คำถาม = ก. เป็นบิดา ข. ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ก.มีจักรยานยนต์คันหนึ่ง ข. ชอบขโมยรถบิดาไปขี่เที่ยวซิ่งเป็นประจำ วันหนึ่งตำรวจตั้งด่านสกัดจับรถซิ่งโดยมี ร.ต.อ. ว.เป็นหัวหน้า ร่วมกับนาย z ราษฎรธรรมดาแต่งกายคล้ายตำรวจ ร.ต.อ. ว. นั่งอยู่ที่ด่าน นาย z รออยู่หน้าด่าน นาย a ขับรถวิ่งผ่านมา นาย z บอกว่า "เงินตามระเบียบ" ข้อเท็จจริงปรากฏว่านาย a ไม่ได้กระทำความผิดฐานใด แต่ยอมมอบเงินให้นาย z ๑,๐๐๐ บาท ต่อมานาย ข. ขับรถซิ่งวิ่งผ่านมาและถูกจับกุม นายย z บอกนาย ข. ว่าเอาเงินมา ๕,๐๐๐ บาท นาย ข. มอบเงินให้แล้วแต่นาย z กลับคุมตัวนาย ข. ส่งให้พนักงานสอบสวนฟ้องคดีต่อศาลและขอให้ศาลริบของกลาง ขณะเดียวกันนาย b ขับรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนวิ่งผ่านมา นาย z เรียกเอาเงิน นาย b บอกว่าเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. นาย z จึงปล่อยไป กรณีเช่นนี้ ร.ต.อ. ว. นาย z นาย b มีความผิดทางอาญาหรือไม่ อย่างไร ศาลจะริบจักรยานยนต์นาย ข. และเงินจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ที่นาย a มอบให้นาย z ได้หรือไม่ อย่างไร
๑. ประเด็นนาย z กับ ร.ต.อ. ว. มีความรับผิดต่อนาย a อย่างไร
คำตอบคือ ในคดีที่ตำรวจตั้งด่านตรวจแล้วเรียกเงินจากผู้ขับรถผ่านไปมาโดยไม่เลือกว่าผู้ขับรถจะทำผิดกฎหมายหมายหรือไม่ กรณีเช่นนี้ตำรวจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๔๙ โดยให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ เนื่องจากทั้งสองมาตราเป็นเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ มาตรา ๑๔๘ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบตั้งแต่ต้น ส่วนมาตรา ๑๔๙ แรกใช้อำนาจโดยชอบ แต่มีการเรียก รับหรือยอมจะรับภายหลัง ดังนั้นพฤติการณ์ตามมาตรา ๑๔๙ เป็นภัยร้ายแรงมากกว่าจึงต้องอ้างให้ศาลลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ (โทษทั้งสองมาตราเท่ากัน อ้างบทหนักไม่ได้) ดังนั้น ถ้าไถเงินจากบุคคลที่กระทำความผิดจะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๔๙ ไถเงินจากคนที่ไม่ได้กระทำความผิดจะเป็นกรณีตามมาตรา ๑๔๘ อย่างไรก็ตามไม่ต้องปรับบทตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไปอีก (ฎ.ที่ ๓๓๐๑/๒๕๔๑) ตามปัญหา แม้ว่า ร.ต.อ.ว. จะไม่ได้เรียกเงินด้วยตนเองก็ตาม แต่เมื่อ ร.ต.อ.ว.นั่งอยู่ในด่านแล้วให้นาย z เป็นคนเรียกเงิน ก็ต้องถือว่า ร.ต.อ.ว. เป็นคนไถเงินเอง จึงมีความผิดทั้งมาตรา ๑๔๘, ๑๔๙
๒. ประเด็นนาย z มีความผิดอย่างไร คำตอบคือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๔๗ - ๑๖๖ เป็นความผิดโดยเฉพาะตัวของเจ้าพนักงานโดยแท้จริง เพราะฉนั้นบุคคลที่จะทำผิดได้จะต้องเป็นเจ้าพนักงาน และจะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นด้วย ดังนั้นบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าพนักงาน หรือเป็นเจ้าพนักงานแต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น ได้ร่วมมือกับเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ บุคคลประเภทนี้ก็เป็นได้เพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น ไม่อาจเป็นตัวการหรือผู้ใช้ได้ (ฎ.๗๗๖๘/๒๕๔๘) เพราะฉนั้นคดีนี้ แม้นาย z จะได้สมรู้ร่วมคิดกับ ร.ต.อ.ว. แต่เมื่อปรากฏว่านาย z ไม่ใช่เจ้าพนักงาน จึงเป็นตัวการร่วมไม่ได้ คงเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๔๘, ๘๖ สำหรับการเรียกรับเงินจากบุคคลที่กระทำผิดอาญา นอกจากนี้การการกระทำของ ร.ต.อ.ว. และนาย z ยังเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๗ และความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา ๓๐๙ อีกด้วย
๓. ประเด็นนาย z แต่งกายคล้ายเจ้าพนักงาน มีความผิดอย่างไร คำตอบคือตามมาตรา ๑๔๕ การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานจะต้องมีการกระทำเป็นเจ้าพนักงานด้วย มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสองมีความแตกต่างกันคือ วรรคหนึ่งบุคคลที่จะมีความผิดต้องไม่ใช่เจ้าพนักงาน แต่แสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ส่วนวรรคสองบุคคลที่กระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานแต่ได้รับคำสั่งไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๔๕ ไม่จำเป็นต้องแต่งชุดเจ้าพนักงานก็มีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ ได้ หากมีการแต่งกายเป็นเจ้าพนักงานด้วยจะมีความผิดตามมาตรา ๑๔๖ อีกบทหนึ่ง ตามคำถามนาย z จึงไม่ผิดมาตรา ๑๔๖
๔. ประเด็นนาย z ผิดตามมาตรา ๑๔๕ หรือไม่ คำตอบคือ การที่จะผิดตามมาตรา ๑๔๕ ได้นั้น นอกจากจะแสดงตนแล้วยังจะต้องกระทำการเป็นเจ้าพนักงานด้วย นาย z จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ ไม่ผิดมาตรา ๑๔๖
ข้อสังเกต * การที่มีผู้แนะนำว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แล้วจำเลยไม่ตอบรับ ไม่ปฏิเสธ (นิ่ง) ถือว่าแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานแล้ว หากมีการกระทำเป็นเจ้าพนักงานด้วยย่อมผิดตามมาตร ๑๔๕ (ฎ.๕๐๙๖/๒๕๔๐) * หากแสดงตนว่าเคยเป็นเจ้าพนักงานไม่ผิดตามมาตรา ๑๔๕ (ฏ.๓๔๓๑ - ๓๔๓๓/๒๕๒๖) * บุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วจะผิดตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่งได้หรือไม่ ฎ.๒๓๓๖/๒๕๔๑ บุคคลที่จะมีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็บุคคลภายนอกเสมอไป กล่าวคือบุคคลใดก็ตามที่เป็นเจ้าพนักงานอาจมีความผิดตามมาตรานี้ได้ถ้าแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งตนไม่มีอำนาจหน้าที่ ( แสดงตนนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ) มาตรา ๑๔๕ นี้หากได้มีการแสดงตนและกระทำการแล้วย่อมผิดสำเร็จทันที หากขาดข้อใดข้อหนึ่งย่อมไม่มีความผิด
๕. ประเด็น ร.ต.อ.ว. เห็นนาย z กระทำผิดอาญาแล้วไม่จับกุม ร.ต.อ.ว. มีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ หรือไม่ คำตอบคือ ความผิดตามมาตรา ๑๕๗, ๒๐๐ เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดต้องไม่ใช่ตัวการร่วมกับจำเลย (ฎ.๗๘๓๖ - ๗๘๓๗/๒๕๔๔)
๖. ประเด็นนาย ร.ต.อ.ว. และนาย z มีความรับผิดต่อนาย b หรือไม่ คำตอบ ร.ต.อ.ว. ผิดตามมาตรา ๑๔๙ นาย z ผิดตามมาตรา ๑๔๙, ๘๖
๗. ประเด็นนาย b มีความผิดอาญาหรือไม่ คำตอบคือ นาย b ไม่ผิดตามมาตรา ๑๔๕ แม้จะได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน แต่ไม่ได้กระทำการ (ฎ.๔๐๒/๒๕๒๐) แต่ผิดตามมาตรา ๑๔๖ แม้จะไม่ได้แต่งกายเป็นตำรวจ แต่ได้อวดอ้างกับบุคคลอื่นว่ามียศ พ.ต.ท. ( ฏ.๒๗๕๒/๒๕๑๙)
๘. ประเด็นนาย b มีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ หรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีความผิดเนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน (ฎ.๑๐๐๕/๒๕๔๙)
๙. ประเด็น ร.ต.อ.ว กับนาย z ต้องรับผิดต่อนาย ข. หรือไม่ อย่างไร คำตอบคือ เมื่อเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๑๔๙, ๒๐๑ แม้จะดำเนินคดีนาย ข. ก็ไม่ทำให้การกระทำกลับไม่เป็นความผิด และก็ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไป แต่คดีนี้เจ้าพนักงานจะไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๐๐ ( มาตรา ๑๕๗ คล้ายมาตรา ๒๐๐ ที่เป็นบทฉกรรจ์ )
๑๐. ประเด็นศาลจะริบรถของกลางได้หรือไม่ คำตอบคือศาลริบได้ตาม มาตรา ๓๓ หากไม่ริบก็ได้เนื่องจากมาตรา ๓๓ ไม่ใช่บทบังคับ บิดานาย ข. ร้องขอรับคืนได้ตามมาตรา ๓๖ ภายใน ๑ ปี นับแต่คดีถึงที่สุด (คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่ศาลสั่งริบทรัพย์) แต่หากเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน บุคคลเหล่านี้ถือว่ารู้เห็นเป็นใจ จะร้องขอคืนของกลางไม่ การที่นาย ข. ขโมยรถบิดาไปขับซิ่งแข่งเป็นประจำ ต้องถือว่าบิดามีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ร้องขอคืนของกลางไม่ได้ (ฏ.๓๒๖๘/๒๕๔๘ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น