ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บัตรเครดิตถูกลักไปหรือสูญหายแล้วมีคนนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้า

ประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับบัตรเครดิตคือ การที่บัตรถูกลักไปหรือบัตรสูญหายแล้วปรากฎว่ามีคนนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้า กรณีนี้ เจ้าของบัตรยังต้องรับผิดชำระเงิน ให้กับทางธนาคารเจ้าของบัตรหรือไม่

กรณีดังกล่าว มีคำพิพากษาในปี 2550 และ 2552 ออกมาตรงกัน นั่นคือ เจ้าของบัตรไม่ต้องรับผิด โดยให้เหตุผลไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550

“ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตร ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาต หรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้น กรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและค่าบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและ/หรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้

การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้ยินยอมอนุญาต
หรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตแต่อย่างใดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้”

ต่อมา ทางสถาบันการเงินต่างๆ จึงเพิ่มข้อสัญญาในการเปิดใช้บัตรเครดิต ว่าเจ้าของบัตร จะต้องรับผิดชดใช้ แม้ว่าบัตรนั้นจะสูญหาย หรือถูกลักไปใช้ก็ตาม

ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552 ออกมาว่า ข้อสัญญานั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เจ้าของบัตรไม่ต้องรับผิดอยู่ดี โดยเหตุผลว่า

“.....เป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควร และเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม...”

สรุปก็คือกรณีที่บัตรถูกลักไปใช้ เจ้าของบัตรไม่ต้องรับผิดชอบชำระเงินให้แก่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ทำบัตรหายหรือบัตรถูกลัก เพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้คดี นั่นคือ ต้องรีบแจ้งอายัดบัตรไปยังธนาคารเจ้าของบัตร(ข้อนี้สำคัญมาก) รวมทั้งแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นการแสดงความกระตือรือร้นและความบริสุทธิ์ใจในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิ์

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รถเสริมแหนบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2556
พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลำปางโจทก์
นายมาชิตะ โยชิมาสึ อินทร์เขียวจำเลย

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ม.14 หนึ่ง, 60
จำเลยดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนักด้านหน้า (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ ให้ต่ำลงและถอดนอตที่บริเวณโช้กอัพออกข้างละ 1 ตัว ทำให้ระบบรองรับน้ำหนักที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือนและรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ เมื่อไม่นำไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อนและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 60
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 7, 14, 60
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 60 ปรับ 800 บาท จำเลยให้การรับข้อเท็จจริงบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนักด้านหน้า (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขพพ ลำปาง 382 ให้ต่ำลงประมาณ 1 นิ้วถึง 1 นิ้วครึ่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้รายการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขพพ ลำปาง 382 ไม่ปรากฏว่าได้มีการระบุระบบรองรับน้ำหนัก (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ไว้ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 7 (1) บัญญัติว่า "รถที่จะขอจดทะเบียนได้ต้องเป็นรถที่มีส่วนควบและมีเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (2) และ (18 ) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 และมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ข้อ 5 กำหนดว่า รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีและใช้ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ตามข้อ 3 (7) คือ ระบบรองรับน้ำหนัก ที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือน และรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เช่นนี้ รถจักรยานยนต์ที่จะจดทะเบียนได้จึงต้องเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีระบบรองรับน้ำหนัก ที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือน และรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติและกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย ดังนี้ รายการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 จึงมิได้หมายความเฉพาะรายการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในรายการจดทะเบียนเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงส่วนควบและอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ตามกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 (1) ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจะตีความรายการที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 14 หมายความรวมถึงส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถตามกฎกระทรวง ซึ่งมีระบบรองรับน้ำหนักรวมอยู่ด้วยไม่อาจทำได้นั้น เห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนก็คงมีรายการจดทะเบียนเฉพาะประเภทรถ ลักษณะรถ ยี่ห้อรถ แบบ รุ่น สีรถ เลขตัวรถ ยี่ห้อเครื่องยนต์ เลขเครื่องยนต์ เชื้อเพลิง จำนวนสูบ แรงม้า/กิโลวัตต์ น้ำหนักรถ น้ำหนักบรรทุก/น้ำหนักลงเพลา น้ำหนักรวม ที่นั่งตามรายการจดทะเบียนเท่านั้น ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ต้องการคุ้มครองผู้ใช้รถให้ได้รับความปลอดภัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนักด้านหน้า (โช้กอัพ) ของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขพพ ลำปาง 382 ให้ต่ำลงประมาณ 1 นิ้วถึง 1 นิ้วครึ่ง และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการตรวจรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าทุกรุ่นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขโช้กอัพหน้าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้เนื่องจากระยะการยุบตัวของโช้กอัพเหลือน้อยลง ทำให้การซัพแรงกระแทกระหว่างล้อกับแกนโช้กอัพลดน้อยลง หากตกหลุมอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขับได้ และพยานโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง เบิกความและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของกลางพบว่ามีการโหลดโช้กอัพให้ต่ำลงจากเดิมประมาณ 1 นิ้ว และมีการถอดนอตที่บริเวณโช้กอัพออกข้างละ 1 ตัว ซึ่งอาจเกิดการเลื่อนขึ้นเลื่อนลงไม่ปลอดภัยเช่นเดียวกับกรณีมีนอต 2 ตัว ยึดไว้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทำให้ระบบรองรับน้ำหนัก ที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือน และรองรับน้ำหนักขณะที่มีน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อนและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนโดยแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถ จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 60 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
-----------
ตำรวจจราจร พบรถเสริมแหนบ เป็นความผิดซึ่งหน้าหรือไม่ จับตาม ป วิ อาญา ได้หรือไม่
ถ้าจับไม่ได้ ทำยังไง

เห็นว่า ตร จร พบรถเสริมแหนบ เอามาวิ่งในทางโดยไม่ขออนุญาตก่อน
เจ้าของรถจะมีความผิดตามกฎหมาย หากเป็นรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มีความผิดตามมาตรา 14 โดยเอาผิดกับ ผู้ใด( ผู้ขับขี่ที่ดัดแปลง หรือ เจ้าของรถ) ฐานแก้ไขดัดแปลงสภาพรถ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
หากเป็นรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มีความผิดตามมาตรา 78 ฐานแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ขณะตำรวจจราจรพบความผิด การแก้ไขได้ผ่านไปแล้ว จึงไม่ใช่กระทำผิดซึ่งหน้า แต่เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว
ผู้ขับขี่ที่นำรถเสริมแหนบผิดกฎหมายมาใช้ในทางอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ผู้ใช้หรือผู้ขับขี่ที่มิใข่เจ้าของรถจึงฝ่าฝืน มาตรา 6 พรบ จร ที่ห้ามทุกคนนํารถที่มีสภาพอาจเกิดอันตราย หรือ
มาใช้ในทางเดินรถ ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 148 ปรับ ไม่เกิน 500 บาท ซึ่งเป็นการเอาผิดกับผู้ใช้หรือผู้ขับขี่อีกด้วย
จึงเป็นการพบความผิดซึ่งหน้าขณะนำรถเสริมแหนบมาใช้ในทาง. ออกใบสั่งหรือว่ากล่าว ผู้ขับขี่ ตามมาตรา 140 ได้

รถที่เสริมแหนบ เป็นสิ่งของหรือวัตถุพยานที่ใช้พิสูจน์ความผิดของเจ้าของรถที่มิใช่ผู้ขับขี่ จึงยึดส่ง พงส
ตาม ปวิอ 85 เพื่อให้ พงส ใช้เป็นพยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับเจ้าของรถที่แก้ไขเสริมแหนบโดยฝ่าฝืนกฎหมายอีกต่อไปได้ด้วย
เป็นความผิด ตาม พรบ รถยนต์ ม 14 ประกอบ 60 ปรับไม่เกิน 2000 บาท
ในทางปกครอง นายทะเบียน มีอำนาจสั่งให้แก้ไข ตรวจสภาพได้อีกด้วย ในทางปฎิบัติ เจ้าของรถไปขออนุญาตเสริมแหนบ
นายทะเบียนจะไม่อนุญาต