ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564

ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง, 192 วรรคสาม

 คำถาม : พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การจำเลยว่ากระทำความผิดตอนกลางคืน อัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตอนกลางวัน จำเลยให้การรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตอนกลางคืนได้หรือไม่

คำตอบ : คำพิพากษาฎีกาที่ 261/2563
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เวลากลางวัน แต่ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณากลับปรากฏว่าเป็นเวลากลางคืน เวลาตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับวันเวลาที่กล่าวในฟ้อง แต่เมื่อได้ความตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดว่า ผู้เสียหายกล่าวหาว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เวลา 23 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลากลางคืน จำเลยให้การรับว่าในวันเกิดเหตุดังกล่าวจำเลยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และในชั้นพิจารณาจำเลยเบิกความแต่เพียงว่า ในวันดังกล่าวจำเลยจำไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด แสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ เมื่อข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

ป.อ. มาตรา 68, 72

 คำถาม : ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ เมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ แต่ในการกลับออกมานี้จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนจ้องเล็งยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการฆ่าอื่นโดยการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำตอบ : คำพิพากษาฎีกาที่ 6936/2562

การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง หรือเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชายชัชฐภูมิวิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว เช่นนี้เหตุที่จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่ในการกลับออกมานี้จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนจ้องเล็งยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ แต่โดยที่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ทั้งค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้น ก็เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว