓๕ วรรคแรก คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วจึงถอนฟ้องไม่ได้
๑๘.เมื่อโจทก์จำเลยที่ต่างนำสืบโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทเป็นของใคร จึงไม่อาจชี้ชัดว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องแพ่งไม่ใช่เรื่องอาญา การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามที่โจทก์นำสืบหาว่าร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตัดเอาดินและต้นไม้ไป จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์เพราะไม้ยืนต้นว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์ที่เป็นที่ดินนั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้บุปสลายหรือทำให้เปลี่ยนแปลงรูปทรง ไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๔,๑๔๕ เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์สินนั้นตาม ปพพ มาตรา ๑๔๔วรรคท้าย ดังนั้น เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในไม้ยืนต้นนั้น เมื่อฟังไม่ได้แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงไม่อาจทราบได้ว่าไม้ยืนต้นเป็นของใครเช่นกัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าไม้ยืนต้นเป็นของโจทก์หรือจำเลย การที่จำเลยตัดฟันและเอาไม้นั้นไปเสียจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
๑๙.ที่ดินที่ไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยโต้เถียงตลอดมาว่า ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย ขณะที่จำเลยเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั่ว และก่อสร้างรั่วคอนกรีตในที่ดิน จำเลยจึงไม่รู้ว่าที่ดินอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ จึงจะถือว่าจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานบุกรุกคือรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์แล้วยังเข้าไปในที่ดินดังกล่าวอีกหาได้ไม่ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการเข้าไปในที่ดินดังกล่าวว่าเป็นการบุกรุกเข้าไปในที่ดินคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ซึ่งตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสาม จะถือว่าจำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลไม่ได้ จึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนา ไม่มีความผิด
๒๐. โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวมีประเด็นว่า “จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบ” อันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๕ คือ เป็นการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองโดยผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของได้แย่งการครอบครองในที่ดินมือเปล่า(ที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์มีแต่สิทธิ์ครอบครอง)โดยเจ้าของต้องฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง แม้คดีดังกล่าวมีเพียงประเด็นว่า “จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบ” ไม่ได้มีประเด็นว่า “โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครอง” ดังที่โจทก์ร่วมฏีกาก็ตามแต่คดีมีประเด็นฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองอันถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่พิพาท ดังนั้นในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การที่จำเลยเข้าไปในที่พิพาทจะถือว่ารู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกคือทราบข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่ตนเข้าไปอยู่นั้นเป็นของบุคคลอื่นหาได้ไม่ แต่เป็นเรื่องจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินของตน จึงถือไม่ได้ว่าการเข้าไปในที่พิพาทนั้นเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหาได้ไม่ ถือได้ว่า ไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใดๆในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
๒๑.. การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุก จะต้องกระทำโดยมีเจตนาบุกรุกด้วย คือ จำเลยต้องรู้ว่าที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุกนั้นเป็นของผู้เสียหาย คือต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่ของจำเลย เมื่อคู่กรณียังนำสืบโต้แย้งกันอยู่เกี่ยวกับการครอบครองที่ดินหรือความเป็นเจ้าของที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุก โดยโจทก์จำเลยยังนำสืบโต้แย้งกันอยู่ โดยโจทก์นำสืบว่า “ที่ดินเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายครอบครองที่ดินตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕” จำเลยนำสืบว่า “ที่ดินเป็นของจำเลย จำเลยซื้อจาก ช. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยครอบครองตลอดมา ผู้เสียหายไม่ได้ครอบครอง ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย” แม้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ผู้เสียหาย ซึ่งตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๓ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า โฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องปรากฏชื่อทางทะเบียนนั้น “ ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง” ก็ตาม แต่จำเลยก็นำสืบว่า โฉนดที่ดินออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยไม่รู้มาก่อนและไม่ยอมรับว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายและจำเลยยังคงโต้เถียงความเป็นเจ้าของกันเช่นนี้ จึงไม่อาจทราบได้ว่าการออกโฉนดถูกต้องแท้จริงหรือไม่อย่างไร ใครเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แม้กฎหมายสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในทะเบียนมีสิทธิ์ครอบครอง แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทางกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้มีชื่อในทะเบียนเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของ เมื่อจำเลยยังโต้แย้งอยู่และยังไม่มีคำพิพากษาออกมาว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงเป็นเรื่องทางแพ่งฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาบุกรุก ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
๒๒.นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส๓ ก สำหรับที่พิพาทให้ ม และ ย ในปี ๒๕๒๐ ที่ดินพิพาทมีโรงสีและบ้านของ ม. ปลูกอยู่ โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆในที่พิพาทในลักษณะที่เป็นสาธารณะมานานแล้วย่อมเป็นเหตุให้จำเลย “เชื่อโดยสุจริต” ว่า ม และ ย มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียเงินค่าตอบแทนเป็นเงินสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ในการซื้อที่ดินมาจาก ม และ ย ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด แม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบหนังสือจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองซานางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส๓ ก ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของที่ดินพิพาท ซึ่งใน ปพพ มาตรา ๑๓๗๓ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนมีสิทธิ์ครอบครอง จึงเป็นข้อโต้เถียงกันว่าใครมีสิทธิ์ดีกว่ากัน ใครเป็นเจ้าของ
๒๓.การที่จำเลยก็ไม่ได้ออกไปจากที่ดินพิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกัน “ตลอดมา” โดยจำเลยเข้าใจแต่ต้นว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยการกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาแต่แรก ไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเพราะกรณียังไม่ได้เป็นที่ยุติว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิ์ตาม นส๓ก อีกทั้งจำเลยได้ครอบครองตลอดมาก่อนได้รับแจ้งว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เมื่อได้รับแจ้งแล้วจำเลยก็หาได้ออกไปจากที่พิพาทแล้วกลับเข้ามาอยู่ใหม่อีกแต่อย่างใดไม่ แต่จำเลยครอบครอง “ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด” ก่อนที่จะได้รับแจ้งว่าที่พิพาทเป็น สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่มีการ “ เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๖๒หรือ๓๖๔ ซึ่งใช้คำว่า “ เข้าไป “
๒๔.ระหว่างจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุก จำเลยทั้งสองไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกลับเข้ามาในที่ดินพิพาทใหม่ จึงเป็นการกระทำที่ “เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง” หาใช่การบุกรุกในครั้งก่อนยังคงอยู่ตลอดมาไม่ เพราะเมื่อมีการดำเนินคดีครั้งแรกจำเลยจำเลยไม่ได้อยู่ในที่พิพาทมาแต่แรกแล้ว จำเลยเพิ่ง “ เข้ามา” ในที่พิพาทเมื่อศาลฏีกายกฟ้อง เมื่อโจทก์มาฟ้องว่าจำเลยบุกรุก ฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีนี้ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกอีกจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
๒๕.โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ตลอดมา ต่างกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุก ส่วนจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมทำให้เสียทรัพย์ของจำเลยที่อยู่ในที่ดินพิพาทเสียหาย และจำเลยทั้งสองยังฟ้องโจทก์ร่วมกับพวกเป็นคดีแพ่งขอให้พิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ ขณะที่จำเลยกลับเข้ามาในที่พิพาทใหม่นั้น “คดีแพ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา” ประกอบกับการเข้าไปในที่ดินพิพาทหลังจากศาลฏีกายกฟ้องในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินพิพาทในคดีอาญาก่อน แม้ที่พิพาทในคดีนี้มีเนื้อที่มากกว่าที่ดินในคดีเดิมที่ศาลฏีกายกฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่ที่ดินในบริเวณนี้ยังไม่มีแนวเขตที่แน่ชัดแจ้งและเนื้อที่ดินที่จำเลยถูกฟ้องว่าบุกรุกในแต่ละครั้งก็มีเนื้อที่แตกต่างกันไม่มาก แสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความเชื่อมั่นอย่างสุจริตใจว่าจำเลยมีสิทธิ์เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทได้ อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสองขาดเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท ไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๒๖.แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ให้ ว. นำป้ายที่มีข้อความว่า “ สถานที่ราชการห้ามบุกรุกโดยเด็ดขาด” เข้าไปติดในศาลาร้างซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามที่รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการหลง “เข้าใจโดยสุจริต” คิดว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นของโรงเรียนบ้านเกาะปูโหลน ในสังกัดการประถมศึกษาจังหวัดสตูล โดยจำเลยทั้งสามเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่ปักแนวรั่วบุกรุกที่ดินของโรงเรียน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางราชการ ขาดเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่จะถือการครอบครองหรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕(๒),๘๓
๒๗.ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเป็นทรัพย์สินของเจ้าของอาคารชุด แต่ละห้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การจัดการทรัพย์สินต้องเป็นไปตาม พรบ. อาคารชุดฯ มาตรา ๑๗,๓๓,๓๕,๓๖,๓๗ คือทรัพย์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะถูกฟ้องให้แบ่งแยก บังคับจำนองหรือขายทอดตลาดแยกจากทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ได้ โดยนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง โดยมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้มีอำนาจจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุด ตามข้อบังคับหรือมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจจัดการและดูแลรักษาห้องน้ำชายหญิงซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางได้ปิดกั้นประตูห้องน้ำไม่ให้โจทก์และเจ้าของห้องชุดคนอื่นซึ่งเป็นเจ้าของร่วมใช้ประโยชน์ หากเป็นการจัดการทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วย พรบ.อาคารชุดฯ หรือข้อบังคับ โจทก์และเจ้าของอาคารชุดต้องดำเนินการแก่จำเลยทางมติที่ประชุมของเจ้าของห้องชุดหรือทางคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งที่ประชุมใหญ่อาจลงมติถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ตามพรบอาคารชุด มาตรา๓๕/๓(๖) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกคือจะถือว่าการปิดกั้นไม่ให้ใช้ห้องน้ำเป็นการรบกวนการครอบครองหาได้ไม่
๒๘. .เมื่อฟังเป็นทางแพ่งไม่มีเจตนาบุกรุกไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก หากต่อมาคดีแพ่งฟังเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ น่าคิดว่าผลจะเป็นอย่างไร ในเมื่อคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว จะรื้อร้องให้ยกคดีขึ้นดำเนินการใหม่ได้ไหม จะถือมีคำพิพากษาเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องไปแล้วหรือไม่อย่างไร หรือสามารถมาแจ้งความฟ้องร้องกันใหม่ได้อีก จะเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่อย่างไร หากฟังเป็นทางแพ่งไม่มีเจตนาบุกรุกไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกแล้ว ทุกคดีจำเลยก็ต่อสู้ว่าเป็นที่ของผมผมไม่ได้บุกรุกที่ผู้เสียหายอย่างใด อย่างนั้นหรือ? ฝากเป็นข้อคิดครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น