ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2561

"บุกรุก - 1"

๑. ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่นำไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยไม่มีอำนาจ มีความผิดฐานบุกรุก ปอ มาตรา ๓๖๒ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๖๘/๒๕๕๑
๒. จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของบุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่การเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งไม่ใช่การเข้าไปเพื่อกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๔ คำพิพากษาฏีกา ๕๑๗๗/๒๕๔๙
๓. กรณีที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ต้องได้ความว่า โจทก์ร่วมเป็น “ เจ้าของ” หรือ “ ผู้ครอบครอง”ที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่กล่าวหาจำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข คดีนี้ได้ความว่า จำเลยเข้าไปครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ร่วมเพิ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการซื้อขายในภายหลัง แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ร่วมอ้าง การรกระทำของจำเลยที่เข้าไปครอบครองที่ดินยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วและคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมไม่เป็นความผิอดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทโจทก์ร่วม คำพิพากษาฏีกา ๑๕๕๒/๒๕๓๕
๔. ที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจำเลยเพื่อใช้เป็นทางเดิน ให้รถยนต์เข้าออก ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่นๆผ่านโดยตลอดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม การที่จำเลยว่าจ้างให้ทำโครงการเหล็กวางพาดสายไฟ ติดหลอดไฟเพื่อให้มีแสงสว่างแบบถาวร แม้เกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ก็เป็นการใช้สิทธิ์แห่งเจ้าของสามทรัพย์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗ ส่วนการที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารทรัพย์หรือไม่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปเพื่อครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำดังกล่าวไม่มีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๓๙๒๖/๒๕๔๑
๕. การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ผู้กระทำต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ การที่ใช้ขวดขว้างและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหาย และเรียกผู้เสียหายออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้เข้าไปในห้องพักผู้เสียหาย ขาดองค์ประกอบคงวามผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘ ต้องกระทำต่อทรัพย์ผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “ ทรัพย์ของผู้อื่น” หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น พ กับ ธ เป็นลูกจ้างบริษัท บ โดยบริษัทดังกล่าวจัดให้บุคคลดังกล่าวอยู่ที่หอพักคนงาน ทำให้ พ และ ธ มีเพียงได้ใช้สิทธิ์อาศัยอยู่ในห้องพักเท่านั้น ไม่ปรากฏบริษัท บ ที่เป็นเจ้าของห้องพักได้มอบหมายโดยตรงให้ พ และ ธ เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้น พ และ ธ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อบริษัท บ ที่ เป็นผู้เสียหายอย่างแท้จริง ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสานในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ พนักงานอัยการไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ คำพิพากษาฏีกา๓๕๒๓/๒๕๔๑
๖. จำเลยให้คนงานเข้าพักอาศัยในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมโดยทำการรื้อฝาผนังห้องออกแล้วก่ออิฐบล็อดแทนทำพื้นห้องพิพาทใหม่เป็นการเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม ฟ้องระบุบุกรุกเข้าไประหว่างวันที่ ๑ พย. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๐ กพ ๒๕๓๕เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ทางพิจารณาโจทก์ โจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาเป็นผลของการบุกรุกไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ หาใช่ตามมาตรา ๓๖๕(๓) คำพิพากษาฏีกา๑๖๖๑/๒๕๔๒
๗. ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเพียงผลการบุกรุกเท่านั้นหาใช่ความผิดต่อเนื่องการกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา๓๖๒ บทเดียว หาใช่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)อีกบทไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้แม้จำเลยไม่ฏีกา คำพิพากษาฏีกา ๑๘๓/๒๕๓๗
๘. จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่พิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่พิพาททั้งกลางวันกลางคืนตลอดมาก็เป็นผลของการกระทำคือเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา๑๗๖๘/๒๕๔๖
๙. แม้ที่ดินเกิดเหตุเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้น่วมกันตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๔(๑)(๒) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ความผิดตามมาตรา ๓๖๕มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี และตามมาตรา ๓๖๒ มีอายุความ ๕ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓)(๔) จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ ๖ ตค ๒๕๔๖เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันกระทำผิดจึงเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้อง สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖)คำพิพากษาฏีกา ๓๐๐๒/๒๕๕๒
๑๐. บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง ผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็กๆของผู้เสียหายอีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกเข้าไปบริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ ใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างประตู หน้าต่าง หลังคา รวมทั้งสิ่งของต่างๆเสียหาย เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขเป็นความผิดบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๖๕(๑)(๒)(๓),๓๖๒ การบุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านผู้เสียหายจนได้รับความเสียหายเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทหนักตาม ปอ มาตรา ๙๐คำพิพากษาฏีกา๗๙๖๑/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑.เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒
หากร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป หรือกระทำความผิดในเวลากลางคืน เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๒)(๓)
๒..จำเลยนำสินค้ามาวางขายเป็นของผู้เสียหายโดยไม่อนุญาตผู้เสียหาย เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ จำเลยเข้าไปในที่ดินผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ์ย่อมไม่มีสิทธิ์นำที่ดินดังกล่าวไปให้บุคคลดังกล่าวเช่าได้เพราะไม่ใช่เจ้าของหรือผู้เช่าที่มีสิทธิ์ให้เช่าช่วงได้ตามสัญญาตาม ปพพ มาตรา ๕๔๔ การที่จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่าย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒
๓.จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของบุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่การเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งไม่ใช่การเข้าไปเพื่อกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข................มีข้อพึงสังเกตว่าแม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านไม่อนุญาตให้เข้าไปในบ้าน แต่บุตรสาวเจ้าของบ้านอนุญาตให้เข้าไปได้ โดยบุตรสาวผู้เสียหายมีอำนาจที่จะอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปในบ้านดังกล่าวได้ หากเป็นบุคคลอื่นที่ไม่มีอำนาจอนุญาตให้เข้าไปในบ้านผู้เสียหายได้โดยบุคคลนั้นไม่ใช่ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านผู้เสียหาย ไม่ใช่บุตรหลานหรือภรรยาผู้เสียหายแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม หากเข้าไปจะอ้างว่าได้รับความยินยอมจากบุคคลภายนอกให้เข้าไปและไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกหาอาจอ้างได้ไม่
๔.กรณีที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ต้องได้ความว่า โจทก์ร่วมเป็น “ เจ้าของ” หรือ “ ผู้ครอบครอง”ที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่กล่าวหาจำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข
๕.การที่ จำเลยเข้าไปครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ร่วมเพิ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการซื้อขายในภายหลัง แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ร่วมอ้าง การรกระทำของจำเลยที่เข้าไปครอบครองที่ดินยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วและคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทโจทก์ร่วม
๖. ที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจำเลยเพื่อใช้เป็นทางเดิน ให้รถยนต์เข้าออก ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่นๆผ่านโดยตลอดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม เป็นกรณีอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่างอันกระทบถึงทรัพย์สินของตนและต้องยอมงดเว้นใช้สิทธิ์บางอย่างในอสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗
๗.การที่จำเลยว่าจ้างให้ทำโครงการเหล็กวางพาดสายไฟ ติดหลอดไฟเพื่อให้มีแสงสว่างแบบถาวร แม้เกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ก็เป็นการใช้สิทธิ์แห่งเจ้าของสามทรัพย์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗ ส่วนการที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารทรัพย์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๘ หรือไม่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปเพื่อครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมต้องยอมรับกรรมบางอย่างที่กระทบถึงทรัพย์สินตนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗ หรือแม้แต่ใน ปพพ มาตรา ๑๓๕๒ ยังบัญญัติให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นใดอันคล้ายกันผ่านที่ดินของตน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินตืดต่อ เมื่อได้รับค่าทดแทนแล้ว โดยหากไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือวางได้ก็ต้องใช้เงินมากเกินควร จึงแสดงให้เห็นว่าแม้กระทำการบางอย่างเกินความจำเป็นแต่เพื่อประโยชน์ของจำเลยในฐานะเจ้าของสามทรัพย์แล้วย่อมทำได้ ส่วนที่เกิดภาระเพิ่มขึ้นหรือเกินสมควรอย่างไรต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำดังกล่าวไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๘.การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ผู้กระทำต้อง “เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ การที่ใช้ขวดขว้างและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหาย และเรียกผู้เสียหายออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้ “เข้าไป” ในห้องพักผู้เสียหาย ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก เพราะใน ปอ มาตรา ๓๖๒, ใช้คำว่า “ เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใน ปอ มาตรา ๓๖๔ ใช้คำว่า “ เข้าไป” ในเคหสถาน อาคาร หรือสำนักงาน
๙.องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘ ต้องกระทำต่อทรัพย์ผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “ ทรัพย์ของผู้อื่น” หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น พ กับ ธ เป็นลูกจ้างบริษัท บ โดยบริษัทดังกล่าวจัดให้บุคคลดังกล่าวอยู่ที่หอพักคนงาน ทำให้ พ และ ธ มีเพียงได้ใช้สิทธิ์อาศัยอยู่ในห้องพักเท่านั้น ไม่ปรากฏบริษัท บ ที่เป็นเจ้าของห้องพักได้มอบหมายโดยตรงให้ พ และ ธ เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้น พ และ ธ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อบริษัท บ ที่ เป็นผู้เสียหายอย่างแท้จริง ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสานในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑,๑๒๓ พนักงานอัยการไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ เพราะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ปอ มาตรา ๙๖ เมื่อผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน หากสอบสวนไป การสอบสวนไม่ชอบ เสมือนหนึ่งว่าไม่มีการสอบสวนพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐
๑๐.จำเลยให้คนงานเข้าพักอาศัยในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมโดยทำการรื้อฝาผนังห้องออกแล้วก่ออิฐบล็อกแทนทำพื้นห้องพิพาทใหม่เป็นการเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม ฟ้องระบุบุกรุกเข้าไประหว่างวันที่ ๑ พย. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๐ กพ ๒๕๓๕เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ทางพิจารณาโจทก์ โจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทเวลากลางวัน โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยว่าจำเลยบุกรุกในเวลากลางคืนหรือไม่ ตาม ปวอ มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาเป็นผลของการบุกรุกไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ หาใช่ตามมาตรา ๓๖๕(๓)
๑๑. ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเพียงผลการบุกรุกเท่านั้นหาใช่ความผิดต่อเนื่อง การกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา๓๖๒ บทเดียว หาใช่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)อีกบทไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้แม้จำเลยไม่ฏีกา ตามปวอ มาตรา ๑๙๕,๒๒๕
๑๒.จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่พิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่พิพาททั้งกลางวันกลางคืนตลอดมาก็เป็นผลของการกระทำคือเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)ไม่ได้
๑๓.แม้ที่ดินเกิดเหตุเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๔(๑)(๒) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา ๓๖๕ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓) และความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา ๓๖๒ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี มีอายุความ ๕ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๔) จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ ๖ ตค ๒๕๔๖เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันกระทำผิดจึงเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้อง สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖)
๑๔. บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง ผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็กๆของผู้เสียหายอีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกเข้าไปบริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ ใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างประตู หน้าต่าง หลังคา รวมทั้งสิ่งของต่างๆเสียหาย เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าซึ่งทรัพย์ของผุ้เสียหายเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขเป็นความผิดบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๖๕(๑)(๒)(๓),๓๖๒ การบุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านผู้เสียหายจนได้รับความเสียหายเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทหนักตาม ปอ มาตรา ๙๐(ความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๕ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี )

ไม่มีความคิดเห็น: